Skip to main content
sharethis

ผศ.ดร.พรสันต์ ยก 3 ปมเชิงวิชาการโต้ 'พลังประชารัฐ' เหตุอ้าง 'คะแนนป๊อบปูล่า' ตั้งรัฐบาล หนึ่ง ระบอบประชาธิปไตยระบบผู้แทนถือเอา "ผู้แทนประชาชน" เป็นสำคัญ หาใช่ "ระบอบประชาธิปไตยทางตรง" 2. การอ้างถึงเจตนารมณ์ รธน.ที่ไม่ต้องการให้เทคะแนนทิ้งน้ำนั้นถือเป็นคนละเรื่องเดียวกัน 3. พรรคที่ได้ ส.ส.มากที่สุดอันดับ 1 ทำการจัดตั้งรัฐบาลก่อน ถือเป็น "ธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญ" หรือ "มรรยาททางการเมืองสากล"

ภาพขวา  ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย

25 มี.ค.2562 ภายหลังผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการเริ่มปรากฏ อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ออกมาพูดถึงแนวทางการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคตนเองโดยอ้างถึง คะแนนป๊อบปูล่าที่พรรคตนได้กว่า 7.9 ล้านคะแนน รวมทั้งอ้างด้วยว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งสะท้อนเจตนารมณ์ในเสียงของประชาชนที่ให้กับพรรคทั้งหมด นั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก 'Pornson Liengboonlertchai' ถึงข้ออ้างเรื่องคะแนนป๊อบปูล่า ว่า ตนขอให้ความเห็นในเชิงวิชาการ 3 ข้อ เกี่ยวกับการอ้างคะแนน Popular Vote ของพรรคพลังประชารัฐเพื่อการจัดตั้งรัฐบาลว่าไม่สอดคล้องกับหลักวิชาดังนี้

1. "ระบอบประชาธิปไตยระบบผู้แทน" หรือ "Representative democracy" ซึ่งรัฐธรรมนูญไทยได้มีการรับรองไว้ เป็นระบอบที่ถือเอา "ผู้แทนประชาชน" (Representative) เป็นสำคัญ หาใช่ "ระบอบประชาธิปไตยทางตรง" หรือ "Direct democracy" ที่ถือเอาการแสดงออกของตัวประชาชนโดยตรงเป็นสำคัญ การกล่าวอ้างถึงความชอบธรรมว่ามีคะแนนเสียงของประชาชนที่เลือกพรรคพลังประชารัฐมาโดยตรงมากกว่าพรรคอื่นจึงเป็นการอ้างถึงระบอบการปกครองที่ผิดฝาผิดตัว อีกทั้งยังสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นมากมายหากพรรคอื่นๆ จะมีการกล่าวอ้างเช่นเดียวกัน เช่น พรรค ก. ได้คะแนน Popular vote ในกรุงเทพฯ หรือภาคเหนือ ฯลฯ มากที่สุดย่อมมีความชอบธรรมในการดูแลกรุงเทพฯ หรือภาคเหนือ ฯลฯ มากกว่าพรรคอื่น ทั้งหมดจะนำไปสู่ความขัดแย้งแตกแยก ที่สะท้อนถึงความไม่สอดคล้องกับระบอบการปกครองที่ถูกต้อง ดังนั้น ในระบอบประชาธิปไตยในระบบผู้แทนจึงต้องยึดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นหลัก 

2. การกล่าวอ้างถึงเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญเชื่อมโยงกับระบบเลือกตั้ง (Voting system) ที่ไม่ต้องการให้มีการเทคะแนนเสียงทิ้งน้ำนั้นถือเป็นคนละเรื่องเดียวกัน ในทางกลับกัน การที่พรรคพลังประชารัฐใช้เหตุผลของการนำเอาทุกคะแนนเสียงที่เลือกพรรคตนเพื่อสร้างความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลโดยหาได้ให้ความสำคัญกับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นกลับชี้ให้เห็นถึง "ข้อบกพร่องของระบบการจัดสรรปันส่วนผสมเอง" ที่ก่อให้เกิดสภาวะเช่นนี้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง การที่ผลคะแนน Popular vote ไม่สอดคล้องกับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเป็นเรื่องของระบบเลือกตั้งที่มีการออกแบบและบังคับใช้ที่ไม่ได้ตามเป้าประสงค์ของผู้ออกแบบระบบเลือกตั้ง 

3. การให้พรรคที่ได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งมากที่สุดอันดับ 1 ทำการจัดตั้งรัฐบาลก่อน ตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญแล้ว แม้จะมิได้มีการบัญญัติไว้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ถือเป็น "ธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญ" หรือ "Constitutional convention" ซึ่งอาจเรียกเป็นภาษาพูดว่า "มรรยาททางการเมืองสากล" ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษรแบบประเทศสหรัฐอเมริกาก็ดี ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย หรือประเทศที่ไม่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรแบบประเทศอังกฤษก็ดี ก็ปฏิบัติกันมาเช่นนี้ ดังนั้น การที่จะฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามธรรมเนียมทางการเมืองข้างต้นจึงเป็นการสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองที่ไม่เหมาะสมยิ่ง

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ระบุตอนท้ายด้วยว่า พรรคการเมืองต่างๆ พึงต้องเข้าใจต่อหลักการที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและการเมืองข้างต้นนี้ด้วยเช่นเดียวกัน 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net