10 ข้อเสนอต่อ ผบ.ทบ. คนปัจจุบัน เพื่อสร้างความสมานฉันท์ทางการเมือง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

10 ข้อเสนอต่อ ผบ.ทบ. คนปัจจุบัน เพื่อสร้างความสมานฉันท์ทางการเมืองและการปรองดองทางสังคม เพื่อเริ่มต้นศักราชใหม่ทางการเมือง 

1. ไม่เข้าใจว่า ผบ.ทบ. ใช้ตำแหน่งหน้าที่อะไรแถลงข่าวแทน กกต. แถลงข่าวแทนรัฐบาล ต่อสื่อมวลชนในประเทศและสื่อมวลชนต่างประเทศ มันไม่ใช่บทบาทหน้าที่ของ ผบ.ทบ และกองทัพแต่อย่างใด เหมือนกับการไปแทรกแซงการเลือกตั้ง ดังนั้น กองทัพควรยุติบทบาทดังกล่าว และรัฐบาลควรดำเนินการตักเตือน ผบ.ทบ. โดยเร็วว่าอย่าทำนอกหน้าที่ให้สังคมสับสน อย่าให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นที่ครหาเหมือนในปี 2500 ที่ทหารไปยุ่งเกี่ยว 

2. หยุดทำตัวเป็น "คนเถื่อนแห่งประวัติศาสตร์" ตำแหน่ง ผบ.ทบ. ไม่ควรออกมาพูดข่มขู่ทางการเมืองหรือให้ความเห็นทางการเมือง ที่ไม่เกี่ยวกับภาระหน้าที่ของตนเอง กองทัพควรเอาทหารออกจากการเมือง และไม่ยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองไม่ว่ากรณีใดๆ ขอให้ ผบ.ทบ.ทบทวนบทเรียนทางประวัติศาสตร์สมัย พล.อ.สุนทร และ จปร.5 ที่ได้สร้างความขัดแย้งและรอยแผลของประเทศไทย อย่าได้เดินซ้ำรอยอีก

3. หาก ผบ.ทบ. ต้องการเล่นการเมืองควรลาออกจากตำแหน่งมาสังกัดพรรคการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา การใช้ตำแหน่ง ผบ.ทบ. ให้ความเห็นทางการเมืองที่นำมาสู่ความขัดแย้งเป็นการนำกองทัพมาเล่นการเมือง โดยไม่เป็นธรรมกับ "ทหารอาชีพ" ทั้งหมด 

4. กองทัพต้องยุติบทบาทการคุกคาม ข่มขู่ ฟ้องร้องประชาชน ในคดีทางการเมืองทุกคดีที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพทางความคิดเห็น เสรีภาพทางการเมืองและพลเมือง ยุตินักโทษทางความคิดและนักโทษทางการเมืองในประเทศไทย กองทัพไม่ควรใช้บุคคลใดบุคคลหนึ่งมาฟ้องร้องดำเนินคดีต่อประชาชนดังเช่นในปัจจุบัน ซึ่งพยายามใช้ ม.116 เป็นเครื่องมือทางการเมือง และต้องพิจารณาดำเนินคดีทางวินัยทหารทุกคนที่ก้าวล่วงในเรื่องดังกล่าวและทำให้ภาพลักษณ์กองทัพเสียหาย

5.สมัยเป็นประธานบอร์ดสลากกินแบ่งรัฐบาลฯ ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาราคาสลากขายเกินราคาได้ แล้วจะแก้ไขปัญหาชาติบ้านเมืองได้อย่างไร? ขอเสนอให้ ผบ.ทบ.ทบทวนตนเองและหยุดใช้อำนาจก้าวก่ายทางการเมืองเนื่องจากตำแหน่ง ผบ.ทบ.เป็นข้าราชการระดับอธิบดี ต้องฟังคำสั่งรัฐบาลพลเรือนที่เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน เรื่องสำคัญที่กองทัพควรตรวจสอบคือปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นภายในองค์กร ในการจัดจ้างจัดซื้อ และการใช้งบในระบบการเกณฑ์ทหารในปัจจุบัน

6. การเปิดเสรีพรรคการเมืองในระบบรัฐสภา ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กำลังเดินหน้าไปได้ด้วยดีในศักราชใหม่ทางการเมืองนี้ กองทัพต้องปฏิรูปตนเองเพื่อเป็นทหารอาชีพ ไม่เป็นทหารการเมืองซ้ำรอยเหตุการณ์พฤษภาทมิฬจนเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองและสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งในประเทศไทยขึ้นอีก จนเป็นฉนวนต้นเหตุ  ซึ่งนำไปสู่ความรุนแรงทางการเมืองเพื่อแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์นอกระบบประชาธิปไตย

7. ทหารที่ยุ่งเกี่ยวกับอำนาจทางการเมืองเป็นสาเหตุของการทุจริตคอร์รัปชั่น ขอเรียกร้องให้ทหารในสังกัดกองทัพไทย ลาออกจากคณะกรรมการบอร์ดรัฐวิสาหกิจทั้งหมด เพื่อยุติปัญหาการคอรัปชั่นทางนโยบายและการประพฤติมิชอบ โดยใช้ตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงและอำนาจในยุคปัจจุบัน ซึ่งมีทหารเป็นประธานบอร์ดกว่า 16 รัฐวิสาหกิจและเป็นกรรมการกว่า 40 บอร์ดรัฐวิสาหกิจในปัจจุบัน 

8. ผบ.ทบ. คนเก่าได้ส่งผู้แทนมาร่วมงานรำลึกเหตุการณ์พฤษภา 2535 และผู้แทนก็ได้กล่าวขอโทษต่อประชาชนในเหตุการณ์รำลึกดังกล่าวเพื่อเป็นบทเรียนทางประวัติศาสตร์และเป็นอุทาหรณ์เตือนใจ เป็นอนุสรณ์เตือนสติทางสังคม. รวมถึงมีนโยบายว่าจะให้ทหารช่างมาร่วมก่อสร้างอนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรมเพื่อเป็นอนุสรณ์เตือนสติทางสังคมในการรำลึกประวัติศาสตร์การเสียสละในเหตุการณ์ทางการเมืองในอดีต ผบ.ทบ.คนปัจจุบัน ควรเดินตามรอยนโยบายดังกล่าว และนำกองทัพไปมีบทบาทเพื่อสร้างความสมานฉันท์ทางสังคมและไม่เป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง อีกต่อไป

9. ควรเร่งสร้างการปรองดองของคนในชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในข้ออ้างในการยึดอำนาจของ คสช.แต่กว่า 5 ปีที่ผ่านมารัฐบาลก็เพิกเฉยไม่ได้แก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งข้อเสนอที่ "คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)" เคยทำการศึกษาและเสนอต่อรัฐบาล ล้วนสามารถนำมาปฏิบัติได้เลย โดยเฉพาะการนิรโทษกรรมนักโทษทางการเมืองและนักโทษทางความคิดที่ยังติดคุกอยู่และกำลังจะติดคุกด้วยข้อหาทางการเมืองไม่ใช่คดีอาญาฆ่าคนตายโดยเจตนา ตามหลักการเรื่องการแก้ไขปัญหาเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่ควรใช้หลักการความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) และกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน เพื่อนำไปสู่ความปรองดอง การพิจารณาอย่างถี่ถ้วนในการตั้งข้อหาต่อผู้กระทำผิด รัฐสามารถทำได้ทันทีโดยการถอนฟ้องข้อหาทางการเมือง เช่น ข้อหาก่อการร้าย ข้อหาเกี่ยวกับความมั่นคง เป็นต้น และสร้างบรรทัดฐานในกระบวนการยุติธรรมขึ้นมาเป็นหลักประกันทางสังคม

10. ประเทศไทยสามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้โดยการกระจายอำนาจการปกครอง นอกจากการแยกระบบบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ เป็นอิสระออกจากกันและถ่วงดุลกันแล้ว การยกเลิกระบบการบริหารราชการส่วนภูมิภาคและระบบราชการแบบขึ้นอยู่กับ "กรม" แบบเก่าเป็นเรื่องจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน การเปิดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศเป็นโอกาสการพัฒนาของประเทศไทย รวมถึงการกระจายอำนาจตำรวจให้ขึ้นกับจังหวัดด้วย ซึ่งเรื่องดังกล่าวขอให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการโดยเร็ว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท