Skip to main content
sharethis

อดีต กกต. สมชัย ระบุ กกต. อาจขาดความมั่นใจเรื่องสูตรการคำนวณที่นั่ง ส.ส. จึงต้องถาม กรธ. แต่ก็คงไม่ได้คำตอบที่เป็นหลักอิงได้ เพราะ กรธ. ไม่มีสถานะทางกฎหมายแล้ว สุดท้าย กกต. ต้องลงมติยืนยันเอง และรับผลที่จะตามมาเอง แนะให้ตีความกฎหมายอย่างเคร่งครัด ตรงไปตรงมา ไม่เอื้อพรรคการเมืองพร้อมเปิดสูตรคำนวณให้ดูเป็นตัวอย่าง พบ พรรคต่ำว่า 71,065 ไม่มีที่นั่งในสถาผู้แทนฯ

2 เม.ย. 2562 สืบเนื่องจากกรณีที่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีที่มีการเรียกร้องให้ กกต. เปิดวิธีการคำนวณที่นั่ง ส.ส. ในระบบัญชีรายชื่อนั้น ว่า เวลานี้ กกต. ยังไม่มีมติในเรื่องดังกล่าว คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในสัปดาห์นี้ ทั้งนี้สูตรคำนวณส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วย ส.ส. แต่ถึงอย่างนั้น ก็ต้องมีต้นแบบการคำนวณ ซื่ง กกต.จะได้รวบรวมทุกความเห็นและข้อโต้แย้ง รวมทั้งศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีคำตอบกับสังคม กกต.ไม่ได้เป็นผู้ร่างกฎหมาย เป็นเพียงผู้ใช้กฎหมาย และยืนยันว่าที่ผ่านมา กกต.ยังไม่ได้เริ่มคำนวณเลย ส่วนเรื่องจุดทศนิยม หรือการปัดเศษต่างๆ ตนยังไม่ขอตอบ แต่ขอให้มั่นใจว่า กกต. รับฟังทุกข้อโต้แย้ง

เมื่อถามว่าจะต้องเชิญคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) มาให้ความเห็นหรือไม่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า สูตรคำนวณ เป็นเรื่องคณิตศาสตร์ที่นำมาเขียนเป็นกฎหมาย กกต.จึงต้องรับฟังทั้งความเห็นของ กรธ.และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่ามีเจตนารมณ์ในการเขียนกฎหมาย และการตีความกฎหมายนี้อย่างไร ทั้งนี้ เมื่อกกต. มีมติออกมาก็อาจจะเผยแพร่ และชี้แจงกับประชาชน ถึงอย่างไรก็หนีไม่พ้นต้องประกาศรับรองผลการเลือกตั้งในวันที่ 9 พ.ค. อย่างไรก็ตาม ประเด็นสูตรคำนวณ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ ไม่ได้กดดันการทำงานของ กกต. เพราะเป็นเรื่องที่ต้องตีความ และวินิจฉัยไปตามข้อกฎหมาย

ต่อกรณีดังกล่าว ประชาไท สัมภาษณ์ สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่มีวการจัดการเลือกตั้งเสร็จแล้ว แต่ กกต. ยังไม่มีวิธีการคิดคำนวณที่นั่ง ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อ

สมชัย ระบุว่า กกต. อาจจะเริ่มไม่มีความมั่นใจในสิ่งที่กำลังทำอยู่ ก็คงต้องให้โอกาสเขาแล้วรอดูว่าจะตั้งหลักกันอย่างไร เพราะว่าสิ่งที่ กกต. อาจจะคิดและเชื่ออาจจะเป็นปัญหาในเชิงของการตีความกฎหมายจริงๆ ดังนั้น กกต. อาจจะมองหาหลังพิง ก็เลยต้องถามไปยัง สนช. และ กรธ.

“ผมเข้าใจว่าคำถามของ กกต. จะไม่มีคำตอบ เพราะการถาม กรธ. วันนี้คือใครอยู่ที่ไหน เพราะเขายุบไปแล้ว คุณจะส่งจดหมายไปที่ใคร เรื่องนี้ในทางธุรการไม่สามารถทำได้ และการที่ กรธ. ออกมาตอบ ถ้าตอบปากเปล่าก็ไม่ได้เป็นหลักอิงที่เพียงพอ มันต้องตอบเป็นจดหมายจึงจะเป็นหลักอิงที่เพียงพอ แต่จะตอบได้อย่างไรในเมื่อองค์กรมันไม่มีอยู่แล้ว” สมชัย กล่าว

เขากล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม กกต. คงไม่ได้คำตอบที่เพียงพอที่จะนำมาเป็นข้อมูลสนับสนุนในการตัดสินใจได้ ดังนั้นสิ่งที่ กกต. ต้องทำคือการตีความกฎหมายอย่างเคร่งครัด และตรงไปตรงมา และอ่านเจตนาของการร่างกฎหมายให้ถูกต้อง และดำเนินการด้วยความเป็นกลาง โดยไม่คิดว่าจะนำไปสู่การเพิ่ม หรือลด จำนวน ส.ส. ให้กับพรรคใด หรือนำไปสู่การส่งเสริมให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตั้งรัฐบาลได้

“เป็นเรื่องที่ยากมากในสถานการณ์นี้ และ กกต. ทั้ง 7 คนจะเป็นขั้นสุดท้ายที่จะลงมติว่าจะใช้สูตรใด ซึ่งต้องรับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้นตามมา ไม่ว่าเจ้าหน้าที่ อนุกรรมการ จะเสนอมาอย่างไรก็แล้วแต่ ความรับผิดทั้งหมดจะอยู่ที่ กกต. ทั้ง 7 คน เพราะท่านมีหน้าที่ตัดสินใจ” สมชัย กล่าว

เมื่อถามจากการอ่านกฎหมายทั้งหมดแล้วมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ จะมีการปัดเศษให้กับพรรคการเมืองที่ได้คะแนนไม่ถึง 71,065.2940 เสียง ได้รับที่นั่งในสภา สมชัยระบุว่า การคำนวณทุกอย่างตนได้เขียนเป็นเอกสารตีความกฎหมายที่ขั้นตอนเรียบร้อยแล้ว พร้อมยืนยันว่า จากการคำนวณพบว่าไม่สามารถทำให้พรรคการเมืองที่มีคะแนนไม่ถึง 71,065.2940 เสียง

ตารางการคำนวณ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ โดยสมชัย ศรีสุทธิยากร

คำนวณ ส.ส.บัญชีแบบถอดรหัส พรป.ส.ส. บรรทัดต่อบรรทัด

โดยรองศาสตราจารย์สมชัย ศรีสุทธิยากร

มาตรา ๑๒๘ ในกรณีที่มีการประกาศผลการเลือกตั้งครบทุกเขตเลือกตั้งแล้ว การคํานวณหา จํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ จะพึงได้รับ ให้คํานวณตามวิธีการดังต่อไปนี้ โดยในกรณีที่มีเศษให้ใช้ทศนิยมสี่ตําแหน่ง

(๑) นําคะแนนรวมทั้งประเทศที่พรรคการเมืองทุกพรรคที่ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อได้รับ จากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งหารด้วยห้าร้อยอันเป็นจํานวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร

ผลลัพธ์ 35,532,647 หาร 500  ได้เท่ากับ  71,065.2940 คน ต่อ ส.ส.ที่พึงจะมี 1 คน

(๒) นําผลลัพธ์ตาม (๑) ไปหารจํานวนคะแนนรวมทั้งประเทศของพรรคการเมืองแต่ละพรรค ที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทุกเขต จํานวนที่ได้รับให้ถือเป็นจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้เบื้องต้น และเมื่อได้คํานวณตาม (๕) (๖) หรือ (๗) ถ้ามีแล้ว จึงให้ถือว่า เป็นจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้

ผลลัพธ์ มีพรรคการเมือง 16 พรรค ที่มี จำนวน ส.ส.พึงจะมีได้ ดังนี้

พลังประชารัฐ                118.6674 คน

เพื่อไทย                      111.4557 คน

อนาคตใหม่                   88.1717 คน

ประชาธิปัตย์                  55.5507 คน

ภูมิใจไทย                     52.5275 คน

เสรีรวมไทย                   11.6306 คน

ชาติไทยพัฒนา               11.0044 คน

เศรษฐกิจใหม่                 6.8341 คน

ประชาชาติ                     6.8308 คน

เพื่อชาติ                        5.9015 คน

รวมพลังประชาชาติไทย       5.8583 คน                   

ชาติพัฒนา                     3.5467 คน

พลังท้องถิ่นไท                2.9991 คน

รักษ์ผืนป่าประเทศไทย       1.9221 คน

พลังปวงชนไทย              1.1501 คน

พลังชาติไทย                 1.0395 คน

(๓) นําจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองจะพึงมีได้ตาม (๒) ลบด้วยจํานวน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั้งหมดที่พรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้ง ผลลัพธ์คือจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับเบื้องต้น   

ผลลัพธ์ จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ พรรคการเมืองแต่ละพรรคจะได้รับเบื้องต้น  มีจำนวน 15 พรรค (ยกเว้น พรรคเพื่อไทยที่มีจำนวน ส.ส.เขตมากกว่าจำนวน ส.ส.ที่พึงจะมี  จึงมีจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็น 0) 

พลังประชารัฐ                  21.6674  คน

อนาคตใหม่                    58.1717  คน

ประชาธิปัตย์                   22.5507 คน

ภูมิใจไทย                      13.5275  คน

เสรีรวมไทย                    11.6306  คน

ชาติไทยพัฒนา                5.0044  คน

เศรษฐกิจใหม่                  6.8341 คน

ประชาชาติ                      0.8308 คน

เพื่อชาติ                         5.9015 คน

รวมพลังประชาชาติไทย       4.8583 คน                   

ชาติพัฒนา                     2.5467 คน

พลังท้องถิ่นไท                 2.9991 คน

รักษ์ผืนป่าประเทศไทย        1.9221 คน

พลังปวงชนไทย                1.1501 คน

พลังชาติไทย                   1.0395 คน

จำนวนรวม 160.6345 คน (ซึ่งเกินจำนวน 150 คน ของ ส.ส.บัญชีรายชื่อ)    

(๔) ภายใต้บังคับ (๕) ให้จัดสรรจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมือง จะได้รับให้ครบหนึ่งร้อยห้าสิบคน โดยจัดสรรให้พรรคการเมืองตามผลลัพธ์ตาม (๓) เป็นจํานวนเต็มก่อน หากยังไม่ครบจํานวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน ให้พรรคการเมืองที่มีเศษจากการคํานวณมากที่สุดได้รับการจัดสรร จํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกหนึ่งคนตามลําดับจนครบจํานวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน ในกรณีมีเศษเท่ากัน ให้ดําเนินการตาม (๖)

ผลลัพธ์  ต้องข้ามขั้นตอนนี้ไปก่อน เพราะกม.เขียนให้ไปทำ (๕) ก่อน

(๕) ถ้าพรรคการเมืองใดมีผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เท่ากับหรือสูงกว่าจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (๒) ให้พรรคการเมืองนั้น มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามจํานวนที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และไม่มีสิทธิได้รับ การจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และให้นําจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มีจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ต่ํากว่าจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (๒) ตามอัตราส่วน แต่ต้อง ไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าวมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินจํานวนที่จะพึงมีได้ตาม (๒)

ผลลัพธ์ พรรคที่มี จำนวนส.ส.เขตสูงกว่า จำนวนส.ส.ที่พึงจะมี คือ พรรคเพื่อไทย มีจำนวน ส.ส.ที่เกินมาเท่ากับ 25.5443 คน ต้องนำจำนวนดังกล่าว ไปจัดสรรให้กับพรรคตาม (๒) ตามอัตราส่วน ทำให้ 15 พรรค ตาม (๒) ได้ จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่  ดังนี้

พลังประชารัฐ                25.1130  คน

อนาคตใหม่                   67.4223  คน

ประชาธิปัตย์                  26.1367 คน

ภูมิใจไทย                     15.6787  คน

เสรีรวมไทย                   13.4801  คน

ชาติไทยพัฒนา               5.8002  คน

เศรษฐกิจใหม่                 7.9208 คน

ประชาชาติ                     0.9630 คน

เพื่อชาติ                        6.8400 คน

รวมพลังประชาชาติไทย      5.6309 คน                   

ชาติพัฒนา                    2.9516 คน

พลังท้องถิ่นไท                3.4760 คน

รักษ์ผืนป่าประเทศไทย       2.2278 คน

พลังปวงชนไทย              1.3330 คน

พลังชาติไทย                 1.2048 คน

รวมจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากการนำโควต้าของพรรคเพื่อไทยไปเพิ่มให้กับพรรคการเมือง 15 พรรค เป็น จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 186.1788 คน (ซึ่งเกินกว่าจำนวน 150 คน)

(๖) ในการจัดสรรตาม (๕) แล้วปรากฏว่ายังจัดสรรจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ไม่ครบหนึ่งร้อยห้าสิบคน ให้พรรคการเมืองที่มีเศษจากการคํานวณมากที่สุดได้รับการจัดสรรจํานวนสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกหนึ่งคนตามลําดับจนครบจํานวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน กรณีที่เศษที่เหลือ ของแต่ละพรรคการเมืองเท่ากันจนทําให้ไม่สามารถจัดสรรสมาชิกสภาผ้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อได้ครบจํานวน หนึ่งร้อยห้าสิบคน ให้นําค่าเฉลี่ยคะแนนของแต่ละพรรคการเมืองต่อจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่พึงมีหนึ่งคนมาพิจารณา โดยหากพรรคการเมืองใดมีค่าเฉลี่ยคะแนนของพรรคการเมืองต่อจํานวน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงมีหนึ่งคนมากกว่าพรรคการเมืองอื่น ให้พรรคการเมืองนั้นมีสิทธิได้รับ การจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกหนึ่งคน และหากยังมีจํานวนค่าเฉลี่ยดังกล่าว เท่ากันอีก ให้ใช้วิธีจับสลาก

ผลลัพธ์  ข้ามขั้นตอนนี้ เนื่องจากจำนวนที่คำนวณรวม เกิน 150 คน

(๗) ในกรณีที่เมื่อคํานวณตาม (๕) แล้วปรากฏว่าพรรคการเมืองทุกพรรคได้รับจํานวน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อรวมกันแล้วเกินหนึ่งร้อยห้าสิบคน ให้ดําเนินการคํานวณปรับ จํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อใหม่โดยคํานวณตามอัตราส่วนที่ทุกพรรคจะได้รับการจัดสรร จํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อซึ่งเมื่อรวมแล้วไม่เกินหนึ่งร้อยห้าสิบคน โดยให้นําจํานวน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะได้รับคูณด้วยหนึ่งร้อยห้าสิบ หารด้วยผลบวกของหนึ่งร้อยห้าสิบกับจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่เกินจํานวนหนึ่งร้อยห้าสิบ และให้นํา (๔) มาใช้ในการคํานวณด้วยโดยอนุโลม

ผลลัพธ์  คำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ของพรรค 15 พรรคใหม่ โดยใช้สูตร คูณด้วย 150 หารด้วย 186.1788 ได้ผลเป็นจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคดังนี้

พลังประชารัฐ                20.2330  คน

อนาคตใหม่                   54.3206  คน

ประชาธิปัตย์                  21.0578 คน

ภูมิใจไทย                     12.6319  คน

เสรีรวมไทย                   10.8606  คน

ชาติไทยพัฒนา               4.6731  คน

เศรษฐกิจใหม่                 6.3816 คน

ประชาชาติ                     0.7758 คน

เพื่อชาติ                        5.5108 คน

รวมพลังประชาชาติไทย      4.5367 คน                   

ชาติพัฒนา                    2.3781 คน

พลังท้องถิ่นไท                2.8005 คน

รักษ์ผืนป่าประเทศไทย       1.7949 คน

พลังปวงชนไทย               1.0740 คน

พลังชาติไทย                  0.9707 คน

รวมจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ 150 คน พอดี แต่ ยังมีทศนิยม 4 หลักติดอยู่ ซึ่งไม่สามารถจัดสรรได้จริง เพราะต้องจัดสรรเป็นจำนวนเต็ม ต้องต้องย้อนไปดำเนินการตาม (๔) อีกรอบ

(๔) ภายใต้บังคับ (๕) ให้จัดสรรจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมือง จะได้รับให้ครบหนึ่งร้อยห้าสิบคน โดยจัดสรรให้พรรคการเมืองตามผลลัพธ์ตาม (๓) เป็นจํานวนเต็มก่อน หากยังไม่ครบจํานวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน ให้พรรคการเมืองที่มีเศษจากการคํานวณมากที่สุดได้รับการจัดสรร จํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกหนึ่งคนตามลําดับจนครบจํานวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน ในกรณีมีเศษเท่ากัน ให้ดําเนินการตาม (๖)

ผลลัพธ์ สามารถจัดสรรเป็นจำนวนเต็มให้แก่พรรคการเมือง 13 พรรค ดังนี้ คือ

พลังประชารัฐ                  20 คน

อนาคตใหม่                    54 คน

ประชาธิปัตย์                   21 คน

ภูมิใจไทย                      12 คน

เสรีรวมไทย                    10 คน

ชาติไทยพัฒนา                4 คน

เศรษฐกิจใหม่                  6 คน

เพื่อชาติ                         5 คน

รวมพลังประชาชาติไทย       4 คน                

ชาติพัฒนา                     2 คน

พลังท้องถิ่นไท                2 คน

รักษ์ผืนป่าประเทศไทย       1 คน

พลังปวงชนไทย              1 คน

รวมจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ 142 คน  เหลืออีก 8 คน จัดสรรโดยพิจารณาจากเศษที่เหลือจากคำนวณเรียงจากมากสุด จนถึงน้อยสุดได้ดังนี้

พรรคพลังชาติไทย          เศษ 0.9707  ได้ 1 คน

พรรคเสรีรวมไทย            เศษ 0.8606 ได้ 1 คน

พรรคพลังท้องถิ่นไท        เศษ 0.8005 ได้ 1 คน

พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย เศษ 0.7949 ได้ 1 คน

พรรคประชาชาติ              เศษ  0.7758 ได้ 1 คน

พรรคชาติไทยพัฒนา        เศษ 0.6731 ได้ 1 คน

พรรคภูมิใจไทย                  เศษ 0.6319  ได้ 1 คน

พรรครวมพลังประชาชาติไทย  เศษ 0.5367 ได้ 1 คน

เป็นผลให้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อในขั้นสุดท้ายของแต่ละพรรคเป็นดังนี้

พลังประชารัฐ                20 คน

อนาคตใหม่                   54 คน

ประชาธิปัตย์                  21 คน

ภูมิใจไทย                      13 คน

เสรีรวมไทย                   11 คน

ชาติไทยพัฒนา                5 คน

เศรษฐกิจใหม่                  6 คน

เพื่อชาติ                        5 คน

รวมพลังประชาชาติไทย       5 คน                

ชาติพัฒนา                      2 คน

พลังท้องถิ่นไท                 3 คน

รักษ์ผืนป่าประเทศไทย        2 คน

พลังปวงชนไทย               1 คน

ประชาชาติ                     1 คน

พลังชาติไทย                  1 คน

รวม จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ   150 คน

(๘) เมื่อได้จํานวนผู้ได้รับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองแล้ว ให้ผู้สมัคร ตามลําดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น เป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีที่ผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งตายภายหลังวันปิดรับสมัครรับเลือกตั้งแต่ก่อนเวลาปิด การลงคะแนนในวันเลือกตั้ง ให้นําคะแนนที่มีผู้ลงคะแนนให้ มาคํานวณตาม (๑) และ (๒) ด้วย ทั้งนี้ การดําเนินการตาม (๑) ถึง (๘) ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกําหนด

ผลลัพธ์  ยังไม่มีใครตายจึงยังไม่ต้องดำเนินการตามข้อนี้

คำนวณเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2562  เวลา 11.00 น.

รองศาสตราจารย์ สมชัย  ศรีสุทธิยากร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net