Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนืออาจมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย กล่าวคือ เมื่อพิจารณาจากประสบการณ์ของเมืองอื่นๆ ที่เคยประสบปัญหาหมอกควันพิษ เช่น ปักกิ่ง ฯลฯ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องอาจได้แก่ ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ การขยายตัวของเมือง การใช้รถใช้ถนน อุตสาหกรรมหนัก หรือการใช้พลังงานเชื้อเพลิงเพื่อความอบอุ่น ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ อาจไม่ได้สอดคล้องกับสังคมไทยมากนัก สุดปัญญาที่ดิฉันจะคาดหมายได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเมืองใดก็ตาม การขยายตัวของประชากรและเศรษฐกิจส่งผลต่อมลภาวะทางอากาศโดยตรงทั้งสิ้น (Schipani: 2014, 76-78) แต่กรณีที่ไม่ถูกพูดถึงอย่างจริงจังและไม่เคยได้รับการแก้ไขเลยในประเทศไทย คือ การขยายตัวของพื้นที่การเกษตรโดยเฉพาะ อุตสาหกรรมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ขยายตัวอย่างกว้างขว้างในภาคเหนือ อย่างที่ดิฉันเคยคิดให้ข้อมูลไว้ก่อนนี้แล้วว่า หน่วยงานของรัฐไทยในกรุงเทพฯ เน้นไปแก้ปัญหาแต่ในเรื่องต่างประเทศ (ซึ่งก็ไม่ใช่ต่างประเทศจริงๆ แค่คุยประสานกับนายอำเภอของประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้น) หรือไปไล่จับชาวบ้านที่อยู่ตามป่า แต่ที่ปลายจมูกของตัวเอง (แถวๆ แยกพระรามเก้า) กลับไม่เคยไปทำความเข้าใจหรือแก้ปัญหาอย่างจริงจังเลย ทั้งๆ ที่ข้าวโพดไม่ได้ลุกลามไปในประเทศไทยเท่านั้น แต่ไปถึงประเทศเพื่อนบ้านด้วย  (อรรคณัฐ: 2560)

และการแสวงหาอาณานิคมของ “อาณาจักรแห่งข้าวโพด” นี้ ดูเหมือนจะสัมพันธ์โดยตรงกับปัญหาหมอกควัน

อนุภาพ นุ่นสง ได้ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่ทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา การผลิตข้าวโพดในภาพเหนือของไทยกระจายตัวอย่างรวดเร็ว และเข้าไปเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าให้ราวกับเป็นทรัพย์สินเอกชน โดยที่รัฐได้แต่กระพริบตามอง อนุภาพ นุ่นสง ได้ให้ข้อมูลว่า พื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอำเภอแม่แจ่ม ขยับตัวจาก 29,657 ไร่ ใน พ.ศ. 2547 กลายเป็น 48,560 ไร่ใน พ.ศ. 2548 เพิ่มขึ้นอีกเป็น 61,146 ไร่ ใน พ.ศ. 2549 และจนใน พ.ศ. 2550 กลายเป็น 82,904 ไร่ (อนุภาพ: 2556, 121) จนน่าสงสัยว่ารัฐไทยออกโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดิน (นส. 3ก) ได้เป็นหมื่นๆ ไร่ในแต่ละปีเลยหรือ (รัฐไทยไม่น่าจะมีประสิทธิภาพขนาดนั้น และไม่ควรทำด้วย) ซึ่งอนุภาพ นุ่นสง ที่ทำการศึกษาในพื้นที่ ให้ข้อมูลว่า อาณาจักรแห่งข้าวโพดนั้นเป็นแรงจูงใจในการบุกรุกป่า ในทำนองเดียวกัน อัจฉรา รักยุติธรรม ก็เสนอว่าการปลูกข้าวโพดเป็นการต่อรองสิทธิในที่ดินของเกษตรกรที่กระทำต่อรัฐไทย แต่ก็นำมาซึ่งปัญหาอื่นๆ อย่างมากมาย รวมถึงปัญหามลภาวะด้วย (อัจฉรา: 2556, 38)

บังเอิญหรือไม่ก็ไม่ทราบ แต่จากที่ดิฉันเกิดและโตที่เชียงใหม่ หมอกควันเริ่มปรากฏให้เห็นอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ก็ราวๆ พ.ศ. 2550 นี่แหละ พร้อมๆ กับการที่พื้นที่เพาะปลูกขยายตัวขึ้นจนกลายเป็นอาณาจักรแห่งข้าวโพดไป

หากพิจารณาความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจระหว่างเกษตรกรกับบริษัทอุตสาหกรรมเกษตร จะพบว่า ใน พ.ศ. 2556 ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในตลาดโลก เท่ากับ 589.06 บาทต่อบุชเชล (bushels) (1 bushels เท่ากับ 25.8 กิโลกรัม) (Focus Economics) และ อัตราแลกเปลี่ยนดอลล่าห์สหรัฐฯ ใน พ.ศ. 2556 เท่ากับ 32.31 บาทต่อหนึ่งดอลล่าห์ (ธนาคารแห่งประเทศไทย) เท่ากับว่า ราคาในตลาดโลกของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ คือ 7.6 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งสันนิษฐานได้ว่าราคานี้เป็นราคาที่บริษัทอุตสาหกรรมเกษตรขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ยังไม่แปรรูปได้ ในขณะที่ตามข้อมูลของ รุ่งทิวา สุยะ พบว่าราคาซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 1 ของบริษัทธุรกิจเกษตรที่รับซื้อจากเกษตรกรในอำเภอแม่แจ่มอยู่ที่ 6.12 บาทต่อกิโลกกรัม (รุ่งทิวา: 2558, 83)

เมื่อพิจารณาประกอบกับต้นทุน พบว่าราคาต้นทุนการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ใน พ.ศ. 2556 ตกอยู่ที่ 3641.76 บาทต่อไร่ ประกอบไปด้วยสัดส่วนสำคัญ คือ ค่าจ้างแรงงานคิดเป็น 1,681.46 บาทต่อไร่ (ด้วยค่าแรงงาน 220 บาทต่อวัน) นอกจากนี้เป็นค่าวัสดุอุปกรณ์ในการเกษตร ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ คือ ค่าปุ๋ย เท่ากับ 962.96 บาทต่อไร่ และค่ายา 206 บาทต่อไร่ และค่าน้ำมันเชื่อเพลิงและหล่อลื่น 578.84 บาทต่อไร่ (รุ่งทิวา: 2558, 48) ซึ่งทศพล ทรรศนกุลพันธ์ เคยอธิบายไว้ว่าการเพาะปลูกในระบบเกษตรพันธสัญญา บริษัทธุรกิจการเกษตรมักกำหนดให้เกษตรกรต้องซื้อปุ๋ยและยาของบริษัทฯ ด้วย (ทศพล: 2555)

ดังนั้น เมื่อพิจารณาประกอบกับต้นทุน และผลผลิตต่อไร่จะพบว่าใน พ.ศ. 2556 ปริมาณผลผลิตต่อไร่ในอำเภอแม่แจ่มจากการค้นคว้าของ รุ่งทิวา สุยะ อยู่ที่ 734.72 กิโลกรัมต่อไร่ (รุ่งทิวา: 2558, 24) จะเห็นได้ว่า เกษตรกรอาจขายผลผลิตของตนเอง ได้ในราคา (734.72 x 6.12 บาท/กิโลกรัม) เท่ากับ 5,583 บาท ต่อไร่ และหักต้นทุนอีก 3641.76 บาทต่อไร่ เกษตรกรจะเหลือเงินจากการเพาะปลูกรอบการผลิตหนึ่งอยู่ที่ 1,942 บาทต่อไร่ โดยใช้เวลาเพาะปลูกทั้งสิ้น 120 วัน

เมื่อเทียบกับบริษัทธุรกิจการเกษตรที่ขายผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในตลาดโลกด้วยราคา 7.6 บาทต่อกิโลกรัม จะพบว่าบริษัทธุรกิจการเกษตรจะได้ส่วนต่างจากการรับซื้อไป 1.48 บาทต่อไร่ในพ.ศ. 2556 เท่ากับว่าในแต่ละไร่ บริษัทธุรกิจการเกษตรจะได้รับผลกำไร 1,087 บาทต่อไร่ และเมื่อรวมกับรายรับจากการบังคับขายปุ๋ยและยาแล้ว (รวมราคา 1168.96 บาทต่อไร่) ในแต่ละไร่ บริษัทธุรกิจการเกษตรจะมีรายได้ประมาณ 2255.38 บาทต่อไร่ สัดส่วนการแบ่งผลประโยชน์ระหว่างบริษัทธุรกิจการเกษตรและเกษตรกร จะอยู่ที่ 2255.38 ต่อ 1,942 บาทต่อไร่ คือประมาณ ร้อยละ 54 ต่อร้อยละ 46 โดยเกษตรกรเป็นผู้ลงทุนในที่ดินและแรงงานในการเพาะปลูก ค่าปุ๋ย ค่ายา สุขภาพ เวลา ทั้งหมด

จากเงื่อนไขดังกล่าว หากเกษตรกรต้องการได้ค่าตอบแทนเท่าค่าแรงงานขั้นต่ำที่คิดด้วย 300 บาท/วัน เป็นเวลา 120 วัน และต้องการส่งลูกเรียนหนังสือหนึ่งคน โดยมีต้นทุนเดือนละ 10,000 บาท เกษตรกรต้องเพาะปลูกอย่างน้อย 40 ไร่ โดยในจำนวนที่ดินนี้ต้องไม่มีความผิดพลาดแม้แต่น้อย (ในงานของอนุภาพ นุ่นสง พบว่า เกษตรกรที่รวย ยังมีพื้นที่เพาะปลูกเพียง 30 ไร่เท่านั้น ในขณะที่เกษตรกรจน จะสามารถใช้พื้นที่เพาะปลูกได้แค่ 2-3 ไร่เท่านั้น) (อนุภาพ: 2556, 124)

การจะยาไส้ตัวเองด้วยข้าวโพดนั้น พูดกันตรงไปตรงมา ก็เป็นวิธีออกจากความยากจนดักดานได้ดีที่สุด (ในช่วงนั้น) บนเงื่อนไขของเกษตรกรในพื้นที่สูงที่ไร้ทั้งสิทธิในที่ดินและเศรษฐกิจ แต่โอกาสที่ดีที่สุดของพวกเขา คือ ค่าตอบแทนที่ไม่ถึงค่าแรงงานขั้นต่ำ แม้แต่จะทำการเพาะปลูกถึง 40 ไร่ และการส่งลูกเรียนในเมืองหนึ่งคน ด้วยความหวังว่าครอบครัวจะหลุดพ้นจากความยากจน และวงจรชีวิตที่ไม่มีความมั่นคงเสียที จึงไม่แปลกที่เขาจะต้องบุกรุกป่า และไม่แปลกที่เขาจะต้องเผา เพราะเวลาคือเงินทอง เงินทองจะพาพวกเขาออกจากความดักดานนี้ (จะให้มาตัดข้าวโพดทีละต้นหรอ?)

ที่พูดแบบนี้ไม่ได้แปลว่าการเผามันถูกต้อง คนภาคเหนือจะตายห่ากันหมดแล้ว แต่เราต้องมองให้ออกว่าใครคือผู้ได้ประโยชน์ที่แท้จริงจากความฉิบหายนี้

เกษตรกรที่ได้ค่าตอบแทนแทบจะไม่ถึงค่าแรงงานขั้นต่ำ หรือ บริษัทอุตสาหกรรมเกษตรที่แทบไม่ต้องลงทุนหรือลงแรงอะไร (ที่สำคัญ คือ นอกจากจะไม่โดนด่าแล้ว ยังได้รับความเคารพจากรัฐบาลด้วย)

มาตรฐานของกฎหมายสิ่งแวดล้อม โดยปกติเขายึดถือหลัก ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (polluter pay principle) ที่ทุกวันนี้ขยับมาเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย

และเราคงเห็นได้ชัดเจนขึ้นแล้วว่า ใครกันแน่ที่ได้ประโยชน์จากมหันตภัย อาชญากรรมต่อมนุษยชาติครั้งนี้ และใครควรจะจ่าย  

 

 

อ้างอิง

ทศพล ทรรศนกุลพันธ์. (2555). “เกษตรพันธสัญญา กับ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11”. [ระบบออนไลน์]. วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555. แหล่งที่มา https://www.tcijthai.com/news/2012/10/archived/169 (สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2562)

ธนาคารแห่งประเทศไทย. “อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานคร (2545-ปัจจุบัน)”. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://www2.bot.or.th/statistics/ReportPage.aspx?reportID=123&language=th (สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2562)

รุ่งทิวา สุยะ. (2558). การประเมินความเสี่ยงของการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในภาคเหนือของประเทศไทย. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

อนุภาพ นุ่นสง. (2556). ความเปลี่ยนแปลงในชนบทภาคเหนือ: ศึกษาการจัดการสมบัติชุมชนของ “ชุมชน” และ “หย่อมบ้าน” อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. 2500-2550. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ. (2560). “เปิดปมทุนข้ามชาติ กับควันพิษข้ามพรมแดน” [ระบบออนไลน์]. ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ). วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2560. แหล่งที่มา https://www.tcijthai.com/news/2017/26/scoop/6792 (เข้าถึงเมื่อ 30 มีนาคม 2562)

อัจฉรา รักยุติธรรม. (2556). “พื้นที่สูงท่ามกลางการช่วงชิง: ความหมายของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอัตลักษณ์ของชาวนาบนพื้นที่สูง”, 25 วารสารสังคมศาสตร์ 1, หน้า 19-53.

Focus Economics. “Corn Price Outlook”. [online]. Source https://www.focuseconomics.com/commodities/agricultural/corn (March 30, 2019).

Schipani, Samantha. “The Red Zone Why Beijing’s Air Pollution Crisis is More Complicated Than You Think”, Consilience 12 (2014), pp. 76-81.


เผยแพร่ครั้งแรกใน: Facebook Kitpatchara Somanawat

หมายเหตุ: ภาพประกอบถ่ายที่ ม.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ถ่ายเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2562 เวลาประมาณ 08.00 น. 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net