'ผสานวัฒนธรรม' ร้องสอบปมผู้ต้องสงสัยได้รับบาดเจ็บสาหัส ยุติบังคับใช้กม.พิเศษจับกุมคุมขังผู้ต้องสงสัย

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์เรียกร้องเจ้าหน้าที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบข้อกล่าวหาที่ว่า มะสุกรี สาและ ผู้ต้องสงสัย ถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมทรมานในขณะที่ถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก แนะตั้งคณะทำงานอิสระเพื่อให้ได้ความจริงที่สามารถชี้แจงต่อสังคมได้ พร้อมเรียกร้องยุติการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในการจับกุมคุมขังผู้ต้องสงสัย

21 มี.ค.2562 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์เรียกร้องเจ้าหน้าที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  โดยเฉพาะผู้อำนวยการกองกำลังรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาคที่ 4 ส่วนหน้าและผู้กำกับการตำรวจประจำจังหวัดปัตตานีและรัฐบาลไทย ตรวจสอบข้อกล่าวหาที่ว่า มะสุกรี สาและ ผู้ต้องสงสัย ถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมทรมานในขณะที่ถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก โดยจัดตั้งคณะทำงานอิสระซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการ ผู้นำชุมชนและศาสนาและตัวแทนภาคประชาสังคม เพื่อให้ได้ความจริงที่สามารถชี้แจงต่อสังคมได้ โดยหากพบว่ามีการกระทำอันใดที่ละเมิดต่อชีวิตร่างกายของ มะสุกรีจริง ทางการจะต้องชดใช้ เยียวยาผู้เสียหายให้สภาพร่างกายและจิตใจกลับมาสู่สภาพเดิมหรือใกล้เคียงสภาพเดิมที่สุดเท่าที่สามารถทำได้พร้อมทั้งลงโทษเจ้าหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด ทั้งในทางวินัยและอาญา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของสังคมต่อเจ้าหน้าที่และรัฐบาล

รวมทั้ง มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ยังเรียกร้องให้ยุติการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในการจับกุมคุมขังผู้ต้องสงสัยอีกด้วย

รายละเอียด : 

แถลงการณ์ ขอให้ตรวจสอบกรณีผู้ต้องสงสัยได้รับบาดเจ็บสาหัส ยุติการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในการจับกุมคุมขังผู้ต้องสงสัย

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ.2562 มีการรายงานข่าวว่า นายมะสุกรี สาและ ผู้ต้องสงสัยซึ่งถูกควบคุมตัวภายใต้กฎอัยการศึกในค่ายอิงคยุทธบริหาร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ประสบอุบัติเหตุลื่นล้มในห้องน้ำของหน่วยซักถามภายในค่าย หลังจากเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ได้ส่งตัวนายมะสุกรีไปรักษาเบื้องต้นที่โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร จากนั้นแพทย์ประจำค่ายได้ส่งตัวต่อไปยังโรงพยาบาลปัตตานี ต่อมาร้อยโทต่อตระกูล ปั้นสำรอง หัวหน้าหน่วยซักถามประจำค่ายอิงคยุทธบริหารได้เข้าแจ้งความต่อ ร.ต.อ.วสุรัตต์ เจริญสินโจนธร รองสารวัตร(สอบสวน) สถานีตำรวจภูธรหนองจิกเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเดินทางไปเยี่ยมนายมะสุกรี ณ โรงพยาบาลปัตตานีและยืนยันกับสื่อมวลชนว่าเขาลื่นล้มภายในห้องน้ำจริง จึงได้ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน

จากการตรวจสอบเบื้องต้นโดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและองค์กรเครือข่าย นายมะสุกรีถูกควบคุมตัวภายใต้อำนาจพิเศษตามกฎอัยการศึกตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ.2562 หลังจากเจ้าหน้าที่กรมทหารพรานที่ 43 ได้เข้าปิดล้อมตรวจค้นบ้านเลขที่ 31/2 บ้านค่าย ม.7 ต.ปุโละปูโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี และถูกนำตัวไปซักถามที่ค่ายอิงคยุทธบริหารพร้อมกับผู้ต้องสงสัยอีก 3 คนที่อยู่ในบ้านเดียวกันในเวลาดังกล่าว

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้รับข้อร้องเรียนที่กล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่บางคนไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ โดยกล่าวอ้างว่า ในขณะที่นายมะสุกรีถูกควบคุมตัว เขาถูกบังคับให้ ยืนตลอดทั้งวันเป็นเวลา 3 วัน 2 คืนและได้มีโอกาสนั่งเฉพาะเวลาละหมาดและรับประทานอาหาร นอกจากนี้ ยังถูกเตะที่ขาและตีที่ศีรษะด้วยไม้หุ้มผ้าหลายครั้ง ประกอบกับทั้งจากการไม่ได้นอนทำให้เขามีอาการมึนศีรษะ เมื่อไปเข้าห้องน้ำ จึงลื่นล้มและสลบไป นอกจากนี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรมยังได้รับรายงานที่กล่าวอ้างว่า นายมะสุกรีถูกบังคับให้พิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อรับรองเอกสารบางอย่างในระหว่างที่ตนอ่อนเพลียและมึนศีรษะอย่างหนักจนไม่สามารถอ่านหรือเซ็นเอกสารดังกล่าวได้ ซึ่งข่าวลักษณะดังกล่าวยังได้แพร่หลายอยู่ในสังคมและชุมชนต่างๆ จนอาจเป็นผลเสียต่อสันติสุขในพื้นที่ได้

นายมะสุกรีเป็นเพียงหนึ่งในคนจำนวนกว่า 6,000 คนที่ถูกควบคุมตัวภายใต้กฎหมายพิเศษในตลอดระยะเวลา15 ปีที่ผ่านมาซึ่งรวมไปถึงการควบคุมตัวตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกและพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน  กฎหมายดังกล่าวอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารสามารถค้น จับ โดยไม่ต้องมีหมายศาล และคุมขังผู้ต้องสงสัยเพื่อการซักถามข้อมูลได้เป็นเวลาถึง 37 วันโดยไม่มีการแจ้งข้อหา

การซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นกากรระทำที่ผิดกฎหมายและขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน (CAT) ที่ผ่านมา มูลนิธิผสานวัฒนธรรมมักได้รับข้อร้องเรียนในลักษณะที่คล้ายคลึงกับกรณีของนายมะสุกรีจากญาติหรือผู้ถูกควบคุมตัวเอง  และมูลนิธิฯ ได้เรียกร้องและเสนอให้เจ้าหน้าที่ หน่วยงานรัฐ ทั้งในระดับท้องที่ ในระดับชาติและรัฐบาลให้สร้างมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวเสมอมา แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขเท่าที่ควร ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลขาดเจตจำนงทางการเมือง นโยบาย และระเบียบปฏิบัติที่ชัดเจน และยังขาดกลไกตรวจสอบการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงต่อผู้ถูกควบคุมตัวภายใต้กฎหมายพิเศษ นอกจากนี้ ยังไม่มีการดำเนินการสืบสวนหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อร้องเรียนว่าด้วยการซ้อมทรมานหรือการบังคับขู่เข็ญให้ผู้ถูกกักตัวรับสารภาพอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจึงมีความกังวลเป็นอย่างยิ่งว่าการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยภายใต้กฎหมายพิเศษ จะยังเปิดช่องให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงต่อผู้ถูกควบคุมตัวได้

มูลนิธิฯ จึงขอเรียกร้องเจ้าหน้าที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  โดยเฉพาะผู้อำนวยการกองกำลังรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาคที่ 4 ส่วนหน้าและผู้กำกับการตำรวจประจำจังหวัดปัตตานี  และรัฐบาลไทย ดังต่อไปนี้

1. ขอให้ตรวจสอบข้อกล่าวหาที่ว่านายมะสุกรีถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมทรมานในขณะที่ถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก โดยจัดตั้งคณะทำงานอิสระซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการ ผู้นำชุมชนและศาสนาและตัวแทนภาคประชาสังคม เพื่อให้ได้ความจริงที่สามารถชี้แจงต่อสังคมได้

2. หากพบว่ามีการกระทำอันใดที่ละเมิดต่อชีวิตร่างกายของ นายมะสุกรีจริง ทางการจะต้องชดใช้ เยียวยาผู้เสียหายให้สภาพร่างกายและจิตใจกลับมาสู่สภาพเดิมหรือใกล้เคียงสภาพเดิมที่สุดเท่าที่สามารถทำได้พร้อมทั้งลงโทษเจ้าหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด ทั้งในทางวินัยและอาญา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของสังคมต่อเจ้าหน้าที่และรัฐบาล

3. ขอให้กำหนดมาตรการที่ชัดเจนและจัดตั้ง กลไกป้องกันการซ้อมทรมานและการกระทำใดๆที่อาจเข้าข่ายเป็นการละเมิดกฎหมายและสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐรวมทั้งขอให้ยอมรับนับถือสิทธิต่างๆของผู้ถูกจับกุมและควบคุมตัวตามาตรฐานสากล เช่น การอนุญาตให้ญาติสามารถเข้าเยี่ยมผู้ถูกควบคุมตัวได้เป็นเวลาอย่างน้อย 30 นาที พบและปรึกษาทนายความเป็นการเฉพาะ การเปิดโอกาสให้องค์กรอิสระจากภายนอก  โดยเฉพาะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและหน่วยงานภาคประชาสังคมในพื้นที่สามารถเข้าร่วมตรวจสอบสถานที่ควบคุมตัวอย่างสม่ำเสมอและสัมภาษณ์ผู้ถูกควบคุมตัวได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า รวมถึงการสร้างกลไกตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อร้องเรียนเรื่องการซ้อมทรมานโดยมีหน่วยงานทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม เป็นต้น

4. ขอให้รัฐบาลไทยเร่งรัดในการตรากฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและต่อต้านการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายซึ่งเป็นกฎหมายอนุวัติการและไม่ได้รับการพิจารณาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อให้ประเทศไทยปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศในการป้องกันและปราบปรามการทรมานอย่างเคร่งครัด ได้ผล โดยเร็ว

5.  มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอเน้นย้ำว่า การใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษของเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงเพื่อปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมคุมขังผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ที่มักขาดการตรวจสอบ ถ่วงดุลตามหลักนิติธรรมทำให้เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้น โดยเฉพาะการซ้อมทรมานในระหว่างการควบคุมตัวทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่เลวร้ายยิ่งขึ้น มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจึงเรียกร้องให้หน่วยงานด้านความมั่นคงยุติการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในการจับกุม และควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยโดยขอให้ใช้กระบวนการยุติธรรมตามปกติแทน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท