Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

(1) “ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม” เป็นระบบการได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ผสมระหว่าง “ระบบเลือกตั้งแบบเสียงข้างมาก” และ “ระบบสัดส่วน” ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากอัตราส่วนของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการแบ่งเขตเลือกตั้ง (350 คน) และจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง (150 คน) แล้ว จะเห็นได้ว่าระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 นี้เป็นระบบเลือกตั้งแบบผสมซึ่งยังคงให้น้ำหนักกับระบบเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากมากกว่า ถึงแม้ว่าจะมีการคำนวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละพรรคการเมืองจะพึงมีได้บนฐานของคะแนนรวมทั้งประเทศที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทุกเขตก็ตาม แต่การคำนวณดังกล่าวก็เป็นไปเพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองเพื่อชดเชยหรือเพื่อเติมเต็มจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละพรรคการเมืองให้สะท้อนหรือใกล้เคียงกับสัดส่วนคะแนนรวมที่แต่ละพรรคการเมืองจะพึงมีเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดของอัตราส่วนจำนวนสมาชิกจากบัญชีรายชื่อและจากการแบ่งเขตเลือกตั้ง ตลอดจนการที่ได้กำหนดจำนวนสมาชิกแบบบัญชีรายชื่อไว้อย่างตายตัวโดยไม่กำหนดให้มีการเพิ่มเติมจำนวนสมาชิกให้แก่พรรคการเมืองอื่น ๆ เพื่อเกลี่ยส่วนหากเกิดกรณีที่มีพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งหรือหลายพรรคได้จำนวนสมาชิกที่มาจากการแบ่งเขตเลือกตั้งเกินไปกว่าจำนวนที่พรรคการเมืองนั้น ๆ จะพึงมีเมื่อคำนวณจากคะแนนรวมทั้งประเทศแล้ว (ซึ่งเรียกว่ากรณีการมีสมาชิกเกินส่วนหรือ Overhang mandates เกิดขึ้น) จึงเป็นไปได้ยากที่ในท้ายที่สุดแล้วจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละพรรคการเมืองนั้นจะสะท้อนสัดส่วนที่ควรจะเป็นอย่างสมบูรณ์แบบ การชดเชยหรือเติมเต็มจำนวนสมาชิกจากบัญชีรายชื่อนี้อาจทำได้ก็แค่เพียงเป็นการสร้างภาพสะท้อนซึ่งใกล้เคียงกับสัดส่วนที่ควรจะเป็นให้ได้มากที่สุดเท่านั้น

(2) คำอธิบายเรื่อง “คะแนนไม่ตกน้ำ” นั้น เป็นคำอธิบายที่อยู่บนฐานหลักการของระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนซึ่งให้คุณค่ากับหลักการเลือกตั้งโดยเสมอภาคไม่เฉพาะแต่เพียงในมิติที่ว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนจะต้องมีจำนวนสิทธิในการลงคะแนนเสียงที่เท่ากันและค่าของคะแนนเสียงแต่ละคะแนนที่ลงไปนั้นก็จะต้องมีน้ำหนักเท่ากันทั้งหมดเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงมิติที่ว่าทุก ๆ คะแนนที่ได้ลงไปโดยชอบนั้นจะต้องมีอิทธิพลต่อผลการเลือกตั้งและมีผลต่อการแบ่งสัดส่วนที่นั่งในสภาอย่างเท่าเทียมกันด้วย อย่างไรก็ตามก็ไม่ใช่ว่าทุกคะแนนของแต่ละพรรคการเมืองที่ได้รับจากประชาชนนั้นจะแปลงมาเป็นสัดส่วนที่นั่งของผู้แทนในสภาได้โดยที่ไม่มีคะแนนใดตกหล่นหรือทิ้งน้ำเลยเสมอไป ทั้งนี้ เนื่องจากลักษณะของการเลือกตั้งซึ่งเป็นสนามแข่งขันที่มีจำนวนเส้นชัยการได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่อย่างจำกัด จึงมีแต่เพียงเฉพาะพรรคการเมืองที่สามารถรวบรวมคะแนนเสียงจากประชาชนได้ถึงตัวเลขที่เป็นฐานในการคำนวณการได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นที่จะสามารถเข้าเส้นชัยและคว้าตำแหน่งที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรไป และเป็นธรรมดาของการแข่งขันที่จะมีพรรคการเมืองอื่น ๆ ทั้งหลายซึ่งจะไม่ได้รับสัดส่วนที่นั่งในสภาเนื่องจากไม่ได้รับคะแนนเสียงเป็นจำนวนเพียงพอที่จะพาตนเองไปถึงเส้นชัยได้ เมื่อเป็นเช่นนี้คะแนนเสียงของประชาชนที่เลือกพรรคการเมืองเหล่านี้ย่อมตกน้ำไปตามสภาพ

(3) ซึ่งที่กลายมาเป็นข้อถกเถียงเกี่ยวกับการคำนวณเพื่อให้ได้มาซึ่งจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่กำลังเกิดขึ้น ณ ขณะนี้ก็คือว่า เมื่อพิจารณาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 91 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 128 แล้ว จะมีพรรคการเมืองใดบ้างที่จะได้รับการจัดสรรจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อจากผลการเลือกตั้งจากผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา

(3.1) เมื่อพิจารณาบนฐานของบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (4) ของรัฐธรรมนูญ และมาตรา 128 วรรคหนึ่ง (4), (5) และ (7) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อตามจำนวนที่แต่ละพรรคการเมืองจะได้รับนั้นให้เริ่มต้นจากฐานจำนวนเต็ม หากปรากฏว่าผลรวมจำนวนเต็มทั้งหมดที่แต่ละพรรคจะพึงมีได้นั้นยังไม่ครบจำนวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน กฎหมายกำหนดต่อไปให้จัดสรรจำนวนสมาชิกแบบบัญชีรายชื่อ “เพิ่ม” ตามลำดับแก่พรรคการเมืองที่มีเศษจากการคำนวณมากที่สุด แต่หากเป็นกรณีปรากฏว่าพรรคการเมืองทุกพรรคได้รับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อรวมกันแล้วเกินหนึ่งร้อยห้าสิบคน ให้ดำเนินการคำนวณปรับ “ลด” จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อใหม่โดยคำนวณตามอัตราส่วนที่ทุกพรรคจะได้รับการจัดสรรจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อซึ่งเมื่อรวมแล้วไม่เกินหนึ่งร้อยห้าสิบคน

(3.2) การพิจารณาว่าจะต้องจัดสรรเพิ่มหรือคำนวณปรับลดจำนวนสมาชิกแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองจึงจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อพิจารณาจากฐานจำนวนเต็มของแต่ละพรรคการเมืองแล้วเท่านั้น จากนั้นจึงจัดสรรหรือคำนวณเพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนหนึ่งร้อยห้าสิบคนที่กำหนดเอาไว้ ในกรณีที่มีการคำนวณปรับลดจำนวนสมาชิกแบบบัญชีรายชื่อตามอัตราส่วนที่แต่ละพรรคจะได้รับภายใต้กรอบหนึ่งร้อยห้าสิบคนนั้น หากผลรวมของจำนวนเต็มตามสัดส่วนใหม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยห้าสิบคน ก็ให้จัดสรรเพิ่มจำนวนสมาชิกตามลำดับแก่พรรคการเมืองที่มีเศษจากการคำนวณมากที่สุด โดยเป็นการจัดสรรเพิ่มเติมเฉพาะพรรคการเมืองที่มีฐานจำนวนเต็มของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละพรรคพึงมีซึ่งรวมกันแล้วเกินกว่าหนึ่งร้อยห้าสิบคนเท่านั้น ด้วยเหตุที่ว่ามีแต่เฉพาะพรรคการเมืองกลุ่มนี้เท่านั้นที่เป็นฐานในการคำนวณปรับลดอัตราส่วนในขั้นตอนก่อนหน้านี้

(3.3) อย่างไรก็ตามจากเอกสารเรื่อง “วิธีคำนวณจำนวน สส.” ที่ปรากฏอยู่ในหน้าเว็บไซต์คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (เข้าถึงได้จาก https://cdc.parliament.go.th/draftconstitution2/download/cal_member_house.pdf) นั้นปรากฏวิธีการคำนวณในกรณีที่ต้องมีการปรับลดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อใหม่โดยคำนวณตามอัตราส่วนที่ทุกพรรคจะได้รับการจัดสรรจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อซึ่งเมื่อรวมแล้วไม่เกินหนึ่งร้อยห้าสิบคนไว้แตกต่างออกไปจากหลักการที่อธิบายในข้อ (3.2) ข้างต้น กล่าวคือ ในการคำนวณหาผลรวมของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะได้รับตามเอกสารฉบับดังกล่าวนั้น ตามขั้นตอนก่อนจะมีการปรับลดอัตราส่วน มีการใช้การคำนวณจากผลรวมของตัวเลขบนฐานที่ไม่ได้เป็นจำนวนเต็ม ซึ่งเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองบางพรรคที่มีคะแนนไม่ถึงฐานจำนวนเต็มที่พึงมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้นั้นอาจได้รับการจัดสรรเพิ่มจำนวนบนฐานของเศษที่มีอยู่หลังจากมีการคำนวณปรับลดอัตราส่วนแล้วได้

(3.4) เอกสารเรื่อง “วิธีคำนวณจำนวน สส.” นี้แม้จะปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแต่ก็ไม่ได้มีฐานะเป็นส่วนประกอบของรัฐธรรมนูญหรือเป็นส่วนหนึ่งของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ถึงแม้ว่ามาตรา 128 วรรคท้ายของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะให้คณะกรรมการการเลือกตั้งสามารถกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการคำนวณหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองไว้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งจะกำหนดเองได้ตามอำเภอใจหรือจะรับเอา “วิธีคำนวณจำนวน สส.” มาใช้ได้โดยตรงอย่างไร้ข้อโต้แย้ง เพราะหากสูตรการคำนวณแบบใดเป็นไปโดยขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและรัฐธรรมนูญแล้วย่อมเป็นการคำนวณที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้หากปรากฏว่าสูตรการคำนวณอย่างใดได้นำไปสู่ผลลัพธ์ผิดปกติให้ปรากฏขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรมโดยเฉพาะในกรณีที่พรรคการเมืองที่มีคะแนนเสียงต่างกันเกินเท่าตัวแต่กลับกลายเป็นว่าทั้งสองพรรคนั้นกลับได้รับการจัดสรรจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อในจำนวนที่เท่ากับ ย่อมแสดงให้เห็นว่ารูปแบบการคำนวณเช่นนี้ขัดหรือแย้งกับหลักการเลือกตั้งโดยเสมอภาคซึ่งแม้ในรัฐธรรมนูญจะไม่ได้บัญญัติรับรองไว้อย่างชัดแจ้ง แต่ก็ดำรงอยู่ในฐานะส่วนหนึ่งของหลักความเสมอภาคทั่วไปที่รัฐธรรมนูญได้รับรองเอาไว้ในมาตรา 27 ทั้งยังเป็นคุณค่าพื้นฐานของระบบเลือกตั้งที่ผสมคุณลักษณะของระบบสัดส่วนเอาไว้อีกด้วย

(4) บทความนี้ไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อคำนวณหรือคิดค่าคะแนนให้เห็นบนสูตรคณิตศาสตร์ดังที่ได้ปรากฏว่ามีผู้ดำเนินการเช่นนั้นบ้างแล้ว แต่เขียนขึ้นเพื่ออธิบาย “หลักการที่ต้องยึดถือ” หรือ “หลักการที่ควรจะเป็น” ของระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันว่าสิ่งที่อยู่เบื้องหลังสูตรคำนวณทางคณิตศาสตร์นั้นมีหลักการทางกฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักการเลือกตั้งโดยเสมอภาคดำรงอยู่ ลำพังการตัดสินใจเลือกใช้ระบบเลือกตั้งเช่นนี้ภายใต้บริบทกฎหมายรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบที่เห็นว่ามีระบบอื่นซึ่งตอบประเด็นการสะท้อนสัดส่วนคะแนนความเป็นจริงได้ดีกว่า หรือกระทั่งเห็นถึงขนาดว่าระบบเช่นนี้เป็นระบบที่ขัดต่อหลักการเลือกตั้งโดยเสมอภาคนั้นก็แสดงให้เห็นปัญหาในชั้นผู้ร่างรัฐธรรมนูญมากพออยู่แล้ว หากผู้ใช้บังคับกฎหมายจะปฏิเสธหลักการหรือคุณค่าที่ดำรงอยู่อย่างน้อยนิดในระบบเลือกตั้งที่มีปัญหาเช่นนี้อีกก็มีแต่จะยิ่งตอกย้ำให้เห็นชัดขึ้นเรื่อย ๆ ว่ากลไกหรือกระบวนการเลือกตั้งนี้แท้จริงแล้วนั้นไม่ได้เป็นอะไรไปมากกว่าการตกแต่งและสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารเลย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net