Skip to main content
sharethis

ราชกิจจานุเบกษาประกาศ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562  ระบุฉบับปี 41  ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบันและไม่เอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินการเพื่อให้ความคุ้มครองลูกจ้าง มีผลอีก 30 วัน

5 เม.ย.2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ระบุว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน พ.ร.บ.นี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา  26 ประกอบกับมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตาม พ.ร.บ.นี้  เพื่อยกระดับการคุ้มครองลูกจ้างให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและมีประสิทธิภาพมากขึ้น อันจะทำให้ลูกจ้าง ซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมีความมั่นคงในการทำงานและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และจะเป็นประโยชน์แก่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการตรา พ.ร.บ.นี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว

มติชนออนไลน์ สรุปเนื้อหาสาระสำคัญของพ.ร.บ.ดังกล่าว จะให้สิทธิประโยชน์ลูกจ้าง 7 ประเด็นใหญ่ๆ คือ ประเด็นที่ 1  ลากิจธุระจำเป็นได้ค่าจ้าง 3 วันทำงานต่อปี ประเด็นที่ 2 ลูกจ้างหญิงตั้งครรภ์ลาก่อนคลอด หลังคลอดได้ 98 วัน ประเด็นที่ 3 กรณีนายจ้างมีการเปลี่ยนตัว เปลี่ยนนิติบุคคล หากลูกจ้างไม่ยินยอม ก็สามารถรับค่าชดเชยพิเศษตามกฎหมายฉบับนี้ โดยหากทำงานมาครบ 20 ปีก็ได้รับ 400 วัน ประเด็นที่ 4 ได้รับค่าชดเชยใหม่กรณีเลิกจ้างจะเพิ่มเป็น 6 อัตราจาก 5 อัตรา คือ อัตราที่ 1 ลูกจ้างที่ทำงานมาครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปีได้ค่าขดเชย 30 วัน อัตราที่ 2 ลูกจ้างหากทำงานครบ 1 ปีแต่ไม่ครบ 3 ปี ได้ค่าชดเชย 90 วัน อัตราที่ 3 ลูกจ้างทำงานครบ 3 ปีแต่ไม่ครบ 6 ปีจะได้รับเงินชดเชย 180 วัน  อัตราที่ 4 ทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ได้รับเงินชดเชย 240 วัน  อัตราที่ 5 ลูกจ้างทำงานครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี ได้เงินชดเชย  300 วัน และอัตราที่ 6 ลูกจ้างทำงานครบ 20 ปีขึ้นไปจะได้รับเงินชดเชย 400 วัน

ประเด็นที่ 5 กรณีย้ายสถานประกอบการไปที่อี่น หากลูกจ้างไม่ตามไปก็สามารถบอกเลิกสัญญาจ้างได้ และได้สิทธิชดเชยตาม 6 อัตรา ซึ่งกฎหมายเก่าไม่ได้เลย เราต้องตามไป แต่ของใหม่ให้สิทธิเราเลือกได้ กรณี 6 กรณีค่าตอบแทน หากนายจ้างไม่จ่ายค่าตอบแทน จะเป็นในบางอาชีพ อย่างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) คนขับรถส่งของ ก็เป็นงานที่ไม่มีค่าล่วงเวลา แต่จะได้ค่าตอบแทนเป็นหลัก หากเกินเวลาปกติ โดยของเดิมดอกเบี้ยให้ร้อยละ 7.5 ต่อปีกรณีลูกจ้างไปฟ้องขอ แต่กฎหมายใหม่ให้ได้สูงสุดถึง 15 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และประเด็นที่ 7 ให้สิทธิเท่าเทียมระหว่างหญิงชาย โดยลูกจ้างมีสิทธิเท่าเทียมกันในเรื่องค่าจ้าง ค่าตอบแทน ซึ่งกฎหมายเดิมไม่กำหนด แต่ของใหม่เราเพิ่มตรงนี้ว่า ลูกจ้างชายหญิงมีงานเท่าเทียมกันต้องได้รับค่าตอบแทนเท่ากัน ซึ่งตรงนี้สอดคล้องกับอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 100

นอกจากนี้ พ.ร.บ.ดังกล่าวยังระบุถึง เหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ เนื่องจาก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน ทำให้บทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบันและไม่เอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินการเพื่อให้ความคุ้มครองลูกจ้าง สมควรแก้ไขเพิ่มเติมโดยกำหนดให้การเปลี่ยนแปลง ตัวนายจ้างต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นปีหนึ่งไม่น้อยกว่า สามวันทำงาน กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์สามารถลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตรได้โดยให้ถือเป็น วันลาเพื่อคลอดบุตร เพิ่มอัตราค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบยี่สิบปีขึ้นไป กำหนดให้ การย้ายสถานประกอบกิจการ ให้รวมทั้งการย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่ใหม่ หรือสถานที่อื่น ของนายจ้าง และแก้ไขให้นายจ้างกำหนดค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด ในอัตราเท่ากันทั้งลูกจ้างชายและหญิงในงานที่มีค่าเท่าเทียมกันเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.บ.นี้

ทั้งนี้ พ.ร.บ.นี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net