Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“แพ้ยุทธศาสตร์” เป็นคำที่ใช้อธิบายการบริการจัดการที่ดีไม่พอให้บรรลุเป้าหมาย  ในการเลือกตั้งปี พ.ศ.2562 ประเทศไทยผลิตซ้ำคำหนึ่งขึ้นมาใช้และปรากฏแพร่หลายในแผ่นป้ายหาเสียง ตลอดจนการรายงานข่าวของสื่อมวลชน นั่นคือ “ประธานยุทธศาสตร์” ทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ ต่อมาเมื่อสถานการณ์งวดเข้า หรือ ใกล้วันเลือกตั้ง ได้เกิดคำอธิบายชุดหนึ่งขึ้นมานั่นคือ เลือกอย่างมียุทธศาสตร์ ปัญหาคือ “ยุทธศาสตร์” ในตัวมันเองไม่ได้แปลว่า ต้องเลือกอย่างมีหลักการเท่านั้น เพราะทันทีที่มี “ยุทธศาสตร์” กระบวนการวัดผลในระดับต่างๆ จะถูกประเมินได้อย่างคณิตศาสตร์

ดังนั้น “แพ้ยุทธศาสตร์” ในการเลือกตั้งนี้ กล่าวให้ชัดหมายถึง ผลที่วัดอย่างคณิตศาสตร์ไม่เป็นไปตามคาดการณ์ไว้ เช่น ผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการของพรรคประชาธิปัตย์ส่งผลให้แม้ยังไม่เป็นทางการแต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะก็แถลงลาออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้ ความถดถอยของพรรคประชาธิปัตย์เป็นที่เข้าใจได้แต่เพิ่งมาสุกงอมจนถึงที่สุดเท่านั้นเอง กลับกันโดยวิเคราะห์จากผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการของพรรคใหญ่และพรรคเล็กมีข้อน่าสังเกตดังนี้

พรรคเพื่อไทย ยังคงรักษาฐานเสียงส่วนใหญ่ไว้ได้ในเขตที่ลง แต่หากพิจารณาช่วงของคะแนนต้องพบว่า เพื่อไทยไม่ได้มีลักษณะที่ชนะขาดลอยเหมือนอย่างที่เคยเป็นมา แปลว่า เสียงส่วนหนึ่งถูกผ่องถ่ายไปยังอำนาจใหม่ที่แทรกซึมเข้ามาแย่งคะแนนเสียงไป อำนาจดังกล่าวนั้นควรกล่าวถึง “พรรคพลังประชารัฐ” ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากในท้องถิ่น เฉพาะอย่างยิ่ง ท้องถิ่นซึ่งนักการเมืองแปรเปลี่ยนไปสังกัดพลังประชารัฐ ประกอบกับยุทธวิธีที่เรียกว่า “แตกแบงค์พัน” ทำให้เกิดช่องว่างและการดำเนินกลยุทธ์เชิงรุกที่สุ่มเสี่ยงจนเป็นเหตุให้คะแนนเสียงหล่นหายไป จึงไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

พรรคพลังประชารัฐ เป็นอำนาจใหม่ หมายถึง ก่อตัวขึ้นมาไม่นาน แต่กลับได้รับการสนับสนุนอย่างดีถึงดีมาก
จากกลุ่มการเมืองที่ “ย้ายค่าย” มาทำงานให้พลังประชารัฐ ข้อนี้สะท้อนว่า เราสามารถวิเคราะห์การเมืองไทยโดยอาศัยทฤษฎีกลุ่มผลประโยชน์ (interest group) ได้โดยไม่ซับซ้อนอะไร แต่คะแนนเสียงจากพลังประชารัฐ อาจมีผู้โต้แย้งว่า
ไม่บริสุทธ์ด้วยประการต่างๆ ก็พึงระวังจะเป็นการดูถูกเสียงที่เลือกโดยสมัครใจ เพราะคะแนนมากเกินกว่าที่จะตีขลุมได้
ที่สำคัญ พลังประชารัฐเองก็สะท้อนให้เห็นท่าทีทางจิตวิทยาก่อนหน้านั้นด้วยว่า “กลัวผลการเลือก” อันเป็นผลให้กลไกภายในพลังประชารัฐสร้างยุทธศาสตร์ที่จะทำทุกวิธีการเพื่อปลอบประโลมความกลัว สร้างความมั่นใจให้แก่ตน แง่นี้ทำได้สำเร็จ

พรรคอนาคตใหม่ เป็นอำนาจใหม่เช่นเดียวกับพลังประชารัฐ ได้รับการตอบรับจากประชาชนในระดับดีถึงดีมาก จนถึงขั้นเกินความคาดหมายในหลายเขต ข้อนี้เป็นความแหลมคมของอนาคตใหม่ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า แนวคิดบางอย่างได้รับการตอบรับจากประชาชนในพื้นที่ ที่สำคัญพรรคนี้ยังได้แรงสนับสนุนจากประชาชนในกระแสสังคม Social Network  
ดูเหมือนจะสื่อสารทางการเมืองได้สำเร็จแล้วก็จริง แต่พรรคนี้มีปัญหาในเรื่องการสื่อสาร ทั้งความไม่ชัดเจนของตัวพรรค
ความไม่เป็นเอกภาพที่ชวนให้เกิดความสับสนว่า พรรคนี้ประนีประนอม (compromise) หรือสุดขั้ว (radical) สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความรู้สึกจริงในจิตใจของผู้เลือกที่ต้องการสิ่งใหม่แต่ก็กลัวความเปลี่ยนแปลงที่จินตนาการไม่ออก ไม่รู้มิตรหรือศัตรู

พรรคประชาธิปัตย์ เป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลร้ายจากท่าทีไม่ซื่อสัตย์ทางการเมืองซึ่งสะสมพฤติกรรมมาเป็นระยะเวลานาน ข้อนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนส่วนหนึ่งผูกประชาธิปัตย์เข้ากับความขัดแย้ง (ที่ประชาธิปัตย์ Dramatization ขึ้น) ดังนั้น ความนักพูดหรือวาทศิลป์อันเลื่องลือนั้นไม่เป็นประโยชน์มากนักอีกต่อไป คะแนนเสียงของประชาชนเป็นเอกฉันท์ให้ประชาธิปัตย์ในพื้นที่แคบๆ ซึ่ง ส.ส. เขตดังกล่าวนั้นดูแลประชาชนในเขตของตนอย่างทั่วถึงเท่านั้น ประชาธิปัตย์จึงต้องเรียนรู้ในอันที่จะถือคติ “พูดน้อย ทำให้มาก” เพื่อพิสูจน์ความตั้งใจของตนเองในอนาคต

พรรคภูมิใจไทย เป็นตัวแปรทางการเมืองที่ถูกจับตามองมานานและยังคงหยัดยืนอยู่ พรรคภูมิใจไทยมียุทธศาสตร์ทางการเมืองที่คาดหวังผลได้และดำเนินการอย่างตระหนักดีถึงภาพลักษณ์ในลักษณะเข้ากับใครก็ได้ เห็นได้จากการสงวนท่าทีแทบจะทันทีที่คะแนนเสียงพรรคภูมิใจไทยมีน้ำหนัก (ไม่ว่าก่อนหน้านี้จะดูโน้มเอียงฝักฝ่ายใดก็ตาม) ดังนั้น พรรคภูมิใจไทยย่อมมีแต้มต่อแน่นอนในการต่อรองทางการเมืองมากที่สุดในฐานะตัวแปรที่จะช่วยค้ำจุนความมีเสถียรภาพของพรรครัฐบาลได้ (มีเสถียรภาพอยู่จริงไหมอีกเรื่อง)

พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นอีกพรรคที่เป็นตัวแปรทางการเมืองเช่นเดียวกัน หากแต่พลังในการขับเคลื่อนด้อยลงไป จากการสูญเสียบุคคลในตระกูลศิลปอาชา (2556,2559) กระนั้น ก็ยังคงรักษาฐานเสียงเดิมไว้อยู่ ทั้งนี้ บทบาทพรรคชาติไทยพัฒนาที่ผ่านมาในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลเป็นไปค่อนข้างจำกัด อาจเพราะภาพลักษณ์จากท้องที่ซึ่งเป็นฐานคะแนนเสียงของพรรคก็เป็นได้ทำให้การต่อรองทางการเมืองนั้นออกจะด้อยกว่าพรรคภูมิใจไทยที่มีภาพลักษณ์พรั่งพร้อมกว่า

พรรคเสรีรวมไทย เป็นพรรคเกิดใหม่ซึ่งมีภาพและเน้นภาพของตัวบุคคลชัดเจน คือ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธิ์ เตมียเวส ที่น่าสังเกตคือพัฒนาการในโลกการเมืองของหัวหน้าพรรค ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เริ่มเป็นที่รู้จักมากกว่าแต่ก่อน เมื่อเทียบกับสมัยที่ลงเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ในปี พ.ศ. 2556 ดังนั้น ควรถือว่าพรรคนี้ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งก็ว่าได้ ในการปักหมุดตัวบุคคลให้มีอำนาจต่อรองทางการเมืองกับพรรคอื่น ในฐานะผู้เล่นตัวสำคัญในเกมการเมือง

พรรคเศรษฐกิจใหม่ เป็นพรรคเกิดใหม่เฉพาะกิจซึ่งมีภาพและเน้นภาพของตัวบุคคลชัดเจน คือ มิ่งขวัญ แสงสุวรรณที่น่าสังเกตคือยุทธศาสตร์ของพรรค อาจกล่าวได้ว่า พรรคน่าจะทราบดีอยู่แล้วถึงคะแนนเสียงที่ได้รับอาจน้อยถึงน้อยมาก
แต่ด้วยความสามารถด้านการตลาดของมิ่งขวัญ เป็นไปได้หรือไม่ว่า มิ่งขวัญจะใช้โอกาสที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เปิดช่องไว้ให้พรรคเล็กเข้าไปมีส่วนร่วมในรัฐสภาโดยไม่ต้องพึ่งพาใครและในนามอิสระ เช่น ในตอนนี้ผู้คนจดจำภาพมิ่งขวัญคู่กับเศรษฐกิจสำเร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงควรถือว่านี่เป็นความสำเร็จ

พรรครวมพลังประชาชาติไทย เป็นพรรคเกิดใหม่เฉพาะกิจซึ่งมีภาพและเน้นภาพของตัวบุคคลชัดเจน คือ สุเทพ เทือกสุบรรณ และน่าสังเกตว่าพฤติกรรมของสุเทพไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนส่วนใหญ่(อย่างน้อยก็ของเขาเอง) ความล้มเหลวนี้เป็นไปในทำนองเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์จากความไม่ซื่อสัตย์ทางการเมือง แม้สุเทพจะสนับสนุนรัฐประหารอย่างออกหน้าออกตา แต่พลังประชารัฐกลับมีภาพลักษณ์ที่ดีกว่าในฐานะผู้รับมอบอำนาจมาโดยตรง ข้อนี้คงสรุปได้ว่า พรรค รปช. ล้มเหลวมากกว่าทุกพรรคในเชิงยุทธศาสตร์ถึงจะมีคะแนนอยู่บ้างก็ตามที

พรรคเล็กอื่นๆ ที่น่าสังเกต มีบางคะแนนเสียงที่น่าสังเกต ยกตัวอย่างเช่น พรรคกรีน แม้คะแนนเสียงรวมจะน้อยมากแต่กลับมากในบางเขตของจังหวัดเพชรบุรี, พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทยที่ได้รับคะแนนมากพอสมควรในการเลือกตั้งครั้งนี้  ทั้งนี้ ยังไม่นับพรรคเล็กที่เคลื่อนไหวในระดับเขตอยู่เดิม เช่น พรรคพลังท้องถิ่นไท ก็ถือว่าประสบความสำเร็จมากทีเดียวในการแบ่งที่นั่ง ส.ส. ที่อาจจะเกิดจากการคำนวณตามรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามในการวิเคราะห์พรรคเล็กอาจแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ

พรรคที่เคยมีชื่อเสียงเดิม เช่น พรรคประชากรไทย, พรรคความหวังใหม่ ยังคงไม่ได้รับการฟื้นฟูให้กลับมาใหม่

พรรคที่มีเป้าประสงค์ชัด เช่น พรรคสามัญชน, พรรคกรีน,พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย,พรรคประชาชนปฏิรูป,พรรคแผ่นดินธรรม,พรรคไทยศรีวิไลย์ จะสังเกตได้ว่า คะแนนเสียงของประชาชนมีแนวโน้มตอบรับ “ประเด็นสิ่งแวดล้อม” มากที่สุด ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับความตื่นตัวทางการเมืองเรื่องสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ “ประเด็นพุทธศาสนา” เช่น พรรคแผ่นดินธรรม ซึ่งผู้ขับเคลื่อนเป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงพุทธศาสนาก็ยังสร้างความรับรู้แก่สังคมได้ไม่เพียงพอจนน่าเลือก สุดท้าย พรรคที่สร้างการรับรู้แก่สังคมในทางลบ เช่น พรรคประชาชนปฏิรูป, พรรคไทยศรีวิไลย์ คงต้องปรับปรุงยุทธศาสตร์เสียใหม่เพื่อให้มีโอกาสสร้างการรับรู้ทางบวกแก่สังคม มิเช่นนั้น อาจต้องเลือนหายไปเพราะเล่นการเมืองไม่สร้างสรรค์ 

พรรคเล็กอื่นๆ เช่น พรรคประชาภิวัฒน์, พรรคประชานิยม, พรรคประชาธรรมไทย, พรรคพลเมืองไทย ซึ่งมีอดีตนักการเมืองหรือผู้ที่เคยร่วมงานทางการเมืองขับเคลื่อนก็สะท้อนให้เห็นว่า ต้องพยายามมากขึ้นอีกในการสร้างความชัดเจนให้แก่พรรคของตนเองเพื่อสร้างการรับรู้แก่สังคม และต้องเป็นการรับรู้ทางบวกด้วย เช่น พรรคพลเมืองไทย ที่กลายเป็นสร้างความรับรู้ทางลบในประเด็นอ่อนไหว เช่น Sex education เป็นต้น

จากข้อมูลข้างต้น จะพบว่า พรรคที่ได้คะแนนเสียงมากไม่จำเป็นต้องชนะทางยุทธศาสตร์เสมอไป พรรคเล็กที่รู้จักบริหารจัดการอย่างดีหรือมีเป้าประสงค์ที่ชัดเจน ก็อาจบรรลุผลทางยุทธศาสตร์ของตนได้ เช่น พรรคเศรษฐกิจใหม่, พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย ซึ่งจุดนี้อาจเป็นข้อดีในท่ามกลางข้อเสียของ รธน.60 กลับกันพรรคที่ได้รับคะแนนมากโดยบังเอิญทั้งที่ยุทธศาสตร์ยังมีปัญหาก็ไม่ควรที่จะหลงเฉลิมฉลองความสำเร็จที่ยืนอยู่บนพื้นฐานของความคลุมเครือในท่าที เช่น ตกลงพรรคอนาคตใหม่จะร่วมงานกับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ หรือ พรรคอนาคตใหม่จะยอมลดเงื่อนไขของตนได้หรือไม่ อย่างไร แต่โดยสรุปผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการสามารถให้ข้อสรุปกว้างๆ ดังนี้

  1. การเมืองไทยยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ข้อนี้ เป็นข้อตระหนักสำคัญมากสำหรับผู้ที่คิดจะเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคนทั้งฝ่ายก้าวหน้าและฝ่ายอื่นด้วย สัดส่วนของคะแนนยังสะท้อนให้เห็นถึงการที่ประชาชนให้ความสำคัญกับ “ปากท้อง” และ “ความหวังว่าจะได้รับประโยชน์จากนโยบายทางเศรษฐกิจการคลัง” ทั้งนี้ น่าสนใจด้วยว่า ประชาชนอาจไม่เลือกวิธีได้มาซึ่งการได้รับประโยชน์นั้น
     
  2. เสียงที่ให้กับพรรคอนาคตใหม่เป็น “จุดเริ่มต้น” ของความเปลี่ยนแปลงสำคัญ ทั้งนี้ พรรคต้องมีความชัดเจนในตัวเองต้องมีการสื่อสารมากพอและกล้าเข้าไปแตะหรือผลิตซ้ำคำตอบในสิ่งที่สังคมยังค้างคาใจ พรรคต้องเลือกให้ชัดว่า อุดมการณ์ของพรรคจะเป็นแนวใดและแนวดังกล่าวนั้นแตกต่างกับพรรคอื่นอย่างไร เพราะ เสียงที่ให้แก่อนาคตใหม่นั้นอาจคาดหวังความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น เพียงแต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นมีอะไรบ้างที่จะสำเร็จ?
     
  3. วิธีการผลักให้เป็นอื่นทางวาทศิลป์จาก 2-3 ขั้วความคิด เช่น ขั้วเพื่อไทย ขั้วอนาคตใหม่ ขั้วพลังประชารัฐ อาจสรุปได้ว่าไม่ประสบความสำเร็จ ที่ชัดเจนคือขั้วพลังประชารัฐผลัก “พรรคอื่น” ให้กลายเป็นอื่นไม่สำเร็จนัก และวิธีการนี้ขั้วประชาธิปัตย์รวมถึงพรรครวมพลังประชาชาติไทยที่ขับเคลื่อนด้วยสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้แสดงให้เห็นจากผลงานในอดีตแล้วว่า การผลักให้เป็นอื่นทางวาทศิลป์ท้ายที่สุดทำให้ประชาชนเกิดความกลัว และเมื่อประชาชนกลัว (เช่น หวาดหวั่นว่าจะเกิดอะไรกับการทำมาค้าขายอีกหรือไม่) ประชาชนจะหันไปเลือกสิ่งที่เป็นขั้วเดียวกับอำนาจเพื่อรักษาสถานการณ์ไม่ให้แย่กว่าที่เป็นอยู่ เพราะความหวังว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นเป็นเรื่องชวนเชื่อของทุกพรรคอยู่แล้ว แต่ไม่มีอะไรหรือใครจะรับประกันได้ว่าจะเกิดขึ้นจริง ข้อนี้เป็นบทเรียนแก่ทุกพรรค
     
  4. ควรระมัดระวังในการนำอัตวิสัย (ความเห็นส่วนตัว, ประสบการณ์คนรอบข้าง, ตัวอย่างจากคนไม่มากนัก) มาใช้เพื่อใช้ตัดสินข้อมูลปรวิสัย (ข้อมูลทางสถิติ, จำนวนที่มากกว่า 50,000 ขึ้นไป) เนื่องด้วย การตัดสินแบบปรวิสัยควรเน้นที่การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลให้ชัด (ตามระเบียบวิธีของมันเอง) เป็นเรื่องรูปธรรมสามารถระบุว่าทำได้หรือไม่ การใส่ใจตรวจสอบโดยตรงที่เน้นให้ชัด ปราศจากอคติ เป็นเรื่องของปรวิสัย ส่วนอัตวิสัยมีอคติได้เป็นปกติ มีประโยชน์ในแง่ของการวิเคราะห์แนวโน้มที่เป็นไปได้ เป็นเพียงการสร้างคำอธิบายขึ้นมาชุดหนึ่งที่มีได้หลากหลายและสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา และไม่ควรดูเบาพลังของการอ้างอย่างอัตวิสัยที่ไม่ตรงกับข้อมูลปรวิสัย เช่น กรณีจำนวนที่แท้จริงของผู้ชุมนุมต่อหนึ่งหน่วยพื้นที่
     
  5. สังคมไทยยัง “มี” และประชาชนที่ลงคะแนนเสียงก็ยังรู้สึกว่า “มี” อำนาจบางอย่างที่อยู่เหนือการเลือกตั้ง
    เช่น การต่อรองกันระหว่างกลุ่มผลประโยชน์, การใช้อำนาจเข้าแทรกแซงคะแนนเสียง และไม่ว่าจะคิดไปเอง เป็นมายาคติ หรือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แต่ที่แน่ๆ ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะประมาท เพราะไม่มีการควบคุมใดที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ และไม่ได้เป็นไปโดยไม่ได้วางแผน จึงอาจกล่าวได้ว่า การเคลื่อนขยับในระดับรัฐผ่านการเลือกตั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งจริงๆ หรือเป็นเพียงพิธีกรรมสถาปนาความชอบธรรมก็ตาม เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่แท้จริงของการต่อสู้อย่างยาวนานในทางการเมือง อันเป็นผลสุกงอมจากความขัดแย้งที่ปริแตกและเรื้อรังมานาน และยิ่งยาวไกลกว่านั้นอีกในเรื่องของการพัฒนาอุดมการณ์ทางการเมือง
     
  6. “ความเป็นไทย” เป็นโจทย์ที่ท้าทายมากสำหรับกลุ่มการเมืองที่มีภาพลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ (ไม่ใช่พรรคอนาคตใหม่เพียงพรรคเดียว) กล่าวคือ จะต้องดำเนินยุทธศาสตร์อย่างไรที่จะทำให้คนเหล่านั้น เช่น อนุรักษนิยม หรือ ฟาสซิสต์ รู้สึกถูก “นับรวม” มากกว่าต่างฝ่ายต่าง “ไม่นับรวม” กันและกัน (แม้ว่า อีกฝ่ายจะไม่นับรวมสิ้นเชิง) ทั้งนี้ ไม่ใช่ การผสมกลมกลืนหรือประนีประนอมต่ออยุติธรรม แต่เป็นการให้คำตอบอย่างสาธารณะกับพลังเงียบว่า คนรุ่นใหม่สัญญาที่จะนับรวมทุกคนไว้ในอนาคตของตน มิได้กีดกันหรือโห่ไล่ด้วยความคะนึกคะนองซึ่งนั่นเป็นความหวาดกลัวหนึ่งในใจของผู้ที่ไม่กล้าจะเลือกอะไรใหม่ (เป็นบริบทที่เสียมาจากการศึกษาไทยนั่นเอง)
     
  7. สังคม Social Media รวมถึง สื่อมวลชนที่พัฒนาตนเข้าสู่โลกออนไลน์อาจมีพลังมากก็จริง แต่นั่นไม่ใช่ภาพแทนของเสียงแห่งประชากรทั้งหมด การพัฒนาความรู้เท่าทันสื่อ (media literacy) ยังคงไหลเวียนในสังคมน้อยไป ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่เป็นผู้มีสิทธิ์ในการลงคะแนนเสียงเช่นเดียวกันและมีอินเตอร์เน็ตใช้ มิได้ใช้ประโยชน์จากอินเตอร์เน็ตในแง่ของการแสวงหาข้อมูลเพิ่มเติมอย่างรู้เท่าทันมากขนาดนั้น เช่น ต่อให้ประชากรส่วนใหญ่ที่เกาะกระแสใน Social Media รู้สึกได้ว่าทุกคนต่างเลือกพรรคเดียวกันก็จริง แต่นั่นเป็นเพียงประสบการณ์อย่างอัตวิสัยที่เกิดขึ้นในกลุ่มที่จำกัดเท่านั้น ยังมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตอีกมากมายที่ไม่เคลื่อนไหวและเลือกต่างออกไป
    ข้อนี้ ยังสะท้อนอีกว่าการผลิตซ้ำวาทะ (speechs) ที่อาจกลายเป็นวาทกรรม (discourses) ทำให้เกิดผลทางลบต่อการตัดสินใจเลือก เพราะผู้ที่เงียบอยู่มิได้เคลื่อนไหวยังเป็นผู้ที่ตกอยู่ภายใต้วัฒนธรรมแห่งความกลัวซึ่งเป็นเรื่องปฏิเสธไม่ได้และไม่ใช่เรื่องที่จะขจัดกันโดยง่าย อาศัยเพียงสุนทรพจน์ 1-2 ครั้ง

สรุป พรรคการเมืองทุกพรรคเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมืองต้องอาศัยจังหวะนี้ สำรวจความพร้อมในการเล่นไตรกีฬาประชาธิปไตย ด้วยว่า หนทางนี้ยังอีกยาวไกล เป็นไปได้มากที่จะซ้ำรอย ไม่ว่าจะซ้ำแบบ 1 (รัฐประหาร) ซ้ำแบบ 2 (รัฐบาลเผด็จการทหาร) ซ้ำแบบ 3 (รัฐบาลอำนาจนิยม) ด้วยข้อตระหนักนี้ประชาชนเองด้วยจึงต้องทำความเข้าใจพื้นของความรู้สึกที่ไหลเวียนอยู่ในสังคมไทยนี้ นั่นคือ “ความกลัว” เพราะฉะนั้น สำคัญตรง จงผลิตความกล้าให้หลากหลายมากที่สุด ทั้งปลดปล่อยหรือให้โอกาสความกล้าได้แสดงตัวและมีที่ยืนในหลายรูปแบบ ที่สำคัญระมัดระวังอย่าให้ความกล้านั้นเป็นความสุดโต่งหรือกลอนพาไป เพราะลงท้ายแล้วจะจบลงด้วยการสูญเสียชีวิต อนึ่ง การแข่งขันไตรกีฬานั้น ท่านแนะนำให้แบ่งแรงให้ดี ไม่หักโหมโถมแรงในคราวเดียว จึงประสบความสำเร็จได้

เพราะคนที่สร้างเกมไตรกีฬานี้อาจสร้างเกมขึ้นอย่างแยบยลและใช้เวลาหลายปี อันการจะเปลี่ยนแปลงเกมที่ยืดเยื้อนี้จำต้องเหลือผู้เล่นไว้ท้าทายความยากของเกมหลายๆ คน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net