Skip to main content
sharethis

อดีตประธานมูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย ร้อง กกต. ชี้แจงเรื่องความโปร่งใสในการเลือกตั้ง ย้ำจัดตั้งรัฐบาลให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน เผยอาจตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบการเลือกตั้ง 

26 มี.ค.2562 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตประธานมูลนิธิวีรชนประชาธิปไตยว่า ตนเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชี้แจงเรื่องความโปร่งใสในการเลือกตั้ง และ การจัดตั้งรัฐบาลให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน

นอกจากนี้ อนุสรณ์ ยังเปิดเผยด้วยว่า ตนกับเพื่อนๆ นักวิชาการ นักธุรกิจ และ องค์กรประชาธิปไตยจำนวนหนึ่ง รวมทั้ง อดีตนักกิจกรรมและผู้นำนักศึกษารุ่นรณรงค์นายกฯมาจากการเลือกตั้ง และ แกนนำเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงเหตุการณ์เดือนพฤษภา 2535 กำลังปรึกษาหารือกันว่าจะตั้ง คณะกรรมการเพื่อตรวจสอบการเลือกตั้ง ครั้งนี้หรือไม่เนื่องจากมีความไม่ปรกติ และความไม่ชอบมาพากลอยู่ไม่น้อยในการเลือกตั้ง และ จะมีท่าทีอย่างไรต่อการสืบทอดอำนาจของ คสช ผ่านพรรคพลังประชารัฐ ส.ว. 250 คน รวมทั้งการสืบทอดอำนาจผ่านองค์กรอิสระและกลไกในรัฐธรรมนูญ โดยเราต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังรอบคอบเพื่อประคับประคองสถานการณ์ให้มีการจัดตั้งรัฐบาลเลือกตั้งให้ได้ และ หาทางป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง หรือ เหตุการณ์รุนแรงซ้ำรอยเดือนพฤษภา 35  

รายละเอียดข้อเรียกร้องของ อนุสรณ์ มีดังนี้

ผลการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 : ข้อเสนอและแนวทางเพื่ออนาคตของประเทศ  

โดย อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตประธานมูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย

14.30 น.  26 มีนาคม พ.ศ. 2562

การเลือกตั้ง 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 เป็นเพียงกระบวนการขั้นแรกในการกลับคืนสู่ประชาธิปไตย  สังคมไทยต้องร่วมมือกันและช่วยกันประคับประคองสถานการณ์หลังการเลือกตั้งให้ประเทศเข้าสู่กระบวนการกลับคืนสู่ประชาธิปไตย (Democratization) อย่างแท้จริง เริ่มต้นด้วยการที่คณะกรรมการเลือกตั้งต้องชี้แจงข้อสงสัยต่างๆเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งว่ามีความบริสุทธิ์ยุติธรรมแค่ไหน พรรคการเมืองต่างๆต้องยอมรับผลการเลือกตั้งหากมีความมั่นใจว่าได้มีการจัดการเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรม หากยังมีข้อสงสัยเรื่องการจัดการเลือกตั้งต้องจัดการแก้ไขโดยด่วนและจัดการเลือกตั้งซ่อมหรือจัดการเลือกตั้งใหม่ในเขตการเลือกตั้งที่มีปัญหา โดยเฉพาะเขตเลือกตั้งที่คะแนนรวมมียอดสูงกว่าผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง และต้องมีคำอธิบายจำนวนผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยรวมกับคะแนนรวมที่นับจากบัตรเลือกตั้งต้องตรงกัน ในโลกดิจิทัล ข้อมูลต่างๆจะถูกบันทึกไว้เป็นหลักฐานทั้งหมด การบิดเบือนข้อมูลจึงสามารถพบร่องรอยได้เสมอ การทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง อย่างเป็นอิสระและตรงไปตรงมาของคณะกรรมการเลือกตั้งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของประเทศ   

หากไม่สามารถทำให้เกิดการยอมรับร่วมกันได้ว่ามีการจัดการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม ย่อมทำให้เกิดความขัดแย้งร้าวลึกในสังคมเพิ่มขึ้น แทนที่การเลือกตั้งจะเป็นเครื่องมือและกลไกที่จะนำมาสู่ความสมานฉันท์ปรองดอง การเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองที่มีสมาชิกสภาผู้แทนสูงสุดเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลก่อนเพื่อให้เป็นไปตามประเพณีการปกครองประชาธิปไตยแบบรัฐสภาของไทย เมื่อพรรคการเมืองที่มีสมาชิกสภาผู้แทนสูงสุดไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ จึงเป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองในลำดับถัดไป การแย่งชิงแข่งขันในการจัดตั้งรัฐบาลโดยอาศัยอำนาจรัฐอย่างไม่เป็นธรรมหรืออำนาจเงินก็ดีย่อมไม่สอดคล้องกับความพยายามในการปฏิรูประบบการเมืองไทยให้ดีขึ้น   การทำให้ระบบการเมืองมีเสถียรภาพเป็นเรื่องที่มีความสำคัญรัฐบาลใหม่ต้องเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรจึงจะสามารถสานต่อการบริหารประเทศเพื่อประโยชน์ของประชาชนได้    

การเปลี่ยนผ่านจาก “ประเทศภายใต้ระบอบรัฐประหาร 5 ปี” สู่ “ประเทศกึ่งประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560” ในการเลือกตั้ง 24 มีนาคมนี้มีความสำคัญต่ออนาคตของประเทศ อนาคตประชาธิปไตยไทย ความรุ่งเรืองก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ความสงบสุขของสังคม และ คุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยิ่ง และ ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ประชาชนต้องการอะไร เราสามารถลดความเสี่ยงของภาวการณ์ล่มสลายของประชาธิปไตย (Democratic Breakdown) และ ป้องกันการย้อนกลับสู่ระบอบเผด็จการอำนาจนิยม ด้วยการยอมรับผลการเลือกตั้ง ไม่บิดเบือนผลการเลือกตั้ง และให้อำนาจประชาชนในการกำหนดตัวผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและคณะผู้บริหารประเทศ กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลจะต้องเป็นกระบวนการที่ยึดหลักการประชาธิปไตย รัฐบาลจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรโดยไม่มีการใช้อำนาจรัฐ ใช้อำนาจเงิน ที่เป็นการทำลายระบบสถาบันพรรคการเมือง  

หากปล่อยให้วุฒิสมาชิกเป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรีโดยฝืนความต้องการของประชาชนและไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน การเลือกตั้งจะเป็นเพียงพิธีกรรม ประชาชนผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวนมากจะไม่พอใจและนำมาสู่ความขัดแย้งและวิกฤตการณ์ทางการเมืองได้

ประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีกว่า ต้องการแสดงถึงความต้องการในการกำหนดทิศทางของประเทศนี้ด้วยตัวเองและประชาชนต้องการปกครองตนเอง ไม่ต้องการให้คนจำนวนเพียงหยิบมือเดียวบริหารประเทศตามอำเภอใจโดยปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชนส่วนใหญ่ ผลการเลือกตั้งเป็นสิ่งสะท้อนความต้องการและเจตนารมณ์ของประชาชน เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ ประชาชน ความสงบสุขความปรองดองสมานฉันท์ ความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข กระผม นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ในฐานะอดีตประธานมูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย จึงขอให้พรรคการเมืองต่างๆ องค์กรภาคประชาชน รัฐบาล คสช และ ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติตามหรือดำเนินการตามเจตนารมณ์ของประชาชน และมีข้อเสนอแนะและแนวทางเพื่ออนาคตของประเทศ ดังต่อไปนี้ 

1. ขอให้มีจัดตั้งองค์กรภาคประชาชนร่วมกับสถาบันตุลาการในการตรวจสอบการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้งว่าได้ดำเนินการจัดการการเลือกตั้งอย่างเป็นอิสระ เป็นกลางหรือไม่ ขอให้มีการตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลต่างๆในการเลือกตั้งอย่างโปร่งใสและเป็นธรรมโดยเร็วเพื่อให้การเลือกตั้งมีความน่าเชื่อถือเป็นที่ยอมรับของประชาชนในประเทศและนานาชาติ

ขอเรียกร้องให้ กกต. เปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะทั้งหมด ทั้งผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้ไปใช้สิทธิ คะแนนโหวต จำนวนบัตรที่พิมพ์ จำนวนบัตรที่ใช้ลงคะแนน ทั้งหมดนี้ ขอให้เปิดเผยเรียงหน่วย แต่ละหน่วยต้องเอาตัวเลขนี้ออกมาให้ทางภาคประชาชนและพรรคการเมืองเข้าไปตรวจสอบข้อมูลได้

เนื่องจากมีตัวเลขผลลงคะแนนเลือกตั้งสูงกว่าจำนวนประชาชนผู้ไปใช้สิทธิ นอกจากนี้มีบัตรเสียจำนวนมาก มีการใช้อำนาจรัฐข่มขู่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งและผู้สนับสนุนในหลายพื้นที่หรือไม่ ตนจึงเห็นว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเกิดข้อสงสัยว่าเป็นไปด้วยความสุจริตเที่ยงธรรมและเป็นการแข่งขันอย่างเสรีอย่างแท้จริงหรือไม่ ภาวะดังกล่าวจะนำมาสู่ความเสี่ยงของวิกฤตการณ์ทางการเมืองในอนาคตและไม่ก่อให้เกิดการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองให้ดีขึ้น คณะกรรมการเลือกตั้งจึงต้องชี้แจงข้อสงสัยต่างๆและแก้ไขผลกระทบต่างๆที่ติดตามมาโดยเร็ว

2. ขอเรียกร้องให้ สำนักงาน กกต. พิจารณาข้อเรียกร้องต่างๆเกี่ยวกับการทุจริตการเลือกตั้งหรือการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเลือกตั้งอย่างตรงไปตรงมา การแจกใบเหลือง ใบแดงให้กับว่าที่ ส.ส. ทั้งหลายต้องมีคำอธิบายและมีหลักฐานที่ชัดเจนไม่เปิดช่องให้มีการกลั่นแกล้งกันในทางการเมืองหรือใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมเพื่อเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งอันเป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชน และ ส่งผลต่อการจัดตั้งรัฐบาล  

3. ขอเรียกร้องไม่ให้ คสช. ใช้ มาตรา 44 ในการทำให้เกิดผลในการเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งอันเป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์และความต้องการของประชาชนเจ้าของประเทศ

4. สมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับการแต่งตั้งโดย คสช. ต้องงดออกเสียงในการเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อให้การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีเป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน   

5. ขอให้พรรคการเมืองอันดับหนึ่งที่มี ส.ส. มากที่สุดและมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้มีสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาลก่อนอันเป็นการแสดงถึงความเคารพต่อเจตนารมณ์ของประชาชน พรรคการเมืองต้องมีสัญญาประชาคมร่วมกันว่า ทำอย่างไรประชาธิปไตยจะไม่ล้มเหลวอีกและเป็นเงื่อนไขให้เกิดการยึดอำนาจรัฐประหารอีก

6. ขอทวงสัญญา 26 พรรคการเมืองที่ให้ไว้กับประชาชนเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2561 เพื่อให้รัฐบาลที่จะจัดตั้งขึ้นเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในความหมายที่ว่าได้รับเสียงสนับสนุนที่เป็นเสียงข้างมากเด็ดขาดของประชาชน พรรคการเมืองที่ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลจะต้องมีเสียงสนับสนุนเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้สามารถบริหารประเทศไปได้อย่างมีเสถียรภาพอันก่อให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมือง รวมทั้งมีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาต่างๆให้กับพี่น้องประชาชน

   

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net