Skip to main content
sharethis
  • การขึ้นมาของคนรุ่นใหม่ในประเทศไทย ส่งผลให้มีการใช้วัฒนธรรมป็อปญี่ปุ่นเป็นอาวุธเพื่อสู้กับระบอบอำนาจนิยมมากขึ้น ทั้งในรูปการหาเสียง การล้อเลียน การโฆษณาชวนเชื่อ และการถกเถียงทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลังมีกระแสตีกลับ

ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการจะออกมาในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ และในช่วงที่ผ่านมาในประเทศไทยมีเหตุการณ์เกิดขึ้นหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ข่าวปลอม การใส่ร้ายป้ายสี และการฟ้องร้องคดีความต่าง ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมือง แนวร่วมฝ่ายประชาธิปไตยกำลังเผชิญศึกหนักและพยายามจัดตั้งรัฐบาลให้ได้หลังเลือกตั้ง แม้ประเด็นทางการเมืองจะเข้าไปอยู่ในรัฐสภามากขึ้น แต่การเมืองนอกสภาก็ยังมีความสำคัญ และองค์ประกอบของการเมืองนอกสภาที่กำลังมีอิทธิพลต่อการเมืองไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็คือวัฒนธรรมป็อปที่นำเข้าจากญี่ปุ่น  

วัฒนธรรมป็อปเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองมาโดยตลอด เนื่องจากผู้ที่มีอิทธิพลในวัฒนธรรมป็อปมักจะมีอิทธิพลต่อการถกเถียงในเวทีสาธารณะด้วย ตัวอย่างเช่น ในปี พ.ศ. 2558 รัฐบาลจีนเคยประกาศยกเลิกคอนเสิร์ตของ Maroon Five เนื่องจากสมาชิกวงไปพบกับดาไลลามะของทิเบต บางครั้งผู้มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมป็อปก็ผันตัวมาเป็นนักการเมืองเสียเอง ตัวอย่างเช่น โรนัลด์ เรแกน (อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา) อาโนล ชวาสเนกเกอร์ (อดีตผู้ว่าการรัฐแคลิฟอเนีย) และโดนัล ทรัมป์ (ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนปัจจุบัน) แนวโน้มเช่นนี้เกิดขึ้นในประเทศไทยเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากการที่นักร้องหรือนักแสดงหลายคนผันตัวไปลงสมัคร ส.ส. หรือประกาศสนับสนุนหรือต่อต้านฝ่ายอุดมการณ์ทางการเมืองต่าง ๆ อย่างเปิดเผยในช่วงการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

(ซ้าย) "ฟิล์ม" รัฐภูมิ ลงสมัคร ส.ส. พรรคพลังท้องถิ่นไท
(ขวา) "นก" สินจัย เปล่งพานิชและ "กบ" ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรีถ่ายรูปคู่กับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชาในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง

นักการเมือง หน่วยงานของรัฐบาล และองค์กรภาคประชาสังคมก็ใช้วัฒนธรรมป็อปเพื่อสร้างความนิยมให้กับตัวเองอยู่เป็นประจำ แต่สำหรับคนบางกลุ่ม การใช้องค์ประกอบวัฒนธรรมป็อปบางอย่างก็อาจไม่ใช่เรื่องน่าสนุก ในประเทศไทย วัฒนธรรมป็อปของญี่ปุ่นเคยเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติด้วยซ้ำ เช่น ใน พ.ศ. 2559 รัฐบาลไทยเคยขอให้มีการตรวจสอบเกม Pokemon Go อย่างละเอียด เนื่องจากกลัวว่าอาจเป็นภัยคุกคาม นอกจากนี้ พล. อ. ประวิตร วงศ์สุวรรณ ที่เห็นแนวคิดภูมิรัฐศาสตร์รูปแบบเก่าหายไปต่อหน้าต่อตายังขอร้องให้ผู้เล่น Pokemon Go อย่ามาจับโปเกม่อนใกล้กับค่ายทหารด้วย

วัฒนธรรมป็อปญี่ปุ่นส่งผลกระทบต่อการเมืองไทยในทางอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อคนรุ่นใหม่พยายามนำวัฒนธรรมญี่ปุ่นซึ่งตนคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็กมาใช้เป็นอาวุธทางการเมืองเพื่อต่อสู้กับระบอบอำนาจนิยม รัฐบาลเผด็จการทหารเองก็พยายามดึงดูดเสียงสนับสนุนจากคนรุ่นใหม่โดยใช้วัฒนธรรมป็อปญี่ปุ่น แต่ก็ยังต้องเผชิญกับกระแสตีกลับเช่นกันไม่มากก็น้อย

อาวุธลับใหม่

ในช่วงที่ผ่านมา อาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยมีการใช้วัฒนธรรมป็อปญี่ปุ่นเป็นอาวุธทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการที่หลายพรรคการเมืองนำวันพีซ ดราก้อนบอล และอุลตราแมนมาเป็นส่วนหนึ่งของการหาเสียงหรือการรณรงค์ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม นายนิธิภัทร์ ชิณโชติวรสิทธิ์ ผู้สมัคร ส.ส. เขต 2 ราชบุรี สังกัดพรรคชาติพัฒนา ลงพื้นที่หาเสียงในชุดโงกุนร่วมกับเพื่อนร่วมทีม เนื่องจากสีส้มเป็นสีประจำพรรค และเพื่อนร่วมทีมหลายคนอยากสนุก นายนิธิภัทร์กล่าวระหว่างเดินหาเสียงว่า “เศรษฐกิจยุคทอง เศรษฐกิจยุคน้าชาติ (พลเอก ชาติชาย ชุณหวัณ) อดีตหัวหน้าพรรค ยังอยู่ในความทรงจำของหลายคน พวกเราทุกคนจะมุ่งมั่นทำงานเพื่อนำเศรษฐกิจยุคทองและความสงบสุขของบ้านเมืองกลับคืนมาอีกครั้ง” หลายคนอาจตั้งคำถามว่าคนที่เดินผ่านไปผ่านมาจะรู้สึกแปลก ๆ หรือไม่ แต่รายงานสำนักข่าวต่าง ๆ ระบุว่าการเดินขบวนหาเสียงครั้งดังกล่าวได้รับกระแสตอบเป็นอย่างดี แม้ว่านางบุญยิ่ง นิติกาญจนา ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐจะชนะในเขตดังกล่าวก็ตาม


แหล่งที่มา: มติชนออนไลน์

ในประเทศไทยมีการอ้างอิงถึงวันพีซอย่างแพร่หลายเช่นกัน แม้พรรคเกียนจะไม่ได้ลงเลือกสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้ แต่นายสมบัติ บุญงามอนงค์ นักกิจกรรมการเมืองเพื่อประชาธิปไตยและหัวหน้าพรรคก็ใส่หมวกโจรสลัดเหมือนโกล ดี. โรเจอร์ ซึ่งเป็นราชาโจรสลัดของวันพีซตลอดเวลาเมื่ออยู่ต่อหน้าสื่อ และหลาย ๆ ครั้งสมาชิกพรรคเกียนก็พยายามคอสเพลย์เป็นสมบัติ บุญงามอนงค์เวอร์ชั่นใส่หมวกราชาโจรสลัดในการประท้วงต่าง ๆ ด้วย โดยพรรคเกียนตั้งเป้าผสมผสานแนวคิดพรรคโจรสลัด (pirate party) ของต่างประเทศ ที่สนับสนุนสิทธิพลเมือง ประชาธิปไตยดิจิตัล การปฏิรูปกฎหมายลิขสิทธิ์ และฐานข้อมูลเปิด เข้ากับการ์ตูนเรื่องวันพีซเพื่อนำความบันเทิงสู่การเมืองไทย

สมบัติ บุญงามอนงค์
แหล่งที่มา:
 @Aunarisk

ขณะเดียวกัน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยที่มีชื่อเสียงด้านความแข็งแกร่ง ก็หยิบยืมพลังจากอุลตราแมนเพื่อนำมาใช้ในการหาเสียงเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากวิดิโอที่ตัดต่อโดยแฟนคลับ ซึ่งมีผู้ชมกว่า 7 แสน 2 หมื่นคน และมีคนแชร์และกดไลค์อีกกว่า 2 หมื่นคน

จากนารูตู่สู่คาถาเงาแยกร่าง

อย่างไรก็ตาม การใช้มังงะและอนิเมะไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะกับพรรคการเมืองเท่านั้น แต่กลุ่มทางสังคมอื่น ๆ ก็นำมาใช้ด้วย โดยหนึ่งในตัวอย่างที่ดีที่สุดก็คือเพจนารูตู่ ซึ่งเป็นเพจล้อการเมืองไทยโดยใช้การ์ตูนเรื่องนารูโตะมาเป็นวัตถุดิบ ตัวละครในการ์ตูนเรื่องนารูโตะถูกนำมาดัดแปลงเป็นบุคคลสำคัญในการเมืองไทยคนแล้วคนเล่า จากซาสึเกะสู่ซาสึยุท (พล อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา) จากโอโรจิมารุสู่โอโรเจียมมารุ (สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล) จากอุจิฮะ อิทาจิสู่ชินนาวะ อิทากิ (ทักษิณ ชินวัตร) จากโทบิรามะสู่โทบิรามาร์ค (อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) แก่นของเรื่องราวเกี่ยวกับมิตรภาพ การยอมรับความเจ็บปวดและโกรธแค้น และการต่อสู้เพื่อให้ได้รับการยอมรับ ถูกดัดแปลงให้กลับตาลปัตรกลายเป็นเรื่องราวล้อเลียนการเมืองที่หลายคนอ่านแล้วคงอดขำไม่ได้ 

หมู่บ้านโคโนฮะถูกแปลงให้กลายเป็นหมู่บ้านกะลาฮะ ส่วนคิริงาคูเระ (หมู่บ้านใต้เมฆหมอก) ถูกนำมาใช้พรรณนาเขตพระประแดงของกรุงเทพ ซึ่งช่วงหนึ่งเคยมีค่า PM2.5 สูงกว่ามาตรฐาน ก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม เพจยังเชิญชวนให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งด้วย โดยระบุว่าที่เพจไม่เคยวาดตัวละครนารูโตะ เพราะว่าประชาชนทุกคนคือนารูโตะ

“สวัสดีครับ ผมแอดมินเพจนารูตู่ วันนี้แอดก็จะมาเฉลย ข้อสงสัยของลูกเพจ[ว่า]ทำไมเพจถึงไม่มีตัวละครนารูโตะ นารูโตะคือนินจาที่ช่วยหมู่บ้าน ช่วยแคว้นเอาไว้ เช่นเดียวกัน ตัวละครนารูโต๊ะในเพจนั้นก็คือลูกเพจทุกคนที่จะออกไปช่วยหมู่บ้านในวันพรุ่งนี้ ออกมาสู้เพื่อหมู่บ้านกันเถอะ เหล่านินจากะลาฮะ!!”

จากการสัมภาษณ์กับแอดมินซึ่งมีนามสมมติว่า “เกะนินแห่งกะลาฮะ” แอดมินระบุว่าได้เปิดเพจนารูตู่ขึ้นเมื่อช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2561 เกะนินแห่งกะลาฮะพูดคุยกับประชาไทว่า “ตอนนั้นพอดีทำงานเกี่ยวกับการ์ตูนอยู่แล้วน่ะครับ เลยอยากทำการเมืองดูบ้างเพราะว่าสนใจการเมืองเหมือนกัน ประกอบกับที่ชอบเรื่องนารูโตะเลยคิดว่าอยากให้คนที่อ่านการ์ตูนหันมาสนใจการเมืองมากขึ้นครับ”

“จริง ๆ ผมว่าทุกเรื่องนี่จะมีการเมืองเป็นของเรื่องนั้น ๆ ครับ ผมทำเพจเพราะผมอินกับนารูโตะที่สุดด้วยแหละครับ" เกะนินแห่งกะลาฮะกล่าว "เหมือนกับว่า ในความสงบ ความปกติเนี่ย จริง ๆ มีการเคลื่อนไหว เรื่องลึกลับ ที่ไม่มีใครรู้ แอบแฝงมากมาย แสวงหาพลังการเป็นผู้นำแคว้นที่ต้องดูแลคนในแคว้น”

หากดูบริบทสังคมไทยในช่วงที่ผ่านมา เราอาจจะพอเห็นว่าในช่วง 5 ปีภายใต้ระบอบเผด็จการของ คสช. สิ่งที่เกิดขึ้นคือรัฐบาลพยายามโฆษณาชวนเชื่อโดยชูคำขวัญเรื่องความสงบ ความสุข และความเป็นระเบียบเรียบร้อยในสังคมเป็นจุดขายมาโดยตลอด แต่หากมองให้ลึกลงไปจะเห็นว่าหลังฉากมีผู้ต่อต้านรัฐบาลทหารต้องประสบพบเจอกับการปราบปรามอย่างหนัก เนื่องจากอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของคำสั่ง คสช. รวมไปถึง พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ และการใช้มาตรา 112 อย่างผิดฝาผิดตัว

จากข้อมูลของไอลอว์ซึ่งปรับปรุงล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 พบว่ามีผู้ถูกฟ้องร้องจากมาตรา 112 รวม 94 คน ถูกฟ้องร้องด้วยข้อหาละเมิดคำสั่ง คสช. ถึง 421 คน ถูกฟ้องร้องเนื่องจากไม่มารายงานตัวกับ คสช. 14 คน และถูกฟ้องร้องด้วยข้อหายุยงปลุกปลั่นตามมาตรา 116 อีกกว่า 91 คน จากข้อมูลที่ปรับปรุงล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2562 พบว่ามีการดำเนินคดีโดยอาศัย พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560 มาตรา 14 (1) และ (2) ในข้อหาสร้างความแตกแยกและความสับสนต่อสาธารณะชนถึง 55 คดี

เมื่อถามแอดมินว่าเวลาล้อลุงตู่หรือลุงป้อมรู้สึกหวั่นบ้างหรือไม่ เกะนินแห่งกะลาฮะกล่าวว่า “ตอนทำใหม่ ๆ ก็มีหวั่น ๆ ครับ เพราะตอนเริ่มทำได้แป๊ปนึงไข่แมวก็หายไปพักนึงเลย แต่เราก็คิดว่าเราแอบให้เยอะ ๆ ทรงผมเอย ผ้าปิดตาเอย และไลค์ยังน้อยอยู่ครับ แถมผู้ใหญ่น่าจะไม่สนใจอะไรแบบนี้ พอตอนนี้ใกล้เลือกตั้งแล้ว ก็พร้อมวาดมากขึ้น เข้มข้นขึ้นครับ” หนึ่งปีให้หลัง เพจนี้มีผู้กดไลค์มากกว่า 1 แสนคน

ช่วงที่ผ่านมาเพจนารูตู่ได้ล้อเลียนนักการเมืองและสมาชิกของรัฐบาลทหารไปแล้วนับไม่ถ้วน ตามคำกล่าวของเกะนินแห่งกะลาฮะที่ระบุว่า “พยายามล้อให้ทั่วถึง” แต่บางคนก็อาจจะจุกกว่าคนอื่น เช่น พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งมีนาฬิกาหรู 25 เรือนไว้ในครอบครอง แต่ไม่มีอยู่ในบัญชีรายชื่อทรัพย์สินที่ยื่นแก่ ป.ป.ช. จึงถูกล้อเลียนว่าเป็น “ดันโซ” ตัวละครฝ่ายอนุรักษ์นิยมแห่งหมู่บ้านโคโนฮะ ซึ่งนำเนตรวงแหวนของตระกูลอุจิฮะมาฝังไว้ที่แขนของตัวเอง

พล อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ และบทบาทใหม่ในฐานะรองคาเงะ

เพจนารูตู่นับว่าปลุกกระแสล้อการเมืองในช่วงเลือกตั้งได้ส่วนหนึ่งเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น รูปบรรยากาศหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐที่ดูเหมือนจะตัดต่อภาพให้ดูมีผู้เข้าร่วมเพิ่มขึ้น ได้ถูกเพจต่าง ๆ นำมาล้อเลียนว่าเป็น “คาถาเงาแยกร่าง” เหมือนในการ์ตูนนารูโตะ

คาถาเงาแยกร่างพลังประชารัฐ
แหล่งที่มา
: คาราโอเกะ ชั้นใต้ดิน

หากตัดประเด็นเรื่องเกม อนิเมะ หรือยอดตัวเลขอื่น ๆ ที่ไม่ได้มีการบันทึกไว้ออกไป นารูโตะเป็นหนึ่งในหนังสือการ์ตูนที่ขายดีที่สุดในโลก และมียอดขายกว่า 235 ล้านเล่ม ตั้งแต่นารูโตะเริ่มวางขายในปี 2542 จนถึงตอนอวสานในปี 2557 คนรุ่นใหม่ในประเทศไทยจำนวนมากต้องคงรู้จักหรือเคยอ่านนารูโตะมาบ้างไม่มากก็น้อย ในสภาพแวดล้อมที่มีการจำกัดสิทธิและเสรีภาพ คนรุ่นใหม่ที่เติบโตมากับวัฒนธรรมป็อปญี่ปุ่นและพยายามใช้สิ่งเหล่านี้เพื่อพูดความจริงอย่างอ้อม ๆ แต่ทว่ามีประสิทธิภาพ เพื่อเผยให้เห็นความไร้สาระของระบอบอำนาจนิยมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

วิวาทะ BNK48

คนบางกลุ่มใช้การ์ตูนมังงะและอนิเมะเรื่องอื่น ๆ เพื่อล้อเลียนเผด็จการเช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น หลายคนล้อเลียน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชาว่าเป็น “พล. อ. อาคาอิยุท” ซึ่งดัดแปลงมาจาก พล.อ. อาคาอินุในวันพีซ (การ์ตูนมังงะที่ขายดีที่สุดในโลกและมียอดขายกว่า 451 ล้านเล่ม) นอกจากนี้ การ์ตูนโพสต์หนึ่งยังล้อเลียน พล.อ. ประยุทธ์ ด้วยว่าทำให้ยางราคาตกและเศรษฐกิจไม่ดี ส่งผลให้ลูฟี่ค่าหัวพลอยลดลงไปด้วยในจักรวาลคู่ขนาน ในโพสต์การ์ตูนดังกล่าวยังนำคำพูดของ พล.อ. ประยุทธ์ มาล้อด้วยว่า “อยากค่าหัวเยอะ ๆ ก็ไปเป็นโจรสลัดที่ดาวอังคาร” ขณะเดียวกันในอินเตอร์เน็ตก็มีคนนำนักการเมืองไทยและบุคคลสาธารณะต่าง ๆ มาวาดเป็นตัวการ์ตูนในชุดตัวละครของโจรสลัดหมวกฟางเพื่อสู้กับ พล.อ. อาคาอิยุท 

แหล่งที่มา: Taak Sapankaaw

ตัวละครการเมืองไทยในชุดวันพีซ
แหล่งที่มา:
 ผู้ชายใส่แว่น

แต่รัฐบาลทหารไม่อยากตกเป็นฝ่ายโดนล้อตลอดไป ในเดือนเมษายน 2561 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชาได้เชิญทีมวง BNK48 ซึ่งเป็นเกิร์ลแบนญี่ปุ่นสาขาประเทศไทยมาช่วยโฆษณาวิทยุ Happy Family Radio ให้กับรัฐบาล นอกจากนี้ เฌอปราง อารีย์กุลยังตอบรับคำเชิญของ พล.อ. ประยุทธ์ ให้ไปเป็นพิธีกรรายการ “เดินหน้าประเทศไทย” เพื่อประชาสัมพันธ์งานของรัฐบาลด้วย ส่งผลให้เกิดการถกเถียงในวงกว้างว่าบุคคลมีสิทธิในการสนับสนุนเผด็จการหรือไม่

เฌอปราง อารีย์กุล
แหล่งที่มา: วิกิพีเดีย

วง BNK48 ตกเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้งในเดือนมกราคม 2019 เมื่อมีคนพบว่า "น้ำใส" พิชญาภา นาถาใส่ชุดที่มีตราสวัสดิกะขึ้นเวที สถานทูตอิสราเอลในประเทศไทยออกแถลงการณ์โดยระบุว่าเหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นการทำร้ายจิตใจประชาชนนับล้านคนที่มีญาติเป็นผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์โฮโลคอสต์ระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 น้ำใสและวง BNK48 ขอโทษต่อสถานทูตอิสราเอล และสัญญาว่าจะสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งดังกล่าว


น้ำใสและจ๊อบซังขอโทษต่อสถานทูตอิสราเอล
แหล่งที่มา: 
Israel in Thailand

หากมองในเชิงลบ วัฒนธรรมป็อปอาจส่งเสริมระบอบอำนาจนิยมได้พอ ๆ กับที่ส่งเสริมประชาธิปไตย แต่เราก็สามารถมองสิ่งที่เกิดขึ้นในเชิงบวกได้เช่นกัน การถกเถียงกันเกี่ยวกับเฌอปรางเปิดจังหวะให้นักวิชาการและนักกิจกรรมได้มีโอกาสอธิบายกับสังคมว่าการที่บุคคลหนึ่งเชื่อว่ามีสิทธิ์สนับสนุนเผด็จการเป็นความเข้าใจที่ผิด ตัวอย่างเช่น โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ อาจารย์ภาคปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ให้ความเห็นโดยอ้างถึงมาตรา 30 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ระบุว่า "ไม่มีบทบัญญัติใดในปฏิญญาฉบับนี้ที่จะตีความไปได้ว่า มีนัยยะว่ารัฐใด หรือกลุ่มใดหรือปัจเจกชนใด จะมีสิทธิในการมีส่วนร่วมในการใดๆ หรือทำการใดๆที่มุ่งทำลายสิทธิหรือเสรีภาพข้อใดข้อหนึ่งที่บัญญัติไว้ในปฏิญญานี้"

นอกจากนี้ BNK48 ยังสัญญากับสถานทูตอิสราเอลในประเทศไทยด้วยว่าจะจัดเวิร์คช็อปเพื่อส่งเสริมการศึกษาเกี่ยวกับโฮโลคอสต์ อย่างน้อยที่สุด วัฒนธรรมป็อปญี่ปุ่นในประเทศไทยก็ส่งเสริมการถกเถียงทางการเมืองที่เป็นประโยชน์ ส่วนระบอบอำนาจนิยมที่ใช้วัฒนธรรมป็อปเพื่อประชาสัมพันธ์ตัวเองก็อาจเผชิญกับกระแสตีกลับได้เช่นกัน

"อร" พัศชนันท์ เจียจิรโชติ สมาชิก BNK48 เคยบอกกับแฟน ๆ ในเดือนเมษายน 2561 ก่อนที่จะมีการประกาศเลือกตั้งว่า เธออยากเป็นพรีเซนเตอร์ในการเลือกตั้ง และอิจฉาพ่อแม่ที่ได้ไปเลือกตั้ง ในวันที่ 17 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา อรได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าเป็นครั้งแรกแล้ว และยังช่วยประชาสัมพันธ์ให้คนออกไปเลือกตั้งด้วย จริงอยู่ที่ในสภามี ส.ว. 250 คน ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และ กกต. เองก็ทำงานน่าตั้งคำถาม การส่งเสริมให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในระบบการเมืองที่ไม่เป็นธรรมเช่นนี้อาจเป็นปัญหาได้ แต่การคว่ำบาตรการเลือกตั้งครั้งนี้ก็อาจเสี่ยงทำให้ทหารเป็นฝ่ายได้เปรียบและสืบทอดอำนาจต่อไป และส่งผลให้การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างยากลำบากมาตลอด 5 ปีต้องสูญเปล่า

"อร" พัศชนันท์ เจียจิรโชติ
แหล่งที่มา: The Standard

ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้มีสิทธิลงคะแนนทั้งหมด 7 ล้านคน และคนอีกจำนวนมากก็เป็นคนรุ่นใหม่ เมื่อเห็นระบบการเมืองไม่เป็นธรรมและเอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คนรุ่นใหม่จำนวนมากที่เติบโตขึ้นมาพร้อมกับวัฒนธรรมป็อปญี่ปุ่นจึงพยายามใช้สิ่งที่มีในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม เสรีภาพ และความเท่าเทียมเท่าที่คนรุ่นหนึ่งจะทำได้


*เผยแพร่ครั้งแรกใน Prachatai English วันที่ 26 มี.ค. 62

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net