6 นักรัฐศาสตร์ จุฬาฯ วิเคราะห์ 'โค้งสุดท้ายการเลือกตั้ง 62' 

'พิชญ์' เปิด 10 ประเด็นเลือกตั้ง 62 'กนกรัตน์' มอง 'อนาคตใหม่' มาแรงกับคนรุ่นใหม่ ระบุงานวิจัยพบคนกลุ่มนี้โน้มไปทาง 'เสรีนิยม' ขณะที่ 'สิริพรรณ' หลังเลือกตั้ง ‘ประยุทธ์’ จะยังได้เป็นนายกฯ แต่ตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพไม่ได้ แนะโหวตอย่างจริงใจมากกว่าโหวตแบบยุทธศาสตร์ 'ประภาส' มองการเมืองภาคประชาชนต้องการลงคะแนนเสียงเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบที่ไม่มีมาตรา 44 

เมื่อวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดงานรัฐศาสตร์เสวนา "โค้งสุดท้ายการเลือกตั้ง 62" ที่ห้องจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก รำไพพรรณี โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาเป็นอาจารย์ของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคือ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, กนกรัตน์ เลิศชูสกุล, สิริพรรณ นกสวน สวัสดี, ไชยันต์ ไชยพร และ ประภาส ปิ่นตบแต่ง ดำเนินรายการโดย เวียงรัฐ เนติโพธิ์

พิชญ์ เปิด 10 ประเด็น

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ได้ตั้งข้อสังเกตและวิเคราะห์ไว้ 10 ประการ คือ

1. การเลือกตั้งรอบนี้เกิดขึ้นหลังจากห่างหายไปนาน คือการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นภายใต้สังคมเผด็จการที่มีความแตกต่างและเหมือนกับเผด็จการยุคอดีตในหลายๆ ข้อ เป็นสังคมเผด็จการที่มีอายุยืนยาวเป็นที่ 2 รองจากพลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นระบอบเผด็จการที่เข้มแข็งด้านอำนาจและการสนับสนุนจากคนชนชั้นกลางด้วย

2. มีการพยายามอธิบายว่าระบอบที่เรากำลังจะไปเจอคือระบอบอะไร ในช่วงอาทิตย์สองอาทิตย์ที่ผ่านมาเริ่มมีการวิเคราะห์จากสื่อในและต่างประเทศ ผลการเลือกตั้งรอบนี้น่าจะทำให้ระบอบเผด็จการอยู่ต่อไปได้ ไม่ได้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตย

ในช่วงต้นของการรัฐประหาร คำว่า ‘เปลี่ยนผ่าน’ ถูกใช้ทั้งมุมนักวิชาการและมุมรัฐ แต่อาจไม่ตรงกัน ‘เปลี่ยนผ่าน’ ใช้ทั้งวาทกรรมทางการเมืองและการพยายามทำความเข้าใจระบอบนี้ ซึ่งพิชญ์มองว่าไม่ใช่การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย และไม่ใช่ระบบไฮบริดหรือลูกผสม ระบบลูกผสมมักใช้ในฐานะประชาธิปไตยแปรสภาพ ด้อยอำนาจลงจนระบอบเผด็จการเข้ามา คือเกิดจากการเลือกตั้งแล้วเผด็จการเข้ามายึดอำนาจ ระบบลูกผสมมักไม่ใช้กับระบอบเผด็จการที่พยายามสืบทอดอำนาจ ดังนั้นรอบนี้ไม่ใช่การเปลี่ยนผ่าน ไม่ใช่ลูกผสม แต่เป็นการอธิบายว่าระบอบเผด็จการสืบทอดอำนาจอย่างไร

3. สิ่งสำคัญที่เห็นคือกฎกติกาของรัฐหลายข้อไม่ได้มีลักษณะแบบที่มีในสากล หรือสากลในแบบที่เผด็จการทำ มีทุกวิถีทางที่ทำให้การต่อสู้ไม่เป็นธรรมและไม่เสรี ในความหมายว่าการบวก 250 ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. เข้ามาในรอบนี้ ไม่ใช่เงื่อนไขปกติของประชาธิปไตย ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นรอบนี้จะเป็นพม่าโมเดลแค่ไหน เป็นพม่าโมเดลแบบที่พยายามจะสืบทอดอำนาจของทหาร หรือที่ผลการเลือกตั้งกลับกลายว่าไม่เลือกทหารถล่มทลาย แต่ประชาชนบอกสื่อว่าไม่รู้จะเลือกใคร เขาไม่ตัดสินใจจริงๆ หรือเขาไม่ไว้ใจคนที่ถาม เนื่องจากบรรยากาศรณรงค์การเลือกตั้งไม่มีความเสรี

4. มีความเป็นไปได้ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยไม่ได้เกิดจากคนที่ไปจับมือกันที่ลานโพธิ์เมื่อไม่กี่วันนี้ ระบอบเผด็จการอำนาจปัจจุบันจะแก้ไขรัฐธรรมนูญในรอบหน้าเอง เนื่องจาก ถ้าธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้คะแนนเสียงสัก 50 เสียงขึ้นไป ระบอบนี้ต่อให้วางโครงสร้างอำนาจ 150 เสียงมาคานอำนาจกับเพื่อไทยกับพรรคเสียงข้างมากไม่ให้ได้เกิน 50% ซึ่งไม่ใช่ความผิด เพราะรอบที่แล้วเจตจำนงของการร่างรัฐธรรมนูญปี 40 ก็ไม่ถึง แต่ต้องการทำให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็ง ไม่ได้เป็นการโกง แต่ครั้งนี้ถูกทำให้ดูเป็นเรื่องไม่เป็นธรรม ในรอบนี้เชื่อว่าคนร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้คิดว่าจะเกิดพรรคการเมืองที่ไม่ชนะในเขตแต่ได้รับความนิยม เช่น พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งช่องโหว่ตรงนี้ หรือปรากฏการณ์ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้ช่องว่างตรงนี้ไม่เป็นคุณกับระบอบเผด็จการ คือเขาตั้งใจแค่ว่าทำยังไงก็ได้ให้คะแนนเลือกตั้งเขตไม่มีความหมาย เพราะฉะนั้นมีความเป็นไปได้ที่การแก้รัฐธรรมนูญจะถูกริเริ่ม หรือถ้าแก้ได้ไม่ใช่เพราะเผด็จการยอมอำนาจประชาธิปไตย แต่คือคิดว่าเกมนี้ไม่เวิร์คแล้ว ความเป็นไปได้คือลดปาร์ตี้ลิสต์ลงอีก หรือไม่ให้มีปาร์ตี้ลิสต์ เพราะงานนี้ถ้าลงเขตหมด พรรคคนรุ่นใหม่จะหายไปทันที หรืออาจจะได้สักเขตหรือสองเขต

5. การเลือกตั้งรอบนี้ คำถามเรื่องความชอบธรรมขององค์กรอิสระมีมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งไม่ใช่เพราะเผด็จการตั้ง แต่ ความสามารถมีปัญหา โดยเฉพาะปัญหาล่าสุดจากการเลือกตั้งล่วงหน้า คิดว่าไม่ใช่ประเด็นว่า 7 คนนี้ถูกแต่งตั้งโดยเผด็จการ แต่คือความสามารถของผู้บริหาร 7 คนคุมองค์กรไม่ได้ ความคาดหวังของคนต่อองค์กรนี้มีมาก แต่ความสามารถที่ผ่านมาเริ่มมีปัญหา

6. ในการเลือกตั้งครั้งนี้ น่าจะเรียกว่าเป็น Contentious Elections หรือการเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง โดยทั่วไปพวกเรามักสนใจศึกษาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวต่อสู้ของขบวนการภาคประชาชนกับอำนาจรัฐ หรือศึกษาเรื่องผลการเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งเกิดปัญหาความชอบธรรมในการเลือกตั้ง ทั้งคนจัดการเลือกตั้ง กระบวนการเลือกตั้ง และผลของการเลือกตั้ง

ยกตัวอย่าง คนที่ไปลงเลือกตั้งล่วงหน้ามีความเชื่อแค่ไหนว่าคะแนนของตัวเองจะถูกส่งกลับไปที่หน่วยเลือกตั้งของคุณ คนตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของการเลือกตั้ง รวมทั้งตั้งคำถามว่า ‘จะมีการเลือกตั้งไหม’ ตลอดเวลา

7. คิดว่าเลือกตั้งครั้งนี้มีสองโลก คือโลกของดีเบตและสื่อที่มาจากส่วนกลาง กับการเคลื่อนไหว รณรงค์หาเสียงในท้องที่ ของหัวคะแนนซึ่งมีระบบอุปถัมภ์และการปราศรัย คิดว่าเป็นโลกที่แยกจากกันในระดับหนึ่ง และทั้งสองกลุ่มควรได้รับความสนใจทั้งคู่ แต่ข่าวส่วนใหญ่มักไปโฟกัสที่ตัวดีเบตกับสื่อจากส่วนกลาง

8. กรอบทฤษฎีมีเรื่องพฤติกรรมการเลือกตั้งและพฤติกรรมการลงคะแนน ประเด็นในรอบนี้คือคนจะลงคะแนนแบบไหน ลงคะแนนโดยดูที่อุดมการณ์ ลงคะแนนที่นโยบาย หรือลงคะแนนแบบ strategic คือไม่ได้ลงคะแนนให้คนที่ต้องการ แต่ลงคะแนนเพื่อไม่ให้อีกฝั่งหนึ่งได้ หรือลงคะแนนที่เน้นอารมณ์หรือ emotional vote ซึ่งมีผสมหลายอย่างมากในรอบนี้

9. ประเด็นคนรุ่นใหม่ จากการที่ตนได้สอนเด็ก เนื่องจากเป็นการเลือกตั้งครั้งแรก เด็กตั้งคำถามว่า ถ้าผลการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามที่เป็นจริง ถ้าเกิดการโกง จะเกิดแบบเหตุการณ์ 14 ตุลาไหม

10. ในการเลือกตั้งครั้งนี้ประเด็นใหญ่ในการรณรงค์ช่วงต้นเหมือนจะเป็นประเด็นเชิงเศรษฐกิจ เชิงนโยบาย แต่โมเมนต์สุดท้ายกลายเป็นประเด็นการเมือง คุณจะเอาหรือไม่เอาระบอบนี้ และเกมที่เล่นยากสุดเป็นของประชาธิปัตย์ที่พยายามจะเล่นในหลายๆหน้า

“ผมก็ยังไม่รู้ว่าวันอาทิตย์นี้ที่คนเข้าไปกาบัตร ประเด็นอะไรจะอยู่ในใจพวกเขาบ้าง” พิชญ์กล่าวทิ้งท้าย

เวียงรัฐ เนติโพธิ์ แสดงความเห็นต่อความแตกต่างระหว่างการเลือกตั้งในชนบทและการเลือกตั้งที่เป็นดีเบตของสื่อมวลชนว่า การดีเบตในการเลือกตั้งครั้งนี้สนุก เราได้เห็นความฝัน ได้เห็นอะไรใหม่ แต่ในระดับของการระดมคนไปสู่การเลือกตั้ง เป็นการใช้ระบบอุปถัมภ์ในคุณภาพที่ต่ำที่สุด และล้าหลังย้อนยุคที่สุด มีการศึกษาความสัมพันธ์ระบบอุปถัมภ์และแบ่งโดยการเชื่อมโยงกับระบอบ ระบอบที่ต่างกันก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระบบอุปถัมภ์ที่ต่างกันอย่างไร ระบบเลือกตั้ง การออกแบบระบบเลือกตั้งที่ต่างกัน ทำให้มีการใช้รูปแบบระบบอุปถัมภ์ที่ต่างกันอย่างไร

ครั้งนี้ดิฉันเห็นว่าเป็นการใช้ที่คุณภาพต่ำที่สุด หมายความว่าใช้ข้อเสนอที่เป็นทางลบ คุณมาช่วยผม ถ้าคุณไม่ช่วยคุณตาย ความรุนแรงไม่ได้ถูกผูกขาด รัฐเป็นผู้คุมความรุนแรงไว้ เพราะกติกาที่เกิดขึ้นทำให้พรรคการเมืองขยับตัวไม่ได้หลายพรรค แต่บางพรรคใช้ความสัมพันธ์แบบนี้ได้อย่างเต็มที่ เช่น การตั้งโต๊ะแจกเงิน

'อนาคตใหม่' มาแรงกับคนรุ่นใหม่ งานวิจัยพบคนกลุ่มนี้โน้มไปทางเสรีนิยม

กนกรัตน์ เลิศชูสกุล กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ประเด็นที่สำคัญมากที่พรรคการเมืองและผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เคยมีส่วนร่วมทางการเมืองก่อนหน้าสนใจ คือการเลือกตั้งที่เน้นการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ฐานมวลชนค่อนข้างตัดสินใจระดับหนึ่งว่าจะเลือกพรรคการเมืองชุดไหน เพราะฉะนั้นจึงมีคนหันมาสนใจกลุ่มที่เราเดาไม่ได้ หรือ First Time Voter คนที่เลือกตั้งครั้งแรก ที่มีประมาณ 6 ล้านกว่าคน

คำถามคือคนรุ่นใหม่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือการเลือกตั้งครั้งนี้จริงรึเปล่า และจะส่งผลกระทบอย่างไร ผลนั้นจะมีความยั่งยืนหรือไม่ หรือพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่มีนัยสำคัญทางการเมืองจริงรึเปล่า

ต้องยอมรับก่อนว่าช่วงแรกของการเลือกตั้งกลางปีที่แล้ว เห็นภาพข่าวจำนวนมากให้ความสำคัญกับ First Time Voter แต่ในแง่การเมืองเชิงยุทธศาสตร์ตนยังไม่เห็นว่ามีพรรคไหนให้ความสำคัญกับ First Time Voter จริงๆจังๆ

ช่วงกลางปีที่แล้วพรรคอนาคตใหม่เปิดตัว และเป็นพรรคที่ชัดเจนว่าต้องการฐานเสียงจากคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์การหาเสียง แบบแผนการหาเสียง โมเดลการหาเสียง หรือประเด็นต่างๆ ที่ชูขึ้นมา ไม่ว่าจะเรื่อง LGBT การกระจายอำนาจ การต่อต้าน establishment ดูแล้วก็จะมีแค่พรรคเดียวเท่านั้น นับตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงการเลือกตั้งจริงๆ ตนยังไม่เห็นว่าพรรคไหนพยายามจะปรับยุทธศาสตร์รณรงค์หาเสียงกับคนรุ่นใหม่จริงๆ ขณะที่พรรคก่อนหน้านี้ที่เคยมีส่วนร่วมรัฐบาลไม่ได้สนใจ ไม่ได้ปรับตัว จึงอยากจะชี้ว่าเหตุผลอะไร

นั่นเพราะการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคเก่าส่วนใหญ่มีฐานเสียง ฐานมวลชนที่ชัดเจนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นมิติจุดยืนทางการเมือง หรือมิติในพื้นที่ ปีกที่สนับสนุนประชาธิปไตย สนับสนุนการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย พรรคไทยรักษาชาติ พรรคเสรีรวมไทย นโยบายส่วนใหญ่ก็จะเป็นการรณรงค์ที่เน้นฐานมวลชนที่ยังไงก็เลือกพรรคตัวเองอยู่แล้ว

ขณะที่อีกปีกหนึ่งคือปีกที่อาจจะไม่เห็นด้วยกับระบอบประชาธิปไตย พยายามรณรงค์เพื่อเชียร์ระบอบทหาร ก็มีวิธีรณรงค์และประเด็นรณรงค์ที่ค่อนข้างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาชนปฏิรูป พรรคพลังประชารัฐ พรรคพลังประชาชาติไทย พรรคเหล่านี้เน้นการรณรงค์หาเสียงไปที่มวลชนที่เคยเป็นกลุ่ม กปปส. เก่า กลุ่มพันธมิตรเก่า หรือกลุ่มที่มีแนวคิดเชิงอนุรักษ์นิยม ไม่เห็นภาพการเปลี่ยนเพื่อจะรณรงค์คนรุ่นใหม่

ส่วนสุดท้ายคือพรรคการเมืองท้องถิ่นซึ่งอาจรวมพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเน้นการรณรงค์เฉพาะในกรุงเทพฯ และภาคใต้ หรือพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติพัฒนา พรรคชาติไทยพัฒนา พวกนี้ก็จะมีฐานมวลชนเดิมที่จัดตั้งหรือจงรักภักดีต่อพรรคมายาวนาน ก็ไม่เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลว่าเขาประเมินต่ำไปกับการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของคนรุ่นใหม่หรือไม่ก็ตาม แต่ผลคือไม่เห็นความพยายามในการรุกคืบไปสู่คนรุ่นใหม่

เพราะฉะนั้นฐานมวลชนคนรุ่นใหม่จึงอยู่เฉพาะแค่พรรคอนาคตใหม่ที่พยายามรุกคืบเข้าไป แต่การเปลี่ยนแปลงของพรรคก่อนหน้านี้จะมีการเปลี่ยนแปลงเชิงกิมมิค ซึ่งถ้าดูแล้วก็ไม่สามารถดึงความสนใจของคนรุ่นใหม่ได้จริงๆ เช่น การชูคนรุ่นใหม่ในพรรค แต่คนรุ่นใหม่เหล่านี้ก็ไม่ได้มีบทบาทในกระบวนการตัดสินใจของพรรคจริงๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของพรรคที่ทำให้คนรุ่นใหม่มีพื้นที่จริงๆ

จุดเปลี่ยนที่สำคัญตนคิดว่าเกิดในช่วงฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ มีปรากฎการณ์ ‘ฟ้ารักพ่อ’ ‘โพลสามย่าน’ โพลคนรุ่นใหม่ซึ่งผลตรงกันข้ามกับรังสิตโพล

ทำไมพรรคอนาคตใหม่สามารถจะดึงความสนใจของคนรุ่นใหม่ได้?

กนกรัตน์ กล่าวว่า ต้องเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจว่าคนรุ่นใหม่คือใคร ถ้าแบ่งตามช่วงอายุก็คือคนเจเนเรชั่น Z ประมาณ 6 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ได้น้อยกว่าเจเนเรชั่นอื่น ถ้าเราทำความเข้าใจว่าทำไมคนรุ่นนี้จึงคิดไม่เหมือนคนรุ่นอื่น มันไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงของคนที่เป็นวัยรุ่น กบฏ ตามแฟชั่น

ถ้าไปดูงานวิจัยของอเมริกา จาก Pew Research Center ซึ่งสะท้อนการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยได้คือ ถ้าเปรียบเทียบ Silent, Baby Boomer, Generation x, Millennial ผลที่ออกมาเห็นช่องว่างที่ชัดเจนมากระหว่างกลุ่ม Silent และ Baby Boomer กับกลุ่ม Generation x และ Millennial สองกลุ่มนี้มีช่องว่างสูงมากโดยเฉพาะทัศนคติทางการเมือง กลุ่ม Silent และ Baby Boomer หรือพ่อแม่ปู่ย่าตายาย มีความเป็นอนุรักษ์นิยมมาก ตรงกันข้ามกับกลุ่ม Generation x และ Millennial ซึ่งมีความเป็นเสรีนิยมมากขึ้น แม้แต่คน Generation x และ Millennial ที่อยู่ในพรรครีพับบลิกันซึ่งเป็นพรรคค่อนข้างอนุรักษ์นิยม ก็ยังเป็นอนุรักษ์นิยมที่เอียงไปทางเสรีนิยม

ดังนั้นไม่ใช่ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะเมืองไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่ทำไมคนรุ่นนี้จึงต่างจากคนรุ่นพ่อแม่ปู่ย่า?

นั่นเพราะ Socialization หรือสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปเร็วขึ้น คนอเมริกากลุ่ม Silent และ Baby Boomer ตัวอย่างของนิทานก่อนนอนที่อ่านกันคือเรื่อง ‘บ้านเล็กในป่าใหญ่’ นิทานเรื่องนี้ปัจจุบันถูกถอดออกจากวรรณกรรมเด็กของอเมริกาเนื่องจากเป็นวรรณกรรมเหยียดผิว เป็นวรรณกรรมอนุรักษ์นิยม ในขณะที่ กลุ่ม Generation x และ Millennial เติบโตมากับนิทานก่อนนอนอย่างแฮร์รี่ พอตเตอร์ ซึ่งเป็นลูกผสม เป็นชายขอบของสังคมมนุษย์และสังคมพ่อมด ที่ต้องต่อสู้เพื่อให้มีที่ยืนในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และคนรุ่นนี้เติบโตมากับสังคมที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น มีผู้อพยพ มีบทบาทของคนที่ไม่ใช่คนชาติเดียวกันมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็กำลังเกิดกับสังคมไทย เพราะฉะนั้นคนรุ่นใหม่กำลังเปลี่ยนแปลงจริงๆ ผ่าน Socialization

เพราะฉะนั้นพรรคการเมืองทุกพรรคถึงเวลาปรับตัวทำความเข้าใจกับคนรุ่นใหม่ ซึ่งสิ่งที่คนรุ่นใหม่คิดไม่ใช่สิ่งที่ผิด การวางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการดำเนินยุทธศาสตร์ในการเลือกตั้งครั้งนี้กำลังทำให้คนที่เป็น First Time Voter รู้สึกไม่มีที่ยืนในสังคมนี้ ในขณะที่เขารู้สึกว่าสิ่งที่เขาเติบโตมาและกำลังเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่จะต้องอยู่กับเขาไปอีก 20 ปี ในขณะที่คนวางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กำลังจะไม่อยู่ในโลกนี้ในอีก 20 ปีข้างหน้า

การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเป็นการปรากฏตัวของอัตลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ ที่เขาผ่านการกล่อมเกลาทางสังคมการเมืองที่แตกต่างจากคนอีกรุ่นหนึ่ง และเขากำลังต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่มาก เพราะฉะนั้นผลการเลือกตั้งครั้งนี้จะสะท้อนด้วยว่าพวกเขาต้องการเปลี่ยนอย่างไร

เวียงรัฐ ได้เสนอความเห็นว่าที่พรรคการเมืองไม่ได้ให้ความสนใจกับคนรุ่นใหม่มากนักอาจเนื่องมาจากระบบการเลือกตั้งครั้งนี้ออกแบบมาทำให้พรรคต่างๆ ต้องสนใจเรื่องการดึงคะแนนเสียง โดยไม่ได้สนใจเรื่องเจเนเรชั่น และเจเนเรชั่นที่มากที่สุดก็ยังเป็นเจเนเรชั่นเก่าอยู่เพราะไทยก็ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ

หลังเลือกตั้ง ‘ประยุทธ์’ จะยังได้เป็นนายกฯ แต่ตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพไม่ได้

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี กล่าวว่า หน้าที่ของระบบเลือกตั้งและการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ เป็นเครื่องมือในการจัดระเบียบทางการเมืองของระบอบใหม่ (embedded nondemocratic system) คือระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยที่อยากจะเพาะพันธุ์หยั่งรากในแผ่นดินนี้ ภายใต้การนำของกลุ่มชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม ซึ่งน่าจะประกอบไปด้วยทหาร เทคโนแครต และพรรคที่เราเห็นอยู่  เป้าหมายหลักเพื่อรักษาฐานที่มั่นทางการเมืองไว้ให้ยาวนานที่สุด และเพื่อสร้างหลักประกันว่า การเปลี่ยนแปลงใดๆ จะไม่สร้างความสั่นคลอนต่อการสานต่ออำนาจ

การออกแบบระบบเลือกตั้งที่ตั้งใจเอาไว้เผอิญถูกยื้อมานาน 8 ปีที่ไม่มีการเลือกตั้งได้สร้างผลที่ไม่ได้คาดหวังไว้บางอย่าง 1.) ทำให้ประชาชนเห็นถึงปัญหาที่สั่งสมของการรัฐประหาร ที่ทำให้สังคมเสียโอกาสที่จะมีข้อเสนอนการพัฒนา แก้ไขปัญหาของประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และโอกาสในการก้าวทันโลกสำหรับคนรุ่นใหม่ 2.) เนื่องจากว่างเว้นยาวนาน คนที่ไม่เคยใช้สิทธิเลือกตั้งจึงมีมากเกือบ 8 ล้านคน (ถ้าไปใช้สิทธิกันหมดเท่ากับ ส.ส. 100 คน) ไม่มีใครคาดเดาพฤติกรรมได้ และไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของการกล่อมเกลาทางสังคมแบบเดิม เช่น ครอบครัว โรงเรียน ศาสนา 3.) วิศวกรรมของรัฐ ออกแบบด้วยความจงใจให้โครงสร้างและกระบวนการทางการเมืองมีความบิดเบี้ยวพิกลพิการ ก็ไม่อาจหยุดยั้งเจตจำนงค์และความฝันถึงการเปลี่ยนแปลง 80 กว่าเปอร์เซ็นต์ของผู้ไปใช้สิทธิล่วงหน้า สะท้อนว่าพวกเขาอยากมีพื้นที่ในการแสดงออก

ส่วนตัวคิดว่านโยบายไม่ใช่ปัจจัยหลักในการตัดสินใจ เพราะเชื่อว่ามีขั้วทางการเมืองที่แบ่งตามรอยแยกค่อนข้างมั่นคงพอสมควร ช่วง 20 ปีที่ผ่านมาสังคมไทยถูกแบ่งออกเป็นชนบทกับเมือง ซึ่งพฤติกรรมการเลือกตั้งยังไม่ค่อยเปลี่ยน อีกรอยแยกคือระหว่างราชาชาตินิยม กับคนที่ต้องการความก้าวหน้า ความเปลี่ยนแปลงในสังคม ซึ่งเป็นสองรอยแยกที่จะส่งผลต่อการตัดสินใจของคนกลุ่มต่างๆ มากกว่านโยบาย

ครั้งนี้เราเห็นผู้สมัครใหม่เยอะมาก พื้นที่ภาคเหนือตอนบนยังเป็นของเพื่อไทย พื้นที่ภาคใต้ส่วนใหญ่ยังเป็นพื้นที่ของประชาธิปัตย์ แต่ครั้งนี้เชื่อว่าพื้นที่ภาคใต้อาจมีเสาไฟฟ้าล้มบ้าง คือพรรคประชาธิปัตย์อาจไม่ชนะในบางพื้นที่ และทำให้คะแนนที่เคยทิ้งห่างระดับ 80,000 คะแนน ลดลง ซึ่งจะส่งผลต่อคะแนนบัญชีรายชื่อของประชาธิปัตย์ ส่วน 3 จังหวัดชายแดนใต้ พรรคประชาชาติก็น่าจะแบ่งคะแนนของประชาธิปัตย์ไปพอสมควร

ภาคกลางน่าจะมีการแข่งขันสูงที่สุด โดยเฉพาะเมื่อพรรคชาติไทยพัฒนาไม่มีบรรหาร ศิลปอาชาแล้ว โคราชก็อาจไม่ใช่ฐานที่มั่นของพรรคชาติพัฒนาอีกต่อไป การหาเสียงแบบ ‘โนพรอบเบลม’ และพร้อมเข้าร่วมกับทุกรัฐบาล ไม่น่าเป็นนโยบายที่ขายได้ นอกจากนี้ความสัมพันธ์ตัวบุคคลยังมีอิทธิพลอยู่พอสมควร โดยเฉพาะ ส.ส.ในพื้นที่เดิมที่ทำงานในพื้นที่ไม่เคยหนีไปไหน กลุ่มคนเหล่านี้ต่อให้ย้ายพรรคก็ยังจะได้คะแนนอยู่

กลุ่มผู้เลือกตั้งครั้งแรก อายุ 18-25 ปี ถ้าออกมาเลือกตั้งเยอะ อาจทำให้พรรคอนาคตใหม่ได้คะแนนบัญชีรายชื่อสูงสุด และอาจได้ 30-50 ที่นั่ง ช่วงแรกมีพรรคที่พยายามปรับตัวดึงคนกลุ่มนี้เข้ามา เช่น New Dem, New Gen แต่ปัญหาของอนาคตใหม่คือตัวผู้สมัครในหลายพื้นที่ก็ไม่ได้โดดเด่น

ส่วนคนกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป เป็นคนกลุ่มที่เปลี่ยนยากที่สุด คือเลือกพรรคไหนก็จะเลือกพรรคนั้น ส่วนกลุ่มที่จะเป็น swing voters คือกลุ่มอายุ 26-49 ปี ซึ่งมีมากที่สุด ดังนั้นจึงเป็นตัวแปรที่น่าสนใจ

ส.ส. ที่พรรคพลังประชารัฐดูดมาจากพรรคอื่นๆ มี 54 คน ถ้าเราประเมินว่าจะได้ประมาณ 70% พลังประชารัฐก็จะได้ ส.ส. เขต 40-50 ที่นั่ง ซึ่งทำให้ตนประเมินว่าพลังประชารัฐน่าจะได้ไม่เกิน 70 ที่นั่ง ต่างจากโพลทั้งหลายที่บอกว่าได้ 150 ที่นั่ง แต่ก็จะมีตัวแปรอื่น เช่น องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น หรือความได้เปรียบในเชิงกฎหมายและการตีความขององค์กรอิสระ

เพื่อไทย ถ้าเราดูการเลือกตั้งที่ผ่านมา ปี 44 เพื่อไทยได้ 48% ปี 48 ได้ 62% ปี 50 เพื่อไทยได้ 42% ปี 54 เพื่อไทย 48% คือไม่เคยต่ำกว่า 40% ถ้าเราประเมินว่าครั้งนี้เพื่อไทยได้ 40% เพื่อไทยก็จะได้ 16 ล้านเสียง แต่เพื่อไทยส่งไม่ครบ 350 เขต หายไป 100 เขต เป็นคะแนน 2.3 ล้านเสียง ดังนั้นเสียงส่วนนี้จะหายไป และหายไปจากพรรคอื่นๆ ที่ตั้งขึ้นมาแข่งขันด้วย ดังนั้นเพื่อไทยน่าจะอยู่ที่ประมาณ 12-13 ล้านเสียง ซึ่งแปรได้ประมาณ 170 ที่นั่ง บวกกับบัญชีรายชื่อซึ่งจะได้รึเปล่าไม่แน่ใจ และถ้ามีสึนามิทางการเมืองถล่มทลาย เพื่อไทยอาจจะไปถึง 200 เสียง

ประชาธิปัตย์ ปี  48 ต่ำสุดอยู่ที่ 26% ครั้งนี้ประชาธิปัตย์เจอศึกรอบด้านที่สุด ทั้งภายในพรรคเองย้ายออกไปเป็นพรรครวมพลังประชาชาติไทย ทั้งอยู่ในรอยแยกเดียวกับพลังประชารัฐอีกด้วย ดังนั้นเป็นไปได้สูงที่ประชาธิปัตย์จะได้ต่ำกว่า 26% จึงประเมินว่าน่าจะได้อยู่ที่ บวกลบ 100 ที่นั่ง

ส่วนภูมิใจไทย ชาติพัฒนา ชาติไทยพัฒนา รวมกันน่าจะอยู่ที่ประมาณ 50-60 ที่นั่ง ทั้งสามพรรคนี้ฝั่งไหนตั้งรัฐบาลก็จะไปอยู่ได้หมด แต่ในเชิงยุทธศาสตร์การหาเสียงอาจไม่ถูกใจประชาชน เพราะคนอยากเห็นความชัดเจน

สิ่งที่น่าสนใจครั้งนี้คือเกิดพรรคการเมืองใหม่ๆ ที่เป็นทางเลือก ซึ่งหลายพรรคไม่ได้อยู่ในสมการของการออกแบบระบบการเลือกตั้ง ถ้าการแข่งขันอยู่ภายใต้ 2 ขั้วเดิม การจัดตั้งรัฐบาลไม่ยากเลย เขี่ยพรรคเพื่อไทยกับพรรคแนวร่วมทิ้ง อีกฝั่งก็จะจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่เมื่อมีพรรคหน้าใหม่ขึ้นมาทำให้การจัดตั้งรัฐบาลอาจจะเกิดขึ้นอย่างไม่ลื่นไหล

20 ปีที่ผ่านมาลักษณะพรรคร่วมที่เด่นที่สุดก็ยังเป็นพรรคที่เน้นตัวผู้นำ พรรคนักเลือกตั้งก็ยังชัดเจนอยู่ พรรคที่เป็นพรรคตกปลาบ่อเพื่อนก็ยังอยู่ คือทุกพรรคตกปลาบ่อเพื่อน นี่คือยุทธศาสตร์เดิมๆ ที่ไม่เคยเปลี่ยน พรรคพร้อมร่วมรัฐบาลก็ยังเห็นอยู่ซึ่งในที่สุดก็คงจะได้ร่วมรัฐบาลครั้งนี้ พรรคที่เน้นเรื่องเศรษฐกิจแบบใหม่ๆ คนรุ่นใหม่ก็น่าจะให้ความสนใจ พรรคประชานิยมหว่านแหแทบทุกพรรคก็เข้าข่ายลักษณะนี้ เพราะต่างเกทับกันในเรื่องสวัสดิการและงบประมาณที่จะใช้

ที่น่าสนใจคือพรรคฐานทางศาสนา พรรคประชาชาติ คือพรรคที่มีฐานเสียงในภาคใต้และใช้ศาสนาอิสลามเป็นตัวหลัก และตนเชื่อว่าจะประสบความสำเร็จมากกว่าพรรคทางศาสนาในอดีตอย่างพรรคมาตุภูมิ หรือพรรคฐานรักชาตินิยมคนดี ก็จะมาเป็นตัวแปรการจัดตั้งรัฐบาล และพรรคกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง เช่น พรรคสามัญชน สิ่งที่ไม่มีและน่าเสียดายคือพรรคที่เป็นตัวแทนกลุ่มผู้ใช้แรงงาน

รวมแล้วพรรคพลังประชารัฐและพรรคหนุน คสช. จะรวมกันแล้วไม่น่าเกิน 80 ที่นั่ง ส่วนฝั่งที่ไม่หนุน คสช. ถ้าเกิน (ซึ่งมีความเป็นไปได้สูง) 250 ที่นั่ง ฝั่งที่หนุน คสช. แม้จะตั้งนายกฯ ได้ เพราะต้องการอีกแค่ 126 ที่นั่ง แต่จะตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพไม่ได้

ดังนั้นตัวแปรจะอยู่ที่พรรคซึ่งตอนแรกบอกว่ายังไม่เลือกข้าง แต่ตอนนี้ออกมาบอกว่าจะไม่เลือกนายกฯ คนไหน แต่ไม่ได้บอกว่าจะไม่ร่วมกับพรรคไหน คือประชาธิปัตย์ และบวกกับภูมิใจไทย ชาติพัฒนา ชาติไทยพัฒนา รวมกันประมาณไม่เกิน 170 ที่นั่ง

ความเป็นไปได้ในการจัดตั้งรัฐบาล ฝั่งที่ได้เกิน 250 ที่นั่ง อย่างไรก็จะไม่ถึง 376 ที่นั่ง ดังนั้นฝั่งนี้จะตั้งรัฐบาลได้ แต่เลือกนายกฯ ไม่ได้ เพราะต้องไปรวมกับ ส.ว. อีก 250 ดังนั้นโอกาสที่ฝั่งไม่หนุน คสช. จะได้เป็นรัฐบาลจึงน้อยถึงน้อยที่สุด ขณะที่ฝั่งหนุน คสช. ได้เลือกนายกฯ แต่ตั้งรัฐบาลไม่ได้ หรือตั้งได้แต่เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยที่ไม่มีเสถียรภาพ ผ่านงบประมาณไม่ได้ ดังนั้นงบประมาณอาจผ่านตั้งแต่ สนช. คือผ่านก่อนจะมีการจัดตั้งรัฐบาลหน้า และอยู่อย่างน้อย 1 ปี ก่อนมีอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซีนาริโอแบบนี้เป็นไปได้แต่ก็จะเป็นความเสี่ยงอย่างสูงต่อกลุ่มอนุรักษ์นิยมในสังคมว่าจะมีรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพ

ความเป็นไปได้ต่อมาคือ ในกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ว่าจะต้องมีการแต่งตั้งนายกฯ เมื่อไหร่ ดังนั้นในสถานการณ์ที่คลุมเครือและเสี่ยงต่อการเป็นสุญญากาศทางการเมือง การแต่งตั้งนายกฯ คนนอกและรัฐบาลแห่งชาติอาจคือทางแก้ คือการใช้มาตรา 272 และต้องได้เสียงในสภา 500 จาก 700 หากเป็นแบบนี้จะต้องเป็นรัฐบาลที่ประกาศชัดเจนว่ามาปฏิบัติภารกิจช่วงสั้นๆ เพื่อเปลี่ยนกติกาบางอย่าง โดยเฉพาะกติกาการเลือกตั้งที่ไม่เป็นคุณกับใครเลย

ความเป็นไปได้สุดท้ายคือทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ไม่ว่าจะเป็นจากการร้องเรียน หรือ กกต. เองถ้าไม่ประกาศผลภายใน 180 วันหลัง พ.ร.บ. 4 ฉบับประกาศใช้ คือวันที่ 9 พฤษภาคม อันนั้นก็อาจเป็นช่องให้มีผู้ร้องได้เหมือนกัน ถ้าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ พลเอกประยุทธ์ก็เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ มาตรา 44 ก็ยังอยู่ต่อ

ขอให้โหวตอย่างจริงใจมากกว่าโหวตแบบยุทธศาสตร์

สิริพรรณ กล่าวว่า เมื่อดูตัวเลขของผู้ไปลงคะแนน ลบบัตรเสียและโนโหวตแล้ว ประเมินว่ารอบนี้คะแนนค่อนข้างกระจาย เราไม่ทราบว่าพฤติกรรมของคนจะเป็นอย่างไร ดังนั้นจึงอยากให้เราไปใช้สิทธิเลือกตั้งแบบ sincere vote (การเลือกอย่างจริงใจ) มากกว่าจะเป็น strategic vote (การเลือกเชิงยุทธศาสตร์) เพราะโดยตัวกติกาการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นกึ่ง strategic vote โดยตัวมันเองอยู่แล้ว เพราะเราเลือก 1 ใบ เราต้องเลือก 3 ประเด็น คือเลือกแคนดิเดตนายกฯ เลือกผู้สมัคร และเลือกพรรคด้วย ดังนั้นอย่าไปกลัวว่าพรรคนี้คะแนนจะตกน้ำ พรรคนี้จะไม่ได้ อยากให้เราใช้ sincere vote ให้มากที่สุด

การเลือกตั้งครั้งนี้คือสิ่งที่ประชาชนต้องยืนยันว่าสิ่งที่ถูกกฎหมายคืออะไร เราต้องยืนยันว่านี่เป็นสิทธิของเรา แทนที่เราจะได้ตรวจสอบนักการเมือง เราต้องมาตรวจสอบ กกต. ด้วย แต่คำถามว่าจะนำไปสู่การเลือกตั้งเป็นโมฆะไหม ไม่อยากให้เป็นทางเลือกนั้น แต่การตรวจสอบ กกต. และความรับผิดชอบของ กกต. ที่ต้องมีต่อสังคมเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่ที่พิสูจน์ได้คือการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่ประชาชนหวงแหน รู้สึกเป็นเจ้าของ

ในงานวิจัยของอ.ไชยยันต์บอกว่า การเลือกตั้งไทยยังไม่ถูกมองเป็นเครื่องมือของการเปลี่ยนผ่าน สำหรับมุมของประชาชน คิดว่าประชาชนมองว่าเป็นเครื่องมือของการเปลี่ยนผ่าน เราเห็นปรากฎการณ์นี้ 80% ของคนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่ชนชั้นนำต่างหากที่ไม่คิดว่าการเลือกตั้งจะเป็นเครื่องมือของการเปลี่ยนผ่าน

ถ้าผลการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคที่ชนะเขตอันดับหนึ่ง กับพรรคที่ชนะรายชื่ออันดับหนึ่ง สองพรรคจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ แต่เป็นพรรคที่แพ้ได้จัดตั้งรัฐบาล อันนี้ต้องถือว่าการเลือกตั้งไม่ถือว่าเป็นเครื่องมือของการเปลี่ยนผ่าน ไม่ถือว่าเป็นเครื่องมือของการแก้ไขปัญหาสังคม การเลือกตั้งถูกใช้เป็นเครื่องมือการขัดแย้งรอบใหม่

แนวทางการเป็นประชาธิปไตย เอกภาพความเป็นชาติและชนชั้นนำตกลงกันได้?

ไชยันต์ ไชยพร เริ่มจากตั้งคำถามว่าทำไมเราถึงต้องให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น

นั่นเพราะรัฐประหารเกิดขึ้นในบ้านเราเยอะจริง ถ้าเทียบกับสถิติทั่วโลกในศตวรรษที่ 20 เราติดอันดับ 2 แต่ในศตวรรษที่ 21 ประเทศที่อันดับได้ 1 อย่างอาร์เจนตินากับกรีซกลับไม่มีการรัฐประหาร ไม่ใช่เพราะไม่มีปัญหาทางเศรษฐกิจและการเมือง แต่อาร์เจนตินาใช้องค์กรอิสระคือศาลรัฐธรรมนูญในการแก้ไขปัญหา แน่นอนคนที่ไม่พอใจการตัดสินก็จะบอกว่าเป็นรัฐประหารผ่านตุลาการ ขณะที่กรีซล้มละลาย มีปัญหาเยอะ แต่ก็ยังไม่มีรัฐประหาร แต่บ้านเราการทำรัฐประหารเป็นโรคเรื้อรังที่ติดต่อมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 20

ใน 19 ปีเรารัฐประหารไป 2 ครั้ง เราไม่มีรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจนาน ที่ผ่านมาแม้มีรัฐประหารเยอะแต่ก็จะมีการเลือกตั้งเร็ว แต่การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการสืบทอดอำนาจรึเปล่า

หากดูถึงการมาของรัฐบาลชุดทักษิณ จะพบว่าปี 44 พรรคไทยรักไทยได้คะแนนสูงสุดทำลายสถิติ ปี 48 ก็ทำลายสถิติอีก ทำให้เป็นพรรคเดียวที่จัดตั้งรัฐบาลได้ แต่นั้นก็ทำให้การใช้อำนาจของฝ่ายบริหารโดยที่สามารถควบคุมสภาทาสของตัวเองได้มีปัญหาคือกลายเป็นอำนาจนิยมเยอะ และฝ่ายค้านก็เริ่มง่อยเปลี้ยเสียขา ถ้าพรรคไทยรักไทยอยู่ได้ไม่เกิดวิกฤตการเมืองปี 49 เราก็จะเข้าลูปแบบสิงคโปร์ อินโดนิเซีย กัมพูชาคือฮุนเซน เป็นนายกฯยาวนานสุดในโลก

Dankwart Rustow ผู้ศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านวิทยา ให้ความสำคัญอยู่สองเรื่องในการให้การเปลี่ยนผ่านจากระบอบอำนาจนิยมไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ตั้งมั่น มี 2 ปัจจัย คือ เอกภาพของความเป็นชาติ และชนชั้นนำตกลงกันได้ไหม

Terry Karl ศาสตราจารย์ด้านการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยสแตนด์ฟอร์ด ก็พูดคล้ายๆกันว่า “เราไม่สามารถมีประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพได้ หากในช่วงเปลี่ยนผ่านมวลมหาประชาชนสามารถควบคุมเหนือชนชั้นปกครองเดิมแม้แต่ในช่วงเวลาสั้นๆ ก็ตาม”

ไชยันต์เห็นว่ามันสวนทางกับสิ่งที่เราอาจเคยคิดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาว่า ถ้ามวลชนเยอะ ในที่สุดเราก็จะเป็นประชาธิปไตย แต่คำกล่าวนี้บอกว่าถ้ามวลชนเยอะควบคุมชนชั้นนำ มันไม่สามารถเป็นประชาธิปไตยที่ตั้งมั่นได้

Myron Weiner ศาสตราจารย์ด้านการเมืองการปกครอง MIT กล่าวว่า “แรงกดดันจากกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายมักจะทำให้พัฒนาการประชาธิปไตยล้มเหลว เพราะการเคลื่อนไหวดังกล่าวมักจะยั่วยุให้เกิดกระแสอำนาจนิยมเผด็จการ”

Samuel P. Huntington ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด กล่าวว่า “โดยส่วนใหญ่ระบอบประชาธิปไตยที่ตั้งมั่น ไม่ได้เกิดจากการสถาปนาโดยพลังมวลชน...”

Daniel H. Levine ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยมิชิแกน กล่าวว่า “การเปลี่ยนผ่านในลักษณะอนุรักษ์นิยมจะอยู่ยั้งคงทนมากกว่า...”

แต่ขณะเดียวกันก็มีคนอย่าง Nancy Bermeo ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด กล่าวว่า “ข้อสังเกตที่ว่า พลังมวลชนไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญ หรือแม้ว่าสำคัญ แต่มวลชนจะต้องเคลื่อนไหวอย่างพอเหมาะพอควรไม่รุนแรงเกินไป คืนแนวคิดที่เป็น ‘มายาคติของความไม่รุนแรง’”

สิริพรรณ ก็กล่าวไว้ในงานวิจัยเรื่อง “การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยเปรียบเทียบ” โดยเกณฑ์ที่ศึกษาประเทศเช่น เกาหลีใต้ จีน ไนจีเรีย โดยระบุว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยคลื่นลูกที่สาม คือ 1.การผนึกกำลังและการประนีประนอมของพลังฝ่ายค้านที่ต้องการประชาธิปไตย 2.บทบาทของผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ จริงใจต่อการวางรากฐานระบอบประชาธิปไตย 3.ความเห็นพ้องยอมรับทั้งเนื้อหาและกระบวนการร่าง/แก้ไขรัฐธรรมนูญ 4.กองทัพอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน 5.จัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วตามควร

Ozan Varol มองเรื่องกองทัพภายใต้รัฐบาลพลเรือนว่า ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยตั้งมั่น คำว่าชนชั้นนำอาจต้องพูดถึงกองทัพด้วย เช่นในประเทศที่เขาศึกษาคือ ตุรกี โปรตุเกส อียิปต์ ในสามประเทศนี้กองทัพยึดอำนาจโดยมีประชาชนนำออกมาและสามารถแผ่วทางไปสู่การมีประชาธิปไตยตั้งมั่นได้เองในช่วงเวลาหนึ่งในระดับหนึ่ง เพราะประเทศเกิดใหม่ สถานบันการเมืองยังมีความเปราะบาง แต่กองทัพเป็นองค์กรเข้มแข็งมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ เขาจึงสร้างทฤษฎี democratic coup d'etat กองทัพสามารถนำไปสู่ประชาธิปไตยตั้งมั่นได้ มีเกณฑ์อยู่ 7 ข้อ

  1. รัฐประหารที่เกิดขึ้นจะต้องเป็นการต่อต้านระบอบอำนาจนิยมเผด็จการเบ็ดเสร็จ ซึ่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์พูดไม่ได้ว่าเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จ เป็นไปไม่ได้แน่นอน แต่มีอีกคำคือ “อำนาจนิยมแบบซ่อนเร้น”
  2. กองทัพตอบสนองต่อเสียงของประชาชนที่ออกมาต่อต้านระบอบดังกล่าวอย่างยืนหยัดยาวนาน ข้อนี้นับ กปปส. ที่ออกมาต่อต้านได้ไหม
  3. ระบอบเผด็จการปฏิเสธที่จะลงจากอำนาจในการสนองตอบข้อเรียกร้องของประชาชน ซึ่งคุณยิ่งลักษณ์ไม่ได้ปฏิเสธ แต่ยุบสภา แต่ยุบในช่วงที่ไม่มีใครเขาฟังอะไรอีกแล้ว ฝ่ายค้านลาออกก่อนหน้านั้น
  4. รัฐประหารโดยกองทัพได้รับการยอมรับอย่างสูงจากผู้คนภายในประเทศ และทหารส่วนใหญ่ของกองทัพจะเป็นกำลังพลที่มาจากการเกณฑ์ทหารจากประชาชน
  5. กองทัพทำรัฐประหารเพื่อล้มระบอบเผด็จการนั้น
  6. กองทัพสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการเลือกตั้งที่อิสระและเป็นธรรมระยะเวลาที่ไม่เนิ่นนานเกินไปนัก
  7. รัฐประหารลงเอยด้วยการส่งผ่านอำนาจไปสู่ผู้นำทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตย

แต่ข้อสังเกตคือปัจจัยทั้งหมดนี้ไม่ได้พูดถึงเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์

คำถามคือ ตอนนี้เราพ้นวิกฤตแล้วหรือไม่ และเราพร้อมที่จะมีการปกครองที่มาจากตัวแทนประชาชนที่ผ่านการเลือกตั้งโดยตรงแล้วหรือไม่

ถ้าเสียงส่วนใหญ่เทไปที่พรรคเพื่อไทย/พรรคประชาธิปัตย์/พรรคอื่นๆ ที่ไม่ได้สนับสุนนพลเอกประยุทธ์ คือ พ้นและพร้อม แต่ข้อนี้จะมีปัญหาตรงที่ พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ยืนยันจะไม่จับมือกันร่วมจัดตั้งรัฐบาล ขณะเดียวกันเพื่อไทยหรือประชาธิปัตย์พรรคใดพรรคหนึ่งก็จะไม่มีทางรวมเสียงพรรคอื่นๆ ได้ถึง 376 เสียงอยู่ดี จึงต้องอาศัยเสียง ส.ว. แต่คำถามคือ ส.ว. จะเทให้พรรคใดพรรคหนึ่งในสองพรรคนี้หรือไม่?

ถ้าเสียงส่วนใหญ่เทไปที่พรรคพลังประชารัฐและพรรคที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ คือ ไม่พ้นและไม่พร้อม หากเป็นข้อนี้ พรรคพลังประชารัฐและพรรคพันธมิตรได้เสียงข้างมาก แน่นอนว่าจะได้เสียง ส.ว. สนับสนุนได้ง่ายกว่าข้อแรก และสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

ถ้าเสียงออกมาในลักษณะก้ำกึ่ง คือ กึ่งพ้นกึ่งไม่พ้น หากเป็นข้อนี้จะมีปัญหาความยุ่งยากสูงที่สุด นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่ กกต. ถูกตั้งคำถามเรื่องความโปร่งใส จะมีผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่

การเมืองภาคประชาชนต้องการลงคะแนนเสียงเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบที่ไม่มีมาตรา 44

ประภาส ปิ่นตบแต่ง กล่าวว่า จากรัฐประหาร 57 และรัฐธรรมนูญ 60 เราจะเห็นถึงรัฐธรรมนูญที่มีส่วนของความไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่ ตนคิดว่าชนชั้นนำก็มองประชาธิปไตยในฐานะที่เป็นภัยคุกคาม คือไม่ได้มองไปสู่เป้าหมายที่นำไปสู่สังคมการเมืองที่ดี ขณะที่ระบอบใหม่ที่กำลังเป็นอยู่นี้ทำให้บทบาทสถาบันพระมหากษัตริย์ได้จัดความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่ ระบอบใหม่นี้ไม่ใช่แค่การจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจผ่านการมี ส.ว. แต่ยังมีความสัมพันธ์ทางอำนาจในระบอบราชการ การใช้งบประมาณ ดึงอำนาจที่เคยกระจายสู่ท้องถิ่นกลับมาสู่ภูมิภาค รวมทั้งสิ่งที่น่าสนใจคือการเมืองมวลชน ซึ่งรัฐประหารกี่ครั้งเราก็จะเห็นความพยายามของคณะรัฐประหารที่จัดการอบรมเกี่ยวกับประชาธิปไตย แต่คำถามคือมันจะสามารถสร้างการเมืองมวลชนที่สอดคล้องกับสิ่งที่ระบอบนี้ต้องการจะสถาปนาได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร อันนี้ไม่นับเรื่องโครงการประชารัฐที่ใช้งบประมาณต่างๆ ลงไป

ข้อสังเกตของตนคือว่า การเมืองมวลชนแบบนี้ไม่เคยทำงานได้สักที ความพยายามของกลไกของฝ่ายความมั่นคงต่างๆ ไม่ได้ผล อย่าลืมว่าชุมชนในปัจจุบันก็แตกตัวมาก พรรคต่างๆ ก็สัมพันธ์กับการเมืองในระดับชุมชนที่แตกต่างหลากหลายกันทุกพรรค แน่นอนว่าบางพื้นที่จะมีพรรคหลัก แต่ก็ไม่ได้มีลักษณะที่รัดกุมทั้งหมด ในเขตฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยหรือประชาธิปัตย์ การเลือกตั้งครั้งนี้จะมีลักษณะคะแนนที่กระจาย ไม่เด็ดขาด

เห็นด้วยว่า พรรคอนาคตใหม่น่าจะได้คะแนนคนรุ่นใหม่ที่มากหลายเขตในเมือง ในชนบท

การเมืองเข้ามาสู่ชีวิตผู้คนในระดับชุมชน โยงสู่ระบบอุปถัมภ์ การซื้อเสียง ตนไม่คิดว่าการซื้อเสียงแบบเดิมจะทำได้อย่างกว้างขวาง แต่จะสัมพันธ์กันอยู่ภายใต้เครือข่าย แต่เครือข่ายพวกนี้ก็ไม่ได้คุมได้ทั้งหมด โครงการประชารัฐก็เข้ามามีส่วนเรื่องบประมาณ ที่ทำให้ขับเคลื่อนกลไกเหล่านี้ไป

ขั้วการเมืองในระดับมวลชนไม่ใช่ลักษณะความขัดแย้งทางอุดมการณ์แบบเก่า การเมืองระดับชาวบ้านอธิบายผ่านประเด็นเรื่องปากท้อง มากกว่าเรื่องประชาธิปไตย ไม่คิดว่าการปลุกอะไรแบบเก่าจะทำงานได้

ภาคประชาชนเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างไร ภาคประชาชนกว้างขวางมาก แต่มองเฉพาะองค์กรชุมชนที่ทำงานกับชาวบ้าน การเลือกตั้งไม่ได้มีผลต่อผู้คนเหล่านี้ พรรคสามัญชนก็คงไม่ได้คะแนนเสียงมากมาย

ระบอบนี้สร้างสิ่งที่เป็นข้อจำกัดของการเมืองภาคประชาชน พื้นที่การเมืองหดแคบลงไปมาก เราเห็นถึงการเคลื่อนไหวขัดค้านกฎหมายหลายฉบับของภาคประชาชน นี่คือบทเรียนที่เห็นชัดเจนของภาคประชาชนว่าระบอบแบบนี้มีผลต่อชีวิตผู้คนที่ทำงานด้วย ทำให้พื้นที่การเมืองหดแคบ ภาคประชาชนต้องการลงคะแนนเสียงเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบที่จะทำให้มาตรา 44 หายไป

ดังนั้นการเมืองบนท้องถนน จะเป็นการเมืองที่ทำให้พื้นที่ทางการเมืองที่หดหายไปกลับคืนมา ทั้งระบอบ โครงสร้าง ที่ทำให้การเมืองเห็นหัวคนจนแบบในรัฐธรรมนูญปี 40 หรือกฎหมายต่างๆ ที่จำกัดสิทธิประชาชน แต่ส่วนตัวไม่คิดว่าการเมืองบนท้องถนนจะไปสู่ระดับการเคลื่อนไหวที่นอกเหนือจากนั้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท