สื่อนอกชำแหละคู่มือรัฐประหารไทย สมานชนชั้น ใช้กษัตริย์สร้างความชอบธรรม

สื่อดิแอตแลนติกนำเสนอบทความ เหตุใดไทยเป็นประเทศสุดท้ายที่การปกครองแบบเผด็จการทหารไม่ได้รับความชอบธรรมผ่านการเลือกตั้งเสียที แจกแจงคู่มือรัฐประหาร ตั้งแต่ความเสี่ยงต่ำ ไม่เคยถูกดำเนินคดี การประนอมชนชั้นนำ-กลาง กดขี่คนต่อต้าน ใช้สถาบันกษัตริย์สร้างความชอบธรรม

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะขึ้นปราศรัยกับพรรคพลังประชารัฐ

21 มี.ค. 2562 บทความของ เออเชนี เมรีโอ นักวิจัยหลังปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเกิตทิงเงน ประเทศเยอรมนี ระบุว่าถ้าหากนิยามระบอบเผด็จการทหารว่าเป็นระบอบที่เจ้าหน้าที่ทหารเข้าสู่อำนาจผ่านการรัฐประหารโดยไม่มีการจัดให้ตัวเองได้รับความชอบธรรมผ่านเลือกตั้ง ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศสุดท้ายที่มีระบอบนี้

เมรีโอระบุต่อไปว่าสาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าในประเทศที่เคยมีผู้นำเผด็จการจากรัฐประหารอื่นๆ อย่างอียิปต์ หรือฟิจิก็เคยมีการจัดการเลือกตั้งไปก่อนหน้านี้ แต่เป็นการเลือกตั้งในฐานะที่จัดขึ้นเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง

ไทยผ่านรัฐประหารมาหลายครั้งจนเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา โดยเฉลี่ยแล้วจะมีการรัฐประหารทุกๆ เจ็ดปี สิ่งที่โดดเด่นของการเข้าควบคุมประเทศโดยกองทัพก็คือการผสมผสานระหว่างการควบคุมทางการเมืองและการกดปราบ พร้อมกับกุญแจสำคัญคือการได้รับการอำนวยพรจากผู้พิทักษ์ที่ทรงพลัง (blessing fo powerful protector)

การรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อ 22 พ.ค. 2557 กระทำผ่านการแพร่ภาพกระจายเสียง ไม่มีการเสียเลือดเนื้อใดๆ รถถังขับมาตามท้องถนน ทหารเข้ายึดสถานีโทรทัศน์แล้วก็ประกาศยึดอำนาจ

มีการตั้งข้อสังเกตว่า "ตำราการรัฐประหาร" ในยุคปัจจุบันนั้นมักจัดให้มีการเลือกตั้งหนึ่งปีให้หลังการยึดอำนาจ และบ่อยครั้งเกิดขึ้นหลังร่างรัฐธรรมนูญใหม่อย่างระมัดระวัง สำหรับไทย หลังรัฐประหารเมื่อปี 2549 ก็เคยทำในลักษณะนี้มาก่อนโดยจัดเลือกตั้งหลังมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปแล้วหนึ่งปีครึ่ง ท่ามกลางการประกาศกฎอัยการศึกอยู่ในบางพื้นที่ แต่ท้ายที่สุดฝ่ายสนับสนุนทหารก็ยังไม่สามารถชนะการเลือกตั้งได้อยู่ดี เมรีโอบอกว่าในความเป็นจริงแล้วฝ่ายทหารมักจะแพ้การเลือกตั้งในไทยและเหล่าผู้นำทหารก็รู้เรื่องนี้ดี จึงทำให้เผด็จการทหารไทยควบรวมอำนาจของตัวเองในแบบที่ดูแนบเนียนกว่านั้นผ่านทางการร่างรัฐธรรมนูญ

เนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ล่าสุดที่ร่างภายใต้การชี้นำของฝ่ายทหารนั้นเปิดทางให้คนที่แพ้การเลือกตั้งกลายเป็นผู้นำรัฐบาลได้อยู่ดี เพราะนายกรัฐมนตรีจะมาจากการเลือกผ่านวุฒิสมาชิกที่มี 250 คนที่ได้รับการแต่งตั้งจากกองทัพ และผ่านสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมี 500 คนมาจากการได้รับเลือกตั้งโดยตรง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำรัฐบาลทหารปัจจุบันต้องการเพียงแค่ 126 โหวต จาก 500 โหวต จากสภาล่างเท่านั้นเพื่อให้ถึงเกณฑ์ที่ตั้งไว้ในการเป็นนายกรัฐมนตรีคนถัดไป

ยังมีการตั้งข้อสังเกตอีกว่ารัฐธรรมนูญหลังรัฐประหารในไทยมักเป็นอุปสรรคต่อการเป็นรัฐบาลพลเรือน ในรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดก็มีระบบสภาที่ฝ่ายทหารเข้าไปครอบงำ (ผู้นำเหล่าทัพเป็น ส.ว. อัตโนมัติ) และไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไรก็ตาม การเกิดรัฐประหารอีกครั้งก็ยังคงเป็นไปได้

บทความของเมรีโอวิเคราะห์ว่าเหตุใดประเทศไทยถึงมีการรัฐประหารหลายครั้ง โดยระบุเอาไว้หลายสาเหตุ สาเหตุแรกคือการประเมินจากประวัติศาสตร์ ที่ผ่านมาตั้งแต่เปลี่ยนระบอบการปกครองเมื่อปี 2475 คณะรัฐประหารมีความเสี่ยงต่ำเนื่องจากไม่มีใครเลยที่ถูกดำเนินคดี และยังนิรโทษกรรมให้ตัวเองภายในรัฐธรรมนูญใหม่ทุกครั้ง

ประการที่สอง เคยมีนักวิชาการชื่อ โจฮันเนส เกอชิวสกี วิเคราะห์ไว้ว่ารัฐบาลเผด็จการทหารไทยหลังรัฐประหารมักจะใช้วิธีผสมผสานระหว่างการให้ความชอบธรรมตัวเอง การเอาใจชนชั้นนำ และกดขี่ปราบปรามประชาชนที่ไม่มีอภิสิทธิ์  นอกจากนั้นกลุ่มประชาสังคมที่สนับสนุนทหาร ซึ่งบ่อยครั้งเป็นกลุ่มชนชั้นกลางก็สนับสนุนการรัฐประหารเพราะมองว่ามันเป็น “รัฐประหารเพื่อประชาธิปไตย” ที่จะดำรงไว้ซึ่งโครงสร้างทางสังคมตามธรรมเนียมเดิมที่พวกเขาพึงพอใจ ส่วนผู้ต่อต้านกองทัพ หรือรัฐบาลที่สนับสนุนกองทัพ ซึ่งบ่อยครั้งเป็นคนที่มีอภิสิทธิ์น้อยกว่าก็ถูกต่อต้านและปิดปากด้วยการนองเลือด ในอดีตมีเหตุนองเลือดที่ประชาชนเสียชีวิตจำนวนมากจากการใช้ความรุนแรงของทหารในปี 2529 2535 และ 2553

สาเหตุประการที่สาม คือการที่ฝ่ายรัฐประหารอ้างความชอบธรรมจากสถาบันกษัตริย์ ในการรัฐประหารปี 2549 การประกาศยึดอำนาจที่ถูกเผยแพร่ทางโทรทัศน์กระทำต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์และพระราชินี และหลังจากนั้นคณะรัฐประหารได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระที่นั่งจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ส่วนการรัฐประหารในปี 2557 แม้ในหลวง ร.9 จะประชวรหนักแต่ก็ยังอยู่ในแผนการสร้างความชอบธรรมของกองทัพ หลังยึดอำนาจ ตามหน้าหนังสือพิมพ์มีภาพ พล.อ.ประยุทธ์โค้งคำนับพระบรมฉายาลักษณ์ขนาดเท่าพระองค์ และหลังจากนั้นประยุทธ์ก็ได้เข้าเฝ้าในภายหลัง

มีการตั้งข้อสังเกตในบทความของเมรีโออีกว่าเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้วระบบที่ฝ่ายเผด็จการทหารอาศัยการอ้างสถาบันกษัตริย์นั้นมีน้อยมาก ในประเทศที่กษัตริย์พึ่งพาอิทธิพลของกองทัพอย่างจอร์แดนหรือโมรอคโก เมื่อมีข่าวลือการรัฐประหารหรือมีการยึดอำนาจนั้น เป้าหมายของการยึดอำนาจไม่ได้อยู่ที่รัฐบาลแต่กลับไปอยู่ที่ตัวกษัตริย์

ในกรณีที่อาจจะคล้ายกับไทยคือการพยายามก่อรัฐประหารโค่นล้มนายกรัฐมนตรีในสเปนปี 2524 แต่ไม่ประสบผลสำเร็จเพราะกษัตริย์ฆวน คาร์ลอสต่อต้านการรัฐประหารดังกล่าว ในปีเดียวกันนั้น กษัตริย์ของไทยก็ต่อต้านความพยายามรัฐประหารรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และท้ายที่สุดนำไปสู่การรัฐประหารที่ล้มเหลว (กบฏยังเติร์ก)

นอกจากปัจจัยต่างๆ เหล่านี้แล้ว เมรีโอระบุว่าสิ่งอื่นๆ ที่เผด็จการทหารไทยทำก็ไม่ต่างจากเผด็จการทหารอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการอ้างปกครองด้วยข้อบังคับต่างๆ การปราบปรามฝ่ายต่อต้าน การเซนเซอร์สื่อ และสั่งห้ามการชุมนุมในที่สาธารณะ

เรียบเรียงจาก

How Thailand Became the World’s Last Military Dictatorship, The Atlantic, Mar. 20, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท