Skip to main content
sharethis

รัฐบาลญี่ปุ่นจะเปิดเผยชื่อศักราชใหม่หรือรัชศกใหม่ของญี่ปุ่นหลังการแต่งตั้งสมเด็จพระจักรพรรดิองค์ใหม่ ทำให้ปีเฮเซซึ่งเป็นปีรัชศกปัจจุบันของญี่ปุ่นสิ้นสุดลงตั้งแต่สิ้นเดือนเมษายนเป็นต้นไป แต่ก็มีข้อสงสัยว่าญี่ปุ่นใช้เกณฑ์อะไรในการตั้งชื่อรัชศกใหม่ NHK สัมภาษณ์ ฮารุโอะ นิชิฮาระ ผู้ที่เคยเป็นกรรมการรัฐบาลตั้งชื่อรัชศกเฮเซเมื่อ 30 ปีที่แล้ว

ฝูงชนโบกธงในวันเฉลิมพระชนมพรรษาปีที่ 83 ของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ เมื่อ 23 ธันวาคม 2559 (ที่มาของภาพประกอบ: Wikipedia)

ญี่ปุ่นกำลังสิ้นสุดปีศักราชเฮเซแล้วนับตั้งแต่วันแรกของเดือนเมษายนนี้เป็นต้นไป และกำลังเข้าสู่รัชศกใหม่ หลายคนอาจจะตั้งข้อสังเกตว่าญี่ปุ่นมีการเรียกปีจากการขึ้นครองราชย์หรือสืบราชสมบัติของจักรพรรดิ์องค์ใหม่ เช่น ปีไทโช ปีโชวะ และครั้งหลังสุดคือปีเฮเซที่เริ่มต้นในปีพุทธศักราช 2532 หลังสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะขึ้นครองราชย์ จนกระทั่งถึงเดือนเมษายนนี้ รวมเป็นเวลาทั้งหมด 30 ปี

NHK รายงานว่ากระบวนการตั้งชื่อรัชศกใหม่นี้เป็นไปอย่างปิดลับในกลุ่มของคณะกรรมการ อย่างไรก็ตามในวาระที่ปีเฮเซใกล้จะจบลง NHK ได้สัมภาษณ์ ฮารุโอะ นิชิฮาระ อดีตผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยวาเซดะผู้ที่เคยเป็นหนึ่งในกรรมการรัฐบาลตั้งชื่อรัชศกเฮเซถึงกระบวนการตั้งชื่อรัชศกใหม่

นับตั้งแต่มีกฎหมายว่าด้วยการตั้งชื่อรัชศกใหม่ในปี 2522 นั้นในกฎหมายไม่ได้ระบุถึงการรับความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญที่อยู่นอกรั้ววังเข้าไปด้วย อย่างไรก็ตามในช่วงเปลี่ยนรัชศกจากโชวะเป็นเฮเซ เจ้าหน้าที่บางส่วนในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี โนโบรุ ทาเกชิตะ ก็โต้แย้งว่ากระบวนการควรจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปด้วย ทำให้รัฐบาลเห็นชอบในการจัดตั้งคณะกรรมชุดแรกที่ประกอบด้วยบุคคล 8 คนจากภาคส่วนมหาวิทยาลัย สื่อ และภาคส่วนอื่นๆ และนิชิฮาระก็เป็นหนึ่งในนั้น

กระบวนการที่เกิดขึ้นหลังจากจักรพรรดิฮิโระฮิโตะ หรือจักรพรรดิโชวะสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2532 ก็มีการเรียกประชุมคณะกรรมการที่ตั้งไว้ โดยที่คณะกรรมการเหล่านี้จะไม่ได้รับรู้รายชื่อคณะกรรมการด้วยกันเองจนกว่าจะถึงวันที่ถูกเรียกประชุมโดยนายกรัฐมนตรีเพื่อการนี้ นิชิฮาระเล่าว่าในตอนที่ผู้ช่วยเลขาธิการใหญ่ของคณะรัฐมนตรีในสมัยนั้นมาหาเขาที่มหาวิทยาลัยเพื่อบอกเรื่องแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการมีการกำชับให้เขาเก็บเรื่องนี้เป็นความลับ นั่นทำให้เขาปกปิดเรื่องนี้แม้แต่กับครอบครัวก็ไม่เล่าให้ฟัง 

นอกจากนิชิฮาระแล้วคณะกรรมการอีกคนหนึ่งที่ไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อก็เล่าถึงเรื่องนี้ให้เอ็นเอชเคฟังเช่นกันว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐบาลมาหาเขาในเดือนกันยายน 2531 เป็นช่วงเวลาที่พระวรกายของจักรพรรดิ์โชวะทรุดหนัก และผู้ที่มาหาเขาขอให้ปิดเรื่องที่ได้รับแต่งตั้งเป็นความลับ

นิชิฮาระเล่าว่าในช่วงเวลาที่เขาต้องเข้าร่วมประชุมหลังจากจักรพรรดิ์โชวะสิ้นพระชนม์นั้นเป็นช่วงเวลาที่ชวนให้รู้สึกโศกเศร้าอย่างมากไปพร้อมกับๆ ความรู้สึกตึงเครียดที่เพิ่มสูงขึ้น "สมาชิกทุกคนเป็นระดับท็อปในภาคส่วนของพวกเขาดังนั้นพวกเขาจึงคุ้นเคยดีกับการประชุมระดับสูง บรรยากาศเคร่งขรึม เงียบ และตึงเครียด ผมเกิดในปีโชวะที่ 3 และมีอายุได้ 60 ปีแล้วในตอนนั้น ผมสามารถเรียกตัวเองได้ว่าเป็นคนของยุคโชวะ" นิชิฮาระเล่าถึงการประชุมในครั้งนั้น

มีอะไรเกิดขึ้นในการประชุมนั้นบ้าง นิชิฮาระเล่าต่อไปว่าในที่ประชุมมีการวางซอง 2 แบบบนโต๊ะของผู้เข้าร่วมประชุม ซองหนึ่งเป็นสีน้ำตาล อีกซองหนึ่งเป็นสีขาว ซองสีน้ำตาลระบุถึงข้อมูลกระบวนการคัดเลือก ส่วนซองสีขาวระบุถึงตัวเลือกชื่อรัชศกให้สามชื่อคือ เฮเซ, ชูบุน และเซย์กะ ลังจากนั้นก็มีการขอให้สมาชิกเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับตัวเลือกเหล่านี้ ในที่ประชุมเงียบไปพักหนึ่งด้วยบรรยากาศตึงเครียด จนกระทั่งมีคนๆ หนึ่งแสดงความชื่นชอบชื่อรัชศกเฮเซ แล้วจากนั้นหลายคนก็แสดงการเห็นด้วย

นิชิฮาระเล่าว่าในตอนนั้นเขาเป็นคนที่เสนอความคิดเห็นคัดค้านเมื่อเทียบกับชื่อยุคเมจิกัลโชวะแล้วสองชื่อนี้ดูหนักแน่นมากกว่าขณะที่ชื่อเฮเซฟังดูหลวมๆ อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกว่ารัชศกใหม่นี้จะดำเนินไปเพียงเวลาไม่นานเท่านั้น ถึงแม้ว่าจะมีคนหนึง่ในประชุมเห็นด้วยกับนิชิฮาระ แค่สุดท้ายแล้ววในที่ประชุมก็มีฉันทามติเห็นพ้องว่าให้ใช้ชื่อรัชศกเฮเซ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ทำไมถึงไม่ใช่ชื่อ ชูบุน หรือ เซย์กะ นิชิฮาระบอกว่าสาเหตุใหญ่ๆ สงครามที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

นิชิฮาระเล่าต่อไปว่า ญี่ปุ่นเคยเผชิญกับสงครามมาก่อนในช่วงเมย์จิ, ไทโช และโชวะ ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นมีสันติภาพมานานกว่า 40 ปี แล้วหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นก็ไม่อยากจะกลับไปสู่ช่วงเวลาที่มีสงครามแบบนั้นอีก นั่นทำให้ผู้เข้าประชุมในตอนนั้นมองว่า "เฮเซ" ดูเป็นคำที่เหมาะสมกับยุครัชศกใหม่ที่ไม่มีสงคราม เพราะตัวอักษรคันจิของคำว่าเฮเซสามารถแปลได้ว่าช่วงเวลาสันติได้ด้วย

เอ็นเอชเคตั้งข้อสังเกตว่าในการประชุมหารือชื่อรัชศกเฮเซนั้นมีลักษณะแบบเดียวกับการประชุมของสำนักพระราชวังญี่ปุ่นช่วงเดือนธันวาคม 2560 เพื่อตัดสินใจเลือกวันสละราชสมบัติของจักรพรรดิ์อากิฮิโตะ นั่นคือมีการแสดงความคิดเห็นและหาฉันทามติแทนการอภิปรายและให้ลงมติ

เมื่อถามถึงชื่อของยุคสมัยใหม่แล้วนิชิฮาระบอกว่าเขาไม่มีพลังมากพอจะคิดถึงเรื่องนั้น และเขาก็พึงพอใจที่ได้มีส่วนร่วมกับการเริ่มต้นสมัยเฮเซและได้เห็นยุคสมัยนี้สิ้นสุดลง "ผมปล่อยให้เรื่องของยุคสมัยใหม่ให้กับที่จะต้องอาศัยอยู่ในอนาคตนั้น" นิชิฮาระกล่าว

เรียบเรียงจาก

How an Imperial era is named: An insider explains, NHK, 31-03-2019,

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net