เกษียร เตชะพีระ: เลือกตั้ง 62 คือภาพสะท้อนนาฏกรรมโกลาหลในหมู่ชนชั้นนำ

เกษียร ให้ภาพรวมการเลือกตั้ง 62 กับระเบียบอำนาจใหม่ที่ถูกวางไว้ตั้งแต่ต้น แต่กลับมีสัญญานหลายอย่างสะท้อนให้เห็นความโกลาหล และการเจรจาต่อรองที่ยังไม่ลงตัวของชั้นนำ ขณะที่ ‘จังหวะประชานิยมทางการเมือง’ เกิดขึ้นแล้วจากมุมกลับของปลายดาบ คสช. หลังเลือกตั้งผู้คนต่างคาดหวังความเปลี่ยนแปลง แต่หากความผิดหวังถูกจัดวางไว้รออยู่เบื้องหน้า การปะทะชนอันรวดเร็วอาจเกิดขึ้น ทางไปต่อยังพอมีอยู่หากยอมเปิดพื้นที่เพื่อหาจุดผสานระหว่าง เจตนารมณ์ทั่วไปที่ต้องการปฏิรูปจากเบื้อง และเจตนารมณ์ทั่วไปที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงจากเบื้องล่าง

เมื่อ 19 มี.ค. 2562 สำนักข่าวมติชนจัดเวทีบรรยายหัวข้อ “เกาะติดเลือกตั้ง 62 ตอน จุดเปลี่ยน หรือ จุดแตกหักประเทศไทย โดยหนึ่งในวิทยากรคือ ศาสตราจารย์เกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งได้นำเสนอความคิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2562 ในมุมมองที่เกี่ยวพันกับระเบียบอำนาจใหม่ของการเมืองไทย โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

000000

ผมอยากจะมาแชร์ความคิดเกี่ยวกับเรื่องสำคัญที่กำลังจะเกิดกับบ้านเมืองเราคือ การเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ ผมจะพูดถึงการเลือกตั้งโดยสัมพันธ์กับภาพรวมของระเบียบการเมืองไทย โดยมองดูว่า การเลือกตั้งเกี่ยวพันกับระเบียบอำนาจ และสัมพันธภาพของชนชั้นนำกับประชาชนอย่างไร คือให้ภาพรวม และเอาการเลือกตั้งไปวางไว้ในภาพรวมนั้น และจะพยายามเสนอภาพความเป็นไปได้หลังจากการเลือกตั้ง

ผมแบ่งหัวข้ออย่างนี้นะครับ เริ่มต้นจากการพูดเรื่องการเลือกตั้ง 62 กับการเมืองในหมู่ชนชั้นนำ ประเด็นหลักคืออะไร ผมนึกถึงคำเพราะๆ คือ นาฏกรรมโกลาหล  นาฏกรรมแปลว่า ละคร หรือการแสดงมหรสพ พูดแบบนี้ก็คงฟังไม่รู้เรื่อง แต่ผมกำลังเสนอว่า มันจะกลายเป็นยี่เกโกลาหล การเลือกตั้งหนนี้จะสะท้อนความโกลาหลของเยกี่ที่จัดขึ้นโดยชนชั้นนำ

ในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างการเลือกตั้ง กับสัมพันธภาพทางอำนาจในหมู่ประชาชน ผมคิดว่าเรื่องสำคัญคือ มันจะเป็นจังหวะของ ‘ประชานิยม’ เพียงแต่ขอให้เคลียร์ก่อนว่า คำนี้ผมไม่ได้ใช้ในความหมายในทางเศรษฐกิจ ที่หมายถึงการออกนโยบายที่เอื้อเฟื้อต่อประชาชน ให้สวัสดิการ ให้อะไรต่างๆ เพื่อเอาใจประชาชน ผมไม่ได้หมายความอย่างนั้น เพราะประชานิยมที่ผมพูดถึงคือ ประชานิยมทางการเมือง ถ้าจะเข้าใจง่ายๆ ผมกำลังพูดถึงความเป็นไปได้ของสึนามิของมวลมหาประชาชนที่อาจจะเกิดจากการเลือกตั้งครั้งนี้

และสุดท้ายคือ คาดการณ์แนวโน้มการเมืองหลังการเลือกตั้ง ผมคิดว่า มันเป็นไปได้ที่ผู้ที่ลงคะแนนเสียงจะประสบกับความผิดหวังยิ่งขึ้น และตาสว่างยิ่งขึ้น กับระเบียบอำนาจที่ถูกวางไว้ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง

ผมคิดหัวข้อเหล่านี้บนฐาน 2 ความล้มเหลวใหญ่ของ คสช. ใน 5 ปีที่ผ่านมา คือความล้มเหลวในการจัดระเบียบอำนาจในหมู่ชนชั้นนำ และความล้มเหลวในการสยบประชาชนให้สงบราบคาบทางการเมือง เพราะเขาทำไม่สำเร็จใน 2 เรื่องใหญ่นี้ใน 5 ปีที่ผ่านมา ภาพของการเลือกตั้งเมื่อเราโยงกับระเบียบอำนาจในหมู่ชนชั้นนำ โยงกับสัมพันธภาพในหมู่ประชาชน มันถึงได้ออกมาเป็นยี่เกโกลาหล กับจังหวะประชานิยม

ระเบียบอำนาจใหม่เหมือนหนังที่พอรู้ตอนจบ ทว่าฉากจบยังไม่นิ่ง เพราะเหนือว่ารัฏฐาธิปัตย์ยังมีผู้บังคับบัญชา

ผมขอเริ่มจากปัญหาซึ่งตลกดี เพราะเราอยู่กับท่านมา 5 ปี เพิ่งเข้าใจว่าชิบหายเราไม่รู้ว่าท่านเป็นใคร คือตกลง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐเป็นอะไรกันแน่ ผมคิดว่าคำตอบที่ค่อนข้างตรง และชัดที่สุดเท่าที่ได้ยินมาก็มาจากสองท่านด้วยกันคือ คุณสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ท่านฟันธงตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค. ว่า สถานะบิ๊กตู่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ แต่เป็นเจ้าหน้าที่เหนือรัฐ ผมคิดว่าหลังจากเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของผู้ตรวจการแผ่นดินก็เชื่อมไปในทำนองเดียวกันแล้วมีมติออกมาว่า ผู้ตรวจฯ ชี้ หัวหน้า คสช. ไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ มตินี้ออกมาเมื่อวันที่ 14 มี.ค. มีรายละเอียดที่น่าสนใจอธิบายเพิ่มเติมว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินลงมติเอกฉันท์ หัวหน้า คสช. เป็น รัฏฐาธิปัตย์ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

แน่นอนพอพูดคำว่า รัฏฐาธิปัตย์ หรือเจ้าหน้าที่อื่นๆ ของรัฐ ฝรั่งที่คิดเกี่ยวกับเรื่องการเมือง และระเบียบอำนาจแบบต่างๆ มาก่อนเรา เขาก็รู้จักสิ่งเหล่านี้ ถ้าพูกถึงรัฏฐาธิปัตย์ ผู้มีอำนาจสูงสุดในระบอบที่ผู้ปกครองมีอำนาจอาญาสิทธิ์ นักปรัชญาการเมืองชาวอังกฤษ ที่คิดเรื่องนี้มาก่อนคือโทมัส ฮอบส์ เขาเสนอว่า อำนาจของผู้ปกครองที่มีอำนาจอาญาสิทธิ์ นั้นเปรียบราวกับ Leviathan ราวกับยักษ์ซึ่งข้างในรวมเอาบรรดาผู้คน พลเมืองไพร่ฟ้า ข้าแผ่นดินทั้งหลาย เข้าไปอยู่ในตัวของเขา

นอกจากนี้เรายังได้รับการขยายความจากนักปรัชญาทางการเมืองอีกคนหนึ่ง คนนี้อาจจะเห็นไม่เหมือนกับโทมัส ฮอบส์ เท่าไร คือ จอห์น ล็อก แกนิยมไปในทางเสรีนิยม แกมีข้อตำหนิว่า คนที่ขึ้นมาเป็นรัฏฐาธิปัตย์ มีอำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์ มีสถานะเหนือรัฐเทียบได้กับเจ้าเข้าครอง ผู้ยึดและควบคุมอำนาจรัฐโดยไม่สนว่าเจ้าเข้าครองนี้จะเป็นคนในประเทศเดียวกัน จะเป็นไทต่างด้าว ท้าวต่างแดน ก็ไม่แปลก ถ้าคุณอยู่ในสภาพที่มีเจ้าเข้าครองยึดกุมอำนาจรัฐแล้ว และคุณต้องยอมตนอย่างไม่มีเงื่อนให้กับท่านแล้ว ก็ไม่ต่างกัน จอห์น ล็อก เรียกปรากฎการณ์นี้ว่า Usurpation หรือการรวบริบอำนาจรัฐ

ทีนี้มันก็ฝรั่งมาก ผมก็คิดว่ามันพอจะมีอะไรอธิบายเรื่องเจ้าเข้าครองให้มันเข้าใจง่าย บังเอิญนึกถึงพระราชนิพนธ์ ของในหลวงรัชกาลที่ 6 ซึ่งอธิบายอำนาจของเจ้าเข้าครองไว้ โดยระบุว่า

“ใครมาเป็นเจ้าเข้าครอง คงจะต้องบังคับขับไส เคี่ยวเข็ญเย็นค่ำร่ำไป ตามวิสัยเชิงเช่นผู้เป็นนาย เขาจะเห็นแก่หน้าค่าชื่อ จะนับถือพงศ์พันธ์นั้นอย่าหมาย ไหนจะต้องเหนื่อยยากลำบากกาย ไหนจะอายทั่วทั้งโลกา”

ยังมีอีกเรื่องหนึ่งนะครับ มีการกล่าวถึงในคำวินิจฉัยตีความของผู้ตรวจการแผ่นดินด้วยว่า ในบางแง่พล.อ.ประยุทธ์ อาจเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เนื่องจากยึดควบคุมอำนาจขึ้นมาท่านก็เป็นข้อยกเว้นด้วย ตรงนี้ทำให้นึกถึงข้อคิดของนักทฤษฎีการเมืองอีกคนหนึ่งคือ คาร์ล ชมิทท์ เขาเสนอว่า อาศัยที่คุณเป็น รัฏฐาธิปัตย์ นี่มันดีมาก เพราะคุณสามารถยกเว้นตัวเองจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และอื่นๆ ได้ กล่าวคือ ถ้าเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้ว ก็จะสามารถเป็นผู้ตัดสินใจว่าเรื่องอะไรบ้างที่จะยกเว้น และเมื่อใดที่จะยกเว้น ทั้งนี้ก็เพราะในภาวะปกติก็ย่อมดำเนินไปภายใต้หลักนิติรัฐ แต่เนื่องจาก คสช. เข้ามาในภาวะไม่ปกติก็จะมีสภาพที่ยกเว้นพิเศษเกิดขึ้น เมื่อนั้นรัฏฐาธิปัตย์จะบัญญัติกฎหมายเอง รัฏฐาธิปัตย์จะบอกเองว่าเมื่อใดจะยกเว้น

และด้วยความบังเอิญอีกเรื่อง ถ้าเรากำลังจัดการเลือกตั้งภายใต้ระเบียบการเมืองที่มีรัฏฐาธิปัตย์ที่ชัดเจน มันจะเป็นการเลือกตั้งแบบไหนกันแน่ มีรายการทีวีเชิญคุณไพบูลย์ นิติตะวัน มาพูดคุยกับคุณจตุพร พรหมพันธุ์แล้วไพบูลย์ก็พูดออกมาทำให้เราเข้าใจง่ายขึ้นว่า การเลือกตั้งภายใต้ระเบียบอำนาจที่มีรัฏฐาธิปัตย์เป็นอย่างไร และยิ่งทำให้รู้สึกว่ามันเป็น นาฏกรรมการเลือกตั้ง เพราะคุณไพบูลย์บอกว่า ทางเลือกหลังการเลือกตั้งมีแค่ 2 ทางเลือก กล่าวคือหากในการตั้งนายกฯ มีเสียงไม่พอ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังเป็นนายกฯอยู่ และมีอำนาจเต็ม และยังมีมาตรา 44 อยู่ด้วยตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในบทเฉพาะกาล แต่ถ้าเสียงพอก็ตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯโดยไม่ต้องมีมาตรา 44 ฉะนั้นทางเลือกที่ 1 คือ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ บวกมาตรา 44 ทางเลือกที่ 2 พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังได้เป็นนายกฯ อยู่เพียงแต่ไม่มีมาตรา 44

ผมอ่านแล้วนึกถึง Clifford Geertz นักมนุษยวิทยาชาวอเมริกัน เขาเสนอว่า รัฐทั้งหลายในแถบเอเชียอาคเนย์มีลักษณะเป็น นาฏรัฐ  theatre state กล่าวคือ รัฐเหล่านี้ในสมัยโบราณมุ่งผดุงอำนาจผ่านการจัดแสดงมหรสพ ละคร และพิธีกรรม คือถ้าคุณไพบูลย์ พูดถูกเรื่องทางเลือก ประยุทธ์ มีมาตรา 44 หรือไม่มีมาตรา 44 การเลือกตั้งก็คงเป็นเหมือนกับ โรงละคร

การเลือกตั้งครั้งนี้ในแง่หนึ่งเป็นนาฏกรรมการเลือกตั้งซึ่ง นายกฯ ถูกเลือกแล้ว ตั้งแต่ก่อนมีการเลือกตั้ง พอมาถึงตอนนี้ฟังแล้วมันก็เหมือนหนังจบ แต่บังเอิญผมคิดว่ามันอาจจะไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะมันมีความไม่ลงตัวบางอย่างอยู่คือ มันมีสัญญาณแปลกๆ บางอย่างออกมาคือ พล.อ.ประยุทธ์ รัฏฐาธิปัตย์ของเรา แถลงยาวครั้งหนึ่งว่า ขณะนี้เหมือนอยู่ในสนามรบ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชาจะตัดสินใจว่าจะให้อยู่ต่อ หรือจะถอย หากเห็นว่าไม่คุ้มค่าที่จะเสี่ยง ผู้บังคับบัญชาสั่งให้ถอยตนก็ยินดี

ความน่าสนใจของประโยคดังกล่าวนี้คือ ท่านที่พูดนี้เป็นหัวหน้า คสช. เป็นนายกฯ และได้รับการยกย่องให้เป็นรัฏฐาธิปัตย์  คำถามคือ แล้วใครเป็นผู้บังคับบัญชาของรัฏฐาธิปัตย์ ผมพยายามจะเข้าใจว่า อาจจะเป็นอาจารย์นราพร (จันทร์โอชา) เพราะว่าเราชาวไทยมีประเพณีให้ความเคารพนับถือภรรยา ผมไม่ทราบ เพราะท่านก็ไม่ได้ชี้แจงว่าใครเป็นผู้บังคับบัญชาของท่าน แต่มันก็ทำให้เรารู้สึกว่า นาฏกรรมที่เราเห็นว่าตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว มันอาจจะไม่เรียบร้อยก็ได้ ถ้ารัฏฐาธิปัตย์ยังมีผู้บังคับบัญชา

สิ่งเหล่านี้ รวมกับอื่นๆ เช่นเหตุการณ์ต่างๆ ที่เราไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนสองเดือนที่ผ่านมา การยุบพรรคไทยรักษาชาติ การที่คุณอภิสิทธิ์ออกมาประกาศว่าไม่เอาบิ๊กตู่ ทำให้ผมรู้สึกว่า เอาเข้าจริงแล้วสิ่งที่เราเห็นเป็นความโกลาหลในหมูชนชั้นนำ และมันสะท้อนว่า เวลา 5 ปีที่ คสช. ทำอะไรต่างๆ ไปอย่างน้อยมันไม่ประสบความสำเร็จในการจัดระเบียบอำนาจในหมู่ชนชั้นนำด้วยกัน

ถ้าเราคิดจากสิ่งที่ท่านพูดว่า ท่านมีผู้บังคับบัญชา หากผู้บังคับบัญชาสั่งให้ถอยท่านก็จะถอย มันทำให้ผมรู้สึกว่าตัวละครในการเลือกตั้งครั้งนี้กว้างกว่าพรรคการเมือง และผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ มันไม่ได้มีแค่คนที่ลงเลือกตั้ง มันไม่ได้มีแค่คนที่ได้รับเสนอชื่อ ตัวละครในการเลือกตั้งครั้งนี้รวมชนชั้นนำไทยโดยเข้าไปด้วย ซึ่งมีทั้งชนชั้นนำไทยที่ไม่ได้เข้าสู่การเลือกตั้ง ไม่ได้รับการเลือกตั้ง และชนชั้นที่เข้าสู่การเลือกตั้ง

การเดินหมากอุบายเล่ห์กลในเกมสัมพันธภาพทางอำนาจในหมู่ชนชั้นนำเป็นอย่างไร แน่นอนว่า บรรดาชนชั้นนำทั้งหลายเวลาเดินเกมเจรจา ต่อรอง จะเดินหมากกันอย่างไร เพื่อจะจัดสรรปันส่วนแบ่งสรรอำนาจกันเขาไม่ได้ทำต่อหน้าสาธารณชน ไม่ได้ทำต่อหน้าธารกำนัล มันเกิดขึ้นหลังม่าน เราไม่ค่อยได้เห็น มันจึงไม่ได้ถูกกำกับไว้โดยรัฐธรรมนูญฉบับลายลักษณ์อักษรแม้แต่ฉบับ 2560 ปัจจุบัน ตรงกันข้ามมันถูกกำกับด้วยรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย เพราะเคยทำกันอย่างนี้ในหมู่ชนชั้นนำ เคยเจรจากันหลังม่านและต่างแดนอย่างนี้ในหมู่ชนชั้นนำ ก็เจรจาต่อรองกันแบบนี้ต่อไป

ตรงนี้แหละที่มันยุ่ง เพราะผมคิดว่ารัฐธรรมนูฐฉบับวัฒนธรรมไทย มันกำลังเปลี่ยนในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา และเปลี่ยนไปเยอะแล้วในหมู่รากหญ้าปัจจุบัน หมู่เยาวชนคนรุ่นใหม่ มันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันและคุณคุมไม่ได้ และมันย่อมสะท้อนมาถึงรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทยด้วย

กล่าวเฉพาะในการมองดูชนชั้นนำไทยโดยรวม ผมคิดว่าที่เราเห็นในปัจจุบันคือ ดูเหมือนกลุ่มชนชั้นนำจะมีเอกภาพ แต่ถ้าเรามองจากข้างล่างจะเห็นว่าเขากำลังแตกเป็นเสี่ยง และกำลังจับกลุ่ม จับพวกกันใหม่ซึ่งยังไม่ลงตัวเสียทีเดียว ดังนั้นถ้าเราคิดถึงยี่เกหลังม่าน ว่าเป็นรัฐซ้อนรัฐ หรือรัฐพันลึก รัฐพันลึกของเราก็คงไม่ใช่รัฐเดียวเสียแล้ว มันเคยเป็นรัฐเดี่ยวแต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว สภาพตอนนี้จะคล้ายกลับสมาพันธรัฐพันลึกของเครือข่ายอำนาจต่างๆ ที่ยังไม่ลงตัว และมีหลายกลุ่ม ซึ่งมารวมตัวกันหล่วมๆ และก็ยังไม่แน่ชัดกันว่า ตกลงแล้วลื้ออยู่กลุ่มไหนกันแน่ว่ะ แล้วลื้อจะให้อั้วสัมพันธ์กับลื้ออย่างไร ผมคิดว่า ปาฏิหาริย์ สึนามิ อะไรต่างๆ ในหมู่ชนชั้นนำที่เราเห็นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเป็นเพราะลักษณะแบบนี้

‘จังหวะประชานิยมทางการเมือง’ ปรากฎการณ์ฟ้ารักพ่อ และ 3 โจทย์ใหญ่ที่ยังรอการพิสูจน์

ในหมู่ประชาชน ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้คือ สิ่งที่ผมเรียกว่า จังหวะประชานิยม ไม่ใช่ประชานิยมทางเศรษฐกิจ แต่เป็นประชานิยมทางการเมือง พูดง่ายๆ คือ ปรากฎการณ์อย่างสึนามิบ่าล้นท้นท่วมสังคมการเมืองไทย เป็นสึนามิของมวลมหาประชาชนที่ออกไปเลือกตั้งถึง 80 กว่าเปอร์เซ็นต์ในกรุงเทพ และ 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ทั่วประเทศ ในการเลือกตั้งล่วงหน้าที่ผ่านมา ผมกำลังหมายถึง ฟ้ารักพ่อ และอะไรทำนองนี้แล้วแต่คุณจะรักใคร อันนี้เป็นสิ่งที่อยู่เหนือการคาดคำนวนของ คสช. ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา และมันสะท้อนว่า คสช. ไม่ประสบความสำเร็จ แม้จะพยายามปรับทัศคติ แต่ก็สยบประชาชนในทางการเมืองให้สยบราบคาบไม่อยู่

ผมแบ่งเป็นสองด้านนะครับ เพื่อที่จะดูว่า จังหวะประชานิยมมันเกิดขึ้นได้อย่างไร ด้านอุปสงค์ หรือโอกาสทางการเมืองที่ทำให้มีความอยากได้ประชานิยมทางการเมืองอย่างนั้นเกิดขึ้น ปัจจัยแรกคือ การหายไปจากสังคมการเมืองไทยของสองผู้นำประชานิยมเดิมในช่วงผลัดแผ่นดิน และการลี้ภัยเองทางการเมือง ปัจจัยที่สองคือ ระเบียบอำนาจแม่น้ำทั้ง 5 สายของ คสช. ทั้งต้องสงสัยว่าทุจริตฉ้อฉล ทว่าอยู่เหนือการตรวจสอบ นอกเหนือจากนั้นการใช้อำนาจแม่น้ำทั้ง 5 สายของ คสช. ได้ใช้อำนาจเด็ดขาดบ่อยครั้งด้วย มาตรา 44 โดยไม่รับฟังเสียง ไม่สนองตอบ และเพิกเฉยต่อความเรียกร้องต้องการของประชาชน ราวกับเขาไม่มีความหมาย ไม่มีน้ำหนักทางการเมือง เขาปกครองให้บ้านเมืองสงบราบคาบได้โดยไม่ต้องฟังประชาชน

ในเวลาอย่างนี้ประชาชนรู้สึกตัวเองถูกชนชั้นนำทอดทิ้ง ในเวลาอย่างนี้ประชาชนรู้สึกว่าตัวเองไม่มีปาก ไม่มีเสียง ที่จะพูดอะไรให้ได้ยินกันทั้งแผ่นดิน ตัวเองไม่สามารถทำอะไรได้ทั้งๆ ที่ติดใจสงสัย ว่าชนชั้นนำนั้นสุจริตจริง รักชาติจริง หรือทุจริตฉ้อฉลกันแน่       

นอกจากนี้ยังมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจย่ำแย่ลงมากในหมู่คนชั้นรากหญ้า การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเข้ามาถูกจังหวะ และเปิดโอกาสให้ผู้นำประชานิยมทางการเมืองเกิดขึ้น และน่าจะทะล่วงผ่านด่านเลือกตั้งเข้าสู่ระบบการเมืองได้ มันเหมาะที่มีการเลือกตั้งขึ้นมาในจังหวะนี้ ทุกข์มันท่วมอกพอดี และถ้าคุณสามารถเสนอตัวคุณเป็นปากเสียงแทนประชาชนได้ เขาเลือกคุณ พร้อมกันนั้นก็มีการเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการอำนาจนิยมเรียกร้องประชาธิปไตยที่ค่อยๆจุดติดขึ้น และสำเร็จในบางประเทศ เช่น มาเลเชีย เวเนซุเอลา แอลจีเรีย

ส่วนด้านอุปทาน ก็มีผู้นำที่แสดงตนว่าเขาเป็นคนนอก เขาไม่ได้อยู่ในหมู่ชนชั้นนำมาก่อน คนเบื่อคนในแล้ว ไม่ไว้ใจคนใน คนอยากเห็นคนหน้าใหม่ และมีผู้นำแบบนี้แสดงตนเข้าสู่การเลือกตั้ง โดยประกาศตนเป็นเสียงของประชาชน เป็นตัวแทนของประชาชนในสภาพที่ประชาชนรู้สึกตัวเองถูกปิดเงียบ กีดกันละทิ้งโดยชนชั้นนำปัจจุบัน

ผมคิดว่ามีโจทย์ 3 ข้อต่ออุปทานของผู้นำประชานิยมเหล่านี้ คือ ผู้นำ และพรรคจะสามารถแปลงเปลี่ยนการทะลุทะล่วงด่านการเลือกตั้ง เป็นยืนหยัดผ่านการเลือกตั้งหลายๆ ครั้งอยู่ในระเบียบการเมืองได้หรือไม่ สองจะแปรตัวเองจากพรรคเลือกตั้งที่อิงนโยบายเป็นหลัก หรือในอีกทางหนึ่งคือแปรตัวเองการเป็นพาหนะการเลือกตั้งส่วนตัวของผู้นำ กล่าวคือ เมื่อคิดถึงพรรคนี้ก็คิดถึงผู้นำ การแบบนี้อาจจะส่งคุณให้ผ่านด่านเลือกตั้งมาได้ด้วยจำนวนพอสมควร แต่คำถามคือคุณจะแปรเปลี่ยนเป็นให้กลายเป็นพรรคประชานิยมที่มีฐานมวลชนจริงได้หรือไม่ อันนี้ต้องดูกันหลังเลือกตั้ง และสุดท้ายคือ ผู้นำกระแสนิยม ประเภทที่ปราศรัยครึ่งชั่วโมงแต่ถ่ายรูปเซฟฟี่หลังจากนั้น 2 ชั่วโมง คำถามคือเขาเป็นผู้นำกระแสนิยม ที่เป็นผู้นำประชานิยมบารมีจริงหรือไม่ อันนี้ยังต้องรอดูกันต่อไป

ซึ่งประทานโทษทีนะครับจังหวะประชานิยมนี้คือผลงานของ คสช. ทั้งหมดที่ คสช. ทำในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาได้สร้างความโหยหาผู้นำที่จะเป็นปากเสียงของตัวในหมู่ประชาชน สึนามิทางการเมือง สึนามิของมวลมหาประชาชนถ้าจะเกิดก็เพราะคุณทำเอง

แนวโน้มหลังเลือกตั้ง อาจมีความผิดหวังที่รออยู่ และความขัดแย้งจะทะลักออกล้นออกมาอีกครั้ง

คาดการณ์แนวโน้มการเมืองหลังเลือกตั้ง ผมคิดว่าจะมีความผิดหวัง แต่จะตาสว่างยิ่งขึ้น เพราะพลังอุปสงค์ประชานิยมทางการเมืองที่ตื่นตัวขึ้นจากการรณรงค์หาเสียง จะปะทะชนในเวลาอันรวดเร็วกับขอบเขตจำกัดของการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงต่อไปในทิศทางประชาธิปไตยจากโครงสร้างอำนาจของรัฐธรรมนูญ คสช. 2560 กล่าวคือ พลังของผู้เลือกตั้งที่ตื่นตัวขึ้นมาในเวลาอันสั้นจะเจอว่าระเบียบอำนาจที่ออกแบบมาเป็นรัฐธรรมนูญ 2560 มันไม่เอื้อให้เปลี่ยนแปลงปฏิรูปต่อไปได้ ไม่ว่าจะเป็นวุฒิสภาเดิมที่เป็นอยู่ แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อำนาจเสียงข้างน้อยที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งครอบงำกำกับอยู่เหนือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และมีพลังฝ่ายอนุรักษนิยม อำนาจนิยมเดิมหนุนหลังอยู่ การปะทะเกิดขึ้นแน่ 

สองถ้าเกิดการแข็งขืนขัดขวาง ไม่ให้กระบวนการริเริ่มปฏิรูปการเมืองสืบต่อไปก็น่าวิตกว่า ความผิดหวัง และอาการตาสว่าง ต่อระเบียบอำนาจเดิมจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เขาโหวตเลือกคนที่เป็นปากเสียงของเขาไปแล้ว เขาหวังเห็นความเปลี่ยนแปลง และถ้าไม่เกิดเพราะระเบียบที่ออกแบบเอาไว้ไม่เอื้อให้ทำได้ ผมคิดว่ามันจะส่งแรงผลักดันความขัดแย้งให้กระชอก ทะลักล้นออกไปนอกกรอบสถาบันการเมืองจากการเลือกตั้งในลักษณะการเมืองภาคประชาชนตามสิทธิเสรีภาพที่มีภายใต้กฎหมาย อาจเกิดขึ้นได้

ในแง่กลับกันหากไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น ถ้ามีการเปิดขยายพื้นที่ความเป็นไปได้ ภายในกรอบสถาบันการเมืองจากการเลือกตั้ง เปิดพื้นที่ความเป็นไปได้ที่จะปฏิรูป ไม่ว่าจะเป็นรัฐสภา รัฐบาล พรรคการเมือง ให้เป็นเวทีเจรจาต่อรองที่เชื่อมกับพลังประชาชนภาคนอก เชื่อมกับจังหวะประชานิยมที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อรองรับกระบวนการปฏิรูประเบียบอำนาจใหม่มากขึ้น ก็เป็นไปได้ที่จะนำไปสู่การที่จะค่อยๆ หาจุดบรรจบผสานระหว่างเจตนารมณ์ทั่วไปเพื่อการปฏิรูประเบียบการเมืองใหม่ ทั้งชนชั้นนำเบื้องบน และเจตนารมณ์ทั่วไปเพื่อการปฏิรูปจากประชาชนเบื้องล่าง

การปฏิรูปครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่สำเร็จได้มีลักษณะร่วมกันอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ 5 ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงไปเสรีประชาธิปไตยที่เริ่มตอน 14 ตุลาคม 2516 และพฤษภาคม 2535 มันเกิดขึ้นเมื่อเจตนารมณ์ทั่วไปที่ต้องการปฏิรูปจากเบื้องบน ผสานกับเจตนารมณ์ทั่วไปที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงจากเบื้องล่าง พอผสานแล้วโอกาสปฏิรูปเกิดได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท