เพื่อแก้ปัญหาชายแดนใต้? จึงสถาปนาแนวร่วมระบบอุปถัมภ์ใหม่ โดย ศูนย์ทนายความมุสลิม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

การบังคับให้สูญหาย “สมชาย นีละไพจิตร” อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547

 ทว่าเจตนารมณ์ที่อยากเห็นความเป็นธรรม ของ “สมชาย นีละไพจิตร” ด้วยการต่อสู้ผ่านกระบวนการยุติธรรม มิอาจบังคับให้สูญหายได้

 และเจตนารมณ์นั้น ถูกสืบสานโดย “มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม”

สรุปความหนึ่งของการเสวนา 12 มีนาคม 2562 รำลึก 15 ปี การจากไป ทนายสมชาย

"การบังคับให้สูญหาย ที่ไม่อาจบังคับให้สูญหาย" ณ ปาตานี เซ็นเตอร์ (อาคารหลังเก่าของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี)

วันนั้นในวงเสวนา เห็นว่า การต่อสู้ทางกระบวนการยุติธรรมเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ บุคลากร 4 คนของ “มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม (MAC:Muslim Attorney Centre)” จึงตัดสินใจลงสนามการเมืองสมัครเป็นสมากชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในสังกัดพรรคการเมือง

4 คน อยู่กันคนละพรรค โดย “แบตา-ณรงค์ อาแว” อยู่พรรคอนาคตใหม่ ทางด้าน “แบยูแฮ-กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ” อยู่พรรคประชาชาติ ส่วน “แบกอฮา-อับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ” อยู่พรรคภูมิใจไทย และ “แบลัน-อาดีลัน อาลีอิสเฮาะ” อยู่พรรคพลังประชารัฐ

2 MAC กับ “การให้ความชอบธรรมคสช.-สร้างแนวร่วมกับพรรคเน้นผลประโยชน์”

ในบรรดาทนายความ 4 คน  ของ “มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม (MAC:Muslim Attorney Centre)” ที่ลงสมัคร ส.ส. “แบลัน-อาดีลัน อาลีอิสเฮาะ” ถูกตั้งคำถามมากที่สุด เพราะเขาลงสมัครในสังกัดพรรคพลังประชารัฐ ที่ชู “ราชาชาตินิยมไทย” เป็นอุดมการณ์์นำ และเสนอ “พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา” ที่เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มาจากการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 สืบทอดตำแหน่งนากยกรัฐมนตรีอีกครั้ง แม้ผ่านเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 แล้วก็ตาม

“แบกอฮา-อับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ” ที่สังกัดพรรคภูมิใจไทย ก็เป็นอีกคนที่ถูกตั้งคำถาม ในฐานะที่พรรคภูมิใจไทยเกิดขึ้นเพราะวัฒนธรรมพรรคการเมืองแบบเก่าที่ไร้อุดมการณ์

 พรรคก่อตั้งขึ้นบนฐานผลประโยชน์ของนักธุรกิจ นายทุนท้องถิ่นในภูมิภาคอีสานใต้

แล้วค่อยๆ ขยายสร้างแนวร่วมระบบอุปถัมภ์กับนักธุรกิจ นายทุนท้องถิ่นในภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉพาะภาคใต้ตอนล่าง

พรรคภูมิใจไทย หรือกลุ่มเพื่อนเนวินเดิม คือ ตัวแปรสำคัญ ว่าใครสามารถตั้งรัฐบาลได้ หรือไม่ได้ จุดยืนสำคัญในการร่วมกับรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เมื่อปี 2551 คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคมและกระทรวงพาณิชย์ ที่มีงบประมาณสูงในการบริหาร

ปล่อยลอยนวลพ้นผิดไป ไม่แบ่งสี ไม่มีฝ่าย คล้ายคำตอบจาก “อาดิลัน”

“ถึงแม้ว่าหลายคนมีความห่วงกังวลและสงสัยในคราวเดียวกัน ทำไมทนายอาดิลันต้องลงสมัครพรรคพลังประชารัฐ”

คำถามใหญ่ท้ายโพสต์ คำถามหนึ่งในโพสต์เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2559 ของเพจ Facebook ทนายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ[1]

และด้วยเป็นคำถามที่ค่อนข้างเป็นที่กังขา ผู้คนใน Facebook จึงแห่กันเข้ามาแลกเปลี่ยน             …..

“อะไรที่ทำให้แบร์เชื่อมั่นว่าพรรคพลังประชารัฐจะเป็นพื้นที่ทำงานในการเป็นปากเป็นเสียงให้กับชาวบ้านที่ถูกละเมิดสิทธิ์ในพื้นที่ได้ครับ ในทางกลับกันเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า พรรคนี้เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มคนที่มีความต้องการสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งในหลักการทางการเมืองก็คือพรรคนี้ต้องการสืบทอดอำนาจเผด็จการ แบร์ก็ทราบดีอยู่แล้วว่า ทัศนคติหรือนโยบายเกี่ยวกับภาคใต้ของคุณประยุทธ์เป็นอย่างไร”

“เวลาจะเผยทาสเเท้ของคนคนหนึงปรากฎออกมาเอง ไม่น่าเลยเป็นเครืองมือไปอีกคน”

“ก็คอยเวลาเป็นเครืองสิnอย่าด่วนสรุป”

“ติดระดุมเม็ดแรกผิด เม็ดต่อๆไปก็ผิดครับ คนดีให้ตาย เก่งให้ตาย ไปอยู่ผิดที่ผิดทางก็ทำอะไรไม่ได้ครับ คอยดูแล้วกันครับ”

“ถ้าผู้ใหญ่ท่านนี้เป็นทหารทำงานความมั่นคงไม่รู้ปัญหาจริงๆตลอด14 ปีเป็นไปได้หรือ ? คำถามคือทำไมลงในพรรคที่ดูเหมือนว่าเป็นคู่ขัดแย้งตรงนี้แหละที่อยากจะทราบ แล้วลึกๆกฎหมายพิเศษท่านเห็นด้วยหรือไม่และพรรคนี้มีมุมมองนโยบายพรรคอย่างไรต่อเรื่องนี้”

“ทำงานเกียวกับความมั่นคงก็ต้องอยู่ภานใต้เขา ถึงจะอยู่ได้ เสียดายไม่น่าเป็นเครืองมือเผด็จการเลย”

เหล่านี้เป็นคอมเมนท์ที่น่าสนใจ ท้ายสุดจากโพสต์นั้น ก็ไม่มีมีคำตอบจาก “อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ” ทว่ามีโพสต์เมื่อ 23 มกราคม 2562[2] คือ ภาพโลโก้ และวาทกรรม “ก้าวข้ามความขัดแย้ง ไม่แบ่งสี ไม่มีฝ่าย” ของพรรคพลังประชารัฐ

คล้ายเป็นคำตอบกลายๆ

“ก้าวข้ามโศกนาฏกรรมกรือเซะ ตากใบซะ ลืมๆ มันไป ผู้กระทำกับผู้ถูกกระทำเป็นพวกเดียวกัน ไม่แบ่งสี ไม่มีฝ่าย ก้าวข้ามความขัดแย้งซะ แช่แข็งสังคมด้วยการปรองดอง พูดคุยสันติสุขกันเถอะ อะไรที่เกิดขึ้นแล้วก็ให้ลอยนวลพ้นผิดไป”

“อับดุลกอฮาร์” ผู้หยวนๆ กับภูมิใจไทย ภายใต้อุดมการณ์นำ “ราชาชาตินิยมไทย”

คำถามของผู้คนใน Facebook เกิดขึ้นกับ “อับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ” อดีตประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จ.ปัตตานี ผู้สมัคร ส.ส. ปัตตานี เขต 2 สังกัดพรรคภูมิใจไทย  เช่นกัน

เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561 เพจ Facebook ทนายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ[3] โพสต์รูปของตัวเองประกอบข้อความว่า

"กลไกทางสภา ที่ผมกำลังจะขออาสาทำหน้าที่

คือให้คนในพื้นที่หลายๆกลุ่ม ใช้สืทธิ์เรียกร้องผ่านกลไกทางการเมืองและนักการเมืองนำเสนอเข้าไปสู่นโยบาย"

จากนั้นผู้ใช้ Facebook คนหนึ่งก็เ้ขามาคอมเม้นท์

“1.พรรคนี้ เอานายกคนนอกไหมครับ

2.พลังประชารัฐกับภูมิใจไทย มีความสัมพันธ์ไรไหม ปล.ผมเชื่อใจท่าน เลือกท่าน แต่ไม่เชื่อใจพรรค แล้วถ้า พลังประชารัฐ (พรรคทหาร) จับมือกับภูมิใจไทยจริงๆละ ยุทธศาสตร์ชาติก็ยังอยู่ใช่ไหมครับ กลัว!!มาก กลัว3จว จะไม่มีเปลี่ยนแปลง”

ต่อมาวันที่ 13 มกราคม 2562 เพจ Facebook ทนายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ โพสต์ภาพ “อนุทิน ชาญวีรกุล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่อธิบายถึงนโยบายสร้างเขตพัฒนาพิเศษ ประกอบด้วยข้อความว่า

“นโนบายของพรรค #ภูมิใจไทย กับ 3 จังหวัดชายแดนใต้บ้านเรานั้น ทางพรรคใช้แนวคิด #เปลี่ยนเสียงระเบิดเป็นเครื่องจักร SOUTH ECONOMIC CORRIDOR หรือ #SEC

“ด้วยการต่อยอดจาก พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 ที่มีอยู่แล้ว มาปรับให้สอดคล้องกับพื้นที่ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต และแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำกับพื้นที่อื่น ให้เกิดความมั่นคง ยั่งยืนครับ.”[4]

จากนั้นผู้ใช้ Facebook หลายราย ก็เข้ามาคอมเม้นท์

“แลกเปลี่ยนแน่ใจหรือจะไม่เอื้อทุนทหารหรือทุนใหญ่สู่ปลาใหญ่กินปลาเล็กตราบใดประเทศนี้เป็นรวมศูนย์อำนาจ และนี่หรือหัวใจลดอำนาจรัฐเพิ่มอำนาจประชาชน?”

“น่าจะจัดเวทีเรื่องนี้นะคะ มีข้อท้าทายทางสังคมหลายเรื่องเช่นกัน โดยเฉพาะการใช้พื้นที่ในจำนวนมากมาย ที่ดินเอามาอย่างไร เรื่องสิ่งแวดล้อม การดึงทรัพยากร โดยเฉพาะน้ำไปอยู่ในเขตพื้นที่พัฒนา การใช้แรงงาน อำนาจของผู้บริหารเขตพัฒนา บลาๆๆๆ”

“สร้างงานโดยเลียนแบบระยอง สร้างโรงงานสารเคมีหนักที่มีมลพิษและทำลายระบบนิเวศ”

“จับมือกับพลังประชารัฐ​ไหม?”

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2562 เพจ Facebook ทนายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ โพสต์ภาพ เป็นโคว้ทคำพูดว่า “ผมเชื่อมั่นว่าปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ แก้ได้ด้วยการเมือง” ประกอบภาพของตัวเอง และโลโก้พรรคภูมิใจไทย[5]

แล้ว ผู้ใช้ Facebook หลายราย ก็เ้ขามาคอมเม้นท์ เช่นเคย

“แต่หากท้ายสุดหัวหน้าพรรคสั่งให้หนุนประยุทธ์?”

แล้วแอดมิน เพจ Facebook ทนายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ก็นำลิงค์โพส์ในเพจ Facebookของตัวเองที่โพสต์ไว เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 มาแปะเชิงโต้ตอบกับคอมเม้นท์นั้น

ลิงค์โพส์ในเพจ Facebook ทนายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562[6]

คือ ข่าวพาดหัวว่า “เปิดใจแม่ทัพภูมิใจไทย“อนุทิน ชาญวีรกูล” “พรรคตัวแปร”ตั้งรัฐบาล !”ของ ” สยามรัฐ” เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2562

พร้อมโพสต์ข้อความคำให้สัมภาษณ์ของ “อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ประกอบว่า

"#พรรคภูมิใจไทยไม่ได้อยู่ในความขัดแย้ง ระหว่างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง พรรคเป็นเอกเทศ เป็นพรรคการเมืองที่มีความเป็นอิสระ"

"หลังการเลือกตั้งพรรคภูมิใจไทยมั่นใจว่าเราสามารถแปรความต้องการของพี่น้องประชาชนผ่านการลงคะแนน และความต้องการของพี่น้องประชาชนเป็นอย่างไรพรรคภูมิใจไทยก็จะเดินตามนั้น ไม่มีการต่อรอง หรือจับขั้วกันก่อน ไม่มีการเลือกข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ถ้าจะเลือกข้างก็ขอเลือกเจ้าของพรรคที่แท้จริงคือพี่น้องประชาชน"

"#พรรคภูมิใจไทยไม่ได้อยู่ในความขัดแย้ง ระหว่างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง พรรคเป็นเอกเทศ เป็นพรรคการเมืองที่มีความเป็นอิสระ"

"หลังการเลือกตั้งพรรคภูมิใจไทยมั่นใจว่าเราสามารถแปรความต้องการของพี่น้องประชาชนผ่านการลงคะแนน และความต้องการของพี่น้องประชาชนเป็นอย่างไรพรรคภูมิใจไทยก็จะเดินตามนั้น ไม่มีการต่อรอง หรือจับขั้วกันก่อน ไม่มีการเลือกข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ถ้าจะเลือกข้างก็ขอเลือกเจ้าของพรรคที่แท้จริงคือพี่น้องประชาชน"

 กระทั่งเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 เพจ Facebook ทนายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ โพสต์รูปที่มีตัวเอง โลโก้พรรคภูมิใจไทย พร้อมโคว้ทคำพูดของตัวเอง[7]

"เราจำเป็นต้องอาศัยอำนาจทางการเมืองเพื่อนำข้อเรียกร้องต่างๆ ที่เป็นความเห้นร่วมกันเป็นข้อต่อรองในการลดอำนาจรัฐ"

 ผู้ใช้ Facebook ยังตามคอมเม้นท์

“แน่ใจหรือถ้าท้ายสุดวันนั้นพรรคท่านหนุนคนสืบทอดอำนาจอย่างประยุทธ์เป็นนายก”

ถ้าค้นข้อมูลลึกเข้าไปก็พบว่า “พรรคภูมิใจไทย” กำเนิดขึ้นเมื่อเวลา 10.30 น ของวันที่ 5 พฤศจิกายน 2551[8] ภายใต้การช่วงชิงจัดตั้งรัฐบาลภายหลังวันที่ 2 ธันวาคม 2551 เนื่องจาก”สมชาย วงศ์สวัสดิ์” ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชน และเพิกถอนสิทธิทางการเมือง ของคณะกรรมการบริหารพรรค คนละ 5 ปี[9]

กระทั่งวันที่ 15 ธันวาคม 2551 การลงมติของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี การลงมติปรากฏว่า “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ป็นนายกรัฐมนตรี

อุดมการณ์นำของ “พรรคภูมิใจไทย” คือ อุดมการณ์ “ราชาชาตินิยมไทย” เฉกเช่นเดียวกับ พรรคพลังประชารัฐ” พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคประชาชนปฏิรูป พรรคประชาธิปัตย์ ฯลฯ

ซึงความขัดแย้งในชายแดนใต้ ส่วนใหญ่เป็นผลพวงมาจากการที่รัฐไทย ใช้ “ราชาชาตินิยมไทย” เป็นอุดมการณ์นำ

เพื่อแก้ปัญหาชายแดนใต้? : MAC จึงสถาปนาแนวร่วมระบบอุปถัมภ์ใหม่

“การบุคลากร 4 คน จาก “มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม (MAC:Muslim Attorney Centre)” ไปสังกัดพรรคการเมืองในแต่ละพรรคนั้น เป็นสมาชิกของแต่ละพรรค ในแต่ละพรรคนั้นสามารถสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ได้หลายๆ คน ในพรรคของเขา

“แบลันเนี่ยก็มีเครือข่ายของเขาในพรรคพลังประชารัฐ แบกอฮาก็มีเครือข่ายของเขาในพรรคภูมิใจไทย แบยูแฮ ก็มีเครือข่ายของเขาในพรรคประชาชาติ แบตา ก็มีเครือข่ายของเขาในพรรคอนาคตใหม่ แต่ละคนไปสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ในแต่ละพรรค

“การจะได้เป็นส.ส. หรือไม่ได้เป็นส.ส. นั้น ถ้าแต่ละคนได้ก็ขอบคุณในองค์อัลเลาะห์เจ้าที่เมตตา ถ้าไม่ได้ก็ถือเป็นพระประสงค์ของเอกองค์อัลเลาะห์ สมัยหน้าค่อยว่ากันใหม่

“แต่สิ่งที่ก่อเกิดขึ้นมาก็คือการได้มีพรรคพวกในแต่ละพรรคการเมืองทีแต่ละคนสังกัด เพราะฉะนั้นในการนำเสนอประเด็นแหลมคมในเรื่องของความขัดแย้งของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจจะมีการร่วมด้วยช่วยกันในเครือข่ายความสัมพันธ์ที่แต่ละคนมีอยู่ เพื่อที่จะผลักดันประเด็นที่มีความแหลมคมไปสู่การเปลี่ยนแปลงในด้านนโยบายของรัฐ”

“สิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์” ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม (MAC) เล่าถึงแนวคิดเบื้องหลังที่ 4 คน จาก MAC ลงเล่นการเมืองสังกัดกันคนละพรรค

ผ่่านการเสวนา 12 มีนาคม 2562 รำลึก 15 ปี การจากไป ทนายสมชาย"การบังคับให้สูญหาย ที่ไม่อาจบังคับให้สูญหาย" ณ ปาตานี เซ็นเตอร์ (อาคารหลังเก่าของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี)

ระบบอุปถัมภ์ เป็นต้นตอส่วนหนึ่งของการโกง การทุจริตคอรัปชัน

รัฐไทยนับตั้งแต่รัฐราชาธิราช, รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และรัฐที่มีรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ต่างไม่ได้ใช้ทรัพยากรในมือของตนอย่างเที่ยงธรรม เล่นพรรคเล่นพวก และเปิดให้มีการละเมิดสิทธิ์อยู่ตลอดมา

ดังนั้น ผู้คนจึงพากันเข้าไปอยู่ในเครือข่ายอุปถัมภ์ เพราะการเจรจาต่อรองกับรัฐที่ได้ผลคือการรวมกลุ่มในเครือข่ายอุปถัมภ์

“ระบบอุปถัมภ์” จึงอยู่ในการเมืองการปกครองของรัฐไทยตลอดมา[10]

เป็นส่วนหนึ่งของบทความวิชาการของ “ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์” นักคิด นักเขียน และศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เขียนถึงระบบอุปถัมภ์ในการเมืองไทย

ขณะที่ “ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล” อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตผู้นำนักศึกษาเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก็มองว่า แม้แต่พรรคการเมืองในการระบบการเมืองไทยเองก็เป็นอวตารใหม่ของระบบอุปถัมภ์

“ที่ผ่านมาบรรดาพรรคการเมืองและนักการเมืองไม่เพียงลืมผลักดันให้มีการขยายโครงสร้างประชาธิปไตยเท่านั้น หากยังใช้ความสัมพันธ์แบบจารีต ไม่เป็นสมัยใหม่ มาสร้างฐานเสียงทั้งในและนอกพรรค

ระบบพรรคการเมืองกลายเป็นอวตารใหม่ของระบบอุปถัมภ์ ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วขัดกับปรัชญาเรื่องสิทธิเสรีภาพเป็นอย่างยิ่ง"[11]

เป็นการกล่าวปาฐกถาพิเศษของ “เสกสรรค์ ประเสริฐกุล” อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตผู้นำนักศึกษาเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในหัวข้อ "ประเทศไทยในความคิด ความคิดในประเทศไทย" เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2561 ณ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในรัฐราชการแบบไทยจึงเต็มไปด้วยระบบอุปถัมภ์ ในกระบวนการยุติธรรมแบบไทยเต็มไปด้วยระบบอุปถัมภ์ ในการเมืองระบบพรรคการเมืองเต็มไปด้วยระบบอุปถัมภ์ หรือแม้แต่ในองค์กรภาคประชาสังคม อาทิ เอ็นจีโอ ขบวนการภาคประชาชน องค์กรชุมชน สหภาพแรงงาน เป็นต้น แบบไทยไทย ก็เต็มไปด้วยระบบอุปถัมภ์ ในสังคมและชุมชนไทย รวมถึงมลายูใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ด้วย ก็เต็มไปด้วยระบบอุปถัมภ์

แม้ด้านสว่างของระบบอุปถัมภ์ก่อให้เกิดการเอื้อเฟื้อช่วยเหลือกัน ทว่าด้านมืดของระบบอุปถัมภ์นั้นเน้นฃระบบเล่นพรรคพวก (Spoils System) ระบบเลือกที่รักมักที่ชัง (Favoritism) ระบบวงศาคณาญาติ (Nepotism )ไม่ได้สนหลักการ หรือความถูกต้องผิดชั่วอะไรนัก

และระบบอุปถัมภ์นี่เอง เป็นต้นตอส่วนหนึ่งของการโกง การทุจริตคอรัปชั่น ในสังคมไทย รวมถึงสังคมมลายูใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ด้วย

3 พรรคใหม่ชูประชาธิปไตยนำ “หนีระบบอุปถัมภ์ในวัฒนธรรมการเมืองแบบเก่า”

หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศให้มีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในต้นปี 2562 เกิดปรากฏการณ์ใหม่ทางการเมืองไทยที่น่าสนใจ มาจากการเกิดพรรคการเมืองใหม่ 3 พรรค ที่ชูอุดมการณ์ประชาธิปไตยนำ คือ พรรคอนาคตใหม่ พรรคสามัญชน และพรรคเกียน[12]

พรรคการเมืองใหม่ 3 พรรค ที่ปฏิเสธ "วัฒนธรรมพรรคการเมืองแบบเก่า" ที่เน้นการซื้อเสียง เน้นระบบหัวคะแนนที่เป้นผู้นำชุมชน หาเสียงผ่านโครงสร้างอำนาจชุมชนเชิงอุปถัมภ์ การเมืองที่คาดหวังถึงผลปรธโยชน์ส่วนตัว และผลประโยชน์ของพรรค การเมืองที่ใส่ร้ายป้ายสีสาดโคลน ทําลายล้างกันทางการเมืองโดยไม่คํานึงถึงวิธีการ

พรรคการเมืองใหม่ 3 พรรค ดังกล่าวพยายามสร้าง "วัฒนธรรมพรรคการเมืองแบบใหม่" ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานชูอุดมการณ์ประชาธิปไตยนำ และมุ่งทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน

ทว่า “มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม (MAC:Muslim Attorney Centre)” กลับเลือกที่จะสถาปนาแนวร่วมระบบอุปถัมภ์ใหม่ เพื่อแก้ปัญหาชายแดนใต้?

 

อ้างอิง

[1] อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ,16 ธันวาคม 2561 ,EP.1 ทำไม....ทนายอาดิลันจึงต้องลงการเมืองระดับประเทศ !!! ,(สืบค้นจาก https://www.facebook.com/Adilan.Lawyer/photos/a.319790975272761/333426693909189/?type=3&theater เข้าถึงเมื่อ 20 มีนาคม 2562)

[2] อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ,23 มกราคม 2562 ,"พบกับแนวนโยบายพลังประชารัฐที่จะเปลี่ยนประเทศ เพิ่มพลังเศรษฐกิจเร็วๆนี้",(สืบค้นจาก https://www.facebook.com/Adilan.Lawyer/photos/a.319790975272761/333426693909189/?type=3&theater เข้าถึงเมื่อ 20 มีนาคม 2562)

[3] อับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ,25 ธันวาคม 2561,"กลไกทางสภา ที่ผมกำลังจะขออาสาทำหน้าที่

คือให้คนในพื้นที่หลายๆกลุ่ม ใช้สืทธิ์เรียกร้องผ่านกลไกทางการเมืองิและนักการเมืองนำเสนอเข้าไปสู่นโยบาย" , (สืบค้นจาก https://www.facebook.com/Abdulkohharawaeputeh/photos/a.560050801122326/596250207502385/?type=3&theater เข้าถึงเมื่อ 21 มีนาคม 2562)

[4] อับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ,13 มกราคม 2562 ,นโนบายของพรรค #ภูมิใจไทย กับ 3 จังหวัดชายแดนใต้…. , (สืบค้นจาก https://www.facebook.com/Abdulkohharawaeputeh/photos/a.560050801122326/607039333090139/?type=3&theater เข้าถึงเมื่อ 21 มีนาคม 2562)

[5] อับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ,10 กุมภาพันธ์ 2562,... , (สืบค้นจาก https://www.facebook.com/Abdulkohharawaeputeh/photos/a.560050801122326/622679198192819/?type=3&theater เข้าถึงเมื่อ 21 มีนาคม 2562)

