Skip to main content
sharethis

ประชาชนในเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี หลายพันคนเดินขบวนประท้วงแสดงความไม่พอใจการขึ้นค่าเช่าที่อยู่อาศัย รวมถึงเรียกร้องให้มีการเวนคืนที่ดินนับแสนแห่งที่ถูกขายให้เอกชนกลับมาเป็นของรัฐ อย่างไรก็ตามทางการเบอร์ลินบอกว่าการแก้ปัญหาด้วยการเวนคืนนั้นจะมีค่าใช้จ่ายสูงมากและควรนำเงินจำนวนนั้นไปสร้างที่พักอาศัยใหม่จะดีกว่า ที่มาภาพ: citinewsroom.com

เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2562 ที่ผ่านมาประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี หลายพันคนเดินขบวนประท้วงเรื่องการขึ้นค่าเช่าที่และเรียกร้องให้มีการเวนคืนอพาร์ตเมนต์มากกว่า 200,000 แห่งที่ถูกขายทอดให้กับเจ้าของที่ดินเอกชน มีข้อวิจารณ์ว่าการขายทอดให้กับเอกชนเหล่านี้ทำให้ลักษณะเฉพาะของเมืองเบอร์ลินเปลี่ยนไป

มีการประเมินว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาค่าเช่าที่อยู่อาศัยของกรุงเบอร์ลินสูงขึ้นมากเป็นเท่าตัว ซึ่งนอกจากการประท้วงในกรุงเบอร์ลินแล้วยังมีผู้ประท้วงในประเด็นใกล้เคียงกันในเมืองมิวนิคและในโคโลญจน์ด้วย มีผู้รณรงค์บางส่วนเปิดล่ารายชื่อเรียกกร้องให้มีการทำประชามติในประเด็นนี้ โดยเรียกร้องให้เวนคืนที่ดินของเอกชนรายใดก็ตามที่เป็นเจ้าของงอพาร์ทเมนต์มากกว่า 3,000 แห่ง ซึ่งมีผลโพลระบุว่าถ้าหากมีการทำประชามติในเรื่องนี้จริงจะทำให้ฝ่ายทางการกรุงเบอร์ลินต้องพิจารณาเวนคืนที่ดินกลับมาเป็นของรัฐ

จากข้อมูลในปี 2562 ของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในเยอรมนี CBRE Berlin และธนาคารสินเชื่อ Berlin Hyp AG ระบุว่าค่าเช่าในตัวเมืองเบอร์ลินตอนนี้โดยเฉลี่ยราคาสูงกว่า 10 ยูโร (ราว 350-360 บาท) ต่อตารางเมตรแล้ว ซึ่งสูงขึ้นกว่าเดิมร้อยละ 5 เทียบกับปีที่ผ่านมา รวมทั้งค่าเช่าในย่านชานเมืองก็เริ่มสูงขึ้นตาม

กลุ่มผู้ประท้วงเดินขบวนผ่านใจกลางกรุงเบอร์ลินพร้อมกับรูปโมเดลปลาฉลามยักษ์และป้ายที่เขียนว่า "ต่อต้านนักเก็งกำไรและนักเก็บค่าเช่าแบบขูดเลือดขูดเนื้อ" 

รุซเบห์ ทาแฮรี ผู้จัดการประท้วงในครั้งนี้กล่าวว่า "พวกเรามีประสบการณ์ที่แย่มากกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์เหล่านี้เป็นเวลาหลายปีแล้ว และพวกเราก็รู้ว่าพวกเขาเอาใจแต่ผู้ถือหุ้นและไม่สนใจใยดีผู้อยู่อาศัย พวกเราไม่ต้องการให้พวกเขาอยู่ในเมืองเราอีกต่อไปแล้ว"

หลังจากมีการรวมประเทศเยอรมนีตะวันตกกับตะวันออกเมื่อปี 2533 เป็นต้นมากรุงเบอร์ลินก็กลายเป็นสถานที่ดึงดูดศิลปิน นักดนตรี และนักศึกษา มานากลายสิบปีสาเหตุเพราะค่าเช่าที่พักอาศัยถูกกว่าที่อื่นๆ ในเมืองใหญ่ๆ ของยุโรป มีชาวเบอร์ลินร้อยละ 85 เช่าบ้านอยู่แทนการเป็นเจ้าของ แต่ในช่วงราวสิบปีที่ผ่านมาค่าเช่าก็ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัว รวมถึงมีการขายที่ดินต่อให้กับภาคส่วนเอกชนซึ่งจำนวนมากเป็นแลนด์มาร์กโครงการเคหะตั้งแต่สมัยยุคคอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นตัวอย่างจัดแสดงภายใต้การปกครองของเยอรมนีตะวันออก

กลุ่มหลักที่ผู้ประท้วงในครั้งนี้ต่อต้านคือ "ดอยช์เช โวห์เนน" เจ้าของที่ดินเอกชนรายใหญ่ที่สุดซึ่งเป็นเจ้าของแฟลตราว 115,000 แห่ง ซึ่งจากผลโพลล์เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมาระบุว่าชาวเบอร์ลินร้อยละ 44 สนับสนุนการทำให้แฟลตกลับไปเป็นของรัฐอีกครั้ง ขณะที่ร้อยละ 39 ต่อต้านความคิดนี้

ทางด้านดอยช์เซ โวห์เนน และเจ้าของที่ดินอื่นๆ บอกว่าการเวนคืนอาจจะยิ่งทำให้ปัญหาแย่ลงจากการสกัดกั้นไม่ให้เกิดการก่อสร้างใหม่ๆ ไมเคิล ซาห์น ผู้อำนวยการใหญ่ของดอยช์เซ โวห์เนน กล่าวว่า "การเวนคืนจะไม่ช่วยแก้ปัญหาตลาดอสังหาฯ ที่ตีบตันอย่างหนักในเบอร์ลิน"

ขณะที่วุฒิสมาชิกของเบอร์ลินกล่าวว่าการเวนคืนจะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ในระดับที่ประเมินได้ว่าเงินทุนในจำนวนนี้ควรจะนำมาใช้สร้างที่อยู่อาศัยใหม่ๆ แทนการเวนคืน นอกจากนี้พวกเขายังเสนอว่าควรจะมีการระงับการขึ้นค่าเช่าภายในช่วงระยะเวลา 5 ปี


เรียบเรียงจาก

Berlin activists march to demand city seize housing from landlords, Euronews, 06-04-2019
https://www.euronews.com/2019/04/06/berlin-activists-march-to-demand-city-seize-housing-from-landlords

Berlin protests: Thousands gather for march against rising rent prices, BBC, 06-04-2019
https://www.bbc.com/news/world-europe-47839821

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net