Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมไม่เห็นด้วยกับวาทกรรม “อุดมการณ์ตายแล้ว” โดยอ้างว่าการต่อสู้ใต้ธงอุดมการณ์แบบยุค 14 ตุลา, 6 ตุลาไม่มีแล้ว การเมืองระยะหลังเป็นการแข่งกันระหว่างกลุ่มอำนาจ กลุ่มทุน หรือกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เท่านั้น เพราะถ้ากว่า 12 ปีมานี้ไม่มีการชูอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” เป็นธงนำชุมนุมทางการเมืองและทำรัฐประหารอย่างโจ่งแจ้งก็ยากจะล้มสิ่งที่เรีกกันว่า “ระบอบทักษิณ” ลงได้

แต่ทำไมทำรัฐประหารไปแล้วสองครั้งและใช้อำนาจจากรัฐประหารจัดการกับนักการเมือง พรรคการเมืองและประชาชนที่คิดต่างจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมสารพัดรูปแบบ จึงไม่สามารถชนะได้เด็ดขาด เมื่อหวนคืนสู่การเลือกตั้งทีไรฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็ยังแพ้อยู่ดี จนกระทั่งต้องสร้างรัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ชาติ และกลไกการเลือกตั้งขึ้นมาเป็นพิเศษเพื่อที่จะไม่พ่ายแพ้ซ้ำอีกในการเลือกตั้ง 24 มีนาคมนี้

ถ้าตอบอย่างไม่โกหกตัวเอง ก็คงไม่ใช่เพราะสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบทักษิณ” ที่อธิบายกันว่าเป็นเพียงกลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มอำนาจทุน หรือ “ทุนสามานย์” ยังทรงความหมายตามนิยามนี้และมีอิทธิพลครอบงำประชาชนส่วนใหญ่มาได้กว่าทศวรรษท่ามกลางการแฉ เปิดโปง วิจารณ์ โจมตีละเอียดยิบ “ทุกอณู” อย่างต่อเนื่องยาวนาน

แต่ความจริงก็คือ ในกระบวนการต่อสู้ของพรรคการเมืองที่ถูกทำรัฐประหารและมวลชนที่สนับสนุนพรรคการเมืองนั้นมีพัฒนาการของอุดมการณ์ประชาธิปไตยค่อยๆ เติบโตมาเรื่อยๆ อันที่จริงการ “จุดประกาย” อุดมการณ์ประชาธิปไตยเกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวของมวลชน แล้วจึงส่งพลังกดดันนักการเมือง พรรคการเมืองให้คล้อยตาม หรือให้ตระหนักว่าหากอยากได้เสียงสนับสนุนจากประชาชนก็ต้องมีความชัดเจนในการยืนยันประชาธิปไตย

แน่นอนว่ามวลชน หรือพูดตรงๆ คือ “คนเสื้อแดง” อาจถูกมองว่าไม่ใช่มวลชนอุดมการณ์ประชาธิปไตยบริสุทธิ์ กระทั่งมองว่าเป็นมวลชน “สีดำ” หรือ “สีเทา” ในทางแนวคิด เป้าหมาย และรูปแบบการเคลื่อนไหวก็แล้วแต่ ทว่าความจริงก็คือปรากฏการณ์ “แดงทั้งแผ่นดิน” ทำให้คนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ใช่แดง “ตาสว่าง” ในระดับแน่นอนหนึ่ง คือทำให้เราเห็นได้ว่ามีนักวิชาการ สื่อมวลชน นักกิจกรรมจำนวนหนึ่งหันมาถกเถียง ขบคิดปัญหาการเมืองอย่างจริงจังมากขึ้น การปะทะถกเถียงทำให้พวกเขาเข้าใจชัดเจนขึ้นว่าต้นตอของปัญหาประชาธิปไตยคืออะไร

แม้แต่ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” แห่งพรรคอนาคตใหม่ ก็ให้สัมภาษณ์สื่อว่าเคยไปร่วมชุมนุมกับ “เสื้อเหลือง” มาก่อน พอเห็นเรียกทหารออกมาแล้วจึงพบว่าไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง ตอนหลังจึงมาสังเกตการชุมนุมฟากเสื้อแดงและเห็นใจเสื้อแดงในฐานะฝ่ายผู้ถูกกระทำจากโครงสร้างอำนาจอันอยุติธรรมและรุนแรง (ในกลุ่มคนทำงานทางวิชาการก็เคยเป็นแบบธนาธรหลายคนรวมทั้งผม) 

ในด้านตรงข้าม การเมืองภายใต้อุดมการณ์อนุรักษ์นิยมที่โจ้งแจ้งหรือ “เปิดหน้าเล่น” มากขึ้นเรื่อยๆ ก็ช่วยให้คนตาสว่างมากขึ้น พร้อมๆ กับเกิดปรากฏการณ์ที่ชัดเจนและแน่นอนมากขึ้นว่า ฝ่ายชูอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมแพ้เลือกตั้งทุกครั้ง แกนนำมวลชนเรือนแสนเมื่อมาตั้งพรรคการเมืองก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า ทางเดียวที่ชนะได้ก็ด้วยการใช้รัฐประหารและกลไกอำนาจในเครือข่ายเดียวกันเท่านั้น 

แต่ถึงที่สุดแล้ว ฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็ต้องกลับสู่การเลือกตั้ง แปลว่าอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมไม่อาจเอาชนะอุดมการณ์ประชาธิปไตยได้อย่างเบ็ดเสร็จ และแม้ฝ่ายประชาธิปไตยจะถูกกระทำจากอำนาจรัฐประหารซ้ำๆ ก็ไม่ได้แปลว่าพ่ายแพ้อย่างราบคาบ เพราะการทำให้ผู้คนในสังคมตาสว่างมากขึ้นก็คือการสั่งสมชัยชนะในอีกแบบหนึ่ง

ดังนั้น บรรยากาศหาเสียงเลือกตั้ง 24 มีนาคม ที่กำลังเข้าสู่โค้งสุดท้ายจึงสะท้อนให้เห็น “การต่อสู้ทางอุดมการณ์” ชัดเจนมากขึ้น 

อุดมการณ์อนุรักษ์นิยมนั้นชัดเจนมานานแล้ว และพลังของอุดมการณ์นี้ก็เข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ จนนำมาสู่การสร้างรัฐธรรมนูญ 2560 ยุทธศาสตร์ชาติ และระบบการเลือกตั้งแบบ คสช.อย่างที่เห็นและกฎหมายอื่นๆ อีกจำนวนมากที่ลิดรอนเสรีภาพของประชาชน อยู่ที่ว่าอุดมการณ์ประชาธิปไตยจะชัดเจนมากขึ้นในระดับที่มีพลังมากพอจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้เพียงใด

การเกิดขึ้นของพรรค “อนาคตใหม่” ที่ชูอุดมการณ์ประชาธิปไตยเป็น “ธงนำ” ในการต่อสู้ทางการเมืองผ่านการเลือกตั้งครั้งนี้ น่าจะถือเป็นอีกก้าวสำคัญของพัฒนาการอุดมการณ์ประชาธิปไตยในช่วงกว่าทษวรรษนี้ ผมเห็นด้วยกับ “ธนาธร” ที่กล่าวว่า ต้องเอาการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเข้ามาสู่กระบวนการรัฐสภา เพราะถ้าปล่อยให้ประชาชนออกมาชุมนุมต้านเผด็จการ ประชาชนก็ตายฟรีทุกครั้ง ดังนั้นนักการเมืองต้องเดินนำประชาชนต่อสู้กับเผด็จการ ไม่ใช่เพียงรอคอยลงเลือกตั้งหลังนับศพประชาชนไปแล้ว 

ที่ผ่านมา เมื่อประชาชนออกมาต้านเผด็จการจนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมากแล้ว เมื่อเข้าสู่การเลือกตั้ง เรามักขาดนักการเมือง พรรคการเมืองที่เป็น “ผู้นำประชาธิปไตย” มาสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อวางรากฐานให้ประชาธิปไตยมั่นคงทั้งในเชิงอุดมการณ์และโครงสร้างเพื่อตัดวงจรรัฐประหารอย่างถาวร

แปลว่า ถ้าสถาปนาอุดมการณ์และระบบโครงสร้างของประชาธิปไตยให้มั่นคงเหนืออุดมการณ์อนุรักษ์นิยมไม่ได้ รัฐประหารย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ อันที่จริงเป็นธรรมชาติของการเมืองทั่วโลกที่เมื่อเปลี่ยนระบบการปกครองแล้ว เครือข่ายอำนาจเก่าที่ยังอยู่ก็ย่อมต่อสู้ต่อรองกับอำนาจใหม่ สำหรับสังคมไทย “วิถีรัฐประหาร” คือวิถีของการบริหารอำนาจหรือ “กระชับอำนาจ” ของฝ่ายอนุรักษ์นิยมมายาวนาน 

การเลือกตั้งครั้งนี้ก็คือการเลือกตั้งในวิถีบริหารอำนาจ/กระชับอำนาจของฝ่ายอนุรักษ์นิยม เพราะฝ่ายอนุรักษ์ยิมปฏิเสธการเลือกตั้งไม่ได้เนื่องจากเป็นความต้องการของคนส่วนใหญ่ มันจึงเป็นการเลือกตั้งที่ต่อสู้ระหว่าง “อุดมการณ์อนุรักษ์นิยม vs.อุดมการณ์ประชาธิปไตย” ไม่ว่าฝ่ายใดจะชนะ ก็ยังไม่อาจชนะได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เป็นเพียงชัยชนะหรือแพ้เพื่อจะสู้กันต่อไป

คำถามสำคัญคือ เราต้องการเห็นสังคมไม่เกิดการกดขี่ ความรุนแรง เป็นสังคมที่มีความหวังในการพัฒนาเศรษฐกิจและสวัสดิการต่างๆ ที่เป็นธรรมมากขึ้นจริงหรือไม่ หากต้องการกันจริงๆ การเลือกตั้งครั้งนี้ก็ต้อง “เลือกฝ่ายประชาธิปไตย” เพราะการสร้างระบอบประชาธิปไตยให้ทำงานได้จริงเท่านั้น ความต้องการต่างๆ ดังกล่าวจึงจะเป็นจริง

สังคมผ่านวิกฤตยาวนานมากเกินพอแล้ว เราไม่ควรอยู่กับการหลอกลวงว่า รัฐประหารคือหนทางสร้างสังคมสงบสุข ไม่ขัดแย้ง เพราะถ้าหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นต้นมา หากฝ่ายอนุรักษ์นิยมยอมปล่อยให้กระบวนการประชาธิปไตยแก้ปัญหาและพัฒนาตัวมันเองมาเรื่อยๆ ไม่ทำรัฐประหารเพื่อบริหารอำนาจ/กระชับอำนาจของพวกตน ความขัดแย้งและความรุนแรงที่มีประชาชนบาดเจ็บล้มตายก็ย่อมไม่เกิดซ้ำซาก

ความไม่สงบ ความขัดแย้งจึงไม่ได้เกิดจากระบอบประชาธิปไตย หรือเกิดจากพลเมืองที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม แต่เกิดจากฝ่ายเผด็จการไม่ยอมให้ข้อเรียกร้องดังกล่าวกลายเป็นจริงได้ต่างหาก

ดังนั้น การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชนส่วนใหญ่ แต่อุปสรรคคือเป็นการต่อสู้ในวิถีบริหารอำนาจ/กระชับอำนาจของฝ่ายอนุรักษ์นิยม ทางชนะมีทางเดียวเท่านั้น คือประชาชนเลือกพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยอย่างถล่มทลาย หรือถ้าแพ้เลือกตั้งภายใต้กติกาที่เสียเปรียบมากเช่นนี้ ก็ยังสามารถรักษา “ความหวัง” ที่จะสู้ต่อไป  

  

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net