Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

นิธิ เอียวศรีวงศ์วิเคราะห์ไว้ในมติชนสุดสัปดาห์ช่วงก่อนเลือกตั้งว่า “ประชาธิปัตย์กำลังบีบตัวเองให้หนุนประยุทธ์ จันทร์โอชาสืบทอดอำนาจ” เพราะการตอกย้ำว่า “ไม่จับมือกับเพื่อไทย” ทำให้ปิดโอกาสตนเองที่จะเป็นพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย หรือฝ่ายต้านต้านการสืบทอดอำนาจของเผด็จการ 

ขณะเดียวกันเมื่ออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศ “ไม่หนุนประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี” แต่ “ยินดีร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ” ใครๆ ก็มองออกว่านี่เป็นเพียง “ปาหี่การเมือง” เพราะเมื่อพลังประชารัฐเป็นพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาสนับสนุนประยุทธ์เป็นนายกฯ การร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐโดยไม่หนุนประยุทธ์ย่อมเป็นไปไม่ได้  

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ผมเขียนบทความนี้ยังไม่ปรากฏชัดเจนว่าประชาธิปัตย์ตัดสินใจร่วมกับพลังประชารัฐตั้งรัฐบาล ดังนั้น ณ เวลานี้ผมจึงมองว่าประชาธิปัตย์เดินมาถึง “จุดวิกฤต” สำคัญอีกครั้งบน “ทางสองแพร่ง” ว่าจะเลือกเดินทางไหน ระหว่างสนับสนุนการสืบทอดอำนาจเผด็จการกับจับมือพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยเพื่อแก้ปัญหาระบบไม่เป็นประชาธิปไตยที่เผด็จการสร้างไว้

จุดวิกฤตทางสองแพร่งนี้อาจทำให้ประชาธิปัตย์ “ตาย” อย่างหมดจดจากเส้นทางประวัติศาสตร์ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่ประชาธิปไตย ถ้าเลือกจับมือพลังประชารัฐ แต่ก็อาจทำให้ประชาธิปัตย์ “เกิดใหม่” ในเส้นทางประวัติศาสตร์ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่ประชาธิปไตยก็ได้ หากเลือกจับมือพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย

ปัญหาอยู่ที่ว่าชาวประชาธิปัตย์จะมีวุฒิภาวะหรือ “โต” พอจะนำข้อผิดพลาดสำคัญๆ ในประวัติศาสตร์ระยะใกล้จากรัฐประหาร 2549-2557 จนถึงการแพ้เลือกตั้ง 2562 มาเป็น “บทเรียน” ให้สามารถเกิดปัญญารู้แจ้งปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากมายาภาพ “ปีศาจทักษิณ” และอื่นๆ ที่ถูกสร้างขึ้นอย่างเลวร้ายเกินจริงได้มากน้อยเพียงใด 

เราอาจทบทวน “ความผิดพลาด” ของประชาธิปัตย์ภายใต้มายาภาพดังกล่าวได้ดังนี้

หนึ่ง ประชาธิปัตย์สร้างมายาภาพว่าฝ่ายตนแพ้เลือกตั้งเพราะ(สิ่งที่เรียกกันว่า) “ระบอบทักษิณ” โกงเลือกตั้ง ทำให้ประชาธิปัตย์ไม่พูดความจริงทั้งหมดว่า การเลือกตั้งช่วงก่อนทักษิณและยุคทักษิณมีพรรคการเมืองต่างๆ หรือแทบทุกพรรคซื้อเสียงจริงและเป็นปัญหาที่ต้องหาทางแก้ตามวิถีทางประชาธิปไตย

ความจริงอีกอย่างที่ประชาธิปัตย์ให้ความสำคัญไม่มากพอคือ ในยุคทักษิณ “การแข่งขันเชิงนโยบาย” กลายเป็นตัวชี้ขาดการแพ้-ชนะเลือกตั้งมากกว่า ทำให้แทนที่ประชาธิปัตย์จะเน้นการสร้างนโยบายที่เหนือกว่า สื่อสารกับประชาชนทุกระดับ “โดน” หรือเข้าใจง่ายกว่า ดึงดูดความนิยมจากประชาชนส่วนใหญ่เหนือคู่แข่งมากกว่า กลับไปเน้นการเมืองแบบ “สาดโคลน” สร้างศัตรูถาวรกับพรรคคู่แข่งจนประชาชนเอือมระอา

สอง ประชาธิปัตย์ไม่ชัดเจนใน “จุดยืน” ต้านโกงเลือกตั้ง เพราะขณะที่บอยคอตเลือกตั้งสองครั้งด้วยเหตุผลว่าไม่อยากร่วมสังฆกรรมกับพรรคคู่แข่งที่โกงเลือกตั้ง เพราะถ้าลงเลือกตั้งเท่ากับไปช่วยสร้างความชอบธรรมให้พรรคการเมืองโกงขึ้นมาเป็นรัฐบาลเพื่อถอนทุนคืน

แต่ข้ออ้างดังกล่าวไม่สามารถ “สื่อสาร” ให้ประชาชนทั่วไป “เชื่อ” ได้เลยว่าประชาธิปัตย์ยึดมั่นใน “จุดยืนต้านโกงเลือกตั้ง” เพราะพรรคการเมืองคู่แข่งไม่ได้เขียนรัฐธรรมนูญและกติกาการเลือกตั้งขึ้นมาเอง และหากเขาทุจริตประชาธิปัตย์และประชาชนทั่วไปก็สามารถตรวจสอบได้ตามระบบที่มีอยู่ แต่กับการเลือกตั้ง 2562 ที่กรรมการเขียนกติกาเอง คุมกติกาเอง ลงแข่งเอง ประชาธิปัตย์กลับไม่ได้ใช้ข้ออ้างเรื่องโกงเลือกตั้งมาเป็นเหตุผลที่จะบอยคอตเลือกตั้งดังที่เคยอ้าง 

สาม ประชาธิปัตย์ไม่มีจุดยืนชัดเจนในการตรวจสอบคอร์รัปชัน เพราะขณะที่มุ่งตรวจสอบ โจมตีการคอร์รัปชันของพรรคการเมืองคู่แข็งอย่างเอาเป็นเอาตาย กลับไม่จริงจังกับการตั้งคำถามเรื่องทุจริตคอร์รัปชันกับรัฐบาลจากรัฐประหารที่ไม่มีระบบถ่วงดุลตรวจสอบในสภา 

ประชาธิปัตย์พยายามสร้างมายาภาพ “เผด็จการรัฐสภา” ที่ยังมีระบบถ่วงดุลตรวจสอบและประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพแสดงออกทางการเมืองให้น่ากลัวเกินจริงยิ่งกว่า “เผด็จการจากรัฐประหาร” ที่ประชาธิปัตย์แตะอย่างนุ่มนวลและเกรงใจเสมอมา

สี่ ประชาธิปัตย์ไม่มีจุดยืนชัดเจนในการปกป้องประชาธิปไตย เพราะในการบอยคอยเลือกตั้ง แม้ประชาธิปปัตย์จะอ้างได้ว่าทำตามกติกาประชาธิปไตยที่เปิดให้ทำได้ แต่ประชาธิปัตย์ย่อมรู้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่า หากพรรคใหญ่อันดับสองไม่ลงเลือกตั้ง อาจทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะและตามมาด้วยรัฐประหาร ถ้าประชาธิปัตย์มีจุดยืนชัดเจนในการปกป้องประชาธิปไตย ประชาธิปัตย์ย่อมจะไม่บอยคอตเลือกตั้ง เพื่อรักษา “ระบบ” เอาไว้ไม่ให้ถูกทำลายโดยรัฐประหาร

ห้า การบอยคอยเลือกตั้งคือการ “เตะพรรคคู่แข่งเข้าทางตีนทหาร” หรือเป็นเกมการเมืองที่ยืมมือทหารมาทำลายพรรคการเมืองคู่แข่งที่ประชาธิปัตย์เอาชนะในสนามเลือกตั้งไม่ได้ แต่นี่ก็เป็น “การเตะหมูเข้าปากหมา” ตรงๆ เพราะทหารได้อำนาจรัฐไป ขณะที่ประชาธิปัตย์ไม่ได้อะไรเลย ทั้งยังสูญเสียคะแนนนิยมจากประชาชนที่ไม่เอารัฐประหารมากขึ้นเรื่อยๆ พรรคคู่แข่งก็เป็นพรรคที่ “ฆ่าไม่ตาย” ยังรักษาคะแนนนิยมจากประชาชนส่วนใหญ่เหนือประชาธิปัตย์เช่นเดิม

หก การเมืองแบบ “เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น” ตามแนวถนัดของประชาธิปัตย์ ไม่เพียงแต่แสดงตัวเป็นศัตรูถาวรกับพรรคคู่แข่งเท่านั้น แต่ยังเป็นการแสดงตัวเป็นศัตรูกับประชาชนที่สนับสนุนพรรคคู่แข่งด้วย เพราะประชาธิปัตย์มักมีวิธีคิดที่ผิดเพี้ยน (absurd) คงจำคำพูดของชวน หลีกภัยกันได้ว่า “จำลองพาคนไปตาย” นี่เป็นทัศนะที่เหลวไหล เพราะแทนที่จะตั้งคำถามอย่างจริงจังถึงที่สุดกับ “อำนาจที่สั่งฆ่าประชาชน” กลับไปโจมตีแกนนำในการชุมนุม รวมถึงการไม่เคารพประชาชนที่ร่วมชุมนุมทางการเมืองด้วยว่าเขาเหล่านั้นได้เลือกตัดสินใจเผชิญหน้ากับเผด็จการด้วยเจตจำนงของตนเอง แม้ว่าแกนนำจะมีข้อบกพร่องบางอย่างในทางยุทธวิธีที่ควรวิจารณ์ก็ตาม

อาจเป็นเพราะวิธีคิดที่ผิดเพี้ยนเช่นนี้ จึงทำให้ประชาธิปัตย์ตัดสินใจผิดพลาดในการสลายการชุมนุม 2553 กล่าวคือ เมื่อมีประชาชนชนเสียชีวิตช่วงแรกๆ ถึง 25 คนแล้ว ยังไม่ยอมให้มีการเลือกตั้ง ยังระดมกำลังเจ้าหน้าที่และอาวุธ งบประมาณมหาศาลสลายการชุมนุม กระทั่งประกาศ “เขตใช้กระสุนจริง” จนมีประชาชนบาดเจ็บร่วมสองพัน ตายร่วมร้อย นี่จึงเป็นประวัติศาสตร์ของรัฐบาลพลเรือนที่เสมือนมองประชาชนเหล่านั้นเป็นศัตรู เพราะเหมารวมว่าพวกเขาเป็นเครื่องมือของพรรคคู่แข่งมากกว่าที่จะมีเจตจำนงอิสระของตนเอง

เจ็ด ประชาธิปัตย์ไม่ยืนยันอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่ชัดเจน ช่วงแรกๆ ของการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา ประชาธิปัตย์พยายามชูอุดมการณ์ “เสรีนิยมประชาธิปไตย” แต่ไม่สามารถสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจได้ เพราะอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตยหมายถึง การยืนยันสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีของมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญสูงสุด ซึ่งจำเป็นต้องยืนยัน “หลักเสรีภาพ” ในการตั้งคำถาม วิจารณ์ ตรวจสอบ “ทุกสถาบันอำนาจ” ในมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งประชาธิปัตย์ไม่เคยยืนยันหลักการนี้เลย ขณะที่พรรคอนาคตใหม่ยืนยันหลักการนี้ชัดเจนมากกว่า

ดังนั้น เมื่อประชาธิปัตย์ชูอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตย โดยหวังจะชนะใจ “คนรุ่นใหม่” แข่งกับอนาคตใหม่จึงพ่ายแพ้ไม่เป็นท่า เพราะเมื่อพูดถึง “ความชัดเจน” ในการชูอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตยประชาธิปัตย์ไม่มีทางเทียบกับอนาคตใหม่ได้เลย 

ยิ่งเมื่อมองบทบาทของประชาธิปัตย์จากประวัติศาสตร์ระยะไกลและใกล้ด้วยแล้ว ความจริงที่สังคมรับรู้มาตลอดคือ ประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองหนุนหรือประนีประนอมกับอุดมการณ์และกลุ่มอำนาจฝ่ายอนุรักษ์นิยมมาตลอด

หรือพูดให้ชัดก็คือ “ประชาธิปัตย์คือพรรคการเมืองเครือข่ายอำนาจฝ่ายอนุรักษ์นิยม” นั่นเอง นี่คือความเป็นจริงที่ทำให้ประชาธิปัตย์ต้องเดินทางมาถึงจุดวิกฤตทางสองแพร่งอีกครั้ง และเป็นไปได้สูงที่ประชาธิปัตย์อาจเลือกร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐที่เป็นพรรคแกนนำสนับสนุนอำนาจฝ่ายอนุรักษษ์นิยม

ดังนั้น เกมการเมืองแบบประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งที่ผ่านมาที่ “บีบ” ให้ตัวเองถึงทางตันจนจำเป็นต้องเลือกร่วมมือกับพลังประชารัฐสนุบสนุนประยุทธ์เป็นนายกฯ นั้น เมื่อสืบสาวอย่างถึงที่สุดแล้วมันเป็นเกมการเมืองที่ถูกกำหนดโดยอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม ผลจึงต้องออกมาเป็นแบบนี้ 

นั่นคือ เป็นแบบที่ประชาธิปัตย์อาจ “ตาย” จากประวัติศาสตร์เส้นทางพรรคการเมืองที่มีส่วนร่วมสร้างการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย แน่นอนว่าเมื่อการเมืองบ้านเราสามารถพัฒนาไปสู่การวางรากฐานระบอบเสรีประชาธิปไตยก้าวหน้าขึ้นตามแนวทางแบบอนาคตใหม่ ที่เรียกระแสนิยมจากคนรุ่นใหม่ที่มีบทบาทกำหนดอนาคตของประเทศมากขึ้น ประชาธิปัตย์ก็อาจตายแบบไม่ได้เกิดใหม่เลยก็ได้ 

  


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net