Skip to main content
sharethis

จับแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายกว่า 30 คน หลังได้รับการร้องเรียนแย่งงานคนไทย

พ.ต.อ.สัมพันธ์ เหลืองสัจจกุล ผกก.ตม.จว.ชลบุรี พ.ต.ท.ปิยะพงษ์ เอนสาร สว.ส.ทท.4 กก.2 บก.ทท.1นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวน ตม.ชลบุรี อาสาสมัครฯ และตำรวจท่องเที่ยวเมือง จากกก.2 บก.ทท.1 จำนวนหนึ่งเข้ากวดขันจับกุมบุคคลต่างด้าวที่เข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยผิดกฎหมาย ในพื้นที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี หลังจากได้รับการร้องเรียนว่ามีแรงงานต่างด้าวเข้ามาประกอบอาชีพโดยผิดกฎหมาย บางรายเป็นเจ้าของธุรกิจแย่งอาชีพของคนไทยในพื้นที่

โดยในเบื้องต้นจากการปิดล้อมตรวจค้นสามารถจับกุมแรงงานต่างด้าวชาวพม่าได้กว่า 30 คน ตรวจสอบส่วนใหญ่มีบัตรอนุญาตและมีนายจ้างมารับรองการทำงานโดยถูกต้อง มีเพียง 3 ราย ได้แก่ นายทีม อายุ 30 ปี สัญชาติเมียนมา นายต้า อายุ 23 ปี สัญชาติเมียนมา และนายมีนดู อายุ 17 ปี สัญชาติเมียนมา ในความผิดฐาน “เป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต” จึงได้แจ้งสิทธิตามกฎหมายและนำตัวส่ง พนักงานสอบสวน สภ.สัตหีบ ดำเนินคดีตามกฎหมายเพื่อผลักดันออกนอกประเทศต่อไป

พ.ต.อ.สัมพันธ์ เหลืองสัจจกุล ผกก.ตม.จว.ชลบุรี เปิดเผยว่า การดำเนินการดังกล่าว สืบเนื่องจากได้รับการร้องเรียนว่ามีแรงงานต่างด้าวแอบลักลอบเข้ามาทำงานโดยผิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก บางรายตั้งตัวเป็นผู้ประกอบการเสียเอง อีกทั้งยังเป็นไปตามนโยบายของ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บัญชาการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ให้ทำการตรวจเข้มแรงงานต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยโดยผิดกฎหมายอย่างเคร่งครัด

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 30/3/2562

ปลัดแรงงานแถลงต่อเวที ILO รัฐบาลไทยส่งเสริมสิทธิเสรีภาพความปลอดภัยแรงงาน

เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2562 นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน และนายเสข วรรณเมธี เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐบาลไทย เข้าร่วมการประชุมคณะประศาสน์การ (GB) สมัยที่ 335 โดยรัฐบาลไทยเข้าประชุมในฐานะสมาชิกประจำ (Regular Member) และประเทศผู้ประสานงานอาเซียน ซึ่งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 -28 มีนาคม 2562 ณ สำนักงานใหญ่ ILO สวิตเซอร์แลนด์

โอกาสนี้ นายจรินทร์ฯ ได้ร่วมหารือกับคุณโทโมโกะ นิชิโมโต้ ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ ILO ในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้ 1) การจัดทำแผนงานว่าด้วยงานที่มีคุณค่าของประเทศไทย พ.ศ. 2562 - 2564 (Decent Work Country Program - DWCP) ซึ่งคุณโทโมโกะแสดงความยินดีที่ประเทศไทยได้จัดทำแผนงานดังกล่าวได้สำเร็จเพื่อส่งเสริมงานที่มีคุณค่าให้เกิดขึ้นในประเทศไทย และปลัดกระทรวงแรงงานได้ยืนยันว่าจะให้ทุกหน่วยงาน ในสังกัดกระทรวงแรงงานร่วมกันดำเนินการตามแผนงานฯ ให้สำเร็จลุล่วง 2) กิจกรรมถ่ายทอดงานเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 100 ปี องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (24 hour Global Tour) ในวันที่ 11 เม.ย. 2562 ไปทั่วโลก คุณโทโมโกะมีความทราบซึ้งใจอย่างมากที่ประเทศไทยได้ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงานดังกล่าว และเสียใจที่ไม่สามารถมาร่วมงานได้ แต่อย่างไรก็ตาม นายเกรม บักเลย์ ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย กัมพูชา และลาว จะไปร่วมงานอย่างแน่นอน 3) การประชุมเรื่อง อนาคตของงานที่สิงคโปร์ (Singapore Conference on Future of Work) ในระหว่างวันที่ 29-30 เม.ย. 2562 ซึ่งจะมีกิจกรรมที่สำคัญ 3 กิจกรรม ได้แก่ การจัดทำแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีอาเซียนเกี่ยวกับอนาคตของงาน การประชุมระดับเจ้าหน้าที่ อาเซียน +6 + มองโกเลีย และติมอร์เลสเต และการหารือไตรภาคี ซึ่งประกอบด้วยฝ่ายรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง

ปลัดกระทรวงแรงงานแจ้งว่า ประเทศไทยได้รับหนังสือเชิญเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวแล้ว และจะมีผู้แทนจากประเทศไทยเข้าร่วม นอกจากนี้ ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 11 เม.ย. นี้ ประเทศไทยจะจัดการเสวนา หัวข้อ “อนาคตของงาน” ต่อจากกิจกรรมถ่ายทอดสดฯ ซึ่งคุณโทโมโกะ เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีมากที่ประเทศไทยจะได้ร่วมแบ่งปันผลจากการประชุมดังกล่าวในที่ประชุมที่สิงคโปร์ และเพื่อผนวกเป็นข้อมูลสนับสนุนของอาเซียนสำหรับหารือที่ประชุมใหญ่ประจำปี สมัยที่ 108 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศต่อไป นอกจากนี้ คุณโทโมโกะยังได้ทาบทามรัฐบาลไทยถึงความพร้อมในการรับเป็นประเทศเจ้าภาพจัดการประชุมระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่กำหนดในราวเดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งฝ่ายไทยขอทราบภาระหน้าที่เพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป

ในวันเดียวกัน นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวถ้อยแถลงร่วมอาเซียน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เรื่องการติดตามมติกรณีเมียนมาตามมติที่ประชุมใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ สมัยที่ 102 ค.ศ. 2013 ต่อที่ประชุมคณะประศาสน์การ สมัยที่ 335 (335 GB) โดยได้ชื่นชมต่อพัฒนาการล่าสุดของรัฐบาลเมียนมาในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงนามใน Decent Work Country Program ระหว่างรัฐบาลเมียนมาและองค์การแรงงานระหว่างประเทศ เมื่อเดือนกันยายน 2561 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งขอให้องค์การแรงงานระหว่างประเทศและองค์กรอื่น ๆ ภายใต้สหประชาชาติให้ความช่วยเหลือตามที่จำเป็นในการสนับสนุนการขับเคลื่อน Decent Work Country Program ในเมียนมาเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และมีความยินดีต่อการรับรองกฎหมายอาชีวอนามัยและความปลอดภัยโดยรัฐสภาของเมียนมา สนับสนุนให้รัฐบาลเมียนมาคงความพยายามในการปฏิรูปกฎหมายด้านแรงงานผ่านการหารือกับเวทีไตรภาคีในระดับประเทศในการขจัดการใช้แรงงานบังคับ ตลอดจนการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของแรงงาน

ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 29/3/2562

ประกันสังคมดูแลผู้ประกันตนทุพพลภาพตลอดชีวิต

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีผู้ประกันตนประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงานจนเป็นเหตุให้ทุพพลภาพ ว่า ปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมได้เพิ่มสิทธิกรณีทุพพลภาพให้กับผู้ประกันตน จากเดิมผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพต้องสูญเสียสมรรถภาพของร่างกาย ตั้งแต่ร้อยละ 50 ขึ้นไป ถึงจะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพ เพิ่มเป็นให้ผู้ประกันตนที่สูญเสียสมรรถภาพของร่างกายไม่ถึงร้อยละ 50 มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพ

และในกรณีผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพอยู่ก่อนวันที่ 31 มี.ค. 2538 จากเดิมให้ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 15 ปี เพิ่มเป็นให้สิทธิผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพอยู่ก่อนวันที่ 31 มีนาคม 2538 ให้ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้เป็นตลอดชีวิต

อย่างไรก็ตามขอให้ผู้ประกันตนดูแลตนเองในการดำรงชีวิต หากประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยก็สามารถใช้สิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนจากสำนัก งานประกันสังคม และขอให้เชื่อมั่นว่าจะดูแลผู้ประกันตนทุกคนในระบบให้ได้รับสิทธิประโยชน์อันพึ่งได้และประโยชน์สูงสุดของผู้ประกันตนเป็นสำคัญ

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 29/3/2562

รมว.แรงงาน ศึกษาการจ้างงาน 'วัยเก๋า-สตรี-คนพิการ' ที่ญี่ปุ่น

29 มี.ค. 2562 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เดินทางไปพบปะ ตรวจ ติดตาม และให้กำลังใจแรงงานไทยที่ไปฝึกงานด้านเทคนิคที่บริษัท Exedy Taiyo จำกัด ที่เมืองเนยากาวา จังหวัดโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งการส่งแรงงานไทยไปฝึกงานฯ นั้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเรียนรู้ และฝึกประสบการณ์ด้านทักษะทางเทคนิค และอื่นๆ จากประเทศญี่ปุ่น ให้สามารถนำความรู้ประสบการณ์จากการฝึกงานกลับมาปรับใช้เมื่อกลับมายังประเทศไทย

ทั้งยังเป็นการยกระดับแรงงานไทยสู่สากล และเป็นการสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศอีกด้วย สำหรับการส่งแรงงานไทยไปฝึกงานด้านเทคนิคที่ประเทศญี่ปุ่นนั้น เป็นไปตามความร่วมมือระหว่างกระทรวงแรงงานแห่งราชอาณาจักรไทย และประเทศญี่ปุ่น อันประกอบไปด้วย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ แห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้ร่วมให้สัตยาบันในบันทึกความร่วมมือว่าด้วยโครงการฝึกปฏิบัติงานเทคนิคร่วมกัน

รมว.แรงงาน ได้ไปเยี่ยมเยียน พร้อมให้กำลังใจแรงงานไทยที่ฝึกงานด้านเทคนิค ณ บริษัท Exedy Taiyo จำกัด ซึ่งบริษัท Exedy Taiyo จำกัด เป็นผู้ประกอบกิจการ แมนวลคลัทช์ (คลัทช์สำหรับเกียร์ธรรมดา), ทอร์คคอนเวอร์เตอร์ (เครื่องแปลงกำลังหมุนสำหรับใช้สำหรับเกียร์อัตโนมัติ), เครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง, และชุดคลัทช์สำหรับรถจักรยานยนต์ เป็นต้น โดยการฝึกงานดังกล่าวจะทำให้แรงงานไทยได้นำประสบการจากการฝึกงานด้านเทคนิค กลับมาปรับใช้ พร้อมทั้งยกระดับภาคอุตสาหกรรมของไทยต่อไป

พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวแสดงความยินดีกับคนงานไทยที่ได้มีโอกาสมาฝึกปฏิบัติงานฯ ในครั้งนี้ พร้อมกับให้โอวาทว่า “ทุกคนเป็นกำลังสำคัญของประเทศ เป็นผู้แทนของประเทศไทย ขอให้ฝึกวินัยอย่างเข้มข้น มุ่งมั่นตั้งใจทำงานอย่างจริงจัง มีระเบียบวินัย มีความเสียสละ อดออม พัฒนาทักษะด้านแรงงาน ด้านภาษา ปฏิบัติตามกฎหมายและวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่น รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด สิ่งมึนเมา การพนันและอบายมุข เก็บเกี่ยววิชาความรู้และประสบการณ์ทำงานไปต่อยอดในการประกอบอาชีพเมื่อเดินทางกลับไปยังประเทศไทย ตลอดจนวางแผนอนาคตข้างหน้าตลอดเวลา คาดเชื่อมั่นเป็นผู้จัดการในอนาคต”

นอกจากนี้ รมว.แรงงาน และคณะ ได้ศึกษาดูงาน ด้านการบริหารจัดการความปลอดภัย อาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อม ระบบการจ้างงานผู้สูงอายุ การสนับสนุนการจ้างงานผู้หญิง (ไลน์ผลิตสำหรับผู้หญิง) การจ้างงานคนพิการซึ่งเป็นคนพิการทางสมองแต่สามารถทำงานได้ดีเท่ากับคนปกติ (Exedy Sun) การจัดสถานดูแลเด็กเล็ก (A Kiddy Land) ของบริษัท Exedy Taiyo จำกัด จากนั้นยังได้เดินทางไปศึกษาดูงานสถานที่เรียนรู้สำหรับเด็กซึ่งเป็นบุตรของลูกจ้างในสถานประกอบการ (ChilDren’s Centres for Early Childhood Development) และการเรียนการสอนเรื่องความปลอดภัย/safety network ณ Neyagawa city โดยมีนายกเทศมนตรีเมืองเนยากาว่าให้การต้อนรับ อีกด้วย

ที่มา: ข่าวสด, 29/3/2562

เตือนแรงงานไทย หลังบรูไนเริ่มใช้กฎหมายชารีอะห์ โทษสูงสุดอาจถูกแขวนคอ-ปาหินจนเสียชีวิต

หลังจากที่มีข่าวเกี่ยวกับทางการบรูไนเตรียมบังคับใช้กฎหมายชารีอะห์ ซึ่งมีบทลงโทษรุนแรงถึงขั้นถูกแขวนคอ-ปาหินจนเสียชีวิต กรมการกงสุลจึงเผยแพร่ข้อมูลรู้ไว้ก่อนไปบรูไน เมื่อช่วงวานนี้โดยระบุว่า

ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. 25629 เป็นต้นไป บรูไนจะเริ่มบังคับใช้กฎหมายอาญาภายใต้กฎหมายชารีอะห์ (Criminal Code Order) ที่มีบทลงโทษรุนแรง โดยกฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายทางศีลธรรมของศาสนาอิสลามที่ควบคุมความประพฤติส่วนตัวและการกระทำต่อสาธารณชน โดยจะมีผลบังคับใช้ต่อชาวบรูไนทั้งหมด ทั้งที่นับถือศาสนาอิสลามและศาสนาอื่นๆ รวมทั้งชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในบรูไนด้วย

มาตรการลงโทษจะพิจารณาจากฐานความผิด พฤติกรรมและการกระทำผิด เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การหมิ่นศาสนา การลักทรัพย์ การข่มขืน การผิดรักกับคนเพศเดียวกัน เป็นต้น โดยจะมีบทลงโทษจากสถานเบาไปถึงสถานหนัก เช่น การปรับ การจำคุก การเฆี่ยนตี การตัดมือและอวัยวะอื่นๆ การขว้างปาหินใส่ผู้กระทำผิด รวมถึงการแขวนคอ เป็นต้น

กรมการกงสุลขอแจ้งเตือนคนไทย ที่จะเดินทางไปบรูไนหรือพำนักอาศัยในบรูไนให้ทราบถึงบทลงโทษของกฎหมายดังกล่าวซึ่งมีความรุนแรง โปรดปฏิบัติตามกฎหมายของบรูไนอย่างเคร่งครัดและหลีกเลี่ยงที่จะกระทำผิด

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม: สายด่วน สถานเอกอัครราชทูต ณ บันดาร์เสรีเบกาวัน โทร. +67 3876 2849 เฟซบุ๊ก สถานเอกอัครราชทูต ณ บันดาร์เสรีเบกาวัน: Royal Thai Embassy, Bandar Seri Begawan หมายเลขคอลเซ็นเตอร์ กรมการกงสุล โทร. +66 2572 8442

ที่มา: กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ, 28/3/2562  

ประกันสังคมแจง ผู้ประกันตน ม.40 ได้รับสิทธิสงเคราะห์บุตรเหมือนผู้ประกันตนประกันสังคม

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในการรับสิทธิกรณีสงเคราะห์บุตรของผู้ประกันตนมาตรา 40 ว่า กรณีดังกล่าวสำนักงานประกันสังคมขอเรียนว่าผู้ประกันตนมาตรา 40 ยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรเช่นเดียวกับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ในระบบประกันสังคมทุกประการ

โดยพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 บัญญัติว่า “ในกรณีที่บิดาและมารดาเป็นผู้ประกันตน ให้บิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์เพียงฝ่ายเดียว” คำว่า “ผู้ประกันตน” ไม่ได้กำหนดว่าเป็นผู้ประกันตนตามมาตราใดหรือประเภทใด กรณีนี้จึงต้องถือว่าผู้ประกันตนตามมาตรา 75 ตรี หมายถึงผู้ประกันตนทุกประเภทซึ่งรวมถึงผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ด้วย ดังนั้น เมื่อบิดาหรือมารดาเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือมาตรา 39 หรือมาตรา 40 ให้บิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรได้เพียงฝ่ายเดียว

ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมมิได้ลดทอนสิทธิประโยชน์ทดแทนทุกกรณีของผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แต่อย่างใด หากแต่ยิ่งจะเพิ่มสิทธิประโยชน์มากยิ่งขึ้นอีก เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ประกันตนเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม สำนักงานประกันสังคมยังคงมุ่งมั่นขยายความคุ้มครองและสวัสดิการที่ดีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตไปยังแรงงานนอกระบบอย่างไม่หยุดนิ่ง จึงขอเชิญชวนผู้ที่สนใจสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 สามารถใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียว ก็สมัครได้ และการจ่ายเงินสมทบก็มีความสะดวกสบาย จ่ายได้ที่เคาน์เตอร์เซอร์วิสตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป รวมทั้งที่ทำการไปรษณีย์ ตู้เติมเงิน ที่กระจายไปตามหมู่บ้าน ตำบลทั่วประเทศ ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกันตนในการเข้าถึงบริการของสำนักงานประกันสังคม

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 28/3/2562

ชวนแรงงาน 21 ล้านคน สมัครออมเงินผ่าน กอช.

น.ส.จารุลักษณ์ เรืองสุ วรรณ เลขาธิการคณะกรรม การกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เปิดเผยว่า ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ทางเลือกที่ 1 สามารถสมัครออมเงินควบคู่ไปกับ กอช. โดยจะได้เติมเต็มเงินออมหลังเกษียณเป็นรายเดือน เพื่อตอบโจทย์ความมั่นคงทาง การเงิน พร้อมรับสิทธิประโยชน์จากการออมเงินกับ กอช. 3 ต่อ ได้แก่ 1.รับเงินสมทบจากรัฐ ในแต่ละช่วงอายุสมาชิก ช่วงอายุ 15-30 ปี รัฐสมทบให้ 50% ของเงินออมแต่ละครั้ง โดยรวมกันทั้งปีไม่เกิน 600 บาท, ช่วงอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป-50 ปี รัฐสมทบให้ 50% ของเงินออมแต่ละครั้ง โดยรวมกันทั้งปีไม่เกิน 960 บาท และช่วงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป-60 ปี รัฐสมทบให้ 100% ของเงินออมแต่ละครั้ง โดยรวมกันทั้งปีไม่เกิน 1.2 พันบาท

2.ผลตอบแทนของเงินสะสมและเงินสมทบที่นำไปลง ทุน โดยรัฐบาลจะค้ำประกันผลตอบแทนการลงทุนในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน เฉลี่ย 7 ธนาคาร และ 3.ลดหย่อนภาษีได้เต็มจำนวน เงินออมสะสม

"กอช.เป็นหน่วยงานเพื่อเสริมสร้างระบบบำนาญให้แก่ผู้ที่เป็นแรงงานนอกระบบ ที่มีช่วงอายุ 15-60 ปี อาทิ นักเรียน นิสิต นักศึกษา พ่อค้าแม่ค้า ชาวไร่ชาวนา ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เป็นต้น ไปจนถึงผู้ที่ไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33, มาตรา 39, มาตรา 40 ทางเลือก 2 และมาตรา 40 ทางเลือก 3 และไม่เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) รวมถึงไม่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถใช้สิทธิในการสมัครเป็นสมาชิก กอช.จำนวนกว่า 21 ล้านคนทั่วประเทศ" น.ส.จารุลักษณ์กล่าว

อย่างไรก็ดี กอช.ได้ยกระดับการออมเงินผ่านแอปพลิเคชัน "กอช." เพื่อให้เข้าถึงช่องทางการให้บริการการออมเงินของ กอช.แบบครบวงจร ทั้ง การตรวจสอบสิทธิก่อนการสมัครสมาชิก การคำนวณบำ นาญให้ตัวเองหรือผู้อื่น การเข้า ดูข้อมูลข่าวสารต่างๆ ของกอง ทุน โดยสามารถดาวน์โหลด แอปพลิเคชัน กอช. ทั้งระบบไอโอเอสและเพลย์สโตร์ได้

ที่มา: ไทยโพสต์, 26/3/2562

โตโยต้า จ่ายโบนัส-เงินพิเศษ มากกว่าข้อเรียกร้องสหภาพแรงงาน

โตโยต้ากระเป๋าหนัก ประกาศขึ้นเงินเดือนพนักงาน 6.8% บวกโบนัส 8 เดือน ประธานใจใหญ่จ่ายเพิ่ม 3.4 หมื่นบาท ซื้อใจพนักงาน 1.4 หมื่นคน เผยเพิ่มสวัสดิการเพียบ ฮอนด้า-มาสด้า-มิตซูบิชิ พาเหรดจ่ายหนัก เผยตลาดรถปี 2561 ทะลุล้านคัน คนทำงานอุตฯ รถยนต์อู้ฟู่แน่นอน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสำรวจโบนัสที่กลุ่มธุรกิจยานยนต์และชิ้นส่วนมอบให้กับผู้บริหารและพนักงาน โดยเฉพาะปีที่ผ่านมาตลาดรถยนต์ฟื้นตัวอย่างชัดเจน ทุกบริษัทปิดยอดขายด้วยตัวเลข 1,039,158 คัน เพิ่มขึ้น 19.2% และมั่นใจว่าปี 2562 นี้ตลาดรวมน่าจะอยู่ที่ 1 ล้านคัน ทำให้แต่ละค่ายยอมทุ่มซื้อใจพนักงานกันอย่างเต็มที่

รายงานข่าวจากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปลายสัปดาห์ที่แล้ว ท่านประธานมิจิโนบุ ซึงาตะ ได้ประกาศจ่ายโบนัสพนักงานในอัตรา 8 เดือน บวกเงินพิเศษเพิ่ม 34,000 บาท โดยแบ่งจ่ายเป็น 2 รอบ คือ กลางปีและสิ้นปีอย่างละ 4 เดือน ทั้งนี้เป็นผลมาจากผลประกอบการในปีที่ผ่านมา โตโยต้าขายทะลุ 3 แสนคัน โต 31.2% มีส่วนแบ่งตลาด 30.3% ประกอบกับปีนี้โตโยต้ามีการลงทุนเพิ่มเติมหลังยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ภายใต้แพ็กเกจโครงการรถยนต์ไฮบริด ปลั๊ก-อินไฮบริด และรถยนต์อีวีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยก่อนหน้านี้สหภาพแรงงานโตโยต้า ประเทศไทยและกลุ่มผู้บริหารบริษัทได้เจรจาต่อรองเรื่องเงินช่วยเหลือพิเศษ จนได้ข้อสรุปที่ 24,000 บาทให้กับพนักงานทั้งหมด 1.4 หมื่นคน อย่างไรก็ตาม ท่านประธานได้พิจารณาบวกเพิ่มให้อีก 10,000 บาท ทำให้ทุกคนจะได้เงินพิเศษเพิ่มเป็น 34,000 บาท พร้อมขึ้นเงินเดือนพนักงานในอัตรา 6.8%

“ปีนี้ถือว่าพิเศษกว่าทุกปี นอกจากโบนัส เงินพิเศษที่ได้มากกว่าข้อเรียกร้อง ยังมีปรับปรุงสวัสดิการที่เอื้อประโยชน์กับพนักงานอีกหลากหลายรายการ”

แหล่งข่าวฝ่ายบริหาร บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่าค่ายนิสสันกำลังสรุปโบนัส ซึ่งตอนนี้ตัวเลขยังอยู่ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว และมีบวกเพิ่มตามความสามารถ ซึ่งน่าจะลงตัวภายในสิ้นเดือนนี้ ประกอบกับนิสสันกำลังอยู่ระหว่างเปลี่ยนผู้บริหารระดับสูงโดยนายอันตวน บาร์เตสประธาน นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทยคนปัจจุบัน จะไปรับตำแหน่งใหม่ของนิสสันในต่างประเทศ พร้อมทั้งประกาศแต่งตั้งราเมช นาราสิมัน ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป

นายราเมชมีประสบการณ์กว่า 20 ปีด้านการบริหารและการเงินในอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งในประเทศออสเตรเลีย จีน ฟิลิปปินส์ และอังกฤษ

“ปกติการเรียกร้องของสหภาพแรงงานยื่นเสนอมายังค่ายรถยนต์จะอยู่ราว ๆ 8-11 เดือน เงินพิเศษ 3-8 หมื่นบาท ส่วนอัตราการขึ้นเงินเดือนอยู่ประมาณ 7-9% ซึ่งก็แล้วแต่ค่ายรถยนต์ที่จะนำไปพิจารณาร่วมกับผลประกอบการของตัวเอง”

ขณะที่ค่ายอื่น ๆ ก็อยู่ระหว่างการพิจารณาเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่น่าจะใกล้เคียงปี 2561 อาทิ ค่ายฮอนด้าปีที่ผ่านมาจ่ายโบนัส 8 เดือน และเงินพิเศษ 25,000 บาท มิตซูบิชิราว ๆ 6-7 เดือน บวกเพิ่มเงินพิเศษ แต่อย่างไรก็ตาม คนมิตซูบิชิเองประเมินว่าปีนี้น่าจะมีการซื้อใจพนักงานเพิ่มเติม หลังจากต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บีโอไอเห็นชอบให้ส่งเสริมกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (PHEV) ของบริษัทด้วยเม็ดเงินลงทุน 3,130 ล้านบาท โดยโครงการนี้จะใช้ชิ้นส่วนสำคัญที่ผลิตในประเทศ และมีแผนพัฒนาผู้ผลิตวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนในประเทศ เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลตามมาตรการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

เช่นเดียวกับผู้บริหารมาสด้า ระบุปี 2561 ที่ผ่านมายอดขายมาสด้าดีมากเกินเป้าที่กำหนด คือ ทำยอดขายได้สูงถึง 70,475 คัน เติบโตเพิ่มขึ้นถึง 37% ส่วนปี 2562 ประเมินว่าน่าจะขายได้ถึง 75,000 คัน หรือเติบโต 5-10% ประเด็นนี้กำลังนำมาพิจารณาการจ่ายโบนัส ซึ่งน่าจะมากกว่าปี 2561 ซึ่งได้ 6 เดือน บวกความสามารถอื่น ๆ เพิ่มเติม

ผู้สื่อข่าวยังรายงานอีกว่า ขณะนี้ค่ายซูซูกิอยู่ระหว่างสรุปการจ่ายโบนัสซึ่งใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 6 เดือน บวกเงินพิเศษอีกราว ๆ 30,000 บาท โดยปี 2561 ที่ผ่านมาซูซูกิประสบความสำเร็จโกยยอด 28,503 คัน เพิ่มขึ้น 14% จาก 25,011 คันในปีก่อนหน้านี้ และปี 2562 นี้ตั้งใจจะขายถึง 33,000 คัน โต 16%

ไม่ต่างจากค่ายฟอร์ด ที่จะปิดปีงบประมาณราวเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งกำลังต้องรอดูผลประกอบการทั้งปี โดยฟอร์ดก็ถือเป็นอีกค่ายที่ทำผลงาน ปี 2561 ยอดเยี่ยม ปิดตัวเลขขาย 6.6 หมื่นคัน และกำหนดเป้าหมายการขายปีนี้ใกล้ ๆ 8 หมื่นคัน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 23/3/2562

ประกันสังคม ขานรับ อสม.เข้ามาตรา 40

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีความเป็นไปได้ในการรับอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เข้าสู่ระบบประกันสังคมมาตรา 40 ว่า เมื่อวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมเวทีแลก เปลี่ยนเรียนรู้การจัดระบบสวัสดิการ อสม. ในวันอาสาสมัครสาธารณาสุขแห่งชาติ ประจำปี2562 โดยมีผู้บริหารจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และผู้แทนสำนักงานประกันสังคมผู้อำนวยการสำนักเสริมสร้างความมั่นคงแรงงานนอกระบบ ซึ่งที่ประชุมได้มีการเสวนาเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากการประกันสังคมมาตรา 40 ทั้ง 3 กรณี ขณะที่ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ประธานชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด และเลขานุการชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด โดยที่ประชุมได้ร่วมหารือแนวทางในการเสนอรูปแบบการออมสำหรับ อาสาสมัครสาธารณสุขแต่ละหน่วย

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อว่า สำนักงานประกันสังคมมีความพร้อมหากอาสาสมัครสาธารณสุขจะเข้าสู่ระบบประกันสังคม โดยมีสวัสดิการมาตรา 40 รองรับใน 3ทางเลือก ได้แก่ ทางเลือก 1 และ2 จ่ายเงินสมทบ 2 อัตรา โดยให้เลือกในอัตราเดือนละ 70 บาท และอัตราเดือนละ 100 บาท จะได้รับสิทธิเพิ่มเป็นเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีนอนพักรักษาตัวในสถานพยาบาลเป็นวันละ 300 บาท กรณีไม่นอนพักรักษาตัวในสถานพยาบาล แต่มีใบรับรองแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัว ตั้งแต่ 3 วันขึ้นไปจะได้รับวันละ 200 บาท(กรณีนอนพักรักษาตัวกับไม่นอนพักรักษาตัว รวมกันไม่เกิน 30 วันต่อปี) กรณีไปพบแพทย์ แต่แพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวไม่ถึง 3วัน จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ ครั้งละ50 บาท ปีละไม่เกิน 3 ครั้ง ให้เงินสงเคราะห์กรณีตายเพิ่มอีก 3,000 บาท ถ้าส่งเงินครบ 60 เดือน และทางเลือกที่ 3 โดยจ่ายเงินสมทบเดือนละ 300 บาท ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีนอนพักรักษาตัวในสถานพยาบาล วันละ 300 บาทกรณีไม่นอนพักรักษาตัวในสถานพยาบาล แต่มีใบรับรองแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัว ตั้งแต่ 3 วันขึ้นไปได้รับวันละ 200 บาท (สำหรับทางเลือกใหม่ กรณีนอนพักรักษาตัว กับไม่นอนพักรักษาตัว รวมกันไม่เกิน 90 วันต่อปี)

อีกทั้งเพิ่มเงินทดแทนกรณีทุพพลภาพเป็นตลอดชีวิต เพิ่มค่าทำศพเป็น 40,000 บาท เพิ่มเงินบำเหน็จชราภาพเป็นเดือนละ 150 บาท ส่งเงินครบ 180 เดือน ให้เงินเพิ่มอีก 10,000 บาท เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรคนละ 200 บาท คราวละไม่เกิน 2 คน บุตรแรกเกิด แต่ไม่เกิน 6 ปีบริบูรณ์ ท้ายนี้ สำนักงานประกันสังคมหวังว่าจะมีอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เข้าสู่ระบบประกันสังคม และมีความยินดีให้สวัสดิการในการดูแลแรงงานนอกระบบเข้าถึงหลักประกันสังคมอย่างทั่วถึง อีกทั้งพร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนเพื่อให้ภาคแรงงานทุกกลุ่มอาชีพและคนไทยทุกคนมีหลัก ประกันถ้วนหน้า สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีต่อไป

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 22/3/2562

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net