Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ภารกิจสืบหาข้อเท็จจริง โดย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, ณ หมู่เกาะสุรินทร์, จังหวัดพังงา 18-19 กุมภาพันธ์ 2562

 

เมื่อหมู่บ้านชาวมอแกนลุกเป็นไฟ

ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2562 ได้เกิดเพลิงลุกไหม้หมู่บ้านชาวมอแกนที่อ่าวบอนใหญ่ หมู่เกาะสุรินทร์ ทำลายบ้านเรือน 61 หลัง ส่งผลให้ชาวบ้านไร้ที่อยู่อาศัยอย่างน้อย 237 คน[1]  ในบรรดาผู้ได้รับผลกระทบเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีเป็นจำนวน 76 คน โดยเป็นเด็กผู้หญิงจำนวน 35 คน มีอย่างน้อยหนึ่งคนได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย นอกจากนั้นยังมีเรือประมง 34 ลำ เครื่องยนต์เรือ 38 เครื่อง และเครื่องปั่นไฟ 11 เครื่องได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้ สร้างความทุกข์ยากให้กับชาวบ้านที่ต้องพึ่งพาอาศัยการประมงพื้นบ้านเพื่อเลี้ยงชีพ หลังได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (มสผ.) ได้จัดทีมสำรวจข้อมูลในพื้นที่ในหมู่บ้านระหว่างวันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ 2562

ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของชาวมอแกน

ชาวมอแกน เป็นหนึ่งในกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองทางทะเลที่มักเรียกกันว่า “ชาวเล” เช่นเดียวกับชาวมอแกลนและชาวอุรักลาโว้ย[2] ชาวมอแกนอาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่งทะเลอันดามันตามแนวพรมแดนระหว่างไทย-เมียนมา ในอดีต ชาวมอแกนมีวิถีชีวิตแบบหาของป่า-ล่าสัตว์ (hunter-gatherer) และมีชีวิตกึ่งเร่ร่อน อพยพไปตามที่ต่าง ๆ อาศัยอยู่ในเรือไม้แบบพื้นบ้านในทะเลที่เรียกว่า “เรือก่าบาง” และทำประมงพื้นบ้านเพื่อยังชีพ[3] ในช่วงฤดูมรสุม (พฤษภาคม-ตุลาคม) พวกเขาจะพากันอพยพขึ้นฝั่ง อาศัยอยู่ในบ้านพักแบบชั่วคราว อย่างไรก็ดี หลังการถือกำเนิดของรัฐชาติสมัยใหม่และการแบ่งเส้นพรมแดนประเทศ ชาวมอแกนถูกบังคับให้ต้องปฏิบัติตามระเบียบของรัฐอย่างเคร่งครัด การไปมาหาสู่ เดินทางข้ามพรมแดนทะเลกลายเป็นความผิดทางอาญา ทำให้ชาวมอแกนจำนวนมากถูกลงโทษโดยเจ้าหน้าที่รัฐ วิถีชีวิตของพวกเขาจึงเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง[4]

พื้นที่หลายแห่งในประเทศไทยซึ่งเคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวมอแกน ได้ถูกประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเล เป็นเหตุให้หน่วยงานอุทยานแห่งชาติมีบทบาทสำคัญในการเข้ามาจัดการและบังคับใช้กฎระเบียบที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวมอแกนโดยตรง[5] ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2524 เมื่อหมู่เกาะสุรินทร์ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ มีการออกกฏระเบียบห้ามชาวมอแกนตัดไม้ในป่าบนเกาะเพื่อสร้างหรือซ่อมเรือกาบังได้[6] ระหว่างการลงพื้นที่ มสผ.พบว่าชาวมอแกนที่หมู่เกาะสุรินทร์ไม่มีเรือก่าบางเหลืออยู่อีกแล้ว พวกเขาจึงไม่สามารถมีวิถีชีวิตแบบเดิมได้และจำต้องโยกย้ายครอบครัวไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในกระท่อมริมชายฝั่งด้วยความจำเป็น[7] นอกจากนี้ ตามนโยบายอนุรักษ์ชายฝั่งทะเลของรัฐบาล พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้ขายของที่เก็บมาจากทะเลให้กับชุมชนที่อยู่บนฝั่งได้[8] ชาวมอแกนส่วนใหญ่จึงต้องทำงานเป็นคนขับเรือ คนทำกับข้าว หรือขายงานฝีมืออยู่ในอุทยานแห่งชาติ[9]

แม้การมีชุมชนชาวมอแกนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่เจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่ได้ปฏิบัติกับชาวบ้านด้วยความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมมนุษย์ของเขาเลย นอกจากนี้ ยังไม่มีความพยายามในการพัฒนาศักยภาพชาวมอแกนให้สามารถปรับตัวกับโลกร่วมสมัยได้ เนื่องจากรัฐต้องการรักษาภาพลักษณ์ที่แปลกตา (exoticize) ของชาวมอแกนซึ่งนักท่องเที่ยวชื่นชอบ[10] ดังที่ ชาวมอแกนคนหนึ่งกล่าวกับเจ้าหน้าที่มสผ.ถึงเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ว่า “เขาอยากให้เราอยู่ที่นี่ แค่เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาที่อุทยานแห่งชาติเท่านั้น”[11]

ในระหว่างการลงพื้นที่ มสผ.พบว่าชาวมอแกนต้องเผชิญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การบังคับไล่รื้อและการบังคับให้อพยพไปอยู่ในที่จัดสรรใหม่ การไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและการศึกษา สภาพการทำงานที่เสี่ยงอันตราย และภาวะไร้รัฐ อย่างไรก็ดี รายงานนี้ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อบันทึกข้อมูลอย่างครอบคลุมเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนทุกแง่มุมของชาวมอแกน แต่ต้องการชี้ให้เห็นปัญหาสิทธิมนุษยชนบางประการที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ภัยพิบัติดังกล่าว โดยมุ่งเน้นชี้ให้เห็นว่า รูปแบบการให้ความช่วยเหลือของรัฐยังมีข้อบกพร่องหลายประการซึ่งเปิดช่องให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นได้


“เขาไม่เคยถามเราเลยต้องการอะไร”: เมื่อความช่วยเหลือถูกมองเป็นงานสังคมสงเคราะห์

1. การออกแบบบ้านใหม่

ทันทีที่ได้รับทราบเกี่ยวกับเหตุการณ์ไฟไหม้หมู่บ้านมอแกน อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์และกองทัพเรือไทยเข้าให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับเหยื่อเพลิงไหม้อย่างรวดเร็ว มีการส่งมอบเงินและสิ่งของจำนวนมากให้กับชาวบ้าน ไม่นานหลังจากนั้น ทางการได้ส่งเจ้าหน้าที่ 94 นายไปยังหมู่บ้านเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากภัยพิบัติและปลูกสร้างบ้านเรือนใหม่[12] เจ้าหน้าที่ทหารมีแผนสร้างบ้านเรือนใหม่ให้แล้วเสร็จภายในปลายเดือนมีนาคมหรือต้นเดือนเมษายน จึงเริ่มทำการก่อสร้าง มีการขุดหลุมและวางฐานรากพร้อมกับปักเสาสำหรับสร้างบ้าน 61 หลังอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดี ในระหว่างนี้ไม่มีการปรึกษาหารือใด ๆ กับชาวมอแกนเลย ทั้งเรื่องการวางแผนสร้าง ขนาดและรูปแบบของบ้านใหม่ รวมทั้งกระบวนการบูรณปฏิสังขรณ์หมู่บ้าน

ชาวมอแกนในหมู่เกาะสุรินทร์มักอาศัยกัน 2-3 ครอบครัวในบ้านหนึ่งหลัง โดยแต่ละครอบครัวจะมีสมาชิกโดยเฉลี่ย 4-5 คน บ้านหนึ่งหลังจึงต้องสามารถรองรับผู้อยู่อาศัยจำนวนกว่า 8-15 คน ได้ รัฐบาลวางแผนจัดสรรที่ปลูกสร้างบ้านใหม่แต่ละหลังที่ 3 x 6.5 ตารางเมตร ซึ่งถือว่าขนาดเล็กจนไม่สามารถรองรับคนจำนวนมากเช่นนี้ได้อย่างแน่นอน ในเวลาต่อมา เครือข่ายชาวเลอันดามันได้เข้าไปพูดคุยและเจรจาจนภาครัฐเปลี่ยนโครงสร้างบ้านให้เป็นขนาด 5 x 8.5 ตารางเมตรในแต่ละหลัง แต่รัฐบาลก็ยังไม่ปรึกษาหารือกับชุมชนเกี่ยวกับความต้องการของพวกเขาจริงจัง ชาวบ้านจำนวนมากจึงยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับการออกแบบบ้านดังต่อไปนี้:

  • บ้านแต่ละหลังปลูกชิดกันมากเกินไป ภาครัฐได้ตัดสินใจปลูกสร้างบ้านใหม่ในพื้นที่ 6.1 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่แคบๆ ที่เดิมซึ่งอุทยานจัดไว้ให้ชาวบ้านอาศัยอยู่ แม้ว่าทางชุมชนเห็นว่าควรมีการขยายพื้นที่อาศัยเพื่อป้องกันภัยพิบัติในอนาคต แต่พื้นที่ที่จัดสรรให้เล็กมากจนกระทั่งหลังคาบ้านแต่ละหลังชนกัน หากมีบ้านใดบ้านหนึ่งในหมู่บ้านเกิดเพลิงไหม้ขึ้นมาในภายหลัง การออกแบบเช่นนี้ย่อมทำให้ไฟลุกลามไปบ้านหลังอื่นอย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้น
  • ไต้ถุนบ้านต่ำเกินไป (สูงประมาณ 1.35 เมตร) เดิมที ชาวบ้านมอแกนใช้พื้นที่นี้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจและที่ผูกและซ่อมแซมเรือกาบัง อย่างไรก็ดี การออกแบบบ้านเช่นนี้ทำให้ไม่สามารถทำกิจกรรมเช่นนี้ได้อีก

มสผ.กังวลกับการออกแบบในรูปแบบนี้ ซึ่งไม่เหมาะแก่การอาศัยอยู่ของชาวมอแกนและเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติขึ้นซ้ำในอนาคต


ภาพบ้านที่อยู่ระหว่างก่อสร้างในหมู่บ้านชาวมอแกน โดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม, 19 กุมภาพันธ์ 2562

ก่อนหน้านี้ เมื่อเกิดเหตุสึนามิในปี 2547 บ้านเรือนจำนวนมากของชาวมอแกนถูกทำลาย แหล่งทุนต่างชาติและหน่วยงานรัฐจึงเข้าไปในพื้นที่และพยายามช่วยสร้างบ้านใหม่ให้พวกเขา McDuie-Ra และคณะนักวิชาการจากคณะสังคมศาสตร์ของ University of New South Wales (2556) ได้ทำงานวิจัยศึกษาปัญหาการทิ้งร้างบ้านไลออนส์ ณ เกาะพระทอง ในอ.คุระบุรี จ.พังงา ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มูลนิธิสโมสรไลออนส์สากล (Lions Clubs International Foundation) และองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ร่วมกันสร้างขึ้นให้ชาวมอแกนหลังประสบภัยพิบัติดังกล่าว งานชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า ชาวมอแกนเลือกไม่อาศัยอยู่บ้านไลออนส์เนื่องจากผู้สร้างไม่ปรึกษาหารือและเปิดโอกาสให้ชาวบ้านชาวมอแกนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบบ้าน โดยอาศัยการคิดเอาเองว่าชาวบ้านต้องการอะไรผ่านจินตนาการที่มาจากภาพเหมารวมเกี่ยวกับชาติพันธุ์มอแกน บ้านที่สร้างเสร็จจึงไม่สามารถอาศัยอยู่ได้เนื่องจากออกแบบมาไม่สอดคล้องกับความต้องการของชาวมอแกน[13] กรณีชาวมอแกนที่เกาะสุรินทร์ก็คงไม่ต่างกันนัก หากภาครัฐยังเพิกเฉยต่อความเห็นของชาวมอแกนต่อไป บ้านที่สร้างใหม่อ่าวบอนใหญ่ก็อาจจะมีชะตากรรมเดียวกับบ้านไลออนส์ได้

2. การบริจาคช่วยเหลือ

เมื่อไปถึงที่หมู่บ้านชาวมอแกนที่อ่าวบอนใหญ่ เราพบว่าชาวบ้านได้รับความช่วยเหลือจำนวนมากในรูปของอาหาร เสื้อผ้า และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ อย่างไรก็ดี ของบริจาคจำนวนมากที่ได้มากลับไม่ตรงกับความต้องการของชุมชน ระหว่างการสำรวจพื้นที่บ้านที่ถูกเพลิงไหม้ เราพบเห็นเสื้อผ้าใช้แล้วที่ผู้คนนำมาบริจาคถูกทิ้งเป็นจำนวนมากจนกองเป็นพะเนิน เนื่องจากชาวบ้านไม่ได้ต้องการ กองเสื้อผ้านี้ได้กลายเป็นสนามเด็กเล่นของเด็กชาวมอแกนไป ดร.นฤมล อรุโณทัย นักมานุษยวิทยาจากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ลงพื้นที่สำรวจหมู่บ้านเเดียวกัน แสดงความกังวลไว้ว่า สิ่งของบริจาคเหล่านี้กำลังกลายเป็นขยะในที่สุด[14]  ถ้าหากเป็นเช่นนั้น ของบริจาคเหล่านี้ไม่เพียงจะเปล่าประโยชน์ แต่จะกลายเป็นภาระให้ชาวบ้านต้องหาทางกำจัด เช่นเดียวกับปัญหาเรื่องการออกแบบและขนาดของบ้าน สิ่งของบริจาคที่ใช้การไม่ได้ที่เพิ่มมากขึ้น เป็นผลโดยตรงมาจากการขาดการมีส่วนร่วมของชาวมอแกนในการวางแผนยุทธศาสตร์เพื่อให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ทั้งนี้เพื่อช่วยให้องค์กรและบุคคลภายนอกสามารถตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของชุมชนได้[15]

“เราแค่อยากได้เชือกเทียนและลูกปัดไปทำสร้อย แต่เขาไม่เคยถามเราเลยว่าต้องการอะไร”

- ชาวมอแกนคนหนึ่ง

3. การช่วยเหลือทางอาชีพ

ระหว่างที่ชาวมอแกนรอการก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จ รัฐบาลไทยคอยมอบความช่วยเหลือด้านอาหาร ที่พักพิงชั่วคราว และสิ่งของจำเป็นอื่น ๆ อยู่อย่างไม่ขาดสาย แม้ว่าจะสามารถตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของชาวบ้านส่วนใหญ่ได้ แต่หลายคนแสดงความอึดอัดใจซึ่งเป็นผลมาจากการควบคุมจำกัดของราชการต่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของพวกเขา ก่อนเกิดเหตุเพลิงไหม้ ครอบครัวชาวมอแกนทุกครอบครัวในหมู่เกาะสุรินทร์ หารายได้จากการถักสร้อยเพื่อให้เด็กเอาไปขายที่อุทยานแห่งชาติ แต่เหตุเพลิงไหม้ทำให้พวกเขาสูญเสียเชือกเทียนและลูกปัดที่ใช้ทำสร้อย รวมทั้งเผาทำลายเงินสดไปจำนวนหนึ่งด้วย

“เราแค่อยากได้เชือกเทียนและลูกปัดไปทำสร้อย ” หญิงสาวชาวมอแกนคนหนึ่งบอก “แต่เขาไม่เคยถามเราเลยว่าต้องการอะไร”[16] หญิงชาวบ้านหลายคนสะท้อนความรู้สึกแบบเดียวกัน ทำให้เห็นความตั้งใจของชาวมอแกนที่จะพึ่งพาตนเองและเป็นอิสระ[17] อย่างไรก็ดี นับแต่เงินสดที่เก็บไว้ถูกเผาไป พวกเขาไม่สามารถซื้อวัสดุมาทำสร้อยเพื่อหาเลี้ยงชีพได้อีกและตั้งตัวใหม่ได้อีก

นอกจากไม่ปรึกษาหารือถึงความต้องการของชาวบ้านแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐยังไม่เห็นความสำคัญของงานของชาวบ้าน เมื่อเจ้าหน้าที่มสผ.สอบถามเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนจากอำเภอคุระบุรีว่าจะช่วยเหลือซื้อวัสดุในการทำสร้อยให้กับชาวบ้านได้หรือไม่ เจ้าหน้าที่กลับปฏิเสธและกล่าวว่า ชาวบ้านจะเริ่มทำสร้อยขายได้อีก ก็ต่อเมื่อการสร้างบ้านใหม่แล้วเสร็จ “ตอนนี้พวกเขาต้องพึ่งพิงความช่วยเหลือจากเราไปก่อน จริงๆ แทนที่จะทำสร้อย เขาก็มาช่วยงานอย่างอื่นของเราก็ได้ แต่คนพวกนี้ส่วนใหญ่ขี้เกียจกัน” เจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนจากอำเภอคุระบุรีกล่าว[18] ทัศนคติเต็มไปด้วยอคติทางเชื้อชาติซึ่งนำไปสู่การเหมารวมด้านลบต่อกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย รวมทั้งชาวมอแกนด้วย งานวิจัยจำนวนมากชี้ให้เห็นว่า กระบวนการสร้างรัฐชาติไทยมีความผูกติด ยึดโยงกับแนวคิดว่าชาติพันธุ์ไทยเหนือกว่ากลุ่มอื่นๆ ทำให้เกิดการกีดกันกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองต่างๆ และผลักออกไปอยู่ที่ชายขอบ กระบวนการทำให้เป็นชายขอบนี้ได้รับความชอบธรรมผ่านการสร้างภาพเหมารวมว่า  กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองเป็นตัวสร้างปัญหา เป็นพวก “ล้าหลัง” “ไร้ความสามารถ” และ “ขี้เกียจ”[19] ซึ่งมีผลตามมาคือ

  1. กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองถูกกีดกันจากกระบวนการตัดสินใจที่มีผลกระทบโดยตรงกับชุมชนของตนเองได้ เพราะเป็นคนไร้ความสามารถ จึงต้องการการชี้นำ บังคับสั่งการซึ่งมีลักษณะจากบนลงล่าง (top-down) จากเจ้าหน้าที่รัฐไปสู่ชาวบ้านและรวมศูนย์ (centralized) จากส่วนกลางลงไปในพื้นที่
     
  2. เจ้าหน้าที่รัฐมีอคติทางเชื้อชาติซึ่งบดบังให้ไม่พร้อมรับฟังความต้องการของชาวบ้าน  โดยมองว่าชาวบ้านไม่มีความรู้พอที่จะทราบความต้องการของตนเองดีพอ

มสผ.มิได้มีเจตนาที่จะบอกว่า ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของรัฐไร้ความหมายและส่งผลกระทบเพียงแต่ในแง่ลบ มสผ.ขอชื่นชมเจ้าหน้าที่รัฐที่ได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือด้านที่พักพิงและอาหารกับชาวมอแกนอย่างรวดเร็วภายหลังเหตุการณ์ การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างทันท่วงทีเช่นนี้ ช่วยชีวิตชาวบ้านได้เป็นจำนวนมาก และช่วยฟื้นฟูศักดิ์ศรีและความมั่นคงของพวกเขาในยามวิกฤต รายงานฉบับนี้เพียงต้องการชี้ให้เห็นว่า แม้รัฐบาลไทยจะมีเจตนาดี แต่เมื่อขาดการมีส่วนร่วมของชุมชนในกระบวนการบูรณปฏิสังขรณ์ ประกอบกับอคติทางเชื้อชาติ ทำให้การช่วยเหลือของรัฐบาลเป็นงานสังคมสงเคราะห์ที่ไม่ได้สนใจความต้องการของชาวบ้านที่ต้องการจะช่วยอย่างแท้จริง ซึ่งนอกจากจะไม่สามารถทำให้ชาวบ้านเกิดความเข้มแข็ง หากยังส่งผลให้ชาวมอแกนอยู่ในสภาพที่เปราะบางและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้มากยิ่งขึ้น ในปัจจุบันชาวบ้านส่วนใหญ่ได้แต่นั่งงอมืองอเท้า พึ่งพาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากภาครัฐและเอกชนเพียงอย่างเดียว


ข้อเสนอแนะด้านนโยบายและกฎหมาย: มุ่งสู่สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองของชาวมอแกน

เพื่อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2562  นายวิทวัส เทพสง ตัวแทนเครือข่ายชาวเลอันดามัน ยื่นจดหมายต่อนายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกินและพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชาวเลและชาวกะเหรี่ยง  จดหมายฉบับนี้เรียกร้องให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชะลอการสร้างบ้านในหมู่บ้านชาวมอแกนในหมู่เกาะสุรินทร์เป็นการชั่วคราว และมีข้อเรียกร้องดังนี้[20]

1. ให้ระงับการสร้างบ้านเรือนใหม่เป็นการชั่วคราว เนื่องจากขนาดของบ้านไม่เหมาะแก่การอยู่อาศัยของ 2-3 ครัวเรือน ซึ่งควรอยู่ร่วมกันในบ้านหลังเดียว

2. คณะกรรมการฟื้นฟูกิจการและวัฒนธรรมชนเผ่าพื้นเมืองควรเข้ามารับหน้าที่จัดการการสร้างบ้านตามมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล 2 มิถุนายน 2553 โดยคณะกรรมการจะประสานงานกับตัวแทนของหมู่บ้านชาวมอแกนในหมู่เกาะสุรินทร์ เพื่อให้มีมติใหม่ซึ่งเห็นชอบร่วมกันระหว่างภาครัฐกับชาวบ้าน 

3. จะมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อสนับสนุนการสร้างบ้านและยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวมอแกน

ข้อเรียกร้องเหล่านี้ไม่ได้แตกต่างไปจากเจตนาของภาครัฐที่จะฟื้นฟูคุณภาพชีวิตชาวมอแกน ตามมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล 2 มิถุนายน 2553 มากนัก มติคณะรัฐมนตรีนี้ระบุว่า รัฐบาลจะจัดทำมาตรการระยะสั้นเพื่อความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย ความช่วยเหลือด้านสาธารณสุข การพิสูจน์สัญชาติ การเข้าถึงการศึกษา การส่งเสริมวัฒนธรรม การขจัดการเหมารวมด้านเชื้อชาติ และการจัดสรรงบประมาณให้กับเครือข่ายชาวเล และกำหนดแผนระยะยาวที่จะจัดทำ “พื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ” สำหรับชาวเลให้สอดคล้องกับวิถีทางวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตน[21] อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาไม่เคยมีการปฏิบัติตามมตินี้อย่างจริงจัง จากข้อมูลในรายงานนี้ ชาวมอแกนในหมู่เกาะสุรินทร์ยังคงต้องเผชิญกับปัญหาการบังคับไล่รื้อ/การบังคับให้ไปอาศัยในที่จัดสรรใหม่ และการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ด้วยเหตุดังกล่าวมสผ.จึงขอเป็นกระบอกเสียงให้กับเครือข่ายชาวเลอันดามัน และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามพันธกิจที่จะคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของชาวมอแกน โดยให้มีการปฏิบัติตามมติข้อนี้อย่างเป็นผล

นอกจากนั้น ข้อเสนอตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2553 อาจไม่เพียงพอที่จะคุ้มครองให้ชาวมอแกนไม่ต้องเผชิญกับการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนในเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะว่ามติฉบับนี้ไม่ได้ระบุไว้โดยตรงว่าชาวมอแกนควรมีสิทธิเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่างๆ ที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับชุมชนของพวกเขาโดยตรง ด้วยเหตุนี้  มสผ.จึงเชื่อว่ารัฐบาลไทยควรปฏิบัติตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งได้เคยให้พันธกิจเอาไว้ โดยใช้เป็นแนวทางชี้นำมาตรการเพื่อคุ้มครองชาวมอแกน ยกตัวอย่างเช่น ในฐานะเป็นรัฐภาคีของปฏิญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง (United Nation Declaration on the Rights of Indigenous Peoples - UNDRIP) และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (International Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination-ICERD) ประเทศไทยมีพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ ในการจัดมาตรการเพื่อประกันว่าชาวมอแกนและชนพื้นเมืองกลุ่มอื่น ๆ เข้าถึงสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับสถานการณ์ของชาวมอแกนในหมู่เกาะสุรินทร์

ข้อ 4 ของปฏิญญา UNDRIP กำหนดว่า “ในการใช้สิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง ชนเผ่าพื้นเมืองมีสิทธิในความเป็นอิสระ หรือในการปกครองตนเองในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกิจการภายในและกิจการในท้องถิ่นของตน รวมทั้งวิธีและแนวทางในการสนับสนุนทางการเงินแก่หน่วยกิจกรรมอันเป็นอิสระของตน” Anna Cowan นักวิจัยด้านกฎหมายประจำ Lauterpacht Centre for International Law ที่สหราชอาณาจักรได้วิเคราะห์ตัวบทของปฏิญญา UNDRIP  ไว้ว่า “สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง” สำหรับชนเผ่าพื้นเมืองในที่นี้ประกอบไปด้วยหลักการสำคัญ 2 ประการ คือ[22]

 

1.) เสรีภาพจากการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ (ข้อ 2)

   ข้อ 2: “ชนเผ่าพื้นเมืองและบุคคลที่เป็นชนเผ่าพื้นเมืองมีเสรีภาพและความเสมอภาคเท่าเทียมกับกลุ่มคนและบุคคลอื่น ๆ และมีสิทธิที่จะใช้สิทธิของตนโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะบนพื้นฐานของความเป็นชนเผ่าพื้นเมืองโดยกำเนิดหรือโดยอัตลักษณ์ของตน”

 

2.) การมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในกระบวนการตัดสินใจ (ข้อ 18)

   ข้อ 18: “ชนเผ่าพื้นเมืองมีสิทธิที่จะเข้าร่วมในการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อสิทธิของพวกเขา โดยผ่านผู้แทนที่พวกเขาเลือกเองตามกระบวนการของตนเอง และในการธำรงรักษาและพัฒนาสถาบันที่ทำหน้าที่ตัดสินใจอันเป็นลักษณะของชนเผ่าพื้นเมืองของตนเอง”

หากรัฐใดไม่สามารถบังคับใช้หลักการใดหลักการหนึ่ง ก็จะไม่สามารถทำให้พลเมืองที่เป็นชนเผ่าพื้นเมืองมีสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเองอย่างแท้จริง ยกตัวอย่างเช่น แม้จะมีกลไกให้ชนเผ่าพื้นเมืองเข้าร่วมในกระบวนการตัดสินใจต่างๆ แต่หากสังคมยังไม่ปลอดจากอคติทางเชื้อชาติ กลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองยังถูกมองอย่างเหมารวมว่า “ไร้ความสามารถ” การมีส่วนร่วมนั้นก็จะไร้ความหมายใดๆ เพราะไม่มีใครพร้อมฟังเสียงกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองจริงๆ ในทำนองเดียวกันแม้ว่าสังคมจะขจัดอคติทางเชื้อชาติไปได้ แต่โครงสร้างของสังคมยังคงลิดรอนสิทธิในการมีส่วมร่วมในกระบวนการตัดสินใจต่างๆ ของชาติพันธุ์ ก็จะส่งผลให้คนกลุ่มนี้ไม่ได้รับสิทธิในการกำหนดอนาคตตัวเองได้อย่างแท้จริงเช่นกัน หลักการสองอย่างนี้จึงแยกขาดกันไม่ได้และรัฐบาลไทยควรรับรองว่าจะสร้างมาตรการที่ทำให้สนับสนุนสองหลักการนี้พร้อมๆ กัน

นอกจากปฏิญญา UNDRIP แล้ว ประเทศไทยยังมีพันธกรณีหลายประการตามอนุสัญญา ICERD ในปี 2540 คณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบได้ออก “ข้อเสนอแนะทั่วไปข้อ 21 ว่าด้วยสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง”(General Recommendation No. 21: Right to self-determination) ซึ่งกระตุ้นรัฐภาคีให้ “สร้างหลักประกันว่าชนเผ่าพื้นเมืองมีสิทธิที่เท่าเทียมในการมีส่วนร่วมอย่างเป็นผลในชีวิตสาธารณะ และประกันว่าจะไม่มีการตัดสินใจใด ๆ ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิทธิและผลประโยชน์ของพวกเขา โดยไม่ได้รับความยินยอมที่เกิดจากความเข้าใจของพวกเขาเสียก่อน” อีกทั้ง ข้อเสนอแนะนี้ยังชี้ว่ารัฐภาคีควร “ยอมรับและคุ้มครองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองในการเป็นเจ้าของ พัฒนา ควบคุม และใช้ประโยชน์จากที่ดินในชุมชน ดินแดนและทรัพยากรของตน” ในการทบทวนพันธกิจของประเทศไทยที่มีต่ออนุสัญญา ICERD

นอกจากนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 มสผ.ร่วมกับองค์กรภาคีได้เสนอรายงานคู่ขนานต่อคณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ รายงานฉบับนี้ได้ชี้ให้เห็นถึงการขาดการมีส่วนร่วมของชุมชนพื้นเมืองในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่น ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่คล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวมอแกนในเกาะสุรินทร์[23] สุดท้าย คณะกรรมการได้ออกข้อสังเกตเชิงสรุป (Concluding observation) คณะกรรมการแสดงข้อกังวลแบบเดียวกันว่ามีการละเมิดสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองและว่ารัฐบาลไทยขาดกลไกในการแก้ปัญหาการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ จึงเสนอแนะให้ประเทศไทยเคารพพันธกิจที่มีต่อสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง สอดคล้องกับอนุสัญญา ICERD และปฏิญญา UNDRIP[24]

ตามหลักกฏหมายในประเทศและพันธกรณีต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ประเทศไทยต้องรับประกันให้ชาวมอแกนมีสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง  โดยให้สามารถเข้าร่วมในกระบวนการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของตนอย่างเต็มที่ และให้ปลอดจากการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติและการเหมารวมในเชิงลบใด ๆ มสผ.จึงมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้

  1. แผนการพัฒนาทุกฉบับต้องได้รับความยินยอมอย่างเสรี มีการแจ้งล่วงหน้าและเกิดจากความเข้าใจของชุมชนชาวมอแกน ก่อนจะเริ่มดำเนินการ รัฐบาลควรจัดทำกลไกเพื่อให้หมู่บ้านชาวมอแกนปกครองตนเองได้ โดยสามารถเป็นแกนนำการออกแบบ จัดทำ และติดตามผลการพัฒนาในชุมชนของตนเองได้
     
  2. รัฐบาลควรสนับสนุนให้ชาวมอแกนมีส่วนร่วมอย่างสม่ำเสมอในโครงสร้างการตัดสินใจ และการบริหารท้องถิ่น ทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น นอกจากนั้น รัฐบาลควรสนับสนุนความช่วยเหลือด้านการเงินและด้านภาษา เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างเป็นผล
     
  3. เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องเข้ารับการอบรมเกี่ยวกับการไม่เลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ เพื่อขจัดแนวคิดแบบเหมารวมด้านลบและอคติที่มีต่อชนเผ่าพื้นเมือง

 

 

หมายเหตุ: เอกสารนี้จัดทำขึ้นในการขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากสหภาพยุโรป (EU) รายงานไม่ได้สะท้อนความเห็นและนโยบายอย่างเป็นทางการของ EU แต่อย่างใด

 

อ้างอิง

[1] จากสถิติของทางการ หมู่บ้านแห่งนี้เคยมีชาวบ้านอาศัยอยู่ 375 คนใน 81 ครัวเรือนก่อนจะเกิดเพลิงไหม้

[2] Arunotai, Narumon, 2006. Moken traditional knowledge: an unrecognized form of natural resources management and conservation. International Social Science Journal, น. 140.

[3] Ethnic Group Livelihood Strategies and State Integration: Moken and the Hill People in Negotiation with the State, น.56

[4] อ้างแล้ว น.126

[5] โปรดดูเพิ่มเติมที่ https://www.mokenislands.com/moken-people/

[7] มูลนิธิผสานวัฒนธรรมสัมภาษณ์ชาวมอแกน, 19 กุมภาพันธ์ 2562

[8]  ฮิวแมนไรท์วอทช์, “Stateless at Sea: The Moken of Burma and Thailand,” https://www.hrw.org/report/2015/06/25/stateless-sea/moken-burma-and-thailand#

[9] มูลนิธิผสานวัฒนธรรมสัมภาษณ์ หมู่บ้านชาวมอแกน, 18 กุมภาพันธ์ 2562

[10] ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้เชี่ยวชาญด้านชาติพันธุ์และการพัฒนาประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้อธิบายไว้ในงานประชุม Multiculturalism in Thailand: Concept, Policy and Practice (2555) ว่า ตั้งแต่ช่วงทษวรรษ 1980s รัฐบาลไทยได้เริ่มใช้นโยบาย “พหุวัฒนธรรมแบบเลือกปฏิบัติ” (selective multiculturalism) ในการใช้ประโยชน์จากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ โดยการสร้างภาพลักษณ์ที่แปลกตา น่าตื่นตาตื่นใจ (exoticization) เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่ภาครัฐและคนไทยส่วนใหญ่ยังคงเหมารวมว่ากลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เป็น ”ตัวสร้างปัญหา” อยู่ดี, น. 132. ดูเพิ่มเติมที่ http://www.lc.mahidol.ac.th/lcjournal/FullPaper/JLC32-1-Alexander-HM.pdf

[11] มูลนิธิผสานวัฒนธรรมสัมภาษณ์ชาวมอแกน, 19 กุมภาพันธ์ 2562

[12] 35 นายมาจากกองบัญชาการ มณฑลทหารบกที่ 45, 7 นายมาจากกองพันทหารราบที่ 25 กรมทหารราบที่ 3, 29 นายมาจากหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 45 และ 46 และ 23 นายมาจากกองบัญชาการ ทัพเรือภาคที่ 3

[13] McDuie-Ra, Robinson, & Kaewmahanin, “Spatial dysfunction in post-tsunami Baan Lion: Taking The Moken beyond vulnerability and tradition” (2556)

[14] โปรดดูเพิ่มเติมที่ https://www.bangkokpost.com/news/general/1630670/the-moken-fight-for-more-space

[15] การประเมินความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของรัฐบาลไทยโดยมสผ. มีพื้นฐานมาจากหลักการในหนังสือ Sphere Handbook ที่จัดทำโดยหน่วยงานกาชาดและเอ็นจีโอด้านมนุษยธรรมอื่น ๆ คู่มือดังกล่าวเน้นความสำคัญของการมีส่วนร่วมอย่างเป็นผลของชุมชนที่ได้รับผลกระทบในกระบวนการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โปรดดู https://handbook.spherestandards.org/

[16] มูลนิธิผสานวัฒนธรรมสัมภาษณ์ผู้หญิงชาวมอแกน, 19 กุมภาพันธ์ 2562

[17] มูลนิธิผสานวัฒนธรรมสัมภาษณ์ผู้หญิงชาวมอแกน, 19 กุมภาพันธ์ 2562

[18] มูลนิธิผสานวัฒนธรรมสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายพลเรือน ณ หมู่บ้านชาวมอแกน, 19 กุมภาพันธ์ 2562

[19] โปรดดูอย่างเช่น พัชรินทร์ ณวิชัย, Ethnic Group Livelihood Strategies and State Integration: Moken and the Hill People in Negotiation with the State (2551); Sun Mee Lee, Construction of Moken Identity in Thailand: a Case of Kuraburi (2552), Patcharin Nawichai’s Ethnic Group Livelihood Strategies and State Integration: Moken and the Hill People in Negotiation with the State (2551); Reiner Guergin, “Contested Rights of Local Communities and Indigenous Peoples in the context of the Biocultural Turn in Environment and Development Discourses” (2556); Micah F. Morton,  Reframing the Boundaries of Indigeneity: State-Based Ontologies and Assertions of Distinction and Compatibility in Thailand (2560)

[20] โปรดดูเพิ่มเติมที่ http://transbordernews.in.th/home/?p=20105

[21] โปรดดูเพิ่มเติมที่ http://www.cabinet.soc.go.th/soc/Program2-3.jsp?top_serl=223933

[22] Cowan, Anna, “UNDRIP and the Intervention: Indigenous Self-Determination, Participation, and Racial Discrimination in the Northern Territory of Australia” (2013) โปรดดูเพิ่มเติมที่ https://digital.law.washington.edu/dspace-law/bitstream/handle/1773.1/1233/22PRLPJ247.pdf?sequence=1&isAllowed=y

[23] รายงานคู่ขนานของ Coalition on Racial Discrimination Watch (2555) เสนอต่อคณะกรรมกาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://voicefromthais.files.wordpress.com/2012/08/shadow-report-thai-english_submission-to-un-cerd-new1.pdf

[24] CERD/C/THA/CO/1-3

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net