Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

แนวคิดเสรีนิยม (liberalism) ไม่ได้ปฏิเสธการดำรงอยู่ของความคิด ความเชื่อแบบอนุรักษ์นิยม หรือความคิดความเชื่อแบบอื่นๆ เช่นสังคมนิยมเป็นต้น เมื่อมองจากจุดยืนแบบเสรีนิยมไม่ใช่ว่าใครไม่คิดไม่เชื่อแบบเสรีนิยมแล้วแปลว่าผิด จะผิดก็ต่อเมื่อมีการใช้ความคิดความเชื่อนั้นๆ ละเมิดเสรีภาพคนอื่นหรือก่ออันตรายทางกายภาพแก่คนอื่นเท่านั้น 

โดยหลักการกว้างๆ ที่ว่า “ปัจเจกบุคคลใช้เสรีภาพได้อย่างเต็มที่ตราบที่ไม่ละเมิดเสรีภาพคนอื่นหรือไม่ก่ออันตรายทางกายภาพแก่คนอื่น” ย่อมเป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนของเสรีนิยมเอง ที่เป็น “จุดแข็ง” คือเสรีนิยมเปิดกว้างโอบรับทุกความคิด ความเชื่อให้มี “ที่ยืน” ในสังคมอย่างมีเสรีภาพในการแสดงออกเท่าเทียมกัน ไม่ว่าความคิด ความเชื่อนั้นๆ จะถูกบุคคล สังคม หรือรัฐมองว่างมงาย น่ารังเกียจ หรือนิยามว่ามันเป็นภัยอันตรายอย่างไรก็ตาม แต่ถ้ามันยังไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่คนอื่นซึ่งหน้า หรืออยู่ในสถานการณ์ที่เชื่อแน่ว่าจะเกิดอันตรายต่อคนอื่นจริง ความคิดความเชื่อที่ถูกบุคคลหรือสังคมมองว่าเป็นอันตรายนั้นๆ ก็ย่อมแสดงออกได้

ขณะดียวกันการเปิดกว้างเช่นนั้นก็อาจเป็น “จุดอ่อน” ของเสรีนิยมด้วย เพราะเมื่อว่าโดยหลักการแล้วเสรีนิยมยอมให้การพูดรุนแรง (hate speech) ที่ไม่ก่ออันตรายทางกายภาพแก่คนอื่นมีเสรีภาพในการแสดงออกได้ เช่นการล้อเลียนเสียดสีความเชื่อทางศาสนา การแสดงออกของพวกคลั่งศาสนา พวกอนุรักษ์นิยมขวาจัด และอื่นๆ ที่ไม่ก่ออันตรายแก่คนอื่นซึ่งหน้า หรืออยู่ในสถาการณ์ที่ประเมินได้แน่นอนว่าจะก่ออันตรายแก่คนอื่น แต่การให้เสรีภาพเช่นนี้ก็อาจเป็นไปได้ที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งหรือความรุนแรงที่คาดไม่ถึง ดังนั้นในการปรับใช้หลักเสรีภาพในการพูด การแสดงออกของประเทศเสรีประชาธิปไตยแต่ละแห่งจึงระแวดระวัง “hate speech” เกี่ยวกับ “ประเด็นอ่อนไหว” ต่างๆ ไม่เท่ากัน (เช่นชาวเยอรมันอาจเห็นว่า ประเด็นการแสดงสัญลักษณ์นาซีเป็นเรื่อง “อ่อนไหว” ที่ต้องเฝ้าระวังมากเป็นพิเศษเป็นต้น) 

พูดอีกอย่างคือ การที่เสรีนิยมถือว่า ปัจเจกบุคคลมีสิทธิอย่างสมบูรณ์เหนือชีวิตจิตใจของตนเอง และอิสรภาพของปัจเจกบุคคลเป็นเอกเทศจากสังคม ทำให้แต่ละคนมีเสรีภาพที่จะเลือกใช้ชีวิตแบบไหนก็ได้ หรือเลือกความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์แบบไหนก็ได้ ถึงแม้ว่าคนอื่น สังคมหรือรัฐจะเห็นว่านาย ก.เลือกใช้ชีวิต เลือกความคิดความเชื่อในทางที่เป็นโทษกับตัวเอง แต่ถ้านั่นไม่เป็นอันตรายต่อใครอื่นนอกจากตัวเขา คนอื่น สังคมหรือรัฐจะเข้าไปใช้อำนาจหรือกฎหมายแทรกแซงขัดขวางไม่ได้ อย่างดีที่สุดที่ทำได้คือให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์กับเขา แต่หากเขาไม่ทำตามก็บังคับเขาไม่ได้ ในแง่นี้ถ้าหากคนจำนวนมากเลือกใช้ชีวิตสำมะเลเทเมาจนสถิติผู้ติดโรคพิษสุราเรื้อรังสูงเกิน ก็ย่อมหนีไม่พ้นที่จะกลายเป็นภาระของรัฐและสังคมในการใช้ภาษีเพื่อการรักษาพยาบาลคนเหล่านั้น

ทางออกของรัฐเสรีประชาธิปไตยคือ การวางมาตรการต่างๆ ป้องกันการใช้เสรีภาพอย่างขาดความรับผิดชอบ เช่นคุณจะใช้ชีวิตเกียจคร้าน เมามายจนกระทั่งละเลยความรับผิดชอบเลี้ยงดูและส่งเสียบุตรให้มีการศึกษาตามมาตรฐานที่รัฐกำหนดไม่ได้ หรือวางมาตรการให้เข้าถึงการเสพสิ่งที่เป็นผลเสียต่อสุขภาพได้ยากขึ้น เป็นต้น 

ขณะเดียวกันรัฐก็ต้องให้การศึกษาแก่พลเมืองเพื่อสร้างสำนึกเคารพเสรีภาพเชิงลบ (negative freedom) คือสำนึกไม่ละเมิดเสรีภาพคนอื่น และสำนึกในการใช้เสรีภาพเชิงบวก (positive freedom) คือสำนึกในการใช้เสรีภาพเลือกดำเนินชีวิต โอกาสที่เป็นบวกกับตัวเอง เลือกสร้างสรรค์งานที่ตนเองรัก เลือกเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะต่างๆ ในทางสังคมและการเมืองในระดับชุมชนและระดับชาติเพื่อปกป้องสิทธิและความยุติธรรมด้านต่างๆ เป็นต้น

ในแง่นี้เสรีนิยมกับประชาธิปไตยจึงไปด้วยกัน แม้ว่าแรกเริ่มเดิมทีจะเป็นคนละอย่างกัน แต่ประชาธิปไตยสมัยใหม่ (modern democracy) ก็คือ “เสรีประชาธิปไตย” (liberal democracy) ที่เสรีนิยมกับประชาธิปไตยเป็นเงื่อนไขความมั่นคงของกันและกัน เพราะหลักเสรีภาพทางการเมืองหรือการอภิปรายสาธารณะจะเป็นตัวกำกับและตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาลที่มาจากเสียงข้างมาก ขณะเดียวกันรัฐบาลที่มาจากเสียงข้างมากและอยู่ตามวาระ ก็สามารถที่จะให้หลักประกันเสรีภาพทางการเมืองของประชาชนได้ดีกว่ารัฐบาลแบบอื่นๆ 

แล้วอนุรักษ์นิยมคืออะไร ทำไมฝ่ายอนุรักษ์นิยมในบ้านเราจึงเกรี้ยวกราดกับความคิดแบบเสรีนิยมจนเกินงาม เช่นกล่าวหาว่าเป็น “ซ้ายดัดจริต” คิดล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขบ้าง หรือเกิดปรากฏการณ์ที่มีดารา นักร้อง นักเขียนดังออกมาไล่ฝ่ายเสรีนิยมบางคนออกจากประเทศไทยบ้าง และตามมาด้วยการแจ้งความเอาผิด “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” และ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” หัวหน้าและเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ที่ชูอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยในการต่อสู้ทางการเมือง และประกาศว่าจะนำปัญหาขัดแย้งทางการเมืองไปแก้ไขผ่านกระบวนการรัฐสภา

ที่จริงแล้วแนวคิด “อนุรักษ์นิยม” (conservatism) หมายถึง แนวคิดที่มุ่งรักษาความเชื่อและคุณค่าแบบเก่า เช่น ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี อุดมการณ์ทางการเมืองที่สืบทอดมายาวนาน เฉพาะฝ่ายอนุรักษ์นิยมในบ้านเรามักผูกโยงศาสนา วัฒนธรรมประเพณี อุดมการณ์ทางการเมืองเข้ากับสำนึกทางประวัติศาสตร์ “ราชาชาตินิยม” ที่เชื่อว่าความเป็นชาติเกิดขึ้น พัฒนาและมั่นคงมาได้เพราะคุณูปการของสถาบันกษัตริย์ ศาสนาก็เจริญรุ่งเรืองได้เพราะกษัตริย์อุปถัมภ์ ดังนั้น สถาบันกษัตริย์จึงเป็นหลักประกันความมั่นคงของชาติ ศาสนาและเป็นศูนย์รวมจิตใจหรือ “ความจงรักภักดี” ของประชาชนในชาติ

สังคมการเมืองที่ดีแบบอนุรักษ์นิยมไทย คือสังคมการเมืองที่รู้รักสามัคคีภายใต้อุดมการณ์ราชาชาตินิยม และดูเหมือนฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะเชื่อว่ามีความจริง ความดีสูงสุดที่แน่นอนตายตัวเป็นคำตอบแบบเบ็ดเสร็จอยู่แล้ว นั่นคือความจริง ความดีสูงสุดของ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” สังคมเราจะไม่มีปัญหาขัดแย้งอะไรเลยถ้าหากว่าคนไทยทุกคนรักชาติ นำหลักธรรมของศาสนามาปฏิบัติ และจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรมและเสียสละเพื่อชาติบ้านเมือง 

แต่ปัญหาคือ ตามความคิดฝ่ายอนุรักษ์นิยมนั้น ไม่ว่าจะมองจากจุดยืนของกองทัพหรือรัฐบาลทหาร, มวลมหาประชาชน กปปส. พรรคพลังประชารัฐและพรรคแนวร่วม (อาจรวมประชาธิปัตย์ด้วย?) รวมทั้งจุดยืนของดารา นักร้อง นักเขียนชื่อดังทั้งหลายที่ออกมาไล่ฝ่ายเสรีนิยมบางคนออกนอกประเทศ หรือใช้กฎหมายเอาผิดต่างๆ นั้นย่อมไม่มี “ที่ยืน” ให้ฝ่ายเสรีนิยมเอาเสียเลย 

ทำไมฝ่ายอนุรักษ์นิยมจึงไม่มีที่ยืนให้กับฝ่ายเสรีนิยม?

คำตอบอยู่ที่ว่านั่นเป็นทัศนะแบบ “อนุรักษ์นิยมล้าหลัง” หรือ “อนุรักษ์นิยมก้าวหน้า” ถ้าเป็นอนุรักษ์นิยมก้าวหน้าอย่าง “สุลักษณ์ ศิวรักษ์” ก็ย่อมมีที่ยืนให้กับเสรีนิยม เพราะเขาไม่เห็นด้วยกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมล้าหลังที่ใช้ข้อกล่าวหา “ล้มเจ้า” ทำลายคนคิดต่างหรือฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ในความเห็นของสุลักษณ์การใช้ ม.112 หรือการอ้างเรื่องล้มเจ้าทำลายคนคิดต่าง ฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง หรืออ้างทำรัฐประหารจะเป็นผลเสียต่อสถาบันกษัตริย์มากกว่า เพราะเป็นการอ้างสถาบันกษัตริย์แบ่งแยกประชาชนเป็นฝักฝ่าย ดังนั้นในความคิดของสุลักษณ์พวกที่อ้าง “ความจงรักภักดี” ที่ไม่ใช้สัจจะและความถูกต้องเป็นพื้นฐานนั่นแหละคือพวกล้มเจ้าตัวจริง

