องค์กรผู้ลี้ภัยขอไทยปล่อยผู้ลี้ภัยเด็กดาวน์ซินโดรมโซมาเลียที่ถูกกัก 5 เดือน

เครือข่ายผู้ลี้ภัยเอเชียแปซิฟิก ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลกรณีทางการไทยกักตัวผู้ลี้ภัยชาวโซมาเลียอายุ 13 ปี เอาไว้ในสถานกักตัวชั่วคราวแล้วถึงห้าเดือน ซ้ำร้าย เด็กยังเป็นดาวน์ซินโดรม และพี่ชายของเขาต้องเข้าไปถูกกักตัวด้วยเนื่องจากต้องดูแลน้อง แม้ทั้งสองได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR แล้วก็ตาม

3 เม.ย. 2562 เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยเอเชียแปซิฟิก (APRRN) เครือข่ายขององค์กรภาคประชาสังคมและบุคคลทั่วไปกว่า 350คน/องค์กรจาก 28 ประเทศ ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อสถานภาพของฮัมซา อับดุลราชิด ผู้ลี้ภัยวัย 13 ปีจากประเทศโซมาเลีย และยังเป็นผู้ป่วยดาวน์ซินโดรมที่ถูกกักตัวอยู่ในสถานกักตัวชั่วคราวสวนพลูมาแล้วเป็นเวลานานกว่าห้าเดือน การถูกกักขังทำให้เขาไม่สามารถเข้าถึงการดูแลทางการแพทย์ที่จำเป็นและมีความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพและชีวิต

อับดุลราชิดได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) แล้ว เขาต้องได้รับการช่วยเหลือในกิจกรรมพื้นฐานทุกวันรวมถึงการกินและการใส่เสื้อผ้า อับดุลราชิดถูกกักตัวอยู่ในสถานกักกันพร้อมกับพี่ชายของเขา โอมาร์ อาห์เหม็ด อับดุลลาฮี อายุ 22 ปี ที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR แล้ว และเขาต้องเข้ามาอยู่ในสถานกักกันเพื่อดูแลน้องชาย ไม่ใช่จากคำสั่งของเจ้าหน้าที่

ประเทศไทยลงนามเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (1989 Convention on the Rights of the Child) และมีข้อผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศให้อำนวยผลประโยชน์สูงสุดให้กับเด็ก รวมถึงการปล่อยตัวจากการกักกันและให้ความเคารพกับความเป็นเอกภาพของครอบครัว การคุ้มครองในระดับนานาชาติจะมีในกรณีที่ผู้ถูกคุมขังมีความเสี่ยงสูง นอกจากนั้นไทยยังเพิ่งประกาศตนว่าได้ยึดถือมาตรฐานสากลที่จะไม่ให้มีการกักตัวเด็กอีกแล้วด้วย

เธมบา ลิวอิส เลขาธิการของ APRRN เรียกร้องให้ทางการไทยเคารพเจตนารมย์ตนเองด้วยการปล่อยตัวโอมาร์ อับดุลลาฮีและเด็กชายที่เขาดูแล กรณีนี้ไม่ใช่แค่เรื่องเด็กถูกกักตัว แต่เป็นเรื่องที่เด็กคนหนึ่งกำลังเจอความเสี่ยงที่ร้ายแรง และมีความจำเป็นต้องได้รับการดูแลที่เขาไม่ได้รับในสถานกักตัว

สุนัย ผาสุก นักวิจัยอาวุโสจากองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำประเทศไทยกล่าวว่า การไม่ให้ (อับดุลราชิด) เข้าถึงการดูแลสุขภาพที่จำเป็น รัฐบาลไทยอาจทำให้เขาป่วยหนักหรือเสียชีวิตได้

ผู้เป็นดาวน์ซินโดรมนั้นประสบกับความเสี่ยงด้านสุขภาพหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องที่อาจทำให้เกิดอาการป่วยที่ถึงแก่ชีวิต การชัก โรคหัวใจและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องอื่นๆ

APRRN เดินหน้าทำงานกับรัฐบาล ผู้ได้รับผลกระทบ ประชาสังคมและเอ็นจีโออย่างใกล้ชิดเพื่อเสริมความเข้มแข็งให้กับการคุ้มครอง และประกันสิทธิให้กับผู้ลี้ภัยในภูมิภาค

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท