Skip to main content
sharethis

งาน ‘Human of Street : เราล้วนเปราะบางกลางเมืองใหญ่’ คนไร้บ้านกว่าร้อยละ 55 เข้าไม่ถึงสวัสดิการทางสุขภาวะทำให้คนไร้บ้านมีอายุเฉลี่ยต่ำกว่าประชากรส่วนใหญ่กว่า 10 ปี คนไร้บ้านไม่ใช่แค่ไม่มีบ้านอยู่ แต่จำนวนมากไม่อยากอยู่บ้านจากหลายปัจจัย

 

 

ข้อมูลทางวิชาการของ สสส. พบว่า คนไร้บ้านกว่าร้อยละ 55 เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ และสวัสดิการทางสังคมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะ และคุณภาพชีวิตที่ดี ทำให้คนไร้บ้านมีอายุเฉลี่ยที่เสียชีวิตต่ำกว่า อายุคาดเฉลี่ยของประชากรไทยถึงกว่า 10 ปี ที่น่าสนใจคนไร้บ้านส่วนมากมีงานทำ แต่เป็นงานที่สร้างรายได้น้อย ไม่มั่นคง และเพียงพอต่อการดำรงชีพ หรือแม้แต่การหาที่พักอาศัย คนไร้บ้านจึงมีความต้องการในการประกอบอาชีพ ที่ทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หากแต่ยังขาดโอกาสและการหนุนเสริมจากสังคม

สสส.จับมือ ThaiPBS และภาคีเครือข่าย อาทิ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จัดงาน ‘Human of Street : เราล้วนเปราะบางกลางเมืองใหญ่’ เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2562 ณ ห้องเอนกประสงค์ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)

เพื่อกระตุ้นเตือนให้สังคมเห็นความสำคัญของประเด็นคนไร้บ้าน ที่มีความเชื่อมโยงกับปัญหาและความเปราะบางทางสังคมที่คนไทยส่วนใหญ่ต้องประสบ ทั้งความไม่มั่นคงทางด้านอาชีพ การเข้าไม่ถึงระบบสวัสดิการทางสังคมและสุขภาพของรัฐ และการขาดโอกาสในการยกระดับชีวิตของตนเอง

 

คนไร้บ้านไม่ใช่แค่ไม่มีบ้านอยู่ แต่จำนวนมากไม่อยากอยู่บ้านจากหลายปัจจัย

 


ภรณี ภู่ประเสริฐ ภาพจากวิดีโอถ่ายทอดสดของ Thai PBS

 

ภรณี ภู่ประเสริฐ ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า หากคนเรามีความเปราะบางและอยู่ในพื้นที่เมืองใหญ่ก็มีโอกาสกลายเป็นคนไร้บ้านทั้งสิ้น ปัจจัยหลายอย่าง คือ ปัจจัยส่วนบุคคล เช่น ความพิการ ความซึมเศร้า ความรุนแรงในครอบครัว ปัจจัยเศรษฐกิจสังคม เช่น ตกงาน ขาดสวัสดิการ ไม่มีความมั่นคงในการทำงาน การไม่ได้รับการอุปถัมภ์ค้ำจุนในชุมชน

หากเป็นคนไร้บ้านชั่วคราวเพียง 1 ปี ก็มีโอกาสกลับสู่สังคมได้ แต่หากเป็นคนไร้บ้านนานกว่านั้นก็จะเป็นคนไร้บ้านกึ่งถาวรหรือถาวร ต้องอาศัยการพัฒนาศักยภาพ ออกแบบดูแลเฉพาะราย สอดคล้องกับความต้องการ จึงทำให้คนไร้บ้านกลับคืนสู่สังคมทั่วไปได้

 


สมเกียรติ จันทรสีมา ภาพจากวิดีโอถ่ายทอดสดของ Thai PBS

 

สมเกียรติ จันทรสีมา ผอ.สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอสกล่าวว่า คนไร้บ้านไม่ใช่แค่ไม่มีบ้านอยู่ แต่มีคนจำนวนมากที่ไม่อยากอยู่บ้าน สภาพของเมืองในยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเร็ว ชีวิตคนอยู่บนความเปราะบาง คนไร้บ้านจึงยิ่งเปราะบาง สังคมปัจจุบันคนเปราะบางมีโอกาสสูงมากที่จะถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง โดยที่คนจำนวนมากมองไม่เห็นเขา กับคนกลุ่มนี้ที่เป็นเพื่อนร่วมสังคมเรา เราจะทำยังไงกับเขาในสังคมที่ทุกคนล้วนแต่สัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เราอยากให้เมืองเป็นมิตรกับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก เยาวชน คนสูงวัย กลุ่มคนเปราะบาง ทำให้เขาอยู่ในเมืองได้อย่างมีความสุขในการเลือกใช้ชีวิต นี้เป็นภารกิจที่เราพยายามทำ

 


จากซ้ายไปขวา ณัฐวุฒิ กรมภักดี, วิเชียร ทาหล้า, สมพร หารพรม, อาทิตย์ โกวิทวรางกูร และวิไลรัตน์ เอมเอี่ยม ภาพจากวิดีโอถ่ายทอดสดของ Thai PBS

 

ประเมินอนาคตขอนแก่นจะมีคนไร้บ้านเพิ่มขึ้นจากโครงการ Smart City

ณัฐวุฒิ กรมภักดี กลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน จ.ขอนแก่น กล่าวว่า งานหลักๆ คือการสร้างเครือข่ายคนไร้บ้านให้เชื่อมต่อ รู้จักกัน จากการสำรวจเฉพาะในเขตเทศบาล ส่วนใหญ่จะนอนในพื้นที่สาธารณะ จากการสำรวจปี 58 มีจำนวนคนไร้บ้านอยู่ประมาณ 136 ราย ปี 59 จำนวน 119 ราย ปลายปี 61 จำนวน 146 ราย ตัวเลขขยับขึ้นลงอยู่ที่หลักร้อยซึ่งถือว่าเยอะ

คนไร้บ้าน มาจากปัญหาครอบครัวที่พ่วงเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม การเข้าไม่ถึงแหล่งงาน แหล่งรายได้ คนไร้บ้านส่วนหนึ่งมีปัญหาพื้นที่ทำกิน จึงเลือกเข้ามาทำมาหากินในเมืองใหญ่

ณัฐวุฒิคาดว่าในอนาคตขอนแก่นจะเกิดคนไร้บ้านเพิ่ม เพราะขอนแก่นมุ่งสู่การเป็น Smart City ซึ่งพอไปดูในรายละเอียด พบว่าไม่ได้สร้างช่องทางการเข้าถึงให้คนทุกระดับ โครงการที่ออกมา เช่น โครงการรถไฟทางคู่ มีการไล่รื้อชุมชน คนกลุ่มหนึ่งกลายเป็นคนคนไร้บ้าน หรือโครงการรถไฟความเร็วสูง ก็ต้องมีการไล่รื้อชุมชน ซึ่งก็จะทำให้มีคนไร้บ้านเพิ่มขึ้น ดังนั้นยิ่งมีคนไร้บ้านยิ่งบอกว่าสวัสดิการของรัฐมีปัญหา แต่อีกปัญหาคือถึงส่งเสริมอาชีพแต่ถ้าไม่ทำงานกับแก้ปมข้างใน เช่น ปมปัญหาครอบครัว ปมที่เกิดจากการถูกกระทำซ้ำๆ ก็จะไม่สามารถตั้งหลังได้ มีโอกาสกลับไปเป็นแบบเดิม

“กลุ่มคนไร้บ้านบางกลุ่มเช่าที่ดิน หรือเป็นกลุ่มที่ไม่มีสิทธิสถานะทางทะเบียน ไม่มีบัตรประชาชนตั้งแต่เกิด การให้โอกาสเขากลับคืนสู่สังคมเป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งถ้ามีศูนย์พักก็จะทำให้เขาตั้งหลักได้เร็วขึ้น ไร้บ้านเป็นสภาวะหนึ่ง เป็นสภาวะชั่วคราว ถ้าให้เวลา ให้เขามีความหวัง การตั้งหลักได้ก็จะเร็ว” ณัฐวุฒิกล่าว

 

4 ข้อแก้ปัญหาคนไร้บ้าน: ที่อยู่ สวัสดิการ อาชีพที่มั่นคง และการสื่อสารให้เกิดความเข้าใจ

วิเชียร ทาหล้า เครือข่ายคนไร้บ้านเชียงใหม่ เล่าว่า กลุ่มคนไร้บ้านที่พบส่วนใหญ่ติดสุราและจะเสียชีวิตในช่วงฤดูหนาว แต่คนไร้บ้านที่เชียงใหม่อาจโชคดีที่มีวัดเยอะ สามารถเข้าถึงอาหารได้ง่าย โดยตนคิดว่าคนไร้บ้านเป็นเหมือนดัชนีชี้วัดความเจริญของเมืองด้วย เพราะเมืองเจริญก็จะมีคนแสวงหาอาชีพที่ดี อนาคตที่ดี แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะโชคดีได้งาน

คนไร้บ้านเองก็แสวงหาพื้นที่การยอมรับ บางคนพิการ เคยจำคุกติดคดี เป็นผู้ติดเชื้อ ต้นทุนแต่ละคนไม่เหมือนกัน เข้าเมืองตอนแรกอาจยังมีหวัง แต่ผ่านไป 10 ปีก็สู้กับการแข่งขันในเมืองไม่ได้ บางคนไม่เหลือแล้วซึ่งความหวัง แค่เลือกที่จะไม่ฆ่าตัวตายเฉาย

เรื่องอาชีพ การหารายได้สม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญ คนไร้บ้านมักอยู่ในช่วงอายุ 40 กว่าๆ 30 ปลายๆ ตอกย้ำว่าอยู่ในวัยแบบนี้การหางานใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย หากเกิดเหตุการณ์พลิกผันในช่วงนั้น พลังก็เริ่มหมด ความสร้างสรรค์หาย ร่างกายถดถอย จึงยากที่จะเข้าสู่สังคมได้อีกครั้ง

วิเชียรมองว่า หากแก้ปัญหา 4 ข้อได้ก็จะแก้ปัญหาเรื่องคนไร้บ้านได้ นั่นคือ ที่อยู่อาศัย สวัสดิการ อาชีพความมั่นคง และการสื่อสารเพื่อให้เขาเข้าใจว่ามีโอกาสอยู่ตรงไหนบ้าง และจะทำยังไงให้เขาสื่อสารเรื่องราวตัวเองให้คนเข้าใจแบบที่เขาก็ภูมิใจว่าเขากำลังพยายามพึ่งตัวเองอยู่ ซึ่งตอนนี้การแก้ปัญหาของเครือข่ายฯ คือ หาอาชีพที่ทำให้มีรายได้สม่ำเสมอให้ และให้เขาเข้าไปอยู่ในศูนย์ตั้งหลัก คนที่เข้าไปก็ต้องทำงานเพื่อหาเงินมาจ่าย เพื่อให้เขารู้สึกพึ่งพาตัวเองได้

“บ้านเป็นพื้นที่ให้เราได้พัก เป็นพื้นที่ตั้งหลักเพื่อให้เราจัดการ รับผิดชอบอย่างอื่นได้ ทำให้ชีวิตเขามีค่า ให้เขาได้จ่ายค่าน้ำค่าไฟค่าบ้านของตัวเอง ทำให้รู้สึกว่าพึ่งพิงตัวเองได้ ปลอดภัย” วิเชียรกล่าว

วิเชียร์เห็นว่า เรื่องการสงเคราะห์ก็เป็นปัญหา บางทีเป็นการซ้ำเติมในแบบหนึ่ง ทำให้คนไร้บ้านยิ่งรู้สึกว่าชีวิตของเขาขายได้ เขาไม่มีทางช่วยตัวเองได้แต่คนอื่นต้องช่วยเขา เป็นการตอกย้ำว่าเขาไม่ต้องทำอะไร เดี๋ยวก็มีคนมาให้ จนเขาใช้ความสงสารเป็นเครื่องมือในการทำเงิน ทำให้การทำงานฟื้นฟูยิ่งยากเข้าไปใหญ่

 

โอกาสสำหรับคนไร้บ้าน

สมพร หารพรม มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวว่า งานของมูลนิธิคือทำงานให้คนเข้าถึงที่อยู่อาศัยอย่างมั่นคง เช่น ที่ดินการรถไฟ ที่ดินที่ยังไม่ถูกพัฒนา ก็พยายามขอให้มีการเช่นแทน

สมพรกล่าวว่าสิ่งที่จำเป็นต่อคนไร้บ้าน สิ่งหนึ่งคือกการให้โอกาส คนไร้บ้านไม่ใช่คนขี้เกียจ แต่บางทีเขาไม่มีปริญญา ไม่มีเครือข่าย ไม่มีเพื่อน ทำให้เขาเจอการเอารัดเอาเปรียบ เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ อาจยังพอทำความสะอาดได้ รัฐอาจต้องสนับสนุนกลุ่มคนเหล่านี้

 

นโยบายเกี่ยวกับเคหะสถานที่ไม่เคยมีในไทย

อาทิตย์ โกวิทวรางกูร เครือข่ายมักกะสัน กล่าวว่า ถ้าประเทศเราพัฒนาโดยให้บางเมืองเจริญกว่าเมืองอื่นมากๆ คนเมืองอื่นๆ ก็เริ่มจะคิดว่าเข้ามาเมืองใหญ่จะดีกว่าไหม เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงาน ถ้าไม่มีสวัสดิการที่เหมาะสม ก็จะนำมาซึ่งชุมขนแออัด

อาทิตย์ตั้งคำถามว่า อะไรคือบ้าน ชีวิตที่ดีคืออะไร ที่ทางของแต่ละคนอยู่ไหน ครอบครัวกับบ้านต้องอยู่ด้วยกันไหม ซึ่งสำหรับตนมองว่าบ้านคือที่ที่คนอยู่แล้วสบายใจ ปลอดภัย เป็นตัวของตัวเอง อยู่ร่วมกับคนอื่นได้ไปพร้อมกัน

“กรุงเทพฯ คนจำนวนมากอยู่เพราะความจำเป็น ยากจะนับว่าเป็นบ้าน เมืองที่รถติดขนาดนี้ ต้องถูกผลักให้ไปซื้อบ้านไกลขึ้น เดินทางไกลขึ้น แปลว่ายิ่งอยู่ยิ่งเจ๊งใช่ไหม ยกตัวอย่างพื้นที่ตรงมักกะสันคนมองว่าถ้าพัฒนาแล้วไม่เกิดมูลค่าทางตัวเงินจะทำไปทำไม ตกลงหน้าที่รัฐคือหาเงินแค่ไหนหรือ ทำไมจะทำหรือไม่ทำอะไรต้องกลับไปจบที่เงินเพียงอย่างเดียว” อาทิตย์กล่าว

อาทิตย์มองว่าบ้านเป็นตัวชี้วัดความมั่นคง ตัวบ่งบอกความสำเร็จ ประเทศไทยไม่เคยมี housing policy รัฐไม่สนใจว่าเราจะมีบ้านไหม บ้านถูกผลักให้เป็นสินค้าเต็มรูปแบบ จึงเป็นเรื่องที่หากคนมีตังก็ซื้อ ไม่มีตังก็ต้องเช่า บ้านจึงแพงเกินกว่าจะเป็นเจ้าของ ดอกเบี้ยผ่อนบ้านก็สูงเมื่อเทียบกับรายได้

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net