สุรพศ ทวีศักดิ์: ฝ่ายค้านอิสระ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

มิตรสหายท่านหนึ่งเคยพูดมานานแล้วว่า ความเป็นไปได้ในการต้านอำนาจการเมืองนอกระบบเลือกตั้งและทำให้การเมืองในระบบเลือกตั้งเดินต่อไปได้ “ประชาธิปัตย์กับเพื่อไทยต้องร่วมมือกันต้าน” แต่ในการเลือกตั้งที่ผ่านมานอกจากประชาธิปัตย์จะปฏิเสธเด็ดขาดว่า “ไม่จับมือกับเพื่อไทย” แล้ว หลังเลือกตั้งประชาธิปัตย์ยังแบ่งเป็นสองฝ่ายคือ ฝ่ายอยากจับมือกับพลังประชารัฐสนับสนุนประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรี กับฝ่ายที่ต้องการเป็น “ฝ่ายค้านอิสระ” ดังที่เป็นข่าว

ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ประชาธิปัตย์ให้น้ำหนักกับการปฏิเสธพรรคการเมืองคู่แข่งยิ่งกว่าการปฏิเสธการสนับสนุนการสืบทอดอำนาจเผด็จการ ข้ออ้างที่ว่า “เมื่อประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐที่มาจากการเลือกตั้ง ก็ถือว่ามาตามครรลองประชาธิปไตยแล้ว จึงไม่ใช่การสืบทอดอำนาจเผด็จการ” ย่อมเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น เมื่อเทียบกับกรณีที่ประชาธิปัตย์บอยคอตเลือกตั้งด้วยข้ออ้างที่ว่า ไม่อยากร่วมสังฆกรรมในการเลือกตั้งเพื่อสร้างความชอบธรรมให้พรรคเพื่อไทย 

ทำไมประชาธิปัตย์จึงรังเกียจที่จะร่วมมือกับพรรคการเมืองคู่แข่งมากกว่าเผด็จการ? 

คำตอบของคำถามนี้ย่อมสะท้อน “จุดยืน” ในอุดมการณ์ทางการเมืองของประชาธิปัตย์ได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ ประชาธิปัตย์ตกอยู่ในภาวะสับสนว่าจะดำรงจุดยืนเดิมคือ “อุดมการณ์อนุรักษ์นิยม” หรือประชาธิปไตยแบบไทย หรือจะปรับตัวไปสู่จุดยืนที่ก้าวหน้ากว่าคือ “อุดมการณ์เสรีประชาธิปไตย” ตามที่ประกาศก่อนช่วงหาเสียงเลือกตั้ง 

ตัวอย่างความสับสนดังกล่าว เห็นได้เช่นในการประกาศจุดยืนของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะที่ว่า “ไม่สนับสนุนประยุทธ์เป็นนายกฯ แต่ยินดีร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ” แต่หลังเลือกตั้งเมื่ออภิสิทธิ์ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค ความสับสนในจุดยืนอุดมการณ์ทางการเมืองของประชาธิปัตย์ก็ยังคงแสดงออกในการแบ่งเป็นสองฝ่ายดังกล่าวแล้ว

แน่นอนว่าฝ่ายต้องการหนุนประยุทธ์เป็นนายกฯ คือฝ่ายยืนยันอุดมการณ์ดั้งเดิมของประชาธิปัตย์คืออุดมการณ์อนุรักษ์นิยม/ประชาธิปไตยแบบไทย อันที่จริงบทบาทของอภิสิทธิ์ก็ยึดอุดมการณ์นี้มาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเสนอ “นายกฯ มาตรา 7” แม้แต่การขึ้นเป็นนายกฯ ของเขาก็เพราะได้รับการสนับสนุนจากทหาร ไม่ต้องพูดถึงว่าการบอยคอตเลือกตั้งทุกครั้งเชื่อมโยงกับรัฐประหารเสมอ นี่คือข้อเท็จจริงว่า ทำไมประชาธิปัตย์จึงมีแนวโน้มเป็นพันธมิตรกับเผด็จการที่สามารถ “เขี่ย” ตัวเองตกเวทีการเมืองได้มากยิ่งกว่าที่เป็นพันธมิตรกับพรรคการเมืองที่ยังไงๆ ก็ยังร่วมกันรักษาเวทีการเมืองเอาไว้ให้ทุกฝ่ายเล่นร่วมกันได้

แล้วพรรคคู่แข่งหรือ “เพื่อไทย” ชูอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยขึ้นมาแข่งและเอาชนะประชาธิปัตย์ได้ด้วยอุดมการณ์นี้เช่นนั้นหรือ เปล่าเลย เพื่อไทยก็ทำการเมืองภายใต้กรอบประชาธิปไตยแบบไทยมาตลอด แต่เมื่อมีการใช้วาทกรรม “ระบอบทักษิณ” ส่งผลให้ทักษิณและเพื่อไทยเสมือนเป็นฝ่ายตรงข้ามกับอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม/ประชาธิปไตยแบบไทย และเนื่องจากทักษิณและเพื่อไทยยืนยันการต่อสู้ทางการเมืองผ่าน “ระบบเลือกตั้ง” อย่างคงเส้นคงวาในสถานการณ์มวลชนเหลือง-แดง จึงทำให้พรรคเพื่อไทย “เปิดพื้นที่” ให้กับอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยมากขึ้นอย่างจำเป็น ดังปรากฏในการต่อสู้ของสมาชิกพรรคที่เป็นแกนนำมวลชน เป็นนักเคลื่อนไหวต้านเผด็จการอย่างณัฐวุฒิ, จตุพร, จาตุรนต์ ฯลฯ 

เมื่อเพื่อไทยยืนยันการต่อสู้ผ่านระบบเลือกตั้ง (ที่ตัวเองไม่ใช่ผู้เขียนกติกาเอง) เสมอต้นเสมอปลาย และการเมืองบนท้องถนนที่เชื่อมโยงกับเพื่อไทย ก็เป็นการเมืองที่ชูวาทกรรมการ “ปลดแอก” สังคมไทยจากการแทรกแซงการเมืองและการทำรัฐประหารของฝ่ายอนุรักษ์นิยม วิถีทางเช่นนี้ได้ “เปิดพื้นที่” ให้นักวิชาการ สื่อ และกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองอื่นๆ ที่รักเสรีภาพและประชาธิปไตยเข้ามาเป็นแนวร่วมทั้งแบบแนบแน่น แบบอยู่ห่างๆ หรือเห็นใจ หรืออย่างน้อยที่สุดถึงไม่เป็นด้วยกับเพื่อไทย หรือไม่ชอบไม่เชียร์พรรคนี้ก็เข้าใจได้ว่า การยืนยันที่จะต่อสู้ตามกระบวนการเลือกตั้ง การต่อต้านรัฐประหารและเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพทางการเมืองตามแนวทางของเพื่อไทยและมวลชนเสื้อแดงย่อมไม่ใช่วิถีทางที่กีดกันคนคิดต่างเชื่อต่างออกไปจากเวทีการเมือง 

ต่างจากแนวทางบอยคอตเลือกตั้งของประชาธิปัตย์และแนวทางแบบ พธม.และ กปปส.ที่ประชาธิปัตย์เป็นพันธมิตร กระทั่งมีแกนนำของพรรคไปเป็นแกนนำมวลชนด้วยที่เป็นแนวทางกีดกันคนคิดต่าง เชื่อต่างออกไปจากเวทีการเมือง ทั้งโดยการ “เตะพรรคการเมืองคู่แข่งเข้าทางตีนทหาร” ทั้งโดยการยอมรับสถานะและอำนาจพิเศษของกองทัพในการแก้ปัญหาการเมืองแบบผิดครรลองประชาธิปไตย การยอมรับสถานะ อำนาจเหนือหลักเสรีภาพของชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยมและกฎหมายพิเศษอื่นๆ ที่ขัดหลักเสรีภาพ 

ตลกร้ายคือ การเมืองแบบเพื่อไทยและคนเสื้อแดง แม้จะมีลักษณะเฉพาะที่ถูกตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ และหลายๆ เรื่องควรจะต้องได้รับการแก้ไข แต่การเมืองแบบเพื่อไทยและเสื้อแดงก็ไม่ใช่การเมืองที่จะสามารถสถาปนาอำนาจพิเศษเหนือหลักเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบขึ้นมาเป็นกำแพงปิดกั้น กีดกันคนคิดต่าง เชื่อต่างออกไปจากเวทีการเมืองหรือการมีส่วนร่วมทางการเมืองได้จริง ทว่าคนเสื้อแดงกลับถูกกระทำให้กลายเป็นเสมือน “เชื้อโรค” ที่น่ารังเกียจ หรือตัวป่วน สร้างความวุ่นวาย ไม่เคารพกฎหมาย เป็นภัยความมั่นคง ความสงบสุขของบ้านเมือง

เพราะความสงบสุข ความมั่นคงภายใต้อุดมการณ์อนุรักษ์นิยมย่อมกีดกัน ผลักไส ไล่ล่าคนกลุ่มไหนก็แล้วแต่ที่คิดต่าง เชื่อต่างจากอุดมการณ์นี้ในฐานะเป็น “ภัยความมั่นคง” แต่ผลด้านกลับก็คือความคิดทางการเมืองแบบพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงก็ไม่อาจถูกทำให้หายไปจากสังคมการเมืองไทยได้ ซ้ำยังส่งผลให้เกิดพรรคการเมืองที่ชูอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยชัดเจนยิ่งขึ้นอย่าง “อนาคตใหม่” ที่ได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่มากเกินคาด

แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ ประชาธิปัตย์ยังอยู่ใน “โลกใบเล็กของตัวเอง” คือโลกของความสับสนทางอุดมการณ์ที่พวกตนสร้างขึ้นว่า จะยึดอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม/ประชาธิปไตยแบบไทยอย่างเดิมๆ หรือเปลี่ยนแปลงสู่อุดมการณ์เสรีประชาธิปไตย จะนิยามตัวเองเข้ากับเครือข่ายอำนาจฝ่ายอนุรักษ์นิยมซึ่งเป็นอภิสิทธิชนส่วนน้อยในสังคม หรือเสนอตัวเป็นพรรคการเมืองแถวหน้าของประชาชนส่วนใหญ่ที่ต้องการสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค หรือความเป็นคนเท่ากันมากขึ้น

ข้อเสนอให้ประชาธิปัตย์เป็น “ฝ่ายค้านอิสระ” ของ “กลุ่มนิวเดม” คือความพยายามที่จะดิ้นออกจากอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมเก่าแก่ของพรรค แต่ดูเหมือนจะ “ดิ้นไม่หลุด” เพราะการเป็นฝ่ายค้านอิสระก็ไม่ได้สะท้อนว่าก้าวหน้าไปถึงอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยแต่อย่างใด 

อีกทั้งมีคำถามสำคัญว่าฝ่ายค้านอิสระ หมายถึง “เป็นอิสระจากอะไร” (freedom from…) เพียงแค่ฉีกตัวออกมาว่าไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของประยุทธ์ แปลว่าคุณเป็นอิสระจากอำนาจเผด็จการอย่างไร หรือ “เป็นอิสระเพื่ออะไร” (freedom to…) เพื่อที่จะต่อต้านการสืบทอดอำนาจเผด็จการไหม เช่นเข้าร่วมกับอนาคตใหม่เพื่อ “ปิดสวิทช์ 250 สว.” เป็นต้นหรือไม่ พูดอีกอย่างคือ ความเป็นอิสระของคุณมีความหมายต่อการช่วยปลดปล่อยให้สังคมเป็นอิสระอย่างไร 

พูดอย่างเจาะจง ในสถานการณ์ต่อสู้ระหว่างพรรคการเมืองฝ่ายเผด็จการ-ฝ่ายประชาธิปไตย ถ้าการเป็น “ฝ่ายค้านอิสระ” มีความหมายเพียงเป็นอิสระจากการเข้าร่วมกับทั้งฝ่ายเผด็จการและฝ่ายประชาธิปไตยเท่านั้น ความเป็นอิสระดังกล่าว ก็ไม่มีความหมายใดๆ เลยในการต่อต้านเผด็จการและการมีส่วนร่วมสร้างการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นประชาธิปไตย

ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะปัญหาระดับรากฐานของประชาธิปไตยคือความไม่ชัดเจนในอุดมการณ์ทางการเมืองว่าจะเป็นอนุรักษ์นิยมแบบเดิมๆ หรือจะเปลี่ยนเป็นเสรีประชาธิปไตยที่ยืนยันเสรีภาพวิจารณ์ตรวจสอบ “ทุกระบบอำนาจ” ในมาตรฐานเดียวกันและเปิด “พื้นที่เสรีภาพที่เท่าเทียม” แก่ทุกความคิด ความเชื่อ ไม่ว่าจะอนุรักษ์นิยม เสรีนิยม สังคมนิยมและอื่นๆ ให้ได้แข่งขันกันอย่างเคารพสิทธิมนุษยชนของกันและกัน โดยไม่มีใครต้องตกเป็นนักโทษทางการเมืองหรือนักโทษทางความคิดอีกต่อไป ทำให้ประชาธิปัตย์กลายเป็นพรรคการเมืองในโลกใบเล็กของตัวเองที่ตัดขาดจากการเชื่อมโยงกับประชาชนส่วนใหญ่ที่ต้องการหลุดพ้นจากอำนาจเผด็จการสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าและเป็นธรรมมากขึ้น 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท