Skip to main content
sharethis

สมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) ได้จัดงานเสวนาเปิดตัวรายงานเรื่อง เงามืดมากกว่าแสงสว่าง: พรรคการเมืองของไทยและพันธกิจด้านสิทธิมนุษยชน ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศเมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา จากการรวบรวมผลสำรวจนโยบายสิทธิมนุษยชนของพรรคการเมืองไทยกว่า 32 พรรค พบว่าถึงแม้พรรคการเมืองเหล่านี้มีนโยบายให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนในบางประเด็น แต่ก็ยังขาดนโยบายผลักดันสิทธิมนุษยชนที่สำคัญอีกหลายด้าน (อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่นี่)

แหล่งที่มา: FIDH

FIDH: เงามืดมากกว่าแสงสว่าง

ในงานเสวนานี้ วิทยากรได้แก่ แอนเดรีย จีออเกตา (Mr. Andrea Giorgetta) ผู้อำนวยการ FIDH Asia เดบบี้ สต็อตฮาร์ด เลขาธิการ FIDH อังคนา นีละไพจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากไอลอว์ ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และทูตจากประเทศต่าง ๆ ในยุโรปได้เข้าร่วมฟังด้วย

แอนเดรีย จีออเกตา เปิดงานด้วยการสรุปเนื้อหาในรายงาน พบว่าในปัจจุบันคำสั่ง คสช. ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ อีกทั้งรัฐบาลทหารยังเข้ามาแทรกแซงในการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย โดยเห็นได้ชัดที่สุดจากการเลื่อนวันเลือกตั้ง นอกจากนี้ ส.ว. 250 คนที่ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช. บวกกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปียังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะมัดมือรัฐบาลชุดใหม่หลังการเลือกตั้งครั้งนี้ เผด็จการทหารจึงยังคงมีอิทธิพลครอบงำการเมืองไทยต่อไปแม้จะมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้วก็ตาม

ลำดับเหตุการณ์ของการเลื่อนวันเลือกตั้ง 

นับตั้งแต่ยึดอำนาจโดยการทำ รัฐประหารเมื่อวันที่ 22 เดือนพฤษภาคม 2557 คสช.ให้สัญญาว่าจะจัดการเลือกตั้งทั่วไป และฟื้นฟูระบอบปกครองของพลเรือนหลายครั้ง ตามโรดแมปที่ประกาศไว้ อย่างไรก็ดี คสช.ได้เลื่อนวันเลือกตั้งที่สัญญาไว้ มาโดยตลอด

- 27 มิถุนายน 2557: พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.ระบุว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปคาดว่าจะมีขึ้นในเดือนตุลาคม 2558

- 27 พฤษภาคม 2558: รัฐบาลทหารยืนยันว่าจะไม่มีการเลือกตั้งจนกระทั่งเดือนกันยายน 2559 

- 26 มกราคม 2559: พลเอกประยุทธ์ระบุว่าจะมีการเลือกตั้งในกลางปี 2560

- 29 มกราคม 2559: นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานครธ.ระบุว่า ตามแผนของคสช.ที่จะจัดเลือกตั้งกลางปี 2560 อาจต้อง เลื่อนออกไป “ไม่น้อยกว่าสองหรือสามเดือน”

- 21 กันยายน 2559: พลเอกประยุทธ์แถลงต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติว่า จะมีการเลือกตั้งไม่เกินปลายปี 2560

- 5 มกราคม 2560: พลเอกประยุทธ์ระบุว่า จะมีการเลือกตั้งช่วงต้นปี 2561

- 8 ตุลาคม 2560: พลเอกประยุทธ์ระบุว่า จะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561

- 25 มกราคม 2561: สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหาร (สนช.) ให้ความเห็นชอบต่อพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และจงใจลงมติให้ชะลอการบังคับใช้ไป 90 วันภายหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส่งผลให้ต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2562

- 27 กุมภาพันธ์ 2561: พลเอกประยุทธ์สัญญาว่าจะจัดการเลือกตั้งภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

- 25 มิถุนายน 2561: นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าอย่างช้าสุด จะมีการเลือกตั้งระหว่างวันที่ 24 กุมภาพันธ์ และ 5 พฤษภาคม 2562

- 11 ตุลาคม 2561: คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศว่าจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562

- 3 มกราคม 2562: นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีระบุว่า อาจต้องเลื่อนการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ออกไป เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้กิจกรรมหลังการเลือกตั้งไปส่งผลกระทบต่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ซึ่งกำ หนดจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562

