Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ณ ชั่วโมงนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในพรรคการเมืองที่มาแรงที่สุดคือพรรคอนาคตใหม่ที่นำโดย “ไพร่หมื่นล้าน” หรือคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

กระแสที่มาแรงแบบฉุดไม่อยู่เช่นนี้ทำให้หลายๆ คนตั้งคำถามว่าเพราะอะไรกันพรรคอนาคตใหม่ที่เคยโดนนักวิชาการและนักการเมืองจำนวนมากสบประมาทว่าเป็นแค่พรรคหน้าใหม่ไร้ประสบการณ์ ตอนนี้กลับถูกกล่าวขานว่าเป็นหนึ่งในพรรคม้ามืดที่อาจจะเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดทิศทางการเมืองหลังการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค. นี้

ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจำนวนมากพยายามจะให้คำอธิบายความมาแรงของพรรคอนาคตใหม่ว่าเกิดจากการที่ “วัยรุ่นโง่” หรือ “อีฟ้าถูกหลอก” ถึงขนาดว่าคลิปตัดต่อที่อ้างว่าเป็นการพูดคุยกันระหว่างคุณธนาธรกับคุณทักษิณยังพยายามเน้นย้ำประโยคที่ว่า “ผมว่าพวกเด็กๆ เนี่ย คุยง่าย หลอกง่าย” มากเป็นพิเศษ

อย่างไรก็ดี ผมเชื่อว่าความมาแรงของพรรคอนาคตใหม่นั้นไม่ได้เกิดจากการที่คนรุ่นใหม่[1]ถูกคุณธนาธรหลอกแต่ประการใด ในทางตรงกันข้ามความฮอทฮิตของพรรคอนาคตใหม่น่าจะมีที่มาจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมที่สำคัญในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาต่างหาก

Credit: ภาพจากแฟนเพจเฟซบุค “ฟ้ารักพ่อ”

ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างที่ 1: จาก Anti-Thaksin สู่ Anti-Prayuth

ความเปลี่ยนแปลงแรกที่สำคัญซึ่งนำไปสู่กระแสฮอทฮิตของอนาคตใหม่น่าจะเกิดจากการที่ขั้วขัดแย้งทางการเมืองของไทยเปลี่ยนจากขั้วขัดแย้งระหว่าง “ฝ่ายทักษิณ VS ฝ่ายต่อต้านทักษิณ” มาเป็น “ฝ่ายประยุทธ์ VS ฝ่ายต่อต้านประยุทธ์”

ความเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ผู้เล่นทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่เป็นมิตรกับคุณทักษิณ (เช่น พรรคตระกูลเพื่อไทย) ฝ่ายที่เป็นศัตรู (เช่น ประชาธิปัตย์, คสช.) หรือฝ่ายที่เป็นกลางกับคุณทักษิณ (เช่น อนาคตใหม่ เสรีรวมไทย ชาติไทยพัฒนา ฯลฯ) ได้จับขั้วทางการเมืองใหม่เกิดเป็นฝ่ายที่ “เอา” หรือ “ไม่เอา” พล.อ.ประยุทธ์แทน

ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยกระแสทางการเมืองในขณะนี้ทำให้พรรคการเมืองฝ่าย “ไม่เอา” พล.อ. ประยุทธ์ มาแรงเป็นพิเศษ สังเกตได้ว่าไม่ได้มีเพียงแค่พรรคอนาคตใหม่เท่านั้นที่เป็นที่พูดถึงในขณะนี้ แต่พรรคที่ประกาศตัวเป็นขั้วตรงข้ามกับ คสช. อย่างชัดเจน เช่น เสรีรวมไทย ไทยรักษาชาติ และพรรคเพื่อไทย ล้วนมาแรงทั้งนั้น นอกจากนี้พรรคที่ไม่ได้มีจุดยืนต่อ พล.อ. ประยุทธ์ อย่างชัดเจน เช่น พรรคเศรษฐกิจใหม่ ก็ถูกกล่าวถึงอย่างมากเช่นกัน ในขณะที่พรรคที่สนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ เช่น พลังประชารัฐ รวมพลังประชาชาติไทย หรือประชาชนปฏิรูป กลับไม่ได้เป็นที่นิยมมากนัก

โดยส่วนตัวผมมองว่าปรากฎการณ์ที่พรรคขนาดกลางและพรรคขนาดเล็ก เช่น อนาคตใหม่ เสรีรวมไทย และเศรษฐกิจใหม่ ถูกพูดถึงเยอะมากนั้น เป็นสิ่งที่น่าสนใจมากและเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนักในประวัติศาสตร์การเมืองไทย จึงน่าจะเป็นหนึ่งในหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ากระแส “ไม่เอา” พล.อ. ประยุทธ์นั้นมาแรงมาก และอนาคตใหม่ก็เป็นหนึ่งในพรรคประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามในการเกาะกระแสนี้ (ซึ่งจะอภิปรายต่อไปในภายหลัง)

 

ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างที่ 2: จากความต้องการนายกคนกลางจากรัฐประหาร สู่นายกคนกลางที่มาจากการเลือกตั้ง

ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญอีกประการหนึ่งซึ่งส่งผลต่อความนิยมของพรรคอนาคตใหม่ก็คือกระแสเบื่อหน่าย “ความขัดแย้งแบบเหลือง-แดง”

ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่จำนวนมากยังคงมีภาพจำเกี่ยวกับการเมืองที่วุ่นวายเพราะความขัดแย้งเหลือง-แดงอยู่[2] ซึ่งในช่วงที่เกิดวิกฤติการเมืองอยู่นั้นคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ก็น่าจะต้องการความสงบไม่แตกต่างกับคนไทยกลุ่มอื่นๆ เผลอๆ ผมคิดว่าคนกลุ่มนี้หลายคนอาจจะเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ร้องเรียกหา “นายกคนกลาง” เพื่อมาขจัดความขัดแย้งทางการเมืองแบบแบ่งสีโดยไม่สนใจว่านายกคนกลางนั้นจะมาจากการรัฐประหารหรือไม่ก็ตามด้วยซ้ำ (ผมเองก็เป็นหนึ่งในคนกลุ่มนั้น)

อย่างไรก็ดี คนรุ่นใหม่กลุ่มนี้เติบโตขึ้นมากับโซเชียลมีเดียและมีแนวโน้มจะใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือหลักในการเสพสื่อ จึงทำให้พวกเขาเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทางการเมืองได้อย่างรวดเร็ว และจากปัญหาทางการเมืองที่ผ่านมาในระยะเวลา 5 ปี ภายใต้การปกครองของ คสช. ทำให้คนรุ่นใหม่เหล่านี้มีความตื่นตัวทางการเมืองอย่างมากและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันว่านายกคนกลางที่เป็นเผด็จการนั้นไม่ได้เป็นคำตอบสุดท้ายทางการเมืองตามที่พวกเขาได้วาดฝันเอาไว้ (ผมเองก็เป็นหนึ่งในคนกลุ่มนั้นอีกเช่นกัน)

คนรุ่นใหม่กลุ่มนี้เบื่อหน่ายการเมืองเหลือง-แดง ที่มีการแบ่งขั้วนำโดยพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ แต่ในขณะเดียวกันก็เบื่อหน่ายนายกคนกลางที่มาจากการรัฐประหาร พวกเขาเรียกร้องหานายกคนกลางคนใหม่ที่ไม่ได้เป็นตัวแทนของพรรคเพื่อไทยหรือพรรคประชาธิปัตย์ และที่สำคัญต้อง “มาจากการเลือกตั้ง”

ผมเชื่อว่านี่คืออีกหนึ่งเหตุผลที่พรรคขนาดกลางและพรรคขนาดเล็กถูกกล่าวถึงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในยุคนี้ นั่นเป็นเพราะพรรคเหล่านี้เป็นตัวเลือกใหม่ของคนหนุ่มสาวกลุ่มนี้ในการก้าวข้ามความขัดแย้งเหลือง-แดง และ ระบบการเมืองของ คสช. นั่นเอง

 

ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างที่ 1: โซเชียลมีเดียกับการทำลายวาทกรรมเดิมๆ อำนาจนำเดิมๆ

แม้ว่าคนจำนวนมากจะเบื่อการเมืองเหลือง-แดง แต่ไม่ใช่ว่าคนทุกคนจะเบื่อนายกคนกลางจากการรัฐประหาร เราจะพบว่าผู้ใหญ่จำนวนมากยังคงพึงพอใจกับบทบาทของ คสช. ในการรักษาความสงบเรียบร้อยให้กับสังคม ในทางตรงกันข้ามคนรุ่นใหม่กลับไม่นิยมการทำงานของ คสช. มากนัก

ผมคิดว่าสาเหตุหลักน่าจะเป็นเพราะพฤติกรรมการเสพสื่อที่แตกต่างกันระหว่างผู้ใหญ่กับคนรุ่นใหม่นั่นเอง กล่าวคือ วาทกรรมชาตินิยมที่ คสช. มักใช้เพื่อสร้างอำนาจนำให้กับตนเองอาจยังมีประสิทธิผลอยู่กับผู้ใหญ่ที่ไม่ค่อยเชี่ยวชาญโซเชียลมีเดียนัก แต่กลับไม่ค่อยมีประสิทธิผลต่อคนรุ่นใหม่ที่ใช้โซเชียลมีเดียจนเชี่ยวชาญ

สำหรับคนรุ่นใหม่โซเชียลมีเดียไม่ได้เป็นเพียงช่องทางในการเล่นสนุกเท่านั้น แต่มันยังเป็นช่องทางในการติดตามข่าวสารบ้านเมืองและการมีส่วนร่วมทางการเมือง (ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม โดยจงใจหรือไม่จงใจก็แล้วแต่) โซเชียลมีเดียเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้อภิปรายเรื่องต่างๆ ที่เขาสนใจกับคนที่สนิทหรือคนแปลกหน้า ทำให้คนรุ่นใหม่มีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับคนที่หลากหลายมากขึ้น (ทั้งคนไทยด้วยกันเองที่อาจจะมาจากพื้นฐานสังคมที่ต่างกัน มีความเชื่อต่างกัน ตลอดจนถึงคนต่างชาติที่มุมมองในการมองโลกอาจจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง) ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้วาทกรรมต่างๆ ที่เคยครอบงำสังคมไทย เช่น วาทกรรมชาตินิยม ต้องปะทะกับค่านิยมชุดอื่นๆ อาทิ มนุษยนิยม สิทธิมนุษยชน หรือ ประชาธิปไตย จนวาทกรรมของไทยอาจจะถูกท้าทายและอ่อนกำลังลง และไม่สามารถใช้เป็นแว่นตาในการมองโลกของคนรุ่นใหม่ได้อีกต่อไป

ในขณะที่ผู้ใหญ่จำนวนมากรู้สึกว่าการวิพากษ์วิจารณ์ชาติหรือประเทศของตัวเองเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ (ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการโจมตีคนรุ่นใหม่ว่าเป็นพวก “ชังชาติ”) แต่สำหรับคนรุ่นใหม่แล้วการวิพากษ์วิจารณ์ชาติหรือประเทศตัวเองนั้นทำได้ หากทำอย่างสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์ต่อคนในชาติ ซึ่งผมคิดว่าความคิดเช่นนี้น่าจะเป็นผลจากการรับหรือการบ่มเพาะแนวคิดเชิงมนุษยนิยมหรือประชิปไตยผ่านโซเชียลมีเดียนั่นเอง

เราจะเห็นได้ว่ากระแสคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ประเทศของตัวเองนั้นเริ่มมีมาตั้งแต่ก่อนพรรคอนาคตใหม่จะก่อตั้งเสียอีก ไม่ว่าจะเป็น เนติวิทย์และเพนกวินที่ตั้งคำถามต่อระบบการศึกษา, อิมเมจที่โจมตีระบบขนส่งของไทย, การตั้งคำถามถึงการเกณฑ์ทหาร, รวมถึงเพลง “ประเทศกูมี” ของ Rap Against Dictatorship

การเติบโตของแนวคิดเช่นนี้ทำให้วาทกรรมชาตินิยมไม่สามารถสร้างความชอบธรรมให้กับ คสช. ได้อีกต่อไปในมุมมองของคนรุ่นใหม่ และเมื่อความชอบธรรมของ คสช. ลดลง คนรุ่นใหม่ก็เริ่มมองหานายกคนกลางคนใหม่ที่ไม่ได้มาจากการรัฐประหารนั่นเอง

 

ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างที่ 2: โซเชียลมีเดียกับการเพิ่มอำนาจให้ผู้ถูกกดทับ

โซเชียลมีเดียไม่เพียงแต่ท้าทายอำนาจนำเดิมและวาทกรรมเดิมๆ ในสังคมเท่านั้น แต่ยังท้าทายโครงสร้างอำนาจที่ครอบงำสังคมไทยด้วย

Marc Prensky กล่าวว่าคนรุ่นใหม่มีความเชี่ยวชาญในการใช้โซเชียลมีเดียและการใช้ชีวิตในโลกออนไลน์มากจนเปรียบเสมือนว่าคนรุ่นใหม่เป็น “ผู้เกิดในโลกดิจิทอล (Digital native)” ในขณะที่ผู้ใหญ่เป็นเหมือน “ผู้ที่เพิ่งอพยพเข้ามาในโลกดิจิทอล (Digital immigrant)”[3]

ความแตกต่างในการใช้โซเชียลมีเดียตรงนี้เองที่ทำให้โครงสร้างอำนาจเดิมในสังคมและในวัฒนธรรมไทยโดนท้าทาย กล่าวคือ การเข้ามาของโซเชียลมีเดียทำให้ผู้ใหญ่ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจและใช้อำนาจนั้นในการกดทับ (oppress) คนรุ่นใหม่มาอย่างยาวนานในสังคมไทย ถูกเปิดเผยจุดอ่อนให้เห็นผ่านความไม่รู้ประสีประสาในโลกออนไลน์ เช่น การถูกจับได้ว่าพูดอย่างทำอย่าง, การถูกจับได้ว่าแชร์ข่าวลือที่ไม่เป็นจริง, การถูกหลอกให้ใช้มีม (Meme) ที่ผิดฝาผิดตัว, การถูกจับได้ว่าแอบดูสื่อลามก เป็นต้น

หมายเหตุ: รูปภาพต่างๆ บนอินเตอร์เน็ตที่คนรุ่นใหม่นำไปหลอกผู้ใหญ่ฝ่ายอนุรักษ์นิยม

ในแง่หนึ่งโซเชียลมีเดียทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าผู้ใหญ่ (ผู้มีอำนาจดั้งเดิม) แท้จริงแล้วมีด้านที่ไม่มั่นคง (Vulnerable) มากกว่าที่คนรุ่นใหม่เคยรับรู้ ในขณะเดียวกันโซเชียลมีเดียก็เป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มอำนาจ (empower) ให้แก่คนรุ่นใหม่ด้วย เช่น เป็นพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่แสวงหาพันธมิตร จากเดิมที่การต่อต้านผู้ใหญ่เป็นเรื่องยาก เพราะคนรุ่นใหม่อาจไม่รู้ว่าเพื่อนร่วมรุ่นคนอื่นๆ คิดเห็นอย่างไร แต่เมื่อมีโซเชียลมีเดียทำให้การแสดงออกซึ่งความไม่พอใจต่อผู้ใหญ่หรือโครงสร้างอำนาจเดิมๆ เกิดได้ง่ายขึ้น และทำให้เพื่อนคนอื่นๆ รู้ว่ามีคนที่คิดเช่นเดียวกับตนอยู่ (แถมโซเชียลมีเดียยังเปิดโอกาสให้ผู้ใช้เลือกได้เองว่าอยากให้ใครเห็นข้อความได้บ้าง ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ใช้ในการรวมกลุ่มกันเพื่อต่อต้านผู้ใหญ่)

พูดง่ายๆ คือ โซเชียลมีเดียเป็นเหมือนตัวกระตุ้นที่ทำให้ความไม่พอใจ “ในโลกออนไลน์” ของคนรุ่นใหม่ต่อการใช้อำนาจของผู้ใหญ่ (ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจทางการเมืองในการบริหารประเทศแล้วล้มเหลว ตลอดจนถึงการใช้อำนาจกดทับเด็กและเยาวชน) ร้อนแรงมากขึ้น เพราะโซเชียลมีเดียทำให้คนรุ่นใหม่เรียนรู้แล้วว่าผู้ใหญ่ไม่ได้ไร้เทียมทานดั่งภาพที่พยายามจะแสดงออกมาเสมอไป และในขณะเดียวกันพวกเขาก็ไม่ได้ไร้พลังอย่างที่ผู้ใหญ่อยากให้พวกเขาเป็น

อย่างไรก็ดี ผมเชื่อว่าแม้ความไม่พอใจของคนรุ่นใหม่ “ในโลกออนไลน์” นั้นจะคุกรุ่นอยู่มาก แต่ในโลกความเป็นจริงหรือ “โลกกายภาพ” พวกเขาก็ไม่สามารถแสดงออกหรือเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระภายใต้การปกครองของ คสช. หรือภายใต้กติกาทางสังคมเดิมๆ ที่ยังคงแข็งแรงพอสมควร เช่น คนรุ่นใหม่อาจจะวิพากษ์วิจารณ์ คสช. อย่างเผ็ดร้อนบนอินเตอร์เน็ต แต่ไม่สามารถมาชุมนุมขับไล่ได้ในโลกจริง, หรือคนรุ่นใหม่สามารถท้าทายผู้ใหญ่ได้บนอินเตอร์เน็ต แต่เมื่อออกมาเจอผู้ใหญ่ในโลกจริงก็ต้องพยายามสงวนท่าทีไว้บ้าง

ความไม่พอใจของคนรุ่นใหม่ต่อรัฐบาล คสช. ต่อปัญหาการเมืองแบบเดิมๆ และต่อโครงสร้างอำนาจที่กดทับพวกเขาไว้ จึงเปรียบเสมือนภูเขาน้ำแข็งใต้น้ำที่นับวันจะขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ผู้ใหญ่และผู้มีอำนาจทางการเมืองไม่เคยสังเกตเห็นมาก่อน และรอวันที่ยอดของมันจะโผล่พ้นน้ำขึ้นมาในรูปของพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนพวกเขา

 

ตัวตนของอนาคตใหม่: ตัวแทนฝ่ายที่ถูกกดทับ

อย่างที่ผมกล่าวไว้ด้านบนว่า ผมมองว่าความความไม่พอใจของคนรุ่นใหม่มีมาก่อนพรรคอนาคตใหม่จะก่อตั้งด้วยซ้ำ เพียงแต่ว่าภายใต้บรรยากาศทางการเมืองในยุค คสช. ที่ค่อนข้างจะปิดทำให้เราไม่เห็นความไม่พอใจที่จมอยู่ใต้น้ำนั้นอย่างชัดเจน แต่หลังจากที่การเลือกตั้ง 24 มี.ค. ใกล้เข้ามา บรรยากาศทางการเมืองก็เปิดมากขึ้น จึงเปรียบเสมือนภูเขาน้ำแข็งที่ลอยขึ้นมาเหนือน้ำ โดยมีพรรคอนาคตใหม่เป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งที่เพิ่งงอกเงยขึ้นมาเท่านั้นเอง

ความไม่พอใจ คสช. และโครงสร้างเดิมที่กดทับคนรุ่นใหม่ไว้แสดงออกอย่างเต็มที่ผ่านความนิยมในพรรคการเมืองที่ไม่สนับสนุน คสช. ไม่ว่าจะเป็นพรรคอนาคตใหม่หรือพรรคอื่นๆ ก็ตาม แต่ผมคิดว่าพรรคอนาคตใหม่น่าจะเป็นพรรคที่เกาะกระแสความไม่พอใจนี้ได้ดีที่สุดเนื่องจาก “ตัวตน” ที่อนาคตใหม่แสดงออกมานั้นค่อนข้างจะสอดคล้องกับความต้องการของฝ่ายที่ถูกกดทับในหลายมิติ

ผมคิดว่าการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค. นี้ สะท้อนการต่อสู้ระหว่างฝ่ายที่กดทับ (oppressing) และฝ่ายที่ถูกกดทับ (oppressed) ในหลายมิติด้วยกัน โดยฝ่ายที่กดทับมีตัวแทนคือพรรคการเมืองที่เอาคสช. และฝ่ายที่โดนกดทับมีตัวแทนคือพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามของ คสช. นั่นเอง ดังที่แสดงในตารางด้านล่าง

 

ฝ่ายที่กดทับ (oppressing)

ฝ่ายที่ถูกกดทับ (oppressed)

พรรคการเมือง

เอา คสช.

ไม่เอา คสช.

อายุ

ผู้ใหญ่

คนรุ่นใหม่

พื้นที่

ส่วนกลาง

ท้องถิ่น

ความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนกับกองทัพ

เน้นกองทัพ

เน้นพลเรือน

หมายเหตุ: ตารางนี้เป็นเพียงการยกตัวอย่างตามความคิดของผมเท่านั้น ในความเป็นตริงแล้วอาจจะมีมิติอื่นๆ นอกจากนี้อีกมากมาย

 

เราจะเห็นได้ว่าตัวตนของพรรคอนาคตใหม่สอดคล้องกับฝ่ายที่โดนกดทับในหลายมิติ เช่น การมีจุดยืนล้มล้างมรดกของ คสช., การปฏิรูปการศึกษาโดยเน้นผู้เรียนเป็นหลัก, การมีนโยบายส่งเสริมการกระจายอำนาจ, การลดงบประมาณกองทัพ, ตลอดจนถึงการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร สิ่งเหล่านี้น่าจะทำให้ฝ่ายที่ถูกกดทับหลายคนให้ความสนใจกับพรรคอนาคตใหม่

แม้พรรคอื่นจะมีและจุดยืนในบางมิติที่คล้ายกับอนาคตใหม่เช่นกัน แต่การรับรู้ซึ่งตัวตนของพรรคนั้นไม่ได้ถูกแสดงออกผ่านจุดยืน อุดมการณ์ หรือนโยบายของพรรคเพียงอย่าเดียว แต่ถูกประกอบสร้างจากปัจจัยอื่นๆ จำนวนมหาศาลประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็น บุคลิกของหัวหน้าพรรค, สีประจำพรรค, ชื่อพรรค ฯลฯ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าในมิติของอายุนั้นการแสดงตัวตนของพรรคอนาคตใหม่ชัดเจนว่ามีความสอดคล้องกับรสนิยมของคนรุ่นใหม่มากกว่าพรรคอื่นๆ ที่ต่อต้าน คสช. ร่วมกับอนาคตใหม่ เช่น

ในเรื่องของชื่อพรรค พรรคการเมืองส่วนใหญ่ในประเทศไทยมักจะมีชื่อพรรคที่จริงจังและเป็นทางการ ไม่ค่อยถูกใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ประชาชน, ประชาชาติ, ประชารัฐ, ชาติ, เศรษฐกิจ, ไทย ในทางตรงกันข้ามชื่อพรรค “อนาคตใหม่” กลับใช้คำทั่วๆ ไปที่ใช้ในชีวิตประจำวันอย่าง “อนาคต” และ “ใหม่” ส่วนสีของพรรคก็ใช้สีส้มที่เป็นสีที่สดใส

บุคลิกของหัวหน้าพรรคและแกนนำพรรคเองก็ค่อนข้างมีความไม่เป็นทางการและใกล้ชิดกับวัยรุ่น เช่น อ.ปิยบุตร ชอบแต่งตัวออกแนวร็อคแอนด์โรล คุณธนาธรชอบใส่เสื้อคอกลม งานอดิเรกของหัวหน้าพพรคเองก็เป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ชอบทำ ไม่ว่าจะเป็นการวิ่ง ออกกำลังกาย พายเรือ ปีนเขา และกิจกรรมผจญภัยต่างๆ นอกจากนี้แกนนำและผู้ร่วมก่อตั้งพรรคก็ยังมีคนจำนวนมากที่เป็นวัยรุ่น และหลายๆ คนเป็นนักศึกษา ยิ่งไปกว่านั้นตัวแกนนำก่อตั้งพรรคคนอื่นๆ ก็ประกอบไปด้วยคนที่เคยถูกกดทับในมิติอื่นๆ อย่างผู้พิการ LGBT หรือชาวมุสลิมอีกด้วย

...........................

กล่าวโดยสรุปคือ ผมมองว่าไม่ใช่พรรคอนาคตใหม่พรรคเดียวเท่านั้นที่มาแรงในหมู่คนรุ่นใหม่ แต่มีพรรคขนาดกลางและเล้กอื่นๆ อีกจำนวนมากที่ได้รับความนิยมอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดโดยเฉพาะพรรคที่ต่อต้าน คสช. ซึ่งความนิยมในตัวพรรคที่ต่อต้าน คสช. นี้ส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ที่คนรุ่นใหม่เบื่อหน่ายและไม่พอใจโครงสร้างอำนาจและระบบการเมืองแบบเดิมๆ ที่กดทับพวกเขา ซึ่งความไม่พอใจนี้เพิ่มความรุนแรงขึ้นอย่างมากเนื่องจากการเติบโตของโซเชียลมีเดีย อย่างไรก็ดี พรรคที่เกาะกระแสความไม่พอใจของกลุ่มคนรุ่นใหม่นี้ได้ดีกว่าพรรคต่อต้าน คสช. พรรคอื่นๆ ก็คือพรรคอนาคตใหม่ เนื่องจากตัวพรรคสร้างตัวตนที่สอดคล้องกับกลุ่มคนที่เคยโดนกดทับได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในมิติของอายุที่เข้ากับรสนิยมของคนรุ่นใหม่ได้ดีนั่นเอง

พูดง่ายๆ คือ ในมุมมองของผม ความนิยมของพรรคอนาคตใหม่ส่วนหลักๆ อาจจะไม่ได้เกิดจาก “ความรัก” ที่ฟ้ามีให้คุณธนาธรด้วยซ้ำ แต่เกิดจาก “ความไม่พอใจ” ที่ฟ้ามีให้ระบบการเมืองเดิมๆ โครงสร้างเดิมๆ เสียมากกว่า

มาถึงตรงนี้ผมคิดว่าอาจจะยังเร็วเกินไปที่จะฟันธงว่าพรรคอนาคตใหม่คือคำตอบสุดท้ายที่หลายคนฝันหา แต่ผมมองว่าไม่น่าจะเร็วเกินหากจะบอกว่ากระแสฟ้ารักพ่อไม่ได้เกิดจากการที่คนรุ่นใหม่ถูกคุณธนาธรหลอกแต่อย่างใด การสรุปปรากฎการณ์ความตื่นตัวทางการเมืองของวัยรุ่นว่าเป็นเพียงเพราะคนรุ่นใหม่ “โง่” นั้น จึงเป็นเพียงการมองความเคลื่อนไหวทางการเมืองไทยเพียงแค่ผิวเผิน โดยละเลยความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมที่สำคัญในทศวรรษล่าสุดเท่านั้นเอง

ฟ้าไม่ได้โดนหลอก ฟ้าอาจจะไม่ได้รักพ่อด้วยซ้ำ ฟ้าแค่อาจจะเบื่อคนบางคน และระบบเก่าๆ เท่านั้นเอง

 

 

อ้างอิง 

[1] เวลาพูดถึงช่วงอายุของคนรุ่นใหม่ นักวิชาการแต่ละท่านก็อาจจะมีช่วงอายุในใจที่แตกต่างกันไป ในบทความนี้ผมขอเหมารวมเอาอย่างหยาบๆ ว่าคนรุ่นใหม่คือคนที่มีช่วงอายุอยู่ที่ 15-30 ปี

[2] คนที่อายุประมาณ 20-25 ปี ในปัจจุบัน

[3] โปรดดู Prensky (2001) ‘Digital Natives, Digital Immigrants’, On the Horizon, MCB University Press, Vol. 9 No. 5. หรือ ไทยพีบีเอส (2559) Awesome มันเฟี้ยวมาก : เด็กรุ่นใหม่อะไรของมัน. สืบค้นจาก: https://www.youtube.com/watch?v=ajF1qUvvfro&list=PL0iXbZN_9mDJHQj5ZuS3WkJ-XcE4j6y72&index=39&t=0s และ หมายเหตุประเพทไท (2561) Digital Native และวัฒนธรรมเยาวชนโลกออนไลน์. สืบค้นจาก https://www.youtube.com/watch?v=Bd-pALIp2_E

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net