ล่าชื่อถอด 'อภิรัชต์' ทะลุ 4 หมื่น 'ประวิตร' ชี้ถอดถอนไม่ได้เป็นตำแหน่งโปรดเกล้าฯ 

ล่าชื่อถอด พล.อ.อภิรัชต์ ออกจาก ตำแหน่ง ผบ.ทบ. ทะลุกว่า 40,000 รายชื่อแล้ว 'ศรีสุวรรณ' ยันเข้าชื่อถอดถอน ผบ.ทบ.ทำได้มีกฎหมายรองรับ ขณะที่ 'ประวิตร' เบรกล่าชื่อถอดถอนไม่ได้ ชี้เป็นตำแหน่งโปรดเกล้าฯ เช่นเดียวกับ 'วิษณุ' ชี้มีผลแค่จิตวิทยา รธน.ปัจจุบันปิดช่องล่าชื่อถอดถอน

5 เม.ย.2562 จากกรณีมีผู้ตั้งแคมเปญล่ารายชื่อใน change.org ถอดถอน พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) ออกจาก ตำแหน่ง ผบ.ทบ. โดยให้เหตุผลว่า เป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อประเทศร้ายแรงต่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย แถลงข่าวต่อต้านประชาธิปไตยหลายครั้ง ซึ่งล่าสุดยอดกว่า 40,000 รายชื่อแล้ว ซึ่งวานนี้ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานปฏิกิริยาของ ผบ.ทบ. ด้วยว่า ในที่ประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก พล.อ.อภิรัชต์ ได้ระบุในที่ประชุมถึงกรณีดังกล่าวว่า "ขอให้ปล่อยไปเถอะ เพราะผมโดนมาเยอะแล้ว และผมก็ไม่ใช่นักการเมือง และในทางกฎหมายผมก็ไม่ได้อยู่ในข่ายที่จะถอดถอนได้" 

'ศรีสุวรรณ' ยันเข้าชื่อถอดถอน ผบ.ทบ.ทำได้มีกฎหมายรองรับ

ล่าสุดวันนี้ ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกมาแสดงความเห็นโต้ ผบ.ทบ. ว่า การกล่าวและแถลงในลักษณะเช่นนั้น ส่อให้เห็นถึงการไม่รู้หรือไม่เข้าใจบริบทของกฎหมายอย่างแท้จริงของ ผบ.ทบ.และทีมโฆษกกองทัพบก เพราะการล่ารายชื่อหรือเข้าชื่อถอดถอนนั้นกฎหมายไม่ได้กำหนดให้สามารถทำได้แต่เฉพาะนักการเมืองแต่เพียงอย่างเดียว แต่สามารถทำได้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐและพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคน รวมทั้งตำแหน่ง ผบ.ทบ. ก็สามารถทำได้ เป็นสิทธิของประชาชนเต็มร้อย มีกฎหมายรองรับ ซึ่งก็คือ รัฐธรรมนูญ 2560 ม.234(2) ประกอบ พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 2561 ม.28(2) และ ม.32(1) บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ป.ป.ช.มีอำนาจหน้าที่ในการไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐใด กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฯลฯ ประชาชนสามารถร้องเรียนเพื่อให้ ป.ป.ช.สอบสวนหรือไต่สวนได้ เพื่อนำไปสู่การเสนอมาตรการ ความเห็น  และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี ให้ปรับปรุงการปฏิบัติราชการของหน่วยงานรัฐ นั่นก็คือ กระทรวงกลาโหมและกองทัพบก ซึ่งหมายถึง การโยกย้าย ผบ.ทบ.ออกจากตำแหน่งเสียก็ได้

ศรีสุวรรณ กล่าวด้วยว่า ผบ.ทบ.ต้องยอมรับความจริงว่าท่านได้ใช้วาทกรรมที่อาจสร้างความไม่พอใจของประชาชนบางส่วนในสังคมมามากมายหลายต่อหลายครั้ง ทั้งๆ ที่วาทกรรมเหล่านั้น อาจไม่ใช่หน้าที่ในตำแหน่งราชการของ ผบ.ทบ. ตามที่ พรบ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม 2551 และพรฏ.แบ่งส่วนราชการและกำหนดหน้าที่ของส่วนราชการกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม 2552 บัญญัติไว้แต่อย่างใด ประชาชนจึงมีสิทธิที่จะล่ารายชื่อเพื่อนำไปสู่การถดถอนท่านได้

'ประวิตร' เบรกล่าชื่อถอดถอนไม่ได้ ชี้เป็นตำแหน่งโปรดเกล้าฯ

มติชนออนไลน์ รายงานว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีที่มีการรวบรวมรายชื่อถอดถอนพล.อ.อภิรัชต์ ว่า ตนไม่เป็นห่วงอะไร แต่ถามว่ามีระเบียบหรือไม่ ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้กฎหมายทั้งหมด ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชา และมีกฎระเบียบข้อบังคับอยู่ที่มีการวางมาตรการไว้หมดแล้ว จึงไม่สามารถมาล่ารายชื่อเพื่อถอดถอนได้

เมื่อถามว่าเป็นตำแหน่งที่ได้รับการโปรดเกล้าฯจึงไม่สามารถถอดถอนได้ใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “ใช่” เมื่อถามต่อว่าบทบาทของพล.อ.อภิรัชต์ช่วงที่ผ่านมาเป็นอย่างไร พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “ไม่ตอบ”

เมื่อถามว่า ในอดีตไม่เคยมีเหตุการณ์ที่มีการรวบรวมรายชื่อ เพื่อถอดถอนผบ.ทบ. ครั้งนี้จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่เคยมี และคนที่มีความคิดแบบนี้ ก็เป็นเพียงคนพวกเดียวเท่านั้น

เมื่อถามว่า แต่สังคมและประชาชนก็อยากแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ใครอยากแสดงความคิดเห็น ก็แสดงความคิดเห็นไปส่วนจะให้กำลังใจพล.อ.อภิรัชต์อหรือไม่นั้น ตนคงไม่ต้องให้กำลังใจ เพราะไม่มีอะไร ที่ผ่านมา พล.อ.อภิรัชต์ก็มีเจตนาดีที่อยากจะให้บ้านเมืองมีความสงบ และไม่มีความขัดแย้ง ส่วนที่พล.อ.อภิรัชต์ออกมาพูดนั้นถือเป็นเจตนาดี อยากให้คนที่คิดรุนแรงก็อย่าไปคิดแบบนั้น

'วิษณุ' ชี้มีผลแค่จิตวิทยา รธน.ปัจจุบันปิดช่องล่าชื่อถอดถอน

เช่นเดียวกับ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการล่ารายชื่อเพื่อถอดถอน พล.อ.อภิรัชต์ ว่า ในรัฐธรรมนูญปัจจุบันไม่มีเรื่องการเข้าชื่อถอดถอนบุคคลไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือตำแหน่งใดก็ตามไม่มีอีกแล้ว ไม่ว่าจะร้องอย่างไรก็ตามเพียงแค่เข้าชื่อได้ 5-30 คนก็สามารถเข้าชื่อร้องได้แล้ว และป.ป.ช.จะพิจารณาเองว่ามีมูลความผิดหรือไม่ และจะดำเนินการต่อหรือไม่ หากดำเนินการต่อเมื่อพิจารณาแล้วก็จะส่งไปที่อัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้อง ต้องทำอย่างนี้เป็นไปตามขั้นตอนไม่ว่าจะเป็น. ผบ.ทบ. กกต. หรือใครก็ตาม ทำแบบนี้อย่างเดียวกัน ซึ่งระบบการเข้าชื่อเขียนอยู่ในมาตราด้วยที่ตนบอกไป คือ เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ม.234(2) ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 2561 ม.28(2) และ ม.32(1) บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ป.ป.ช.มีอำนาจหน้าที่ในการไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐใด กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฯลฯ ประชาชนสามารถร้องเรียนเพื่อให้ ป.ป.ช.สอบสวนหรือไต่สวนได้ เพื่อนำไปสู่การเสนอมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี ให้ปรับปรุงการปฏิบัติราชการของหน่วยงานรัฐ แต่การเข้าชื่อยื่นป.ป.ช.นั้นจะนำไปสู่กระบวนการเพื่อให้ป.ป.ช.ไปตรวจสอบต่อแล้วนำฟ้องศาลฎีกา

ผู้สื่อข่าวถามว่า แล้วการล่าชื่อถอดถอน กกจ. ผบ.ทบ. ในปัจจุบันนี้จะมีผลหรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า “ผมขอใช้คำนี้อีกครั้งหนึ่ง ก็มีผลแค่เพียงจิตวิทยาเท่านั้น ไม่ทำให้เกิเหตุอะไรโดยตรง”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท