3 หมื่นคะแนนอาจได้ ส.ส. 'อนาคตใหม่' ปลิวไป 8 ที่นั่ง หลัง กกต.เปิดสูตรใช้แบบมีพรรคในสภา

'iLaw' เปิดความน่าจะเป็นของเก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ หลัง กกต. เคาะสูตรคำนวณที่นั่งแบบมีพรรคการเมือง 27 พรรคในสภา พรรคเล็ก 3 หมื่นคะแนนอาจได้ ส.ส. 'อนาคตใหม่' ปลิวไป 8 ที่นั่ง?

5 เม.ย.2562 มติชนออนไลน์ รายงานว่า ศูนย์ฏิบัติการด้านการข่าวสำนักงานกกต.ได้ออกเอกสารชี้แจงกรณีมีข้อสงสัยในการคำนวนจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ว่าสำนักงานกกต.ได้นำวิธีการคำนวณจำนวนส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่ได้เสนอต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นวิธีที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 และพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 128-129 ประกอบกับเจตนารมณ์ของระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญที่ให้ความสำคัญกับคะแนนเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนมาเป็นแนวทางในการคำนวณจำนวนส.ส. แบบบัญชีรายชื่อในครั้งนี้ ซึ่งสำนักงานกกต. ได้ปรึกษาหารือและนำเสนอกกต.แต่ละท่านทราบเป็นเบื้องต้นแล้ว โดยตลอดมากกต.แต่ละท่านมีข้อคิดเห็นเป็นไปในแนวทางเดียวกัน 

ผลจากการคำนวณส.ส.แบบบัญชีรายชื่อโดยใช้ข้อมูลจากการประกาศผลการนับคะแนนของทุกเขตเลือกตั้งมาคำนวณจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อในเบื้องต้น มีพรรคการเมืองที่ได้รับการจัดสรรจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อไม่น้อยกว่า 25 พรรคการเมือง สำนักงานกกต.ชี้แจงว่า “เป็นเพียงการคำนวณโดยใช้ผลคะแนนรายเขตเลือกตั้งที่สำนักงานกกต.ได้แถลงข่าวไปเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา หลังจากนี้หากผลจากการที่กกต.ได้สั่งให้มีการนับคะแนนใหม่ หรือสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่เสร็จสิ้นแล้ว ผลคะแนนรวมของพรรคการเมืองมีการเปลี่ยนแปลงไปจะต้องนำคะแนนที่ได้รับมาใหม่มาคำนวณด้วยวิธีการเดิมอีกครั้งหนึ่ง โดยการคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ จะดำเนินการได้เสร็จสมบูรณ์ครั้งแรกก็ต่อเมื่อกกต.ได้ประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละ 95"

ขณะที่ iLaw รายงานว่า สูตรการคำนวณดังกล่าวจะทำให้การเลือกตั้งในครั้งนี้มีพรรคการเมืองในสภาอย่างน้อย 27 พรรค และจะทำให้พรรคที่ได้คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ ‘ส.ส. 1 คนต่อประชาชน 71,065.2940 เสียง’ แต่กลับได้ที่นั่งไปโดยปริยาย ซึ่งมีทั้งสิ้น 11 พรรค เช่น ประชาชนปฏิรูป ของ ไพบูลย์ นิติตะวัน ในขณะเดียวกันทำให้จำนวนที่นั่ง ส.ส. บางพรรคลดลง เช่น พรรคอนาคตใหม่ ที่หากคำนวฯจำนวน ส.ส. ที่พึงได้จะอยู่ที่ 88 ที่นั่ง แต่ด้วยสูตรคำนวณที่ กกต. ใช้ ทำให้ พรรคอนาคตใหม่ได้แค่ 80 ที่นั่ง เท่านั้น

สำหรับวิธีการคำนวณที่นั่งแบบที่ กกต. จะใช้ มีขั้นตอน ดังนี้ 

ขั้นตอนที่ 1 นำคะแนนเสียงรวมของทุกพรรคการเมืองที่ส่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อมาหารด้วย 500 ซึ่งเป็นจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อหาค่าเฉลี่ยคะแนนเสียง ต่อ ส.ส. 1 คน (รัฐธรรมนูญมาตรา 91 (1) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 (1)) 

ขั้นตอนที่ 2 นำตัวเลข 'ค่าเฉลี่ยคะแนนเสียง ต่อ ส.ส. 1 คน' ไปหารคะแนนเสียงที่แต่ละพรรคได้รับ ซึ่งตัวเลขที่ได้มา จะเรียกว่า "จำนวน ส.ส.พึงมี" (รัฐธรรมนูญมาตรา 91 (2) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 (2)) 

ขั้นตอนที่ 3 นำจำนวน ส.ส. พึงมี ของแต่ละพรรค ลบด้วยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละพรรคการเมืองได้ เพื่อหา จำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับเบื้องต้น (รัฐธรรมนูญมาตรา 91 (3) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 (3)) 

ขั้นตอนที่ 4 จำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับเบื้องต้นของทุกพรรคที่ส่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ (พร้อมทศนิยมทั้ง 4 หลัก และไม่ตัดเอาเฉพาะพรรคที่ได้เสียงเกินค่าเฉลี่ยคะแนนเสียงต่อ ส.ส.หนึ่งคน หรือต้องได้เสียงอย่างน้อย 7.1 หมื่นเสียงออก) มาคำนวณที่นั่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ

ทั้งนี้ ในกรณีที่มีจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่แต่ละพรรคได้เกิน 150 คน (Overhang) ให้เทียบบัญญัติไตรยางค์ใหม่อีกครั้งและหากได้เศษทศนิยม ก็ให้ใช้จำนวนเต็มก่อน หากยังมีที่ว่างค่อยใช้เศษทศนิยมภายหลัง 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท