Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

"Article 13 ของ Copyright Direct ฉบับใหม่ของยุโรปมีผลบังคับ" กฎหมายล้มยักษ์ที่จะเข้ามาปรับพื้นที่อำนาจต่อรอง ระหว่างผู้ใช้ (รวมทั้งเจ้าของเนื้อหาทั่วๆไป) กับสื่อโซเชียนมหายักษ์

เรื่องนี้ผมเคยเขียนไปก่อนแล้วในเฟสบุ๊ค แต่ตอนนี้เกิดเป็นข่าวไปทั่วโลกเมื่อง Article 13 ของ Directive on Copyright in the Digital Single Market ("CDSM Directive") ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีข้อถกเถียงมาก เริ่มมีผลบังคับ เพราะเป็นการเปลี่ยนทิศทางของกฎหมายของสหภาพ ("acquis communautaire") ที่แต่เดิมยกเว้นความรับผิดตามกฎหมายในด้านเนื้อหาของผู้ให้บริการ ISP (ภายใต้ E-Commerce Directive) มาเป็นระบบที่กำหนดให้ผู้ประกอบการ tech giant ประเภทใหม่ที่เรียกว่า "online content-sharing service" (ซึ่งไดเรคทีฟเดิมไม่ได้พูดถึง) หันมาควบคุมการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างจริงจัง ให้มีการทำสัญญาอนุญาตให้ใช้ให้ถูกต้อง และให้ความเป็นธรรมกับผู้ผลิตเนื้อหา ซึ่งเท่าที่ผ่านมามีส่วนได้ค่าตอบแทนน้อยในวัฒนธรรม crowd sourcing ในปัจจุบัน

ขณะนี้มีทั้ง real และ fake news ของสำนักต่างๆ ออกมาตีความกฎหมายตัวนี้ตามใจชอบ บ้างก็ว่าเป็นกฎหมายที่ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น หรือเป็น "meme killing" law ของสหภาพยุโรป แต่จริงๆแล้วกฎหมายตัวนี้ มีหน้าตาเป็นอย่างไร? 
*
1. CDSM เป็นกระแสที่มาในทิศทางเดียวกับ GDPR (General Dada Protection Regulation) ของยุโรป ที่ตั้งใจจะคุ้มครองสิทธิพื้นฐานของเอกชนผู้ใช้เทคโนโลยีดิจิตัลจากการครอบงำของบริษัท tech Giant ของสหรัฐอเมริกา ที่เน้นการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการแบบฟรีๆ หรือโดยไม่ได้รับความยินยอม โดยกฎหมายลิขสิทธิ์ของสหภาพยุโรป เป็นระบบ Droit d'auteur (ผู้สร้างสรรค์งาน) ซึ่งมีแนวโน้มที่มองว่า "งานสร้างสรรค์" ทางจิตวิญญาณ (oeuvre d'esprit) เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นส่วนตัว ดังนั้นยุโรปจึงมองว่า "ลิขสิทธิ์" มีลักษณะเป็นสิทธิธรรมชาติเหมือนกับความเป็นส่วนตัว มากกว่าจะเป็นแค่สิทธิทางเศรษฐกิจ
*
2. ในขณะเดียวกัน CDSM ก็สืบทอดแนวนโยบายมาจาก กฎหมาย copyright tax ของประเทศต่างๆ เช่น เยอรมนี หรือสเปน ซึ่งขยายระบบ copyright levy (แต่เดิมเก็บจากผู้ผลิตอุปกรณ์ทำซ้ำ) มาเก็บกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ที่ใช้ search engine ที่ทันสมัยไปกว้างเอาข้อมูลอันมีลิขสิทธิ์ต่างๆ มาแสดงผล/นำเสนอใน index page หรือหน้า portal ของตน ซึ่งสิทธิในการเรียกเก็บเงินจากพวกเว็บที่รวบรวมข้อมูล (news aggregating) ถูกบัญญัติไว้ในมาตรา 11
*
3. ส่วนมาตรา 13 ของ CDSM กำหนดว่า

(a) ผู้ให้บริการประเภท "แชร์เนื้อหา" จะต้องขวนขวายขออนุญาตใช้สิทธิที่เป็นธรรมจากเจ้าของงานให้ถูกต้อง ("conclude fair and
appropriate licensing agreements with right holders") 

(b) แม้เจ้าของลิขสิทธิ์จะไม่ประสงค์จะรักษาสิทธิตามสัญญาอนุญาตให้ใช้ เช่น ในกรณีของผู้ใช้สื่อโซเชียลอย่างเฟสบุ๊ค ที่เข้าตั้งบัญชีใช้งานโดยยอมรับข้อตกลงการใช้ของเฟสบุ๊ค ผู้ให้บริการประเภท "แชร์เนื้อหา" ก็ยังมีความรับผิดชอบที่จะตรวจตราไม่ให้มีการใช้/แชร์เนื้อหาโดยผิดลิขสิทธิ์ จากเว็บของตน

(c) กฎหมายตัวนี้จะไม่ล้วงลูกมาจำกัดอิสระในการทำสัญญาในเชิงบังคับ แต่จะสนับสนุนให้มีการพัฒนา licensing agreement ในระหว่าง ISP กับผู้ใช้ หรือเจ้าของงานแบบที่อุตสาหกรรมเห็นชอบ หรือแบบ "best practice"

(d) กฎหมายนี้ไม่ห้ามการสร้างหรือเผยแพร่ meme เพียงแต่ว่ามีมนั้นจะต้องเข้าเงื่อนไขของการใช้งานโดยชอบธรรม (fair use) ของแต่ละประเทศ 

(f) การเอาเนื้อหาลงจะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ ต้องมีการทบทวนด้วยบุคคล และผู้ใช้จะต้องมีช่องทางในการอุทธรณ์ตามกฎหมาย หรือกระบวนการระงับข้อพิพาทที่สะดวกรวดเร็ว 
*
4. [โดยสรุป]: มาตรา 13 เป็นความพยายามของยุโรปที่ต้องการต่อสู้เพื่อปกป้อง tradition ทางกฎหมายเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารของตนไว้ โดยต้องการ "เผชิญหน้า" กับ tech giants ของอเมริกา ในแบบเดียวกับที่ GDPR ทำไว้ก่อนหน้านี้. แต่ในขณะที่สาธารณะชนสนับสนุน GDPR แต่คนจำนวนมากกลับไม่แฮปปี้กับ CDSM เพราะสังคมปัจจุบันนับว่ามีทัศนคติต่อกฎหมายลิขสิทธิ์ในเชิงลบมาก (ส่วนมากเป็นเพราะการบังคับใช้สิทธิจากฝั่งอเมริกาเองอีกนั่นแหละ) แต่จริงๆ ในระบบกฎหมายของยุโรป จะมองว่าลิขสิทธิ์เป็นส่วนนึงของสิทธิส่วนบุคคล (ทำให้มีระบบ "ธรรมสิทธิ" ที่เข้มแข็ง) และกฎหมาย directive ต่างๆ ล้วนคุ้มครองลิขสิทธิ์ในระดับเข้มข้น (high level of protection) มานานแล้ว และในขณะนี้กำลังขยายนโยบายนั้นมาสู่อุตสาหกรรมสื่อโซเชียล ที่เคยทำตัว "above copyright (law)"  มาตลอด

กฎหมายนี้จึงไม่ใช่กฎหมายเซ็นเซอร์ชิพ หรือ meme killing หรือต่อต้านเทคโนโลยี (Luddism) ในทางลบอย่างที่คนเข้าใจ แต่เป็นกฎหมายที่ทำให้ ISP เจ้าใหญ่ๆ ต้องปรับตัว มีความรับผิดชอบในการใช้ และ/หรือจ่ายค่าทดแทนการใช้งานลิขสิทธิ์ให้เป็นธรรมมากขึ้น นอกจากนี้ก็ลดความไม่เป็นธรรมของสัญญาสำเร็จรูป เช่น พวก term of use agreement ของสื่อโซเชียลยักษ์ใหญ่ที่ปกติจะ "ริบ" เอาสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้ใช้มาเป็นของตน ดื้อๆ แบบไม่มีค่าตอบแทน นี่จึงเป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ที่จะกระตุ้นให้มีการแข่งขันใหม่ๆ มีนวัตกรรมโมเดลทางธุรกิจใหม่ๆ ที่ไม่ใช่ free free free ลูกเดียว และให้มีการใช้เทคโนโลยีอย่างรับผิดชอบ

พูดได้อีกอย่างว่านี่เป็น "กฎหมายควบคุมเทคโนโลยี" โดยมีเจตนาดีประเภทหนึ่ง ไม่ต่างจาก GDPR 
*
5. [ผลกระทบ]: กฎหมายนี้อาจมีผลกระทบด้านลบหรือไม่? - อันนี้คงต้องตอบว่ามีได้แน่นอน โดยเฉพาะในระยะแรก ในขณะที่ ISP ยักษ์ใหญ่กำลังปรับตัวกับกฎหมายใหม่ อาจทำให้มีงานที่ถูกลบทิ้งหรือเอาลงเพราะความกังวลเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ที่มากเกินไป  และ user generated content จำนวนไม่น้อยก็จะได้ผลกระทบ ... แต่ส่วนนี้เป็นเป้าหมายของกฎหมายตัวนี้อยู่แล้ว เพราะนี่เป็นกฎหมายที่ใช้อำนาจของสหภาพยุโรป บังคับให้ ISP ที่มีอำนาจล้นฟ้าของอเมริกันต้องปรับตัว และสะท้อนให้เห็นว่าชีวิตเราถูกผูกขาดครอบงำโดย ISP มหายักษ์ เหล่านี้เพียงไร 
*
- การใช้ "มีม" ยังทำได้ แต่ต้องเข้าข่าย fair use  ดังนั้นการเอาไฮไลท์ฟุตบอลมาทำเป็น compilation ก็อาจได้ผลกระทบเช่นกัน 
*
- ผลกระทบที่เห็นได้ชัดอีกอย่างคือพวก Term of Use ที่ไม่เป็นธรรมทั้งหลายของพวก content-sharing ISP พวกนี้. ถ้าใครเคยเข้าไปอ่าน user agreement ในเว็บของเฟสบุ๊คดู ท่านจะตกใจว่า เขาเอาเปรียบท่านในเรื่องสิทธิเนื้อหาที่ท่านสร้างขึ้นขนาดไหน. สัญญาอนูญาตให้ใช้แบบ "เขียนเอาข้างเดียว" ของเฟสบุ๊คหรือกูเกิ้ล จะต้องถูกร่างใหม่ ให้เป็นธรรมขึ้น และถึงผู้ใช้จะไม่ติดใจจะรักษาสิทธิตน ต่อไปนี้การที่ Social media เอาเนื้อหาของผู้ใช้ไปแชร์ข้ามแพลตฟอร์มก็จะทำไม่ได้อีกต่อไป. 

- นอกจากนี้ในอนาคตข้างหน้ากฎหมายตัวนี้อาจจะมีผลกระทบลึกซึ้งไปถึงเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น Artificial Intelligence ก็ได้ เพราะกฎหมายนี้ ทำให้การเอาข้อมูลมาใช้ฟรีๆ ทำได้ยากขึ้น (ซึ่งอาจจะเป็นผลดีเพราะจะทำให้ AI ชะลอการพัฒนาลง ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างสังคมส่วนรวมกับพวกผู้ควบคุมเทคโนโลยี (technology controler) รายใหญ่ๆ. 


อ้างอิง
[1] https://www.bbc.com/news/technology-47708144

[2] https://www.wired.co.uk/article/what-is-article-13-article-11-european-directive-on-copyright-explained-meme-ban

[3] http://www.europarl.europa.eu/sides/getDoc.do?pubRef=-//EP//NONSGML+TA+P8-TA-2018-0337+0+DOC+PDF+V0//EN


ที่มาภาพ: www.bbc.com/news/technology-47708144

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net