Skip to main content
sharethis

ปรากฏการณ์แบ่งขั้วการเมืองเห็นชัดเมื่อธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และปิยบุตร แสงกนกกุล หัวหน้าพรรค-เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ถูกปลุกผีล้มเจ้า-สถาบันขึ้นมาอีกครั้งหลังเลือกตั้งบนโลกโซเชียล ตามมาด้วยการดำเนินการทางกฎหมาย สะท้อนชัดว่าสื่อและโซเชียลมีเดียกำลังเป็นวิทยุยานเกราะ V.2 ประชาไทชวนเข้าใจปรากฏการณ์และหาทางออกกับนักวิชาการด้านสื่อใหม่

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สปอตไลท์การเมืองและสังคมถูกแบ่งไปที่ รศ.ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งพรรคเพิ่งสร้างเซอร์ไพรส์ทางการเมืองหลังเลือกตั้งแล้วได้จำนวนที่นั่งเป็นอันดับ 3 จนต่อมาแกนนำคนสำคัญของพรรคโดยเฉพาะ ปิยบุตร ถูกแปะป้ายผ่านสื่อโซเชียลและสื่อมวลชน ด้วยการปลุกผีเรื่องการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ขึ้นมาอีกครั้งจากเนื้อหาที่ถูกตัดต่อ บิดเบือน

มิพักการเคลื่อนไหวบนอินเทอร์เน็ตที่มีการปลุกระดมขึ้นมา ทั้งมัลลิกา บุญมีตระกูลที่ประกาศรื้อฟื้นชมรมนักรบไซเบอร์ สุเทพ เทือกสุบรรณ เรียกร้องคนไปเคลื่อนไหวบนโซเชียลมีเดีย ข่าวคราวเรื่องการสร้างนักรบไซเบอร์ของกองทัพ หรือล่าสุดกระแสลงชื่อถอดถอน กกต. ใน change.org ที่เป็นกระแสจนล่าสุดตำรวจจับกุมผู้ต้องสงสัยไปเจ็ดคนข้อหาแชร์เรื่องดังกล่าว จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า สมรภูมิการเมืองใหม่ของไทยจะย้ายแพลตฟอร์มไปอยู่ในภพภูมิที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า (ถ้าเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต)

การถูกทำลายภาพลักษณ์ออกสื่อโซเชียลไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่แกะกล่อง หากแต่การสาดโคลนภายใต้บริบทสื่อโซเชียลที่ทรงพลังตามจำนวนผู้ใช้ ผู้แชร์ก็ถือเป็นความตกต่ำใหม่ของการเมืองไทยที่พัฒนาการเชื่องช้ากว่าพัฒนาการทางเทคโนโลยีโซเชียลมีเดีย

สิ่งที่เห็นตามมาคือเฉดขั้วทางความคิด อุดมการณ์ทางการเมืองของคนไทยที่แบ่งฟากชัดเจนยิ่งกว่ายุคไหน จนน่ากลัวว่าโลกสองใบจะขยายวงออกเป็นจักรวาลคู่ขนานทางการเมืองบนอินเทอร์เน็ต และร้ายแรงที่สุดคือสงครามกลางเมือง เหตุการณ์นองเลือดที่คนไทยฆ่าคนไทยกันเองอย่าง 6 ต.ค. 2519 ที่หลายคนกังวลและพยายามจะหยุดยั้ง และแน่นอน การสื่อสารผ่านสื่อมีส่วนอย่างยิ่งต่อความเป็นไปได้ทั้งสองทาง

ประชาไทชวนดูคำอธิบายว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกันแน่ในสังคมไทย สื่อไทยควรทำอย่างไรในยุคที่เอกสิทธิ์การชงประเด็นความรับรู้ของสาธารณะร่วงผ่านง่ามมือง่ามเท้า ประเทศอื่นจัดการการปลุกปั่นข้อมูลกันอย่างไร และการสื่อสารอย่างไรที่จะหยุดยั้งซึ่งความรุนแรง

ม็อบยุคใหม่เมื่อสื่อ-โซเชียล มีผลกับการตัดสินใจของคน

ปิยบุตรและธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถูกแปะป้าย สร้างภาพให้เป็นผู้มุ่งร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่เริ่มเข้าสู่วงการการเมืองเมื่อปี 2561 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตัดต่อคำพูดของธนาธรใส่เป็น Quote หรือการยกเอาคำพูดเขามาให้มีใจความโจมตีเศรษฐกิจพอเพียง หรือการเอาประวัติของปิยบุตรในฐานะนักเรียนทุนจากฝรั่งเศสและสมาชิกกลุ่มนิติราษฎร์ ที่มุ่งหมายแก้ไข ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 และตัดต่อคลิปวิดีโอการปราศรัย แถลงข่าวของปิยบุตรเพื่อสร้างแบรนด์การ ‘ล้มเจ้า’

ปรากฏการณ์เหล่านี้คลับคล้ายคลับคลาจะเหมือนสิ่งที่เกิดขึ้นในการเมืองอินโดนีเซียที่มีการตัดต่อเนื้อหาเกี่ยวกับการละเมิดความเชื่อตามศาสนาอิสลามเพื่อหวังผลทางการเมือง ซึ่งทำได้ง่ายดายในบริบทที่มีกฎหมายหมิ่นศาสนา (Blasphemy Law) ในขณะที่บ้านเราใช้ประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ และการยุยงปลุกปั่น เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยที่ธนาธรถูกฟ้องโดยฝ่ายกฎหมายของคณะรัฐประหาร

แกนกลางของการสร้างชาติหรือสิ่งที่มวลชนจำนวนมากของประเทศมีความรู้สึกอ่อนไหว ถูกนำมาใช้เป็นอาวุธที่ทรงพลังเพื่อทำลายล้างคนที่ตัวเองไม่เห็นด้วยดังที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. คนปัจจุบันให้สัมภาษณ์สื่อว่า สื่อโซเชียลทรงพลังกว่าอาวุธที่กองทัพมี อย่างไรเสีย สื่อโซเชียลเดียวกันนี้ผลิตคนแบบอุ๊ หฤทัย ม่วงบุญศรี ที่ไปแจ้งความว่าปิยบุตรเป็นภัยต่อความมั่นคง จากการชมคลิปวิดีโอของปิยบุตรที่ถูกตัดต่อ

ผศ.เพ็ญจันทร์ โพธิ์บริสุทธิ์ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรัฐแคลิฟอร์เนีย ฟูลเลอร์ตัน และอดีตนักข่าว อสมท. ผู้ศึกษาเรื่องสื่อใหม่ อธิบาย ‘ธนาธร-ปิยบุตร เอฟเฟค’ ว่าจังหวะการออกมาโจมตีเหมือนต้องการเล่นงานพรรคอนาคตใหม่มีการสร้างเฟสบุ๊คเพจและสื่อมาเล่นงานโดยตรง มีสอง-สามสำนักออกมาโจมตีด้วยข้อหาร้ายแรง ทำมีมเรื่องล้มเจ้าออกมา อาจเป็นเพราะความนิยมของพรรคอนาคตใหม่ที่ออกมาผ่านการเลือกตั้งนั้นออกจะเกินหน้าเกินตาไปหน่อย

“สิ่งที่จะเกิดในเมืองไทยคือต้องระวังการพ่นความเท็จออกมาเรื่อยๆ แล้วทำให้คนโกรธเคืองธนาธร ปิยบุตร แล้วเชื่อไปในความเท็จที่เขาถูกตั้งขึ้นมาโดยกลุ่มบางกลุ่ม ก็จะมีกลุ่มที่โกรธสุดๆ ที่คิดว่าสองคนนี้แย่จริงๆ ผู้ที่ติดตาม (follower) ของปิยบุตรกับธนาธร คนรุ่นใหม่ก็รู้สึกโกรธที่เขาไปออกเสียงครั้งแรกแล้วทำไมมันเพี้ยนอย่างนี้ ความโกรธก็อาจทำให้เกิดการเมืองบนท้องถนนได้ ช่วงนี้ก็อ่อนไหวเหมือนกัน คนที่มีอำนาจควรออกมาทำในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อไม่ให้สังคมล่มสลาย ความจริง ความยุติธรรมมันหายาก คนควรจะทำอะไรที่เป็นหลักการก็ไม่ทำ” เพ็ญจันทร์กล่าว

เพ็ญจันทร์เริ่มจากการอธิบายกลไกการจัดสรรเนื้อหาที่ผู้ใช้ชอบหรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ‘อัลกอริธึม’ ซึ่งเบื้องหลังก็เป็นผลจากการวิจัยที่เฟสบุ๊คทำเอง และการเข้ามาของโซเชียลมีเดียมีผลกับพฤติกรรมการรับสื่อและอิทธิพลทางการเมืองของผู้บริโภคมาก

