Skip to main content
sharethis

ปิดหีบไปเรียบร้อยแล้วสำรหรับการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 นอกจาการลุ้นผลคะแนนการเลือกตั้งของผู้สมัครในแต่และเขตว่าใครว่าคะจะได้เป็นผู้ที่ประชาชนโหวตลงคะแนนเสียงให้มากที่สุด และผลคะแนนที่พรรคการเมืองได้รับจากประชาชนทั่วประเทศแล้ว สิ่งหนึ่งที่ยังต้องลุ้นไม่แพ้กันคือ ภายใตการแข่งขันครั้งนี้ ผู้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ คือคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จะเป่านกหวีดการทำฟาวล์ให้กับพรรคการเมืองใดบ้าง

เดิมทีในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆ มาตามรัฐธรรมนูญ 2550 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง 2550 กกต. มีอำนาจให้ ‘ใบเหลือง’ เมื่อมีข้อเท็จจริงตรวจสอบแล้วพบว่า มีการทุจริตการเลือกตั้ง แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าผู้สมัครคนใดเป็นผู้กระทำผิดอย่างชัดเจน โดยจะสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้ ส่วน ‘ใบแดง’ จะให้ได้ต่อเมื่อมีข้อมูลชัดเจนว่า ผู้สมัครคนใดกระทำการทุจริตการเลือกตั้งอย่างชัดเจน โดยจะสั่งให้มีการเลือกตั้ง พร้อมถอนสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครคนดังกล่าว

แต่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 และ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง 2561 ได้กำหนดให้ผู้ที่มีอำนาจในการพิจารณาตรวจสอบความโปร่งใสในการเลือกตั้ง พร้อมทั้งอำนาจในการลงโทษคือ กกต. และศาล

โดยณวัตน์ ศรีปัดถา นักวิชาการผู้ชำนาญการ สถาบันพระปกเกล้า ได้เขียนบทความเรื่อง อำนาจสารพัด “ใบ” ที่ใช้กับการเลือกตั้ง ระบุว่า

 “ใบเหลือง” คืออำนาจในการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยไม่พบชัดเจนว่ามีผู้ใดกระทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม โดยแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ

ช่วงแรก ก่อนหรือในวันเลือกตั้ง หาก กกต. สืบสวนหรือไต่สวนแล้วหรือพบเห็นการกระทำที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้มีอำนาจสั่งระงับ ยับยั้ง แก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกการเลือกตั้ง และสั่งให้ดำเนินการเลือกตั้งใหม่หรือนับคะแนนใหม่ในหน่วยเลือกตั้งบางหน่วยหรือทุกหน่วยเลือกตั้งได้ (พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. 2561 มาตรา 137)

ช่วงที่สอง หลังจากประกาศผลการเลือกตั้งแล้วปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใดมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม แต่ไม่ได้ความชัดว่าเป็นการกระทำของผู้ได้รับเลือกตั้งให้ กกต. ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อพิจารณา สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่สำหรับเขตเลือกตั้งนั้น และให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งจากเขตเลือกตั้งนั้นสิ้นสุดลงนับแต่วันที่ศาลมีคำวินิจฉัย และให้ กกต. ดำเนินการให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว (พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. 2561 มาตรา 133) 

“ใบส้ม” เป็นการให้อำนาจ กกต. ดึงผู้สมัครมีที่ไม่มีคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามออกจากการเลือกตั้งชั่วคราว เพื่อป้องกันไม่ให้เข้ามายุ่งเหยิงกับการเลือกตั้งครั้งนั้น หรือการเลือกตั้งใหม่ที่จะจัดขึ้น โดยแบ่งเป็น 2 ช่วงคือ 

ช่วงแรก ก่อนวันเลือกตั้ง หาก กกต. ตรวจสอบแล้วเห็นว่าผู้สมัครผู้ใดทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาให้ถอนชื่อผู้นั้นออกจากประกาศรายชื่อผู้สมัคร(พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. 2561 มาตรา 52 และมาตรา 61)

ช่วงที่สอง ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ถ้า กกต. สืบสวนหรือไต่สวนแล้วเห็นว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครผู้ใดกระทำการอันเป็นเหตุให้การเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำ สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้บุคคลอื่น

การกระทำดังกล่าว หรือรู้ว่ามีการกระทำดังกล่าวแล้วไม่ดำเนินการเพื่อระงับการกระทำนั้น กกต.มีอำนาจสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครที่กระทำการเช่นนั้นทุกรายไว้เป็นการชั่วคราวเป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปีนับแต่วันที่มีคำสั่ง และในกรณีที่ผู้นั้นได้คะแนนอยู่ในลำดับที่จะได้รับการเลือกตั้ง ให้สั่งยกเลิกการเลือกตั้งและให้มีการเลือกตั้งใหม่ ส่วนกรณีที่ไม่ได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่ง คะแนนที่ได้จะไม่ถูกนำเป็นคิดเป็นคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ (รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 224 (4) และมาตรา 225 ประกอบ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. 2561 มาตรา มาตรา 53 และมาตรา 132)

“ใบแดง” คือ การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งส่งผลให้ไม่สามารถเลือกตั้งได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยการเพิกถอนนี้เป็นอำนาจของศาลฎีกา ซึ่งจะดำเนินการได้ในกรณีหลังจากประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง หรือรู้เห็นกับการกระทำของบุคคลอื่น ให้ กกต. ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น โดยหากในกรณีที่ศาลฎีกาพิพากษาว่าบุคคลกระทำความผิดตามที่ถูกร้อง ศาลฎีกาจะสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นเป็นเวลาสิบปี (รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 226 ประกอบ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. 2561 มาตรา 138)

และหากการที่ต้องสั่งเช่นนั้นทำให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ ศาลจะต้องสั่งให้ผู้นั้นต้องรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งครั้งที่เป็นเหตุให้มีคำนั่งเช่นว่านั้นด้วย(พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. 2561 มาตรา 139)

“ใบดำ”  คือ ผลที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ให้เกิด เมื่อผู้นั้นถูกศาลฏีกาสั่งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง ทำให้ผู้นั้นจะไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นและไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ตลอดไป(รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 235)

ผู้ที่ได้รับ “ใบดำ” ก็ประหนึ่งโดนประหารชีวิตทางการเมืองนั่นเอง เช่นนี้ หากผู้ใดได้รับ “ใบแดง” ผู้นั้น ก็จะได้รับ “ใบดำ” ไปด้วยโดยอัตโนมัติ และการมีผลนี้ มีผลตลอดไป นั่นคือ แม้จะผ่านระยะเวลาเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี แล้ว ผู้นั้นย่อมสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ แต่จะไม่สามารถสมัคร หรือเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้อีกตลอดชีวิต

อย่างไรก็ดี ต้องเข้าใจให้ตรงกันว่า การได้ “ใบดำ” นั้น มิได้เกิดแต่จากการทุจริตการเลือกตั้งแต่เพียงอย่างเดียว เพราะเป็นกรณีที่ศาลฎีกาหรือศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืออาจจะสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งแก่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เหตุอันควรสงสัยหรือมีการกล่าวหาว่า มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายหรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงได้ด้วยเช่นกัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net