ศาลสูงสุดสหรัฐฯ ตัดสินอนุญาตสั่งคุมขังผู้อพยพไร้ใบอนุญาตได้แม้จะพ้นโทษมาแล้วหลายปี

ศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ตัดสินให้ผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารอนุญาตและมีประวัติอาชญากรรมต้องถูกคุมขังอย่างไม่มีกำหนดจากทางการสหรัฐฯ โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นเวลาใดก็ตามหลังจากที่มีการจับกุมเบื้องต้น ถึงแม้ว่าผู้อพยพดังกล่าวจะพ้นโทษเป็นเวลาหลายปีแล้ว เรื่องนี้สร้างความไม่พอใจและความผิดหวังจากกลุ่มด้านสิทธิพลเมืองทั่วประเทศ


ที่มาภาพ: Christina B Castro (CC BY-NC 2.0)

เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2562 มีการตัดสินคดีจากศาลสูงสุดสหรัฐฯ ในคดีที่ชื่อว่า Nielsen v. Preap ซึ่งมีการตัดสินด้วยมติ 5-4 เสียง ให้ยังคงการตีความกฎหมายในรูปแบบของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ไว้ นั่นคือการตีความกฎหมายที่ออกมาตั้งแต่ปี 2539 อนุญาตให้ทางการสหรัฐฯ สั่งควบคุมตัวผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารอนุญาตได้ถึงแม้พวกเขาจะถูกลงโทษตามกฎหมายจนครบกำหนดไปแล้วก่อนหน้านี้ จากเดิมที่การตีความกฎหมายนี้หมายความว่าต้องมีการควบคุมตัวภายในทันทีหลังจากมีการตัดสินเท่านั้น แต่การตัดสินของศาลล่าสุดทำให้การตีความกฎหมายนี้กลายเป็นการตีความว่าสามารถสั่งควบคุมตัวผู้อพยพที่เคยรับโทษได้อีกถึงแม้เวลาจะผ่านไปหลายปีแล้ว

คดีดังกล่าวนี้มีการนำขึ้นพิจารณาในศาลสูงสุดตั้งแต่เดือน ต.ค. 2561 ซึ่งสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน (ACLU) ท้าทายการตีความกฎหมายของกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐฯ โดยคำตัดสินล่าสุดนี้ถูกมองว่าจะเป็นการเกื้อหนุนนโยบายกีดกันผู้อพยพของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากรสหรัฐอเมริกา (ICE) มีข้ออ้างไล่จับกุมผู้อพยพคนใดก็ได้โดยไม่ให้ประกันตัว

เซซิเลีย หวัง รองผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายของ ACLU แถลงในเรื่องนี้ว่าเป็นเวลา 2 สมัยติดต่อกันแล้วที่ศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ส่งเสริมการตีความประมวลกฎหมายว่าด้วยการควบคุมตัวผู้อพยพในแบบที่สุดโต่ง เปิดทางให้เกิดการคุมขังผู้คนทีละมากๆ โดยไม่มีการไต่สวนรับฟังเพียงเพราะผู้คนเหล่านี้พยายามป้องกันตัวเองไม่ให้โดนข้อหาที่จะถูกส่งกลับประเทศ หวังแถลงอีกว่า "พวกเราจะยังคงต่อสู้กับการคุมขังมากเกินอย่างผิดวิสัยในระบบตรวจคนเข้าเมืองต่อไป"

องค์กรให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายในแง่สิทธิพลเมือง "เอเซียนลอว์คอคัส" (ALC) แถลงวิจารณ์คำตัดสินในเรื่องนี้เช่นกันว่ามันถือเป็น "ความล้าหลังครั้งใหญ่สำหรับสิทธิพลเมือง" แต่พวกเขาก็เชื่อว่าการต่อสู้ยังไม่สิ้นสุด โดยที่หวังให้สัญญาว่าองค์กร ACLU จะยังคงยื่นฟ้องร้องคดีแบบกรณีของ Nielsen v. Preap ต่อศาลต่อไป  

สำหรับการตัดสินคดีในครั้งนี้ มีผู้พิพากษาชื่อ ซามูเอล อลิโต เป็นผู้เขียนคำวินิจฉัยการตัดสินคดี โดยถูกวิจารณ์จากเว็บไซต์ฝ่ายซ้ายว่าเป็น "คำตัดสินที่เชียนขึ้นเพื่อเอื้อให้กับฝ่ายขวาหัวรุนแรง" โดยอาศัยตรรกะบิดเบี้ยวอย่างเช่นการโต้แย้งคำตัดสินเดิมด้วยการกล่าวหาว่าคำตัดสินเดิมใช้ไวยากรณ์ผิด โดยที่มีผู้พิพากษารายอื่นๆ ที่ลงความเห็นสนับสนุนคำวินิจฉัยนี้อีก 4 ราย หนึ่งในนั้นคือเบรตต์ คาวานอห์ ผู้ที่ทรัมป์เสนอชื่อให้เป็นตุลาการศาลสูงสุดแต่ก็เคยมีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศ

ทั้งนี้ มีผู้พิพากษาเสียงข้างน้อยสายเสรีนิยม 4 ราย ที่คัดค้านคำตัดสินของอลิโต หนึ่งในนั้นคือ สตีเฟน เบรเยอร์ ที่ตั้งคำถามว่าสภาคองเกรสต้องการจะอนุญาตให้รัฐบาลจับกุมผู้คนอีกแม้พวกเขาจะออกจากคุกมาแล้วหลายปีรวมถึงควบคุมตัวพวกเขาอย่่างไม่จำกัดเวลาและไม่ให้มีการประกันตัวจริงหรือ

เรียบเรียงจาก
'Terrible News': US Supreme Court Rules for Indefinite Detention of Immigrants, Common Dreams, 19-03-2019
https://www.commondreams.org/news/2019/03/19/terrible-news-us-supreme-court-rules-indefinite-detention-immigrants

US Supreme Court rules government can indefinitely detain immigrants years after release from criminal custody, 20-03-2019
https://www.wsws.org/en/articles/2019/03/20/cour-m20.html

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Nielsen_v._Preap
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท