Skip to main content
sharethis

รมว.แรงงานตรวจเยี่ยม ฟาร์มไก่เนื้อเกษตรกร นำ GLP พัฒนาชีวิตแรงงาน

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงห์แก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน รวมทั้งนายอำเภอโชคชัย และเกษตรจังหวัดนครราชสีมา ลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมสถานประกอบต้นแบบกิจการในการนำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Good Labour Practices : GLP) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน ตามแนวทางศาสตร์พระราชา ย้ำภาคเอกชนและเกษตรกรในอุตสาหกรรมไก่เนื้อของไทยเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ ที่ให้ความร่วมมือบริหารจัดการด้านแรงงานที่ได้มาตรฐานสากล และหลักสิทธิมนุษยชน จนได้รับความเชื่อมั่นจากลูกค้าทั่วโลก ทั้งในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูง ปลอดภัย มาจากกระบวนการผลิตที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม เป็นที่ต้องการของต่างประเทศเพิ่มขึ้น ผลักดันให้อุตสาหกรรมไก่เนื้อสามารถสร้างเงินตราให้ประเทศปีละกว่า 100,000 ล้านบาท มีส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องแรงงานทั้งคนไทยและต่างชาติประมาณ 125,000 คน

“การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการใช้ GLP ในสถานประกอบการ เพื่อให้กำลังใจและขอบคุณภาคเอกชนและเกษตรกรที่ทุ่มเทพัฒนาด้านการจัดการแรงงานที่ดี และต้องการให้เป็นต้นแบบเพื่อขยายการนำ GLP ไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ต่อไป” รมว.แรงงานกล่าว

ขณะที่ นายทิม บราวน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เวสบริดจ์ ฟู้ดส์ จากประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ไก่เนื้อของไทยจำหน่ายในประเทศอังกฤษ และสหภาพยุโรป กล่าวว่า ผู้บริโภคในอังกฤษและในยุโรปให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตสินค้าอาหารที่ดูแลความเป็นอยู่ของแรงงานตามสิทธิมนุษยชน ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ไก่เนื้องของไทยที่ได้รับสัญลักษณ์ GLP จึงเป็นที่ยอมรับและไว้วางใจจากลูกค้า

นายปริโสทัต ปุณณภุม รองกรรมการผู้จัดการบริหาร สายทรัพยากรบุคคล ซีพีเอฟ กล่าวว่า ตามที่กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการในอุตสาหกรรมผลิตไก่เนื้อส่งออกนำหลักการแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี หรือ GLP มาใช้ในการบริหารจัดการด้านแรงงานตั้งแต่ปี 2559 นั้น ซีพีเอฟได้ส่งเสริมฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อของบริษัทฯ ยึดมั่นดำเนินการตามหลัก GLP ควบคู่กับการพัฒนายกระดับให้ก้าวสู่มาตรฐานแรงงานไทย หรือ Thai Labour Standard ( TLS) ต่อไป ขณะเดียวกัน ผลักดันให้เกษตรกรในคอนแทร็คฟาร์มทั้งหมดนำหลักการดังกล่าวมาใช้อย่างต่อเนื่อง

โดยตั้งแต่ปี 2559 -2561 ซีพีเอฟ ได้เข้าไปส่งเสริม GLP ในฟาร์มไก่เนื้อของเกษตรกรในระบบคอนแทร็คฟาร์มทุกแห่ง และตรวจประเมินเพื่อช่วยให้เกษตรกรเจ้าของฟาร์มไก่เนื้อในระบบคอนแทร็คฟาร์มมีความเข้าใจและสามารถปฏิบัติตามหลัก GLP ได้อย่างถูกต้องครบถ้วน และพร้อมส่งเสริมเกษตรกรเจ้าของฟาร์มที่มีศักยภาพสมัครขอรับการรับรองมาตรฐานแรงงานไทย (TLS) จากกระทรวงแรงงานต่อไป

นางสาวเชาวเรศ ไชยเพรี เจ้าของฟาร์มเดชาปักธงชัย 2 เกษตรกรเลี้ยงไก่เนื้อในรูปแบบคอนแทร็คฟาร์มแบบประกันราคาของ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ฟาร์มให้ความสำคัญกับแรงงานทุกคน เพราะกำลังหลักที่ช่วยให้ฟาร์มฯ ดำเนินงานประสบความสำเร็จจนมาถึงทุกวัน พร้อมย้ำว่า นับตั้งแต่ฟาร์มนำหลัก GLP มาใช้ในฟาร์ม โดยได้รับคำแนะนำที่ดีจากราชการและซีพีเอฟ ช่วยให้คนงานเกิดความมั่นใจในเรื่องค่าจ้างและสวัสดิการ ตลอดจนการจ้างงานที่มีสัญญาชัดเจน ขณะเดียวกัน เจ้าของฟาร์มยังได้ประโยชน์มากมาย ทั้งในแง่การบริหารแรงงานและต้นทุน

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 7/4/2562

ประกันสังคมแจงผู้ประกันตนไม่ต้องจ่ายเพิ่ม หากแพทย์สั่งยานอกบัญชียาหลัก

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน แจงกรณีประกาศของโรงพยาบาลรามาธิบดีที่ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2562 เป็นต้นไป จะมีการปรับระบบการจ่ายยาตามสิทธิพื้นฐานของผู้ป่วยสิทธิ 30 บาท และผู้ใช้สิทธิประกันสังคม กรณีใช้ยานอกสิทธิพื้นฐานต้องชำระค่ายาเอง และกรณีไม่สามารถชำระค่ายาได้ให้ปรึกษาแพทย์เพื่อเปลี่ยนยาตามสิทธิ หรือเพื่อส่งสังคมสงเคราะห์พิจารณานั้น สำนักงานประกันสังคมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วน โดยได้ประสานกับ รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งได้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่าเป็นการปรับระบบการสั่งจ่ายยาให้ผู้ป่วยมาใช้ระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อจะได้แยกกลุ่มยาให้แพทย์สั่งใช้ยาได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดีในส่วนของผู้ป่วยสิทธิประกันสังคม ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลที่ รพ. ตามสิทธิประกันสังคมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยการรักษาพยาบาลหรือการสั่งจ่ายยาต้องอยู่ในการวินิจฉัยของแพทย์ผู้รักษา การสั่งจ่ายยานั้นต้องเป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ หรือหากแพทย์สั่งจ่ายยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติซึ่งมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์มีความจำเป็นในการรักษาโรคนั้นๆ ผู้ประกันตนก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

ที่มา: Hfocus.org, 6/4/2562

'สหภาพพยาบาล' ถามเจตนา 'สภาเทคนิคการแพทย์' กรณียื่นรื้อฟ้องคดี 'พยาบาลนครปฐมเจาะเลือดตรวจสุขภาพ' หลังศาลสั่งไม่ฟ้อง ชี้เป็นประเด็นทำวุ่นกระทบพยาบาลทั่วประเทศ

นางสาวปุญญิศา วัจฉละอนันท์ เลขาธิการสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากที่มีความเคลื่อนไหวเพื่อรื้อคดีกรณีพยาบาลเจาะเลือดตรวจสุขภาพที่จังหวัดนครปฐม สหภาพพยาบาลฯ มองว่าเป็นเรื่องที่อ่อนไหว กระทบต่อผู้ปฏิบัติงานในวิชาชีพสุขภาพที่มีความเหลื่อมล้ำในการทำงานร่วมกัน เช่น แพทย์ให้การรักษา แต่พยาบาลสามารถให้การรักษาเบื้องต้นได้ รวมถึงการเจาะเลือดที่สามารถทำได้ทุกวิชาชีพและวิชาชีพพยาบาลมีมาถึง 122 ปีแล้ว ไม่คิดว่าพยาบาลจะถูกจับเพราะการเจาะเลือด กรณีของพยาบาลเจาะเลือดถูกจับที่จังหวัดนครปฐม จึงไม่เพียงเป็นกรณีแรกของประเทศแต่ยังเป็นกรณีแรกของโลกด้วย เพราะการเจาะเลือดโดยพยาบาลที่ผ่านมาถือเป็นเรื่องปกติ ทั้งยังมีความเชี่ยวชาญในการเจาะเลือด แม้แต่ในกลุ่มเด็กเล็กพยาบาลก็เป็นผู้เจาะเลือดให้ กรณีผู้ป่วยเร่งด่วนในห้องฉุกเฉิน รวมถึงเป็นผู้เก็บสิ่งส่งตรวจ ซึ่งคนเจาะเลือดให้กับกลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้ไม่ใช่นักเทคนิคการแพทย์ นักเทคนิคการแพทย์จะทำหน้าที่ในการวินิจฉัยในห้องแลป

ทั้งนี้ ในคดีนี้ก่อนหน้านี้ศาลแขวงนครปฐมได้มีคำสั่งไม่ฟ้องไปแล้ว เนื่องจากนายกสภาเทคนิคการแพทย์ได้ให้การว่า การเจาะเลือดเป็นเพียงการเก็บตัวอย่างสิ่งส่งตรวจเท่านั้น ไม่ได้ก้าวล่วงถึงการตรวจวิเคราะห์ จึงยังไม่ถือว่าเป็นการประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์โดยสมบูรณ์ เป็นเพียงการเจาะเลือดใส่หลอดเท่านั้น ทั้งยังเป็นการเจาะเลือดเพื่อตรวจสุขภาพที่ส่งไปยังห้องปฏิบัติการของเอกชนที่ไม่ได้มีเจตนาแปรผล โดยอัยการเห็นว่าเรื่องนี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างวิชาชีพจึงอยากให้ไปพูดคุยกัน ซึ่งที่ผ่านมาทั้งนายกสภาเทคนิคการแพทย์และสภาการพยาบาลได้พูดคุยกันแล้ว

ขณะที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้เรียก นพ.สสจ.นครปฐมพูดคุยเพราะเป็นประเด็นที่อ่อนไหวและอาจสร้างผลกระทบตามมา

อย่างไรก็ตามจากที่มีความพยายามรื้อฟ้องคดีนี้ใหม่และจะใช้ประเด็นโต้แย้งว่า “นายกสภาเทคนิคการแพทย์” ไม่ใช่ “สภาเทคนิคการแพทย์” รวมทั้งโต้แย้งว่าคำให้การของนายกสภาเทคนิคการแพทย์ก่อนหน้านี้ ยังเป็นการให้การที่ไม่ตรงกับ พ.ร.บ.วิชาชีพเทคนิคการแพทย์นั้น เห็นว่านายกสภาเทคนิคการแพทย์เป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม และดูทั้งในเรื่องข้อตกลงและกติกาต่างๆ การตัดสินใดๆ ยังคิดถึงสมาชิกนักเทคนิคการแพทย์ จึงให้การต่อศาลตามประเด็นข้างต้น เพราะไม่เช่นนั้นผลที่ตามมาอาจกระทบต่อนักเทคนิคการแพทย์ซึ่งจะต้องรับภาระงานเจาะเลือดทั้งหมด

นางสาวปุญญิศา กล่าวว่า ความพยายามในการรื้อคดีนี้ ส่วนตัวมองวาเป็นเรื่องกลัวการเสียผลประโยชน์ในการเปิดแลปตรวจหรือไม่ ซึ่งสหภาพพยาบาลฯ ได้ประสานไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม เพื่อต้องการทราบว่าใครที่ต้องการรื้อฟ้องคดีนี้ และหากมีการรื้อฟื้นคดีจริงๆ เชื่อว่าประชาชนจะเป็นผู้ที่ตอบคำถามนี้ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบต่อชีวิต เนื่องจากตามโครงสร้าง รพ.สต. และคลินิกหมอครอบครัวไม่มีนักเทคนิคการแพทย์ ขณะที่นักเทคนิคการแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐมีจำกัด คำถามคือแล้วใครจะเป็นคนเจาะเลือดและตรวจเลือดผู้ป่วย ส่วนตัวเชื่อว่านี่จะเป็นการเปิดช่องให้บริษัทเอาท์ซอร์ส (Outsource) ที่ทำในเรื่องแลปเข้ามาทันที โดยจะมีการเปิดบริษัทเอกชนเพื่อรองรับ ดังนั้นจึงเป็นมุมมองว่าอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีความพยายามรื้อฟื้นคดีนี้

ส่วนกรณีหนังสือตอบโดยกองกฎหมาย กระทรวงสาธารณสุข ในเรื่องประกาศสภาการพยาบาล เรื่องแนวทางปฏิบัติสำหรับพยาบาลในการเจาะเลือดเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ที่ระบุว่าขัดต่อกฎหมาย พ.ร.บ.วิชาชีพเทคนิคการแพทย์นั้น เป็นเพียงการตอบตามเนื้อผ้าในข้อกฎหมาย ซึ่งปกติ พ.ร.บ.จะใหญ่กว่าประกาศหลักเกณฑ์อยู่แล้ว อย่างไรก็ตามมองว่าเป็นการตอบที่ไม่คำนึงถึงผลที่จะตามมา ทั้งที่ควรมีการชะลอการตอบ โดยเรียกทั้ง 2 สภาวิชาชีพมาพูดคุยถึงที่มาที่ไปก่อน ซึ่งการตอบหนังสือไปเช่นนี้ก็เหมือนกับได้ตัดสินไปแล้ว

ขณะนี้วิชาชีพต่างๆ ในระบบสุขภาพต่างออก พ.ร.บ.ของตนเองเพื่อคุ้มครอง ซึ่งวิชาชีพพยาบาลมี พ.ร.บ.วิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ตั้งแต่ปี 2528 แต่ไม่ได้มีการปรับปรุงจึงไม่ทันต่อสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลง ทำให้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายของวิชาชีพอื่นที่ออกมาภายหลัง เช่นกรณีที่เกิดขึ้น รวมถึงกรณี พ.ร.บ.ยา ที่พยาบาลถูกจำกัดจ่ายยาไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.วิชาชีพการพยาบาลฯ เพื่อให้รองรับการทำงาน เพราะในกรณีพยาบาลเจาะเลือดออกหากมีการฟ้องร้องจริง พยาบาลคงต้องติดคุกแน่ แม้ว่าจะมีประกาศหลักเกณฑ์รองรับ เพราะในชั้นศาล พ.ร.บ.ที่เป็นกฎหมายแม่จะใหญ่กว่าประกาศหลักเกณฑ์รวมถึงกฎกระทรวงเสมอ

“วันนี้สภาเทคนิคการแพทย์ต้องทบทวนว่าการทำงานที่เหลื่อมกันระหว่างวิชาชีพคืออะไร ต้องการอะไร เพื่อใคร และทำไมจึงต้องการที่จะรื้อคดีนี้อีก เพราะสภาเทคนิคการแพทย์ไม่ได้เสียหายอะไรเลยจากพยาบาลที่เจาะเลือดตรวจสุขภาพในกรณีนี้ เพราะพยาบาลทำหน้าที่แค่การเจาะเลือดเท่านั้น ไม่ได้นำไปตรวจวิเคราะห์ผล ซึ่งคงต้องตอบสังคมว่ากำลังทำอะไรอยู่ มีอะไรที่หมกเม็ดหรือไม่” เลขาธิการสหภาพพยาบาล กล่าวและว่า ขณะเดียวกันสภาการพยาบาลเองต้องทบทวนแล้วว่า กฎหมายที่ถืออยู่ทันสมัยรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ซึ่งกฎหมายเดิมใช้มา 34 ปีแล้ว ควรมีการปรับปรุง ซึ่งที่ผ่านมาสหภาพพยาบาลฯ ได้นำเสนอไปหลายครั้งแล้ว

ที่มา: Hfocus.org, 6/4/2562

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ เพิ่มสิทธิประโยชน์ สิทธิการลา รวมถึงเพิ่มค่าชดเชยเลิกจ้างคนทำงานเกิน 20 ปี

เมื่อวันที่ 5 เม.ย.2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน

พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อยกระดับการคุ้มครองลูกจ้างให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและมีประสิทธิภาพมากขึ้น อันจะทำให้ลูกจ้างซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมีความมั่นคงในการทำงานและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และจะเป็นประโยชน์แก่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการตราพระราชบัญญัตินี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา

ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติม โดยกำหนดให้การเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้างต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง, กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน, กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์สามารถลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตรได้ โดยให้ถือเป็นวันลาเพื่อคลอดบุตร, เพิ่มอัตราค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป, กำหนดให้การย้ายสถานประกอบกิจการ ให้รวมทั้งการย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่ใหม่ หรือสถานที่อื่นของนายจ้าง และแก้ไขให้นายจ้างกำหนดค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดในอัตราเท่ากันทั้งลูกจ้างชายและหญิงในงานที่มีค่าเท่าเทียมกันเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

ทั้งนี้ พ.ร.บ.ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 30 วัน

ที่มา: Thai PBS, 5/4/2562

สำนักงานประกันสังคม ร่วมกับเคาน์เตอร์เซอร์วิส รับชำระเงินนายจ้างด้วยบัตรเดบิต/เครดิต

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สำนักงานประกันสังคมเพิ่มช่องทางให้บริการรับชำระเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต และระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) โดยได้ร่วมมือกับบริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด เปิดให้บริการรับชำระเงินสมทบกองทุนประกันสังคมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ด้วยบัตรเดบิตหรือเครดิตมาสเตอร์การ์ด โดยชำระเงินสมทบ พร้อมเงินเพิ่มตามกฎหมาย (ถ้ามี) จำนวนเงินที่ชำระรวมไม่เกิน 49,000 บาทต่อรายการ นายจ้างสามารถสมัครใช้บริการและทำรายการผ่านระบบ e-Service ได้ทาง Website : www.sso.go.th เลือกเมนูสถานประกอบการ Login เข้าระบบด้วย User/Password ของสำนักงานประกันสังคม เพื่อส่งข้อมูลเงินสมทบพร้อมเงินเพิ่มตามกฎหมาย เลือกชำระเงินด้วยบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิต มาสเตอร์การ์ด เมื่อนายจ้างส่งข้อมูลเงินสมทบและชำระเงินเรียบร้อยแล้ว สามารถพิมพ์ใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt)) จากเว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคมได้ทันที ที่ชำระเงินโดยเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2562 เป็นต้นไป

หากนายจ้างมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลสำนักงานประกันสังคมทางโทรศัพท์ 1506 ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ หรือที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขาทั่วประเทศ

ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 4/4/2562

'กลุ่มบางกอกโพสต์' ยืนยันเลิกจ้างพนักงาน 'โพสต์ทูเดย์-M2F' ถูกต้องตามกฎหมาย

แถลงการณ์ บริษัท บางกอกโพสต์ จำกัด (มหาชน) กรณีเลิกจ้างพนักงาน จากกรณีมีอดีตพนักงานของหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ยื่นร้องต่อศาลแรงงาน โดยอ้างว่าถูกนายจ้างเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมนั้น

บริษัท บางกอกโพสต์ จำกัด (มหาชน) ขอชี้แจงว่า บริษัทได้ดำเนินการเลิกจ้างและจ่ายเงินชดเชยในการเลิกจ้างให้กับพนักงานของหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์และหนังสือพิมพ์M2F ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ หลังจากที่มีการยุติการพิมพ์หนังสือพิมพ์ทั้งสองฉบับ

ดังนั้นการที่มีอดีตพนักงานจำนวนหนึ่งไปร้องต่อศาลแรงงานโดยอ้างว่าถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม เป็นข้อมูลที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงบริษัท บางกอกโพสต์ฯ ขอย้ำว่าในการเลิกจ้างทุกขั้นตอนได้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเป็นธรรมต่อพนักงานทุกประการ

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 4/4/2562

อดีตพนักงานหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์และ M2F เตรียมยื่นฟ้องศาลแรงงานกลาง เรียกค่าตกใจ-ค่ารักษาพยาบาล หลังบริษัทแจ้งเลิกจ้างล่วงหน้าเพียง 15 วัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อดีตพนักงานของหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ และ M2F ประมาณ 50 คน นัดหมายกันเพื่อเตรียมยื่นศาลแรงงานกลาง กรณีถูกเลิกจ้าง โดยเป็นการมายื่นคำร้องรายบุคคล ยังไม่ได้รวมตัวกันยื่นฟ้องบริษัทเป็นคณะ ทั้งนี้เห็นว่าการเลิกจ้างดังกล่าว บริษัทบอกล่วงหน้าเพียงแค่ 15 วันเท่านั้น และได้จ่ายค่าชดเชยตามอายุการทำงานเท่านั้น ไม่มีการจ่ายค่าตกใจ รวมถึงค่ารักษาพยาบาลใดๆ ตามกฎหมายหากจะมีการเลิกจ้างบริษัทต้องแจ้งล่วงหน้าเป็นเวลา 60 วัน

ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ได้ตีพิมพ์มาถึง 16 ปี และได้ยุติไปเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยอธิบายถึงความจำเป็นด้านธุรกิจทำให้ต้องยุติการตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ลงชั่วคราว และหันไปจับกลุ่มเป้าหมายผู้อ่านออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์แทน

ที่มา: Voice TV, 4/4/2562

เว้นค่าธรรมเนียมแรงงาน 3 สัญชาติกลับบ้าน 5-30 เม.ย. 2562

นางเพชรรัตน์ สินอวย อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี มีมติผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ได้แก่ กัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่ถือหนังสือเดินทาง เอกสารแทนหนังสือเดินทาง หรือเอกสารรับรองบุคคลที่ได้รับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant L-A) และทำงานในประเทศไทยในตำแหน่งกรรมกร คนรับใช้ ผู้ประสานงานด้านภาษา และช่างเครื่องยนต์ในเรือประมงทะเล รวมถึงผู้ติดตามอายุไม่เกิน 18 ปี ที่ได้รับการตรวจลงตราวีซ่าประเภทผู้ติดตาม เดินทางเข้า-ออกประเทศเพื่อกลับบ้านไปร่วมประเพณีสงกรานต์ระหว่างวันที่ 5-30 เม.ย.62 นั้น เพื่อให้แรงงานต่างด้าวปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง โดยขอชี้แจงว่ารัฐบาลจะยกเว้นค่าธรรมเนียม Re-Entry จำนวน 1,000 บาท ให้เฉพาะแรงงานที่เดินทางเข้าออกราชอาณาจักรไทย ระหว่างวันที่ 5-30 เม.ย. หากเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 1–31 พ.ค. ต้องขอรับวีซ่าใหม่ และเสียค่าธรรมเนียมค่าตรวจลงตราคนอยู่ชั่วคราวตามกฎหมาย จำนวน 2,000 บาท โดยอยู่ได้เท่าสิทธิเดิมที่ได้รับอนุญาต แต่หากหลังจากวันที่ 31 พ.ค. จะเข้ามาทำงานอีกไม่ได้ หากประสงค์จะทำงานอยู่ในประเทศไทยต่อจะต้องนำเข้าตามระบบ MOU เท่านั้น

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 4/4/2562

แรงงานเมียนมาโดยสารรถตู้เต็มคันกลับประเทศ ขาดอากาศสลบทั้งคัน

เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2562 เจ้าหน้าที่กู้ชีพ สายด่วน 1669 โรงพยาบาลมโนรมย์ และอาสาสมัครร่วมกตัญญูชัยนาท ได้รับแจ้งเหตุให้ช่วยเหลือคนหมดสติภายในรถตู้รับจ้างไม่ประจำทาง ทะเบียน 33-5270 กรุงเทพมหานคร ที่จอดอยู่ริมถนนสายเอเชีย หลักกิโลเมตรที่ 147 ฝั่งขาขึ้น ต.ท่าฉนวน อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท

โดยผู้ที่หมดสติและเกือบจะหมดสติ ที่อยู่ในรถ เป็นแรงงานชาวเมียนมา ประกอบด้วย ผู้หญิง 4 คน ผู้ชาย 7 คน และเด็ก 2 ขวบ 1 คน เจ้าหน้าที่ได้ช่วยกันปฐมพยาบาลและนำตัวส่งโรงพยาบาลมโนรมย์ เบื้องต้น พบว่าทุกคนมีอาการขาดอากาศหายใจ แพทย์ได้ช่วยเหลือจนทุกคนมีอาการปลอดภัยแล้ว

จากการสอบถาม นายประเคียง ทองพิจิตร อายุ 43 ปี คนขับรถตู้ บอกว่า ตนและภรรยา ขับรถตู้รับจ้าง เดินทางมาจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี พาแรงงานชาวเมียนมาทั้งหมด มุ่งหน้าไปส่งที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อเดินทางกลับบ้านที่ประเทศเมียนมา ไปร่วมฉลองกับครอบครัวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยออกจาก จ.สุราษฏร์ธานี ตอน 1 ทุ่ม ของวันที่ 2 เม.ย. 2562 และหยุดพักระหว่างทาง 4 ครั้ง

จากนั้นเมื่อเดินทางมาถึง จ.ชัยนาท ได้ยินเสียงร้องดังจากหลังรถ จึงเรียกภรรยาให้หันไปดู ก็พบว่าบางคนอยู่ในสภาพหมดสติ บางคนยังมีสติแต่ร่างกายอ่อนแรง และบางคนก็อาเจียนออกมา จึงได้จอดรถข้างทาง แล้วให้ภรรยาลงไปเปิดประตูรถด้านข้างและด้านหลัง เพื่อให้อากาศถ่ายเท จากนั้นก็รีบโทรศัพท์แจ้ง 1669 ให้เข้าช่วยเหลือ

ส่วนสาเหตุตนไม่ทราบว่าเกิดจากสาเหตุใด เพราะขณะขับรถมา เครื่องปรับอากาศในรถก็เปิดทำงานปกติ และไม่ได้กลิ่นก๊าซแต่อย่างใด หลังเกิดเหตุ หน่วยงานต่างๆในจังหวัดชัยนาท ได้เข้าไปตรวจสอบ เบื้องต้น พบว่า ถังก๊าซเชื้อเพลิงด้านท้ายรถตู้ มีก๊าซรั่วซึมออกมาเล็กน้อย ซึ่งก๊าซที่รั่วซึม อาจไหลเวียนเข้าไปในห้องโดยสาร ประกอบกับ สัมภาระของแรงงานเมียนมา ที่บรรทุกมาในรถมีเป็นจำนวนมาก และนำไปวางไว้ด้านหลังคนขับ ทำให้ไปบังช่องทางเดินอากาศภายในรถ จึงอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ออกซิเจนภายในรถลดน้อยลง จึงทำให้ขาดอากาศหายใจ

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ ไม่ได้มีการดำเนินคดีใดๆกับคนขับรถตู้ แต่ให้นำรถกลับไปตรวจสภาพ ทั้งระบบก๊าซเชื้อเพลิงและระบบปรับอากาศ ก่อนที่จะนำกลับไปวิ่งรับจ้างใหม่ ส่วนสัมภาระของแรงงานเมียนมา ทั้งหมดที่อยู่ในรถ ให้นำไปเก็บรักษาไว้ที่ สภ.หางน้ำสาคร

อย่างไรก็ตาม จากเหตุดังกล่าว นับเป็นอุทาหรณ์ สำหรับผู้ที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ ก่อนเดินทางควรตรวจสอบสภาพรถให้ดีก่อน และในห้องโดยสาร ไม่ควรบรรทุกคน และสัมภาระมากจนเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดเหตุเช่นนี้ได้

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 3/4/2562

เตือนผู้ประกันตน ม.39 ที่สิ้นสภาพ แจ้งคืนสิทธิก่อน 19 เม.ย. 2562 นี้

3 เม.ย.2562 นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เตือนให้ผู้ประกันตนที่มีสิทธิดังกล่าว ติดต่อที่สำนักงานประกันสังคมได้ทุกแห่งทั่วประเทศ หรือส่งแบบคำขอกลับเป็นผู้ประกันตนมาทางไปรษณีย์ หรือแสดงความประสงค์ขอกลับ โดยแจ้งเลขประจำตัวประชาชน พร้อมทั้งชำระเงินสมทบงวดแรก 432 บาท ที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส หรือเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารธนชาต หรือที่เคาน์เตอร์ไปรษณีย์ เคาน์เตอร์เซ็นเพลย์ จนถึงวันที่ 19 เม.ย.นี้

ทั้งนี้หลังเปิดให้ผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่สิ้นสภาพ กลับเข้าสู่ระบบประกันสังคมเพื่อรับความคุ้มครองเช่นเดิมอีกครั้ง โดยจากกลุ่มผู้มีสิทธิ์กว่า 777,000 คน ขณะนี้มีผู้ประกันตนยื่นเรื่องกลับเข้าสู่ระบบแล้ว 375,000 คน

สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่สิ้นสภาพ สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิกลับเป็นผู้ประกันตนได้ที่เว็บไซต์ www.sso.go.th หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ได้ที่สำนักงานประกันสังคมทุกแห่ง ทั่วประเทศ และสายด่วน 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง

ที่มา: Thai PBS, 3/4/2562

ประธาน สพศท. ชี้ มติ ครม.เร่งผลิตแพทย์ 2.4 หมื่นคนภายในปี 2570 ยังไม่ตอบโจทย์ แนะต้องให้ความสำคัญเรื่องการรักษาแพทย์ให้อยู่ในระบบควบคู่กันไปด้วย

นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร ประธานสมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย (สพศท.) ให้ความเห็นถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการผลิตแพทย์เพิ่ม อนุมัติงบผลิตบัณฑิตและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในสถาบันฝ่ายผลิตแพทย์ 34,838.4 ล้านบาท พร้อมกรอบวงเงินงบประมาณผูกพันอีก 58,497.2 ล้านบาท รวมเป็น 93,335.6 ล้านบาท เพื่อผลิตแพทย์เพิ่ม 2 ระยะ รวมเป็น 24,562 คน ภายในปี 2570 และตั้งเป้าหมายเพิ่มอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากร 1:1,200 คน ในปี 2576 ว่าหากถ้าดูตามตัวเลขขององค์การอนามัยโลกแล้ว ประเทศไทยก็ยังขาดแคลนแพทย์อยู่ ในกรุงเทพมหานครตัวเลขอาจจะเกิน แต่ในต่างจังหวัดบางพื้นที่มีทั้งขาดแคลนน้อยและขาดแคลนมาก ขณะเดียวกัน ปัจจุบันเมืองไทยอาศัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นคนดูแลคนไข้และคนไข้ก็หวังจะได้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้วย ดังนั้นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญบางสาขาก็ยังขาดแคลนเช่นกัน

อย่างไรก็ดี หากถามว่ามีการผลิตแพทย์เพิ่มขึ้นจะช่วยหรือไม่ ตนคิดว่าสามารถช่วยได้ส่วนหนึ่งแต่ปัญหาที่เจอทุกวันนี้คือแพทย์ไหลออกจากระบบอย่างสม่ำเสมอ เปรียบเหมือนเลือดยังไหลอยู่ ดังนั้นสิ่งที่น่าจะทำควบคู่กันไปหรือให้ความสำคัญมากขึ้นคือทำให้แพทย์อยู่ในระบบได้ การเร่งผลิตอย่างเดียวไม่ตอบโจทย์ เพราะถ้าน้ำไหลออกก็ต้องอุดรูรั่วก่อนเติมเข้าไปใหม่ ถ้ายังมีรูรั่วอยู่ก็จะแก้ปัญหาได้ไม่ดีนัก

ขณะเดียวกัน สพศท. ยังกังวลด้วยว่าการเร่งผลิตแพทย์จำนวนมากๆ จะกระทบกับคุณภาพ เพราะเป็นเรื่องธรรมดาที่เมื่อเร่งผลิตมากขึ้นๆ จะกระทบต่อคุณภาพไม่มากก็น้อย สุดท้ายก็จะเกิดผลกระทบต่อประชาชนอยู่ดี

"สรุปว่าการผลิตเพิ่มขึ้นดี แต่ต้องมีอย่างอื่นควบคู่กับไปด้วย ถ้าเร่งผลิตอย่างเดียวมันไม่ตอบโจทย์ 10 ปีที่ผ่านมาผลิตแพทย์เยอะแยะ เราเปิดโรงเรียนแพทย์ในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปของกระทรวงสาธารณสุขจากเดิมที่มีอยู่ไม่กี่แห่ง แต่ผมว่ามันยังไม่ตอบโจทย์ ยิ่งคนรุ่นใหม่ด้วยก็แตกต่างจากคนรุ่นก่อน ไม่ยอมทนแบบหมอสมัยเก่าๆ ถ้ามีช่องทางที่คิดว่าทำให้คุณภาพชีวิตเขาดีกว่าเดิม เขาก็ตัดสินใจไปอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ไปเปิดคลินิคเอง ยิ่งตอนนี้ธุรกิจแพทย์ความงามกำลังบูม รายได้ดี งานเบา เขาก็ไหลไป หรือภาคเอกชนที่เติบโตอย่างมาก ถ้ามีช่องทางที่ดีกว่าเขาก็ไป หรืออีกส่วนคือไม่เป็นแพทย์เลย ไปทำอย่างอื่นเลยเพราะช่วงนี้แพทย์มีความเสี่ยงถูกฟ้องร้องด้วย" นพ.ประดิษฐ์ กล่าว

สำหรับแนวทางการรักษาแพทย์ให้อยู่ในระบบได้นั้น นพ.ประดิษฐ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการศึกษาเยอะแล้ว จึงขอไม่ลงในรายละเอียด แต่ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาเรื่องคุณภาพชีวิต ภาระงานหนัก แพทย์บางส่วนยังทำงานมากเกินไปจนแทบไม่มีเวลาหยุด หรือเรื่องค่าตอบแทน ถ้าทำงานหนักค่าตอบแทนก็ควรสมเหตุสมผล แต่ปัจจุบันยังมีข่าวค้างค่าตอบแทนแพทย์ออกมาเป็นระยะๆ อยู่เลย หรือเรื่องอื่นๆ เช่นความก้าวหน้าในอาชีพด้วย 3-4 ประเด็นนี้ต้องตอบโจทย์ ไม่อย่างนั้นก็แก้ปัญหาการไหลออกไม่ได้ และรัฐบาลต้องช่วยด้วยเพราะเรื่องเหล่านี้อาจเกินกำลังกระทรวงสาธารณสุขโดยเฉพาะเรื่องการเงินการคลัง

ที่มา: hfocus.org, 3/4/2562

อบรมแรงงานฝีมือแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบชั้น ม.3 ที่ จ.แม่ฮ่องสอน

สำนักงานตรวจการแผ่นดิน ร่วมกับ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดอบรมแรงงานฝีมือแก่นักเรียนรุ่นแรก ตามโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบชั้น ม.3 ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานแม่ฮ่องสอน เพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่จบการศึกษาภาคบังคับแล้วไม่ได้เรียนต่อ เนื่องจากครอบครัวมีฐานะยากจน นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ตรวจการแผ่นดินกล่าวว่า การอบรมเพิ่มทักษะอาชีพให้แก่นักเรียนรุ่นแรกจำนวน 33 คน เรียนช่างซ่อมจักรยานยนต์ และช่างเย็บผ้าด้วยจักรอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นอาชีพที่ตลาดแรงงานของจังหวัดแม่ฮ่องสอนต้องการอย่างมาก จึงเป็นหลักประกันได้ว่าทุกคนมีงานทำอย่างแน่นอน ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้วางแผนระยะการติดตามประเมินผล เพื่อสรุปเป็นคู่มือ “แม่ฮ่องสอนโมเดล” ใช้เป็นต้นแบบในพื้นที่อื่นทั่วประเทศ

จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีสถานศึกษาที่จัดการศึกษาภาคบังคับทั้งหมด 82 แห่ง (ไม่รวม กศน.) มีนักเรียนที่มีข้อจำกัดทำให้ไม่สามารถเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายได้ จำนวน 87 คน มี 33 คน ที่ต้องการเข้ารับการฝึกอบรมใน 2 วิชาชีพ สาขาช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ ระยะฝึกอบรม 6 เดือน จำนวน 27 คน และ สาขาช่างเย็บผ้าด้วยจักรอุตสาหกรรม ระยะฝึกอบรม 4 เดือน จำนวน 6 คน พร้อมฝึกงานต่อในสถานประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชน ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน ในฐานะ “แรงงานฝีมือ” สร้างรายได้และความมั่นคงในอาชีพต่อไป

ที่มา: สำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 จังหวัดเชียงใหม่, 3/4/2562

แรงงานเผยยอดทำหนังสือคนประจำเรือกว่า 6 พันคน – ปัตตานี มีแรงงานขอ Seabook มากที่สุด

กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เผยยอดแรงงานกัมพูชา ลาว เมียนมา มาจัดทำหนังสือคนประจำเรือ (Seabook) เพื่อทำงานอยู่ในประเทศไทย 5,714 คน พบเป็นเมียนมามากที่สุด 3,397 คน รองลงมาเป็นกัมพูชา 2,182 คน และลาว 135 คน

โดยปัตตานีครองแชมป์แรงงานต่างด้าวขอ Seabook มากสุด ขณะที่ รมว.แรงงานย้ำชัดเร่งแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานประมงอย่างต่อเนื่อง หากประสงค์จะจ้างแรงงานต่างด้าวให้นำเข้าตามระบบ MOU

นางเพชรรัตน์ สินอวย อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้กรมการจัดหางานแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2561 และ 29 มกราคม 2562 เห็นชอบให้มีการเปิดลงทะเบียนนายจ้างและจัดทำหนังสือคนประจำเรือ (Seabook) เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงนั้น

ปรากฏว่าตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2561– 31 มีนาคม 2562 มีนายจ้างมาลงทะเบียนจำนวน 2,241 ราย แจ้งความต้องการแรงงานต่างด้าวจำนวนทั้งสิ้น 27,894 คน โดยจังหวัดที่ต้องการแรงงานมากที่สุด 5 อันดับแรกคือ 1. ปัตตานี 5,430 คน 2. ตราด 3,271 คน 3. ชุมพร 3,237 คน 4. ระยอง 3,152 คน 5. สมุทรสงคราม 2,118 คน

ขณะที่มีแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา มาจัดทำหนังสือคนประจำเรือ (Seabook) ตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2561 – 31 มีนาคม 2562 จำนวนทั้งสิ้น 5,714 คน เป็นกัมพูชา 2,182 คน ลาว 135 คน เมียนมา 3,397 คน จังหวัดที่มีแรงงานมาจัดทำ Seabook มากที่สุด 5 อันดับแรกคือ 1. ปัตตานี 1,087 คน 2. ประจวบคีรีขันธ์ 731 คน 3. ชุมพร 612 คน 4. ตราด 476 คน 5. สมุทรสงคราม 464 คน

นางเพชรรัตน์ฯ กล่าวต่อว่า หากนายจ้างประสงค์จะนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงาน ขอให้นำเข้าตามระบบ MOU ซึ่งดำเนินการได้ 2 กรณี คือ 1) นายจ้างเป็นผู้ดำเนินการเอง 2) นายจ้างมอบอำนาจให้ผู้รับอนุญาตดำเนินการ โดยในปี 2561 มีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตาม MOU เพื่อทำงานในประเทศไทย จำนวน 470,530 คน และปี 2562 (ต.ค.61-มี.ค.62) มีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตาม MOU เพื่อทำงานในประเทศไทย จำนวน 200,740 คน

ทั้งนี้ นายจ้างสามารถยื่นคำร้องขอนำเข้าแรงงาน หรือติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ในเขตพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ หรือสายด่วน กระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: ข่าวสด, 3/4/2562

กยศ. ขอให้ลูกหนี้ผิดนัด 2 ล้านราย ให้รีบมาเข้าโครงการปิดบัญชีก่อนหมดเขตสิ้นเดือน พ.ค. 2562 จะได้สิทธิรับลดเบี้ยปรับให้เหลือ 85%

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ขอให้แจ้งเตือนลูกหนี้ กยศ. ที่ผิดนัดชำระหนี้กว่า 2 ล้านราย ให้เข้าร่วมมาตรการจูงใจให้ผู้กู้ยืมมาชำระหนี้ปิดบัญชีเพิ่มเติมซึ่งจะหมดเขตในสิ้นเดือน พ.ค. 2562 นี้ เพื่อให้ได้สิทธิรับลดเบี้ยปรับให้เหลือ 85% ของเบี้ยปรับ เพราะหากมาหลังจากนั้นจะต้องเสียเบี้ยปรับเต็มจำนวน และ กยศ. จะไม่มีการขยายเวลาออกไปแล้ว

“ที่ผ่านมายอมรับว่าลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระยังเข้าร่วมมาตรการจูงใจฯ ค่อนข้างน้อย แต่คาดว่าในช่วง 1-2 เดือนสุดท้ายน่าจะเข้ามาเยอะขึ้น เพราะถือเป็นมาตรการพิเศษที่ออกมาเป็นการเฉพาะและจะไม่มีการออกเพิ่มอีกแล้ว ส่วนการออกระเบียบเพื่อให้สิทธิสำหรับกลุ่มผู้กู้ยืมปกติที่ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ หรือผู้กู้ยืมชั้นดี หรือผู้กู้ยืมที่อยู่ในช่วงปลอดหนี้และต้องการปิดบัญชีเงินกู้ก่อนกำหนด ยังจะได้รับการลดหย่อนเงินต้น 3% ต่อไปโดยไม่มีหมดเขต ซึ่งระบบจะทำการลดหนี้ให้อัตโนมัติเมื่อผู้กู้ยืมติดต่อชำระหนี้ปิดบัญชีที่หน้าเคาน์เตอร์ของธนาคารกรุงไทย หรือธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

นายชัยณรงค์กล่าวว่า สำหรับการดำเนินมาตรการหักบัญชีเงินเดือนลูกหนี้ กยศ. ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยในกลุ่มข้าราชการและลูกจ้างที่ได้รับเงินเดือนผ่านระบบจ่ายตรงเงินเดือนและค่าจ้างประจำของกรมบัญชีกลาง ซึ่งเริ่มหักตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2561 เป็นต้นมา ประมาณ 165,000 ราย ได้รับชำระหนี้แล้วกว่า 240 ล้านบาทต่อเดือน และในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา กยศ. ได้หักเงินเดือนผู้กู้ยืมอีกกว่า 80,000 ราย ที่ทำงานอยู่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ อบจ. เทศบาล อบต. กว่า 3,700 แห่ง และหน่วยงานภาคเอกชนรายใหญ่ 20 แห่ง ผ่านระบบรับชำระเงินคืนของกรมสรรพากร ได้รับเงินชำระหนี้กว่า 134 ล้านบาท

“ตอนนี้กองทุนได้รับความร่วมมือจากกรมสรรพากรที่มีส่วนช่วยในการรับชำระเงินคืน ทำให้คาดว่าทั้งปีจะหักบัญชีเงินเดือนลูกหนี้กลุ่มนี้ได้ 5,000 ล้านบาท และทั้งปีนี้กองทุนจะได้รับเงินชำระหนี้เพิ่มเป็น 30,000 ล้านบาท สูงสุดในประวัติศาสตร์ อีกทั้งยังทำให้สถิติการฟ้องร้องและบังคับคดีต่างๆ น่าจะลดลงด้วย จากหลักแสนรายต่อปีอาจจะลดลงเหลือหลักหมื่นราย และตลอดปีนี้กองทุนฯ จะมีการทยอยหักบัญชีเงินเดือนลูกหนี้เพิ่มอีกตั้งเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 5 แสนราย”

ส่วนสถานการณ์ปล่อยกู้ยืมลูกหนี้ในปีนี้จะเริ่มคำร้องรับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2562 โดยเตรียมงบประมาณไว้กว่า 3 หมื่นล้านบาท รองรับนักเรียน นักศึกษาทั้งหน้าเก่า และหน้าใหม่ให้กู้ยืมได้ไม่ต่ำกว่า 6 แสนคน สำหรับสถานะผู้กู้ยืมในปัจจุบันที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้มี 3.6 ล้านราย ในจำนวนนี้เป็นผู้กู้ที่มีการผ่อนชำระหนี้ตามปกติ 1.3 ล้านราย คิดเป็น 40% และผู้กู้ที่ผิดนัดชำระหนี้ 2.3 ล้านราย คิดเป็น 60% และยังผู้กู้ที่อยู่ในช่วงปลอดหนี้ 885,662 ราย ผู้กู้ที่ชำระหนี้เสร็จสิ้น 904,888 ราย

ที่มา: ข่าวสด, 1/4/2562

ร้อง สธ.ห้ามนำตำแหน่งว่างไปบรรจุสายงานอื่น พร้อมขอคืนตำแหน่งว่างให้สายงานเดิม

เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2562 เครือข่ายบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข เรียกร้องการปฏิรูปฯที่เป็นธรรม ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 3 เนื่องในวันที่ 1 เมษายน 2562 เป็นวันข้าราชการพลเรือนไทย เสนอ 5 แนวทางการแก้ปัญหากำลังคนสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้มีความเป็นธรรม สร้างแรงจูงใจในการทำงานของบุคลากรทุกวิชาชีพทุกสายงานในกระทรวงสาธารณสุข ดังนี้

1.กรณีการเลือกปฏิบัติในการบรรจุข้าราชการ และความไม่เป็นธรรมในการบริหารจัดการตำแหน่งว่าง ควรมีมาตรการ

1.1 ห้ามมีการยุบเลิกการบรรจุข้าราชการของสายงานสนับสนุนและสายงานรองทุกสายงาน และพิจารณาจัดสรรตำแหน่งว่างที่เหลืออีก 10,830 ตำแหน่ง มาใช้ในการบรรจุ ปรับตำแหน่ง แต่ละสายงาน แต่ละวิชาชีพในสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข อย่างเป็นธรรม

1.2 ห้ามมิให้กระทรวงสาธารณสุขนำตำแหน่งว่างของเจ้าพนักงานเภสัชกรรม เจ้าพนักงานสาธารณสุข นักวิชาการสาธารณสุข นำไปปรับตำแหน่งในตำแหน่งเภสัชกร หรือสายงานอื่นๆอีกต่อไป เว้นแต่นำมาบรรจุ ปรับตำแหน่งในสายงานตนเองเท่านั้น

1.3 ควรมีการคืนตำแหน่งว่าง ที่เคยนำไปปรับไปให้สายงานอื่นๆ ปีละหลายร้อยตำแหน่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาให้สายงานเดิม เพื่อนำมาใช้ในกรณี

-การบรรจุผู้ที่รอบรรจุมานานนับสิบปีในแต่ละสายงาน

-การเรียกบรรจุผู้ที่สอบขึ้นบัญชี (ว.80)สำนักปลัดกระทรวง อีกสามร้อยกว่าตำแหน่งในทุกเขต ก่อนจะหมดบัญชีในเดือนกันยายน 2562 รวมถึงเรียกบรรจุผู้ที่สอบขึ้นบัญชี (ว.80) ในกรมกองต่างๆด้วย

-การปรับตำแหน่งตามหลักเกณฑ์ ว.16 ชายแดนใต้ ควรดำเนินการตามหลักเกณฑ์อย่างต่อเนื่องทุกปี ควรดำเนินการปรับตำแหน่งให้ได้ ปีละ 2 ครั้ง (ตามมติคณะทำงาน ว.16)โดยในปี 2562 ยังไม่มีความคืบหน้าในการปรับตำแหน่งแม้สักครั้งเดีย

1.4 ห้ามมีการเลือกปฏิบัติในการบรรจุข้าราชการ

ขอให้รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการบรรจุข้าราชการทุกวิชาชีพทุกสายงานอย่างเป็นธรรมทุกๆปี ในกลุ่มที่เป็นลูกจ้าง พนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะคนที่ทำงานมานานเกิน 5-10 ปี และจัดสรรบุคลากรให้ครอบคลุมทุกหน่วยงานในส่วนภูมิภาค (รพ.สต. รพศ. รพท. รพช. สสอ.และ สสจ) ให้มีอัตรากำลังครบถ้วนตามโครงสร้างใหม่ (อย่าเลือกปฏิบัติบรรจุแค่บางสายงาน ซึ่งไม่ได้มีปัญหาความขาดแคลนแต่มีปัญหาการกระจายตัว กระจุกในตัวเมือง และไหลออกไปเอกชนต่างหาก)

2.ประเด็นปัญหาความเป็นธรรมในเรื่องเงินเดือน ค่าจ้าง และค่าตอบแทน

2.1 กรณีการเรียกเงินเดือนเกินสิทธิ์คืน ห้ามมิให้หน่วยงานมีการเรียกคืนเงินเดือนเกินสิทธิ์ในระยะเวลาจำกัด และให้กระทรวงสาธารณสุขควร

ชี้แจงมาตรการที่ได้หารือกับกระทรวงการคลังกรณีการเรียกเงินเดือนเกินสิทธิ์คืนให้ชัดเจนว่าผลออกมาเป็นอย่างไร พร้อมทั้งสั่งการให้ทุกจังหวัดดำเนินการตามมาตรการดังดังกล่าว และดูแลขวัญกำลังใจบุคลากรที่ต้องคืนเงิน ที่มาจากการทำงานไม่รอบคอบของผู้เกี่ยวข้องด้วย

2.2 กรณีการเรียกคืนเงินค่าตอบแทน ห้ามมิให้มีการเรียกคืนค่าตอบแทนฉบับ 11 หากมีคุณสมบัติครบตามหลักเกณฑ์ กรณีที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าตรวจ แล้วตีความการจ่ายค่าตอบแทนไม่เป็นคุณ ทั้งนี้ให้กระทรวงสาธารณสุขชี้แจงระเบียบหลักเกณฑ์ของค่าตอบแทนให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเข้าใจ และตีความระเบียบให้ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของการจ่ายค่าตอบแทนฉบับดังกล่าวด้วย

2.3 กรณีจ้างลูกจ้างในอัตราต่ำกว่ากฎหมายแรงงาน (เฉลี่ย 4,500-6,000 บาท) ห้ามมิให้หน่วยงานในหน่วยงานสาธารณสุขทุกระดับจ้างลูกจ้างในอัตราต่ำกว่ากฎหมายแรงงาน ซึ่งถือว่าส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของลูกจ้างในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ขอให้รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนงบประมาณแก่หน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข ให้สามารถจ้างในอัตราไม่น้อยกว่าขั้นต่ำของกฎหมายแรงงาน และควรมีการดูแลสิทธิ สวัสดิการ ลูกจ้าง พนักงานกระทรวงพนักงานราชการด้วย

3.กรณีความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนของกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่10 ชายแดนใต้ ให้รัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุขประกาศยกเลิกค่าตอบแทน ฉบับ10 ชายแดนใต้ทันที เนื่องจากมีความซ้ำซ้อน ไม่เป็นธรรม ใช้งบประมาณเงินบำรุงที่ทุกวิชาชีพช่วยกันทำงาน แต่เบิกจ่ายได้แค่ 4 วิชาชีพ แล้วนำมาเพิ่มในเงินเสี่ยงภัยหรือค่าตอบแทนสำหรับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่พิเศษ(สปพ)ให้ไม่น้อยกว่าข้าราชการอื่นแทน(3,500-5,000 บาท) รวมทั้งควรปรับปรุงระเบียบเพิ่มในค่าเสี่ยงภัยชายแดนใต้ให้ครอบคลุมในกลุ่มลูกจ้างประเภทต่างๆ ด้วย(1,000-2,000 บาท) จะเหมาะสมกว่า

4.กรณีความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนของกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 11 และ 12 ให้กระทรวงสาธารณสุขยกร่างหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนฉบับที่ 11 และ 12 ขึ้นมาใหม่ ให้ชัดเจน เป็นธรรม อธิบายได้ ไม่ต้องตีความมาก ไม่เหลื่อมล้ำสูงมากอย่างในปัจจุบัน เพราะบางสายงาน ได้ 0 บาทในขณะที่บางวิชาชีพ ได้ค่าตอบแทนสูงถึง 60,000 บาทต่อเดือน ทั้งนี้หลักเกณฑ์ใหม่ทียกร่าง ควรพิจารณาให้ครอบคลุมทุกสายงาน(รวม back office) ทุกวิชาชีพ (รวมเวชสถิติ และโสตทัศนศึกษา : เวชสาธิต) ทุกหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข (รวม สสอ. สสจ.)

นอกจากนี้หากยกเลิกค่าตอบแทนฉบับ 10 และยกร่างหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนฉบับที่11และ 12 ขึ้นมาใหม่แล้ว ควรหันมาปรับเพิ่มค่าตอบแทนในส่วนค่าเวร ค่าหัตถการ ค่า พตส.ต่างๆ ให้ครอบคลุมเหมาะสมแทน เพราะเป็นค่าตอบแทนจากภาระงานจริงๆ ซึ่งอธิบายได้ง่ายกว่า ค่าตอบแทนฉบับ 10-11-12

5.กรณีความเหลื่อมล้ำเงินเดือนและอายุราชการ ขอให้รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข มีการพิจารณาเยียวยากรณีความเหลื่อมล้ำเงินเดือนและอายุราชการ ของทุกกลุ่มที่ถูกลดเงินเดือน หรืออายุราชการหายให้รอบด้าน และดำเนินการเยียวยาให้เสร็จสิ้นภายในปีงบประมาณ 2562 และถึงแม้การเรียกร้องของทุกชมรมองค์กรต่างๆในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จะไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารกระทรวงหลายครั้ง แต่ก็เป็นบทบาทของงานบุคลากร งานอัตรากำลัง กองกฎหมาย และกองนโยบายและแผน ของกระทรวงสาธารณสุข ที่ควรจะมีความพร้อมในการนำทุกข้อเสนอ ทุกข้อร้องเรียนในหลายปีที่ผ่านมาให้ผู้บริหารทุกท่านทราบเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป เพื่อเป็นการดูแลบุคลากรสาธารณสุขทุกระดับ เพื่อให้เป็นขวัญกำลังใจในการทำงานและดำรงชีวิตอย่างเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

ทั้งนี้การลดความเหลื่อมล้ำ มิได้หมายถึงการเรียกร้องให้ทุกวิชาชีพ ทุกสายงาน ให้ได้รับสิทธิ์ที่เท่ากัน แต่คือการให้สิทธิ์ในอัตราและสัดส่วนที่ลดหลั่นกันอย่างเหมาะสม อธิบายได้ จูงใจบุคลากรทุกคน

และเนื่องในวันที่ 1 เมษายน 2562 เป็นวันข้าราชการพลเรือนไทย จึงอยากให้บุคลากรในกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นข้าราชการ และอยากเป็นข้าราชการ ได้รับการบรรจุเป็นของขวัญ และทุกวิชาชีพ ทุกสายงาน ได้รับความเป็นธรรมตามที่เสนอ เพื่อส่งเสริมความรัก ความปรองดอง ร่วมกันทำงานแบบสหสาขาวิชาชีพ เปรียบเสมือนคนในครอบครัวเดียวกันต่อไป

ทั้งนี้เครือข่ายบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข เรียกร้องการปฏิรูปฯที่เป็นธรรม ก่อตั้งขึ้นมาเนื่องจากต้องการดูแลพิทักษ์สิทธิ ความก้าวหน้า ค่าตอบแทน ให้มีความเป็นธรรมต่อทุกวิชาชีพทุกสายงานในกระทรวงสาธารณสุข และเห็นพ้องต้องกันว่า ควรมีการลดความเหลื่อมล้ำ และลดชนชั้นภายในกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และมีความคาดหวังให้ทุกข้อเสนอที่ทุกองค์กรเคยแยกกันยื่นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จะถูกนำมายื่นติดตาม ให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาและแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที

โดยเครือข่ายบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข เรียกร้องการปฏิรูปฯที่เป็นธรรม ได้ระบุว่า สมาชิกของเครือข่ายฯ จากทุกองค์กร ถือว่าเป็นกลุ่ม “มดงานกระทรวงสาธารณสุข" ในการดำเนินการตามตัวชี้วัดและนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขตลอดมา และเป็นฟันเฟืองในการให้บริการดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่อย่างเข้มแข็ง เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุขที่ว่า “ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน”

แต่จากการที่กระทรวงสาธารณสุขมีบุคลากรจากจาก 8 วิชาชีพ 20 กว่าสายงาน จึงพบว่ายังมีปัญหาในเรื่องการดูแลสิทธิ ขวัญกำลังใจ ความก้าวหน้า ค่าตอบแทนต่างๆ ให้ครอบคลุมทุกวิชาชีพ และทุกสายงาน เช่น การเลือกปฏิบัติในการบรรจุข้าราชการ ความไม่เป็นธรรมในการบริหารจัดการตำแหน่งว่าง และความเหลื่อมล้ำในเรื่องเงินเดือน ค่าจ้าง และค่าตอบแทน

ที่มา: hfocus.org, 1/4/2562

ติวเข้มแรงงานไทยภาคเกษตร สร้างภูมิคุ้มกันก่อนไปอิสราเอล

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานปิดการฝึกอบรมพร้อมมอบวุฒิบัตรและให้โอวาทแก่ผู้ผ่านการฝึกอบรม ตามโครงการพัฒนาศักยภาพแรงงานไทยตามความต้องการของตลาดแรงงานในต่างประเทศ (อิสราเอล) ณ อาคารอเนกประสงค์ กองพลพัฒนาที่ 2 จังหวัดนครราชสีมา โดยมี นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน นางเพชรรัตน์ สินอวย อธิบดีกรมการจัดหางาน ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน พลตรีวรชัย คุณกมุท ผู้บัญชาการกองพลพัฒนาที่ 2 ร่วมพิธี

ทั้งนี้ นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวต้อนรับผู้เข้าอบรมประกอบด้วยคนหางานที่ผ่านการสัมภาษณ์และอยู่ระหว่างรอการเดินทางไปทำงานภาคเกษตรที่ประเทศอิสราเอล ภายใต้โครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอล เพื่อการจัดหางาน (TIC) จำนวน 101 คน อบรมระหว่างวันที่ 19-22 มีนาคม 2562

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังมอบวุฒิบัตรแก่คนงานไทยที่เตรียมเดินทางไปทำงานประเทศอิสราเอลว่า ปัจจุบันมีแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศประมาณ 445,963 คน มีเม็ดเงินกลับประเทศปีละ 144,593 ล้านบาท ทำงานที่ประเทศอิสราเอลภายใต้โครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอล เพื่อการจัดหางาน (TIC) จำนวน 24,746 คน เป็นแรงงานเกษตร 22,871 คน ในนิคมเกษตรจำนวนกว่า 700 แห่ง นายจ้างเกษตรอิสราเอลประมาณ 7,100 ราย และในปี 2562 มีเป้าหมายจัดส่งจำนวน 5,000 คน ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานอิสราเอลประมาณ 75,000-77,000 บาท ระยะเวลาจ้างงานตามสัญญาจ้างงาน 2 ปี สามารถต่อสัญญาจ้างงานได้ ขึ้นอยู่กับการต่อใบอนุญาตการจ้างแรงงานต่างชาติของนายจ้างและวีซ่าการทำงาน รวมระยะเวลาการทำงานแล้วไม่เกิน 5 ปี 3 เดือน ค่าจ้างขั้นต่ำเดือนละ 5,300 เชคเกลอิสราเอล หรือประมาณ 46,799 บาท (ตามประกาศอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ณ วันที่ 1 เมษายน 2561) โดยขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น

สวัสดิการ ได้แก่ 1.ประกันสังคมแห่งชาติ 2.ประกันสุขภาพส่วนบุคคล เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของแรงงานทั้งด้านร่างกายและจิตใจก่อนเดินทางไปทำงาน กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานจึงได้จัดอบรมหลักสูตรให้ความรู้ เสริมสร้างทักษะด้านการเกษตรและการใช้เครื่องมือ/อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง และเตรียมความพร้อมให้คนหางานที่จะเดินทางไปทำงาน

ภาคเกษตรในอิสราเอลมีความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย ขนบธรรมเนียมประเพณี ภาษาอังกฤษ การใช้ชีวิตและการดูแลสุขภาพของตนเองในขณะทำงาน โดยจัดอบรมเป็นเวลา 4 วัน ได้รับความร่วมมือจากกองบัญชาการกองพลพัฒนาที่ 2 อ.เมือง จ.นครราชสีมา ให้ใช้สถานที่ฝึกอบรมและที่พัก ทั้งยังสนับสนุนวิทยากรในหัวข้อวิชาที่เกี่ยวข้อง ส่วนหัวข้อวิชาด้านการเกษตร ภาษาอังกฤษและอื่นๆ ได้รับการสนับสนุนวิทยากรจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา

สำหรับเนื้อหาหลักสูตรจะเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับระเบียบวินัย การดูแลสุขภาพและป้องกันตนเองจากยาเสพติด ระบบเกษตรพื้นฐาน เช่น การปลูกพืช การจัดการดินและปุ๋ย การจัดการน้ำ การอารักขาพืช และการเก็บเกี่ยว เป็นต้น ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร การใช้สารเคมีที่ถูกต้องปลอดภัยและป้องกันตนเองจากสารเคมี ฝึกปฏิบัติการปฐมพยาบาล ด้านการเกษตร การใช้อุปกรณ์ป้องกันสารเคมี กิจกรรมทักษะชีวิต การทำงานในอิสราเอล สัญญาจ้างงาน และการคำนวณ เงินเดือน

รมว.แรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้แรงงานทุกคนตั้งใจทำงาน เก็บออม ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด พร้อมนำความรู้และประสบการณ์ กลับมาต่อยอดพัฒนาบ้านเกิด เป็น "สมาร์ท ฟาร์มเมอร์" สามารถนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านการเกษตรมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีการผลิตและระบบบริหารจัดการ และสอดคล้องกับความต้องการของแต่ละพื้นที่

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานห่วงใยในความปลอดภัยและชีวิตการทำงานของคนงานไทย ซึ่งได้คุ้มครองดูแลโดยให้มีการทำประกันสังคม เพื่อสร้างหลักประกันที่มั่นคงในการทำงาน และขอย้ำให้แรงงานไทยมั่นใจได้ว่า รัฐบาลจะดูแลคนงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศอย่างเต็มที่ทั้งก่อนเดินทาง ระหว่างการทำงานและกลับมาประเทศไทย โดยแรงงานจะต้องเดินทางไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อได้รับการคุ้มครอง และไม่ต้องตกระกำลำบากอยู่ในต่างแดน และเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ.

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์, 1/4/2562

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net