[6] อับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ,12 กุมภาพันธ์ 2562,"#พรรคภูมิใจไทยไม่ได้อยู่ในความขัดแย้ง ระหว่างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง พรรคเป็นเอกเทศ เป็นพรรคการเมืองที่มีความเป็นอิสระ" ,(สืบค้นจาก https://www.facebook.com/Abdulkohharawaeputeh/posts/623902854737120?__xts__[0]=68.ARBVvjK41U2k98AFHCk2G87u4jS8rMZIXHOMtFAHVeEQuAru0cm3k4o4SoFSVIB2__FVqQJ9cfTGDpcWYPvuO-RasFOoprMA9vzNBVVBaDb0NwDfOiMfQLJ95K3_B4YmbMXFAlMTa-S0oU6pRG8q9-U9q57SA_JmnJ8_nESQGwChUZbyvCfqRxrK_KFPhUDNt6zjzAc0uI0kPF3Mu57ZsyrJRRwAmsQYwu0mNvr2AZ-eRysY-9RT3b8CPk7j35YzfrOtwBUtV7S50CgmT7A68W0RvpAs4vTZA_pQAT3pmRpTdyLfABODxRnf1AmzXge1RQ908v5y6PpijVW15Wz4hMU&__tn__=-Rr เข้าถึงเมื่อ 21 มีนาคม 2562)

[7] อับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ,19 กุมภาพันธ์ 2562,#ตูกา #ตูกา #ทนายกอฮาร์ อับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ #เบอร์14 เขต3 จังหวัดปัตตานี ขอโอกาสพี่น้องทุกท่าน #ทลายทุกข้อจำกัด #ลดอำนาจรัฐ #เพื่อชายแดนภาคใต้ บ้านเราครับ ... ,(สืบค้นจาก https://www.facebook.com/Abdulkohharawaeputeh/posts/623902854737120?__xts__[0]=68.ARBVvjK41U2k98AFHCk2G87u4jS8rMZIXHOMtFAHVeEQuAru0cm3k4o4SoFSVIB2__FVqQJ9cfTGDpcWYPvuO-RasFOoprMA9vzNBVVBaDb0NwDfOiMfQLJ95K3_B4YmbMXFAlMTa-S0oU6pRG8q9-U9q57SA_JmnJ8_nESQGwChUZbyvCfqRxrK_KFPhUDNt6zjzAc0uI0kPF3Mu57ZsyrJRRwAmsQYwu0mNvr2AZ-eRysY-9RT3b8CPk7j35YzfrOtwBUtV7S50CgmT7A68W0RvpAs4vTZA_pQAT3pmRpTdyLfABODxRnf1AmzXge1RQ908v5y6PpijVW15Wz4hMU&__tn__=-Rr เข้าถึงเมื่อ 21 มีนาคม 2562)

[8] วิกิพีเดีย,1 มีนาคม 2562,พรรคภูมิใจไทย,(สืบค้นจาก https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A0%E0%B8%B9%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B9%83%E0%B8%88%E0%B9%84%E0% เข้าถึงเมื่อ 21 มีนาคม 2562)

[9] วิกิพีเดีย,1 มีนาคม 2562,การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีไทย ธันวาคม พ.ศ. 2551,(สืบค้นจาก https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2_%E0%B8%98%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%A1_%E0%B8%9E.%E0%B8%A8._2551 เข้าถึงเมื่อ 21 มีนาคม 2562)

[10] นิธิ เอียวศรีวงศ์,30 มิถุนายน 2560,นิธิ เอียวศรีวงศ์: ระบบอุปถัมภ์ในการเมืองไทย, (สืบค้นจาก https://prachatai.com/journal/2017/06/72194 เข้าถึงเมื่อ 21 มีนาคม 2562)

[11] BBCไทย,9 มีนาคม 2561,โลกที่ เสกสรรค์ เห็น คือโลกที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยม-ก้าวหน้า ไม่เคยคิด ?,(สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-43341487 เข้าถึงเมื่อ 21 มีนาคม 2562)

[12] หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ,9 มีนาคม 2561,จับตาพรรคใหม่ ตัวแทนประชาธิปไตยVS คสช. ชิงมวลชนก่อนเลือกตั้ง 2562, (สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-43326585 เข้าถึงเมื่อ 21 มีนาคม 2562)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท