Skip to main content
sharethis

ประเทศไทยกำลังติดหล่มอยู่ในสภาวะที่ไม่มีใครเอาชนะกันได้ ฝ่ายประชาธิปไตยดูเหมือนจะครองสภาผู้แทนราษฎรได้แล้ว แต่เลือกนายกไม่ได้ ส่วนฝ่ายสนับสนุนเผด็จการทหารก็ดูเหมือนจะเลือกนายกรัฐมนตรีได้แล้ว แต่ไม่สามารถผ่านกฎหมายในสภาได้ หากพลาดพลั้งอีกเพียงนิดเดียว ประเทศไทยก็อาจจะตกอยู่ภายใต้การปกครองของทหารอีก 4 ปีเต็ม แต่ถึงจะถูกรุกฆาต ในสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่เคยมีมากว่า 5 ปีก็อาจมีฝ่ายค้านแนวร่วมประชาธิปไตยที่คาดว่าจะมีความเข้มแข็งในการตรวจสอบถ่วงดุลเช่นเดียวกัน

กกต. ได้ประกาศผลการเลือกตั้งฉบับสมบูรณ์ แต่ยังไม่เป็นทางการออกมาแล้ว พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส. มากที่สุด ตามมาด้วยพลังประชารัฐ อนาคตใหม่ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย เสรีรวมไทย ชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนา เศรษฐกิจใหม่ เพื่อชาติ พลังปวงชนไทย และพรรคอื่น ๆ แม้ว่าผลอย่างเป็นทางการจะยังไม่ประกาศออกมาจนกว่าจะถึงวันที่ 9 พฤษภาคม แต่เราพอเห็นทิศทางแล้วกว่าหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร

พรรคพลังประชารัฐอ้างว่าควรมีโอกาสได้ตั้งรัฐบาลก่อนเพราะได้คะแนนป็อบปูลาร์โหวตมากที่สุด แต่ข้อเสนอนี้ฟังไม่ขึ้นในสายตาของนักวิชาการ ผศ. ดร. พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเสนอว่า ตามหลักรัฐธรรมนูญแล้ว ประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ไม่ใช่ประชาธิปไตยทางตรง อีกทั้งตามธรรมเนียมทางการเมืองแล้ว พรรคการเมืองที่ได้ ส.ส. มากที่สุดควรได้จัดตั้งรัฐบาลก่อน   

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ระบุว่าตนพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรี แต่พรรคจะไม่เสนอชื่อเป็นนายก เนื่องจากอนาคตใหม่ไม่ใช่พรรคที่ได้ ส.ส. มากที่สุด ดังนั้น พรรคอนาคตใหม่จึงเสนอให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พร้อมทั้งสนับสนุนคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์เป็นนายกรัฐมนตรีด้วย พรรคอนาคตใหม่เคยเสนอไม่ยอมรับนายกคนนอก และคุณหญิงสุดารัตน์เองก็อาจจะไม่ได้เป็น ส.ส. ระบบปาร์ตี้ลิสต์ เนื่องจากพรรคเพื่อไทยได้ ส.ส. แบ่งเขต มากกว่าจำนวน ส.ส. พึงมี แต่พรรคอนาคตใหม่เห็นว่าหากอยู่ในระบบเลือกตั้งปกติตามแบบอารยประเทศ คุณหญิงสุดารัตน์ต้องได้เป็น ส.ส. อยู่แล้ว ดังนั้น พรรคอนาคตใหม่จึงผ่อนปรนจุดยืนดังกล่าวและเสนอคุณหญิงสุดารัตน์เป็นนายกรัฐมนตรี

ถึงตาของฝ่ายเพื่อไทยเป็นเดินหมากบ้าง คุณหญิงสุดารัตน์แถลงว่าพรรคเพื่อไทยพร้อมเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ไม่ว่าสุดารัตน์จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ก็ตาม เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พรรคเพื่อไทยได้นำพรรคแนวร่วม 7 พรรคประกาศจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรฝ่ายประชาธิปไตยขึ้น ประกอบด้วย ส.ส. 255 คน (จาก ส.ส. ทั้งหมด 500 คนด้วยกัน) พรรคแนวร่วมประกอบด้วยพรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อชาติ พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคพลังปวงชนไทย และพรรคเศรษฐกิจใหม่ ทุกพรรคเซ็น MOU แล้ว ยกเว้นพรรคเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งมิ่งขวัญ แสงสุวรรณหัวหน้าพรรคระบุว่าติดธุระกับ กกต. ในช่วงแถลงข่าวพอดี อย่างไรก็ตาม ในการให้สัมภาษณ์ที่สำนักงานของ The Standard ท่าทีของมิ่งขวัญไม่ชัดเจนว่าจะอยู่ร่วมกับฝ่ายประชาธิปไตยหรือไม่

ดังนั้น ฝ่ายประชาธิปไตยจึงดูมีแนวโน้มสามารถครองสภาผู้แทนราษฎรได้สำเร็จแล้ว อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่าในช่วง 5 ปีการของการใช้รัฐธรรมนูญ ส.ว. 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งสามารถเข้ามาเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. ได้ หากเป็นเช่นนี้ต่อไป ผลของเกมกระดานนี้จะออกมาเป็นการเสมอกันระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายเผด็จการทหาร แต่รัฐบาลจะขาดเสถียรภาพอย่างมาก เนื่องจากฝ่ายเผด็จการทหารได้ครองอำนาจฝ่ายบริหาร แต่ผ่านกฎหมายไม่ได้ ส่วนฝ่ายประชาธิปไตยจะสามารถครองอำนาจนิติบัญญัติได้ แต่ครองอำนาจฝ่ายบริหารไม่ได้

สภาวะที่ไม่มีใครเอาชนะกันได้เช่นนี้อาจดำเนินต่อไปจนกว่าจะมีการยุบสภา ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในอีกไม่นานนี้ หนทางเดียวที่พาการเมืองไทยออกจากสภาพเช่นนี้ได้คือการย้ายข้าง ถ้าฝ่ายประชาธิปไตยสามารถกดดันให้ ส.ว. 250 คนยกมือเลือกคุณหญิงสุดารัตน์เป็นนายกรัฐมนตรีได้ รัฐบาลจะมีเสถียรภาพมากขึ้นและสามารถผ่านกฎหมายในสภาได้ แต่ขณะเดียวกันพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยก็ต้องโน้มน้าว ส.ส. คนอื่น ๆ ที่ยังไม่ตัดสินใจให้มาเข้าร่วมกับฝ่ายตนด้วย เพื่อให้มี ส.ส. และ ส.ว. ครบ 376 คน จาก 750 คนในสภา

แต่การโน้มน้าวไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะพรรคประชาธิปไตยซึ่งมี ส.ส. 54 เสียงในสภาคงเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐเพื่อจัดตั้งรัฐบาล หลังเลือกตั้งเสร็จในวันที่ 24 มีนาคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้ประกาศลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรค โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. น้อยกว่าที่ตั้งเป้าไว้ นายอภิสิทธิ์เคยกล่าวไว้ในช่วงหาเสียงว่าจะไม่ยอมสนับสนุนให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรีเด็ดขาด แต่อาจยอมให้พลังประชารัฐเป็นพรรคร่วมรัฐบาลได้ ถ้ายอมรับเงื่อนไขที่ตนเป็นผู้ตั้ง ดังนั้น การลาออกของนายอภิสิทธิจึงเปิดโอกาสให้ประชาธิปัตย์สามารถเป็นพรรคร่วมรัฐบาลของพรรคประชารัฐโดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีได้ นายกรณ์ จาติกวณิช กล่าวว่า “เป็นไปไม่ได้” ที่พรรคประชาธิปัตย์จะเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ส่วนนายอัศวิน วิภูศิริ รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ระบุว่า พล. อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรีได้โดยชอบธรรม เนื่องจากได้เสียงข้างมาก พร้อมทั้งระบุเกี่ยวกับการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วยว่าขึ้นอยู่กับพรรคพลังประชารัฐจะเชิญให้เข้าร่วมหรือไม่ 

แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็กำลังเผชิญกับวิกฤติทางอัตลักษณ์อยู่เช่นกัน ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีพรรคการเมืองใหม่ ๆ เกิดขึ้น ส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องปรับเปลี่ยนจุดยืนของตัวเอง กล่าวคือ พรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้เท่ากับพรรคพลังประชารัฐ แต่ก็ไม่สามารถเป็นฝ่ายประชาธิปไตยได้เท่ากับพรรคเพื่อไทยหรือพรรคอนาคตใหม่ หลายปีที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ได้รับสมญานามว่าเป็น “พรรคแมลงสาบ” เนื่องจากขาดความเสมอต้นเสมอปลายและเคยสนับสนุนให้กองทัพมาเข้ามารัฐประหารมากกว่า 1 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป พรรคประชาธิปัตย์จะสูญพันธุ์ไปในที่สุด แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่สามารถกลับใจไปสนับสนุนระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยได้เหมือนอย่างที่กลุ่ม New Dem วาดฝันไว้เช่นกันเนื่องจากประวัติการสนับสนุนระบอบเผด็จการในช่วงที่ผ่านมา ในวิกฤติทางอัตลักษณ์ครั้งนี้ นายพริษฐ์ วัชรสินธุระบุว่าหากพรรคประชาธิปัตย์สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ก็จะขอทบทวนตัวเอง เพราะขัดกับจุดยืนของตนที่ไม่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ ให้สืบทอดอำนาจต่อ ส่วนนายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้ให้สัมภาษณ์กับมติชนเช่นกันว่า “ขณะนี้พรรคเพื่อไทยมี ส.ส. มากที่สุด ... พรรคพลังประชารัฐป๊อบปูลาร์โหวตสูงสุด แต่จำนวน ส.ส. น้อยกว่า ผิดหลักการที่จะเป็นคนตั้งรัฐบาล หลักการคือเราจะต้องสนับสนุนพรรคที่มี ส.ส. มากทีสุด ผมยึดหลักการประชาธิปัตย์ ตามอุดมการณ์พรรคประชาธิปัตย์” กว่าวิกฤติทางอัตลักษณ์เช่นนี้จะคลี่คลายและได้ข้อสรุปคงต้องใช้เวลาอีกสักพัก

แต่เนื่องจากกลุ่มพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยประกาศตัวอย่างเปิดเผยแล้ว แนวร่วมจึงตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น และอาจถูกโจมตีจากพรรคพลังประชารัฐ และกกต. ได้ ก่อนเลือกตั้ง พรรคพลังประชารัฐสามารถดึงผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคอื่นมาได้ถึง 112 คน และไม่มีอะไรการันตีเลยว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก พรรคเศรษฐกิจใหม่ที่อ้างว่าจะเข้าร่วมกับฝ่ายประชาธิปไตยก็ยังไม่ได้เซ็น MOU และอาจพร้อมย้ายข้างได้ทุกเมื่อ ปัจจุบันพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยมี ส.ส. ในสภาทั้งหมด 253 เสียง แต่ถ้า ส.ส. 6 เสียงของพรรคเศรษฐกิจใหม่ย้ายข้าง ฝ่ายประชาธิปไตยจะเหลือเพยง 247 เสียงและไม่ใช่เสียงข้างมากในสภาอีกต่อไป

นอกจากนี้แล้ว พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยยังต้องเฝ้าระวังอำนาจการลงโทษของ กกต. ด้วย ทั้งในรูปของ “ใบเหลือง” “ใบส้ม” และ “ใบแดง” ซึ่ง กกต. จะต้องดำเนินการให้เสร็จก่อนการประกาศผลอย่างเป็นทางการภายในวันที่ 9 พฤษภาคม ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ช่วงที่ผ่านมา กกต. ถูกโจมตีว่าไร้ความสามารถ และลิดรอนสิทธิการเลือกตั้งของประชาชน ทั้งในช่วงการเลือกตั้งล่วงหน้าภายในและภายนอกราชอาณาจักร และวันเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ปัจจุบันยังไม่ชัดเจนว่า กกต. เพียงแค่ไร้ความสามารถหรือพยายามลิดลอนสิทธิประชาชนกันแน่ แต่ถ้า กกต. ซึ่งแต่งตั้งโดย คสช. เริ่มดำเนินการลงโทษผู้สมัครรับเลือกตั้งเมื่อไหร่ เราจะเห็นได้ชัดขึ้นเองว่า กกต. เป็นกลางทางการเมืองหรือไม่