- 10 มกราคม 2562: นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี บอกเป็นนัยว่า อาจมีการเลื่อนเลือกตั้งออกไป เนื่องจากกังวล ว่ากระบวนการเลือกตั้งอาจซ้อนกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหา-วชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ซึ่งกำ หนดจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562

- 15 มกราคม 2562: เจ้าหน้าที่ระดับสูงของคณะกรรมการการเลือกตั้งระบุว่า ไม่อาจจัดการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เนื่องจากทางหน่วยงานไม่มี “เวลามากพอที่จะจัดได้ทัน” เจ้าหน้าที่ระบุว่าวันเลือกตั้งที่อาจเป็นไปได้น่าจะอยู่ในวันที่ 10 หรือ 24 มีนาคม

- 23 มกราคม 2562: คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562

แหล่งที่มา: FIDH

รายงานชี้ให้เห็นปัจจัยเชิงบวกในนโยบายด้านพรรคสิทธิมนุษยชนของพรรคการเมือง โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับนักกิจกรรมสิทธิมนุษยชน ผู้ลี้ภัย และสภาพความเป็นอยู่ของนักโทษ จากรายงานพบว่าพรรคการเมือง 42% ที่ตอบแบบสอบถามมีการปฏิสัมพันธ์กับนักกิจกรรมสิทธิมนุษยชนอย่างสม่ำเสมอ 56% สนับสนุนกฎหมายที่ครอบคลุมหลักการไม่ส่งกลับผู้ลี้ภัย นอกจากนี้ พรรคการเมืองหลายพรรคยังสนับสนุนการแก้ปัญหาความแออัดและสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเชิงลบก็ยังมีอยู่มากเช่นกัน โดยเฉพาะประเด็นเสรีภาพในการแสดงออก โทษประหารชีวิต และบทบาทของกองทัพ พรรคการเมืองกว่า 88% ยังไม่สนับสนุนการยกเลิกโทษจำคุกให้กับผู้ละเมิดกฎหมายมาตรา 112 ในจำนวน 32 พรรคนี้มี 63% ที่ยังสนับสนุนโทษประหารชีวิตอยู่ นอกจากนี้ พรรคการเมืองที่สนับสนุนการตัดงบประมาณของกองทัพยังมีเพียง 41% เท่านั้น ซึ่งนับว่ายังไม่ถึงครึ่งของทั้งหมด

จากนั้น เดบบี้ สต็อตฮาร์ด ได้พูดถึงประเด็นเกี่ยวกับการทำผิดแล้วไม่ได้รับผิด (impunity) โดยระบุว่าพรรคการเมืองจำนวนมากยังต้องพยายามมากกว่านี้เพื่อผลักดันให้มีการสอบสวนกรณีการทารุณกรรม กรณีการบังคับสูญหาย และการฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารที่ยังเอาผิดทางกฎหมายไม่ได้ นอกจากนี้ เดบบี้ยังพูดถึงสิทธิของผู้หญิงในประเทศไทยด้วย โดยกล่าวว่ามีพรรคการเมืองเพียง 16% ที่สนับสนุนการทำแท้งถูกกฎหมาย และมีเพียง 31% เท่านั้นที่ส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลระดับชาติ

แหล่งที่มา: FIDH

เดบบี้ สต็อตฮาร์ด กล่าวต่อไปว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งลงทุนและดำเนินโครงการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนได้ แต่แผนปฏิบัติการเพื่อธุรกิจและสิทธิมนุษยชนของไทย ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนระหว่างการร่างกลับเปิดโอกาสให้ผู้แทนของประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมด้วยน้อยมาก

อังคนา นีละไพจิตร: “ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ของการทำผิดแล้วไม่ต้องรับผิดมาอย่างยาวนาน”

2 วันก่อนงานเสวนาเป็นวันครบรอบการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร และในวันงานเสวนาอังคนา นีละไพจิตร สมาชิกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้พูดถึงปัญหาเกี่ยวกับการทำผิดแล้วไม่ต้องรับผิดในสังคมไทย

อังคนา นีละไพจิตร (แฟ้มภาพประชาไท)

“ขณะที่ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ของการทำผิดแล้วไม่ต้องรับผิดมาอย่างยาวนาน แต่ดิฉันไม่เห็นว่ามีพรรคไหนมีนโยบายที่ชัดเจนในการจัดการกับเรื่องนี้เลย ไม่มีพรรคการเมืองไหนพูดถึงสิทธิในการรู้ความจริงเกี่ยวกับเหยื่อผู้ถูกละมเดสิทธิมนุษยชนในเหตุการณ์ครั้งใหญ่ ๆ และวิธีการนำผู้กระทำผิดมารับโทษเลยแม้แต่น้อย โดยเฉพาะในกรณีตัวอย่าง เช่น เหตุการณ์สังหารหมู่ที่ตากใบและมัสยิดกรือเซะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมไปถึง กรณีการสังหารหมู่ในเหตุสลายการชุมชนการเมืองใน พ.ศ. 2553 ด้วย

อย่างไรก็ตาม อังคนา นีละไพจิตรก็ได้มองปัจจัยเชิงบวกไว้เช่นกัน “ในวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา แอมเนสตี้ไทยแลนด์ได้จัดงานดีเบตสาธารณะเกี่ยวกับนโยบายสิทธิมนุษยชน และหนึ่งในคำถามที่มีการถกเถียงกันก็คือคำถามเกี่ยวกับการบังคับสูญหาย” อังคนากล่าว “หลาย ๆ พรรคการเมืองให้คำมั่นสัญญาว่าถ้าได้เข้าร่วมรัฐบาล จะให้สัตยาบันในอนุสัญญาว่าต่อต้านการบังคับสูญเสีย และแก้ไขร่างกฏหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายให้สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศดังกล่าว”

อังคนา นีละไพจิตร พูดถึงปัญหาเกี่ยวกับภาคใต้ไว้ด้วยเช่นกัน โดยกล่าวว่าพรรคการเมืองหลายพรรคต้องการยกเลิกกฎหมายพิเศษ แล้วเปลี่ยนมาใช้กฎหมายอาญาและกฎหมายวิธีพิจารณาอาญาตามปกติแทน เพื่อหลีกเลี่ยงการจับกุมและการกักขังหน่วงเหนี่ยวตามอำเภอใจโดยเจ้าหน้าที่รัฐ หลายพรรคการเมืองต้องการใช้นโยบายพลเรือนและสนับสนุนการกระจายอำนาจในภาคใต้ ซึ่งถือเป็นเรื่องน่ายินดี อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่เหล่านี้ กลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิเช่นเดียวกันก็คือผู้หญิงและ LGBT

“สำหรับประเด็นการสนับสนุนให้ใช้ภาษามาเลย์เป็นภาษาทางการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่มีพรรคการเมืองไหนสัญญาว่าจะผลักดันเลย และเมื่อลองดูความเท่าเทียมทางเพศสภาพของผู้หญิงมาเลย์มุสลิม และกลุ่ม LGBT ก็ยังไม่ชัดเจนเช่นกันว่าผู้หญิงมาเลย์มุสลิมจะยุติการบังคับแต่งงานและการละเมิดสิทธิบนฐานของเพศสภาพได้อย่างไร ทั้งในแง่การละเมิดสิทธิการหย่าภายใต้กฎหมายแต่งงานและมรดกของศาสนาอิสลาม และสิทธิการทำงานและเข้าถึงการศึกษา”

อย่างไรก็ตาม ก็มีสัญญาณที่ดีในการเลือกตั้งครั้งนี้เช่นกัน อังคนากล่าวว่า “การเลือกตั้งครั้งนี้ มีตัวแทนผู้สมัครมาจากชาติพันธ์ชนกลุ่มน้อยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนักกิจกรรมจากชาติพันธ์กะเหรี่ยง ฉาน ยูนาน รวมถึง ชาวมาเลย์มุสลิมในภาคใต้อีกด้วย พรรคการเมืองอ้าแขนรับกลุ่มเปราะบางเข้ามามีส่วนทางการเมืองมากขึ้น เช่น ผู้หญิงมาเลย์มุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พรรคมหาชนก็มีความโดดเด่นในด้าน LGBT และนโยบายสนับสนุน LGBT ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้คนกลุ่มนี้มีสิทธิเลือกตั้งถึง 6-7 ล้านคน ในปัจจุบันมีการถกเถียงว่าด้วยนโยบายมากขึ้น รวมไปถึงการถกเถียงด้านสิทธิมนุษญชนด้วย แต่พรรคพลังประชารัฐดูเหมือนจะไม่สนใจเข้ามามีส่วนร่วมในการถกเถียงมากนัก”

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์: สิ่งสร้างความแปลกใจ และความไม่แปลกใจ

หลังจากได้อ่านรายงาน ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากไอลอว์กล่าวว่าเนื้อหาในรายงานมีทั้งเรื่องที่สร้างความแปลกใจ และไม่สร้างความแปลกใจ สิ่งที่ทำให้แปลกใจคือการที่พรรคการเมืองจำนวนมากสนับสนุนสิทธิของผู้ลี้ภัยและนักโทษ แต่สิ่งที่ไม่น่าแปลกใจคือนโยบายของพรรคการเมืองเกี่ยวกับโทษประหารชีวิต ยิ่งชีพพูดถึงพรรคอนาคตใหม่โดยกล่าวว่าในรายงานนี้ พรรคอนาคตใหม่ยังไม่ประกาศสนับสนุนให้มีการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 และไม่สนับสนุนให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตด้วย ซึ่งยิ่งชีพก็แสดงความเห็นใจต่อเหตการณ์ต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมา แต่ยิ่งชีพระบุเช่นกันว่ายังคงคาดหวังให้พรรคอนาคตใหม่และพรรคการเมืองอื่น ๆ ทบทวนพิจารณาและหันมาผลักดันประเด็นเหล่านี้ด้วยในอนาคต อย่างไรก็ตาม การจัดเลือกตั้งให้เสรีและเป็นธรรม ก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะในบริบทที่ประเทศกำลังจะมี ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งถึง 250 คน และยังอยู่ภายใต้คำสั่งของ คสช. ที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

คำสั่งและประกาศ คสช.ที่จำกัดสิทธิซึ่งยังคงมีผลบังคับใช้

- ประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2557 ซึ่งห้าม “การวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติหน้าที่ของคสช.” และการเผยแพร่ข่าวสารที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคง ของรัฐ ก่อให้เกิดความสับสน หรือยุยง หรือกระตุ้นให้เกิด “ความขัดแย้งหรือความแตกแยก” ภายในราชอาณาจักรโดยสื่อมวลชน

- ประกาศ คสช. ฉบับที่ 103/2557 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2557 เป็นการแก้ไข ประกาศฉบับที่ 97/2557 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2557 โดยเปลี่ยนวลีที่ห้าม “การวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติหน้าที่ของคสช.” เป็นการวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของคณะ รักษาความสงบแห่งชาติ โดยมีเจตนาไม่สุจริตเพื่อทำ ลายความน่าเชื่อถือของคณะรักษาความ สงบแห่งชาติด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ

- คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 3/2558 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2558 ข้อ 5 ของคำ สั่งคสช.ฉบับ ที่ 3/2558 ให้อำ นาจกองทัพในการออกคำ สั่งเพื่อห้าม “การเสนอข่าวหรือ […] สื่ออื่นใดที่มี [...] ข้อความที่มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำ ให้เกิดความเข้าใจผิดจนกระทบต่อความมั่นคงของ ชาติหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน” คำสั่งคสช.ฉบับที่ 3/2558 ยังให้อำ นาจอย่างกว้างขวางและปราศจากการตรวจสอบแก่เจ้าพนักงานทหารในการสอบสวน จับกุมและควบคุมตัว บุคคลโดยไม่มีข้อหา หรือไม่สามารถร้องคัดค้านต่อศาลได้ เป็นเวลาไม่เกินเจ็ดวัน

- คำสั่งคสช.ฉบับที่ 41/2559 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2559 , ให้อำนาจอย่างกว้างขวางและปราศจากการตรวจสอบแก่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการสั่งปิดสถานีวิทยุหรือโทรทัศน์ที่เผยแพร่ข้อมูล ข่าวสารที่ถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของรัฐ

แหล่งที่มา: FIDH

ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส ข่าวสดอิงลิช ตั้งข้อสังเกตในงานเสวนาว่าพรรคอนาคตใหม่อาจจะกำลังมุ่งเน้นภาคปฏิบัติ (pragmatic) ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งอยู่หรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาพรรคถูกโจมตีอย่างต่อเนื่อง จึงหลีกเลี่ยงที่จะไม่พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปก่อน ประวิตรตั้งคำถามด้วยว่าทำไมในรายงานของ FIDH จึงไม่มีข้อมูลของพรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นสองพรรคการเมืองใหญ่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ จีออเกตาตอบว่าบางพรรคการเมืองปฏิเสธที่จะไม่ตอบแบบสอบถามตั้งแต่แรกแล้ว เช่น พรรคพลังประชารัฐ ส่วนพรรคเพื่อไทยรับปากกับ FIDH ว่าจะส่งแบบสอบถามมา แต่สุดท้ายแล้วไม่ได้ส่งมา

สมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) เป็นองค์กรไม่ใช่รัฐระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2465 จนถึงปัจจุบันมีสมาชิกเข้าร่วมกว่า 184 องค์กรใน 112 ประเทศ โดยมีภารกิจคือการดำเนินการเพื่อคุ้มครองผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน และนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net