Skip to main content
sharethis

รายงานสัมมนา Thailand Update 2019 วิเคราะห์ผลเลือกตั้งชายแดนใต้ สถานการณ์การลงคะแนนที่ไม่แน่นอน การเมืองชนชั้นสูง และระเบียบทางการเมืองใหม่ ชี้ไทยกำลังอยู่ในสังคมประชาธิปไตยแบบโอ๋ ที่กลุ่มอำนาจเก่าในสังคมไม่ยอมให้ประชาชนได้เรียนรู้วิถีประชาธิปไตยด้วยตนเอง เปิดสภาพเศรษฐกิจและการทหาร รวมทั้งสื่อและความยุติธรรม ขณะที่ ดันแคน แมคคาโก เสนอ “Generation Game” อธิบายสถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบัน  

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ณ มหาลัยโคลัมเบีย มลรัฐนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการจัดสัมมนาทางวิชาการในหัวข้อ Thailand Update 2019 ขึ้น โดยการนำของ ดันแคน แมคคาโก ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และศาสตราจารย์รัฐศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยลีดส์ โดยงานสัมมนา Thailand Update นี้เป็นงานสัมมนาวิชาการเกี่ยวกับประเทศไทยซึ่งมุ่งครอบคลุมทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยการประชุมนี้ได้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 แล้ว

การสัมมนาในปีนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ Thailand Update 2019 : เข้าใจการเลือกตั้ง จัดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 26 มี.ค.2562 เพียงไม่กี่วันหลังจากการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกของไทยหลังเว้นจากการเลือกตั้งมาเป็นเวลาเกือบ 8 ปี การเสวนาในช่วงแรกเป็นการพูดถึงการเลือกตั้งในภาพรวม ( Elections in Context ) นำโดย ดวงยิหวา อุตรสินธุ์ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และอภิชัย ชิปเปอร์ ( Apichai Shipper ) อาจารย์จากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ( Georgetown University)

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองชายแดนใต้

ดวงยิหวา เป็นผู้เริ่มการเสวนาในหัวข้อความเปลี่ยนแปลงและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเริ่มจากการตั้งข้อสังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นระหว่างการเลือกตั้ง 2562 นี้ เช่น การตื่นตัวทางการเมืองอย่างมากของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งเก่าและใหม่ (new voter) และการเข้ามามีส่วนร่วมขององค์กรภาครัฐและโซเชียลมีเดียที่มีบทบาทอย่างมากในการหาเสียงเลือกตั้งในครั้งนี้

เนื่องด้วยการที่ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาที่มีความเกี่ยวเนื่องระดับรัฐต่อรัฐซึ่งใหญ่กว่าเพียงรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง แนวทางการหาเสียงเลือกตั้งในเขตสามจังหวัดจึงมีลักษณะในการนำเสนอตัวบุคคลที่เป็นตัวแทนของผู้มีสิทธิในพื้นที่ประกอบกับการทำงานของเครือข่ายหัวคะแนนมากกว่าการมุ่งนำเสนอนโยบายหรือจุดยืนทางการเมืองของพรรคเพียงอย่างเดียว

ดวงยิหวา ตั้งข้อสังเกตถึงสมาชิกของกลุ่มวาดะเดิมที่ได้เข้าสู่สนามเลือกตั้งอีกครั้งในนามพรรคการเมือง เช่น พรรคประชาชาติ และ พรรคภูมิใจไทย โดยการหาเสียงในเขตพื้นที่สามจังหวัดในครั้งนี้เป็นการใช้การหาเสียงเลือกตั้งผ่านระบบหัวคะแนนของพรรคผ่านคนในพื้นที่ และเน้นการรวบรวมเสียงจากชาวไทยมุสลิมในพื้นที่เป็นหลัก นอกจากนี้ดวงยิหวายังได้นำเสนอถึงสถานการณ์ระหว่างการเลือกตั้งที่มีกลุ่มต่อต้านพรรคการเมืองที่ให้การสนับสนุนรัฐบาลทหารออกมาทำการทำลายป้ายหาเสียงของพรรคตรงข้ามอีกด้วย

ส่วนผลการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภายใต้นั้น ปรากฎว่าพรรคประชาชาติได้ที่นั่งไป 6 ที่นั่ง พรรคพลังประชารัฐ 3 ที่นั่ง พรรคภูมิใจไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ได้ไปพรรคละ 1 ที่นั่ง และถึงแม้พรรคอนาคตใหม่จะยังไม่สามารถได้ที่นั่งในเขตพื้นที่นี้เลยก็ตาม แต่พรรคก็เริ่มได้รับคะแนนเสียงบางส่วนจากประชาชนในเขตพื้นที่มหาวิทยาลัยบ้างแล้ว โดยดวงยิหวากล่าวสรุปทิ้งท้ายว่าพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตที่มีลักษณะพิเศษและน่าสนใจอย่างยิ่งในทางการเมือง ถึงแม้ศาสนาจะยังถูกใช้เป็นเครื่องมือของผู้สมัครในพื้นที่ก็ตาม แต่การเปลื่ยนแปลงที่แท้จริงที่จะเกิดขึ้นนั้น ประชาชนก็น่าจะยังเป็นผู้กำหนดได้ด้วยตนเองอยู่ดี พร้อมทั้งยกส่วนหนึ่งของเนื้อเพลง “The Time They are a-Changin” ของ บ้อบ ดีแลน (Bob Dylan) เป็นการจบการอภิปราย

ประชาธิปไตยแบบโอ๋

ช่วงต่อมาในการอภิปรายภาพรวมของการเลือกตั้ง อภิชัย พูดถึงภาพรวมของการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาที่เต็มไปด้วยความไม่โปร่งใสและความสับสนกำกวมในการจัดการเลือกตั้ง ตั้งแต่การที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถสมัครเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐและทำการหาเสียงเลือกตั้งได้ในขณะที่ยังรับหน้าที่เป็นแกนนำรัฐบาล การหาเสียงทางอ้อมของพรรคพลังประชารัฐโดยการจ่ายงบประมาณรัฐสำหรับบัตรคนยากจนและโครงการประชารัฐอื่นๆ การเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์เข้ามาเป็นแคนดิเคตหัวหน้าพรรคของพรรคไทยรักษาชาติซึ่งนำไปสู่การถูกยุบพรรคในที่สุด ไปจนถึงความไม่โปร่งใสในการดำเนินการเลือกตั้งและนับคะแนนเลือกตั้งของ กกต.เอง 

อภิชัย ตั้งข้อสังเกตเปรียบเทียบถึงความสัมพันธ์ระหว่างคณะรัฐประหารและสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยในช่วงปี 80s ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายเป็นไปอย่างแนบแน่นและยังได้รับความเชื่อถือและสนับสนุนจากประชาชนเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไปมาก โดย อภิชัย กล่าวว่าประเทศไทยกำลังอยู่ในสังคมประชาธิปไตยแบบโอ๋ ที่กลุ่มอำนาจเก่า(เปรียบเทียบกับผู้ใหญ่)ในสังคมไม่ยอมให้ประชาชน(เปรียบเทียบกับเด็ก)ได้เรียนรู้วิถีประชาธิปไตยด้วยตนเอง

อย่างไรก็ตาม อภิชัย ได้เสนอว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ใช่จะมีแต่ข้อเสียเพียงอย่างเดียวเสมอไป การเข้ามามีบทบาททางการเมืองของพรรคที่มีผู้นำเป็นคนรุ่นใหม่ อย่างพรรคอนาคตใหม่ของธนาธรก็ยังนับได้ว่าเป็นข่าวดีของการเมืองไทยที่เริ่มมีทางเลือกใหม่ให้แก่สังคมมากขึ้น นอกจากนี้การที่พรรคการเมืองหลายพรรคเริ่มมีนโยบายมุ่งหาเสียงและให้ความสำคัญกับผู้มีสิทธิมีเสียงเลือกตั้งในเขตพื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้นก็ดี รวมไปถึงการตื่นตัวทางการเมืองอย่างมากของคนรุ่นใหม่และผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกทั้งในและนอกกรุงเทพมหานครก็นับเป็นข่าวดีต่อหนทางสู่ประชาธิปไตยของไทยเช่นกัน แต่โดยท้ายที่สุด อภิชัยก็ได้กล่าวปิดท้ายเชิงเสียดสีว่า อย่างไรก็ตาม ข่าวดีที่สุดของประเทศไทยในขณะนี้ก็คือประชาธิปไตยแบบไทยๆ ของเราก็กำลังจะก้าวทันประชาธิปไตยของประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่าได้แล้วนั่นเอง

การลงคะแนนที่ไม่แน่นอน การเมืองชนชั้นสูง และระเบียบทางการเมืองใหม่

การเสวนาช่วงที่สองเป็นการพูดคุยภายใต้หัวข้อ การเลือกตั้ง - รายงานและผลวิเคราะห์การเลือกตั้งเบื้องต้น ( Elections - Field Reports and Preliminary Analysis ) นำโดย ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ดันแคน แมคคาโก ( Duncan McCargo ) ศาสตราจารย์รัฐศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยลีดส์ และศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย

ประจักษ์ เริ่มการสัมมนาภายในหัวข้อ การเลือกตั้ง 2019 : การลงคะแนนที่ไม่มีความแน่นอน การเมืองของชนชั้นสูง และ การพยายามต่อสู้เข้าสู่ระเบียบทางการเมืองใหม่ โดยกล่าวถึงการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่มีความสับสนคลุมเครือตั้งแต่วิธีการออกกฎการเลือกตั้ง ระบบการจัดการเลือกตั้ง ไปจนถึงการนับคะแนน โดยในการเลือกตั้งครั้งนี้บัตรเลือกตั้งได้เปลื่ยนจากบัตรเลือกตั้งสองใบแบบเดิมมารวบเหลือเพียงบัตรเลือกตั้งใบเดียวทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ ซึ่งอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความสับสนให้แก่ผู้มาใช้สิทธิและส่งผลให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีบัตรเสียมากถึงเกือบสองล้านใบ โดยประจักษ์ ยังได้ตั้งข้อสังเกตอีกด้วยว่าผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งนี้ตามรายงานของ กกต.มีเพียงประมาณ 65% ซึ่งเป็นเปอร์เซนต์ต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 1997 และค่อนข้างขัดกับการคาดการณ์เป็นอย่างมาก เนื่องจากบรรยากาศก่อนการเลือกตั้งในครั้งนี้ค่อนข้างเต็มไปด้วยความกระตือรือร้นทั้งจากผู้ที่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรก(new voter)และผู้ที่เฝ้ารอการเลือกตั้งมาเป็นเวลากว่า 8 ปี รวมทั้งเหตุการณ์ที่พรรคไทยรักษาชาติเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์เข้าเป็นแคนดิเดตพรรคซึ่งเป็นที่กล่าวถึงเป็นอย่างมากทั้งในสังคมและโซเชียลมีเดีย และมีส่วนช่วยให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมเพิ่มมากขึ้นเป็นอย่างมากอีกด้วย

ประจักษ์ นำเสนอผลการเลือกตั้งล่าสุด โดยพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากกฎการเลือกตั้งใหม่ในครั้งนี้ซึ่งมุ่งให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ไม่สามารถมีคะแนนเสียงชี้ขาดในการจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยถึงแม้พรรคเพื่อไทยจะได้จำนวน ส.ส.เขตมากที่สุดก็ตาม แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่มี ส.ส.จากแบบบัญชีรายชื่อเลยแม้แต่คนเดียว อันส่งผลให้คุณหญิงสุดารัตน์ซึ่งเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคขาดสิทธิ ( ligitimate )ในการเป็นผู้แทนของประชาชนในการจัดตั้งรัฐบาล และทำให้ตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลตกไปอยู่กับพรรคขนาดกลางและเล็กที่ยังไม่ได้แสดงจุดยืนทางการเมืองว่าอยู่ฝั่งประชาธิปไตยหรือฝั่งรัฐบาลทหารอย่างชัดเจน อย่างพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย หรือ พรรคชาติพัฒนา ไปโดยปริยาย

พรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นพรรคการเมืองใหม่ที่มีจุดยืนสนับสนุนการสืบทอดรัฐบาลทหารและพลเอกประยุทธ์ก็สามารถทำคะแนนได้ดีกว่าที่คาดไว้ในหลายเขตพื้นที่ และได้ส.ส.ทั้งแบบเขตและบัญชีรายชื่อรวมกันถึง 118 คน ซึ่ง ประจักษ์คาดว่าฐานเสียงหลักของพรรคน่าจะมาจากผู้ออกเสียงเลือกตั้งที่สนับสนุนตัวพลเอกประยุทธ์และรัฐบาลทหารเอง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีอายุ และกลุ่มชนชั้นกลางค่อนไปทางฐานะดี (upper middle class) นอกจากนี้อาจจะรวมเสียงโหวตจากปัจจัยอื่นๆ ซึ่งมีแนวโน้นสนับสนุนจุดยืนของพรรค เช่น แนวคิดต่อต้านอดีตนายกทักษิณ แนวคิดการต้องการให้บ้านเมืองดำเนินไปอย่างสงบ รวมไปถึงการใช้นโยบายมวลชนและระบบเครือข่ายอุปถัมภ์แบบเก่าในการหาเสียงของพรรคอีกด้วย

พรรคประชาธิปัตย์ได้รับคะแนนเสียงลดลงเป็นอย่างมากในการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยผลการเลือกตั้งล่าสุดได้ที่นั่งรวมทั้งจากแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อเพียง 54 ที่นั่ง ลดลงจากการเลือกตั้งครั้งก่อนกว่า 100 ที่นั่ง และส่งผลให้พรรคลดความสามารถในการต่อรองทางการเมืองลงจนกลายเป็นเพียงพรรคขนาดกลางเท่านั้น โดย ประจักษ์ เสนอว่าสาเหตุที่ความนิยมของพรรคลดลงเป็นอย่างมากน่าจะเนื่องมาจากความน่าเชื่อถือที่ลดลงของตัวหัวหน้าพรรคอย่างอภิสิทธิ์เอง และการที่พรรคไม่มีจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน ทำให้เสียคะแนนเสียงไปให้แก่พรรคพลังประชารัฐและพรรคอนาคตใหม่ที่มีจุดยืนที่ชัดเจนกว่า โดยพรรคประชาธิปัตย์เสียจำนวนส.ส.ในเขตพื้นที่ฐานคะแนนเดิมของพรรคทั้งหมดทั้งในภาคใต้และภาคตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นฐานคะแนนหลักของพรรคซึ่งประชาธิปัตย์ไม่ได้ ส.ส.ในเขตกรุงเทพเลยแม้แต่คนเดียวในการเลือกตั้งครั้งนี้

พรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคใหม่ที่มาแรงที่สุดจากผลการเลือกตั้งในครั้งนี้หลังจากสามารถได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับที่สาม ส่วนหนึ่งของคะแนนเสียงของพรรคอาจจะมาจากผลพวงของเหตุการณ์ที่พรรคไทยรักษาชาติได้ยื่นเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์เป็นแคนดิเดตหัวหน้าพรรค ซึ่งทำให้ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่ที่เบื่อหน่ายกับการเมืองแบบเล่นพวกพ้องเก่าๆ และเริ่มตั้งข้อสงสัยถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในการเมืองเริ่มหันมาเทคะแนนเสียงให้แก่พรรคอนาคตใหม่เป็นจำนวนมาก

ประจักษ์กล่าวทิ้งท้ายโดยคาดการณ์สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปว่า ถ้าหากท้ายที่สุดแล้วไม่สามารถตกลงกันได้ระหว่างการที่พรรคพลังประชารัฐจะได้จัดตั้งรัฐบาลโดยมีพลเอกประยุทธเป็นนายก หรือพรรคเพื่อไทยจะได้จัดรัฐบาลโดยมีคุณหญิงสุดารัตน์เป็นนายก รัฐบาลใหม่ก็อาจจะต้องมี “นายกคนนอก” เข้ามาช่วยไกล่เกลี่ย ซึ่งน่าจะส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักและความไม่มั่นคงทางการเมืองในระยะยาว และสรุปทิ้งท้ายว่าภาพรวมประชาธิปไตยของไทยน่าจะกำลังเดินหน้าเข้าสู่วังวนของระบอบประชาธิปไตยผสมระหว่างระบอบประชาธิปไตยแบบฮุนเซนในกัมพูชาและประชาธิปไตยแบบแบ่งฝ่ายในมาเลเซียนั่นเอง

Generation Game

ต่อมานำโดย ดันแคน แมคคาโก ซึ่งนำเสนอแนวความคิดเรื่อง “Generation Game” ขึ้นเพื่ออธิบายสถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบัน โดยแนวความคิดนี้เกิดจากผลการเลือกตั้งที่สื่อให้เห็นถึงแนวความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกันอย่างมากระหว่างคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่า( generation split ) ประกอบกับสังคมอุปถัมภ์แบบไทยที่ผู้น้อยต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ ซึ่งส่งผลให้คนรุ่นใหม่มีแนวความคิดต่อต้านระบบสังคมและชนชั้นการปกครองไทยแบบเก่าๆ โดย ดันแคน ได้ยกธนาธรซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ขึ้นมาเป็นกรณีศึกษา จากการที่ธนาธรซึ่งมีภาพลักษณ์เป็นนักธุรกิจที่มาลงเล่นการเมืองแต่กลับได้รับการปฎิบัติจากผู้สนันสนุนเช่นเดียวกับดาราไอดอลเกาหลี และได้รับการเปรียบเทียบว่าเป็นพ่อ( #ฟ้ารักพ่อ )จากผู้สนับสนุนในโซเชียลมีเดีย รวมทั้งมีผู้ช่วยต่อต้านแนวความคิดทางการเมืองของฝั่งตรงข้ามด้วยการแสดงตัวว่าไม่ต้องการคำแนะนำจากคนรุ่นเก่าอีกต่อไปแล้ว( #โตแล้วเลือกเองได้ )อีกด้วย

ดันแคน แมคคาโก

ในขณะเดียวกัน เมื่อมองกลับไปที่ฝั่งกองทัพซึ่งได้รับความนิยมจากฝั่งอำนาจเดิมและคนรุ่นเก่า วิธีการหาเสียงหรือต่อต้านแนวความคิดทางการเมืองของฝ่ายตรงข้ามก็ยังอยู่ในรูปแบบของการสั่งสอน เช่น วาทะการให้ “เลือกคนดี” หรือแม้แต่การใช้วิธีการรณรงค์ทางการเมืองที่ล้าหลัง อย่างการที่พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก แนะนำให้นำเพลงปลุกใจทหารในอดีตอย่างเพลงหนักแผ่นดินมาเปิดอีกครั้งเป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ดันแคนตั้งข้อสังเกตว่าเหตุการณ์ดังกล่าวยังเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น (movement) ของการพยายามกลับเข้าสู่ทิศทางประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่เท่านั้น โดยได้เปรียบเทียบบรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคอนาคตใหม่ว่ามีกลิ่นคล้ายคลึงกับบรรยากาศช่วงการหาเสียงเลือกตั้งของบารัค โอบาม่า ที่ผู้สนับสนุนได้ตั้งความหวังกับนักการเมืองไว้เป็นอย่างมากและนักการเมืองก็มีหน้าที่ต้องทำให้ได้ตามคำสัญญาที่หาเสียงเอาไว้ โดยดันแคนได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า ที่สุดแล้วไม่ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะจบลงอย่างไร ความสำเร็จอย่างหนึ่งของธนาธรและการเลือกตั้งครั้งนี้ก็คือการที่สามารถทำให้ประชาชนพูดและคิดในสิ่งที่ไม่เคยพูดและคิดมาก่อนได้ และสิ่งนี้เองที่น่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของสังคมไทยให้เดินหน้าต่อไปไม่ว่าจะในทิศทางใดก็ตาม

เศรษฐกิจและการทหาร

ในช่วงที่สามเป็นการสัมมนาในหัวข้อเศรษฐกิจและการทหาร ( Economy and the Military ) นำโดยกานดา นาคน้อย นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคอนเนคติกัท และพวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กานดาเริ่มต้นการเสวนาในช่วงเศรษฐกิจโดยกล่าวถึง GDP และเงินเฟ้อของประเทศไทยในช่วงก่อนและหลังรัฐประหารปี 2557 โดยจะเห็นได้ว่าตั้งแต่หลังรัฐประหารเป็นต้นมา รัฐบาลยังไม่สามารถเพิ่ม GDP ขึ้นเป็นอัตราร้อยละ 5 ได้ตามที่ตั้งไว้ และเงินเฟ้อที่ยังมีระดับต่ำกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ไว้มาโดยตลอดซึ่งแสดงให้เห็นถึงอุปสงค์ในตลาดที่ลดลงในสินค้าประเภทต่างๆ ตลอดช่วงหลังการรัฐประหาร

เช่นเดียวกันในช่วงหลังรัฐประหาร เมื่อเจาะลึกลงไปถึง 4 ปัจจัยหลักของ GDP จะเห็นได้ว่า สัดส่วนของดุลการค้าที่มีผลต่อ GDP ได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากประเทศไทยมีการค้าที่เกินดุลมาโดยตลอดหลังการรัฐประหาร แม้ว่าการค้าเกินดุลจะส่งผลดีต่อตัวเลข GDP แต่ในเชิงการผลิตแล้ว การค้าเกินดุลอาจแสดงสัญญาณถึงการผลิตสินค้าที่ลดลง กล่าวคือ ในแง่หนึ่ง การนำเข้าสินค้าเป็นกระบวนการสรรหาวัตถุดิบที่ประเทศไทยขาดแคลนหรือประเทศอื่นสามารถผลิตได้ในราคาที่ถูกกว่ามาผลิตเป็นสินค้าที่มีความซับซ้อนสูงกว่าในห่วงโซ่การผลิต การที่ประเทศไทยนำเข้าสินค้าลดลงจึงเป็นผลมาจากการที่อุตสาหกรรมต่างๆ ลดการผลิตในประเทศลง ซึ่งการลงทุนเพื่อการผลิตที่ลดลงนี้สอดคล้องกับการลดลงอย่างต่อเนื่องของเงินทุนไหลเข้าประเทศที่ลดลงในเกือบทุกไตรมาสหลังการรัฐประหาร และการลงทุนในเครื่องมือการผลิตที่ลดลงของอุตสาหกรรมไทย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงปริมาณการผลิตที่ถดถอยลงของประเทศไทยอย่างชัดเจน

หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นก็เป็นอีกสัญญาณที่รัฐบาลต้องคอยระมัดระวัง ในปัจจุบันการลงทุนในตลาดพันธบัตรยังคงมีผลตอบแทนที่ต่ำโดยแสดงให้เห็นได้จากการที่รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงตรึงดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลไว้ในระดับที่ต่ำ ซึ่งเป็นการช่วยให้รัฐบาลสามารถหาแหล่งเงินทุนจากในประเทศที่มีค่าใช้จ่ายต่ำมาสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาล ทว่าการใช้จ่ายแบบขาดดุลราวๆ ร้อยละ 3 เทียบกับ GDP ต่อปี รวมถึงการเพิ่มงบประมาณทางกลาโหมและการขึ้นเงินเดือนของราชการ ย่อมส่งผลให้รัฐบาลจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มเติมมากขึ้นผ่านช่องทางต่างๆ โดยปัจจุบัน รัฐบาลเปิดเผยข้อมูลว่าหนี้สาธารณะของประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 42 ของ GDP และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 48 ของ GDP ในปีพ.ศ.2565 ซึ่งถึงแม้ว่าตัวเลขดังกล่าวจะยังคงห่างไกลกับข้อจำกัดทางกฎหมายที่ห้ามหนี้สาธารณะเกินร้อยละ 60 ของ GDP แต่การที่รัฐบาลโอนหนี้บางส่วนให้ถือครองโดยธนาคารแห่งประเทศไทยก็ช่วยทำให้ตัวเลขหนี้สาธารณะที่ประกาศออกมามีขนาดต่ำกว่าความเป็นจริงไปมากและตัวเลขหนี้สาธารณะที่แท้จริงยังคงไม่มีการเปิดเผยออกมาแต่อย่างใดด้วยเช่นกัน

กานดาเสนอต่อไปว่าดอกเบี้ยก็เป็นอีกประเด็นที่น่าหนักใจสำหรับเศรษฐกิจไทย เนื่องจากประเทศไทยยังคงมีปัญหาทางด้านอุปสงค์ที่ลดลง ซึ่งในเชิงเศรษฐศาสตร์แล้วดอกเบี้ยนโยบายควรปรับตัวลดลงเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุนให้เพิ่มมากขึ้น แต่เนื่องจากการลดอัตราดอกเบี้ยลงย่อมส่งผลต่อสถานการณ์ค่าเงินบาทที่จะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลง และยิ่งทำให้เงินทุนไหลออกนอกประเทศมากขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงยังจำเป็นต้องเผชิญกับสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออกในประเด็นเรื่องดอกเบี้ยนี้ต่อไป

แม้ก่อนหน้านี้รัฐบาลจะได้เน้นย้ำถึงการใช้มาตรการปรับโครงสร้างทางภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ แต่มาตรการที่วางไว้กลับไม่มีผลมากนักในเชิงปฏิบัติ ทั้งภาษีที่ดินที่เคยเป็นข่าวในช่วงก่อนหน้าและได้มีการปรับให้ผู้ที่ครอบครองที่ดินที่มีมูลค่า 50 ล้านบาทขึ้นไปต้องเสียภาษี แต่ก็เป็นเพียงการครอบคลุมที่ดินจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับที่ดินทั้งหมดในประเทศไทย ส่วนภาษีมรดกที่เคยเป็นข่าวก็เก็บภาษีได้เพียง 65 ล้านบาทและ 219 ล้านบาทในปี 2560 และ 2561 ตามลำดับเท่านั้น ซึ่งจำนวนภาษีดังกล่าวก็มีจำนวนที่น้อยมากอีกเช่นกันเมื่อเทียบกับปริมาณภาษีทั้งหมดในแต่ละปีของประเทศ รวมไปถึงมาตรการภาษีอื่นๆที่รัฐบาลเคยประกาศไว้ เช่น ภาษีในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก ซึ่งตั้งแต่ปีพ.ศ. 2559 เป็นต้นมาก็ยังมีการเช่าที่ดินได้ในระยะเวลา 99 ปี และลดภาษีเงินได้ส่วนบุคคลในพื้นที่ลงจากร้อยละ 35 เหลือร้อยละ 17 เท่านั้น เช่นเดียวกับการเก็บภาษีมลพิษซึ่งยังไม่มีการบังคับใช้อย่างจริงจังในรัฐบาลยุคปัจจุบัน

นอกจากนี้รัฐบาลยังมีแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจและข้าราชการ และการลงทุนในรูปแบบที่ไม่ก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น การเพิ่มจำนวนบุคลากรทางกลาโหม การสร้างสนามบินนานาชาติแห่งที่สามที่อู่ตะเภาภายใต้การดูแลของราชนาวีไทย การรักษาความเป็นเจ้าของกิจการที่ขาดทุนอย่างหนักในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอย่างการรถไฟแห่งประเทศไทยและการบินไทยแทนการขายกิจการเหล่านี้ให้เอกชน และการปล่อยเช่าพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อการขยายต่อรางและสถานีรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งนโยบายเหล่านี้ต่างสร้างภาระให้กับรัฐบาลในการบริหารความเสี่ยงและสภาวะทางการเงินของหน่วยงานทั้งหมดอย่างชัดเจน

กานดากล่าวโดยสรุปว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในรัฐบาลทหารล้วนเป็นสิ่งที่น่าหนักใจทั้งสิ้น ทั้งการลงทุนทางเศรษฐกิจที่ซบเซา เงินทุนไหลออกนอกประเทศ การบริหารงานในธุรกิจที่ไม่ก่อรายได้ การเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะ และการเพิ่มขึ้นของมลภาวะ โดยสภาวะเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งในระยะสั้นและยาว ทำให้ประกาศของรัฐบาลที่ต้องการจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาเจริญเติบโตและนำพาประเทศไปอย่างมั่นคงยังคงเป็นเรื่องที่ห่างไกลจากความเป็นจริงอย่างมากในปัจจุบัน

ช่วงต่อมาของการเสวนาในหัวข้อเศรษฐกิจและการทหารนำโดย พวงทองพูดถึงผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่พรรคพลังประชารัฐได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นอับดับที่สอง และทำให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นแคนดิเดตนายกของพรรคมีสิทธิได้เป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากระบอบการเลือกตั้ง และอาจจะส่งผลให้กองทัพได้สืบทอดอำนาจและสามารถมีสิทธิกดขี่และชี้นำทางการเมืองประชาชนต่อไปได้อีกด้วย

ส่วนหนึ่งที่พรรคพลังประชารัฐได้รับความนิยมก็น่าจะเนื่องมาจากการเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งของกองทัพและการใช้นโยบายประชานิยมอย่างเปิดเผยของรัฐบาลทหาร เช่น การจ่ายเงิน 500 บาทตามนโยบายบัตรคนจน การขึ้นเงินเดือนให้แก่อาสาสมัครรักษาดินแดนและอาสาสมัครสาธารณสุขต่างๆ ไปจนถึงการแจกจ่ายเงินลงตามพื้นที่หมู่บ้านตามโครงการประชารัฐ ซึ่งนโยบายประชานิยมเหล่านี้ก็มีความน่าสนใจในทางเศรษฐกิจว่าถ้าพรรคพลังประชารัฐได้เป็นรัฐบาลจริง จะมีการจัดการดำเนินการด้านเศรษฐกิจอย่างไรต่อไปภายหลังการเลือกตั้งอีกด้วย

ช่วงสุดท้าย พวงทองได้พูดถึงภาพรวมของสังคมในการต่อต้านคสช. โดยยกกลุ่ม “Rap Against-Dictatorship” ขึ้นเป็นตัวอย่าง และตั้งข้อสังเกตว่าการต่อต้านรัฐบาลทหารของประชาชนในปัจจุบันให้ความรู้สึกแบบเผชิญหน้า(confrontation)มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ในโซเชียลมีเดียที่มีความเกรงกลัวต่อการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารลดลงอย่างมาก เช่นเดียวกันกับการหาเสียงของพรรคของคนรุ่นใหม่อย่างพรรคอนาคตใหม่ที่มีนโยบายเน้นการปฏิรูปกองทัพ มุ่งกำจัดอำนาจคสช.และวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารอย่างตรงไปตรงมา โดยพวงทองกล่าวสรุปทิ้งท้ายว่าการกล้าต่อสู้เผชิญหน้ามากขึ้นของประชาชนกับรัฐบาลทหารในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ประกอบกับผลงานของรัฐบาลทหารและอำนาจชี้นำมวลชนของสถาบันพระกษัตริย์ที่ค่อยๆ เสื่อมถอยลง อาจจะเป็นแสงสว่างแห่งความหวังที่ปลายอุโมงค์ให้แก่ประชาธิปไตยไทยในวันใดวันหนึ่งก็เป็นได้

สื่อและความยุติธรรม

ช่วงสุดท้ายของการสัมมนาเป็นการพูดคุยในหัวข้อสื่อและความยุติธรรม ( Media and Justice ) นำโดยเพ็ญจันทร์ โพธิ์บริสุทธิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอเนียร์เสตท-ฟูลเลอตัน ( California State University-Fullerton ) และไทเรล ฮาเบอร์คอน ( Tyrell Haberkorn ) อาจารย์จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิล-เมดิสัน ( University of Wisconsin-Madison )

เพ็ญจันทร์ เป็นผู้นำเสวนาในหัวข้อเรื่องสื่อ โดยกล่าวว่าแม้สื่อและโซเชียลมีเดียจะถูก คสช.พยายามจำกัดและควบคุมมาตลอด แต่ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง สื่อโดยเฉพาะอย่างยิ่งโซเชียลมีเดีย ก็ยังมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการช่วยหาเสียงและกำหนดทิศทางทางการเมืองของแต่ละพรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังเหตุการณ์ที่พรรคไทยรักษาชาติได้เสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์เข้าเป็นแคนดิเดตหัวหน้าพรรค เหตุการณ์งานบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ และหลังการดีเบตหัวหน้าพรรคของไทยรัฐทีวีที่เป็นที่พูดคุยกันอย่างมากบนโซเชียลมีเดีย อันส่งผลให้ความนิยมของธนาธรเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากจนทำให้ทีมงานของพรรคพลังประชารัฐถึงกับต้องทำการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ (Rebranding)ให้กับพลเอกประยุทธ์เพื่อให้เป็นคนที่ดูใจดีและเข้าถึงง่ายมาต่อสู้กับภาพลักษณ์เดียวกันของธนาธรบนโซเชียลมีเดียเลยทีเดียว

โดยขณะเดียวกัน แม้โซเชียลมีเดียจะเป็นเครื่องมือหาเสียงที่ดีของแต่ละพรรค แต่โซเชียลมีเดียก็สามารถถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายตรงข้ามได้ง่ายมากเช่นกัน โดยอาจารย์เพ็ญจันทร์ได้นำเสนอการแชร์ข่าวปลอมต่างๆบนโซเชียลมีเดีย เช่น การนำเสนอคลิปปลอมของกนก รัตน์วงศ์สกุล มีม และข้อความต่างๆจากเพจเฟสบุ๊คทางการเมืองที่มุ่งเสนอข่าวใส่ร้ายและจับผิดฝั่งตรงข้าม เป็นต้น

ท้ายที่สุดเพ็ญจันทร์ได้เสนอแนวความคิดที่น่าสนใจจากการวิเคราะห์ความหมายทางการเมืองของการใช้แฮชแทคบนโซเชียลมีเดีย และยกการใช้แฮชแทคฟ้ารักพ่อ( #ฟ้ารักพ่อ )มาเป็นกรณีศึกษา โดยแฮชแทคดังกล่าวผู้ใช้ได้นำประโยค “ฟ้ารักพ่อ” มาจากละครเรื่องดอกส้มสีทอง ซึ่งพ่อในความหมายของฟ้าในที่นี้คือพ่อเลี้ยงอุปถัมภ์( sugar daddy ) โดยเพ็ญจันทร์ตั้งข้อสังเกตว่าการใช้แฮชแทคดังกล่าวถือเป็นการเปลี่ยนความหมายของ “พ่อ” ในทางการเมืองซึ่งมีความหมายแบบพ่อผู้ปกครองลูกที่ดีมาตลอดให้กลายเป็นความหมายแบบอื่นไปโดยสิ้นเชิง และอาจจะเป็นไปได้ว่าสังคมไทยน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงแนวความคิดต่อสถาบันทางการเมืองบางส่วนอย่างเปิดเผยมากขึ้นแล้วนั่นเอง

การสัมมนาในช่วงสุดท้ายเป็นการพูดถึงเรื่องความยุติธรรมซึ่งนำการสัมมนาโดย ไทเรล นำเสนอถึงโปรเจคที่กำลังรวบรวมข้อมูลอยู่ในหัวข้อเกี่ยวกับการพยายามตั้งข้อกล่าวหาฟ้องร้องให้แก่ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดโดย คสช.

