Skip to main content
sharethis

7 เม.ย. วันอนามัยโลก ปี 2562 นี้ไทยร่วมรณรงค์ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า บริการปฐมภูมิปัจจัยสำคัญสู่การบรรลุหลักประกันสุขภาพ” เผยรากฐานบริการปฐมภูมิเข้มแข็งของไทย จาก 'สุขศาลา' ถึง 'รพ.สต.' สู่นโยบายหมอครอบครัว ปัจจัยหนุนความสำเร็จหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทย ส่งผลประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพ อย่างครอบคลุม ทั่วถึง อย่างมีคุณภาพ    

7 เม.ย. 2562 ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า วันที่ 7 เม.ย. ของทุกปีเป็น “วันอนามัยโลก” โดยประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกใช้เป็นโอกาสในการจัดกิจกรรมเพื่อให้ประชาชนและทุกภาคส่วนในสังคมร่วมตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพ ทั้งในเรื่องการควบคุม ป้องกัน แก้ปัญหาสุขภาพ และส่งเสริมด้านสุขภาพประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน โดยในปี 2562 กำหนดรณรงค์ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า บริการปฐมภูมิปัจจัยสำคัญสู่การบรรลุหลักประกันสุขภาพ” เพื่อกระตุ้นให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกให้ความสำคัญการพัฒนาบริการปฐมภูมิ หนึ่งในปัจจัยสนับสนุนความสำเร็จหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

การรณรงค์วันอนามัยโลกที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกและประเทศสมาชิกได้หันมาให้ความสำคัญต่อการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เนื่องจากเป็นเครื่องมือดูแลประชากรในแต่ละประเทศให้สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่จำเป็นในเวลาที่จำเป็นได้อย่างมีประสิทธิผล ลดอุปสรรคค่าใช้จ่าย โดยก่อนหน้านี้ได้กำหนดให้เป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ภายในปี 2573 ที่ผลักดันให้ประเทศสมาชิกดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศ

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ที่ผ่านมาหลายประเทศได้ขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงประเทศไทยที่ดำเนินมา 17 ปี และได้รับการยกย่องจากนานาประเทศให้เป็นประเทศต้นแบบของการดำเนินหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แม้ว่าจะเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางก็ตาม ปัจจัยความสำเร็จนอกจากรัฐบาลให้ความสำคัญต่อนโยบายสุขภาพประชาชนอย่างต่อเนื่อง ประสิทธิภาพการบริหารการเงินการคลังสุขภาพและการบริหารจัดการระบบ รวมถึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนแล้ว ประเทศไทยยังมีระบบ “บริการปฐมภูมิ” เข้มแข็ง มีหน่วยบริการกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งในเขตเมือง ชนบทและพื้นที่ห่างไหล เชื่อมต่อกับระบบสาธารณสุขประเทศ รองรับบริการสุขภาพประชาชนเบื้องต้นได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง รวมถึงในด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ติดตามดูแลผู้ป่วยและฟื้นฟูสมรรถภาพ เป็นต้น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจนประสบสำเร็จ   

“ไทยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาบริการปฐมภูมิอย่างต่อเนื่อง เริ่มต้นจากสุขศาลาสู่สถานีอนามัยและพัฒนาเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ปัจจุบันมีจำนวน 9,750 แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ และยังมีศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองอีก 252 แห่ง ขณะที่ กทม.มีศูนย์บริการสาธารณสุข 68 แห่งขับเคลื่อนไปพร้อมกัน นอกจากนี้ในปี 2557 รัฐบาลได้มีนโยบายทีมหมอครอบครัวที่ยกระดับบริการปฐมภูมิของประเทศ ดูแลสุขภาพประชาชนได้อย่างใกล้ชิดและเป็นระบบยิ่งขึ้น เป็นการเชื่อมโยงการรักษาพยาบาลแบบไร้รอยต่อ โดยยึดโยงผู้ป่วยและครอบครัวเป็นหลัก” รมว.สาธารณสุข กล่าว

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า บริการปฐมภูมิไม่เพียงเป็นกลไกลดช่องว่าง สร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการสุขภาพให้กับประชาชน แต่ยังมีผลลัพธ์คุ้มค่า ประหยัดค่าใช้จ่าย และยังทำให้บรรลุเป้าหมายการสร้างสุขภาพที่ดีให้กับประชาชนได้ ดังนั้นประเทศต่างๆ ควรให้ความสำคัญต่อการพัฒนาบริการปฐมภูมิเพื่อขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยในการประชุมผู้บริหารระดับสูงว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่กำหนดจัดขึ้นระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชนเดือนกันยายนนี้ เป็นโอกาสอันดีเพื่อสื่อสารความสำคัญของการสร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข ไม่เพียงส่งผลต่อสุขภาพบุคคล แต่ยังเสริมสร้างความแข็งแกร่งเศรษฐกิจและสังคม     

ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ระบบบริการปฐมภูมิที่เข้มแข็ง นอกจากเป็นรากฐานของระบบสาธารณสุขไทยแล้ว ยังมีส่วนสำคัญทำให้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติบรรลุเป้าหมายได้ เพราะช่วยทำให้การจัดบริการมีความครอบคลุม ทั่วถึง และเท่าเทียมด้านสุขภาพให้ประชาชนในประเทศได้ ที่ผ่านมากองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนงบการจัดบริการปฐมภูมิมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการรักษา ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และฟื้นฟูสมรรถภาพผ่านการบริหารกองทุนในรูปแบบต่างๆ นอกจากนี้ยังได้จัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการจัดบริการหมอครอบครัว รวมถึงการดำเนินงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นและกองทุนฟื้นฟสมรรถภาพระดับจังหวัดที่ดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ช่วยเพิ่มความเข้มแข็งบริการปฐมภูมิในแต่ละพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ความสำเร็จของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในวันนี้เกิดขึ้นไม่ได้ หากขาดระบบบริการปฐมภูมิที่เข้มแข็ง ซึ่งประเทศไทยได้มีการวางรากฐานระบบบริการปฐมภูมิมายาวนานและพัฒนาการบริการผ่านรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง ดังนั้นไม่ว่าประเทศใดการดำเนินหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิควบคู่ จึงจะประสบผลสำเร็จได้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

9 เม.ย.ไทยเตรียมจัดระดมความเห็น “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” เตรียมพร้อมสู่เวทีสหประชาชาติ

นอกจากนี้ ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยังกล่าวว่า ในวันที่ 9 เม.ย. 2562 จะมีการจัดการประชุมรับฟังความเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เรื่อง หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage : UHC) เพื่อเตรียมการจัดทำท่าทีระดับประเทศสู่การประชุมระดับสูงว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และการฉลองวันอนามัยโลก 7 เม.ย. 2562 “สุขภาพดีถ้วนหน้า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า บริการปฐมภูมิปัจจัยสำคัญสู่การบรรลุหลักประกันสุขภาพ”

เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเชิงนโยบายและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย นำเป็นข้อมูลสู่การจัดเตรียมประเด็นท่าทีและข้อเสนอแนะของไทยในเวทีการเจรจาร่างปฏิญญาทางการเมืองในการประชุมระดับสูงว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปี 2562 ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 23 กันยายน 2562 ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่าประเด็นในการรับฟังความเห็นเป็นไปตามที่ประธานสมัชชาสหประชาชาติกำหนด ตามหัวข้อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย (Multi-stakeholders hearing) ดังนี้ 1.การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในฐานะตัวขับเคลื่อนการพัฒนาและความเจริญของประเทศอย่างทั่วถึง 2.การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งเป็นความมุ่งมั่นในการสร้างความเท่าเทียม และ 3.การมีส่วนร่วมดำเนินการและการลงทุนจากภาคส่วนต่างๆ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 

“ความเห็นจากทุกภาคส่วนที่ได้รับฟังจะนำไปสู่การผลักดันในเวทีโลก เพื่อทุกภูมิภาคทั่วโลกบรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการหรือการขับเคลื่อน โดยจะเป็นส่วนหนึ่งในการเจรจาเพื่อร่างปฏิญญาทางการเมืองในการประชุมระดับสูงว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า”

รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า นอกจากนี้ประธานสหประชาชาติ สมัยที่ 73 ได้มอบให้เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทย และเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรฮังการีประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก เป็นผู้ประสานงานร่วมเพื่อเสนอรูปแบบการประชุมและจัดกระบวนการเจรจาร่างปฏิญญาทางการเมืองในการประชุมระดับสูงว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในครั้งนี้ด้วย

ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การประชุมรับฟังความเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องดังกล่าว จัดโดยกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. พร้อมด้วยองค์กรภาคีเครือข่าย มีผู้เข้าร่วมประชุมราว 300 คน ประกอบด้วยกลุ่มผู้ให้บริการ ประชาชน นักวิชาการ ผู้แทนสภาวิชาชีพ หน่วยงานระบบหลักประกันสุขภาพและหน่วยงานราชการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชน โดยมีผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศในประเทศไทยร่วมสังเกตการณ์

ทั้งนี้ การที่ประเทศไทยได้รับมอบให้มีบทบาทในการประชุมระดับสูงว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปี 2562 นอกจากประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในการดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้ว ยังเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญเพื่อขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในเวทีระหว่างประเทศด้วย โดยมีส่วนร่วมผลักดันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้เป็นวาระระดับโลกมาอย่างต่อเนื่อง และในปี 2560 ไทยในฐานะประธานกลุ่มนโยบายต่างประเทศและสุขภาพโลก (Foreign Policy and Global Health Initiative : FPGH) ได้ร่วมกับสมาชิกกลุ่มอีก 6 ประเทศ ได้แก่ นอร์เวย์ ฝรั่งเศส บราซิล อินโดนีเซีย เซเนกัล แอฟริกาใต้ เสนอจัดการประชุมระดับสูงว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปี 2562 เพื่อเป็นโอกาสในการผลักดันและขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในแต่ละประเทศ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net