‘ระบบอัตโนมัติ’ กำลังคุกคาม ‘คนทำงานแคชเชียร์’

ปัจจุบันมีร้านค้าปลีกที่นำระบบอัตโนมัติมาแทนที่ 'แคชเชียร์' หรือ 'พนักงานเก็บเงิน' มากขึ้น มีการประเมินว่าประเมินว่าผู้คนทั่วโลกจะได้สัมผัสประสบการณ์ร้านค้าไร้แคชเชียร์ในอีก 5 ปีต่อจากนี้ และจะกลายเป็นเรื่องปกติในอีกภายใน 10 ปี ที่มาภาพ: Susan Grammatico/YouTube (อ้างใน vox.com)

ในบทความชิ้นหนึ่งของ South China Morning Post ที่เผยแพร่เมื่อเดือน ส.ค. 2561 ระบุว่าที่ฮ่องกง การต่อแถวคิวยาวในร้านค้าปลีกอาจกลายเป็นอดีต เนื่องจากผู้ค้าปลีกรายใหญ่กำลังมองหาเครื่องชำระเงินด้วยตนเองมาให้บริการลูกค้ามากขึ้น แต่ก็มีคำเตือนว่าการเพิ่มขึ้นของระบบอัตโนมัติจะเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อคนทำงาน โดยเฉพาะอาชีพ 'แคชเชียร์' หรือ 'พนักงานเก็บเงิน'

ปัจจุบันธุรกิจค้าปลีกในฮ่องกงมีการใช้ 'เครื่องชำระเงินด้วยตนเอง' เพิ่มขึ้น ลูกค้าสามารถสแกนบาร์โค้ดบนผลิตภัณฑ์และเลือกวิธีการชำระเงินด้วยตนเอง การทำธุรกรรมนี้ใช้เวลาภายในไม่กี่นาที อีออน (Aeon) บริษัทผู้ดำเนินการห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตในนาม 'จัสโก' (Jusco) ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจที่บุกเบิกการใช้งานเครื่องจักรนี้ระบุ

ร้าน 'วัตสัน' (Watsons) เครือข่ายร้านค้าปลีกรายใหญ่ของฮ่องกง หนึ่งในธุรกิจของมหาเศรษฐี ลี กา-ชิง (Li Ka-shing) ตั้งเป้าจะติดตั้งเครื่องชำระเงินด้วยตนเองในร้านทั้งหมด 220 แห่งในฮ่องกง ภายในเดือน ส.ค. 2561 นอกจากนี้ใน 'ปาร์คแอนด์ชอป' (ParknShop) ร้านค้าปลีกอีกรายหนึ่งธุรกิจของลี กา-ชิง กว่า 80 สาขา หรือประมาณ 1 ใน 3 ในฮ่องกง ก็ได้ติดตั้งเครื่องอัตโนมัติไปก่อนหน้านั้นแล้ว – ทั้งนี้ ยังพบว่าเครื่องชำระเงินด้วยตนเองนี้ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในฝั่งของธุรกิจคู่แข่งของลี กา-ชิง ด้วยเช่นกัน อย่างร้าน 'เวลคัม' (Wellcome) และร้านอิเกีย (Ikea) เป็นต้น

ส่วนที่ญี่ปุ่น การใช้ระบบอัตโนมัติในหลายๆ งานมีความจำเป็นเพราะว่าประเทศกำลังประสบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยเมื่อต้นเดือน เม.ย. 2562 สื่อมวลชนรายงานว่าแฟมิลีมาร์ท (Familymart) หนึ่งในเครือข่ายร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น กำลังทดลองใช้แนวทางใหม่เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในญี่ปุ่น ทากาชิ ซาวาดะ (Takashi Sawada) ประธานของแฟมิลี่มาร์ท ระบุว่าการขาดแคลนแรงงานทั่วประเทศเป็นปัญหาเร่งด่วน เขากล่าวว่าแฟมิลีมาร์ทต้องการทดลองและใช้มาตรการใดก็ตามที่สามารถจะทำได้ เพื่อรับมือกับปัญหานี้

ทั้งนี้แฟมิลีมาร์ทได้เปิดร้านที่ใช้เทคโนโลยีทำงานส่วนใหญ่ โดยร่วมมือกับพานาโซนิค (Panasonic) ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสร้างร้านที่ใช้ทดลองในเมืองโยโกฮามา ใกล้กรุงโตเกียว

ระบบจดจำใบหน้าที่ใช้ในแคชเชียร์บางเครื่องจะระบุตัวตนของลูกค้าที่ได้ลงทะเบียนไว้ และตัดเงินค่าสินค้าจากบัญชีธนาคารของลูกค้าที่ผูกไว้ เซ็นเซอร์และกล้องจำนวนมากที่อยู่โดยรอบร้านจะตรวจสอบสถานการณ์ และจะส่งสัญญาณเตือนไปยังอุปกรณ์ที่พนักงานสวมอยู่ เพื่อให้พนักงานรู้ว่าเมื่อไรที่พวกเขาจำเป็นต้องเติมสินค้า ทำความสะอาด และอื่นๆ

แอมะซอน โก (Amazon Go) ร้านสะดวกซื้อไร้คิว ได้เปลี่ยนรูปแบบความต้องการของผู้บริโภค ทำให้บริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีหลายแห่งต่างพยายามเร่งพัฒนาระบบที่คล้ายคลึงกันที่สามารถใช้ได้ในร้านค้าอื่นๆ ขึ้นมาบ้าง ที่มาภาพ: JJ Merelo (CC BY-SA 2.0)

ส่วนในสหรัฐฯ เทรนด์ของร้านค้าปลีกที่นำเอาระบบอัตโนมัติเข้ามาแทนที่คนก็มีมากขึ้น -- การเปิดตัวแอมะซอน โก (Amazon Go) ร้านสะดวกซื้อไร้คิวของบริษัทแอมะซอน (Amazon) ได้เปลี่ยนรูปแบบความต้องการของผู้บริโภคให้ตอบสนองต่อระบบหน้าร้านไร้แคชเชียร์มากขึ้น บริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีหลายแห่ง ต่างพยายามเร่งพัฒนาระบบที่คล้ายคลึงกัน แต่สามารถใช้ได้ในร้านค้าอื่นๆ ขึ้นมาบ้าง

เมื่อปี 2560 มีการร้านค้าไร้แคชเชียร์ แอมะซอน โก ถึง 9 แห่งใน 3 เมืองใหญ่ทั่วสหรัฐฯ โดยลูกค้าต้องมีแอพพลิเคชั่น แอมะซอน โก เพื่อระบุตัวตนในการเข้าร้านไปซื้อสินค้า และหยิบสินค้าที่ต้องการออกมาจากร้านได้ทันที โดยจะหักเงินผ่านบัญชีบัตรเครดิตหรือเดบิตที่ลงทะเบียนไว้เป็นอันเสร็จสิ้น

โดยระบบร้านสะดวกซื้อไร้การต่อคิว ในรูปแบบนี้จะมีระบบเรียนรู้พฤติกรรมการจับจ่ายของลูกค้าและช่วยเติมสินค้าในสต็อกให้ และภายในร้านจะมีกล้องและระบบเซนเซอร์ ที่ตรวจจับว่าลูกค้าหยิบหรือวางสินค้าชิ้นใดบนชั้นวาง และจะส่งส่วนลดไปให้ลูกค้าโดยตรงเพื่อกระตุ้นการซื้อสินค้า

เมื่อ ‘หุ่นยนต์-AI’ เข้ามาแทนที่คน ‘ผู้หญิง’ เสี่ยงตกงานมากกว่า ‘ผู้ชาย’
หุ่นยนต์ vs แรงงาน (1) ความก้าวหน้าอันน่าหวาดหวั่น?
หุ่นยนต์ vs แรงงาน (2): ความ (ไม่) ตื่นตัวของแรงงาน
หุ่นยนต์ vs แรงงาน (จบ): การเมืองของกระแสหุ่นยนต์

เลี่ยงไม่ได้ที่จะแทนที่งานของคน

แรกเริ่ม ผู้สูงอายุในฮ่องกงยังไม่คุ้นชินกับระบบอัตโนมัติ แต่กลุ่มสหภาพแรงงานเชื่อว่าลูกค้าจะคุ้นเคยกับระบบอัตโนมัติเหล่านี้ในไม่ช้า และตำแหน่งงานของคนก็จะถูกลดลง ที่มาภาพ: South China Morning Post/Roy Issa

ในขณะที่ลูกค้าระบุว่าเทคโนโลยีทำให้พวกเขามีประสบการณ์การชอปปิ้งที่รวดเร็วขึ้น แต่สำหรับพนักงานมันทำให้พวกเขามีปัญหามากขึ้น แคชเชียร์หญิงคนหนึ่งของปาร์คแอนด์ชอปในฮ่องกง ที่ทำงานมานานกว่าทศวรรษกล่าวว่าเครื่องจักรนี้กลับเป็นภาระ เพราะลูกค้าในร้านค้าปลีกที่เธอทำงานส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ

"พวกเขา (ผู้สูงอายุ) คุ้นเคยกับการจ่ายเงินแบบเดิม และส่วนใหญ่พวกเขาไม่สามารถเรียนรู้ (ระบบอัตโนมัติ) ได้" เธอกล่าว

นอกจากนี้เธอระบุว่าที่สาขาของเธอเครื่องชำระเงินด้วยตนเองเหลืออยู่ 2 เครื่อง หลังจากติดตั้งในครั้งแรก 5 เครื่อง เนื่องจากมีความผิดพลาดทางเทคนิคเมื่อนำมาใช้จริง เธอระบุว่าปัจจุบันยังไม่มีปัญหาเครื่องจักรแย่งงาน แต่กระนั้นบริษัทก็ได้เริ่มใช้สัญญาระยะสั้นกับพนักงาน

โฆษกของวัตสันและปาร์คแอนด์ชอปในฮ่องกง ยืนยันว่าบริษัทยังคงสรรหาคนทำงานสู่องค์กรทุกวัน และระบบใหม่นี้จะช่วยลดภาระงานของพนักงานรวมทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพของพวกเขา

แต่สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมการค้าปลีกและเสื้อผ้า (Commerce and Clothing Industries General Union) ของฮ่องกง เตือนว่าระบบใหม่อาจส่งผลกระทบต่อโอกาสการจ้างงานตำแหน่งแคชเชียร์ของคนฮ่องกงในระยะยาว แม้ว่าผลกระทบจะดูเล็กน้อยในขณะนี้ แต่สหภาพแรงงานประเมินว่าลูกค้าจะคุ้นเคยกับเครื่องจักรหลังจากผ่านไปไม่กี่ปี และจากนั้นตำแหน่งงานแคชเชียร์ก็จะถูกลดลงตามลำดับ

"นี่เป็นแนวโน้มที่สำคัญของบริษัทค้าปลีก ซึ่งปัญหาจะตามมาในภายหลัง" เจิง ไหล-หา (Cheung Lai-ha) เลขาธิการทั่วไปของสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมการค้าปลีกและเสื้อผ้าระบุ

เธอระบุว่าสมาชิกของสหภาพแรงงานกว่า 300 รายให้ข้อมูลว่าบริษัทของพวกเขาจะไม่แทนที่พนักงานที่ออกไป รวมทั้งยังมีการลดชั่วโมงพนักงานชั่วคราวเพื่อหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อนในงาน

ในสหรัฐฯ มีการประเมินว่าอาชีพ 'แคชเชียร์' หรือ 'พนักงานเก็บเงิน' มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติในปีต่อๆ ไปถึงร้อยละ 97

คนทำงานในร้านค้าปลีกสหรัฐฯ มีรวมกันประมาณ 6-7.5 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10 ของประชากรวัยทำงานทั้งประเทศ ทั้งนี้อุตสาหกรรมร้านค้าปลีกในสหรัฐฯ กำลังเผชิญวิกฤตและทยอยปิดตัวลง การเลิกจ้างของทั้งอุตสาหกรรมอยู่ในระดับที่น่ากังวล โดยในเดือน ม.ค.-ก.พ. 2562 มีการเลิกจ้างไปแล้วถึง 41,201 ตำแหน่ง อัตราส่วนสูงขึ้นถึงร้อยละ 92 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านั้น และถือว่าสูงสุดตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2552

นอกจากการปิดตัวของร้านค้าปลีกแล้ว คนทำงานในร้านค้าปลีกล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงที่จะถูกระบบอัตโนมัติมาแทนที่ตำแหน่งงานที่ทำอยู่ในอนาคตอันใกล้

เมื่อต้นปี 2562 สถาบันบรุคกิงส์ (Brookings Institution) ได้เผยแพร่รายงานระบุว่ามีงานที่คนทำถึง 36 ล้านคน "มีโอกาสสูงที่จะถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ" ซึ่งในรายงานนี้ชี้ว่าร้านค้าปลีกต่างๆ กำลังอัพเกรดร้านให้เป็น ‘ร้านที่ไม่ใช้แคชเชียร์’ (ที่เป็นมนุษย์) ในการขับเคลื่อนธุรกิจ โดยร้านเหล่านี้จะใช้ระบบเซ็นเซอร์ในกล้องหรือกล้องที่มีเทคโนโลยีจดจำใบหน้ามาแทนคนทำงานตำแหน่งแคชเชียร์

แรงกระตุ้นจากความสำเร็จของแอมะซอน โก ทำให้บริษัทเทคสตาร์ทอัพหลายรายกำลังเจรจากับร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมหลายแห่งในสหรัฐฯ เพื่อวางระบบใหม่ที่คล้ายคลึงกัน

ไมเคิล ซัสวาล (Michael Suswal) ผู้ร่วมก่อตั้งสแตนดาร์ด คอกนิชชัน เทคสตาร์ทอัพที่มีแผนการที่จะวางระบบอัตโนมัติให้แก่ร้านค้าปลีก ระบุว่าปัจจุบันมีร้านค้าปลีกหลายล้านแห่งทั่วโลกที่ดำเนินธุรกิจอยู่ บริษัทฯ ต้องการช่วยเหลือและสนับสนุนห้างร้านเหล่านี้ให้สามารถใช้เทคโนโลยีดังกล่าวได้ ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับร้านค้า แทนที่จะสร้างร้านค้าเพื่อรองรับเทคโนโลยี

ซัสวาล ประเมินว่าผู้คนทั่วโลกจะได้สัมผัสประสบการณ์ร้านค้าไร้แคชเชียร์ในอีก 5 ปีต่อจากนี้ และจะกลายเป็นเรื่องปกติในอีก 10 ปี ข้างหน้าไปแล้ว และจนถึงตอนนั้นลูกค้าบางส่วนอาจจะรู้สึกแปลกๆ หากร้านค้าที่เข้าไปมีแคชเชียร์คอยคิดเงินให้อยู่ก็ได้

ด้าน willrobotstakemyjob.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ประเมินว่าอาชีพใดในสหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่จะถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ ได้ประเมินว่าอาชีพแคชเชียร์ มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติในปีต่อๆ ไปถึงร้อยละ 97 โดย willrobotstakemyjob.com ประเมินว่าในปี 2559 มีคนทำอาชีพแคชเชียร์ในสหรัฐฯ 3,541,010 คน

 

ข้อมูลประกอบการเขียน
A jobs threat worse than mass store closures could fire more than 7 million retail workers (Hayley Peterson, Business Insider, 18/5/2017)
A new website calculates the probability that a robot will take over your job (Kate Taylor, Business Insider, 1/6/2017)
Women are twice as likely than men to lose their jobs to robots (Kate Taylor, Business Insider, 26/6/2017)
Self-checkouts: customers enjoy faster shopping experience as Hong Kong’s major retailers look to cash in on automation (Kanis Leung, South China Morning Post, 4/8/2018)
สตาร์ทอัพเร่งพัฒนา “ระบบร้านสะดวกซื้อไร้แคชเชียร์” (เดบราห์ บล็อค/นีธิกาญจน์ กำลังวรรณ เรียบเรียง, VOA Thai, 18/2/2019)
Over 30 million U.S. workers will lose their jobs because of AI (marketwatch.com, 24/1/2019)
Convenience store chain turns to labor-saving tech (NHK WORLD-JAPAN, 3/4/2019)
https://willrobotstakemyjob.com/41-2011-cashiers (เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 4/4/2019)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท