Skip to main content
sharethis

เมื่อหลังเลือกตั้ง 24 มี.ค. 62 ภาคเหนือตอนบนไม่ใช่พื้นที่ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะชนะเบ็ดเสร็จเสมอไป เมื่อพรรคอนาคตใหม่กลายเป็นคู่แข่งของพรรคเพื่อไทยหลายเขต โดยในที่นี้จะกล่าวถึงการปักธงพรรคอนาคตใหม่ที่ จ.เชียงราย 2 เขต และผลสะเทือนหลังยุบพรรคไทยรักษาชาติ ที่แกนนำ ทษช.แพร่ ไม่อาจฝืนกระแสมหาชนที่ต้องการลงคะแนนให้พรรคการเมืองที่หนุนประชาธิปไตย จนพรรคอนาคตใหม่ชนะที่แพร่ยกจังหวัด

ว่าที่ ส.ส.ระบบเขต จากพรรคอนาคตใหม่ ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน (จากซ้ายไปขวา) พีรเดช คำสมุทร เขต 6 เชียงราย, นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ เขต 1 เชียงราย, กฤติดนัย สันแก้ว เขต 2 แพร่ และเอกการ ซื่อทรงธรรม เขต 1 แพร่

 

ผลการเลือกตั้ง 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ซึ่งเคยเป็นพื้นที่สำคัญของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย แต่พอมาถึงการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 สถานการณ์เช่นนั้นได้เปลี่ยนไปแล้ว โดยผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน 33 เขต (แม่ฮ่องสอน, เชียงราย, เชียงใหม่, ลำพูน, ลำปาง, พะเยา, แพร่, น่าน และอุตรดิตถ์)  พรรคเพื่อไทยได้ 26 ที่นั่ง พรรคอนาคตใหม่ 4 ที่นั่ง และพรรคพลังประชารัฐ 3 ที่นั่ง

โดยเขตที่พรรคอนาคตใหม่ ที่ชนะได้แก่ เอกภพ เพียรพิเศษ เขต 1 เชียงราย, พีรเดช คำสมุทร เขต 6 เชียงราย, เอกการ ซื่อทรงธรรม เขต 1 แพร่ และ กฤติดนัย สันแก้ว เขต 2 แพร่

ส่วนเขตที่พรรคพลังประชารัฐชนะได้แก่ ธรรมนัส พรหมเผ่า เขต 1 พะเยา, จีรเดช ศรีวิราช เขต 3 พะเยา และ ปัญญา จีนาคำ เขต 1 แม่ฮ่องสอน

นับว่าในการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 มีพรรคการเมืองอื่นที่ไม่ใช่พรรคเพื่อไทยสอดแทรกขึ้นมาได้ 7 ที่นั่ง เปรียบเทียบกับผลการเลือกตั้งปี 2554 ที่มีเขตเลือกตั้ง 36 เขต พรรคเพื่อไทยได้ 35 ที่นั่ง และพรรคประชาธิปัตย์ได้ 1 ที่นั่ง

นอกจากนี้ยังเกิดปรากฏการณ์น่าจับตาในภาคเหนือ เมื่อในกระดานคะแนนของหลายเขตเลือกตั้ง ผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคอนาคตใหม่ กลายเป็นผู้สมัครที่ได้คะแนนเป็นลำดับ 2 ถัดจาก ผู้สมัคร ส.ส. พรรคเพื่อไทย รวม 14 เขต ในจำนวนนี้มี 2 เขตที่มีคะแนนรดต้นคอ เช่น เชียงใหม่ เขต 1 ระหว่าง ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ พรรคเพื่อไทย กับ ศุภรี ฉัตรกันยารัตน์ พรรคอนาคตใหม่, เชียงใหม่ เขต 4 ระหว่าง วิทยา ทรงคำ พรรคเพื่อไทย กับ ชลิต ชนินทร์อารักษ์ พรรคอนาคตใหม่ และ ลำปาง เขต 1 ระหว่าง กิตติกร โล่ห์สุนทร พรรคเพื่อไทย กับ ฑิพาฎีพ์ ปวีณาเสถียร พรรคอนาคตใหม่

ปักธงอนาคตใหม่ที่เชียงราย

ป้ายหาเสียงของ นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ (ที่มา: เอื้อเฟื้อภาพโดย ณัฐกร วิทิตานนท์)

ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ นักวิชาการสำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวถึงผลการเลือกตั้งที่พรรคเพื่อไทยได้จำนวนที่นั่งลดลงในภาคเหนือว่า เมื่อเปรียบเทียบแนวโน้ม ระหว่างการเลือกตั้งครั้งหลังในปี 2554 กับการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งห่างกันถึง 8 ปี และด้วยกติกาการเลือกตั้งรูปแบบใหม่ อาจทำให้ข้อมูลที่ใช้วิเคราะห์คาดการณ์ผิดไปเยอะ ความจงรักภักดีต่อพรรคการเมืองไม่ได้เข้มแข็งเหมือน 8 ปีก่อน

ในกรณีของ จ.เชียงราย ซึ่งมี ส.ส. 7 ที่นั่ง พรรคเพื่อไทยไม่อาจชนะยกจังหวัด โดยเสียที่นั่ง 2 เขต ให้พรรคอนาคตใหม่ ได้แก่  เชียงราย เขต 1 นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ พรรคอนาคตใหม่ 30,720 คะแนน เฉือนชนะสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.หลายสมัยซึ่งได้ 28,891 คะแนน และเชียงราย เขต 6 พีรเดช คำสมุทร พรรคอนาคตใหม่ ที่ได้  23,144 คะแนน เฉือนชนะ อิทธิเดช แก้วหลวง พรรคเพื่อไทย ที่ได้ 22,958 คะแนน โดยที่ จ.เชียงราย เกือบทุกเขตพรรคอนาคตใหม่กลายเป็นคู่ท้าชิงกับพรรคเพื่อไทย สอดแทรกมาด้วยพรรคพลังประชารัฐ

ณัฐกรเสนอว่า ผลการเลือกตั้งที่ จ.เชียงราย สะท้อนการลงคะแนนอย่างมียุทธศาสตร์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง คะแนนที่พรรคเพื่อไทยเคยได้จนชนะยกจังหวัด ถูกแบ่งคะแนนโดยพรรคปีกประชาธิปไตยเหมือนกัน โดยปัจจัยร่วมที่เกิดขึ้นในเชียงราย เขต 1 และ เขต 6 ได้แก่

หนึ่ง "เบื่อคนเก่า" อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้เจ้าของพื้นที่เดิม ทั้งสามารถ แก้วมีชัย และอิทธิเดช แก้วหลวง เป็นอดีต ส.ส. มาแล้ว 4 สมัยตั้งแต่ปี 2544 และไม่ยอมวางทายาททางการเมืองขึ้นมาทดแทน และไม่ได้แสดงบทบาทแข็งขันอันใดในช่วง คสช.เรืองอำนาจ ในขณะที่หลายจังหวัดภาคเหนือที่พรรคเพื่อไทยยังคงเหนียวแน่น เพราะเริ่มมีการเปลี่ยนถ่ายทายาททางการเมืองจากรุ่นสู่รุ่น

สอง "ธนาธร" ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจถูกพูดถึงอย่างมากในโซเชียลมีเดียชาวเชียงราย ทั้งการปราศรัยใหญ่ที่วัดเชตุพน (สันโค้งน้อย) เมื่อ 9 มี.ค. และร่วมวิ่งฮาล์ฟมาราธอนที่ราชภัฏเชียงรายในวันต่อมา

และสามกระแสพรรคอนาคตใหม่ในบริบทพื้นที่ “ความเป็นเมือง” โดยเฉพาะกับเขตเลือกตั้งที่มีสถาบันอุดมศึกษา มีสภาพเศรษฐกิจขยายตัว เริ่มเปลี่ยนแปลงจากภาคเกษตร และมีความหนาแน่นประชากรสูง

และปัจจัยเฉพาะได้แก่ คุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคอนาคตใหม่ ที่โดดเด่นและมีจุดขาย เช่น กรณี นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ “หมอเอก” ซึ่งเคยทำงานที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เป็นอาจารย์หมอ เป็นแพทย์ประจำทีมฟุตบอลทีมชาติไทย และสโมสรสิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด พูดได้ว่าเป็นคนรุ่นใหม่จริงๆ ป้ายหาเสียงก็ฉีกแนวโดยใช้รูปตัวเองตอนวิ่งใส่เสื้อนักฟุตบอลทีมชาติไทย

ส่วนพีรเดช คำสมุทร อายุ 30 ต้นๆ พื้นเพเป็นชาวแม่สาย จบโรงเรียนแม่สายประสิทธิ์ศาสตร์ เคยทำงานเป็นผู้จัดการโรงแรม หาเสียง แนะนำตัวแบบเดินเท้าลุยคนเดียวไปให้ครบทุกหมู่บ้านในเขต ร่วมสามสี่ร้อยกิโลเมตร นอกจากนี้นักการเมืองท้องถิ่นคนสำคัญในพื้นที่ไม่ได้ออกตัวเชียร์พรรคใหญ่พรรคใดเป็นพิเศษ

เมืองแพร่เทคะแนนอนาคตใหม่ - หลังยุบไทยรักษาชาติ

ที่ จ.แพร่ เป็นพื้นที่ของผู้สมัคร ส.ส. พรรคไทยรักษาชาติ ทั้ง นพ.ทศพร เสรีรักษ์ (แพร่ เขต 1) และวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล (แพร่ เขต 2) ซึ่งทั้ง 2 คนเป็น ส.ส. ในพื้นที่ติดต่อกันมาตั้งแต่ปี 2539 ยกเว้นกรณีของ นพ.ทศพร ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี หลังยุบพรรคไทยรักไทยปี 2550 ต่อมาในปี 2560 ทั้ง 2 คนได้เข้าร่วมกับพรรคไทยรักษาชาติ และลงสมัครเลือกตั้ง ส.ส. ที่ จ.แพร่

และเมื่อมีการยุบพรรคไทยรักษาชาติเมื่อ 7 มีนาคม 2562 เดิมมีการรณรงค์ของผู้สนับสนุนพรรคไทยรักษาชาติให้รณรงค์โหวตโน เพราะตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 92 หากไม่มีผู้สมัครรายใดได้คะแนนมากกว่าคะแนนโหวตโนจะต้องจัดเลือกตั้งใหม่ และผู้สมัครเดิมไม่สามารถลงสมัครได้อีก นอกจากนี้มีหัวคะแนนบางส่วนเสนอให้ช่วยหาเสียงให้พรรคเพื่อชาติ ซึ่งลงสมัครในพื้นที่ด้วย

ปัจจัยช่วงโค้งสุดท้ายกลายเป็นเสียงหนุนอนาคตใหม่

อย่างไรก็ตามในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนวันลงคะแนน 24 มีนาคม 2562 มีการเปลี่ยนแปลง โดย ถิรายุส์ บำบัด ผู้ช่วยคณบดีคณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ระบุว่า เดิมแกนนำอดีตพรรคไทยรักษาชาติใน จ.แพร่  เคยคิดจะสนับสนุนผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคเสรีรวมไทย แต่ผู้สมัคร ส.ส. ของทั้ง 2 พรรคดังกล่าวเรตติ้งแพ้ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จากเครือข่าย "แม่เลี้ยงติ๊ก" ศิริวรรณ ปราศจากศัตรู รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งแพ้ผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐด้วย ต่อมาจะรณรงค์โหวตโน แต่กระแสก็ไม่มา ประชาชนในพื้นที่ไม่ยอมรับ และเมื่อเช็คกระแสแล้วว่าพรรคอนาคตใหม่มาแรงที่ จ.แพร่ จึงมีการตัดสินใจช่วงโค้งสุดท้ายหันมาสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ เพื่อไม่ให้คู่แข่งโดยเฉพาะเครือข่ายพรรคประชาธิปัตย์กลุ่ม "แม่เลี้ยงติ๊ก" ชนะใน จ.แพร่

ส่วนผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคพลังประชารัฐ ไม่ถูกประเมินเป็นคู่แข่งหลักสำหรับแกนนำอดีตพรรคไทยรักษาชาติ ทั้ง ด.ต.บุหลัน ราษฎร์คำพรรณ์ (แพร่ เขต1) อดีต ส.ว. ปี 2557 และวิตติ แสงสุพรรณ (แพร่ เขต 2) อดีตสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แพร่ เขต อ.สูงเม่น โดยเฉพาะวิตติ ที่เป็นเครือญาติของวรนุชนันท์ พงศ์สุรางค์ อดีตผู้สมัครนายก อบจ.แพร่ ที่วรวัจน์เป็นผู้สนับสนุน

และเมื่อพิจารณาตัวผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ที่ จ.แพร่  เอกการ ซื่อทรงธรรม (แพร่ เขต 1) เป็นลูกชายของพิพัฒน์ ซื่อทรงธรรม สมาชิกสภา อบจ.แพร่ เขต อ.ร้องกวาง หลายสมัย และยังเป็นประธานสภา อบจ.แพร่ ที่ อบจ.แพร่ยังเป็นเครือข่ายทางการเมืองเดียวกันกับวรวัจน์

ขณะที่กฤติดนัย สันแก้ว (แพร่ เขต 2) เคยเป็นเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บ่อเหล็กลอง อ.ลอง จ.แพร่ ก่อนผันตัวมาสมัครพรรคอนาคตใหม่ โดยพื้นที่แพร่เขต 2 (อ.สูงเม่น , อ.เด่นชัย , อ.ลอง , อ.วังชิ้น) ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เดิมที่วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ลงสมัคร ส.ส. เมื่อปี 2554 ซึ่งนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยพะเยาผู้นี้เสนอว่า ด้วยความสัมพันธ์ที่ดีในท้องถิ่น ความเชื่อว่า "ต่อถึงกันได้" ก็น่าจะทำให้เกิดการเทคะแนนจากเครือข่ายของวรวัจน์มายัง 2 ผู้สมัครพรรคอนาคตใหม่ จนเกิดเป็นชัยชนะถล่มทลายเหนือ 2 พรรคใหญ่ "ประชาธิปัตย์-พลังประชารัฐ" ดังกล่าว

จะยืนระยะต่อไป มวลชนต้องเป็นเจ้าของพรรค

ด้าน ณัฐกร วิทิตานนท์ เสนอว่าเสียงสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่อย่างท่วมท้นที่ จ.แพร่ อาจพอใช้สะท้อนว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีวิจารณญาณของตัวเอง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการชี้นำโดยระบบเครือข่ายหัวคะแนนแบบเดิมได้อยู่บ้าง

ส่วน ชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอก คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งกลับภูมิลำเนาไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งที่ จ.แพร่ กล่าวว่า จากการพูดคุยกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งในหมู่บ้าน จะเห็นว่ากระแสเลือกพรรคอนาคตใหม่มาแรงมาก เดิมทีพรรคอนาคตใหม่ไม่อยู่ในความคิดของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลย แต่เมื่อพรรคอนาคตใหม่รณรงค์หาเสียงทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น ทิศทางของพรรคอนาคตใหม่ตอบโจทย์ของประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.แพร่ ซึ่งเศรษฐกิจซบเซาหลายปี ประชาชนไม่อยากเห็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก

เมื่อพิจารณาปัจจัยทางเศรษฐกิจ นอกจากภาคเกษตรแล้วที่ จ.แพร่ มีกิจการเฟอร์นิเจอร์ไม้แปรรูป กิจการทำเสื้อหม้อห้อม และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งขึ้นอยู่กับกำลังซื้อของครัวเรือน เมื่อเศรษฐกิจอ่อนไหว ประชาชนจึงต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ

ส่วนพรรคอนาคตใหม่จะได้รับความนิยมในระยะยาวหรือไม่ ชัยพงษ์เสนอว่าว่าที่ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ต้องทำงานในพื้นที่ต่อไปจึงจะลงหลักปักฐานได้ แต่ถ้าคะแนนเลือกตั้งครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะการเทคะแนนจากฐานเสียงพรรคอื่น การเลือกตั้งรอบหน้าพรรคอนาคตใหม่จะกลับมาชนะเลือกตั้งที่ จ.แพร่ ก็อาจจะเป็นงานยาก ทั้งนี้เขามีข้อสังเกตด้วยว่าเมื่อเปรียบเทียบแล้วผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคอนาคตใหม่ เขต 1 ลงพื้นที่เยอะกว่าผู้สมัครเขต 2 

ส่วนข้อเสนอที่ว่าพรรคอนาคตใหม่ ทำให้ฐานเสียงพรรคเพื่อไทยแตก เดิมเขาก็เคยคิดว่าเป็นฐานเสียงคนละฐาน แต่ที่จริงแล้วผลการเลือกตั้งก็พอบอกได้ว่ามีฐานเสียงที่คาบเกี่ยวกันแต่ไม่ทั้งหมด 

"คนที่เคยสนับสนุนพรรคเพื่อไทยแล้วไปสนับพรรคสนุนอนาคตใหม่ เราอาจอธิบายได้ในแง่ความเด่นชัดและข้อเสนอในแง่อุดมการณ์ที่ชัดเจนของพรรคอนาคตใหม่ การทุ่มเทอย่างต่อเนื่องของพรรคอนาคตใหม่ ผิดกับพรรคเพื่อไทยที่หลายปีห่างพื้นที่ คิดว่าประชาชนเป็นของตาย เช่นเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ที่แพ้ในบ้าน ต่อให้ไม่มีพรรคอนาคตใหม่ คนเขาก็พร้อมที่จะเปลี่ยนไม่เลือกพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว"

ชัยพงษ์เสนอด้วยว่า การที่พรรคอนาคตใหม่มีพื้นที่ในสื่อ อาศัยความใหม่ สด แน่นหลักการเป็นธงนำ ได้ชักจูงให้คนกลางๆ มาเลือก โดยเขายกตัวอย่างว่า บรรดาญาติที่รู้จักหันมาเลือกพรรคอนาคตใหม่ ทั้งที่คนเหล่านี้ในอดีตอาจจะเคยสนับสนุนทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์มาก่อน ซึ่งพอบอกได้ว่าคนกลางๆ คนมีอายุ ไม่เฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่เท่านั้นที่เปลี่ยนมาเลือกพรรคอนาคตใหม่

ส่วนข้อกังวลที่ว่าพรรคอนาคตใหม่จะนำมาสู่ลัทธิบูชาตัวบุคคล ชัยพงษ์ชี้ว่ากระแสอาจทำให้คิดเช่นนั้น แต่ปัจจัยที่ได้ใจผู้สนับสนุนก็คือความยึดมั่นในหลักการของแกนนำ ไม่นับองคาพยพอื่นๆ ที่ต้องดูกันในระยาว

ชัยพงษ์เสนอด้วยว่าสำหรับสถาบันพรรคการเมือง "ท้ายที่สุด เราต้องด่าได้ วิจารณ์ได้ แม้จะรักจะเชียร์อย่างไรก็ตาม เพราะจะสร้างระบอบพรรคของมวลชนได้ต้องให้ผู้คนเข้าไปเป็นเจ้าของ"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net