“สื่อมีผลกับการตัดสินใจของคนอยู่แล้ว การรับรู้ข่าวสารของคน สื่ออย่างโซเชียลมีเดีย ตอนที่ทรัมป์ (ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน) ใช้ทวิตเตอร์ทวีตทุกวันช่วงปี 2016 คนก็รู้สึกว่าเข้าถึงนักการเมืองได้ เหมือนเรารับข้อความจากนักการเมืองโดยตรง แล้วก็มีอีกอย่างที่เกิดขึ้นในปรากฏการณ์การเมือง คือเรื่องการใช้บอท โซเชียลมีเดียในการแพร่กระจายข่าวสาร สร้างขึ้นมาเป็นบัญชีผู้ใช้ปลอมบ้าง บิดเบือนข้อมูล กระจายข้อมูล ส่วนมากก็จะเป็นการรีทวีตข้อมูลต่อไปเรื่อยๆ”

“ต้องเข้าใจโครงสร้างเฟสบุ๊คก่อน เฟสบุ๊คให้เราแชร์เนื้อหาโดยที่เฟสบุ๊คเองก็ต้องหากำไรด้วยการขายโฆษณา เฟสบุ๊คทำการทดลองหนึ่งในปี 2014 ที่ทดลองกับผู้ใช้หลักล้านโดยทำการจัดการฟีดโดยที่คนไม่รู้ ลองเอาข้อมูล ข้อความที่ทำให้คนรู้สึกดีและไม่ดีให้คนเห็นแล้ววัดว่าเขาจะรู้สึกอย่างไร และพบว่าถ้าเป็นเรื่องไม่ดี ผู้ใช้เขาจะหงุดหงิด เลิกดูเฟสบุ๊ค จึงพบว่ามีผลกับอารมณ์ของคน

“คนก็นำผลการทดลองมาใช้อ้างอิงว่าการจัดการหน้าฟีดมีผล คนจะไม่อยู่ถ้าเจอเรื่องไม่ดีมากๆ เฟสก็อาจจะเสียรายได้ มันก็จะมีฟิลเตอร์ว่าถ้าเราชอบเนื้อหาแบบไหน สรุปว่าถ้าอะไรที่ไม่สบอารมณ์กับเรา เรากดโกรธ หรือไม่ปฏิสัมพันธ์กับฟีดนั้นเราก็มีโอกาสที่จะเห็นมันน้อยลง ทำให้ความเห็นทางการเมืองมันกลายเป็นขั้วตรงข้าม ดิ่งลึกลงไปเรื่อยๆ”

เพ็ญจันทร์ระบุว่า โซเชียลมีเดียมีผลกับระยะการให้ความสนใจ คนอ่านอะไรยาวๆ ไม่ได้ และการทำให้เป็นจุดสนใจบนหน้าฟีดที่คนเลื่อนดู ก็คือการทำมีมที่มีเนื้อหานิดหน่อยให้เป็นจุดสนใจ

ในส่วนของพฤติกรรมผู้ใช้งาน อาจารย์มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเล่าว่า เคยมีงานวิจัยในปี 2555 เรื่องการจัดตั้งการประท้วงบนโซเชียลมีเดียของ W. Lance Bennett & Alexandra Segerberg หัวข้อ THE LOGIC OF CONNECTIVE ACTION ที่ตั้งข้อสังเกตว่า โซเชียลมีเดียมีส่วนช่วยจัดการความไม่พอใจ และมีส่วนจัดตั้งการลงสู่ถนนแบบใหม่ เป็นพื้นที่ที่คนใช้แสดงออกซึ่งการกระทำในโลกความเป็นจริง อย่างเช่น การชุมนุมปิดล้อมย่านการเงินระดับโลกของ Occupy Wall Street ที่มากับสโลแกนว่าพวกเขาเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ  แล้วทำให้เชื่อมโยงกับประชาชนคนอื่นในลักษณะที่ข้ามอัตลักษณ์ทางเชื้อชาติ สีผิว คนก็ออกไปแสดงออกแบบเป็นกลุ่มบ้าง คนเดียวบ้าง ถ่ายเซลฟี่ ติดแฮชแท็กลงโซเชียล การกระทำเช่นนั้นส่งอิทธิพลกับคนอื่นต่อในลักษณะว่า เพื่อนฉันหรืออาจารย์ฉันก็ไปมาแล้ว

“สื่อโซเชียลมีเดียมีลักษณะคือมันผูกให้คนติดกันเป็นชุมชนเครือข่าย (network community) สิ่งที่เราแสดงออกในโซเชียลมีเดีย มันเหมือนมีอิทธิพลกับคนที่นั่งอยู่ติดกับเรา เราไม่ต้องไปดีลกันในทางกายภาพ เหมือนอยู่ในเครือข่าย เป็นเพื่อนกันแบบหลวมๆ ภูมิทัศน์เครือข่ายแบบนี้ก็ทำให้เราและคนอื่นมีอิทธิพลต่อกันและกันต่างมากน้อย เช่น วันนี้กินอะไรดี และเรื่องใหญ่อย่างการเมือง” เพ็ญจันทร์กล่าว

ชวนเข้าใจ-ทำใจกับสื่อไทย หาเส้นทางสื่อสารอย่างสันติ

ทุกวันนี้ สื่อถูกช่วงชิงพื้นที่การรับรู้และการกำหนดวาระทางสังคมไปโดยสื่อโซเชียล แต่สื่อก็หนีไม่พ้นข้อรับผิดชอบจากการนำเนื้อหาในอินเทอร์เน็ตออกมาใช้งานอีกต่อหนึ่ง กรณีรายการข่าวช่องเนชั่นนำคลิปเสียงตัดต่อที่อ้างว่าเป็นของธนาธรและทักษิณ ชินวัตร เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนเมื่อสื่อเติมเชื้อไฟลงไปในความขัดแย้งด้วยการรายงานข่าวที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง

แม้เหมือนขีดเส้นบนผืนทราย เพ็ญจันทร์ตอบคำถามเรื่องบทบาทสื่อด้วยการทวงถามหน้าที่การค้นหาความจริงที่ในประเทศนี้หายากและเสี่ยงภัย

“สื่อไม่เคยไม่เลือกข้าง เคยทำงานที่สถานีโทรทัศน์มาก่อน สื่อกระแสหลักจริงๆก็ต้องถามตัวเองว่าหน้าที่ของคุณคืออะไร หน้าที่หาความจริงหรือเพื่อทำไปเพื่อให้มีงานทำ พรุ่งนี้จะได้มีเงินไปผ่อนคอนโดหรือให้ลูกไปเรียนหนังสือ แต่ก็เข้าใจว่ามีปัจจัยเยอะ ตั้งแต่ทำสื่อมาที่มีวิกฤตการเมืองตั้งแต่ปี 2003 มันไม่มีที่สื่อไม่เลือกข้าง สื่อเลือกข้างมาตลอด ตั้งแต่ตัวคุณเองแล้วว่าเซ็นเซอร์ตัวเองขนาดไหน หรือเจ้านายบอกว่าข่าวนี้เสนอไม่ได้นะ หรือหัวหน้าแผนกติดป้ายไว้ที่ห้องตัดต่อว่า ต่อไปนี้ภาพคนนี้รับดอกไม้นี่ห้ามเสนอนะ ห้ามนำเสนอภาพในเชิงภาพลักษณ์ที่ดีของอดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง”

“มีนักการเมืองคนหนึ่งเคยพูดเลยนะว่าคุณทำช่องนี้เนี่ย เราอยู่กระทรวงการคลัง เราสนับสนุนคุณอยู่ คุณก็ช่วยรัฐบาลบ้างสิ นี่คือคำพูดของรัฐมนตรีกระทรวงการคลังในสมัยหนึ่งให้เราช่วยรัฐบาลในการปิดบังความจริงอะไรบางอย่าง คือมันทำยาก สื่อกระแสหลักของเราก็ไม่เข้มแข็งเหมือนที่เห็นในสหรัฐฯ ที่จะตรวจสอบอำนาจรัฐทุกมิติ และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับประธานาธิบดี มันมีข้อจำกัดเยอะ พอพูดไปก็จะกลายเป็นแก้ตัวแทนสื่อกระแสหลัก”

“ปัญหาคือมันต้องถามว่าคุณอยากได้สังคมแบบไหน อย่างมีเด็กคนหนึ่งที่ไปทำงานที่สำนักข่าวทีนิวส์ ที่เขาก็บอกว่าเขาต้องทำงานตามที่โดนสั่งมา ทำงานเป็นรีไรเตอร์ แล้วสุดท้ายคุณอยากได้สังคมแบบไหน สังคมที่ใส่ร้ายคนไปเรื่อยๆ ไม่ให้ความยุติธรรมกับใครเลย โดยที่คุณก็เชื่อว่าคุณจะพูดความเท็จไปได้เรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งคุณก็รอดพ้นจากสิ่งนี้ หรือคิดว่าวันหนึ่งคุณจะไม่เป็นเหยื่อของสิ่งนี้ ความอยุติธรรมมันจะไม่ไปกระทบกับตัวคุณ พ่อแม่หรือคนที่คุณรัก คุณอยากจะอยู่ในสังคมที่คนมีอำนาจทำอะไรก็ได้โดยที่ไม่มีการตรวจสอบ”

“เราก็ต้องตั้งคำถามกับสิ่งที่เราทำ แม้เวลาเราจะโพสต์อะไรเราก็ต้องคิดว่าการโพสต์มันเป็นการสื่อสารกับคน คุณจะพูดจริงหรือเท็จ จะพูดให้ใครเสียหาย พูดให้ปิยบุตรไปโดนล่าหรือจะให้มีคนลุกไปทำร้ายปิยบุตรเหมือนสมัยก่อนที่มีคนไปทำร้ายอาจารย์วรเจตน์ที่ลานจอดรถธรรมศาสตร์ คุณต้องการให้สังคมไปสู่จุดนั้นหรือ แล้วถ้าวันหนึ่งมันกลับข้างล่ะ มีคนไล่ล่าเราบ้าง นี่คือสังคมที่เราต้องการหรือ”

“อย่างที่มีคนไปคอมเมนท์ล่าสุดคือปิยบุตรไม่ควรมีแผ่นดินอยู่ ไม่ควรเป็นสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ แนวคิดแบบนี้มันโอเคหรือเปล่า เวลามีคนที่คิดไม่เหมือนคุณแล้วคุณไล่เขาออกนอกประเทศเพราะคุณบอกว่าสิ่งที่เขาคิดไม่เหมาะสมกับประเทศ นี่คือสังคมที่คุณอยากอยู่ไหม เพราะคิดว่าสิ่งนี้ไม่มีวันจะเกิดกับคุณได้ แล้วไล่คนออกไปได้มันแก้ปัญหาหรือเปล่า คุณไล่คนออกไปแล้วด้วย สองคนเป็นอดีตนายกฯ แล้วผลการเลือกตั้งที่ออกมาเป็นยังไง คือคุณไล่เขาไปแล้วแต่ความคิดเขายังอยู่ หรือคุณจะฆ่าเขาไป ความคิดก็ยังอยู่ หมดปิยบุตรไปแล้วก็ยังมีคนที่คิดแบบปิยบุตร แล้วเขาอาจจะมายืนแถวหน้าเหมือนปิยบุตรก็ได้ แล้วคุณยังจะกำจัดคนแบบนี้ไปอีกเท่าไหร่ จะล่าแม่มดไปอีกกี่คน”

ประชาชนจะตรวจสอบสื่ออย่างไรได้บ้าง

ประเทศในอาเซียนและเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะประเทศที่มีพัฒนาการทางประชาธิปไตยที่มั่นคงกว่าไทย (อย่างน้อยมีการจัดการเลือกตั้งสม่ำเสมอ ไม่มีรัฐประหาร) ต่างเจอปัญหาการใส่ข้อมูล เนื้อหาปลอมในอินเทอร์เน็ตกันทั้งนั้น แต่ประชาชนมีส่วนช่วยกันตรวจสอบข้อเท็จจริงกันเอง ยกตัวอย่างเช่นเวราไฟล์ (Verafile) ในฟิลิปปินส์ เป็นกลุ่มภาคประชาสังคมที่คอยตรวจสอบข่าวสาร แถลงข่าวจากทางการที่เผยแพร่ในอินเทอร์เน็ตว่ามีความถูกต้องหรือไม่ หรือกลุ่มโคแฟคท์ (Cofact) ในไต้หวันที่เป็นเครือข่ายประชาชนที่ช่วยกันเช็คข้อเท็จจริงผ่านทางไลน์แล้วส่งต่อกันผ่านแชทบอท ในขณะที่เรายังไม่เห็นการจัดตั้งกันเป็นกลุ่มชัดเจนเช่นนี้ในไทย จะมีก็แต่ตัวบุคคลที่มาเป็นครั้งคราว

เพ็ญจันทร์ ในฐานะอดีตสื่อมวลชนบอกว่าประชาชนเองก็ต้องตรวจสอบสื่อกลับด้วย อินเทอร์เน็ตทำให้เรื่องนี้ง่ายขึ้นมาก ในส่วนการลดความเป็นขั้วของการรับรู้ข่าวสารนั้น เธอแนะนำให้บริโภคข่าวสารของทั้งสองขั้ว ดัดแปลงนิวส์ฟีดด้วยการกดดูข่าวของทั้งสองฝั่งเรื่อยๆ เพื่อให้ข่าวทั้งสองฝั่งขึ้นมาบนฟีด ซึ่งเธอก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากเพราะแต่ละคนก็มีอคติเป็นของตัวเอง

“ต้องรับข่าวสารให้บาลานซ์กัน ต้องรับข่าวสารจากกลุ่มที่เราไม่ชอบด้วย นี่คือวิธีแก้ที่มีอยู่ในการรับข่าวสาร แต่มันก็ยากที่จะทำอย่างนั้นเพราะคนก็มีอคติอยู่ในใจอยู่แล้ว เราต้องพยายามเป็นคนที่เคารพสิทธิของคนอื่นด้วย เขาพูดในสิ่งที่ไม่เห็นด้วยกับเราแต่เขาก็ควรมีเวทีให้เขาแสดงความเห็น แต่มันยากในสังคมไทยที่เห็นอะไรที่ไม่ชอบหน่อยก็ซ่อนคอมเมนท์ อันเฟรนด์ หรือพูดสาดเสียเทเสีย ก็ไม่เกิดผลดีกับใคร กับตัวเองด้วยที่ไม่เข้าใจว่าอีกฝั่งคิดยังไง”

ต่อเรื่องการเคารพสิทธิกับการพูดนั้น เพ็ญจันทร์ยกตัวอย่างสหรัฐฯ ที่ประกันเสรีภาพในการพูดในบัญญัติสิทธิ (Bill of Rights) ที่เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ เพื่อประกันซึ่งสิทธิหลายประการตั้งแต่การพูด การนับถือศาสนา การชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ ไปจนถึงสิทธิในการครอบครองอาวุธปืน แต่ประเด็นเสรีภาพในการพูดก็มีกรอบว่าต้องไม่ไปทำลายชื่อเสียงใคร หากเป็นเช่นนั้นก็เป็นช่องให้มีการฟ้องร้อง

“ในอเมริกามีกฎหมายเรียกว่า freedom of speech ที่คุ้มครองการแสดงออกของผู้คน มหาวิทยาลัยเคยเชิญนักพูดที่เป็นอนุรักษ์นิยมมาก พอเชิญมาแล้วมหาวิทยาลัยก็ต้องจ้างตำรวจมารักษาความปลอดภัยและเสียเงินเยอะมาก คนก็วิจารณ์ว่าไปเชิญมาทำไม ขวาจัดมาก ทำไมต้องลงทุนให้คนเหล่านี้มาพูด คนก็ถกเถียงกัน แต่ในแง่กฎหมายเขาก็มีสิทธิจะพูดในสิ่งที่อนุรักษ์นิยมมากๆ โดยที่มีกรอบว่าต้องไม่ทำลายชื่อเสียงของใคร หรือกล่าวหาคนโดยที่ไม่มีมูล การพูดโดยเสรีก็มีกฎหมายอยู่ ไม่ใช่ว่าพูดอะไรก็ได้จนเลยขอบเขตกฎหมาย ประกันสิทธิ แต่ไม่ใช่ว่าพูดความเท็จไปเรื่อยๆ ไม่เช่นนั้นก็โดนฟ้องตาม” อาจารย์ชาวไทยในมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียกล่าว

ความมั่นคงของชาติอย่างที่เขาอ้างกันนั้นตั้งอยู่บนความจริงหรือคำโกหกกันแน่ จุดเริ่มต้นเล็กๆ อาจอยู่ที่ประชาชนช่วยกันตั้งคำถามและลองสานเสวนา

หมายเหตุ: ประชาไทเพิ่มเติมรายละเอียดเกี่ยวกับบัญญัติสิทธิของสหรัฐฯ ในวันที่ 25 เม.ย. 2562 เวลา 13.45 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net