ชาญวิทย์ เกษตรศิริ: ดูอนาคตทหารการเมืองจากอดีต เมื่อคูหาถูกใช้ประดับบารมี

ศ.พิเศษ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ มองอนาคตการเลือกตั้ง 24 มี.ค. ผ่านประวัติศาสตร์ที่ทหารเอาเลือกตั้งมาประดับบารมีแต่ก็อยู่ได้ไม่นาน ระบุ ปีศาจอำนาจนิยมกำลังหลอกหลอนเอเชีย มองการชุมนุมในมาเลเซียเปรียบเทียบไทย ใช้เงื่อนไขไปเร็วมาเร็ว กระชับแต่ต่อเนื่อง ใช้วาทกรรมคำว่า 'สะอาด' อาจเป็นเงื่อนไขเลี่ยงความรุนแรงเมื่อลงถนน

1 เม.ย. 2562 เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (29 มี.ค.) ศ.พิเศษ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมอภิปรายเสวนาหัวข้อ "อนาคตประเทศไทยหลังเลือกตั้ง 24 มีนา" ที่ มธ. ท่าพระจันทร์ จัดโดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มธ.

ชาญวิทย์กล่าวว่า มีคนส่งสมมติฐานการฟอร์มรัฐบาล อนาคตการเมืองมาให้ มีอยู่แปดทางเลือกแต่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาได้อยู่ต่อทุกความเป็นไปได้ แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า เอาเข้าจริงท่านทั้งหลายที่เข้าใจประวัติศาสตร์ไทยก็คงทราบดีว่าเมื่อทหารยึดอำนาจไปได้ แล้วได้อยู่ในอำนาจก็มักเสพติดกับอำนาจ และพยายามใช้กระบวนการเลือกตั้งเพื่อบอกว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตย มาเป็นเสื้อคลุมประดับบารมี เราจะเห็นว่า เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงครามยึดอำนาจกลับมาได้ช่วงราวปี 2490 อยู่มาจนกระทั่งสร้างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2495 และจะมีเลือกตั้งในปี 2500 ตอนนั้นผมเรียนมัธยมและตื่นเต้นกับการเลือกตั้งมาก ปรากฏว่าพรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป. ชนะขาดลอย คู่แข่งเขาคือ ปชป. (พรรคประชาธิปัตย์) สมัยพันตรีควง อภัยวงศ์เป็นหัวหน้าพรรค สมัยนั้นสนามหลวงยังเป็นของประชาชน ยังเป็นที่ไฮด์ปาร์ค เมื่อการเลือกตั้ง 2500 สิ้นสุด จอมพล ป. ก็กลับมาได้ แต่อยู่ได้แค่เจ็ดเดือนก่อนที่สฤษดิ์ ธนะรัชต์ทำรัฐประหารยึดอำนาจ จอมพล ป. ก็ตกจากอำนาจ การเลือกตั้งทำให้อยู่ต่อได้เพียงเจ็ดเดือน ผมคิดว่าประวัติศาสตร์มักจะซ้ำร้อย คนจำนวนเยอะไม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์จึงทำให้มันซ้ำรอย

อีกบทเรียนใกล้ตัวขึ้นหน่อยก็คงจะจำกันได้ว่าเมื่อจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรม จอมพลถนอมที่เป็นลูกน้องก็ขึ้นมาเป็นนายกฯ อยู่มาได้อีกตั้งหลายปี แล้วในที่สุดก็มีรัฐธรรมนูญฉบับ 2511 ออกมา แล้วมีการเลือกตั้งในปี 2512 จอมพลถนอมก็เหมือนจอมพล ป. ตั้งพรรคสหประชาไทยของตัวเองขึ้นมาและชนะเลือกตั้ง ได้กลับมาเป็นรัฐบาลในปี 2512 อยู่มาได้สองปี 2514 ก็คุมสภาไม่ได้ จอมพลถนอมก็เลยรัฐประหารตัวเอง นำไปสู่การเรียกร้องรัฐธรรมนูญในเดือน ต.ค. 2516 ทำให้ตกจากอำนาจไป เป็นบทเรียนที่สองถัดจากจอมพล ป.

บทเรียนที่สาม เราคงจำได้เมื่อเหตุการณ์พฤษภาฯ 2535 ที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูรกับ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผู้ยึดอำนาจเมื่อปี 2534 จนปี 2535 ก็มีเลือกตั้ง แล้วในที่สุด พล.อ. สุจินดาก็เป็นนายกฯ ปรากฎว่าเป็นได้ 47 วัน แล้วก็อยู่ไม่ได้ ประวัติศาสตร์เหล่านี้ก็ไม่อยากพูดให้คนที่ได้คะแนนเสียง popular vote มากที่สุดเสียกำลังใจ แต่ถ้ามองผ่านประวัติศาสตร์ก็เป็นอย่างนี้จริงๆ แง่นี้ ฝ่ายที่จะไม่ได้เป็นรัฐบาล จะไม่ได้ควบคุมอนาคตของประเทศชาติก็อาจจะเบาใจหน่อยหนึ่ง แต่ผมก็ไม่อยากทำให้พวกเราอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์ เพราะเอาเข้าจริงแล้วสิ่งที่นักวิชาการหลายคนที่เรียกว่า spectre of authoritharianism หรือ ปีศาจของอำนาจนิยมเผด็จการกำลังหลอกหลอนมนุษย์ในโลกนี้อยู่ และเราเหมือนจะถูกมันกำหนดว่าการจะไปสู่สิ่งซึ่งเป็นประชาธิปไตย ยุคที่เสรีภาพดีกว่านี้ มันอาจจะไม่ใช่แล้ว

ในประเด็นปีศาจอำนาจนิยม ชาญวิทย์เพิ่มเติมว่ามาจากเคลาดิโอ โซปรานเซตติ นักวิชาการที่เคยศึกษาเรื่องมอเตอร์ไซค์รับจ้างในประเทศไทย โดยล้อมาจากวรรคแรกของหนังสือ communist manifesto บอกว่า A spectre is haunting Europe, a spectre of communism (ปีศาจกำลังหลอกหลอนยุโรป คือปีศาจแห่งคอมมิวนิสม์) เคลาดิโอหักมุมด้วยการบอกว่าหนึ่งร้อยปีผ่านไป ปีศาจตัวอื่นมาแทนที่แล้วในเอเชียเรียกว่าปีศาจอำนาจนิยมเผด็จการ ที่น่าสนใจคือระบบเผด็จการอำนาจนิยมได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นกลางไทย ด้านหนึ่งเรามองว่าไทยน่าจะเปลี่ยนผ่านอย่างมีความหวัง แต่เคลาดิโอบอกว่าอย่าหวังมากไปเลย

อดีตอธิการบดี มธ. ยังกล่าวว่า แง่หนึ่งปาฏิหาริย์ก็เกิดขึ้นคือ อนค. ได้รับเสียงอย่างท่วมท้นจนพลาดไม่ถึง แต่ก็ไม่คาดเช่นกันว่า พปชร. ที่ได้มากเพราะอะไร  นึกว่าจะได้น้อย แต่ว่าถ้าเอาประวัติศาสตร์มาเป็นตัววัด พรรคฝ่ายทหารก็จะเป็นอย่างนี้เพราะว่าคุมกลไกของรัฐ คุมหน่วยงานราชการหมดซึ่งเราก็รู้ดีกว่าพวกนี้อยู่ฝ่ายไหน แต่ประเด็นคือ ชนะแล้วจะอยู่ได้ไหม อยู่รอดไหม ก็ต้องถกเถียงกันต่อ

ooooo

ความไม่ชอบมาพากลในการเลือกตั้งที่ผ่านมามีสูงมาก ผมว่าภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า rigged หนังสือพิมพ์สมัย 2500 เรียกเลือกตั้งสกปรก หรือจอมพล ป. ใช้คำว่าเลือกตั้งไม่เรียบร้อย ส่วนตัวเรียกว่าเลือกตั้งไม่สะอาด ยืมมาจากคำว่า bersih (สะอาด) ของมาเลเซียที่มหาธีร์ (นายกฯ มาเลเซียคนปัจจุบันที่เพิ่งชนะพรรครัฐบาลมาได้เมื่อปี 2561) ทำให้มันสะอาดแล้วชนะถล่มทลาย แต่ครั้งนี้ ความไม่ชอบมาพากลนั้นเชื่อว่ามีสูง

ในประเด็นเรื่องการเปรียบเทียบชุมนุมในมาเลเซียกับไทยนั้น ชาญวิทย์ตอบว่า ความต่างระหว่างการรณรงค์ทางการเมืองของมาเลเซียกับไทย ต่างกันตรงที่ว่าของไทยเวลาชุมนุมประท้วงแล้ว ถ้าไม่ชนะก็ไม่เลิก ถ้าไม่แพ้ก็ไม่เลิก ตั้งแต่ 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ พฤษภาฯ 35 และ 53 แต่กรณีมาเลเซียแปลกดี สมัยนาจิบ ราซักเป็นนายกฯ ผู้ชุมนุมเสนอเรียกการชุมนุมว่า bersih แปลว่าสะอาด คือทำไงเรื่องการเมืองจะสะอาด ผู้ประท้วงมากันพร้อม ทำกันเร็วมาก เดินขบวนไปตึกเปโตรนาส แล้วชุมนุม มีอภิปราย ถ้อยแถลง พอประมาณหกโมงก็เลิก กลับบ้าน ทำกัน 5-6 หน จบด้วยชัยชนะของมหาธีร์ มันปลุกจิตสำนึกของคนแบบค่อยๆ ซึมเข้าไป คิดว่าแง่นี้น่าสนใจในการเปรียบเทียบ

ถ้าอยากทำให้ชาติบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย เป็นอารยะ เป็นสากล เป็นสมัยใหม่ ทางออกมีทางเดียวคือการเลือกตั้งที่ค่อยๆ อดทนสู้ ต้องมีความอดทนสูงมากๆ ไม่งั้นก็จะแพ้ซ้ำซาก ถ้าชุมนุมไม่ชนะกูไม่เลิก ถ้าไม่แพ้กูไม่เลิก ก็จบลงด้วยการแพ้ บทเรียนทางประวัติศาสตร์สำคัญมาก แต่หลักสูตรประวัติศาสตร์ที่เป็นอนุรักษ์นิยมมากๆ จากกระทรวงศึกษาธิการไม่น่าใช้ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท