Skip to main content
sharethis

ที่มาภาพ: สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.)

เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2562 ที่ผ่านมา นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ได้เดินทางมาเข้าร่วมประชุมกับผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการการเดินรถ ภาค 4 และกองเงินเดือนค่าจ้าง รวมทั้งคณะผู้บริหาร/ คณะ สร.รฟท.สาขาหาดใหญ่ ณ ห้องประชุม 310 อาคารสถานีรถไฟหาดใหญ่ ชั้น 3 เพื่อร่วมรับฟังในการแก้ปัญหาและติดตามผลการดำเนินงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เกี่ยวกับการสร้างขวัญกำลังใจให้กับพนักงานที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยเฉพาะพนักงานรถจักร พนักงานขบวนรถ นายสถานีผู้แทน พนักงานที่ทำหน้าที่ในการซ่อมบำรุงของฝ่ายต่างๆ และพนักงานตำแหน่งอื่นที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่เป็นครั้งคราว ซึ่งยังไม่ได้รับสวัสดิการเงินช่วยเหลือเสี่ยงภัย 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 

นายสาวิทย์ ได้กล่าวในที่ประชุมว่าเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นจากสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ซึ่งต่อมารัฐบาลประกาศให้อีก 4 อำเภอ ของ จ.สงขลา ให้อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย หลังจากนั้นพื้นที่ดังกล่าวถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่จะต้องเข้มงวดเรื่องการตรวจตราและการป้องกันเหตุอันตราย จึงเป็นที่มาของการกำหนดมาตรการในการช่วยเหลือแก่พี่น้องเจ้าหน้าที่รัฐหน่วยงานต่างๆ ให้ได้รับค่าตอบแทนเป็นค่าเสี่ยงภัยตามอัตรา จำนวนที่แต่ละหน่วยงานกำหนด รวมทั้งผู้ปฏิบัติงานที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งเป็นครั้งคราว รวมทั้งผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟฯ ด้วย ซึ่งการรถไฟฯ ก็ได้มีคณะทำงานในขณะนั้นมีทั้งผู้บริหารระดับสูงของ รฟท. ผู้บริหารในพื้นที่ สร.รฟท.ส่วนกลาง สร.รฟท.สาขาหาดใหญ่ และฝ่ายบ้านเมืองที่รักษาความปลอดภัยในพื้นที่ ได้มีการประชุมร่วมกันเพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชนผู้ใช้บริการ พนักงาน ขบวนรถ สถานี ซุ้มเครื่องกั้น 

'สหภาพรถไฟ' ประณามเหตุลอบยิงขบวนสุไหงโก-ลก-ยะลา

ในส่วนของการรถไฟฯ ก็ได้หาแนวทางในการจ่ายเงินค่าเสี่ยงภัยจนไปถึงผู้บริหารสูงสุดคือคณะกรรมการรถไฟฯและได้จ่ายเงินค่าเสี่ยงภัยมาตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา จนมาถึงเมื่อปลายปีที่ผ่านมาเกิดปัญหาในการตีความของผู้บริหาร ว่าที่ผ่านมาการจ่ายค่าเสี่ยงภัยของผู้ที่เข้าปฏิบัติงานเป็นครั้งคราวในพื้นที่เสี่ยงภัยภาคใต้ไม่มีระเบียบรองรับและขัดต่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีจากการทำหนังสือไปหารือสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และสำนักนายกรัฐมนตรีตอบข้อหารือว่าการจ่ายค่าเสี่ยงภัยของการรถไฟฯไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด จนเป็นที่มาการเกิดข้อถกเถียงในคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ ซึ่งผู้แทนของ สร.รฟท.ยืนยันว่าจำเป็นจะต้องจ่ายเพราะมีการจ่ายมาต่อเนื่องซึ่งแน่นอนว่าการจ่ายในอดีตที่ผ่านมาต้องมีเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ในการจ่ายมิฉะนั้นคงไม่มีใครกล้าจ่าย การหารือไปของผู้บริหารได้ให้ข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่ เมื่อมีหนังสือตอบข้อหารือมาจนเป็นเหตุให้การรถไฟฯ ไม่จ่ายเงินค่าเสี่ยงภัยจนมาถึงปัจจุบัน 

โดยนายสาวิทย์ ได้ระบุถึงเหตุที่ลงมาในครั้งนี้เพื่อรับทราบปัญหาและสถานการณ์ในส่วนของพนักงานและต้องการให้การรถไฟฯแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน หากพนักงานในพื้นที่ไม่พอใจแสดงปฏิกริยาความไม่พอใจขึ้นจนเป็นเหตุให้พนักงานไม่ยอมไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่เสี่ยงภัยเกรงว่าปัญหาทั้งหมดจะตกที่ผู้บริหารโดยเฉพาะรักษาการผู้ว่าการ รวมทั้งภาพรวมของประเทศที่อาจมองว่ารัฐบาลพ่ายแพ้ทางยุทธศาสตร์ ซึ่งแน่นอนว่าทาง สร.รฟท.ไม่ต้องการให้เกิดขึ้นและปัจจุบันแม้ว่าพนักงานจะมีปฏิกิริยาอยู่บ้าง และมีการลงลายมือชื่อจำนวนมากส่งมายัง สร.รฟท.แต่ทาง สร.รฟท.ก็ชี้แจงไปแล้วว่าจะเร่งแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนที่สุด ซึ่งพนักงานก็เข้าใจและรอคำตอบความชัดเจน

ทั้งนี้ในที่ประชุมได้กล่าวถึงความเป็นมาของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 ทำให้พนักงานของการรถไฟฯ และเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่รักษาความปลอดภัยให้กับพนักงานต้องสูญเสียและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก เป็นเหตุให้พนักงานเกิดความหวาดกลัวเสียขวัญกำลังใจ ทำให้พนักงานไม่กล้าเข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่และมีการเขียนรายงานขอย้ายไปปฏิบัติงานในพื้นที่อื่น อันเนื่องจากเกรงกลัวว่าจะได้รับอันตรายจากการก่อความไม่สงบ และในส่วนของการประชุมร่วมระหว่างผู้บริหาร รฟท. กับ สร.รฟท. ได้กำหนดมาตราการความปลอดภัยภายในร่วมกัน และ ได้กำหนดให้มีสวัสดิการต่างๆ เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจและสร้างแรงจูงใจ ให้กับพนักงานที่เข้าปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัย

โดยในที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันดังนี้ 1. ให้การรถไฟฯ เร่งรัดการดำเนินการการเบิกจ่ายค่าตอบแทนพิเศษให้กับพนักงานที่เข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัยจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เข้าเป็นครั้งคราวไปก่อนตามอนุมัติผู้ว่าการรถไฟฯ เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2561 และให้มีคำตอบความชัดเจนในวัน 17 เม.ย. 2562 ที่จะมีการประชุมคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์  2. ให้มีการจัดหาข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมในข้อหารือในการจ่ายเงินตอบแทนพิเศษรายเดือนให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในพื้น ร่วมกันระหว่าง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเดินรถ 4 , กองเงินเดือนค่าจ้าง , ผู้แทน สร.รฟท. เพื่อนำมาแก้ปัญหาร่วมกันภายในกันก่อนที่จะไปหารือองค์กรภายนอก และ 3. สำหรับการปรับเพิ่มเงินค่าเสี่ยงภัยสำหรับพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำ สร.รฟท.จะได้นำเสนอผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งก็จะมีกระบวนการและขั้นตอนตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net