Skip to main content
sharethis

โตโยต้า จ่ายโบนัส-เงินพิเศษ มากกว่าข้อเรียกร้องสหภาพแรงงาน

โตโยต้ากระเป๋าหนัก ประกาศขึ้นเงินเดือนพนักงาน 6.8% บวกโบนัส 8 เดือน ประธานใจใหญ่จ่ายเพิ่ม 3.4 หมื่นบาท ซื้อใจพนักงาน 1.4 หมื่นคน เผยเพิ่มสวัสดิการเพียบ ฮอนด้า-มาสด้า-มิตซูบิชิ พาเหรดจ่ายหนัก เผยตลาดรถปี 2561 ทะลุล้านคัน คนทำงานอุตฯ รถยนต์อู้ฟู่แน่นอน

จากการสำรวจโบนัสที่กลุ่มธุรกิจยานยนต์และชิ้นส่วนมอบให้กับผู้บริหารและพนักงาน โดยเฉพาะปีที่ผ่านมาตลาดรถยนต์ฟื้นตัวอย่างชัดเจน ทุกบริษัทปิดยอดขายด้วยตัวเลข 1,039,158 คัน เพิ่มขึ้น 19.2% และมั่นใจว่าปี 2562 นี้ตลาดรวมน่าจะอยู่ที่ 1 ล้านคัน ทำให้แต่ละค่ายยอมทุ่มซื้อใจพนักงานกันอย่างเต็มที่

รายงานข่าวจากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปลายสัปดาห์ที่แล้ว ท่านประธานมิจิโนบุ ซึงาตะ ได้ประกาศจ่ายโบนัสพนักงานในอัตรา 8 เดือน บวกเงินพิเศษเพิ่ม 34,000 บาท โดยแบ่งจ่ายเป็น 2 รอบ คือ กลางปีและสิ้นปีอย่างละ 4 เดือน ทั้งนี้เป็นผลมาจากผลประกอบการในปีที่ผ่านมา โตโยต้าขายทะลุ 3 แสนคัน โต 31.2% มีส่วนแบ่งตลาด 30.3% ประกอบกับปีนี้โตโยต้ามีการลงทุนเพิ่มเติมหลังยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ภายใต้แพ็กเกจโครงการรถยนต์ไฮบริด ปลั๊ก-อินไฮบริด และรถยนต์อีวีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยก่อนหน้านี้สหภาพแรงงานโตโยต้า ประเทศไทยและกลุ่มผู้บริหารบริษัทได้เจรจาต่อรองเรื่องเงินช่วยเหลือพิเศษ จนได้ข้อสรุปที่ 24,000 บาทให้กับพนักงานทั้งหมด 1.4 หมื่นคน อย่างไรก็ตาม ท่านประธานได้พิจารณาบวกเพิ่มให้อีก 10,000 บาท ทำให้ทุกคนจะได้เงินพิเศษเพิ่มเป็น 34,000 บาท พร้อมขึ้นเงินเดือนพนักงานในอัตรา 6.8%

“ปีนี้ถือว่าพิเศษกว่าทุกปี นอกจากโบนัส เงินพิเศษที่ได้มากกว่าข้อเรียกร้อง ยังมีปรับปรุงสวัสดิการที่เอื้อประโยชน์กับพนักงานอีกหลากหลายรายการ”

แหล่งข่าวฝ่ายบริหาร บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่าค่ายนิสสันกำลังสรุปโบนัส ซึ่งตอนนี้ตัวเลขยังอยู่ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว และมีบวกเพิ่มตามความสามารถ ซึ่งน่าจะลงตัวภายในสิ้นเดือนนี้ ประกอบกับนิสสันกำลังอยู่ระหว่างเปลี่ยนผู้บริหารระดับสูงโดยนายอันตวน บาร์เตสประธาน นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทยคนปัจจุบัน จะไปรับตำแหน่งใหม่ของนิสสันในต่างประเทศ พร้อมทั้งประกาศแต่งตั้งราเมช นาราสิมัน ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป

นายราเมชมีประสบการณ์กว่า 20 ปีด้านการบริหารและการเงินในอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งในประเทศออสเตรเลีย จีน ฟิลิปปินส์ และอังกฤษ

“ปกติการเรียกร้องของสหภาพแรงงานยื่นเสนอมายังค่ายรถยนต์จะอยู่ราว ๆ 8-11 เดือน เงินพิเศษ 3-8 หมื่นบาท ส่วนอัตราการขึ้นเงินเดือนอยู่ประมาณ 7-9% ซึ่งก็แล้วแต่ค่ายรถยนต์ที่จะนำไปพิจารณาร่วมกับผลประกอบการของตัวเอง”

ขณะที่ค่ายอื่น ๆ ก็อยู่ระหว่างการพิจารณาเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่น่าจะใกล้เคียงปี 2561 อาทิ ค่ายฮอนด้าปีที่ผ่านมาจ่ายโบนัส 8 เดือน และเงินพิเศษ 25,000 บาท มิตซูบิชิราว ๆ 6-7 เดือน บวกเพิ่มเงินพิเศษ แต่อย่างไรก็ตาม คนมิตซูบิชิเองประเมินว่าปีนี้น่าจะมีการซื้อใจพนักงานเพิ่มเติม หลังจากต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บีโอไอเห็นชอบให้ส่งเสริมกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (PHEV) ของบริษัทด้วยเม็ดเงินลงทุน 3,130 ล้านบาท โดยโครงการนี้จะใช้ชิ้นส่วนสำคัญที่ผลิตในประเทศ และมีแผนพัฒนาผู้ผลิตวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนในประเทศ เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลตามมาตรการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

เช่นเดียวกับผู้บริหารมาสด้า ระบุปี 2561 ที่ผ่านมายอดขายมาสด้าดีมากเกินเป้าที่กำหนด คือ ทำยอดขายได้สูงถึง 70,475 คัน เติบโตเพิ่มขึ้นถึง 37% ส่วนปี 2562 ประเมินว่าน่าจะขายได้ถึง 75,000 คัน หรือเติบโต 5-10% ประเด็นนี้กำลังนำมาพิจารณาการจ่ายโบนัส ซึ่งน่าจะมากกว่าปี 2561 ซึ่งได้ 6 เดือน บวกความสามารถอื่น ๆ เพิ่มเติม

ขณะนี้ค่ายซูซูกิอยู่ระหว่างสรุปการจ่ายโบนัสซึ่งใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 6 เดือน บวกเงินพิเศษอีกราว ๆ 30,000 บาท โดยปี 2561 ที่ผ่านมาซูซูกิประสบความสำเร็จโกยยอด 28,503 คัน เพิ่มขึ้น 14% จาก 25,011 คันในปีก่อนหน้านี้ และปี 2562 นี้ตั้งใจจะขายถึง 33,000 คัน โต 16%

ไม่ต่างจากค่ายฟอร์ด ที่จะปิดปีงบประมาณราวเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งกำลังต้องรอดูผลประกอบการทั้งปี โดยฟอร์ดก็ถือเป็นอีกค่ายที่ทำผลงาน ปี 2561 ยอดเยี่ยม ปิดตัวเลขขาย 6.6 หมื่นคัน และกำหนดเป้าหมายการขายปีนี้ใกล้ ๆ 8 หมื่นคัน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 23/3/2562

ประกันสังคม ขานรับ อสม.เข้ามาตรา 40

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีความเป็นไปได้ในการรับอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เข้าสู่ระบบประกันสังคมมาตรา 40 ว่า เมื่อวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมเวทีแลก เปลี่ยนเรียนรู้การจัดระบบสวัสดิการ อสม. ในวันอาสาสมัครสาธารณาสุขแห่งชาติ ประจำปี2562 โดยมีผู้บริหารจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กองทุนการออมแห่งชาติ(กอช.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และผู้แทนสำนักงานประกันสังคม(นางรัศมี สุจโต ) ผู้อำนวยการสำนักเสริมสร้างความมั่นคงแรงงานนอกระบบ ซึ่งที่ประชุมได้มีการเสวนาเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากการประกันสังคมมาตรา 40 ทั้ง 3 กรณี ขณะที่ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ประธานชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด และเลขานุการชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด โดยที่ประชุมได้ร่วมหารือแนวทางในการเสนอรูปแบบการออมสำหรับ อาสาสมัครสาธารณสุขแต่ละหน่วย

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อว่า สำนักงานประกันสังคมมีความพร้อมหากอาสาสมัครสาธารณสุขจะเข้าสู่ระบบประกันสังคม โดยมีสวัสดิการมาตรา 40 รองรับใน 3ทางเลือก ได้แก่ ทางเลือก 1 และ2 จ่ายเงินสมทบ 2 อัตรา โดยให้เลือกในอัตราเดือนละ 70 บาท และอัตราเดือนละ 100 บาท จะได้รับสิทธิเพิ่มเป็นเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีนอนพักรักษาตัวในสถานพยาบาลเป็นวันละ 300 บาท กรณีไม่นอนพักรักษาตัวในสถานพยาบาล แต่มีใบรับรองแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัว ตั้งแต่ 3 วันขึ้นไปจะได้รับวันละ 200 บาท(กรณีนอนพักรักษาตัวกับไม่นอนพักรักษาตัว รวมกันไม่เกิน 30 วันต่อปี) กรณีไปพบแพทย์ แต่แพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวไม่ถึง 3วัน จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ ครั้งละ 50 บาท ปีละไม่เกิน 3 ครั้ง ให้เงินสงเคราะห์กรณีตายเพิ่มอีก 3,000 บาท ถ้าส่งเงินครบ 60 เดือน และทางเลือกที่ 3 โดยจ่ายเงินสมทบเดือนละ 300 บาท ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีนอนพักรักษาตัวในสถานพยาบาล วันละ 300 บาทกรณีไม่นอนพักรักษาตัวในสถานพยาบาล แต่มีใบรับรองแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัว ตั้งแต่ 3 วันขึ้นไปได้รับวันละ 200 บาท (สำหรับทางเลือกใหม่ กรณีนอนพักรักษาตัว กับไม่นอนพักรักษาตัว รวมกันไม่เกิน 90 วันต่อปี)

อีกทั้งเพิ่มเงินทดแทนกรณีทุพพลภาพเป็นตลอดชีวิต เพิ่มค่าทำศพเป็น 40,000 บาท เพิ่มเงินบำเหน็จชราภาพเป็นเดือนละ 150 บาท ส่งเงินครบ 180 เดือน ให้เงินเพิ่มอีก 10,000 บาท เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรคนละ 200 บาท คราวละไม่เกิน 2 คน บุตรแรกเกิด แต่ไม่เกิน 6 ปีบริบูรณ์ ท้ายนี้ สำนักงานประกันสังคมหวังว่าจะมีอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เข้าสู่ระบบประกันสังคม และมีความยินดีให้สวัสดิการในการดูแลแรงงานนอกระบบเข้าถึงหลักประกันสังคมอย่างทั่วถึง อีกทั้งพร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนเพื่อให้ภาคแรงงานทุกกลุ่มอาชีพและคนไทยทุกคนมีหลัก ประกันถ้วนหน้า สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีต่อไป

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 22/3/2562

กยศ. เผยผลดีหักเงินเดือนลูกหนี้ผ่านองค์กรนายจ้าง คาดปี 2562 จะได้รับชำระหนี้คืนตามเป้า 3 หมื่นล้านบาท

กยศ. เผยผลดีจากรับชำระหนี้โดยการหักเงินเดือนลูกหนี้กองทุนฯ ผ่านองค์กรนายจ้าง อบจ. เทศบาล อบต. และบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ คาดปี 2562 นี้จะได้รับชำระหนี้ถึงเป้าหมาย 3 หมื่นล้านบาทแน่นอน

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า จากเดิมที่กองทุนได้มีการหักเงินเดือนชำระหนี้จากกลุ่มข้าราชการและลูกจ้างที่ได้รับเงินเดือนผ่านระบบจ่ายตรงเงินเดือนและค่าจ้างประจำของกรมบัญชีกลางประมาณ 165,000 ราย ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 เป็นต้นมา โดยมีผลการรับชำระหนี้กว่า 240 ล้านบาทต่อเดือน และในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ กองทุนได้เริ่มหักเงินเดือนผู้กู้ยืมจำนวนกว่า 80,000 ราย ที่ทำงานอยู่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ประกอบด้วย อบจ. เทศบาล อบต. กว่า 3,700 แห่ง และหน่วยงานภาคเอกชนรายใหญ่ 20 แห่ง ผ่านระบบรับชำระเงินคืนของกรมสรรพากร (e-PaySLF) ได้รับเงินชำระหนี้กว่า 134 ล้านบาท ซึ่งกองทุนได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะกรมสรรพากรที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาระบบการรับชำระเงินคืนให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทำให้ผลการรับชำระหนี้ดีเป็นที่น่าพอใจ จากนี้กองทุนจะทยอยประสานการหักเงินเดือนหน่วยงานเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าปีนี้กองทุนจะได้รับชำระหนี้เพิ่มขึ้นถึง 30,000 ล้านบาท

สำหรับการดำเนินการหักเงินเดือน กองทุนฯ จะอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้กู้ยืมและองค์กรนายจ้างทุกขั้นตอน โดยกองทุนจะแจ้งการหักเงินเดือนไปยังผู้กู้ยืม ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกผู้กู้ยืมสามารถติดต่อ กยศ. ได้ทาง Line@กยศ.หักเงินเดือน ซึ่งกองทุนพร้อมที่จะให้โอกาสในการเจรจาชำระหนี้คืนกองทุนเพื่อส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่รุ่นน้องต่อไป

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 22/3/2562

ก.แรงงาน จับมือ บิ๊กซี ติดตั้ง Job Box ให้บริการจัดหางานทุกที่-ทุกเวลา

กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน จับมือ ห้างบิ๊กซี ลงนาม MOU ให้บริการจัดหางานผ่านตู้งาน (Job Box) อำนวยความสะดวก เข้าถึงแหล่งงานอย่างเท่าเทียม ทุกที่ ทุกเวลา สร้างโอกาสการมีงานทำ สร้างรายได้ มีตำแหน่งงานว่างรองรับกว่า 55,000 อัตรา ติดตั้ง Job Box ที่ห้างบิ๊กซี จำนวน 101 ตู้ ประชาชนตอบรับมาใช้บริการไปแล้วกว่า 28,000 คน

เมื่อวันที่ 21 มี.ค. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีลงนาม บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมการมีงานทำโดยการให้บริการจัดหางานผ่านตู้งาน (Job Box) ระหว่าง นางเพชรรัตน์ สินอวย อธิบดีกรมการจัดหางาน กับ นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ที่บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า พระราม 4 เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร โดยมี นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารกระทรวงแรงงาน และห้างบิ๊กซี ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธี

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ ซึ่งกระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานได้ส่งเสริมการมีงานทำให้กับประชาชนโดยนำนวัตกรรม “ตู้งาน” (Job Box) มาให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่ต้องการมีงานทำ เข้าถึงบริการค้นหาตำแหน่งงานว่างได้ง่ายขึ้น

สามารถจับคู่คนให้ตรงกับงาน หางานได้ตรงใจ ลดขั้นตอน ลดระยะเวลา ลดการใช้เอกสาร ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดยใช้บัตรประชาชนแบบอเนกประสงค์ (Smart Card) เพียงใบเดียวในการหางานทำ สามารถระบุลักษณะงาน ค้นหาพื้นที่ตั้ง ชื่อบริษัท อัตราเงินเดือน รายได้ เมื่อกดทำรายการจะเชื่อมโยงข้อมูลการสมัครงานไปยังสถานประกอบการทันที

และสมัครงานได้มากกว่า 1 แห่ง สามารถเลือกตำแหน่งงานที่สนใจและไปสมัครงานกับนายจ้างได้ทันที โดยมีการจัดตู้งาน (Job Box) จำนวน 500 ตู้ ไปติดตั้งให้บริการถึงพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เช่น สำนักงานจัดหางานจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ เรือนจำ ห้างบิ๊กซี แหล่งชุมชน เป็นต้น เป็นทางเลือกใหม่ที่สามารถหางานได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยเริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา

สำหรับการลงนาม MOU ในวันนี้ เป็นอีกหนึ่งของการประสานความร่วมมือของภาครัฐกับภาคเอกชนที่มีเจตนารมณ์ร่วมกันในการส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปและผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถเข้าถึงตำแหน่งงานว่างได้อย่างรวดเร็ว ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยความร่วมมือนี้กรมการจัดหางานจะติดตั้งตู้งาน (Job Box) ณ ศูนย์การค้าบิ๊กซี ทั่วประเทศ รวมทั้งดูแลรักษาให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ

ในส่วนของบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) จะสนับสนุนพื้นที่ภายในสาขาของบิ๊กซีทั่วประเทศ ตามที่ทั้งสองฝ่ายตกลงเห็นชอบร่วมกัน เพื่อให้กรมการจัดหางานสามารถติดตั้งและให้บริการตู้งาน (Job Box) แก่ประชาชนและผู้มีสวัสดิการแห่งรัฐได้อย่างทั่วถึง สนับสนุนกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการมีงานทำ

รวมทั้งประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ประชาชนมาหางานผ่านตู้งาน (Job Box) เพื่อให้ประชาชนและผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเข้าถึงตำแหน่งงานว่างและได้โอกาสการมีงานทำมากยิ่งขึ้น ขณะนี้มีตำแหน่งงานว่างที่ให้บริการในตู้งาน (Job Box) จำนวน 54,559 อัตรา ขณะที่มีตู้งาน (Job Box) ติดตั้ง ณ ห้างบิ๊กซี ทั่วประเทศ จำนวน 101 ตู้ คิดเป็น 20.2 % ของจำนวนตู้งานทั้งหมด 500 ตู้ และมีผู้มาใช้บริการ จำนวน 14,181 คน คิดเป็น 49.8% ของจำนวนผู้มาใช้บริการทั้งหมด 28,480 คน

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวอีกว่า ขอแสดงความยินดีและขอบคุณ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ที่ได้เล็งเห็นความสำคัญและประโยชน์ในความร่วมมือด้านการส่งเสริมการมีงานทำ เพื่อให้ประชาชนและผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงบริการของรัฐได้สะดวก รวดเร็ว เท่าเทียมกัน สร้างโอกาสได้งานทำมากยิ่งขึ้น สร้างโอกาสการเข้าถึงอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป

ที่มา: ข่าวสด, 21/3/2562

แรงงานกัมพูชาร้องสถานทูต ถูกนายจ้าง จ.ชลบุรี เบี้ยวค่าแรง

แรงงานชาวกัมพูชา ร้องสถานทูต ถูกนายจ้าง จ.ชลบุรี เบี้ยวค่าแรง และถูกจับกุมในระหว่างรอค่าแรง สถานทูตฯ เตรียมประสานกระทรวงแรงงานไทยเพื่ออุดช่องโหว่การรับแรงงานต่างด้าวเพื่อไม่ให้สร้างปัญหาต่อ

จากกรณีที่มีแรงงานชาวกัมพูชาและชาวเมียนมาร์ เกือบ 100 คน ร้องเรียนสถานเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรกัมพูชาโดยแจ้งว่าเป็นแรงงานผลิตชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าบริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี และถูกบริษัทฯปลดออกโดยไม่ทราบสาเหตุ พร้อมทั้งไม่จ่ายค่าแรงเฉลี่ยคนละประมาณ 8,000 - 28,000 บาท จึงรวมตัวกันขอเจรจากับทางบริษัท ฯ เมื่อวันที่ 12 มี.ค. แต่ไม่ได้รับการชี้แจงใดๆ จึงได้ร้องเรียนไปยังสถานทูตฯ และเข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สภ.ดอนหัวฬ่อ จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา ในระหว่างรอให้สถานทูตฯช่วยเหลือ ได้มีแรงงานถูกจับกุมตัวไป

ล่าสุดวันนี้ (21 มี.ค.) นายจันวิสาร เมย์ ที่ปรึกษาฝ่ายแรงงาน สถานเอกอัครราชฑูตราชอาณาจักรกัมพูชา ประจำประเทศไทย พร้อมคณะได้เดินทางมาที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพื่อเจราจาขอให้ช่วยเหลือแรงงานชาวกัมพูชา ที่อยู่ระหว่างขั้นตอนไกล่เกลี่ย แต่ถูกจับกุมมาที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง ศรีราชา จำนวน 2 คน

โดยนายจันวิสาร กล่าวว่า ที่ผ่านมามีนายหน้ารับจัดหาแรงงานชาวกัมพูชาและเมียนมาร์ ให้มาทำงานในโรงงานที่ จ.ชลบุรี โดยรับปากจะเดินเรื่องเอกสารและหลักฐานต่างๆให้กับแรงงานเหล่านั้นให้ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศไทย โดยหักเงินจากแรงงานคนละ 8,000-10,000 บาท

หลังจากทำงานได้ระยะหนึ่ง ทางโรงงานแห่งนี้ ได้ไล่พนักงานทั้งหมดออกและไม่จ่ายค่าแรง ที่ติดค้างไว้ด้วย ทำให้แรงงานได้รับความเดือดร้อน จึงร้องเรียนไปยังสถานเอกอัครราชทูต ราชอาณาจักรกัมพูชา จากนั้นเจ้าหน้าที่ของสถานทูตฯ ได้เข้าไปตรวจสอบเพื่อคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งมีตัวแทนจากบริษัท และ ตัวแทนนายหน้า ร่วมเจรจา โดยทางบริษัทฯรับปากจะจ่ายเงินค่าจ้างที่ค้างไว้ ในวันที่ 20 มี.ค. นี้ และนัดจ่ายเงินค่าจัดทำเอกสารให้แต่ละรายจำนวน 8,000-10,000 บาท ในวันที่ 31 มี.ค. นี้

โดยในช่วงที่เลิกจ้างและรอรับเงินนั้น บริษัทนายหน้าแจ้งว่าพร้อมจะจ่ายค่าแรงให้กับแรงงานทุกคน คนละ 300 บาท โดยเมื่อถึงกำหนดจ่ายเงินในวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา แรงงานทุกคนมารอรับเงินค่าจ้างที่นายจ้างนัดไว้ ที่บริเวณสถานีดับเพลิงแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี แต่ในจังหวะนั้นได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาจับกุมตัวแรงงานดังกล่าวทันที

หลังแรงงานถูกจับกุม ทางสถานทูตฯ จึงได้เข้าเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจไว้เป็นหลักฐาน เพื่อให้การคุ้มครองแรงงานดังกล่าว ที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการเจรจารอเงินจากนายจ้างในวันที่ 31 มี.ค. นี้ และหลังจากนั้นก็พร้อมจะเดินทางกลับประเทศทันที

นายจันวิสาร กล่าวว่า หลังจากนี้จะทำบัญชีรายชื่อของแรงงานที่เหลือส่งให้ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) อำเภอศรีราชา คุ้มครองแรงงานดังกล่าวที่เหลืออยู่เพื่อไม่ให้ถูกจับกุม ส่วนที่ถูกจับกุมไปแล้วนั้นจะถูกดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย เพื่อผลักดันกลับประเทศต่อไป

“สำหรับปัญหาดังกล่าว เกิดขึ้นบ่อยครั้งมาก เนื่องจากไทยมีช่องว่างของกฎหมาย เพราะตามกฎหมายแล้วห้ามมีบริษัทซับคอนแทรคแรงงาน แต่ทางนายหน้าจัดหางานก็มีวิธีการโดยไม่ใช่เป็นบริษัทรับเหมาคนงาน แต่จัดการโดยการตั้งบริษัทของตนเองขึ้นมาเพื่อรับงานจากโรงงานมาทำ แล้วจ้างแรงงานเหล่านี้ทำงานให้ เมื่อชิ้นงานเสร็จก็ส่งงานคืนโรงงาน แต่รูปแบบดังกล่าวจะเป็นในลักษณะเดียวกันกับซับคอนแทรคแรงงาน ซึ่งเรื่องนี้ทางสถานทูตฯจะต้องเข้าหารือกับกระทรวงแรงงาน เพื่ออุดช่องโหวดังกล่าว เพื่อไม่ให้สร้างปัญหาต่อไป

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 21/3/2562

กรมสรรพากรชี้แจงประเด็นเงินชดเชยที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างที่ออกจากงานก่อนครบ 5 ปี

ตามที่ได้มีผู้เขียนบทความเรื่องเงินชดเชยที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างที่ออกจากงานก่อนครบ 5 ปี ต้องเสียภาษีเต็มจำนวน เป็นการซ้ำเติมผู้ที่ออกจากงาน เนื่องจากสิทธิในการเสียภาษีโดยไม่ต้องนำไป รวมคำนวณกับเงินได้ประเภทอื่น ตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นการให้สิทธิเฉพาะลูกจ้างที่ทำงานครบ 5 ปีเต็ม จึงควรยกเลิกเงื่อนไขระยะเวลาการทำงาน 5 ปี หรือปรับระยะเวลาเป็นขั้นบันได นั้น​นายปิ่นสาย สุรัสวดี รักษาการที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร ได้ชี้แจงในประเด็นดังกล่าวว่า

1.เงินชดเชยเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้าง โดยหลักภาษีจะต้องเป็นเงินได้ของลูกจ้าง และมีภาระภาษีเช่นเดียวกับเงินได้ประเภทอื่น อย่างไรก็ดี ประมวลรัษฎากรมีข้อผ่อนปรนให้เฉพาะการออม แบบผูกพันระยะยาวใน 2 กรณีดังนี้ (1) กรณีการจ่ายเงินได้จากกองทุนที่จัดตั้งเพื่อส่งเสริมการออมแบบผูกพันระยะยาว เช่นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินได้ที่จ่ายจากกองทุนดังกล่าวจะได้รับยกเว้นภาษีหากครบเงื่อนไขในการออมระยะยาวของกองทุน ​(2) กรณีเงินชดเชยจากการทำงานได้มีการวางหลักไว้ว่าการทำงานเกิน 5 ปี ถือเสมือน การออมระยะยาว เงินชดเชยดังกล่าวจะได้รับการผ่อนปรนโดยได้รับสิทธิแยกคำนวณภาษี ไม่ต้องนำไปรวมคำนวณ กับเงินได้ประเภทอื่น

​2. อย่างไรก็ดี หากเป็นการออกจากงานโดยไม่สมัครใจ ซึ่งได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นจำนวนไม่เกิน 300,000 บาท ตามข้อ 2 (51) แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรและเงินชดเชยที่ได้รับในส่วนที่เกิน 300,000 บาท ยังสามารถหักค่าใช้จ่ายได้เป็นจำนวน 100,000 บาท และค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท และค่าลดหย่อนอื่น ๆ รวมทั้งยังได้รับยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้สุทธิ ในส่วน 150,000 บาทแรกอีกด้วย ซึ่งจะทำให้ผู้ออกจากงานมีภาระภาษีลดลงจำนวนหนึ่ง หรือไม่มีภาษีที่จะต้องชำระแต่อย่างใด

​สำหรับผู้ที่มีข้อสงสัยขอให้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์สารนิเทศสรรพากร โทร. 1161 หรือที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 20/3/2562

ก.แรงงาน เปิดคอร์สอาหารเครื่องดื่มสร้างอาชีพผู้สูงอายุ

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตรวจเยี่ยมการฝึกอบรมหลักสูตรอาหารว่างและเครื่องดื่ม ชนิดต่างๆ ให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมการมีงานทำ และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้ผู้สูงอายุ ตามนโยบาย 3 A ของกระทรวง

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า การฝึกอบรมอาชีพให้แก่ผู้สูงอายุนี้ กระทรวงแรงงานถือเป็นนโยบายที่สำคัญและเร่งด่วนของกระทรวง เพื่อให้ผู้สูงอายุ ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ มีอาชีพที่เหมาะสมกับวัยและประสบการณ์ หาเลี้ยงตัวเองได้ ไม่เป็นภาระแก่ครอบครัวและสังคม ช่วยลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในด้านสวัสดิการ โดยแบ่งผู้สูงอายุเป็น 4 กลุ่ม คือ 1. ผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ 2.ผู้ประกอบการ E-Comerce 3.ผู้ที่ต้องการเพิ่มหรือเปลี่ยนทักษะในการประกอบอาชีพ และ 4.ผู้ที่รับงานไปทำที่บ้าน บริษัท และห้างร้าน โดยวันนี้เป็นการฝึกอบรมทำอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อให้ผู้สูงอายุนำไปต่อยอดเป็นอาชีพอิสระ

นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2562 กระทรวงแรงงานร่วมกับเครือข่ายภาครัฐและเอกชนตั้งเป้าพัฒนาแรงงานผู้สูงอายุ 100,000 คน โดยกพร.รับผิดชอบในส่วนของการประสานเครือข่ายเพื่อฝึกอบรมวิชาชีพแก่กลุ่มผู้สูงอายุ โดยเข้าร่วมฝึกอบรมจะได้รับความรู้เกี่ยวกับ วิธีใช้สื่อโซเชียลฯ ทั้งเฟสบุ๊ค และ แอพพลิเคชั่นไลน์ ผ่านคิวอาร์โค้ด การทำการตลาดด้วยสื่อโซเชียลฯ (Socail Marketing) สำหรับหลักสูตรที่อบรม 2 หลักสูตรจะเน้นทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ใช้เวลาอบรมระหว่างวันที่ 18-22 มีนาคม 2562 รวม 30 ชั่วโมง โดยเมนูอาหารว่างที่นำมาสอนได้แก่ ปอเปี๊ยะสด สาคูไส้หมู เมี่ยงคำ ค้างคาวเผือก ขนมหัวผักกาด ขนมถ้วยจีน และก๋วยเตี๋ยวหลอด ส่วนเครื่องดื่มได้แก่ น้ำใบเตยหอม น้ำเก๊กฮวย น้ำมะตูม น้ำฝรั่ง น้ำอัญชัน น้ำมะนาว ชาเชียว ชาเย็นและกาแฟเย็น

ด้านนายเอก สิทธิพันธุ์ อายุ 62 ปี อดีตพนักงานโรงแรม เปิดเผยว่า ทราบข่าวจาก สื่อโซเชียลฯ รู้สึกสนใจ เนื่องจากเคยคลุกคลีกับงานบริการ เชื่อว่าน่าจะนำไปต่อยอดเป็นอาชีพเสริมได้ แต่ต้องขอดูว่าเมนูใดน่าจะนำไปทำขายได้ สำหรับความรู้ด้านการตลาดผ่านสื่อโซเชียลฯ ถือว่ามีประโยชน์มาก และน่าจะช่วยในการเพิ่มยอดขาย ควบคู่ไปกับการทำแพคเกจจิ้งที่น่าสนใจด้วย ทั้งนี้อยากให้กระทรวงแรงงานเพิ่มช่องทางในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ทางสื่อวิทยุและโทรทัศน์เพิ่มขึ้นเพื่อให้เหมาะกับกลุ่มผู้สูงอายุที่ยังไม่คุ้นเคยกับสื่อทั้ง 2 ประเภท

ขณะที่ นางวิภา ปัญยานุวัฒน์ อายุ 68 ปี อดีตข้าราชการเกษียณอายุ กล่าวว่า ทราบจากญาติที่เคยเข้าอบรมวิชาชีพกับกพร. มั่นใจในมาตรฐานการฝึก ความพร้อมด้านวิทยากร สถานที่และอุปกรณ์ ที่ใช้ในการฝึก จึงมาสมัครฝึกอบรม เบื้องต้นจะทดลองทำและแจกจ่ายในกลุ่มญาติและเพื่อนๆให้เกิดความชำนาญจึงจะทำขาย จึงอยากเชิญชวนผู้สูงอายุที่สนใจอยากใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์เพราะนอกจากจะได้ความรู้แล้วยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพของตนเองด้วย

ที่มา: ThaiPR.net, 20/3/2562

ครม.อนุมัติ ขรก.ตั้งใหม่ให้ สธ. 1,308 อัตรา 'แพทย์-หมอฟัน' ส่วนเภสัชไม่อนุมัติ ให้ใช้ตำแหน่งว่าง

ครม.อนุมัติเพิ่มอัตราข้าราชการตั้งใหม่ สธ.ตามที่ คปร.เสนอ ตำแหน่งนายแพทย์ 1,308 อัตรา ตำแหน่งทันตแพทย์ 50 อัตรา ส่วนตำแหน่งเภสัชกรที่ขอไป 279 อัตรานั้น คปร.ไม่อนุมัติแต่ให้ใช้ตำแหน่งว่างที่ สธ.มีกว่า 1 หมื่นตำแหน่งมาจัดสรรให้เภสัชกรตามความจำเป็น คปร.แจ้งยืนยันกับ สธ.ว่า จะจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่เพื่อบรรจุ นักศึกษาแพทย์และทันตแพทย์ในปี 64 เป็นปีสุดท้าย และขอให้ สธ.จัดทำข้อเสนอให้ ครม.ทบทวนการเป็นนักศึกษาคู่สัญญาของนักศึกษาแพทย์และทันตแพทย์ด้วย

เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2562 ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ครม.มีมติอนุมัติการเพิ่มอัตราข้าราชการตั้งใหม่ของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข หรือ สป.สธ.(ตำแหน่งนายแพทย์ และทันตแพทย์) ซึ่งเป็นไปตามมติคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ในการประชุมครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2562

โดยเห็นชอบการจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ตำแหน่งแพทยศาสตร์และทันตแพทยศาสตร์ จำนวน 1,358 อัตรา เพื่อรองรับการบรรจุนักศึกษาคู่สัญญาวิชาแพทยศาสตร์และทันตแพทยศาสตร์ที่สำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2562 โดยประมาณการว่าจะมีการใช้งบประมาณด้านบุคลากร รวมทั้งสิ้น 424,375,680 บาท/ปี มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้ 1.ตำแหน่งนายแพทย์ สป.สธ.ขอ 1,308 อัตรา มติ คปร.อนุมัติ 1,308 อัตรา คิดเป็นค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร 34,010,640 บาทต่อเดือน 2.ตำแหน่งทันตแพทย์ สป.สธ.ขอ 50 อัตรา มติ คปร.อนุมัติ 50 อัตรา คิดเป็นค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร 1,354,000 บาทต่อเดือน รวมทั้ง 2 ตำแหน่งเป็น 1,358 อัตรา อัตรา คิดเป็นค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร 35,364,640 บาทต่อเดือน หรือ 424,375,680 บาทต่อปี

สำหรับเหตุผลในการอนุมัติอัตราข้าราชการตั้งใหม่ในตำแหน่งนายแพทย์และทันตแพทย์นั้น เพื่อรองรับนักศึกษาคู่สัญญากับกระทรวงสาธารณสุขสำหรับบรรจุในตำแหน่งดังกล่าว ให้มีจำนวนตามเป้าหมายที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เพื่อรองรับงานที่ต้องดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลเพื่อปฏิบัติภารกิจการให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในพื้นที่ห่างไกล และเพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

3.ขณะที่ตำแหน่งเภสัชกร ที่ สป.สธ.ขอไป 279 ตำแหน่งนั้น มติ คปร.ไม่อนุมัติ โดยให้เหตุผลว่า ที่ผ่านมา สป.สธ.ได้บริหารตำแหน่งว่างที่มีอยู่ โดยการยุบเลิกตำแหน่งพนักงานสาธารณสุขที่ว่าง รวมทั้งได้จ้างงานเภสัชกรในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อรองรับนักศึกษาคู่สัญญาวิชาเภสัชศาสตร์ได้ โดยไม่มีอัตรากำลังตั้งใหม่ และปัจจุบัน สป.สธ.มีตำแหน่งว่าง รวมทั้งสิ้น 10,830 อัตรา (ข้อมูล ณ วันที่ 1 เม.ย. 2561) ดังนั้น จึงควรมีการวางแผนการกำหนดตำแหน่งว่างดังกล่าวนำมากำหนดเป็นตำแหน่งเภสัชกรตามความจำเป็น

จากเหตุผลข้างต้น คปร.จึงมีมติให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาทบทวนความจำเป็นเหมาะสมของการขอกำหนดอัตราข้าราชการตั้งใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยให้คำนึงถึงความเป็นไปได้ในการใช้อัตราว่างที่มีอยู่ของ สป.สธ.มากำหนดตำแหน่งเภสัชกรตามความจำเป็น รวมทั้งให้พิจารณาการจ้างงานด้วยรูปแบบอื่นเพื่อทดแทนการบรรจุเป็นข้าราชการด้วย

นอกจากนี้ คปร.ยังมีมติเห็นควรแจ้งยืนยันให้กระทรวงสาธารณสุขทราบอีกครั้งหนึ่งว่า คปร.จะจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่เพื่อรองรับการบรรจุนักศึกษาวิชาแพทยศาสตร์และทันตแพทยศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2564 เป็นปีสุดท้าย และขอให้กระทรวงสาธารณสุขวิเคราะห์พร้อมจัดทำข้อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาทบทวนเกี่ยวกับการเป็นนักศึกษาคู่สัญญาของนักศึกษาวิชาแพทยศาสตร์และทันตแพทยศาสตร์ด้วย

ที่มา: Hfocus.org, 20/3/2562

เปิดรับสมัครทดสอบภาษาไปทำงานเกาหลีใต้ 26-28 มี.ค. 2562 นี้

กรมจัดหางาน รับสมัครทดสอบภาษา ไปทำงานที่เกาหลีใต้ ใน 3 กิจการ อุตสาหกรรมการผลิต เกษตรกรรม/ปศุสัตว์ และก่อสร้าง เริ่ม 26-28 มี.ค. 2562 ที่กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ

นางเพชรรัตน์ สินอวย อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมฯ เปิดรับสมัครทดสอบภาษาเกาหลีกรณีพิเศษ (Special EPS - TOPIK) ครั้งที่ 24 เพื่อไปทำงานในสาธารณรัฐเกาหลีใน 3 ประเภทกิจการ คือ กิจการอุตสาหกรรมการผลิต กิจการเกษตรกรรม/ปศุสัตว์ และกิจการก่อสร้างสำหรับคนงานที่เคยเดินทางไปทำงานในสาธารณรัฐเกาหลีอย่างถูกต้องตามกฎหมายและมีความประสงค์จะเดินทางกลับเข้าไปทำงานในสาธารณรัฐเกาหลีอีกครั้งตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (EPS) คุณสมบัติผู้สมัคร เพศชายหรือหญิง อายุ 18 - 39 ปีบริบูรณ์ ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา สุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ และไม่เป็นโรคที่ทางการเกาหลีกำหนด อาทิ ไวรัสตับอักเสบบี เอดส์ ซิฟิลิส วัณโรค เบาหวาน ตาบอดสี สายตาสั้น เป็นต้น ไม่มีประวัติกระทำผิดกฎหมายไทยหรือสาธารณรัฐเกาหลี ไม่เคยพำนักอาศัยในสาธารณรัฐเกาหลีด้วยวีซ่า E-9 หรือ E-10 รวมกัน 5 ปี หรือมากกว่า 5 ปี

หลักฐานที่ใช้ในการสมัครได้แก่ สำเนาหนังสือเดินทางเล่มปัจจุบัน ซึ่งยังไม่หมดอายุการใช้งาน (ถ้ามี) จำนวน 3 ฉบับ สำเนาหนังสือเดินทางที่ใช้เดินทางออกจากสาธารณรัฐเกาหลี (ถ้ามี) จำนวน 1 ฉบับ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน จำนวน 2 ฉบับ รูปถ่ายสี ขนาด 3.5 X 4.5 เซนติเมตร ฉากหลังสีขาว และไม่สวมเสื้อสีขาว ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน 3 ใบ ผู้สนใจต้องยื่นใบสมัครด้วยตนเอง ณ กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน อาคารสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 ถ.มิตรไมตรี ดินแดง กรุงเทพฯ เพียงแห่งเดียวเท่านั้น สมัครตั้งแต่วันที่ 26 - 28 มีนาคม 2562

นางเพชรรัตน์กล่าวว่า ผู้สมัครที่มีรายชื่อผ่านการทดสอบภาษาเกาหลี จะมีสิทธิยื่นใบสมัครไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลี และกรมการจัดหางานจะบันทึกข้อมูลส่งให้ทางการเกาหลีตรวจสอบและเสนอรายชื่อให้นายจ้างคัดเลือกแต่ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับการคัดเลือกให้เดินทางไปทำงานทุกคน หากมีนายจ้างคัดเลือก จะได้รับยกเว้นการฝึกอบรมก่อนเดินทาง กรณีถูกยกเลิกสัญญาการจ้างงานซึ่งความผิดเกิดจากนายจ้าง จะนำรายชื่อเสนอให้นายจ้างคัดเลือก หากความคิดเกิดจากคนงาน จะถูกลบรายชื่อออกจากระบบ ติดต่อขอรายละเอียดได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน โทร. 02245-9429, 02245-1186 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 19/3/2562

สภาอุตฯ ชงเลิก “ค่าแรงขั้นต่ำ” ใช้ “ค่าแรงลอยตัว” แทน หลังถูกใช้เป็นเครื่องมือหาเสียง

เวทีดีเบต พรรคการเมือง ที่จัดโดย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประเด็นสำคัญที่สุด คือ จุดยืนเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ หลังหลายพรรคการเมืองใช้เรื่องนี้แข่งขั้นกันทางนโยบาย ล่าสุดสภาอุตสาหกรรมเสนอให้ ยกเลิก “ค่าแรงขั้นต่ำ” และใช้ระบบ “ค่าแรงลอยตัว” แทน ขณะที่หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ประกาศบนเวทีนี้เชื่อว่า ทุกขั้วการเมือง เตรียมดึงร่วมรัฐบาล

18 มี.ค. 2562 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้เชิญแกนนำพรรคการเมืองหลัก ๆ มาร่วมอย่างครบถ้วน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เสนอว่า อยากให้รัฐบาล ยกเลิกการบังคับใช้มาตรการค่าแรงขั้นต่ำ แล้วปรับเป็น อัตราค่าจ้างแบบลอยตัว ตามทักษะของแรงงาน เพราะทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง นโยบายเรื่องปรับค่าแรงขั้นต่ำ จะถูกนำมาใช้หาเสียง ทำให้ภาระตกมาอยู่ที่ผู้ประกอบการ หากพิจารณาแล้ว เรื่องค่าตอบแทนแรงงาน ควรขึ้นอยู่ ดีมานต์ และซัพพลายในภาคแรงงานมากกว่า รัฐบาลมีหน้าที่ช่วยทำเศรษฐกิจให้ดีขึ้น เพราะจะทำให้การจ้างงานมีความมั่นคง

โดยหนึ่งในพรรคที่ถูกจับตาในการตอบคำถามเรื่องนี้เป็นพิเศษ คือ พรรคพลังประชารัฐ วันนี้ส่งนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรคมาร่วมเวที พร้อมระบุว่า นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 425 บาทต่อวัน ที่ประกาศออกไป มีลำดับและที่มาของการดำเนินการไม่ใช่ทำทันที แต่จะทำให้เกิดขึ้นภายใน 3 ปี ผ่านการปรับเปลี่ยนอย่างเป็นระบบ และยืนยันไม่เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างแน่นอน

ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคฯ พบว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ไม่ใช่ทางออกในการช่วยเหลือแรงงาน ทาง พรรคฯ จึงนำ นโยบายประกันรายได้แรงงาน ที่ 120,000 บาทต่อปี ต่อคนมาใช้ ซึ่งแนวทางนี้จะไม่เป็นการผลักภาระไปให้ผู้ประกอบการ แต่จะใช้กลไกรัฐเข้ามาช่วยสนับสนุน

ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เปิดใจช่วงหนึ่งบนเวที ว่า มั่นใจว่า 4 พรรค บนเวทีนี้ จะต้องเชิญ “พรรคภูมิใจไทย” ไปร่วมจัดตั้งรัฐบาล โดย ภูมิใจไทย ก็พร้อมที่จะผลักดันข้อจำกัดต่าง ๆ ในการทำธุรกิจให้ได้รับการแก้ไข หากได้ร่วมรัฐบาล แต่ปัจจัยที่จะทำให้พรรคภูมิใจไทยตัดสินใจว่า จะร่วมงานกับฝ่ายใด คือ ผลจากการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม ที่จะถึงนี้

นอกจากนี้ส่วนประเด็นที่ 5 แกนนำพรรคการเมือง ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคอนาคตใหม่ พรรคชาติพัฒนา และพรรคเศรษฐกิจใหม่ จับมือประกาศแก้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2562 วันนี้มีความเห็นจากนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ระบุว่า ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาที่จะมาบอกว่าจะปรับเปลี่ยน และหากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญจริง ต้องทำประชามติ เพราะตามหลักการรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผ่านความเห็นชอบจากกระบวนการประชามติมาแล้ว

ที่มา: PPTV36, 18/3/2562

'ห่วงใยป้องกันในที่ทำงาน' ยุติเลือกปฏิบัติต่อผู้ป่วยเอดส์

เมื่อเร็วๆ นี้ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมกล่าวเจตนารมณ์ในวันยุติการเลือกปฏิบัติ (Zero Discrimination Day) ตามแนวคิด "สานพลัง ยุติการเลือกปฏิบัติ" พร้อมมอบโล่รางวัลแก่องค์กร "ดูแล ห่วงใย ใส่ใจป้องกันเอดส์ในที่ทำงาน" ปี 2561 จำนวน 14 องค์กร และกล่าวว่า โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ กำหนดให้วันที่ 1 มีนาคมของทุกปี เป็นวันรณรงค์สากลเพื่อยุติการเลือกปฏิบัติ โดยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการลดการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตจากเอชไอวี แต่ยังมีความท้าทายในการดำเนินงานเพื่อยุติการรังเกียจ กีดกันและการเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวเนื่องกับเอชไอวีและเพศภาวะ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้มีเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ รวมทั้งยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าสู่ระบบบริการ โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรหลัก

ในปี 2562 นี้ กรมควบคุมโรคได้ทำการสำรวจทัศนคติความเห็นของประชาชน (DDC poll) จำนวน 3,500 คน จาก 25 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่า ประชาชนยังคิดว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีเป็นคนไม่ดี ไม่ควรทำงานร่วมกับผู้อื่น ยังคิดว่าเอดส์ไม่มีทางรักษา นอกจากนี้ยังพบว่ามีการรังเกียจและกีดกันผู้ติดเชื้อกับการอยู่ร่วมกันในสังคม มากสุดคือที่ทำงาน ร้อยละ 88.3 รองลงมาคือครอบครัว ร้อยละ 57 และโรงเรียน ร้อยละ 56.1 ตามลำดับ

ปัจจุบันประเทศไทย โดยคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ ได้ตั้งเป้าหมายลดการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ลดการเสียชีวิต และลดการเลือกปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องจากเอชไอวีและเพศภาวะ ซึ่งมีการกำหนดมาตรการหลักที่สำคัญ ได้แก่ 1.มาตรการ ในเชิงการปกป้องคุ้มครองสิทธิ โดยจัดตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ดำเนินงานพัฒนาและจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย กฎหมาย ระเบียบ และกลยุทธ์เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลทุกรูปแบบ 2.มาตรการสร้างความ เข้าใจเรื่องการตีตราและการเลือกปฏิบัติในทุกระดับของสังคม พัฒนานวัตกรรม E-learning

เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความเข้าใจเรื่องการตีตราและลดการเลือกปฏิบัติในสถานบริการสุขภาพ บูรณาการไปกับการพัฒนาคุณภาพบริการของโรงพยาบาล ส่งเสริมให้องค์กรต่างๆ ดำเนินงานตามแนวปฏิบัติแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและบริหารจัดการด้านเอดส์ในสถานที่ทำงาน รวมถึงดูแลคนในองค์กรให้ปลอดภัยจากเอดส์ และส่งเสริมให้อยู่ร่วมกันกับผู้มีเชื้อเอชไอวี ซึ่งปัจจุบันมีองค์กรภาครัฐต่างๆ สมัครเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวนทั้งสิ้น 106 องค์กร

ส่วน ดร.พัชรา เบญจรัตนาภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ประเทศไทย กล่าวว่า จากเวทีโลก Global Partnership for action to eliminate all forms of HIV related Stigma and Discrimination ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตระหนักว่าการตีตราและการเลือกปฏิบัติต่อผู้อยู่รวมกับเชื้อ

เอชไอวีต่อประชากรกลุ่มเฉพาะ ประชากรหลัก ยังคงเป็นที่ปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกภาคส่วนของสังคมในประเทศทั่วโลก และเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการเข้าถึงการป้องกันและการรักษา ทำให้ส่งผลต่อการไม่บรรลุเป้าหมายการยุติปัญหาเอดส์ตามที่ผู้แทนจากประเทศต่างๆ แสดงเจตนารมณ์ร่วมกัน สำหรับ Thailand Partnership for Zero Discrimination ขอให้ทุกภาคส่วนมาร่วมมือกันลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง สานพลังมุ่งสู่การลดการเลือกปฏิบัติ เพื่อนำไปสู่การยุติปัญหาเอดส์ ในปี พ.ศ.2573 เริ่มต้นวันนี้ที่ประเทศไทย ที่พื้นที่ที่หน่วยงานของท่าน พวกเราทุกภาคส่วนร่วมสานพลังมุ่งสู่การยุติการเลือกปฏิบัติไปด้วยกัน

ในขณะที่นางสุรัชวดี ไกรสร รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ บริษัท มิลล์ค่อนสตีล จำกัด (มหาชน) ในฐานะองค์กรภาคเอกชน กล่าวว่า ทางบริษัทก็ไม่ได้ใช้สถานะการติดเชื้อเอชไอวีเป็นเงื่อนไขในการรับพนักงานเข้าทำงาน ในใบสมัครงานจะไม่มีช่องให้ระบุว่ามีการติดเชื้อเอชไอวี นอกจากนี้ ทางบริษัทจะมีการดูแลพนักงาน มีการประสานเจ้าหน้าที่จากกรมควบคุมโรคไปเป็นวิทยากรให้ความรู้กับพนักงานเรื่องเอดส์ การป้องกันตัวเองจากเอดส์ มีการรณรงค์ให้ความรู้เรื่องเอดส์และเรื่องสุขภาพสอดแทรกลงไปในกิจกรรมในช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ เช่น วันวาเลนไทน์ วันแรงงาน วันสงกรานต์ วันปีใหม่ วันครอบครัว เป็นต้น รวมทั้งมีการจัดบอร์ดนิทรรศการ การแจ้งข้อมูลข่าวสารสุขภาพผ่านไลน์กรุ๊ปด้วย ถึงแม้จะรู้ว่าพนักงานบางคนติดเชื้อเอชไอวี ก็จะไม่มีการตีตราเลือกปฏิบัติ ยังคงใช้ชีวิตในการทำงานร่วมกันได้เหมือนปกติทั่วไป ทั้งนี้ ทางบริษัทมีแผนงานจะเข้าร่วมโครงการองค์กร "ดูแล ห่วงใย ใส่ใจป้องกันเอดส์ในที่ทำงาน" ในไตรมาสที่ 2 ของปี 62 นี้ เพื่อร่วมขับเคลื่อนสังคมตามแนวคิด "สานพลัง ยุติการเลือกปฏิบัติ" ต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี เพราะโดยส่วนตัวไม่ได้รู้สึกรังเกียจผู้ติดเชื้อเอชไอวี และมองว่าไม่ควรยกเรื่องนี้ให้เป็นภาระของภาครัฐแต่ฝ่ายเดียว ในฐานะที่เราเป็นภาคเอกชนน่าจะสามารถขับเคลื่อนได้ง่ายกว่าและไวกว่า

ที่มา: ไทยโพสต์, 20/3/2562

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net