ใบเหลือง ใบส้ม ใบแดง ส่งผลอย่างไรต่อการเลือกตั้ง

แต่ปัจจัยที่มีนัยสำคัญที่สุดอาจอยู่ที่พรรคภูมิใจไทย ซึ่งนำโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล ที่ผ่านมาพรรคภูมิใจไทยเดินเกมอย่างระมัดระวังอย่างมากและได้ ส.ส. ถึง 52 ที่นั่งในสภา พรรคภูมิใจไทยจึงอาจมีบทบาทสำคัญในการกำหนดว่าฝ่ายใดจะเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรและเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าพรรคอนาคตใหม่จะยอมรับได้หรือไม่ถ้าพรรคเพื่อไทยเสนอนายอนุทินเป็นนายก นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ระบุว่า หากนายกไม่สามารถมาจากพรรคที่มี ส.ส. มากที่สุดได้ พรรคอนาคตใหม่ก็พร้อมยกมือให้ใครก็ตามที่สามารถยุติการสืบทอดอำนาจของ คสช. ได้ แต่จะไม่เข้าร่วมรัฐบาลด้วยหากไม่ยอมรับเงื่อนไขของพรรคอนาคตใหม่ ดังนั้น เราจึงอาจกล่าวได้ว่าฝ่ายประชาธิปไตยพร้อมที่จะให้นายอนุทินเป็นนายกรัฐมนตรี และถึงแม้ว่าพรรคภูมิใจไทยจะไม่ยอมรับเงื่อนไขของพรรคอนาคตใหม่ที่เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญและล้มล้างผลพวงของระบอบ คสช. พรรคอนาคตใหม่ก็ยังพร้อมเลือกให้อนุทินเป็นนายกรัฐมนตรีก่อนอยู่ดี แล้วค่อยหันไปทำงานเป็นฝ่ายค้าน

จนถึงตอนนี้อนุทินเคยพูดเอาไว้ 3 ประเด็นด้วยกันคือ (1.) อนุทินจะไม่ยอมให้ ส.ว. 250 ที่นั่งมากำหนด ส.ส. 500 ที่นั่ง (2.) อนุทินจะยังไม่ประกาศเข้าร่วมกับฝ่ายใดจนกว่าผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการจะออกมาในวันที่ 9 พฤษภาคม (3.) อนุทินเคยประกาศในช่วงหาเสียงก่อนเลือกตั้งว่า ถ้าพรรคภูมิใจไทยได้ตั้งรัฐบาล พรรคการเมืองอื่น ๆ ต้องยอมรับเงื่อนไขของพรรคภูมิใจได้ ได้แก่ ไม่สร้างความขัดแย้ง รักประชาชน เชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ และทำให้ประเทศไทยเจริญรุ่งเรือง (4.) หลังการเลือกตั้ง เงื่อนไขการตั้งรัฐบาลของอนุทินเป็นรูปธรรมขึ้น โดยกำหนดว่าพรรคการเมืองอื่น ๆ ต้องสนับสนุนนโยบายกัญชาถูกกฎหมาย และจะไม่ยอมผ่อนอ่อนข้อในประเด็นนี้เด็ดขาด

พรรคภูมิใจไทยอาจตระหนักได้ว่าปัจจัยในการกำหนดว่าใครจะเป็นฝ่ายตั้งรัฐบาลในครั้งนี้ขึ้นอยู่กับ ส.ส. พรรคเล็ก พรรคภูมิใจไทยจึงรอไปก่อนอย่างระมัดระวังจนกว่าจะถึงวันที่ 9 พฤษภาคม หลังจากเห็นชัดเจนแล้วว่า ส.ส. พรรคเล็กมีจำนวนเท่าใดและเข้ากับฝ่ายไหน พรรคภูมิใจไทยจึงค่อยตัดสินใจเข้าร่วมกับฝ่ายชนะ นอกจากนี้ การรอจนกว่าจะถึงวันที่ 9 พฤษภาคม ยังช่วยรับประกันด้วยว่าพรรคภูมิใจไทยจะไม่ตกเป็นเป้าการโจมตีของ กกต. เนื่องจากเข้าร่วมกับฝ่ายประชาธิปไตย หากเราตั้งสมมติฐานว่า กกต. ไม่เป็นกลางทางการเมือง

หากพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยสามารถเอาชนะความท้าทายแสนยากเหล่านี้ได้ แนวร่วมชุดนี้ก็จะสามารถตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ถ้าหากภายในฝ่ายประชาธิปไตยเกิดพลาดพลั้งมีการย้ายข้าง ถูกลงโทษโดย กกต. หรือหากอนุมัติตัดสินใจเข้าร่วมกับรัฐบาลประยุทธ์ในนาทีสุดท้ายเนื่องจากฝ่ายประชาธิปไตยรวมเสียงพรรคเล็กไม่ได้ มีแนวโน้มอย่างมากที่ประเทศไทยจะยังคงอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารอำพรางต่อไปอีก 4 ปี แต่ถึงจะถูกรุกฆาตและแพ้ในเกมนี้ ในสภาผู้แทนราษฎรก็คาดว่าจะมีฝ่ายค้านจากแนวร่วมประชาธิปไตยคอยถ่วงดุลอย่างเข้มแข็ง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 ปีเช่นเดียวกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net