แต่อย่างไรก็ตาม ฝ่ายอนุรักษ์นิยมก้าวหน้าแบบสุลักษณ์ที่ยืนยัน “เสรีภาพ” ในการแสดงออก หรือให้ “ที่ยืน” แก่ฝ่ายเสรีนิยมก็มีอยู่น้อยมากในแวดวงปัญญาชน สื่อมวลชน และบรรดานักเคลื่อนไหวทางสังคมในบ้านเรา ขณะเดียวกันอนุรักษ์นิยมก้าวหน้าแบบสุลักษณ์ก็มีปัญหาสำคัญบางประการ กล่าวคือ “ความเป็นอนุรักษ์นิยมทางคุณค่า” ทำให้เมื่อถึงที่สุดแล้วสุลักษณ์ก็ยืนยันคุณธรรมความดีของบุคคลเป็นทางออกของปัญหาการเมืองมากกว่าที่จะยึดมั่นในการเดินตามกระบวนการที่ชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยอย่างคงเส้นคงวา เพราะเขายังเชื่อในความคิด “เผด็จการโดยธรรม” หรือเผด็จการโดยคนดีตามคำสอนของ “พุทธทาส” ว่าเป็นทางออกของวิกฤตการเมืองแบบไทยๆ ได้  

ส่วนปัญหาของฝ่ายอนุรักษ์นิยมล้าหลังนั้น นอกจากไม่ให้ที่ยืนแก่ฝ่ายเสรีนิยม หรือคนคิดต่าง เชื่อต่าง มีอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่าง ด้วยการไล่ออกนอกประเทศ แจ้งความเอาผิด กระทั่งทำรัฐประหาร บัญญัติกฎหมายที่ขัดหลักสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามระบอบเสรีประชาธิปไตยและใช้กฎหมายเช่นนั้นปิดปาก ไล่ล่าเอาผิดฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองแล้ว ปัญหาสำคัญมากของพวกเขาคือ “การเดินสวนทางกับคุณค่าที่พวกตนกล่าวอ้าง” ไม่ว่าจะเป็นคุณธรรมทางศาสนา ความมีน้ำใจแบบไทย ความซื่อสัตย์สุจริต ความโปร่งใสตรวจสอบได้ ธรรมาภิบาล ฯลฯ เพราะการทำและสนับสนุนรัฐประหารหรือการเข้าสู่อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม การไล่คนอื่นออกนอกประเทศ การใช้กฎหมายไล่ล่าคนคิดต่าง การใช้อำนาจที่วิจารณ์และตรวจสอบไม่ได้ ล้วนแต่ขัดกับหลักคุณค่าหรือคุณธรรมความดีที่พวกเขากล่าวอ้าง

หากเทียบกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมยุคเก่า (classical conservative) เช่น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, พระยาอนุมานราชธนเป็นต้น ยังนับว่าเป็นอนุรักษ์นิยมที่ใช้ข้อเท็จจริง ความรู้ เหตุผล คุณธรรมเป็นจุดยืนในการเผชิญหน้ากับความคิด ความเชื่อที่แตกต่าง หรือพวกที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมใหม่ (neo-conservative) อย่าง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช, ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นต้น ก็ยังใช้ข้อเท็จจริง ความรู้ เหตุผล หรือแสดงออกถึงความมีรสนิยมที่ดีกว่าในการต่อสู้กับฝ่ายคิดต่าง ขณะที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมปัจจุบันทั้งไร้รสนิยม ไม่สนใจข้อเท็จจริง ไม่ใช้หลักการและเหตุผลในการต่อสู้กับฝ่ายคิดต่างเอาเสียเลย ชอบที่จะกล่าวหาเลื่อนลอยแบบ “สายมโน” และใช้อำนาจดิบเถื่อนในการจัดการฝ่ายตรงข้ามมากกว่า

สุดท้าย นอกจากพวกอนุรักษ์นิยมล้าหลังจะละเมิดหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนสากลแล้ว ยังเดินสวนทางกับคุณค่าหรือคุณธรรมแบบอนุรักษ์นิยมที่พวกตนกล่าวอ้างว่าพวกตนยึดถืออีกด้วย นี่คือ “ความเลื่อนลอยไร้หลัก” ของฝ่ายอนุรักษ์นิยมปัจจุบัน ท่ามกลางโลกของการสื่อสารที่ปิดกั้นไม่ได้ 

แล้วฝ่ายเสรีนิยมสู้เพื่ออะไร สู้เพื่อขจัดทำลายฝ่ายอนุรักษ์นิยมไม่ให้มีที่ยืนในประเทศนี้เช่นนั้นหรือ หรือว่าฝ่ายเสรีนิยมจงใจมองข้าม ละเลยความมีอยู่จริงหรือตัวตน ตรรกะเหตุผลของฝ่ายนุรักษ์นิยมเช่นนั้นหรือ เปล่าเลย ที่จริงแล้วฝ่ายเสรีนิยมสู้เพื่อให้ตนเองมีที่ยืน ซึ่งหมายถึงสู้เพื่อสร้างพื้นที่เสรีภาพและประชาธิปไตยให้ทุกคน ทุกฝ่ายไม่ว่าจะมีความคิดแบบอนุรักษ์นิยม เสรีนิยม สังคมนิยม และอื่นๆ ได้มีที่ยืน มีสิทธิและเสรีภาพในการพูด การแสดงออกเท่าเทียมกัน และได้มีโอกาสแข่งขันความคิด นโยบายต่างๆ ที่จะทำให้สังคมน่าอยู่ขึ้นภายใต้กติกาที่ฟรีและแฟร์ เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนเลือกอย่างไร ก็ต้องยอมรับตามนั้น ขณะเดียวกันก็ต้องเคารพสิทธิเสียงข้างน้อยและประกันเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบอำนาจที่มาจากเสียงข้างมากและอำนาจอื่นๆ

พูดอีกอย่าง การที่ฝ่ายเสรีนิยมยืนยันการเปิดกว้างโอบรับทั้งความคิดอนุรักษ์นิยม สังคมนิยมและอื่นๆ ที่ตรงข้ามกับเสรีนิยมให้มีที่ยืนบนเวทีเสรีภาพในการในการแสดงออกเท่าเทียมกัน ก็เท่ากับว่าเสรีนิยมยอมรับการ “ถูกท้าทาย” จากความคิดตรงกันข้ามอื่นๆ ด้วย และแน่นอนว่าความคิดอื่นๆ ก็ต้องยอมรับการท้าทายจากความคิดเสรีนิยมด้วยเช่นกัน ดังนั้นเมื่อฝ่ายอนุรักษ์นิยมอ้างว่าตนเอง “มีสิทธิ์ตั้งคำถามและวิจารณ์ความคิดแบบธนาธร, ปิยบุตร” ฝ่ายเสรีนิยมย่อมไม่มีปัญหาอะไรกับการ “ใช้สิทธิ” ดังกล่าวเลย แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าทำไมเมื่อฝ่ายอนุรักษ์นิยมกล่าวอ้างเรื่อง “สิทธิ” แล้วจึงไล่คนคิดต่างออกนอกประเทศ ทำไมจึงแจ้งความเอาผิด ทำไมจึงทำรัฐประหาร บัญญัติกฎหมายที่ขัดหลักสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานและใช้กฎหมายเช่นนั้นปิดปากหรือไล่ล่าเอาผิดฝ่ายเสรีนิยม เราอยู่ร่วมกันอย่างเคารพสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของกันและกันอย่างแฟร์ๆ ไม่ได้เลยหรือ

ถามว่า ถ้าฝ่ายอนุรักษ์นิยมกับเสรีนิยมอยู่ร่วมกันอย่างเคารพสิทธิและเสรีภาพของกันและกันอย่งแฟร์ๆ จะเป็นการทำลายความมั่นคงของชาติอย่างไรหรือ เปล่าเลย ชาติก็ยิ่งจะมั่นคงคู่กับเสรีภาพและประชาธิปไตย สถาบันกษัตริย์จะไม่มั่นคงหรือ ก็เปล่าเช่นกัน เพราะประเทศเสรีประชาธิปไตยอย่างอังกฤษ หรือญี่ปุ่นสถาบันกษัตยริย์ก็ยังมั่นคง และมั่นคงได้โดยที่ไม่มีคนกลุ่มใดๆ ใช้อภิสิทธิ์อ้างสถาบันกษัตริย์มาปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพของประชาชน หรือคนคิดต่าง หรือทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง 

แปลว่าถ้าเดินตามแนวทางแบบเสรีนิยมจริงๆ สถาบันกษัตริย์ก็ยังมั่นคงไปด้วยกันกับความมั่นคงของประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน จึงไม่มีเหตุผลที่จะทำลายคนแบบธนาธรและปิยบุตรที่สู้เพื่อความมั่นคงของเสรีภาพและประชาธิปไตย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net