ไทเรล เล่าถึงความเป็นมาคร่าวๆ ของการศึกษากรณีละเว้นโทษต่อผู้ทำความผิดของรัฐไทยตั้งแต่สิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปี 1932 จนมาถึงรัฐประหารในปี 2014 โดยการละเว้นโทษแก่ผู้ทำความผิดของรัฐไทยส่วนใหญ่จะมาจากข้อกล่าวอ้างที่ว่าผู้กระทำความผิดทำไปเพียงเพื่อเป็นประโยชน์แก่รัฐ ซึ่งไทเรลคิดว่าการไม่เอาโทษแก่ผู้กระทำความผิดที่ทำการกักขัง ทำร้ายร่างกาย ลักพาตัว หรือทำลายชีวิตผู้อื่น ยิ่งจะเป็นการง่ายต่อการที่จะทำให้ความรุนแรงดังกล่าวสามารถเกิดซ้ำขึ้นได้อีกเสมอ

ในกรณีของคสช. ซึ่งเน้นการใช้กฎหมายและระบบยุติธรรมอันได้แก่ กฎอัยการศึกและศาลทหารเป็นเครื่องมือหลักในการกดขี่และล่วงละเมิดสิทธิของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการใช้กฎหมายมาตรา 112 และมาตรา 116  กลุ่ม TLHR ( Thai Lawyers for Human Rights ), iLaw และกลุ่มสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ได้พยายามช่วยกันรวบรวมข้อมูลและเอกสารของผู้ถูกล่วงละเมิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตามเอกสารของวันที่ถูกจับ กักขัง ระยะเวลาการถูกกักขัง หรือรายละเอียดอื่นๆมักถูกคสช.ปฎิเสธและยืนยันการให้ข้อมูลทั้งสิ้น เนื่องจากคสช.ไม่ต้องการให้การดำเนินการของตนถูกจับตามองจากสังคม

ไทเรลเสนอว่าช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลเผด็จการทหารไปสู่การเลือกตั้งอันเป็นทิศทางสู่ประชาธิปไตยนี้เป็นช่วงสำคัญเร่งด่วนที่ควรต้องรีบแจ้งชื่อเหยื่อผู้ถูกล่วงละเมิดและผู้ละเมิดให้สังคมรู้ เนื่องจากเผด็จการมักพยายามที่จะซ่อนความผิดและเหยื่อของตนไว้และปฏิเสธความเป็นมนุษย์ของบุคคลเหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผู้กระทำความผิดไม่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาก็จะสามารถหลบหนีไปก่อความรุนแรงกับผู้อื่นได้อีกเพราะความรุนแรงดังกล่าวนั้นไม่ถูกเอาโทษและไม่นับว่าเป็นอาชญากรรม 

และเนื่องจากการที่คสช.มุ่งใช้ศาลและระบบยุติธรรมในการจัดการกับเป้าหมายและปกปิดเอกสารที่เกี่ยวเนื่องถึงการถูกลงโทษของผู้ถูกละเมิดสิทธิ แนวความคิดของโปรเจคนี้ของไทเรลจึงพยายามที่จะใช้เอกสารการตรวจสอบและดำเนินการในชั้นศาลของคสช.ต่อผู้ถูกละเมิดเองมาใช้เป็นตัวดำเนินการเอาผิดเริ่มต้นกับคสช. แทนการพยายามหาหลักฐานมาสนับสนุนความบริสุทธิ์ของผู้ถูกคสช.กล่าวโทษ แล้วจากนั้นจึงตั้งคำถามและดำเนินการตามหลักกฎหมายอื่นๆ ตามขั้นตอนต่อไป โดยไทเรลได้กล่าวปิดท้ายการเสวนาในหัวข้อความยุติธรรมด้วยโควทของ กลอเรีย อัลซาลดูลว่า “ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริงได้ถ้าสิ่งนั้นไม่เกิดเป็นภาพขึ้นก่อนในหัวของเรา” ( “Nothing happens in the “Real” world unless it first happens in the images in our heads” - Gloria E. Anzaldúa )

 

 

หมายเหตุ : ผู้รายงานไม่มีส่วนร่วมใดกับงานวิจัยและวัตถุประสงค์ของการถ่ายทอดเป็นไปเพื่อการเผยแพร่งานวิจัยสู่สาธารณชนเท่านั้น โดยที่มี พลากร บูรณสัมปทานนท์ ช่วยรายงานในหัวข้อเศรษฐกิจ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net