คุยกับ ‘คุณใหม่’ นิทรรศการ ‘วังหน้านฤมิต’ ฉายประวัติศาสตร์ที่ไม่หยุดนิ่งและเรื่องเล่าหลากมุม

ฟัง สิริกิติยา เจนเซน หรือ ‘คุณใหม่’ ผู้ควบคุมการจัดนิทรรศการ ‘วังหน้านฤมิต’ ที่จัดแสดง ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย และมุขกระสัน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เล่าถึงงานนี้ที่รวมศิลปินและผู้เชี่ยวชาญจากหลายแขนง เช่น เชฟ นักดนตรี นักพฤกษศาสตร์ สถาปนิก เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและเรื่องราวให้ประวัติศาสตร์ได้เคลื่อนต่อไปอย่างไม่หยุดนิ่ง


สิริกิติยา เจนเซน หรือ ‘คุณใหม่’

 

จากโครงการ ‘วังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา’ สู่นิทรรศการ ‘นัยระนาบนอก อินซิทู: แปลงร่างอดีตในหลืบแห่งปัจจุบัน’ หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า ‘In Situ from the Outside: Reconfiguring the Past in Between the Present’ คือนิทรรศการที่จัดแสดง ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย และมุขกระสัน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นท้องพระโรงวังหน้า และใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีต่างๆ ต่อเมื่อเวลาผ่านจึงใช้เป็นที่ประดิษฐานพระศพของสมเด็จพระบวรราชเจ้า และพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี สถาปัตยกรรมและศิลปกรรมของพระราชวังบวรสถานมงคล ผ่านการตีความและสื่อความหมายด้วยรูปแบบงานศิลปกรรมร่วมสมัยจากมิติและมุมมองที่หลากหลาย เพื่อให้เข้าใจง่ายและชัดเจนยิ่งขึ้น

มี สิริกิติยา เจนเซน หรือ ‘คุณใหม่’ ข้าราชการกรมศิลปากร ผู้อำนวยการโครงการการศึกษาสันนิษฐานรูปแบบพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) และสื่อความหมายด้วยเทคโนโลยี เป็นผู้ควบคุมการจัดนิทรรศการฯ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดนิทรรศการเมื่อวันที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมา

ความน่าสนใจของนิทรรศการอยู่ตรงการรวบรวมศิลปินและผู้เชี่ยวชาญจากหลายแขนง เช่น เชฟ นักดนตรี นักพฤกษศาสตร์ มาสร้างสรรค์ผลงาน ได้แก่ ธณัฐชัย บรรดาศักดิ์ (ศิลปิน) ออน คาวารา (ศิลปิน) อุดมศักดิ์ กฤษณมิษ (ศิลปิน) นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ (ศิลปิน) ปรัชญา พิณทอง (ศิลปิน) ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช (ศิลปิน) หยัง โว (ศิลปิน) จารุพัชร อาชวะสมิต (นักออกแบบสิ่งทอ) ประพจน์ อัศววิรุฬหการ, พงศ์ศิษฏ์ ปังศรีวังศ, บุญเตือน ศรีวรพจน์ และ พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ (ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา) คณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู ของ ดุษฎี พนมยงค์ (นักดนตรี) สายัณห์ แดงกลม (นักประวัติศาสตร์ศิลปะ) ชุดารี เทพาคำ (เชฟ) สุวิชชา ดุษฎีวนิช (ประติมากรสร้างสรรค์ตามลักษณะงาน) กิติเชษฐ์ ศรีดิษฐ (นักพฤกษศาสตร์) สุพิชชา โตวิวิชญ์ และ ชาตรี ประกิตนนทการ (สถาปนิก) ตุล ไวฑูรเกียรติ และ Marmosets (นักดนตรี)

 

วังหน้านฤมิต จากประวัติศาสตร์สู่นิทรรศการในพื้นที่

คุณใหม่เล่าถึงประสบการณ์และความคิดเห็นที่มีต่อนิทรรศการครั้งนี้ไว้ในงาน Museum inFocus ที่จัดโดยมิวเซียมสยามไว้ว่า เริ่มจากตอนที่อยู่อเมริกาตนไม่เข้าใจวัฒนธรรมไทย พอโตขึ้นก็รู้สึกว่าหากไม่รู้จักตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็จะมีส่วนในตัวเองที่ว่างเปล่า จึงได้กลับมาที่ประเทศไทยเพื่อทำความเข้าใจตัวเองมาขึ้น และโดยส่วนตัวก็ชอบศึกษาด้านประวัติศาสตร์

ความประทับใจในเชิงสถานที่เกิดขึ้นครั้งแรกตอนที่อายุ 15-16 ปี ที่ได้เข้าร่วมพิธีในวัง จากในสถานที่แห่งนั้นตนได้กลิ่น ได้ยินเสียงสวด ทำให้รู้สึกได้ถึงความศักดิ์สิทธิของสถานที่แห่งนั้นได้ เข้าใจจิตวิญญาณของสถานที่แห่งนั้น ดังนั้นตนจึงอยากให้คนเข้าใจในเชิงลึกเกี่ยวกับสถานที่นั้นๆ แต่จะใช้วิธีอะไรให้คนเข้าใจได้

คุณใหม่กล่าวว่า แหล่งข้อมูลของไทยมีความส่วนบุคคลมาก ยิ่งเป็นเรื่องของกษัตริย์คนไทยไม่ค่อยพูดถึง อาจเพราะวัฒนธรรมไทยการไม่เอ่ยชื่อตรงๆ เป็นการให้เกียรติ ข้อมูลจึงถูกเก็บไว้และไม่ได้ถูกเผยแพร่ออกไป เราจะรื้อฟื้นให้คนรู้สึกได้อย่างไร เราต้องใช้หลายวิธีการเพื่อนำประวัตศาสตร์ไปสู่คน เช่น ดนตรีเป็นสิ่งที่บันทึกประวัติศาสตร์ แม้เราอ่านภาษาไทยไม่ได้ แต่เราฟังดนตรีแล้วร้สึกว่ามันมีความศักดิ์สิทธิ์ได้

คุณใหม่เล่าว่ามีคนถามว่างานของตนสามารถอยู่ในโบราณสถานได้หรือ ทำงานกับโบราณวัตถุได้หรือ ซึ่งเธอตอบว่าตั้งแต่ทำงานเชิงอนุรักษ์ และได้ไปประชุมทั่วโลก จะพบว่าปัญหาคือมีรั้วกั้นระหว่างคนกับวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ คนมักถูกสอนให้เห็นว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่นิ่ง ขยับไม่ได้ ซึ่งหากเป็นแบบนี้จะทำให้ไม่มีการสร้างสรรค์ แลกเปลี่ยน แล้วถ้าอย่างนั้นประวัติศาสตร์จะมีต่อไปได้อย่างไร

คุณใหม่กล่าวว่า ยิ่งเป็นวังคนยิ่งไม่ค่อยกล้า ศิลปินก็มีสิทธิที่จะกลัวว่าทำอะไรไม่ได้ กลัวว่าทำแบบนี้อาจไม่ให้เกียรติสถานที่ แต่บางทีอยู่ที่วิธีเล่าเรื่อง ตอนทำก็กลัวเรื่องนี้พอสมควร คนจะไม่พอใจรึเปล่า แต่สุดท้ายเราไว้ใจคนที่เข้าไปทำงาน แม้เขาไม่ได้เป็นนักประวัติศาสตร์ เขาก็รู้สึกว่าสถานที่นี้ต้องเคารพและยังได้พูดสิ่งที่เขาต้องการอย่างตรงไปตรงมาในแบบที่ยังเคารพสถานที่

“วังหน้านฤมิตอาจเป็นก้าวแรกที่จะสลายข้อจำกัดแบบนี้ เราอาจไม่ได้ในสิ่งที่อยากได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เรายอมถอยหน่อย แต่ไม่ถอยจนคอนเซปต์พัง”

“สถานที่โบราณสถาน เราต้องเอาคนเข้าไปให้คนเห็นว่านี่คือสิ่งที่ไม่ไกลตัว คนสามารถเข้าไปเข้า ตีความ เคลื่อนประวัติศาสตร์เองได้ เพราะประวัติศาสตร์เองก็ถูกสร้างโดยคน ถ้าไม่มีการพูดคุยถกเถียงกันต่อ ประวัติศาสตร์ก็จะหยุดนิ่ง” คุณใหม่กล่าว

คุณใหม่อธิบายว่า สำหรับนิทรรศการวังหน้านฤมิต คือการใช้ความสร้างสรรค์ ให้คนเข้ามาในพื้นที่ และได้จินตนาการ มีคำถาม สร้างเรื่องราวที่รู้สึกเชื่อมโยง ทำแพลตฟอร์ม จึงได้เลือกศิลปินและผู้เชี่ยวชาญแขนงต่างๆ ทั้งศิลปินร่วมสมัย นักดนตรี นักประวัติศาสตร์ศิลป์ สถาปนิก เชฟ ฯลฯ หลายคนมาเล่าเรื่องในพื้นที่วังหน้าที่สร้างสรรค์ในแบบของตัวเอง ดังนั้นเราจึงไม่เห็นประวัติศาสตร์ที่นิ่งและมีมิติเดียว เราจะเห็นประวัติศาสตร์จากมุมมองของหลาย ผลที่ออกมาก็ไม่เหมือนกัน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน พูดคุย

 

อินซิทู-การทำงานในบรรยากาศของพื้นที่ ตัวอย่างผลงาน

คุณใหม่อธิบายว่า “อินซิทู” คือวิธีทำงานในพื้นที่โบราณสถาน โดยให้งานของแต่ละคนเข้าไปล้อมรอบเป็นส่วนหนึ่งในพื้นนั้น

พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ตนอยากให้คนเห็นความสำคัญของห้องนี้ ให้รู้สึกน่าค้นหา และให้ความรู้สึกเบา จึงตั้งใจเลือกศิลปินที่ทำงานกับเรื่องเวลา งานจะเบาแทบมองไม่เห็น คล้ายเป็นส่วนหนึ่งของห้อง หรืองานบางคนต้องกลับไปดูซ้ำๆ ถึงจะเห็น คนอาจจะตกใจว่างานอยู่ตรงไหน ซึ่งตนคิดว่าการงงเป็นเรื่องที่โอเค เพราะอยากให้คนอ่านและตั้งคำถาม และโดยการจัดวางงานทำให้มีหลายเส้นทางที่คนจะเลือกดูได้โดยไม่ถูกบังคับให้ต้องไปตาม 1 2 3 นอกจากนี้ยังตั้งใจเล่นกับแสงธรรมชาติด้วย ทำให้แต่ละวัน เวลา แสงไม่เหมือนกัน ทำให้ห้องมีมิติที่เปลี่ยนแปลงไป

คุณใหม่ยกตัวอย่าง เช่น งานของธณัฐชัย บรรดาศักดิ์ ซึ่งเป็นศิลปินที่สนใจสร้างงานกับประสบการณ์การได้เดิน ดู พูดคุย เขาเดินไปแถววังหน้าทุกวัน แล้วเห็นคนสวนกำลังตัดหญ้า เขาคิดแม้หญ้าจะถูกตัดออกไปแต่มันก็ขึ้นมาได้อีก เหมือนการที่หากเราจะขุดไปถึงประวัติศาสตร์ที่นานที่สุดก็จะอยู่ในชั้นที่ลึกที่สุด แต่ทุกครั้งก็จะต้องเริ่มจากผิวหน้าของมัน ซึ่งหญ้าคือตัวแทนของผิวหน้านั้น งานของเขาเป็นวิดีโอที่ถ่ายด้วยกล้อง 16 มม. เพราะให้ความรู้สึกไม่สมบูรณ์ที่คนรู้สึกมีส่วนร่วม

อีกคนคือ Dahn Vo ศิลปินเวียดนามคอนเซปต์ชวล ไม่ใช่คนไทย แต่เลือกมาเพราะอยากให้เห็นว่าประวัติศาสตร์ไม่ได้อยู่แค่ไหนไทย แต่ในช่วงเวลาเดียวกันก็มีความเกี่ยวข้องกับพื้นที่อื่นได้เช่นกัน งานของ Dahn Vo คือการแสดงจดหมายที่เขาเจอในเวียดนาม ซึ่งเป็นจดหมายที่เขียนขึ้นร่วมเวลากับพระปิ่นเกล้า ความสำคัญของจดหมายอาจไม่ใช่เนื้อหาแต่คือความสวยของลายมือในสมัยนั้น นอกจากนี้ประสบการณ์ร่วมของศิลปินคือเขาเป็นคนเวียดนามแต่ไปโตเดนมาร์ก ดังนั้นเขาจึงพยายามกลับไปทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ที่บ้านเก่าของเขา

นอกจากนี้ยังมีงานที่น่าสนใจคือ การแสดงของวงสวนพูล ที่ใช้เสียงกับในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย เลือก 4 เพลงเพื่อร้องในห้องนี้ ซึ่งหากใช้ไมค์ในห้องเสียงจะไม่ดี เสียงจะก้อง แต่ถ้าใช้เสียงธรรมชาติอย่างเข้าใจธรรมชาติของห้อง โดยเล่นกับเสียงก้องของห้องโดยใช้เทคนิคการร้อง จะทำให้ได้เพลงที่เพราะมาก นอกจากนี้เพลงหนึ่งยังเป็นเพลงที่ถูกแต่งในห้องนี้ และจะร้องได้เฉพาะในห้องนี้เท่านั้น ไม่มีการแสดงเพลงนี้นอกห้อง และถึงอัดเสียงก็จะไม่ได้อารมณ์แบบที่ฟังจากในห้อง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท