Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เครือข่าย WE FAIR เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม เปรียบเทียบนโยบายพรรคการเมืองว่าด้วยรัฐสวัสดิการ ทาบจากชุดข้อเสนอ “รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” 7 ด้าน ตั้งแต่เกิดจนตาย ไล่เรียงเริ่มต้นจาก 1) ด้านการศึกษาเงินสนับสนุนการศึกษาในแต่ละช่วงวัยตามเส้นความยากจน 2) สุขภาพ เสนอให้มีกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าระบบเดียว วงเงิน 8,000-8,500 บาท/คน/ปี 3) ที่อยู่อาศัยและที่ดิน 4) งาน รายได้ ประกันสังคม เสนอให้ค่าแรงขั้นต่ำคิดตามดัชนีผู้บริโภค 500 บาท/วัน พัฒนาระบบประกันสังคมถ้วนหน้า 5) บำนาญแห่งชาติถ้วนหน้า 3,000 บาท/เดือน 6) สิทธิทางสังคม พหุวัฒนธรรม ประชากรกลุ่มเฉพาะเข้าถึงรัฐสวัสดิการ และ 7) การปฏิรูประบบภาษีและงบประมาณโดยคำนึงถึงการลดความเหลื่อมล้ำ

เครือข่าย วีแฟร์ เห็นว่า การที่ ‘รัฐสวัสดิการ’ เป็นนโยบายสำคัญที่พรรคการเมืองให้ความสนใจใช้ประชันขันแข่งกันในการหาเสียงเลือกตั้ง 2562 ถือเป็นพัฒนาการสำคัญของนโยบายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตสังคม และยกระดับรัฐสวัสดิการเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และเป็นสัญญาณในเชิงบวกจากปรากฏการณ์ความขัดแย้งทางสังคมการเมืองไทย เนื่องจาก “ผู้คนไม่อาจรู้สึกเป็นชุมชนเดียวกันได้อย่างสมัครใจ เนื่องจากเห็นความแตกต่างที่มีเหลือหลาย”   (Stiglitz, 2011) ซึ่ง “ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ และความกระจุกตัวด้านความมั่งคั่งและอำนาจ นับเป็นโครงสร้างที่อยู่เบื้องหลังความคับข้องใจ”  (ผาสุก, 2557) 

เครือข่าย วีแฟร์ เชื่อว่า รัฐสวัสดิการจะเป็นเครื่องมือในการแก้ไขความขัดแย้งและความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ซึ่งทำให้คนไทย 1 % ถือครองความมั่งคั่งหรือมีทรัพย์สินรวม 66.9% ของทรัพย์สินรวมทั้งประเทศ ในขณะที่ ข้อมูลภาพรวมรายได้กลุ่มประชากร ปี พ.ศ. 2559 ประชากรวัยทำงาน 52 ล้านคน มีรายได้ประชาชาติเฉลี่ย 18,660 บาทต่อเดือน กลุ่มรวยที่สุด 10% มีส่วนแบ่งรายได้ 53% (เฉลี่ย 99,072 บาทต่อเดือน) และคนรวยที่สุด 1% มีรายได้ 20.23% (เฉลี่ย 377,426 บาทต่อเดือน) ส่วนคนที่จนที่สุด (bottom 50%) มีส่วนแบ่ง 13% (เฉลี่ย 4,941 บาทต่อเดือน) กล่าวคือ คนที่มีรายได้น้อยทีสุด 50% ต้องทำงานหนึ่งเดือนถึงจะเท่ากับรายได้ของคนที่รวยที่สุด 10% ในหนึ่งวัน

ข้อมูลความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สิน (ดวงมณี เลาวกุล, 2561) มูลค่าทรัพย์สินครึ่งหนึ่งของทั้งหมดกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มครัวเรือน 10% แรก ที่มีมูลค่าทรัพย์สินมากที่สุด โดยมีมูลค่าทรัพย์สินเฉลี่ยสูงกว่าครัวเรือนกลุ่มที่มีมูลค่าทรัพย์สินต่ำสุด 10% สุดท้ายถึง 375.2 เท่า;ข้อมูลทรัพย์สินที่ดิน ในปี 2555 ค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคในการถือครองที่ดิน ซึ่งคำนวณจากขนาดการถือครองที่ดินประเภทโฉนด มีค่าสูงถึง 0.89 ผู้ถือครองที่ดิน 10% แรกที่ถือครองที่ดินมากที่สุด ถือครองที่ดิน 61.48% ของที่ดินที่มีโฉนดทั้งหมด ผู้ถือครองที่ดิน Top 1% ถือครองที่ดินคิดเป็น 1 ใน 4 ของที่ดินที่มีโฉนดทั้งหมด ;ข้อมูลเศรษฐีไทย ซึ่งจัดเก็บโดย Forbes ปี พ.ศ. 2552-2561 มีทรัพย์สินมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 10 เท่า จากมูลค่า 13,900 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2552 เพิ่มเป็น 149,150 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2561

เครือข่าย WE FAIR มุ่งหวังว่า นโยบายของพรรคการเมืองว่าด้วยรัฐสวัสดิการที่รวบรวมไว้ จะนำไปสู่การปฏิบัติได้เป็นจริง จากการร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ทั้งความเอาจริงเอาจังของพรรคการเมือง การสร้างนโยบายของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รวมทั้งการติดตาม Monitor จากภาคประชาสังคม

 

 

คลิกอ่าน ตารางเปรียบเทียบนโยบายพรรคการเมืองว่าด้วยรัฐสวัสดิการและสวัสดิการสังคม โดย WE FAIR

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net