เปิดวิธีการคำนวณที่นั่ง ส.ส. อิง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128

อย่าฟ้าวเมือพี่น้อง! ประชาไทชวนอ่านกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ว่าด้วยการคำนวนที่ ส.ส. พึงมีพึงได้ทั้งหมด 500 คน แต่ละพรรคการเมืองได้ส่วนแบ่งกันคนละเท่าไหร่ มีวิธีคิดอย่างไร กรุณาหาเครื่องคิดเลขมากดไปพร้อมกัน

หลังจาก (28 มี.ค.) กกต. ตั้งโต๊ะแถลงข่าวเพื่อประกาศผลการเลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ข้อมูลที่ได้จาก กกต.ซึ่งเป็นฐานสำหรับการคำนวณจำนวน ส.ส. ที่แต่ละพรรคการเมืองพึงมีพึงได้ประกอบด้วย จำนวนคะแนนที่พรรคการเมืองการทั้งหมดได้รับ หรือจำนวนบัตรดีทั้งหมด จำนวนคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับ ประกอบกับจำนวนที่นั่ง ส.ส. เขตที่แต่ละพรรคได้รับซึ่ง กกต. ได้ประกาศผลมาก่อนหน้า

การคิดคำนวณที่นั่ง ส.ส. ทั้งหมด 500 ที่นั่ง ยังดูเป็นเรื่องที่สับสนอลหม่าน สื่อหลายสำนักคำนวนตัวเลขออกมาไม่ตรงกันหลายที่ แม้แต่ฐาปนีย์ ซึ่งรายงานคำพูดของ กกต. เรื่องวิธีการคำนวนก็ยังฟังดูแปลกๆ  ประชาไทไล่อ่าน พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 ด้วยมความเข้าใจที่จะมี พร้อมกับความสามารถในการหาเครื่องคิดเลขคาดว่า สามารถคำนวณได้ดังนี้

1.นำคะแนนรวมทั้งประเทศที่พรรคการเมืองทุกพรรคที่ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อได้รับ จากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งหารด้วยห้าร้อยอันเป็นจํานวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 128 (1) พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.)

กกต. ประกาศว่ามีจำนวนบัตรดี หรือจำนวนคะแนนเสียงที่พรรคการเมืองทั้งหมดได้รับ คือ 35,532,645 เมื่อหารด้วย 500(จำนวน ส.ส. ทั้งหมดในสภา) จะได้ 71,065.29 คือจำนวนคะแนนเสียง ต่อ การมี ส.ส. 1 คน

2.เมื่อได้ผลลัพธ์ตามข้อ 1. ให้นำจำนวนดังกล่าวมาหารกับจำนวนคะแนนที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคได้รับจากทุกเขตเลือกตั้ง พบว่า 20 พรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนมากที่สุดจะมีจำนวน ส.ส. พึงมีพึงได้เบื้องต้นตามตารางช่องจำนวนส.ส.พึงมีพึงได้ (มาตรา 128 (2) พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.)

3.จากนั้นให้นำจำนวน ส.ส.พึงมีพึงได้เบื้องต้นของแต่ละพรรคการเมือง ลบด้วยจำนวน ส.ส. เขต ที่ได้ละพรรคได้ผลที่ได้ออกมาจะเป็นไปตามตารางช่องได้เพิ่ม (มาตรา 128 (3) พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.) ซึ่งในกรณีนี้พรรคเพื่อไทยมี ส.ส.เขต เกินจากจำนวน ส.ส. พึงมีพึงได้แล้วจึงมีจำนวน ส.ส. ทั้งตามที่ได้รับเลือกตั้งในระบบแบ่งเขต และไม่มีสิทธิได้รับ ส.ส. บัญชีรายชื่อ และให้นำจํานวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มีจํานวน ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งต่ำกว่าจํานวนส.ส. ที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตามที่คำนวนได้จากข้อ 2 แต่ต้อง ไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าวมี ส.ส.จํานวนที่จะพึงมีได้ตามที่คำนวนได้ตามข้อ 2 (มาตรา 128 (5) พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.)

4.จากนั้นห้จัดสรรจํานวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมือง จะได้รับให้ครบหนึ่งร้อยห้าสิบคน โดยจัดสรรให้พรรคการเมืองตามผลลัพธ์ตามในข้อ 3 (มาตรา 128 (4) พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.) ทั้งนี้เมื่อคำนวนแล้วพบจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองทุกพรรคได้รับมีจำนวน 152 ซึ่งเกินไปจากจำนวนที่กำหนดไว้คือ 150 มาตรา 128 (7) ให้ทำการเทียบบัญญัติไตรยางค์ โดยให้ดําเนินการคํานวณปรับจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อใหม่โดยคํานวณตามอัตราส่วนที่ทุกพรรคจะได้รับการจัดสรร จํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อซึ่งเมื่อรวมแล้วไม่เกินหนึ่งร้อยห้าสิบคน โดยให้นําจํานวน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะได้รับคูณด้วยหนึ่งร้อยห้าสิบ หารด้วยผลบวกของหนึ่งร้อยห้าสิบกับจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่เกินจํานวนหนึ่งร้อยห้าสิบ

5.จากนั้นเราจะได้จำนวน ส.ส. พึงมีพึงได้ตามได้เทียบบัญติไตรยางค์ตามตารางข้างต้น เมื่อนั้นให้ดำเนินคิดจำนวน ส.ส. ที่พึงมีพึงได้โดยให้คิดจำนวนเต็ม และหากยังมีจำนวนไม่ครบหนึ่งร้อยห้าคนให้พรรคการเมืองที่มีเศษจากการคํานวณมากที่สุดได้รับการจัดสรร จํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกหนึ่งคนตามลําดับจนครบจํานวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน ดังตารางช่อง ม.128 (4) เศษ

6.จากนั้นจะได้จำนวน ส.ส. พึงมีพึงได้ทั้งหมด ตามตารางช่องสุดท้าย

มาตรา 128 ในกรณีที่มีการประกาศผลการเลือกตั้งครบทุกเขตเลือกตั้งแล้ว การคํานวณหา จํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ จะพึงได้รับ ให้คํานวณตามวิธีการดังต่อไปนี้ โดยในกรณีที่มีเศษให้ใช้ทศนิยมสี่ตําแหน่ง

(1) นําคะแนนรวมทั้งประเทศที่พรรคการเมืองทุกพรรคที่ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อได้รับ จากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งหารด้วยห้าร้อยอันเป็นจํานวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร

(2) นําผลลัพธ์ตาม (1) ไปหารจํานวนคะแนนรวมทั้งประเทศของพรรคการเมืองแต่ละพรรค ที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทุกเขต จํานวนที่ได้รับให้ถือเป็นจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้เบื้องต้น และเมื่อได้คํานวณตาม (5) (6) หรือ (7) ถ้ามีแล้ว จึงให้ถือว่า เป็นจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้

(3) นําจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองจะพึงมีได้ตาม (2) ลบด้วยจํานวน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั้งหมดที่พรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้ง ผลลัพธ์คือจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับเบื้องต้น

(4) ภายใต้บังคับ (5) ให้จัดสรรจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมือง จะได้รับให้ครบหนึ่งร้อยห้าสิบคน โดยจัดสรรให้พรรคการเมืองตามผลลัพธ์ตาม (3) เป็นจํานวนเต็มก่อน หากยังไม่ครบจํานวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน ให้พรรคการเมืองที่มีเศษจากการคํานวณมากที่สุดได้รับการจัดสรร จํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกหนึ่งคนตามลําดับจนครบจํานวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน ในกรณีมีเศษเท่ากัน ให้ดําเนินการตาม (6)

(5) ถ้าพรรคการเมืองใดมีผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เท่ากับหรือสูงกว่าจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (2) ให้พรรคการเมืองนั้น มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามจํานวนที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และไม่มีสิทธิได้รับ การจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และให้นําจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มีจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ต่ำกว่าจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (2) ตามอัตราส่วน แต่ต้อง ไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าวมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินจํานวนที่จะพึงมีได้ตาม (2)

(6) ในการจัดสรรตาม (5) แล้วปรากฏว่ายังจัดสรรจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ไม่ครบหนึ่งร้อยห้าสิบคน ให้พรรคการเมืองที่มีเศษจากการคํานวณมากที่สุดได้รับการจัดสรรจํานวนสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกหนึ่งคนตามลําดับจนครบจํานวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน กรณีที่เศษที่เหลือ ของแต่ละพรรคการเมืองเท่ากันจนทําให้ไม่สามารถจัดสรรสมาชิกสภาผ้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อได้ครบจํานวน หนึ่งร้อยห้าสิบคน ให้นําค่าเฉลี่ยคะแนนของแต่ละพรรคการเมืองต่อจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่พึงมีหนึ่งคนมาพิจารณา โดยหากพรรคการเมืองใดมีค่าเฉลี่ยคะแนนของพรรคการเมืองต่อจํานวน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงมีหนึ่งคนมากกว่าพรรคการเมืองอื่น ให้พรรคการเมืองนั้นมีสิทธิได้รับ การจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกหนึ่งคน และหากยังมีจํานวนค่าเฉลี่ยดังกล่าว เท่ากันอีก ให้ใช้วิธีจับสลาก

(7) ในกรณีที่เมื่อคํานวณตาม (5) แล้วปรากฏว่าพรรคการเมืองทุกพรรคได้รับจํานวน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อรวมกันแล้วเกินหนึ่งร้อยห้าสิบคน ให้ดําเนินการคํานวณปรับจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อใหม่โดยคํานวณตามอัตราส่วนที่ทุกพรรคจะได้รับการจัดสรร จํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อซึ่งเมื่อรวมแล้วไม่เกินหนึ่งร้อยห้าสิบคน โดยให้นําจํานวน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะได้รับคูณด้วยหนึ่งร้อยห้าสิบ หารด้วยผลบวกของหนึ่งร้อยห้าสิบกับจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่เกินจํานวนหนึ่งร้อยห้าสิบ และให้นํา (4) มาใช้ในการคํานวณด้วยโดยอนุโลม

(8) เมื่อได้จํานวนผู้ได้รับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองแล้ว ให้ผู้สมัคร ตามลําดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น เป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีที่ผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งตายภายหลังวันปิดรับสมัครรับเลือกตั้งแต่ก่อนเวลาปิด การลงคะแนนในวันเลือกตั้ง ให้นําคะแนนที่มีผู้ลงคะแนนให้ มาคํานวณตาม (1) และ (2) ด้วย

ทั้งนี้ การดําเนินการตาม (1) ถึง (8) ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกําหนด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท