Skip to main content
sharethis

ผลสำรวจ 'สวนดุสิตโพล' ระบุคน 69% เป็นห่วงเรื่องความไม่โปร่งใส ทุจริตการเลือกตั้ง ผลคะแนนไม่ชัดเจน รู้สึกผิดหวังมากถึง 48.7% เพราะความไม่โปร่งใสในการเลือกตั้ง การทำงานของ กกต. การนับผลคะแนน-ประกาศผลล่าช้า 'นิด้าโพล' ระบุคนค่อนข้างพึงพอใจผลเลือกตั้ง 43.15% ด้าน 'ซูเปอร์โพล' ระบุ 82.7% เห็นควรรอผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการหลัง 9 พ.ค. ก่อนจัดตั้งรัฐบาล มีเพียง 17.3% เห็นว่าควรจัดตั้งรัฐบาลทันที

31 มี.ค. 2562 สวนดุสิตโพลมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้เผยแพร่ผลโพล หลังออกสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จากจำนวนทั้งสิ้น 1,752 คน ระหว่างวันที่ 26-30 มีนาคม 2562 ถึงประเด็นหลังจากมีการจัดการเลือกตั้งขึ้นทั่วประเทศ เพื่อถอดบทเรียนจากการเลือกตั้งครั้งนี้ สรุปผลสำรวจ ดังนี้

เมื่อสอบถามว่าประชาชนคิดอย่างไรกับการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 24 มี.ค. ที่ผ่านมา พบว่าร้อยละ 45.2 ยังคิดว่ามีหลายประเด็นที่น่าสนใจ เช่น ความไม่โปร่งใส การทำงานของ กกต.และข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น ร้อยละ 21.2 คิดว่าประชาชนตื่นตัว ออกมาใช้สิทธิจำนวนมาก ร้อยละ 16.5 คิดว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญ มีผลต่อบ้านเมืองและเศรษฐกิจของประเทศ และร้อยละ 13 ยังรอลุ้นผลการเลือกตั้ง พรรคไหนจะได้จัดตั้งรัฐบาล ใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่สิ่งที่ประชาชนประทับใจที่สุดในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พบว่ามีถึงร้อยละ 66 ที่ดีใจที่ได้เห็นผู้คนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ทำหน้าที่ของตัวเอง

และเมื่อถามถึงประเด็นที่วิตกกังวลเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาชนกว่า ร้อยละ 69 เป็นห่วงเรื่องความไม่โปร่งใส ทุจริตการเลือกตั้ง ผลคะแนนไม่ชัดเจน ร้อยละ 28 เป็นห่วงการจัดตั้งรัฐบาล ผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 11 เป็นกังวลว่าจะเกิดความวุ่นวายทางการเมืองมากขึ้นกว่านี้

และเมื่อถามถึงภาพรวมของการเลือกตั้งครั้งล่าสุด พบว่าประชาชนรู้สึกผิดหวังมากถึงร้อยละ 48.7 เพราะความไม่โปร่งใสในการเลือกตั้ง, การทำงานของ กกต. การนับผลคะแนน-ประกาศผลล่าช้า ส่วนร้อยละ 30.7 รู้สึกเฉยๆ กับการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะไม่ได้คาดหวังใดๆ ขณะที่ร้อยละ 20.5 รู้สึกสมหวังกับการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะได้ไปใช้สิทธิ และได้ผู้สมัครที่ตรงใจ อย่างไรก็ตาม ประชาชนร้อยละ 40 คิดว่าหลังจากการเลือกตั้ง สภาพบ้านเมืองก็ยังคงจะเป็นเหมือนเดิม ยังไม่มีรัฐบาลชุดไหนเข้ามาแก้ปัญหาเรื้อรังต่างๆได้ และสังคมก็ยังแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอยู่ดี โดยขณะที่ร้อยละ 31.8 มองว่าสังคมจะแย่ลงกว่าเดิม เพราะรัฐบาลขาดเสถียรภาพ

'นิด้าโพล' ระบุคนค่อนข้างพึงพอใจผลเลือกตั้ง 43.15%

ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง 2562” ซึ่งสำรวจระหว่างวันที่ 25 – 26 มี.ค. 2562 จากผู้ที่ไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ที่ผ่านมา กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ จำนวน 1,182 ตัวอย่าง เกี่ยวกับการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง 2562 ที่ผ่านมา

จากการสำรวจเมื่อถามถึงการไปลงคะแนนเสียงของประชาชนในการเลือกตั้งที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 91.96 ระบุว่า ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ขณะที่ร้อยละ 8.04 ระบุว่า ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในวันที่ 17 มีนาคม 2562

ส่วนการไปเฝ้าดูการนับคะแนนเสียงเลือกตั้งที่คูหาของประชาชน พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 82.83 ระบุว่า ไม่ได้ไปเฝ้าดูการนับคะแนนเสียงเลือกตั้งที่คูหา รองลงมา ร้อยละ 17.17 ระบุว่า ได้ไปเฝ้าดูการนับคะแนนเสียงเลือกตั้งที่คูหา

ด้านความคิดเห็นต่อความบริสุทธิ์ยุติธรรมในการจัดการเลือกตั้งที่ผ่านมา พบว่า ประชาชน ร้อยละ 7.02 ระบุว่า มีความบริสุทธิ์ยุติธรรมมากที่สุด ร้อยละ 18.95 ระบุว่า มีความบริสุทธิ์ยุติธรรมมาก ร้อยละ 38.16 ระบุว่า มีความบริสุทธิ์ยุติธรรมปานกลาง ร้อยละ 14.81 ระบุว่า มีความบริสุทธิ์ยุติธรรมน้อย ร้อยละ 18.44 ระบุว่า มีความบริสุทธิ์ยุติธรรมน้อยที่สุด ร้อยละ 0.50 ระบุว่า ไม่ทราบ ร้อยละ 0.34 ระบุว่า ไม่แน่ใจ และร้อยละ 1.78 ระบุว่า ไม่แสดงความคิดเห็น

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความพึงพอใจของประชาชนต่อคะแนนเสียงที่ได้ของผู้ลงสมัคร ส.ส. หรือพรรคการเมืองที่ตนเลือก พบว่าประชาชน ร้อยละ 25.72 ระบุว่า พึงพอใจมาก ร้อยละ 43.15 ระบุว่า ค่อนข้างพึงพอใจ ร้อยละ 20.47 ระบุว่า ยังไม่ค่อยพึงพอใจ ร้อยละ 10.07 ระบุว่า ไม่พึงพอใจเลย และร้อยละ 0.59 ระบุว่า ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ

'ซูเปอร์โพล' ระบุ 82.7% เห็นควรรอผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการหลัง 9 พ.ค. ก่อนจัดตั้งรัฐบาล

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยว่า สำนักวิจัยซูเปอร์โพลเปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนจากทุกกลุ่มอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,059 คน เรื่อง "ความสงบสุขของบ้านเมือง" พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 82.7 ระบุ ควรรอผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการหลังวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ ขณะที่ร้อยละ 17.3 ระบุว่าควรจัดตั้งรัฐบาลทันที นอกจากนี้ ประชาชนร้อยละ 85.9 ระบุว่าอยากเห็นความรัก ความสามัคคีของคนในชาติมากกว่า ขณะที่ร้อยละ 14.1 อยากเห็นรัฐบาลใหม่มากกว่า

ส่วนสิ่งที่น่าพิจารณาคือ ประชาชนร้อยละ 98.2 ต้องการรักษาความสงบสุขของบ้านเมืองมากกว่า แต่ร้อยละ 1.8 ระบุว่าต้องการรักษาพรรคการเมืองที่ชอบมากกว่า อีกทั้งประชาชนร้อยละ 74.5 ระบุว่า คุณลักษณะของผู้บริหารประเทศที่ต้องการ คือเป็นคนดี ซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีประวัติด่างพร้อย ไม่หลอกหลวงประชาชน รองลงมา ร้อยละ 72.7 ระบุว่า ไม่ก่อความขัดแย้งในสังคม ดูแลบ้านเมืองสงบสุข เชื่อมประสานได้ทุกฝ่าย ร้อยละ 71.8 แก้ปัญหาปากท้องได้ ร้อยละ 69.7 กล้าตัดสินใจ ร้อยละ 53.2 พูดจาดีมีหลักการ และร้อยละ 27.8 ระบุอื่นๆ เช่น มีความรับผิดชอบ จิตใจดี ช่วยเหลือผู้อื่น การศึกษาดี ร่ำรวย เป็นต้น และเมื่อถามว่าถ้าคนที่ตัดสินใจเลือกไปแล้ว มารู้ภายหลังว่าเป็นคนไม่ดี จะยังสนับสนุนต่อไปหรือไม่ ประชาชนร้อยละ 98.5 ระบุว่าไม่สนับสนุน แต่ร้อยละ 1.5 ระบุว่ายังคงสนับสนุน

ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล กล่าวอีกว่า ผลการสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนรอได้ ถ้ารอแล้วจะทำให้ได้คนดีปกครองบ้านเมือง ทำให้ประเทศสงบสุข แต่ในระหว่างนี้ต้องเร่งแก้ปัญหาปากท้อง ลดปัญหาอุปสรรคในการทำมาหากิน ลดความเดือดร้อนของประชาชน ทำให้ธุรกิจก้าวเดินต่อได้ดี ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีมาตรการอะไรดีๆ ต่อการทำมาหากิน รัฐบาลและ คสช. ต้องรีบประกาศออกมา ผลที่ตามมาคือ โอกาสที่บ้านเมืองจะวุ่นวายก็ลดน้อยลง เพราะประชาชนส่วนใหญ่ไม่เอาด้วยกับความวุ่นวาย ในช่วงเวลานี้จึงน่าจะเร่งทำให้ความเป็นจริงของนักการเมืองที่ไม่ดีได้ปรากฏให้เห็นหลักฐานทั่วกันว่า พวกเขาเหล่านั้นไม่ดีจริง หลอกลวงประชาชน ไม่ซื่อสัตย์ตั้งแต่ก่อนเข้าไปบริหารประเทศ จะทำให้ฐานสนับสนุนพวกเขาลดลงไปได้มาก ดังนั้น การประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการที่จะยืดยาวออกไป เพื่อทำให้ได้ความถูกต้อง และได้คนดีเข้าปกครองบ้านเมือง จึงเป็นเรื่องที่ประชาชนรอได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net