“เทวราชานิยม” กับ “ประชาธิปไตยสองแบบ”

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ภายหลังการเลือกตั้งที่ผ่านมา บรรยากาศในบ้านเมืองเริ่มกลับมาคุกรุ่น คู่แข่งทางการเมืองที่ประกาศตัวชัดเจนว่าไม่สนับสนุนรัฐบาลรัฐประหารชุดปัจจุบัน กำลังถูกคุกคามด้วยข้อกล่าวหา “ล้มเจ้า” ต่าง ๆ นานา บทความนี้จึงขอวิเคราะห์บริบท (contextual analysis) ของแนวคิดแบบ “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” เปรียบเทียบกับแนวคิดแบบ “เทวราชานิยม (หรือกษัตริย์นิยม) นำประชาธิปไตย” เพื่อสำรวจว่า แนวคิดใดในสองแบบนี้ สามารถค้ำจุน “ความเป็นกษัตริย์” อันเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยได้ยิ่งกว่า

ในเบื้องต้น ทั้งสองแนวคิดมีที่มาจากวัฒนธรรมสมัยโบราณ แนวคิด “เทวราชานิยม” พบในโลกตะวันออก เช่นอินเดียยุคหลังอุปนิษัท ส่วนแนวคิดแบบ “ประชาธิปไตย” พบในโลกตะวันตกยุคกรีก

แนวคิดแบบ “เทวราชานิยม” ตั้งอยู่บนความเชื่อว่า คนเกิดมาไม่เท่าเทียมกัน กษัตริย์อยู่ในฐานะเทวกำเนิดซึ่งอยู่เหนือมนุษย์ทั่วไป จึงมีอำนาจพิเศษในทางสังคมที่คนทั่วไปแตะต้องไม่ได้ ต่างจากแนวคิดแบบ “ประชาธิปไตย” ที่เชื่อว่า กษัตริย์ก็คือมนุษย์คนหนึ่ง แต่มีความพิเศษตรงที่พระองค์ได้รับ “สิทธิ์” แห่งการดูแลประชาชนโดยชอบธรรมตามจารีต แต่ “อำนาจ” แห่งการปกครองนั้นเป็นของประชาชน

แนวคิดแบบ “เทวราชานิยม” เน้นชาติกำเนิดของตัวบุคคล ส่วนแนวคิดแบบ “ประชาธิปไตย” เน้นหลักการแห่งความเสมอภาค เสรีภาพในการดำเนินชีวิต และศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนมีอย่างเท่าเทียมกัน

แนวคิดแบบ “เทวราชานิยม” วางอธิปไตย (เสรีภาพในการปกครองตนเอง) ไว้ในมือของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อำนาจในการกำหนดสังคมถูกส่งลงมาเป็นแนวดิ่งจากเบื้องบนลงสู่เบื้องล่าง ส่วนแนวคิดแบบ “ประชาธิปไตย” วางอธิปไตยไว้ในมือของประชาชน อำนาจในการปกครองสังคมเป็นแบบแนวราบจากมนุษย์สู่มนุษย์ คือเน้นการมีส่วนร่วมของพลเมือง

เนื่องจากแนวคิดแบบ “ประชาธิปไตย” สร้างความหวาดระแวงให้แก่ชนชั้นสูงกลุ่มอนุรักษ์นิยมของไทยตั้งแต่อดีต พวกเขาจึงสร้าง “ประชาธิปไตยแบบไทย” ที่ทำให้ “กษัตริย์” กลายเป็นสัญลักษณ์ของชาตินิยมและความเป็นไทย ศูนย์รวมของชาติถูกจัดวางไว้ที่ความจงรักภักดีต่อกษัตริย์ กษัตริย์จึงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพ สักการะ อันผู้ใดจะละเมิดมิได้ ถ้าละเมิดก็เท่ากับว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติด้วย ตรงนี้เองถือเป็นมูลเหตุสำคัญหนึ่งแห่งการเกิดขึ้นของระบบคิดแบบ “เทวราชานิยม (หรือกษัตริย์นิยม) นำประชาธิปไตย” 

และก็เพราะความหวาดระแวงภัยจากเบื้องล่าง แนวคิดแบบ “เทวราชานิยมนำประชาธิปไตย” จึงให้เสรีภาพและอำนาจแก่ชนชั้นสูงที่ทำงานให้แก่กษัตริย์อย่างเต็มที่และเด็ดขาด แต่อำนาจในการปกครองและเสรีภาพในการดำเนินชีวิตตามลำดับชั้นกลับกระจายลงไปไม่ถึงประชาชนส่วนใหญ่ ประชาธิปไตยจึงถูกใช้เป็นเพียง “เครื่องมือ” ในการพิทักษ์หรือบรรลุผลประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นปกครองเป็นหลัก

แนวคิดแบบ “เทวราชานิยมนำประชาธิปไตย” เน้นการควบคุมคนให้เป็นระเบียบและอยู่ในความสงบ ประชาชนไม่ต้องมีความรู้มาก ขอเพียงพึ่งพระบารมีก็จะพ้นภัย ความหลากหลายทางสังคมและการคิดต่างไม่เป็นคุณต่อหลักคิดแบบนี้ ซึ่งหลักคิดนี้อาจเทียบได้กับแนวคิดนิติวาทของจีนโบราณที่ว่า “กษัตริย์ไม่ต้องทำอะไร แต่ก็ไม่มีอะไรไม่ได้ทำ” หมายความว่า เพราะกษัตริย์อยู่ในฐานะสูงส่งเหมือนยอดเขา มีตัวแทนคือกลุ่มปกครองกระทำกิจการต่าง ๆ แทนพระองค์ พระองค์จึงไม่ต้องทำอะไร พระเกียรติยศของกษัตริย์วางอยู่ในมือของกลุ่มปกครอง ไม่ได้วางอยู่ในมือของประชาชน ประชาชนเพียงแต่มีหน้าที่เทิดทูนพระเกียรติยศไว้ด้วยความยำเกรง

ต่างจากแนวคิดแบบ “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ซึ่งเน้นการมีส่วนร่วมของพลเมืองที่หลากหลาย และยอมรับให้การคิดต่างเป็นส่วนหนึ่งของ “การก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน” ได้ หลักคิดแบบนี้เทียบได้กับแนวคิดเต๋าของจีนโบราณที่ว่า “กษัตริย์ไม่ต้องทำอะไร แต่ก็ไม่มีอะไรไม่ได้ทำ” แต่หมายความอีกแบบหนึ่งซึ่งต่างจากแบบแรกว่า เพราะกษัตริย์ตั้งตนเป็นเหมือนน้ำที่โอบอุ้มสรรพชีวิตไว้ เป็นเช่นธรรมราชาที่ผดุงอำนาจของประชาชน หากเป็นดังนี้ กษัตริย์ก็จะอยู่ในฐานะไม่ต้องทำอะไร แต่ทุกสิ่งจะเรียบร้อยสำเร็จลงด้วยดี เพราะประชาชนยินดีและเต็มใจทำถวายพระองค์ด้วยความรัก อำนาจแห่งความเป็นธรรมที่ประชาชนได้รับจะแปรเป็น “พลัง” ในการค้ำจุนและสนับสนุนกษัตริย์ ผู้อยู่ในฐานะเป็นสัญลักษณ์แห่งเกียรติยศของประชาชนนั่นเอง

ภายใต้หลักคิดประชาธิปไตยแบบหลัง คนไม่ได้เทิดทูนพระเกียรติยศไว้เหนือเกล้าด้วยความกลัว แต่เต็มใจรักษาพระเกียรติยศไว้ด้วยศรัทธา ด้วยเล็งเห็นว่า การมีพระมหากษัตริย์ย่อมเป็นเครื่องประดับเชิดชูประชาธิปไตยได้ดีกว่าไม่มี

จะเห็นได้ว่า หลักคิดแบบ “เทวราชานิยมนำประชาธิปไตย” ไม่ได้มองประชาชนท้องถิ่นในฐานะเป็นกำลังของชาติ การปกครองโดยใช้แนวคิดแบบนี้ให้คุณค่าต่อ “ความเป็นหนึ่งเดียว” ในแนวดิ่ง มากกว่า “ความหลากหลาย” ในแนวราบ จึงเหมาะกับสังคมปิดที่ประชาชนส่วนใหญ่สามารถอยู่ภายใต้การควบคุม แต่ ไม่เหมาะ กับสังคมเปิดที่ประชาชนรับรู้ข่าวสารทางโลกออนไลน์อยู่ตลอดเวลา

นอกจากนี้ แนวคิดแบบ “เทวราชานิยมนำประชาธิปไตย” วางอำนาจสูงสุดไว้ที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์เบื้องบนอันมองไม่เห็น แต่เป็นรากฐานที่มาแห่งเทวกำเนิดของกษัตริย์ แนวคิดแบบนี้จึงไปได้ดีกับตำนานความเชื่อ เรื่องเล่า ตลอดจนบทประพันธ์สดุดีทั้งหลาย แต่อาจ เข้าไม่ได้ กับวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีในปัจจุบัน

ระหว่างแนวคิด “เทวราชานิยมนำประชาธิปไตย” ที่เน้นปกครองด้วยความกลัว กับแนวคิด “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ที่เน้นปกครองด้วยความรัก เราน่าจะได้คำตอบแล้วว่า ในระยะยาวแนวคิดแบบใดสนับสนุน “ความเป็นกษัตริย์” ในสังคมไทยได้ยั่งยืนกว่า

ยิ่งกว่านั้น การตั้งบทลงโทษพวกที่ช่างสงสัยและชอบตั้งคำถาม แต่ยังมิได้ “ละเมิด” กษัตริย์ ไว้อย่างรุนแรงโดยไม่มีเหตุผลทางกฎหมายกำกับอย่างเพียงพอ ย่อมทำให้เกิดความย้อนแย้ง ทำให้ผู้คนสับสนว่าตนเองอยู่ภายใต้ประชาธิปไตยหรือไม่และอย่างใด พวกเขาอาจเกิดข้อกังขาในหลักปกครองแบบที่เน้นความกลัวมากกว่าความรัก ซึ่งนั่นจะส่งผลกระทบในทางลบต่อภาพลักษณ์และสถานะของสถาบันกษัตริย์ด้วย

เมื่อความหวาดระแวงครอบงำสังคมไทยรุนแรงขึ้น ก็จำเป็นที่พวกเราจะต้องตั้งสติและไตร่ตรองโดยแยบคายว่า วาทกรรมอันเนื่องอยู่กับการล้มเจ้าทั้งหลายที่ถูกปล่อยออกมาเป็นระยะนั้น มีจุดประสงค์ใดในทางการเมืองยามนี้ และใครจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากความแตกแยกของประชาชน

เพราะมัน เป็นไปไม่ได้ เลยที่การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น จะตั้งป้อมล้มล้าง “ความเป็นกษัตริย์” หรือทำลาย “กษัตริย์ธรรมราชา” ผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งเกียรติยศของปวงชนชาวไทย

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท