รวันดารำลึก 25 ปีเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เพื่อย้ำเตือนไม่ให้เกิดขึ้นอีก

ชาวรวันดาเริ่มต้นรำลึกถึงเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งใหญ่ที่มาจากการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชังทางเชื้อชาติในวาระครบรอบ 25 ปี โดยที่คนรุ่นใหม่ของรวันดาสะท้อนในเรื่องนี้ว่ามันเป็นสิ่งที่ดีที่จะไม่ลืมอดีตที่เลวร้ายและเป็นสิ่งย้ำเตือนไม่ให้ทำผิดพลาดแบบเดียวกันอีก

พอล คากาเม ประธานาธิบดีรวันดา (ยืนกลาง) ร่วมเดินรำลึก 25 ปีเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เมื่อ 7 เม.ย. ที่กรุงคิกาลี ประเทศรวันดา (ที่มา: Flickr/Paul Kagame)

กิจกรรม Walk to Remember รำลึก 25 ปีเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ที่กรุงคิกาลี ประเทศรวันดา เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2019 (ที่มา: Flickr/Paul Kagame)

นับตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย. ที่ผ่านมา ชาวรวันดาได้เริ่มต้นการรำลึกถึงเหตุการณ์นองเลือดครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของพวกเขาที่เกิดขึ้นเมื่อ 25 ปี ที่แล้ว ซึ่งเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงจากการปลุกปั่นความเกลียดชังเชื้อชาติสีผิวจนทำให้มีคนเสียชีวิตราว 500,000 - 1,000,000 ราย

ชาวรวันดาทั่วกรุงคิกาลีเริ่มต้นการรำลึกถึงเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2537 โดยมีการเริ่มงานวันแรกในวันที่ 7 เม.ย. ที่ผ่านมา หนึ่งในพิธีกรรมรำลึกคือการที่เยาวชนรวันดารวมตัวกันที่สนามกีฬาแห่งชาติอมาโฮโรเพื่อจัดแสดงละครให้เหล่าผู้นำโลกรับชม โดยที่ส่วนใหญ่ไม่ใช่คนที่เกิดในยุคสมัยที่เกิดความรุนแรงทางเชื้อชาติ 

การจัดงานดังกล่าวนี้จะดำเนินต่อเนื่องไปอีกเป็นระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์ ทั้งนี้สถานที่จัดงานคือสนามกีฬาอมาโฮโร ยังเป็นสถานที่ที่มีความหมายทั้งจากชื่อที่แปลว่า "สันติ" และจากที่สหประชาชาติเคยใช้สนามกีฬาแห่งนี้เป็นที่คุ้มครองชาวทุตซีในช่วงที่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้น

ในเหตุการณ์เมื่อปี 2537 นั้นมีชาวเชื้อชาติทุตซีถูกสังหารเสียชีวิตมากกว่า 800,000 ราย ในช่วงเวลา 100 วัน คือวันที่ 7 เม.ย. ถึง 15 ก.ค. ปี 2537 จากการใช้ความรุนแรงทั้งจากกองกำลังของรัฐบาลเชื้อชาติฮูตูและจากกลุ่มศาลเตี้ยชาวฮูตู ทั้งนี้เหยื่อผู้เสียชีวิตอีกส่วนหนึ่งก็เป็นชาวฮูตูสายกลางที่ถูกสังหารในความรุนแรงครั้งนั้นด้วย 

เหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในครั้งนั้นเกิดขึ้นจากการปลุกปั่นความเกลียดชังทางเชื้อชาติจากชนชั้นนำที่เป็นรัฐบาล หลังจากที่ประธานาธิบดีชาวฮูตู จูเวนาล ฮับยาริมานา ถูกลอบสังหาร มีเหยื่อบางส่วนที่ถูกสังหารจากกองกำลังของรัฐบาลชาวฮูตู รวมถึงกองกำลังติดอาวุธที่ชื่ออินเตราฮัมเว บางส่วนถูกสังหารจากน้ำมือประชาชนต่างเชื้อชาติ เหตุการณ์เริ่มสงบลงหลังจากที่ พอล คากาเม นำกองกำลังชาวทุตซีชื่ออาร์พีเอฟเข้าไปที่คิกาลีในวันที่ 4 ก.ค. 2537

พอล คากาเม ผู้ควบคุมสถานการณ์ในครั้งนั้นและประธานาธิบดีคนปัจจุบันของรวันดาเริ่มต้นการรำลึกถึงเหตุการณ์ด้วยการจุดคบเพลิงรำลึกที่อนุสรณ์สถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คิกาลี ที่มีเหยื่อมากกว่า 250,000 ราย ฝังอยู่ที่นี่ส่วนใหญ่เป็นเหยื่อชาวทุตซี

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาในอดีตก็มีการรำลึกเหตุการณ์นี้อยู่เสมอ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ผู้คนได้ย้อนนึกถึงบาดแผลทางประวัติศาสตร์ ในงานรำลึกเหล่านี้บางครั้งก็ไปสะกิดบาดแผลทำให้มักจะมีผู้ที่เข้าร่วมแสดงออกทั้งการร้องไห้ ตัวสั่น กรีดร้อง หรือเป็นลม แม้ว่าพิธีกรรมจะดำเนินไปอย่างเงียบสงบ 

สำหรับผู้รอดชีวิตจำนวนมาก พวกเขาบอกว่าเป็นเรื่องยากที่จะให้อภัยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ในเมื่อบางคนยังไม่สามารถหาเจอร่างที่เสียชีวิตของคนที่พวกเขารัก และผู้ก่อเหตุสังหารจำนวนมากก็ยังคงลอยนวล โดยถึงแม้ว่าเวลา 25 ปี ที่ผ่านมาจะทำให้รวันดาฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้แล้วแต่แผลเก่านี้ก็ยังคงเป็นเงาปกคลุมพวกเขาอยู่

มีการตั้งข้อสังเกตว่างานที่จัดในครั้งนี้มีกลุ่มผู้นำจากต่างประเทศ 10 ราย ที่คาดว่าจะเข้าไปแสดงความเคารพต่อผู้ตาย เช่น นายกรัฐมนตรีชาร์ลส์ มิเชล ของเบลเยี่ยมซึ่งเป็นประเทศอดีตเจ้าอาณานิคมของรวันดา แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่าฝรั่งเศสไม่ส่งประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ไปเข้าร่วม จากที่ฝรั่งเศสเคยถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เนื่องจากสนับสนุนรัฐบาลเชื้อสายฮูตูและช่วยให้ผู้ที่อยู่เบื้องหลังหนีไปได้ ทางฝรั่งเศสปฏิเสธเรื่องนี้มาโดยตลอด เว้นแต่อดีตประธานาธิบดี นิโกลา ซาร์โกซี เคยกล่าวไว้เมื่อปี 2553 ยอมรับว่าฝรั่งเศส "ตัดสินใจผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง" ในครั้งนั้น

อย่างไรก็ตามสำหรับคนรุ่นใหม่ในรวันดา พวกเขามองว่าการรำลึกเหตุการณ์เช่นนี้เป็นเรื่องดี เดบอรา มวังกันเย นักศึกษาวิชาออกแบบภายในอายุ 19 ปีบอกว่าพวกเขาควรเรียนรู้เรื่องเหล่านี้เพื่อที่จะไม่ให้ลืมอดีตและไม่ให้ทำผิดพลาดแบบในอดีต ตัวเธอเองก็มีพ่อซึ่งรอดชีวิตมาจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้แต่คนอื่นๆ ในครอบครัวของพ่อถูกสังหารหมด

หลังจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้นรวันดาก็ทำการสั่งบนการระบุชื่อเผ่าลงในบัตรประจำตัวประชาชนและส่งเสริมให้คนแทนตัวเองว่าเป็นชาวรวันดาแทนการบอกว่าเป็นคนเชื้อชาติฮูตู ทุตซี หรือทวา มีกฎหมายระบุว่าการเหยียดหรือเลือกปฏิบัติต่อบุคคลด้วยฐานเรื่องเชื้อชาติจะถูกลงโทษด้วยการจำคุก

ผู้นำเยาวชนอีกรายหนึ่งชื่อ เมาริซ กวิเซรีมานา กล่าวในสิ่งที่สะท้อนว่าชาวรวันดามองการระบุตัวตนเรื่องเชื้อชาติกลายเป็นการนำมาซึ่งการกีดกันเลือกปฏิบัติและเรื่องแย่ๆ อย่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ตัวของทวิเซรีมานาเองก็เคยผ่านเหตุการณ์เลวร้ายในครั้งนั้นซึ่งในตอนนั้นเขาอายุได้ 5 ปี พวกเขาไล่เปิดประตูไปตามบ้านต่างๆ และสังหารทุกคนที่พวกเขาสงสัยว่าจะเป็นชาวทุตซี แม้กระทั่งเด็กทารก ญาติของเขาก็ถูกข่มขืนและถูกใช้มีดฟันจนเสียชีวิต

เรียบเรียงจาก

Rwanda prepares for week-long commemoration of 1994 genocide, Aljazeera, 07-04-2019

Rwanda marks 25th anniversary of genocide with 100 days of mourning, SBS News, 7 April 2019

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Rwandan_genocide

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท