ดุลยภาค ปรีชารัชช: วัดดีกรีประชาธิปไตย เมื่อเผด็จการไทยกำลังแต่งองค์ทรงเครื่อง

ผศ.ดุลยภาค ปรีชารัชช ผู้เชี่ยวชาญการเมืองเปรียบเทียบ มองอนาคตการเมืองไทยหลังเลือกตั้ง 24 มี.ค. การเปลี่ยนผ่านยังนำไปสู่ประชาธิปไตยกึ่งเผด็จการ จำแนกหน่วยวิเคราะห์อิทธิพลทหารในการเมือง 5 ห้อง ทหารจะไม่ปล่อยพื้นที่สงวนอย่างความมั่นคง กิจการในกองทัพ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกอาจมีส่วนกับรูปแบบรัฐบาล-สภา

ผศ.ดุลยภาค ปรีชารัชช (แฟ้มภาพ)

30 มี.ค. 2562 เมื่อวานนี้ (29 มี.ค.) ผศ.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมอภิปรายเสวนาหัวข้อ "อนาคตประเทศไทยหลังเลือกตั้ง 24 มีนา" ที่ มธ. ท่าพระจันทร์ จัดโดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มธ. โดยวิเคราะห์อนาคตการเมืองไทยหลังการเลือกตั้งผ่านการเปรียบเทียบกับต่างประเทศและบริบทในประเทศ

ดุลยภาคกล่าวว่า หากจะต้องจัดกลุ่มระบอบการปกครองของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็คงแบ่งได้เป็นสามประเภท ดังนี้

  1. รัฐที่มีระดับพัฒนาประชาธิปไตยสูง ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ รวมถึงติมอร์เลสเต
  2. รัฐกึ่งประชาธิปไตยกึ่งเผด็จการอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย กัมพูชา พม่า ซึ่งมีความแตกต่างกันในเรื่องพัฒนาการ
  3. รัฐ ‘อประชาธิปไตย’ ก็มีอย่างที่ใช้ระบอบราชาธิปไตยนำคือบรูไน แบบที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์ก็อย่างเวียดนามและลาว

สำหรับไทยนั้นวิ่งขึ้น-ลงอยู่ในสามประเภทนี้ ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาจะทำรัฐประหารเราก็อยู่ในระดับใกล้กับฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย แต่พอรัฐประหาร เราก็ตกมาอยู่ในกลุ่มสุดท้ายแต่อาจจะดีกว่าลาว เวียดนามหรือบรูไนหน่อย

การเลือกตั้งเป็นการเปลี่ยนผ่านภายใต้ชนชั้นนำทหาร คสช. คุมระเบียบการเมืองทั้งก่อนและหลัง เป็นอำนาจนิยมอมประชาธิปไตยอยู่ แต่ว่าดีกว่าอำนาจนิยมแบบปิดไหมก็ถือว่าก้าวหน้ากว่า คะแนนเสียงของ พปชร. มาสูสีกับ พท. ก็เป็นความก้าวหน้าที่ทำให้รัฐไทยมีพัฒนาการก้าวไปเป็นระบอบกึ่งประชาธิปไตยกึ่งเผด็จการ

เมื่อเราดูอีกทีหนึ่ง เผด็จการไทยก็มีการปรับตัว คะแนนการเลือกตั้งทำให้เขาต่ออายุ ทำให้เขาอยู่ได้ แม้ไม่ทำให้เกิดรัฐบาลที่มีเสถียรภาพแบบ คสช. แต่ก็ได้รับการต่ออายุแล้ว คำถามสำคัญคือ ทำไมเผด็จการถึงสนใจจัดเลือกตั้งทั้งๆ ที่มีความเสี่ยง พม่าจัดเลือกตั้งบางครั้งก็สำเร็จ บางครั้งก็แพ้ แต่ในไทยก็น่าคิดต่อ หลังเลือกตั้ง พปชร. คะแนนก็ไม่ขี้เหร่ ทำให้ระบอบอำนาจนิยมแปลงรูป อย่างถ้าจะเป็นเผด็จการในรูปจักรวรรดิก็ต้องแต่งองค์ทรงเครื่องหน่อย การเลือกตั้งเป็นคำตอบหนึ่งที่สร้างควมชอบธรรมให้เผด็จการ

ในเรื่องรูปแบบรัฐ ดุลยภาคตั้งคำถามว่าไทยจะเปลี่ยนเป็นรูปแบบไหน ทางรัฐศาสตร์เราก็รู้ว่ามีรัฐเดี่ยวกับรัฐรวม ไทยเป็นรัฐเดี่ยวรวมศูนย์ ก่อน คสช. เข้ามาเรามีการกระจายอำนาจพอประมาณ ต่อมามีกระแสเรียกร้องการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดมาจาก กปปส. สะท้อนว่า บางอย่าง กปปส. ก็อยากได้รัฐเดี่ยวที่กระจายอำนาจ แต่เมื่อ คสช. ขึ้นมากลายเป็นรัฐรวมศูนย์ที่มีอำนาจเข้มข้น ทำไม พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. เลือกตั้งท้องถิ่นไม่มี หน่วยราชการส่วนกลางและภูมิภาคยังทรงพลัง เมื่อมีการเลือกตั้งครั้งนี้และเกิดการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองก็ต้องมาดูว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. หรือไม่อย่างไร ตัวแบบการกระจายอำนาจจะเป็นวาระสำคัญในสภาได้หรือไม่ เช่น พรรคประชาชาติที่เสนอเรื่องการปกครองตนเองในสาม จ.ชายแดนใต้ หรือแนวคิดเรื่องสภาชนเผ่าของ อนค. คิดว่าต่อจากนี้ไทยคงเป็นรัฐเดี่ยวรวมศูนย์อยู่ แต่ก็คิดว่าระดับของการกระจายอำนาจคงไปได้ไกลกว่าสมัย คสช.

ดุลยภาคกล่าวว่า กรณีรัฐบาลทหารพม่าจัดการเลือกตั้งมีความน่าสนใจ เพราะเลือกตั้งในปี 2554 ที่รัฐบาลทหารจัดให้มีเลือกตั้ง USDP พรรคการเมืองฝ่ายทหารชนะเลือกตั้งถล่มทลายเพราะไร้คู่แข่งเนื่องจากพรรค NLD ไม่ลงเลือกตั้ง การเปลี่ยนผ่านการเมืองก็ราบรื่น เกิดรัฐบาลกึ่งพลเรือนชุดใหม่ แต่สำหรับไทย ทั้งที่เป็นการเปลี่ยนผ่านจากบนลงล่างคล้ายกัน แต่ผลกลับทำให้เกิดแนวโน้มว่าจะมีรัฐบาลผสมที่ พปชร. ก็ไม่มีฤทธานุภาพหรืออำนาจต่อรองมากกว่าอีกฝ่ายขนาดนั้น แต่ผลลัพธ์เหล่านี้ทำให้เหมือนรัฐสภาหลายรัฐในยุโรปที่ใช้รัฐบาลผสมแต่บางอย่างก็มีเสถียรภาพ คิดว่าคำถามการเมืองไทยหลังจากนี้ควรจะดูว่ารัฐบาลผสมมีข้อดีข้อเสียเป็นอย่างไร ถ้าเป็นรัฐบาลผสมภายใต้ระบอบประชาธิปไตยรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจะมีหน้าตาจะเป็นอย่างไร

เมื่อดูในมุ้งรัฐสภา ในทางรัฐศาสตร์สามารถจัดประเภทพรรคการเมืองได้สี่แบบ ฝั่งรัฐบาลอาจจะมีทั้งสายแข็งและอ่อน (Hard/Soft liner) ถ้าสมมติว่า พล.อ.ประยุทธ์ขึ้นคุมรัฐบาลหรือกลุ่มอื่นๆ ที่อยากรักษาพลังอนุรักษ์นิยม ความเป็นอำนาจนิยมให้ทรงพลัง อาจจะเรียกว่าเป็นกลุ่มสายแข็ง (Hard liner) แต่ถ้าเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอย่าง ภท. ปชป. ดีกรีอุดมการณ์อาจจะเป็นสายอ่อน (Soft liner) อีกกลุ่มที่เป็นฝ่ายค้าน หรือไม่เป็นฝ่ายค้านแต่มาเจรจาปรองดองก็สูสี บางกลุ่มในเพื่อชาติหรืออนาคตใหม่มีแนวคิดแบบสุดโต่ง (Radical) ในบางประเด็น และบางกลุ่มในเพื่อไทยอาจเป็นสายกลาง (Moderate) ในบางประเด็นถ้าสี่กลุ่มนี้เข้ามาดีเบทในบางถานการณ์ ก็จะเกิดความเป็นไปได้ (Scenario) หลากหลาย เช่น ถ้าสายแข็งเป็นผู้มีบทบาทเจรจาต่อรองมากใน พปชร. แต่อีกฝ่ายหนึ่งพวกสุดโต่งมีกำลังเจรจาต่อรอง แรงๆ สองคู่ในสภามาเจอกันก็เป็นการเผชิญหน้า แต่ถ้าสายอ่อนกับสายกลางมาเจอกันก็อาจนำไปสู่การปฏิรูปได้ในบางประเด็น

เราไม่ควรมองข้ามว่าเรามีเลือกตั้งในรัฐแบบสเสนาธิปัตย์ ที่ทหารหรือขุนศึกแทรกแซงทางการเมืองมีให้เห็นในวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ คำถามก็คือ บทบาทระดับการแทรกแซงทางการเมืองของทหารไทยจะเปลี่ยนแค่ไหนหลังเลือกตั้ง ส่วนตัวมองว่าหลังเลือกตั้งก็เริ่มเปลี่ยน ก่อนการรัฐประหารโดย พล.อ.ประยุทธ์ ทหารก็ฮึ่มๆ ใส่แต่ละฝ่าย พอรัฐประหารแล้วก็อ้างว่าเป็นผู้พิทักษ์ แล้วกลายเป็นผู้ปกครองโดยตรงเกือบห้าปี แต่เมื่อมีการเลือกตั้งก็ต้องมีวันที่จะเห็นว่า คสช. ต้องลดบทบาท หรือกระทั่งสลายตัวลงไป บทบาททหารจากผู้ปกครองโดยตรงอาจเปลี่ยนเป็นสถานะอื่นอย่างผู้พิทักษ์หรือตัวกลาง

ทั้งนี้ เมื่อดูโครงสร้าง คสช. ก็จะแบ่งได้เป็นหลายแผนก เช่น กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย คนคุมก็คือ ผบ.ทบ. และแม่ทัพภาค แผนกด้านความมั่นคงก็จะคุมกระทรวงสำคัญอย่างกลาโหม มหาดไทย ต่างประเทศ ส่วนเศรษฐกิจก็คุมกระทรวงด้านเศรษฐกิจ การส่งผ่านอำนาจเหล่านี้ให้พรรคการเมืองจะมีการถ่ายทอดที่ราบรื่นแค่ไหนในทางนโยบายและตำแหน่ง ซึ่งก็คิดว่าคงราบรื่นเพราะมียุทธศาสตร์ชาติกำกับอยู่

อีกอย่างคือ มีนักรัฐศาสตร์ชาวเยอรมันเขาบอกว่าให้ดูห้าห้องเวลาจะดูอิทธิพลของทหารในการเมือง หนึ่ง การกะเกณฑ์ชนชั้นนำไปนั่งในสภา ถ้าชนชั้นนำที่มาจากการเลือกตั้งหรือพลเรือนมีเยอะกว่า ระดับประชาธิปไตยก็สดใสอยู่บ้าง สอง ใครคุมนโยบายสาธารณะ ถ้าทหารคุมหมดก็ไม่ต้องทำอะไรแล้ว ระดับประชาธิปไตยจะสูงก็ต้องให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งคุม สาม ความมั่นคงภายใน ตามหลักตำรวจต้องมีอำนาจและหน้าที่มากกว่ากองทัพ สี่และห้าคือการกำหนดนโยบายป้องกันประเทศและบริหารกิจการภายในกองทัพ เช่น ชั้นยศ การเกณฑ์ทหาร สองอันนี้เป็นพื้นที่สงวน พลเรือนไม่ควรเข้ามายุ่ง ก่อนการเลือกตั้งนี้ ทหารไทยหรือ คสช. ค่อนข้างมีบทบาททั้งห้าห้อง แล้วหลังการเลือกตั้ง ดีกรีพลเรือน-กองทัพในปริมณฑลทั้งห้าส่วนจะเป็นอย่างไร คิดว่าเปลี่ยน เพราะ สนช. จะถูกแทนที่ด้วยสภาใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง คนกำหนดนโยบายจะถูกแทนที่ด้วยรัฐมนตรีต่างๆ ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่พื้นที่สงวนที่ทหารมีก็คงไม่ปล่อยไว้ สังเกตจากปฏิกิริยาที่รุนแรงของกองทัพเมื่อมีกระแสปฏิรูปกองทัพมาจากพรรคการเมือง 

ดุลยภาคทิ้งท้ายว่า วันนี้เราถกเถียงเรื่องเอกภาพชาติ ความสงบชาติกับฝ่ายประชาธิปไตย วันนี้เห็นชัดว่าค่ายประยุทธ์ก็เคลมเรื่องความสงบ ความสามัคคี ภาษาอังกฤษก็คือ Unification ฝ่ายประชาธิปไตยก็เคลมเรื่อง Democracy คิดว่าถ้าจะย้อนประวัติศาสตร์ก็ควรจะย้อนไปสมัยพระพุทธเจ้าหลวง ร. 5 โดยเฉพาะการสถาปนารัฐชาติสมัยใหม่ 2435 การปกครองมณฑลเทศาภิบาล สร้างรัฐชาติ Unification เกิดพลังอย่างเหนียวแน่นมาก กองทัพในสมัย ร.5 ถูกสถาปนาขึ้นมาเป็นผู้พิทักษ์ราชบัลลังก์ King กับ Military ค่อนข้างโอเคภายใต้ร่มการ Unification หลังจากนั้นมีจุดที่ทลายพลังดังกล่าวอย่างเหตุการณ์ 2475 ทั้งนี้ ก็ยังมีพลังทางประวัติศาสตร์ที่รื้อฟื้น Unification ออกมาเป็นระยะๆ เช่น 2490 ระบอบสฤษดิ์ที่ทำให้ทหารเริ่มมีอำนาจ จากนั้นก็ ระบอบ รสช. พฤษภาฯ ทมิฬ แม้คณาธิปไตยทหารจะล้มเหลวบ้างแต่ก็ยังส่งผ่านมรดกบางอย่างเพราะบิ๊กจ๊อดกับบิ๊กแดงก็มีมรดกบางอย่าง แต่อีกช่วงเวลาคือรัฐประหารสองครั้งที่เกิดขึ้นในปี 2549 และ 2557 ผมคิดว่าพลังของการตกตะกอนทางประวัติศาสตร์ของค่าย unification ที่มีสมการ M+K พลังก็สะสมอยู่เยอะ ลำดับทางประวัติศาสตร์ถูกจัดลำดับในกระบวนการเลือกตั้งอยู่แล้ว และหลังการเลือกตั้งก็จะเป็นการจำลองมาเลยว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่เอาเข้าจริงก็อยู่ในช่วง 1-7 พ.ค. คั่นก่อนที่ กกต. จะประกาศผลเลือกตั้ง เราจะอยู่หน้ารัฐนาฏกรรมหรือ theatre state ที่จะเป็นเงื่อนไขพื้นฐานต่อรูปแบบของรัฐบาลหรือสภาซึ่งจะเป็นอย่างไร แต่ก็คงจะเห็นรูปแบบของ Unification แบบนี้ต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท