Skip to main content
sharethis

หลังข่าวเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี องค์กรแม่น้ำนานาชาติ เปิดผลสรุปการศึกษาของคณะมนตรีแม่น้ำโขงและผลกระทบจากการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขง ย้ำผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคนต้องมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการตัดสินใจ เพื่อให้เกิดทางออกในการคุ้มครองความรุ่มรวยทางสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง พร้อมกับช่วยให้ชุมชนในลุ่มน้ำมีชีวิตรอดได้

4 เม.ย.2562 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า จากกรณีเมื่อวานนี้มีรายงานข่าวว่าเขื่อนไซยะบุรีพร้อมเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าให้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ท่ามกลางข้อกังวลของเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงมีมาตลอดคือผลกระทบต่อระดับน้ำโขงที่อีสาน และระบบนิเวศ ขณะที่ประชาชนเรียกร้องตั้งแต่ก่อนก่อสร้างเขื่อน แต่จวบจนปัจจุบันยังไม่มีรายงานการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน หรือมาตรการบรรเทาผลกระทบจากเขื่อนไซยะบุรี 

วันนี้ (4 เม.ย.62) องค์กรแม่น้ำนานาชาติ International Rivers ได้เผยแพร่เอกสารสรุปการศึกษาของคณะมนตรีแม่น้ำโขง และผลกระทบจากการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขง (Tragic Trade-Offs: The MRC Council Study and the Impacts of Hydropower Development on the Mekong) 

ซึ่งสรุปข้อค้นพบและข้อเสนอแนะที่สำคัญของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ใน ‘การศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาและการบริหารจัดการแม่น้ำโขงที่ยั่งยืน รวมทั้งผลกระทบจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงสายประธาน’ (หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘การศึกษาของคณะมนตรีแม่น้ำโขง’) ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า แผนการพัฒนาโครงการเขื่อนไฟฟ้า 11 โครงการบนแม่น้ำโขงตอนล่าง และเขื่อนอีก 120 แห่งในแม่น้ำสาขาภายในปี 2583 เป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรงต่อนิเวศวิทยาและเศรษฐกิจของภูมิภาค รวมทั้งกระทบต่อการเข้าถึงอาหารของประชาชนในท้องถิ่น 

แม้จะมีข้อตักเตือนเช่นนี้ นับแต่การเผยแพร่การศึกษาของคณะมนตรีฯ  ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2561 แต่การก่อสร้างในแม่น้ำโขงตอนล่างและในลุ่มน้ำสาขายังคงเดินหน้าต่อไป 

เขื่อนไซยะบุรี เป็นเขื่อนแรกที่สร้างบนแม่น้ำโขงตอนล่าง โดยมีกำหนดเริ่มผลิตไฟฟ้าในปีนี้ และอยู่ระหว่างทดลองการเดินเครื่องแล้ว หลายเดือนหลังการเผยแพร่การศึกษาฯ สปป.ลาวได้แจ้งต่อ MRC ถึงความประสงค์ที่จะก่อสร้างเขื่อนปากลาย ซึ่งจะเป็นโครงการเขื่อนแห่งที่สี่บนแม่น้ำโขงตอนล่าง และถือเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA) ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง เป็นเวลาหกเดือน การปรึกษาหารือล่วงหน้าโครงการเขื่อนปากลายคาดว่าจะแล้วเสร็จอย่างเป็นทางการในวันนี้ ในที่ประชุมคณะกรรมการร่วม MRC (4 เม.ย.62) ชุมชนและภาคประชาสังคมทั่วทั้งภูมิภาคต่างคว่ำบาตรการปรึกษาหารือล่วงหน้าครั้งนี้ เนื่องจากขั้นตอนปฏิบัติยังมีข้อบกพร่องที่ไม่ได้รับการแก้ไข และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ด้อยคุณภาพ

ไม่ถึงหนึ่งเดือนหลังการเริ่มต้นของกระบวนการปรึกษาหารือฯ โครงการเขื่อนปากลาย ได้เกิดความเสียหายที่ร้ายแรงจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อยที่แขวงอัตตะปือ อันเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 40 คนและไร้ที่อยู่อาศัยหลายพันคน ภายหลังเหตุการณ์เขื่อนแตก รัฐบาลลาวแสดงพันธกิจที่จะให้มีการสอบสวนด้านความปลอดภัยของเขื่อนทั่วประเทศ โดยในปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการทบทวนนโยบายไฟฟ้าพลังน้ำ แต่จากรายงานของผู้แทนพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยความยากจนและสิทธิมนุษยชน หลังการไปเยือนประเทศลาวชี้ให้เห็นว่า ทางการลาวแทบไม่ได้เปลี่ยนหรือทบทวนนโยบายนี้แต่อย่างใด 

รัฐบาลและบริษัทสร้างเขื่อนต่างพยายามทำให้ผลกระทบของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ดูต่ำกว่าความเป็นจริง โดยยืนยันว่าสามารถสร้างเขื่อนเหล่านี้ได้ “อย่างยั่งยืน” 

การศึกษาของคณะมนตรีฯ ซึ่งใช้งบประมาณ 4.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และใช้เวลาดำเนินการกว่า 6 ปี มีเป้าหมายเพื่อให้ข้อมูลต่อประเทศสมาชิก คือ กัมพูชา, สปป.ลาว, ไทย และเวียดนาม ทั้งในแง่ผลกระทบด้านบวกและลบของการพัฒนาทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง รวมทั้งแผนก่อสร้างโครงการเขื่อน 

การศึกษาของคณะมนตรีฯ เตือนว่าจะเกิดผลกระทบร้ายแรง และมีต้นทุนจากโครงการเขื่อนในปัจจุบันและในอนาคต เนื่องจากจะนำไปสู่ความสูญเสียอย่างร้ายแรงและข้ามพรมแดน ต่อการทำประมง การไหลของตะกอน และนิเวศบริการ ผลกระทบเหล่านี้จะทำให้ขาดความมั่นคงด้านอาหาร ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อชุมชนตลอดทั่วลุ่มน้ำโขง และจะส่งผลกระทบต่อศักยภาพของประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างในการปฏิบัติตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 

ตัวอย่างผลการศึกษาเช่น พบว่าแผนการพัฒนาโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขง จะลดปริมาณตะกอนที่ไหลไปยังสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงลงถึง 97% ตะกอนแม่น้ำโขงมีความสำคัญคือ ช่วยเพิ่มสารอาหารและช่วยฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ และเป็นปัจจัยต่อการเกษตรและการประมง ซึ่งย่อมหมายถึงเศรษฐกิจของประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างด้วย แผนก่อสร้างโครงการไฟฟ้าพลังน้ำจะทำให้ปริมาณปลาและสัตว์น้ำลดลงอย่างมาก โดยจะทำให้ชีวมวลด้านประมงลดลง 35–40% ภายในปี 2563 และ 40–80% ภายในปี 2583 

การศึกษาของคณะมนตรีฯ ระบุเช่นนี้ จึงเกิดคำถามว่า เหตุใดเราจึงปล่อยให้โครงการเขื่อนที่สร้างความเสียหายทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมยังคงเดินหน้าต่อไป? 

ปฏิญญาจากที่ประชุมผู้นำประเทศลุ่มน้ำโขงปี 2561(2018 MRC Leaders’ Summit Declaration) ระบุว่าให้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องพิจารณาการศึกษาของคณะมนตรีฯ เพื่อใช้เป็น “ข้อมูลอ้างอิงในการวางแผนและการดำเนินงานตามแผนและโครงการระดับชาติ และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของ MRC” แต่ที่ผ่านมารัฐบาลต่างๆ กลับไม่ได้อธิบายว่า ข้อมูลนี้จะส่งผลต่อการตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการเขื่อนแม่น้ำโขงอย่างไร 

ยังมีทางเลือกอื่นเพื่อตอบสนองความต้องการด้านพลังงานในภูมิภาค ข้อเสนอแนะจากการศึกษาของคณะมนตรีฯ ได้แก่ ประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขงควรพิจารณาเทคโนโลยีพลังงานใหม่ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และลม เพื่อใช้เป็นทางเลือกทดแทนไฟฟ้าจากเขื่อน รวมทั้งการบริหารจัดการด้านความต้องการ และมาตรการประหยัดพลังงาน ถือเป็นองค์ความรู้สำคัญสำหรับการบริหารจัดการน้ำ พลังงาน และความมั่นคงทางอาหารให้ยั่งยืนยิ่งขึ้นในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง 

มอรีน แฮริส ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ International Rivers กล่าวว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องค้นหาแนวทางระดับลุ่มน้ำ เพื่อแก้ปัญหาท้าทายเหล่านี้ โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคนต้องมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการตัดสินใจ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดทางออกในการคุ้มครองความรุ่มรวยทางสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง พร้อมกับช่วยให้ชุมชนในลุ่มน้ำมีชีวิตรอดได้ 

ข้อค้นพบสำคัญจากการศึกษาของคณะมนตรีฯ สรุปได้ดังนี้ 


•    แผนการพัฒนาโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ จะทำให้ปริมาณของตะกอนที่ไหลไปถึงสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงลดลงถึง 97% ตะกอนเหล่านี้ช่วยเพิ่มสารอาหารและช่วยฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศโดยรวม และเป็นปัจจัยสนับสนุนการเกษตร การประมง และคุณภาพน้ำ ซึ่งย่อมช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศในลุ่มน้ำด้วย 

•    แผนการพัฒนาโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำจะทำให้ปริมาณสัตว์น้ำลดลงอย่างมาก โดยจะทำให้ชีวมวลด้านประมงลดลง 35–40% ภายในปี 2563 และ 40–80% ภายในปี 2583 ทำให้ประเทศต่าง ๆ สูญเสียปริมาณสัตว์น้ำเป็นสัดส่วนดังนี้ ไทย 55%; ลาว 50%; กัมพูชา 35%; และเวียดนาม 30%

•    แผนการพัฒนาโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำจนถึงปี 2583 จะทำให้พันธุ์ปลาอพยพในพื้นที่ส่วนใหญ่ของแม่น้ำโขงสูญพันธุ์ไป พันธุ์ปลาอพยพในแม่น้ำโขงไม่สามารถดำรงชีวิตในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนต่าง ๆ ซึ่งมีแผนก่อสร้างระหว่างปี 2563 ถึง 2583 ได้ 

•    การเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ รวมทั้งการสูญเสียด้านประมง จะกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารอย่างรุนแรงในชุมชนต่าง ๆ ของลาวและกัมพูชา

•    การลงทุนที่มากเกินไปในภาคเกษตรและเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ และการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศที่รุนแรงยิ่งขึ้นจะส่งผลกระทบโดยรวม ปิดกั้นโอกาสที่ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างจะสามารถบรรลุหรือรักษาระดับการเป็นประเทศรายได้ระดับต่ำหรือปานกลางได้ 

•    ประโยชน์และต้นทุนจากการพัฒนาเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ จะเกิดขึ้นอย่างไม่เท่าเทียมกันตลอดทั้งลุ่มน้ำโขงตอนล่าง และไม่จำกัดอยู่เฉพาะประเทศซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการ โครงการเขื่อนจะสร้างให้ประโยชน์กับประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขง ทั้ง 4 ประเทศแตกต่างกันไป 

•    กำไรส่วนใหญ่จากเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำจะตกเป็นของบริษัทและธนาคารต่างชาติ ประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาลจากโครงการเขื่อนแม่น้ำโขง จะตกเป็นของประเทศผู้ลงทุน จากต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นจีน มาเลเซีย และเกาหลีใต้ ในขณะที่ต้นทุนจากโครงการเหล่านี้จะต้องถูกแบกรับโดยชุมชนชาวประมงและเกษตรกรที่อาศัยอยู่ตามระเบียงแม่น้ำโขงเป็นส่วนใหญ่ 

•    การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG ต้องพึ่งพาต้นทุนและความหลากหลายทางธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีดินที่อุดมสมบูรณ์ มีป่าในแหล่งต้นน้ำ และประเทศลุ่มน้ำ และมีการไหลของแม่น้ำตามฤดูกาลเพื่อเกื้อหนุนต่อแม่น้ำโขงซึ่งเป็นแหล่งประมงน้ำจืดใหญ่สุดของโลก แผนการพัฒนาเขื่อน จะทำให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้น และลดความยั่งยืนของแต่ละประเทศสมาชิกในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครัวเรือนและประชาชนที่ยากจนสุด จะได้รับความเสี่ยงมากกว่า และแม้จะไม่มีการสำรวจอย่างเพียงพอในการศึกษาของคณะมนตรีฯ แต่คาดว่ากลุ่มชนพื้นเมืองและชุมชนชาติพันธุ์ส่วนน้อย จะเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงและภัยคุกคามมากกว่ากลุ่มอื่น 

ข้อมูลเพิ่มเติม 

การศึกษาของคณะมนตรีฯ เกิดจากความเห็นชอบของ ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างในปี 2554 ภายหลังการปรึกษาหารือล่วงหน้าของโครงการเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งเป็นเขื่อนแห่งแรกที่สร้างบนแม่น้ำโขงตอนล่าง ในครั้งนั้น เวียดนามเรียกร้องให้ระงับการก่อสร้างเขื่อนแม่น้ำโขง 10 ปี เพื่อให้มีการศึกษาเพิ่มเติมและทำความเข้าใจผลกระทบระดับลุ่มน้ำให้ดีขึ้น ซึ่งทางกัมพูชาก็สนับสนุนต่อข้อเสนอนี้ ในเวลาต่อมา เนื่องจากไม่สามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับโครงการเขื่อนไซยะบุรีในระหว่างการปรึกษาหารือล่วงหน้า ประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขง จึงเสนอให้ทำการศึกษาของคณะมนตรีฯ เพื่ออุดช่องว่างด้านองค์ความรู้ และทำความเข้าใจผลกระทบในภาพรวม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net