Skip to main content
sharethis

4 จาก 5 ผู้ถูก สนช. ปัดตกการคัดสรรเป็น กสม. ชุดใหม่ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมติ สนช. ขอให้ไต่สวนข้อเท็จจริงในกระบวนการสอบถามประวัติ การประชุมลงมติลับที่มีลักษณะเหมือนนัดแนะกัน ชะลอการสรรหา กสม. และถอนมติ สนช. เรื่องการคัดเลือก กสม. เมื่อ 27 ธ.ค. 2561

สุรพงษ์ กองจันทึก เดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนที่ศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 26 มี.ค. ที่ผ่านมา

3 เม.ย. 2562 ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (26 มี.ค. 2562) สุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการ (ผอ.) ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและการพัฒนา หนึ่งในผู้ผ่านการสรรหาให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่ถูกมติสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่รับรองในการประชุมลับเมื่อ 27 ธ.ค. 2561 เดินทางไปยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย การมีมติไม่รับรองดังกล่าว

70 องค์กรประชาสังคมร้อง ปธ.สนช.ยกเลิกมติที่ไม่รับรอง 5 รายชื่อว่าที่ กสม. สาย NGOs-นักวิชาการ

ในเอกสารคำร้องระบุว่า ผู้ฟ้องทั้งสี่ ได้แก่สมศรี หาญอนันทสุข จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ และสุรพงษ์  กองจันทึก โดยมีนคร ชมพูชาติ ทนายควม เป็นผู้รับมอบอำนาจ ขอยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีที่ สนช. มีมติรับรองผู้ผ่านการสรรหาให้ดำรงตำแหน่ง กสม. จำนวนสองคน ได้แก่พรประไพ กาญจนรินทร์ และปิติกาญจน์ สิทธิเดช ส่วนผู้ผ่านการสรรหาอีกห้าคน (เป็นผู้ร้องในกรณีนี้สี่คน และอีกคนคือไพโรจน์ พลเพชร) ถูกมติ สนช. ไม่รับรอง โดยมติของที่ประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมลับ ไม่มีการเปิดเผย

นอกจากนี้ ในการลงมติมีลักษณะที่ทำให้ดูเหมือนกับว่าได้มีการเตรียมลงคะแนนเสียงมาก่อน เพราะการลงคะแนนมีลักษณะเกาะกลุ่มกัน คือ 10-15 คะแนนที่รับรอง และ 135-155 คะแนนที่ไม่รับรอง ย่อมแสดงให้เห็นถึงเบื้องหลังว่าน่าจะมีการควบคุม สั่งการโดยผู้ที่คุมเสียงในการลงมติ ซึ่งการไม่รับรองผู้ร้องทั้งสี่นั้น สวนทางกับหลักการปารีสที่กล่าวไว้ว่า กสม. ต้องเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนหรือประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสรรหาและเป็น กสม. เพื่อให้เกิดความเป็นอิสระในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ผลของการลงมติดังกล่าวทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยที่ติดลบอยู่แล้ว  มีมากขึ้น  อันจะส่งผลต่อสถานภาพของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไทยที่ขณะนี้ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม B และอาจจะถูกลดลงเป็นกลุ่ม C ต่อไปในที่สุด

การลงมติไม่รับรองผู้ผ่านการคัดสรรทั้งสี่ ทั้งที่เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นผู้มีประสบการณ์พิทักษ์ปกป้องสิทธิในด้านต่างๆ อย่างหลากหลาย ผลของการลงมติดังกล่าวทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยที่ติดลบอยู่แล้ว  มีมากขึ้น  อันจะส่งผลต่อสถานภาพของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไทยที่ขณะนี้ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม B  และอาจจะถูกลดลงเป็นกลุ่ม C ต่อไปในที่สุด

"ผู้ร้องทราบว่า ในการลงมติของผู้ถูกร้องซึ่งเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เกิดจากคณะกรรมาธิการสามัญตรวจสอบประวัติของผู้ร้องที่แต่งตั้งโดยผู้ถูกร้องที่มีอคติต่อผู้ร้องทั้งสี่คนซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับองค์กรสิทธิมนุษยชนที่อยู่ในภาคประชาสังคมในฐานะประธานหรือคณะกรรมการ หรือผู้อำนวยการ หรือผู้ประสานงานขององค์กร และเคยมีบทบาทในการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนมาอย่างต่อเนื่อง ในประเด็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน การรณรงค์เพื่อพัฒนาประชาธิปไตย การคุ้มครองสิทธิของพี่น้องชนเผ่า การรณรงค์ให้ทุกฝ่ายยุติความรุนแรงในทุกรูปแบบ รวมทั้งให้มีการใช้โทษจำคุกตลอดชีวิตแทนโทษประหารชีวิต หรือการรณรงค์ให้มีการปฏิรูปตำรวจ เป็นต้น โดยเมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2561 ผู้ร้องถูกเรียกไปสัมภาษณ์เพื่อตอบคำถามจากคณะกรรมการสามัญตรวจสอบประวัติฯ เป็นคำถามที่เจาะจงไปยังการมีบทบาทของผู้ถูกร้องในประเด็นที่เคยได้รับการส่งเสริม สนับสนุนจากในและนอกประเทศ แต่ผู้ถูกร้องกลับมองว่าบทบาทดังกล่าวเป็นปฏิปักษ์ต่อสังคม จึงตั้งคำถามด้วยท่าทีที่มีลักษณะดูถูก เหยียดหยาม ซึ่งถือว่าผู้ถูกร้องกระทำการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยเจตนาและเป็นคำถามที่สะท้อนให้เห็นถึงการใช้อำนาจที่ได้รับมอบหมายจาก สนช. อย่างไม่มีขอบเขต ไร้เหตุผล ทำตามอำเภอใจ มีความพยายามในการขุดคุ้ยเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับพฤติกรรมทางจริยธรรมของผู้ร้อง รวมทั้ง ได้ขอให้ผู้ร้องแสดงเอกสารหลักฐานต่างๆ ในเวลาที่จำกัด แต่เมื่อผู้ร้องสามารถแสดงเอกสาร หลักฐานตามที่ผู้ถูกร้องต้องการแล้วก็ยังพยายามจับผิด เรียกเอกสาร หลักฐานซ้ำ และยังทำการตรวจสอบประวัติในลักษณะที่มีการข่มขู่ว่าถ้าไม่สามารถแสดงเอกสารได้ตามเวลาที่กำหนดให้ก็จะถือว่ายอมรับในข้อกล่าวหา จึงเป็นการตรวจสอบประวัติที่มีการใช้อำนาจตามอำเภอใจ ไม่เหมาะสม ไม่มีมาตรฐาน ไม่มีจรรยาบรรณ ซึ่งผู้ร้องทั้งสี่คนจะขอกราบเรียนรายละเอียดในประเด็นที่กล่าวมาต่อศาลในชั้นพิจารณาต่อไป"

ผู้ร้องขอให้ศาลวินิจฉัยดังนี้

  1. ขอให้มีการไต่สวนข้อเท็จจริงโดยไม่ปล่อยให้การกระทำของผู้ถูกร้องในกรณีนี้ผ่านไปด้วยข้อวินิจฉัยง่ายๆ ว่า ผู้ถูกร้องมีหน้าที่และอำนาจที่จะทำได้  ตามข้อบังคับของการประชุม สนช. ซึ่งผู้ร้องได้เรียนชี้แจงหลักทางกฎหมายดังกล่าวข้างต้นแล้วว่า ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกรรมาธิการสามัญตรวจสอบประวัติฯ ที่ซ้ำซ้อนก็ดี การมีมติให้ประชุมลับก็ดี เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  เบื้องหลังของการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติฯ ที่มีการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกร้องเป็นประเด็นที่ไม่ควรเกิดขึ้นใน สนช.  และไม่ควรปล่อยให้คณะกรรมการตรวจสอบประวัติฯ ที่ สนช. แต่งตั้งมีการใช้อำนาจเกินเลย ใช้ท่าทีที่ไม่เหมาะสม ไร้วุฒิภาวะ กระทำกับผู้อื่นได้อีก การไต่สวนข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ นอกจากจะเป็นการคืนความยุติธรรมให้กับผู้ร้องแล้ว  ยังจะช่วยสร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้องในการปฏิบัติงานตรวจสอบประวัติ หรือเรื่องราวต่างๆ ของคณะกรรมมาธิการที่ สนช.หรือวุฒิสภาจะแต่งตั้ง ในชุดอื่น ๆ ต่อไปในอนาคตขอให้มีการเปิดเผยรายงานการประชุมลับของคณะกรรมาธิการสามัญตรวจสอบประวัติฯ โดยเฉพาะเหตุผลที่ไม่รับรองผู้ร้องให้ได้รับการเสนอชื่อให้มีการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
  2. ขอให้มีการชะลอการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่จะเข้ามาทดแทนผู้ร้องทั้งสี่คนในขณะที่การไต่สวนข้อเท็จจริงของศาลยังไม่สิ้นสุด
  3. ขอให้เพิกถอนมติ สนช. เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2561  วาระเรื่อง การรับรองผู้ผ่านการสรรหาให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net